วันอังคารที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ขอขมากรรมฯ "ปลดล็อค" และ "รีสตาร์ท" ผู้จมทุกข์


ผู้คนล้นหลาม ท่ามกลางเสียงพลุไฟแห่งการเฉลิมฉลอง ณ โบราณสถานสำคัญแห่งแผ่นดินขวานทอง เสียงสวดมนต์ พ้องทำนอง ก้องแดนไกล เริ่มสิ่งใดจะดีกว่าเริ่มสรรค์สร้าง เริ่มก้าวย่างครองสติไม่ติงไหว เริ่มชีวิต เริ่มปี โดยตั้งใจ เริ่มวันใหม่ด้วยใจ ที่ “ใฝ่ธรรม” หากชีวิตมนุษย์เปรียบเสมือน “ต้นไม้” ธรรมะแห่งพระพุทธองค์คงเปรียบเสมือน “น้ำฝน” จากฟากฟ้า

น้ำที่คอย “หล่อเลี้ยง” และ “ชำระล้าง” สิ่งปฏิกูล 
น้ำที่ “คลายทุกข์” ให้สลายสูญ และ “เกื้อกูล” ให้ร่มเย็น

พระเดชพระคุณ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ดินแดนแห่งธรรม จังหวัดนครปฐม เล็งเห็นถึงความคับข้อง ที่ เกาะใจกินสมอง ญาติโยมพี่น้องในยุคปัจจุบัน บ้างก็ด้วยกรรมเก่าที่เคยสร้างไว้ หรือ กรรมใหม่ที่ไม่ได้ตั้งใจสร้าง หากแต่เมื่อเกิดความกังวลในวาระแห่งกรรมนั้นจนเกินไป ย่างก้าวแห่งความเจริญครั้งใหม่ คงเป็นไปได้ยากเย็น และ ด้วยความเมตตาจาก พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน พิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์จึงถือกำเนิดขึ้น “ขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง”

ล่าสุด!! พิธีขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง ได้ถูกจัดขึ้นอีกครั้ง เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2556 ณ โบราณสถานศักดิ์สิทธิ์ วัดพระเมรุ จ.นครปฐม โดยหลักการของพิธี มิได้มีความงมงายแต่เพียงน้อย ...ในมุมกลับ จุดประสงค์ของพิธี ยังช่วยให้ผู้ที่จมทุกข์ ได้ลอยพ้นจากวังวนแห่งปัญหา โดยสอดแทรกหลักธรรมคำสอนแห่งองค์พระศาสดา และ ร่วมปฏิญญาจะสร้างแต่กรรมดี


ทั้งหมดนี้ถือเป็นกุศโลบายทางธรรม ของท่านพระเดชพระคุณ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน ที่ตั้งใจจะช่วย ปลดล็อค และ รีสตาร์ท ให้ชีวิตของญาติโยมผู้จมดิ่งในห้วงทุกข์ ได้เริ่มต้นใหม่ โดย "ใช้สติครองธรรมกำหนดใจ และ ก้าวเดินต่อไปอย่างมั่นคง"


*************************

เรื่องโดย : เต้ มงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





วันอาทิตย์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2556

หลวงปู่ทวด เทพเจ้า แห่ง ความแคล้วคลาดปลอดภัย


เทศกาลปีใหม่
ถือเป็นช่วงระยะเวลาแห่งความสุข เป็นวาระแห่งการเฉลิมฉลอง ฉะนั้น "เครื่องเมายาดอง" จึงเป็นที่ใฝ่ปอง ของหมู่พี่น้องเพื่อนผองนักดื่มกิน หากแต่ ความสำราญในการ "ดื่ม" คงมิใช่เรื่องร้ายนัก ถ้า "เมาแล้วพัก" และ "รู้จักระวังภัย" ในการสังสรรค์รื่นเริงปีใหม่ คงไม่มีอุบัติภัยใดจะร้ายไปกว่า "อุบัติเหตุจาก การเดินทาง"

สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ หรือ "หลวงปู่ทวด" ถือเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ที่ชาวพุทธทั้งไทยและต่างประเทศ ให้ความเคารพศรัทธากันอย่างแพร่หลาย โดยเชื่อถือกันว่า วัตถุมงคลของท่านล้วนมีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันสารพัดภัยได้ทั่วทิศ ผู้ที่บูชาอยู่เป็นนิจ "เงินทองจะไม่ขัดติด เดินทางทั่วทิศจะไม่ตายโหง"

ในวาระเทศกาลขึ้นปีใหม่ 2557 นี้ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม ผู้สืบสานตำนานพระเวทย์ ทายาทศิษย์เอกแห่ง หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม ได้เมตตาศิษย์ยานุศิษย์ โดยจัดสร้างมงคลวัตถุ หลวงปู่ทวด หลวงพ่อพูล เนื้อผงพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์ โดย แจกฟรี ให้กับพุทธศาสนิกชนทุกท่าน เพื่อนำไปบูชาติดตัว เป็นสิริมงคลแห่งเริ่มต้นสรรค์สร้างกรรมดีในชีวิตสืบไป

โดยชาวพุทธผู้มีจิตศรัทธา สามารถเดินทางมารับวัตถุมงคล หลวงปู่ทวด หลวงพ่อพูล เนื้อผงพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์ ได้ฟรี ในงานบุญประเพณีวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของ วัดไผ่ล้อม ที่จะจัดขึ้นใน วันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2556 ณ โบราณสถาน วัดพระเมรุ ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม และภายในงาน ท่านจะได้ร่วมพิธี ขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง และพิธี สวดนพเคราะห์ข้ามปี อีกด้วย

ผู้ที่ร่วมงานบุญในวันนั้นจึงถือได้ว่า "คุ้มบุญ" เป็นอย่างยิ่ง เพราะได้ร่วมพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ และยังได้รับมงคลวัตถุ หลวงปู่ทวด หลวงพ่อพูล ไว้สำหรับบูชาติดกาย เพื่อคลายทุกข์ภัยในชีวิต และที่สำคัญ ทุกอย่างฟรี!!

ผู้ที่สนใจ สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม โทร.087-7567555 และ 087-1517799


*************************

เรื่องโดย : เต้ มงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ







วันอังคารที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ร่วมบุญสร้างเสนาสนะ วัดทับไทร จันทบุรี

วัดทับไทร เป็นวัดราษฎร์ (สังกัดมหานิกาย) ตั้งอยู่เลขที่ ๑/๒ หมู่ ๑ ต.ทับไทร อ.โป่งน้ำร้อน จ.จันทบุรี ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ รับวัดทับไทร ใว้ในพระอุปถัมภ์

เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๕ ได้รับอนุญาติตั้งวัด ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา และได้รับรางวัลเป็น วัดพัฒนาตัวอย่างของกรมการศาสนา เป็นที่ตั้งหน่วยอบรมประชาชน ประจำตำบลทับไทรเป็นวัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น ของกรมการศาสนา เป็นหน่วยอบรมประชาชนประจำตำบลดีเด่นของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ-เป็นสำนักเรียนนักธรรม-บาลี-เป็นที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติธรรม/กิจกรรม-เป็นที่ตั้งศูนย์ฝึกอาชีพในวัด ฯลฯ

ปัจจุบันวัดทับไทร มี พระครูสถิตธรรมานุวัตร หรือ พระอาจารย์สำราญ ถาวโร (ศรีประวัติ) เป็นเจ้าอาวาส ท่านได้จัดสร้าง ๙ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ประดิษฐาน ณ วัดทับไทร ประดิษฐาน ณ สถานที่ที่เหมาะสม ตกแต่งภูมิทัศน์ และเปิดให้นมัสการ ขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคลประกอบด้วย

๑.หลวงปู่ทวดอุ้มบาตร หน้าตัก ๙๙ นิ้ว องค์แรกของไทย (เคล็ดลับ ใส่บาตรหลวงปู่ทวด) 
๒.พระพิฆเนศ มหาเทพผู้ทรงภูมิปัญญายิ่งใหญ่ ผู้ขจัดอุปสรรคและอำนวยความสำเร็จในทุกสิ่ง 
๓.พระพรหม มหาเทพผู้สร้างโลกและลิขิตชีวิตมนุษย์ 
๔.เจ้าแม่กวนอิม พระโพธิสัตว์ องค์เดียวกันกับพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์
๕.หลวงพ่อขุน พระครูวิบูลคณารักษ์ พระเกจิอาจารย์ เจ้าอาวาสวัดทับไทร พ.ศ.๒๔๔๙ 
๖.พระสยามเทวาธิราช (สมาคมแม่บ้านทหารบก ปี.๒๕๔๗ สร้างถวายประจำทิศบูรพา) 
๗.พระพิทักษ์ชายแดน หน้าตัก ๓๙ นิ้ว (หลวงพ่อคูณ วัดบ้านไร่ สร้าง ปี.๒๕๓๗) 
๘.หลวงพ่อใหญ่ (พระพิทักษ์บูรพา) พระพุทธรูปหินเขียวอันศักดิ์สิทธิ์ หน้าตัก ๑.๙๐ เมตร
๙.อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงช้าง แห่งแรกของไทย

อย่างไรก็ตามเพื่อสร้างบูรณะเสนาสนะ และต่อเติมพระอุโบสถ วัดทับไทร จึงจัดสร้างวัตถุมงคลขึ้น เพื่อหาปัจจัยมาร่วมสมทบ โดยประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก ณ วัดทับไทร ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ประกอบด้วย 

- พระกริ่งชินบัญชร เนื้อเหล็กน้ำพี้
- เหรียญรูปเหมือน ท่านก๋งเตื่อง
- พระปรกใบมะขาม
- พระปิดตาหลังรูปเหมือน
- เหรียญพุทธซ้อน
- พระขุนแผน
- ผ้ายันต์
- ตะกรุด
- พระชัยยอดธง รุ่นแรก อันเป็นเอกลักษณ์ของ จ.จันทบุรี

พระเกจิอาจารย์ที่ร่วมพิธีมหาพุทธาภิเษก ประกอบด้วย สมเด็จพระอัครมหาสังฆราชาธิบดี เทพวงศ์ อธิบดีสงฆ์แห่งประเทศกัมพูชา, หลวงพ่อก๋งเตื่อง เตชปัญโญ วัดคลองม่วง เกาะกง, หลวงพ่ออาด วัดตะพุนทอง, หลวงพ่อศรี วัดบูรพา,หลวงพ่ออุดร วัดหนองจระเข้, หลวงพ่อสวาท วัดอ่าวหมู, อาจารย์อ๊อด วัดสายไหม เป็นต้น ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญได้ที่ วัดทับไทร โทร.๐๘-๐๐๔๖-๕๒๐๔, ๐๘-๖๙๗๓-๒๓๖๙ และ ๐๘-๖๙๙๙-๖๕๐๓


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





วันพฤหัสบดีที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2556

"เนอสเซอรี่กุมารทอง" ณ วัดไผ่ล้อม อันซีนอินไทยแลนด์!!


กุมารทอง ปัจจุบันนิยมสร้างเป็นรูปเด็ก ลักษณะเป็นเด็กไว้จุก นุ่งโจงกระเบนอย่างโบราณ กลายเป็นเครื่องรางของขลัง มีคติความ เชื่อกันว่ากุมารทอง เสมือนมีวิญญาณเด็กอยู่ในรูปกุมารนั้น ผู้บูชาต้องเลี้ยงดูเหมือนลูกของตน ต้องให้ข้าวน้ำเซ่นสรวงและต้องเรียกให้กินข้าวด้วย กล่าวกันว่า หากปฏิบัติดูแลดีกุมารทองก็จะช่วยค้ำคูณ อาทิ ช่วยคุ้มครองป้องกันเจ้าของและครอบครัวจากสิ่งไม่ดีทั้งหลาย ช่วยให้ทำมาค้าขึ้น ไปจนถึงเตือนภัยล่วงหน้าอีกด้วย และจะคอยติดตามเฝ้าระวังบ้านเรือนจากโจรผู้ร้ายและศัตรูไม่ให้มากล้ำกราย ปัจจุบันผู้บูชานิยมไหว้ด้วยน้ำแดง

นอกจากนี้ยังมีคติความเชื่อด้วยว่า หากไม่อยากเลี้ยงกุมารทองไว้อีกต่อไป กุมารทองที่ได้มาจากที่ไหนต้องเอาไปปล่อยหรือคืนไว้กับที่นั่นจะดีที่สุด เรียกว่า กลับคืนสู่บ้านเก่า แต่ก่อนเอาไปคืนให้จุดธูปกลางแจ้ง บอกกุมารทองที่ปล่อยให้เขาได้รับรู้ด้วยพร้อมบอกเหตุผลที่เราจะต้องเอาเขาไปปล่อยและทำบุญให้เขาไปด้วย และหากเมื่อเอาเขาไปปล่อยแล้วก็ให้หมั่นทำบุญอุทิศให้เขาเรื่อยๆ เช่นกัน เพราะหากเขามีบุญพอจะไปเกิดเขาจะไปเกิดภพภูมิอื่นทันที ถือว่าเราเคยเลี้ยงเขามา ควรจะทำบุญส่งท้ายให้ไปด้วย

สถานที่ปล่อยกุมารทองนั้น ในอดีตนิยมไปฝังในป่าช้าโดยขุดหลุมโตพอประมาณ วางลงไป โปรยดอกไม้ของหอม ดอกไม้จะเป็นดอกอะไรก็ได้ แล้วก็พูดว่าสิ่งนี้คือซากของลูกที่ไม่ใช้แล้ว เหมือนซากศพที่ตายแล้ว สมควรที่จะขจัดซากนี้ให้สลายกลายไปเป็นซากดิน พ่อและแม่ก็จะกลบร่างนี้เพื่อให้ลูกไปเกิดในภพภูมิที่ดี นอกจากแล้วยังมีอีกวิธีหนึ่ง คือ เราฝากแม่พระคงคาไว้ เวลาจะนำไปปล่อยให้จัดเตรียมข้าวของเครื่องใช้ให้เรียบร้อย มีดอกไม้ ธูปเทียน เป็นต้น เหมือนเราลอยอัฐิลอยอังคาร


ปัจจุบันนี้ป่าช้าไม่มีดินให้ขุดฝังศพเช่นในอดีต ขณะเดียวกันการไปลอยน้ำก็ไม่เป็นที่นิยม แต่กลับไปปล่อยไว้ที่วัด โดยเฉพาะที่ วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม มี “กุมารทอง” จำนวนมากที่ญาติโยมพุทธศาสนิกชนนำมาถวายพระเดชพระคุณ หลวงพ่อพูล อัตตะรักโข ด้วยเหตุผลหลายประการ ส่งผลให้ที่วัดแน่นขนัดไปด้วย “กุมารทอง” มาจากสถานที่ต่างๆ กลายเป็นเนอสเซอรี่ขนาดใหญ่ในปัจจุบัน

สำหรับความเป็นมา “กุมารทอง หลวงพ่อพูล” นั้น มีสาเหตุสำคัญมาจาก “กุมารทองสมบัติ” ซึ่งตั้งบูชาอยู่ในกุฏิของท่าน ตั้งแต่สมัยยังหนุ่ม เล่ากันว่าที่ผ่านมาท่านเดินทางไปเป็นพระคู่สวดที่จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมกับ หลวงพ่อเต้า วัดเกาะวังไทร และพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อล้ง วัดห้วยจระเข้ ทั้ง ๓ องค์เดินทางร่วมกันไปตลอดและการไปสุพรรณบุรีครานั้น มีคนถวาย “กุมารทอง” กลับมาด้วย มีขนาดใหญ่ เนื้อโลหะสัมฤทธิ์ ฐาน ๙ นิ้ว สูง ๑๕ นิ้ว หลวงพ่อนำมาที่กุฏิตั้งชื่อ “กุมารทองสมบัติ” จากนั้นมีเพิ่มขึ้นอีกเรื่อยๆ มีจำนวนมากมายดังที่เห็นเกือบพันองค์

ส่งผลให้ญาติโยมจากทั่วสารทิศแห่แหนมากราบไหว้ขอพร และต่างสัมฤทธิ์ผลเลื่องลือถึงประสบการณ์ ให้โชคลาภ ค้าขายดีมีกำไร สำเร็จสมปรารถนามาโดยตลอด ที่สำคัญ “กุมารทองสมบัติ” ช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก จวบจนกระแสความศรัทธาขจรขจายไปทั่วประเทศ และแพร่หลายไปยังต่างประเทศอีกด้วย สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันความศักดิ์สิทธิ์ คือ ของเล่นที่คนนำมาแก้บนโดยเฉพาะรถของเล่นรวมทั้งสร้อยคอทองคำแท้

พิธีเปลี่ยนผ้าครองสังขารหลวงพ่อพูล

พระมงคลสิทธิการ หลวงพ่อพูล อัตตะรักโข พระอมตะเถราจารย์แห่งวัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่มีประชาชนให้ความเคารพศรัทธาทั่วประเทศ

ตลอดเวลาที่ผ่านมาท่านอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ด้วยความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เสมอต้นเสมอปลาย ให้ความเมตตาต่อศิษยานุศิษย์ทุกชั้นวรรณะ ท่านสร้างคุณประโยชน์ไว้มากมายในบวรพุทธศาสนา เป็นที่ประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม ถาวรวัตถุทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากความตั้งใจ จรรโลงไว้เพื่อคุณงามความดี มีหลักยึดพระธรรมในการรังสรรค์ด้วยความเสียสละเพื่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง

เมื่อท่านละสังขาร สรีระของท่านไม่เน่าเปื่อย คงสภาพเดิมทุกประการ พุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศต่างแห่แหนเดินทางมากราบสักการะสังขารของท่านมิขาดสาย ทำให้ทุกวันนี้บนศาลาการเปรียญที่ประดิษฐานสังขารของท่าน มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมากราบสังขารหลวงพ่อแน่นขนัดทุกวัน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจในการดำเนินชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคลในหน้าที่การงาน ค้าขายดีมีกำไรไม่เจ็บไม่จน กินอิ่มนอนอุ่น ตลอดไป

อย่างไรก็ตามในวันเสาร์ที่ ๒๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จะได้เปิดโอกาสให้ญาติโยมศิษยานุศิษย์ได้สัมผัสหลวงพ่ออย่างใกล้ชิด โดยจัดให้มีพิธีถวายสักการะสรีระพระเดชพระคุณหลวงพ่อพูล สวดพระพุทธมนต์ ประกอบพิธีสรงน้ำเช็ดตัวเปลี่ยนผ้าครองที่สังขารหลวงพ่อพูล ตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๐ น.เป็นต้นไป ณ ศาลาการเปรียญวัดไผ่ล้อม

สำหรับพิธีลงกระหม่อมโดยในระหว่างเวลาดังกล่าวนี้ หลวงพี่น้ำฝน ท่านเปิดโอกาสให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชนเข้ากราบสักการะสังขารหลวงพ่ออย่างใกล้ชิด ด้วยการก้มกราบน้อมศีรษะจรดแตะไปที่ปลายเท้าหลวงพ่อเพื่อความเป็นสิริมงคล กับครั้งหนึ่งในชีวิต


แจกฟรี! พระผงหลวงปู่ทวด-หลวงพ่อพูล

สวดนพเคราะห์ข้ามปี เป็นบุญประเพณีในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ของ วัดไผ่ล้อม โดยได้จัดติดต่อกันมากว่า ๑๐ ปี แล้ว โดยในปีนี้จัดในเย็น วันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ ตั้งแต่เวลา ๑๘.๐๙ น. ณ โบราณสถาน วัดพระเมรุ ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม พร้อมกับพิธีกรรม ร่วมพิธียิ่งใหญ่ ขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง

พิธีขอขมากรรม พุทธประเพณีที่ถือปฏิบัติมาแต่ครั้งโบราณกาล ด้วยการขอขมาต่อเพื่อนมนุษย์ สรรพสัตว์ทั้งหลาย เจ้ากรรมนายเวร งดโทษ ไม่โกรธเคือง ไม่จองเวรต่อกัน การขอขมากรรมมีหลักฐานปรากฏในหมู่สงฆ์ที่ได้กระทำล่วงเกิน ด้วย กาย วาจา ใจ ทั้งต่อหน้าและลับหลัง เจตนาและไม่เจตนา ขอขมาต่อการกระทำของตนที่ได้ทำผิดพลาดไปแล้ว จึงจะถูกรับกลับเข้าหมู่สงฆ์เช่นเดิม แสดงให้เห็นถึงการขอขมากรรม และให้อโหสิกรรม ย่อมนำมาซึ่งความสุขใจอย่างแท้จริง

กำหนดการเวลา ๑๘.๐๙ น. บัณฑิต อ่านโองการเทพยดา พร้อมบูชาถวาย เครื่องสังเวย ต่อเทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธ์ทั้งหลาย หลวงพี่น้ำฝน นำกล่าว ขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง จากนั้นหลวงพี่น้ำฝนพร้อมคณะสงฆ์วัดไผ่ล้อม สวดถอนกรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง

เวลา ๒๒.๐๐ น. พิธีสวดนพเคราะห์ เสริมบารมี ไปจนถึง เวลา ๒๔.๐๐ น. หลวงพี่น้ำฝนประพรมน้ำพระพุทธมนต์เคานท์ดาวน์ ส่งท้ายปีเก่า รับพรปีใหม่ โชคดี โชคดี โชคดี เป็นเสร็จพิธี ผู้ที่ร่วมพิธีจะได้รับมอบมงคลวัตถุ หลวงปู่ทวด หลวงพ่อพูล เนื้อผงพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์ให้แก่ทุกท่านที่เข้าร่วมพิธีทุกท่านฟรี 

สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.๐๘-๗๗๕๖-๗๕๕๕ และ ๐๘-๗๑๕๑-๗๗๙๙


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันจันทร์ที่ 16 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เจ้าคุณเสนาะ พระผู้สืบทอดปณิธาณธรรม สมเด็จฯเกี่ยว

พระพรหมสุธี หรือที่รู้จักกันในนาม เจ้าคุณเสนาะ เจ้าคณะภาค ๑๒ และ กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ปัจจุบันอายุ ๕๖ พรรษาที่ ๓๖ ได้รับสถาปนาแต่งตั้งชั้นเป็นชั้นรองสมเด็จพระราชาคณะเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ ในขณะที่มีอายุเพียง ๔๘ ปี พรรษาที่ ๒๘ เท่านั้น ซึ่งต้องถือว่าเป็นประวัติศาสตร์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์กับการที่มีรองสมเด็จพระราชาคณะ ที่อายุไม่ถึง ๕๐ ปี

ผลแห่งงานอันโดดเด่น พระพรหมสุธี พลีขานรับ ขับเคลื่อนสนองรับผิดชอบในตำแหน่งเลขานุการ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช จวบจนวาระสุดท้ายแห่งการละสังขาร ท่านได้ทำหน้าที่สำคัญ จัดงานสวดพระอภิธรรมอย่างสมเกียรติหลวงพ่อสมเด็จฯ ตลอดระยะเวลา ๑๐๐๐ วัน โดยไม่ขาดตกบกพร่อง พรั่งพร้อมเจ้าภาพและศิษยานุศิษย์แห่แหนแน่นขนัดทุกคืน ยืนยันถึงบุญญาบารมีทั้งที่มีต่อหลวงพ่อสมเด็จฯ

ระหว่างที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ยังมีชีวิตอยู่นั้น พระพรหมสุธี คือ หนึ่งกำลังสำคัญที่ให้การสนับสนุนผลักดันการงานและกิจกรรมต่างๆ ในทางพระพุทธศาสนาให้ก้าวหน้าถาวรสำเร็จเป็นรูปธรรมจำนวนมากมายหลากหลายผลงานเป็นที่ประจักษ์ชัด โดยได้ใช้ประสบการณ์ทำหน้าที่ต่างๆ ที่ต้องรับผิดชอบในฐานะเลขานุการสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ถือเป็นภาระอันใหญ่หลวงที่ต้องละเอียดถี่ถ้วน แม่นยำในทุกภาคส่วน บกพร่องไม่ได้เลยแม้เพียงเล็กน้อย
คณะกองงานที่นำโดยพระพรหมสุธี ได้ปฏิบัติงานแบ่งเบาภาระอันสำคัญต่างๆ มาโดยตลอดระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนี้ ทุกงานที่ได้รับมอบหมาย เป็นที่วางใจท่านเจ้าประคุณหลวงพ่อสมเด็จฯ เป็นกำลังสำคัญอันดับหนึ่งที่จะขาดเสียมิได้ รวมถึงตำแหน่งภายในวัด ฐานะผู้ช่วยเจ้าอาวาส เป็นหูเป็นตาพัฒนาถาวรวัตถุและพระลูกวัดให้อยู่ในพระธรรมวินัยที่เคร่งครัด จัดการทุกเรื่องที่เป็นปมปัญหาให้คลายกลายเป็นสุขได้ในทุกเรื่อง

รวมถึงภาระหน้าที่นอกวัด ในฐานะพระนักปกครอง หลักสำคัญที่พระพรหมสุธีทุ่มเทแรงกายแรงใจอย่างเต็มที่เสมอมานั่น คือการดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะภาค ๑๒ ที่ต้องดูแลพระสงฆ์ในปกครองทั้ง ๔ จังหวัดด้วยกันคือ ปราจีนบุรี, นครนายก, ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว นอกจากนี้ยังได้รับความไว้วางใจจาก สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มอบให้รับตำแหน่ง ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ

พระพรหมสุธี เน้นเรื่องความกตัญญูกตเวทีเป็นสำคัญ โดยเฉพาะความกตัญญูต่อครูบาอาจารย์ เฉกเช่น ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) ผู้เปรียบเสมือนพ่อผู้ให้ความเมตตากรุณาปราณีทั้งชีวิต รวมถึงวิถีปฏิบัติในทุกปีที่พระพรหมสุธี ท่านจะกลับบ้านเกิดไปที่วัดสามเรือน เพื่อทำบุญครบรอบวันมรณภาพของ พระอาจารย์ชุบ พระผู้มีคุณทำให้มีวันนี้

“เสนาะ ฝังมุข” เป็นชื่อและสกุลเดิมของเจ้าคุณเสนาะ เมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๐๐ พื้นเพเป็นคน อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เนื่องจากทางบ้านยากจน หลังเรียนจบชั้น ป.๔ จากโรงเรียนวัดสามเรือน โยมพ่อจึงได้นำไปฝากกับ พระอาจารย์ชุบ เจ้าอาวาสวัดสามเรือน เพื่อจะได้บวชเรียน จากนั้นได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดบ้านสร้าง อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ ๑๐ มีนาคม ๒๕๑๒

สามเณรเสนาะได้คอยปรนนิบัติรับใช้อาจารย์ชุบและเรียนหนังสือ ศึกษาพระธรรมวินัยควบคู่กันไปด้วยดีโดยตลอด และได้เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๑๒ ณ วัดสระเกศ โดยมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่พระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “ปญฺญาวชิโร” มีความหมายว่า ผู้มีปัญญาอันเฉียบแหลม
หลังจากอุปสมบทก็ได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ดูแลงานปกครองดูแลด้านการเงิน ในขณะเดียวกันยังเป็นครูสอนพระปริยัติธรรม สำนักเรียนวัดสระเกศ เป็นกรรมการตรวจนักธรรมสนามหลวง และกรรมการตรวจบาลีสนามหลวง

ในด้านการศึกษานั้น พ.ศ.๒๕๒๕ สอบได้พุทธศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ซึ่งในปีเดียวกันนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นแม่งานควบคุมการบูรณปฏิสังขรณ์บรมบรรพต (ภูเขาทอง) ในงานสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒๐๐๒ ปี จากนั้น พ.ศ.๒๕๒๗ ได้เดินทางไปประเทศอินเดีย เพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท คณะสังคมวิทยา

ส่วนลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.๒๕๓๐ เป็นพระครูปลัดสุวัฒนพรหมคุณ ฐานานุกรมในพระพรหมคุณาภรณ์ (สมเด็จพระพุฒจารย์ ในปัจจุบัน) หลังจากนั้นก็ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ “พระปัญญาวชิราภรณ์” พ.ศ.๒๕๓๕ เป็นพระราชา คณะชั้นราชที่พระราชสิทธิมงคล

พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ "พระเทพโสภณ" พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ "พระธรรมสิทธิเวที" และเมื่อวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นรองสมเด็จในราชทินนาม พระพรหมสุธี


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันอาทิตย์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สิ้นแล้ว หลวงพ่อสมัย เกจิชื่อดังแห่งเมืองอุทัยฯ


วงการพระสงฆ์เศร้า พระครูอุปการพัฒนกิจ หรือ หลวงพ่อสมัย อาภาธโร วัดหนองหญ้านาง จ.อุทัยธานี เกจิอาจารย์สาย หลวงพ่อเคลือบ วัดหนองกระดี่ และ หมอยาสมุนไพรชื่อดัง มรณภาพด้วยโรคมะเร็งตับ

เมื่อเวลา 17.00 น.วันที่ 15 ธ.ค. ที่ จ.อุทัยธานี ผู้สื่อข่าวรายงานมาว่า พระครูอุปการพัฒนกิจ หรือ หลวงพ่อสมัย อาภาธโร เจ้าอาวาสวัดหนองหญ้านาง ต.หนองไผ่แบน อ.เมือง จ.อุทัยธานี และเป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองอุทัยธานี พระเกจิอาจารย์ชื่อดังในด้านเมตตา มหานิยม คงกระพัน และยังเป็นหมอสมุนไพรที่เปิดวัดหนองหญ้านางเป็นสถานพยาบาลอย่างถูกต้องตามกฏหมาย ซึ่งได้รับรางวัล หมอไทยดีเด่นแห่งชาติประจำปี 2554 ได้มรณภาพลงอย่างสงบด้วยอาการโรคมะเร็งตับ ณ ห้องไอซียู โรงพยาบาลอุทัยธานี เมื่อเวลา 15.23 น. วันเดียวกันนี้ สิริอายุ 67 ปี พรรษา 42

หลวงพ่อสมัย เป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัย เผยแผ่พระธรรมคำสั่งสอนสืบทอดพุทธศาสนาให้มั่นคงอยู่เป็นประจำ พัฒนาวัดเก่าแก่เสื่อมโทรมจนเป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง นอกจากนี้ยังใช้วิชาการแพทย์แผนไทยบำบัดโรคภัยให้กับประชาชนที่เจ็บป่วย ปัจจุบันวัดหนองหญ้านางกลายเป็นที่ศึกษาดูงานด้านการแพทย์แผนไทย ทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นแหล่งรวมองค์ความรู้และประสบการณ์การบำบัดรักษาแบบพื้นบ้านที่มีศักยภาพ เป็นครูภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยอีกรูปหนึ่ง โดยล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2554 ได้รับรางวัลหมอไทยดีเด่นแห่งชาติ และเข้ารับถวายรางวัลจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ถือเป็นรางวัลสุดท้ายที่หลวงพ่อสมัยได้รับเกี่ยวกับวงการแพทย์แผนไทย ที่หลวงพ่อสมัยมีใจรักในวงการนี้


*************************

เรื่องโดย : เดลินิวส์ออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันศุกร์ที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เหรียญเจ้าสัว หลวงปู่บุญ องค์แชมป์!!


วัตถุมงคลที่ หลวงปู่บุญ หรือ พระพุทธวิถีนายก อดีตเจ้าอาวาส วัดกลางบางแก้ว อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม สร้างนั้นมีมากมาย อาทิ พระหลวงปู่บุญ เจ้าสัว รุ่นแรก, พระหลวงปู่บุญ พิมพ์เศียรโล้นสะดุ้งกลับ เนื้อผงยาจินดามณีและเนื้อดิน หรือแม้แต่เครื่องรางของขลังและเบี้ยแก้ต่างๆ ซึ่งล้วนทรงพุทธานุภาพเป็นที่ยอมรับและนิยมสะสมของบรรดาลูกศิษย์ลูกหาและนักนิยมสะสมพระเครื่องและเหรียญคณาจารย์มาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ประการสำคัญ คือ หลวงปู่บุญ ถูกยกให้เป็นต้นตำรับ "ยาจินดามณี" ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น "ยาวาสนา" ที่ผู้ใดได้รับประทานก็จะเกิดสิริมงคลอย่างยิ่ง และตราบจนปัจจุบันวัตถุมงคลต่างๆ ของวัดกลางบางแก้วก็ยังคงใช้ "ผงยาจินดามณี ตำรับหลวงปู่บุญ" เป็นส่วนผสมในเนื้อหามวลสาร และยังคงไว้ซึ่งพุทธคุณแก่กล้าดังเดิม

ในเรื่องของพุทธคุณนั้น เด่นทางด้านโชคลาภ ทำมาค้าขาย และทางด้านแคล้วคลาดอีกด้วย เชื่อกันว่าผู้ที่ห้อยบูชาเหรียญเจ้าสัวแล้วทำมาหากินด้วยความซื่อสัตย์สุจริต จะเจริญรุ่งเรือง ร่ำรวยทุกคน จึงได้รับสมญาว่าเหรียญเจ้าสัว อย่างในสมัยก่อนนั้น ผู้ที่บูชาเหรียญเจ้าสัว ได้แก่ เจ้าสัวหยุด เจ้าสัวชม เจ้าสัวโป๊ะ ชมภูนิช เจ้าสัวเป้า บุญญานิตย์ และกำนันแจ้ง ทุกท่านล้วนแต่มีฐานะร่ำรวย ผู้ที่มีเหรียญนี้ไว้ล้วนแต่อุดมด้วยโชคลาภ ทรัพย์สินพูนทวีมีฐานะ เขาจึงมักเรียกเหรียญนี้กันว่า เหรียญเจ้าสัว

เหรียญเจ้าสัวมีพุทธลักษณะเป็นเหรียญหล่อโบราณ หูเชื่อม ด้านหน้าเป็นรูปพระพุทธ นั่งขัดสมาธิเพชร บนอาสนะฐานบัวคว่ำบัวหงาย ด้านข้างมีกรอบซุ้มเรือนแก้ว ๒ เส้นขนานกัน กรอบซุ้มหยักเข้ารูป พระเกศองค์แหลมเรียวยาวเกือบจรดเส้นกรอบซุ้ม พระเมาลีเป็นตุ่ม มีรายละเอียดที่เส้นสังฆาฏิ พระพาหากลม ด้านหลังเหรียญเรียบ ไม่มีอักขระเลขยันต์ หรือตัวหนังสือใดๆ แต่มีรอยตะไบ ที่ตกแต่งพิมพ์ให้เรียบร้อย บางเหรียญมีรอยเหล็กจาร ทั้งโดยลายมือของหลวงปู่บุญ และลายมือของหลวงปู่เพิ่ม หูเหรียญของแท้ ต้องมีร่องรอยเชื่อมหู ซึ่งเป็นรอยเก่าปรากฏอยู่ ในส่วนที่เป็นหูในตัวก็มีแต่มีน้อย

เหรียญเจ้าสัว ถือว่าเป็นสุดยอดของเหรียญหลวงปู่บุญ สภาพสวยๆ ที่เรียกว่า องค์แชมป์มีราคาสูงกว่า ๒ ล้านบาท!! องค์ที่นำมาเป็นภาพพระองค์ครูเป็นของ "หนึ่ง เซ็นทรัล" หรือ "นายรัชต์ชยุตม์ กาญจนสินเกษม" ซึ่งเคยติดรางวัลที่ ๑ มาหลายสนาม


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันพุธที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2556

เพลิงไหม้!! กุฏิเก่าวัดอ้อน้อย เผาจริง เผาหลอก!!


เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2556 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลวงปู่พุทธอิสระ โพสต์ลงเพจนามว่า "หลวงปู่พุทธะอิสระ (Buddha Isara)" เล่าถึงเหตุการณ์ ที่กุฏิเก่าพระในวัดอ้อน้อย (ธรรมะอิสระ) กำแพงแสน จ.นครปฐม ถูกเผา โดยเล่าทั้งหมดว่า

"ประมาณเวลา บ่าย 3 โมง ของวันที่ 11 เดือน ธันวาคม 2556 มีบุคคลผู้ไม่หวังดี ลักลอบเข้าเผากุฏิเก่าพระในวัดอ้อน้อย (ธรรมะอิสระ) กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่งยังไม่รวมที่ทุกคืนจะมีแก๊งค์มอเตอร์ไซด์ 30-50 คันเข้ามาป่วนบริเวณรั้วกำแพงวัด พร้อมมีบุคคลที่พกพาอาวุธปืนเข้ามาเดินอยู่หลังวัด ทั้งหมดนี้คือ #พฤติกรรมของพวกอันธพาล #ไม่มีอุดมการณ์ #ทำทุกอย่างได้เพื่อเงิน #โดยไม่กลัวบาปกลัวกรรม #แสดงอาการข่มขู่คุกคาม #ก่อให้เกิดความไม่สงบภายในวัด "

ทำให้เรื่องดังกล่าวชาวเน็ตต่างพากันวิพากษ์วิจารณ์กันไปหลากหลายแง่มุม เช่น

- เผาเอง เพื่อสร้างสถานการณ์หรือเปล่า เวลา บ่าย 3 ฟ้าสว่างแจ้งขนาดนั้น แล้วอยู่ในวัดด้วย ไม่มีพยานเห็นเลยรึ ถ้าเป็นการลอบเผา และมีปณิธานแรงกล้าที่จะทำขนาดนั้นแล้วละก้อ ทำไม ไม่เผาอุโบสถหรือเผากุฎิของหัวโล้น ป3 เสียเลย เพราะมันจะเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงความเกลียดได้ตรงและชัดเจนกว่า มาเผากระต๊อบเหลือใช้แบบนี้ ขอรับ

- สร้างความสงสาร เพื่อรับบริจาคเงินอีกแล้ว อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ หากินกันแบบนี้เลย พฤติกรรม ส่อ เจตนา

- เสียดายจังหลวงพ่อปู่ไม่อยู่ด้วย

อย่างไรก็ตามยังมีข้อสงสัยจากหลายฝ่ายอีกว่า ในกุฏิที่ถูกผู้ไม่หวังดีวางเพลิงนั้น (ตามภาพ) เหตุใดจึงมีกองฟางอยู่ด้านใน ซึ่งหากเป็นบุคคลภายนอก การที่จะเตรียมการเช่นนี้ คงเป็นเรื่องยากและลำบากที่จะไม่มีพยานรับรู้ เพราะเวลาที่เกิดเหตุนั้น เป็นเวลาประมาณบ่าย 3 โมง ซึ่งมีแสงสว่างเพียงพอ และ ระบบรักษาความปลอดภัยของวัด ถือได้ว่าแน่นหนามาก!!

จึงเป็นเหตุของการวิพากษ์วิจารณ์กันในวงกว้างว่า เป็นความขัดแย้งกันเองภายในวัด หรือ ตั้งใจเผาเองเพื่อสร้างสถานการณ์หรือเปล่า



21 ธันวานี้!! ครั้งหนึ่งในชีวิต “ได้ใกล้ชิดพระอริยะสงฆ์"


นับว่าเป็นสิริมงคลยิ่งนัก หากครั้งหนึ่งในชีวิต “ได้ใกล้ชิดพระอริยะสงฆ์” 

ในวันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2556 ขอเชิญญาติโยมศิษยานุศิษย์ทุกท่าน ร่วมกันกราบสักการะสังขาร หลวงพ่อพูล เปลี่ยนผ้าครอง ลงกระหม่อม ตั้งแต่เวลา 18.00 น. เป็นต้นไป ณ ศาลาการเปรียญ วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม

พระมงคลสิทธิการ หรือ หลวงพ่อพูล อัตตะรักโข พระอมตะเถราจารย์แห่ง วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม พระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ที่มีประชาชนให้ความเคารพศรัทธาทั่วประเทศ

ตลอดเวลาที่ผ่านมา ท่านอยู่ในร่มกาสาวพัสตร์ ด้วยความเคร่งครัดในพระธรรมวินัย เสมอต้นเสมอปลาย ให้ความเมตตาต่อศิษยานุศิษย์ทุกชั้นวรรณะ

ท่านสร้างคุณประโยชน์ไว้มากมายในบวรพุทธศาสนา เป็นที่ประจักษ์อย่างเป็นรูปธรรม ถาวรวัตถุทั้งหมดล้วนเกิดขึ้นจากความตั้งใจ จรรโลงไว้เพื่อคุณงามความดี มีหลักยึดพระธรรมในการรังสรรค์ด้วยความเสียสละ เพื่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง

จวบจนเมื่อท่านละสังขาร สรีระของท่านไม่เน่าเปื่อย คงสภาพเดิมทุกประการ พุทธศาสนิกชนจากทั่วสารทิศ ต่างแห่แหนเดินทางมากราบสักการะสังขารของท่านมิขาดสาย ทำให้ทุกวันนี้ บนศาลาการเปรียญที่ประดิษฐานสังขารของท่าน มีประชาชนจำนวนมากเดินทางมากราบสังขารหลวงพ่อ แน่นขนัดทุกวัน เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ ในการดำเนินชีวิต เพื่อความเป็นสิริมงคลในหน้าที่การงาน ค้าขายดีมีกำไรไม่เจ็บไม่จน กินอิ่มนอนอุ่น ตลอดไป

และนับเป็นโอกาสที่ดีใน วันเสาร์ที่ 21 ธันวาคม 2556 พระเดชพระคุณพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ทายาทศิษย์เอกของหลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม จะได้เปิดโอกาสให้ญาติโยมศิษยานุศิษย์ ได้สัมผัสหลวงพ่ออย่างใกล้ชิด โดยจัดให้มีพิธีถวายสักการะสรีระ พระเดชพระคุณหลวงพ่อพูล สวดพระพุทธมนต์ ประกอบพิธีสรงน้ำเช็ดตัวเปลี่ยนผ้าครองที่สังขารหลวงพ่อพูล ตั้งแต่เวลา 6 โมงเย็นเป็นต้นไป ณ ศาลาการเปรียญวัดไผ่ล้อม

สำหรับพิธีลงกระหม่อม โดยในระหว่างเวลาดังกล่าวนี้ หลวงพี่น้ำฝน ท่านเปิดโอกาสให้ญาติโยมพุทธศาสนิกชน เข้ากราบสักการะสังขารหลวงพ่ออย่างใกล้ชิด ด้วย การก้มกราบน้อมศีรษะจรดแตะไปที่ปลายเท้าหลวงพ่อ เพื่อความเป็นสิริมงคล กับครั้งหนึ่งในชีวิต ที่ได้สัมผัสพระอริยะสงฆ์ เฉกเช่น พระมงคลสิทธิการ หรือ หลวงพ่อพูล อัตตะรักโข สุดยอดพระอมตะเถราจารย์แห่ง วัดไผ่ล้อม


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันอังคารที่ 3 ธันวาคม พ.ศ. 2556

สมเด็จวัดปากน้ำ บิณฑบาตขอบ้านเมืองสงบ


เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.2556 ที่ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ กรรมการมหาเถรสมาคมกล่าวว่า เนื่องในเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ว่า ขอบิณฑบาตขอให้สาธุชอยู่ในความสงบ และให้มีความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างแท้จริง

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กล่าวอีกว่า "ที่สำคัญอยากให้ประชาชนได้มีสติสัมปชัญญะ คือ สติ หมายถึง การระลึกได้ ส่วนสัมปชัญญะ คือ การรู้ตัว หากใช้หลักคุณธรรม ทั้ง 2 อย่างนี้ จะมีประโยชน์ต่อทุกคน คือ เมื่อเราจะทำอะไร เราก็สามารถระลึกได้ว่า เรากำลังทำอะไร เพื่ออะไร"

ขณะที่ นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ มอบหมายให้ นายวสวัตติ์ กิตติธีระสิทธิ์ ผู้อำนวยการส่วนบูรณะพัฒนาวัดและการศาสนสงเคราะห์ กองพุทธศาสนสถาน และ นายสาโรจน์ กาลศิริศิลป์ ผู้อำนวยการส่วนคุ้มครองพระพุทธศาสนา สำนักเลขาธิการมหาเถรสมาคม เข้าช่วยเหลือพระภิกษุสงฆ์สามเณรภายในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ประมาณ 100 รูป ที่ได้รับผลกระทบความเดือดร้อนจากการชุมนุมในปัจจุบัน 

เนื่องจากมาตรการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ ทำให้พุทธศาสนิกชนไม่ได้รับอนุญาตให้ผ่านสิ่งกีดขวางเข้าไปตักบาตรพระภิกษุสงฆ์สามเณรภายในวัดได้ และได้จัดภัตตาหารแห้งและน้ำฉันมาถวายความช่วยในเบื้องต้นเป็นวันที่ 2 โดยนำน้ำฉัน จำนวน 100 แพ็ค ถวายแด่พระภิกษุสงฆ์สามเณรภายในวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม โดยมี พระเทพกิตติเวที เจ้าคณะภาค 17 และรองเจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรวนาราม เป็นผู้แทนคณะสงฆ์วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนารามรับมอบของถวาย


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ดร.สมเกียรติ จวกพุทธอิสระ หยาบคายควรสึก


ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล
ชี้การล้มระบอบทักษิณต้องล้มด้วยประชาธิปไตยโดยมวลมหาประชานไทยอย่างแท้จริง ต้องสู้ด้วยความดีที่ดีกว่า แนะสุเทพและมวลมหาประชาชนตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นทางเลือก เพื่อเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสิน แพ้-ชนะ ก็ต้องรับ

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยวิทัศน์ จำกัด เขียนข้อความผ่านทวิตเตอร์ Somkiat Onwimon กรณีการปราศรัยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำต่อต้านรัฐบาล และ พระพุทธอิสระ โดยมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า 

ระบอบสุเทพฯ ประกาศห้ามไม่ให้ผู้ไม่เห็นด้วยแสดงความเห็นค้านไม่ฟังคำท้วงติงจาก คุณกรณ์ จาติกวณิช หรือ ใครก็ตามที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม ผมจะยังคงท้วงติงคุณสุเทพไปเรื่อยๆ นะครับ ห้ามผมไม่ได้ ไม่ฟังผมได้ ผมมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น เพื่อช่วยปรับขบวนการมหาประชาชนให้ผมพอใจด้วย การล้มระบอบทักษิณต้องล้มด้วยประชาธิปไตยโดยมวลมหาประชาชนไทยอย่างแท้จริง ต้องสู้ด้วยความดีที่ดีกว่า ความสามารถที่มากกว่า ความสงบที่งดงามกว่า 

และข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง พระพุทธอิสระ ว่า หลวงปู่พุทธอิสระหยาบคายมาก บนเวทีมวลมหาประชาชน สึกเถิดครับ ฟังไม่ได้ครับ ไม่มีธรรมะอะไรสำหรับมวลมหาประชาชน วานคุณสุเทพบอกให้ท่านหยุดเถิด


มส.เตือน พุทธะอิสระ ร่วมม็อบไม่เหมาะ แจ้งเจ้าคณะจัดการ


แหล่งข่าวจาก กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เปิดเผยว่า จากกรณีช่วงหลายวันที่ผ่านมาปรากฏภาพ พระพุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ขึ้นปราศรัยบนเวทีชุมนุม รวมถึงประกาศเป็นผู้นำขบวนม็อบด้วยตนเองนั้น มส.เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสมอย่างมากตามกฎระเบียบของ มส.มีข้อกำหนดไว้ชัดเจนว่า พระสงฆ์ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือว่าออกมาแสดงความเห็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม

ขณะนี้ มส.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีหน้าที่ปกครองดูแลคณะสงฆ์ในจังหวัดนครปฐม ดำเนินการตักเตือนและพูดคุยกับพระพุทธะอิสระ ให้รู้ว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของพระสงฆ์ สมควรที่จะหยุดการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวทันที เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มส.ยังได้กำชับไปเจ้าคณะปกครองในแต่ละระดับชั้น ทั้งเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะตำบลทั่วประเทศ ให้ดูแลและตักเตือนคณะสงฆ์ในปกครองว่าไม่ควรเข้าไปร่วมชุมนุม หรือยุ่งเกี่ยวกับการเมือง รวมถึงกระทำอะไรที่จะให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้นอีก


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ






วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ในหลวง โปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์ ปี 2556



นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสถาปนาเลื่อนและแต่งตั้งสมณศักดิ์พระเถรานุเถระ ประจำปี 2556 จำนวน 72 รูป เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2556 ดังนี้

พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ หรือ รองสมเด็จพระราชาคณะ จำนวน 2 รูป ได้แก่ 

- พระธรรมวราภรณ์ วัดเครือวัลย์ กรุงเทพฯ เป็น พระพรหมวิสุทธาจารย์ 
- พระธรรมภาวนาวิกรม (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ เป็น พระพรหมมังคลาจารย์ 

พระราชาคณะชั้นธรรม 4 รูป ได้แก่ 

- พระเทพเมธาภรณ์ วัดสนามพราหมณ์ จ.เพชรบุรี เป็น พระธรรมวราภรณ์
- พระเทพวงศาจารย์ วัดหนองแวง จ.ขอนแก่น เป็น พระธรรมวิสุทธาจารย์
- พระเทพปริยัติวิธาน วัดคลองโพธิ์ จ.อุตรดิตถ์ เป็น พระธรรมมหาวีรานุวัตร
- พระเทพสุธี วัดไตรธรรมาราม จ.สุราษฎร์ธานี เป็น พระธรรมวิมลโมลี

พระราชาคณะชั้นเทพ 7 รูป ได้แก่ 

- พระราชสารสุธี วัดสิริกาญจนาราม จ.กาญจนบุรี เป็น พระเทพเมธาภรณ์
- พระราชรัตนมุนี วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เป็น พระเทพมหาเจติยาจารย์
- พระราชวิริยาภรณ์ วัดศรีอุโมงค์คำ จ.พะเยา เป็น พระเทพญาณเวที
- พระราชสุตาลังการ วัดนิมมานรดี กรุงเทพฯ เป็น พระเทพสุธี
- พระราชมุนี วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ เป็น พระเทพโมลี
- พระราชมงคลรังสี วัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา เป็น พระเทพสิทธิญาณรังษี วิ. 
- พระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล วัดไทยพุทธคยา อินเดีย เป็น พระเทพโพธิวิเทศ

พระราชาคณะชั้นราช 14 รูป ได้แก่ 

- พระภาวนาวิริยคุณ วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี เป็น พระราชภาวนาจารย์ วิ.
- พระมหานายก วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ เป็น พระราชมุนี
- พระวิสุทธินายก วัดสนธิกรประชาราม จ.เพชรบูรณ์ เป็น พระราชปริยัติบัณฑิต
- พระเมธีธรรมาลังการ วัดพระบาทมิ่งเมือง จ.แพร่ เป็น พระราชเขมากร
- พระวิสุทธิภัทรธาดา วัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพฯ เป็น พระราชวรเมธี
- พระรัตโนภาสวิมล วัดศรีบุญเรือง จ.มุกดาหาร เป็น พระราชรัตนโมลี
- พระภาวนาวิสุทธิคุณ วัดพุทธภูมิ จ.ยะลา เป็น พระราชมงคลวุฒาจารย์ วิ.
- พระพิศิษฏ์พัฒนพิธาน วัดหนองหอย จ.ราชบุรี เป็น พระราชวัลภาจารย์ วิ.
- พระรัตนมงคลโมลี วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ เป็น พระราชวรญาณโสภณ
- พระปัญญารัตนาภรณ์ วัดศรีเอี่ยม กรุงเทพฯ เป็น พระราชรัตนเมธี
- พระเมธีวราภรณ์ วัดโมลีโลกยาราม กรุงเทพฯ เป็น พระราชปริยัติโมลี
- พระศรีสุธรรมมุนี วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพฯ เป็น พระราชรัตนมุนี
- พระเมธีรัตโนดมวัดบึง จ.นครราชสีมา เป็น พระราชสีมาภรณ์
- พระปรีชาญาณวิเทศ วัดธัมมธโร ออสเตรเลีย เป็น พระราชสีลาภรณ์ 


พระราชาคณะชั้นสามัญ 44 รูป ได้แก่ 

พระครูพิศาลวินัยวาท (สังฆ์ ป.ธ.5) ธ. วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ เป็น พระมหานายก สป., พระครูวิสุทธิญาณ (สุพรรณ) ธ.วัดหนองหญ้าลาด จ.ศรีสะเกษ เป็น พระญาณวิเศษ สย.วิ.,พระครูอรรคธรรมธารี (บุญเลิศ) ธ.วัดถ้ำพรหมโลก จ.ลพบุรี เป็น พระอุดมศีลคุณ สย.,พระครูกิตติวรคุณ (บุญเลิศ) ธ. วัดอรัญญวาสี จ.หนองคาย เป็น พระกิตติสารโสภณ สย.วิ.,พระครูสันติปัญญาภรณ์ (ประสงค์) วัดเซกาเจติยาราม จ.บึงกาฬ เป็น พระวิชัยธรรมคณี สย.วิ, พระครูวิมลศีลโสภณ (สำเนา) ธ. วัดทุ่งศรีสองเมือง จ.นครพนม เป็น พระวิมลธรรมภาณ สย.วิ.,พระครูอาทรธรรมนาถ (ประชุม) ธ. วัดชุมนุมศรัทธา จ.นครปฐม เป็น พระปฐมคณาจารย์ สย.

“พระครูสารเนติโกศล (บุญมี) ธ. วัดตำหนัก จ.นครนายก เป็น พระมุนีนายก สย., พระครูสุปัญญาโกศล (สมศักดิ์) ธ. วัดดอนตูมกมลาวาส จ.ชัยนาท เป็น พระวิสุทธินายก สย.,พระครูสุทธิพรหมคุณ (สุทธิพงศ์) ธ. วัดป่าวังเลิง จ.มหาสารคาม เป็น พระสุทธิธรรมโสภณ สย.,พระครูอรรถธรรมเมธี (ชัยวัฒน์) ธ.วัดควนกะไหล จ.พังงา เป็น พระประสาธน์สารโสภณ สย.,พระมหาทอง ป.ธ.9 วัดเขาสมโภชน์ จ.ลพบุรี เป็น พระภาวนาสมณคุณ สป.วิ.,พระครูศรีจริยาภรณ์ (ชรัช ป.ธ.5) วัดตานีนรสโมสร จ.ปัตตานี เป็น พระสิริจริยาลังการ สป.,พระครูศรีรัตนาลังการ (บุญเพ็ง ป.ธ.6) วัดโพนชัย จ.เลย เป็น พระสิริรัตนเมธี สป.,พระครูเขมวงศานุการ (เกษม ป.ธ.3) วัดนิโรธสังฆาราม จ.ยะลา เป็น พระโสภณธรรมมุนี สป.,พระครูอนุสรธรรมคุณ (เกษร) วัดเหนือ จ.กาฬสินธุ์ เป็น พระสุนทรธรรมประพุทธ์ สย. , พระครูเกษมวิริยคุณ (เลียม) วัดแสงเกษม จ.อุบลราชธานี เป็น พระรัตโนภาสวิมล สย., พระครูสิทธิคีรีรักษ์ (ประเชิญ) วัดเขาทุเรียน จ.นครนายก เป็น พระสิทธิวรนายก สย.” นายนพรัตน์ กล่าว

พระมหาสนอง ป.ธ. 9 วัดเชิงหวาย จ.อ่างทอง เป็น พระศรีวิสุทธิโสภณ สป.,พระครูวิสิฐนันทวุฒิ (ธรรมวัตร ป.ธ. 4) วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน เป็น พระชยานันทมุนี สป.,พระครูปัญญาวรกิจ (อ่วม) วัดโลการาม จ.สงขลา เป็น พระวิสุทธาจารคุณ สย.,พระครูพุทธิญาณโสภณ (ชวลิต ป.ธ.4) วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน เป็น พระพุทธบาทพิทักษ์ สป.,พระครูพิศาลจริยาภิวัฒน์ (อนันต์) วัดชัยมงคล จ.ชลบุรี เป็น พระปัญญารัตนาภรณ์ สย.,

พระมหาชูชาติ ป.ธ. 9 ธ. วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพฯ เป็น พระอมรมุนี สป.,พระมหามงคล ป.ธ. 9 วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ เป็น พระศรีวีรมุนี สป., พระมหาจำลอง ป.ธ.9 วัดยานนาวา กรุงเทพฯ เป็น พระศรีวชิราลังการ สป., พระมหาศิริ ป.ธ.9 วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จ.กาญจนบุรี เป็น พระเมธีปริยัติวิบูล สป.,พระมหาอิทธิยาวุธ ป.ธ. 9 วัดสามพระยา กรุงเทพฯ เป็น พระปริยัติโศภณ สป.พระครูปลัดสัมพิพัฒนปัญญาจารย์ (วิศิษฏ์ ป.ธ.7) วัดปากน้ำภาษีเจริญกรุงเทพฯ เป็น พระวิเชียรกวี สป.

พระมหาไสว ป.ธ.7 วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ เป็น พระภาวนาวิริยคุณ สป.วิ., พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (ไสว ป.ธ.6) วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ เป็น พระโสภณวชิราภรณ์ สป., พระครูวิสุทธิสีลวัฒน์ (กิตติชัย ป.ธ.5) ธ.วัดโสมนัส กรุงเทพฯ เป็น พระกิตติวิมลเมธี สป.วิ., พระครูปลัดสัมพิพัฒนธุตาจารย์ (ชาญ ป.ธ.4) วัดสระเกศ กรุงเทพฯ เป็น พระพิทักษ์บรมบรรพต สป.,พระครูปลัดสุวัฒนวิสุทธิคุณ (ประมวล) วัดพระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็น พระศรีศิลปาจารย์ สย.,พระครูวิมลจันโทภาส (สุวิช ป.ธ.3) วัดใหญ่สว่างอารมณ์ จ.นนทบุรี เป็นพระนันทวิริยาภรณ์ สป.,พระครูสุนทรพิพัฒนโกศล (ประจวบ) วัดศาลาแดง กรุงเทพฯ เป็น พระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ สย., พระครูไพศาลสาครกิจ (สมบัติ) วัดเกตุมดีศรีวราราม จ.สมุทรสาคร เป็น พระภาวนาวิสุทธิคุณ สย.วิ.

พระครูปลัดวิมลสิทธิวัฒน์ (ไพศาล) วัดแก้วฟ้า จ.นนทบุรี เป็น พระโสภณรัตนาภรณ์ สย., พระมหาพิมล ป.ธ. 9 วัดปากน้ำมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เป็น พระศรีญาณวิเทศ สป.,พระมหาพยอม ป.ธ.7 วัดธัมมาราม สหรัฐอเมริกา เป็น พระวรญาณวิเทศ สป.,พระครูศรีวิเทศธรรมคุณ (ศักดิ์ชัย ป.ธ.6) วัดสุทธาวาส สหรัฐอเมริกา เป็น พระวิเทศธรรมคุณ สป.,พระครูวรกิตติโสภณ (เศรษฐกิจ) วัดพุทธสามัคคี นิวซีแลนด์ เป็น พระกิตติโสภณวิเทศ สย.,พระครูปลัดสัมพิพัฒนสุตาจารย์ (กาเข่ง) ธ. วัดสันติวนาราม มาเลเซีย เป็น พระวินัยธรรมวิเทศ สย.วิ., พระครูปลัดสุวัฒนสมาธิคุณ (สิทธิพล) วัดปากน้ำนิวซีแลนด์ นิวซีแลนด์ เป็น พระมหาสิทธิวิเทศ สย.

นายนพรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีบรรพชิตจีนในประเทศสิงคโปร์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์เข้ารับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ 1 รูป ได้แก่ พระอาจารย์จีนวิเทศธรรมานุสิฐ (ด้ายหมิงขวา ฝ่าจ้าว) วัดพระเขี้ยวแก้ววิหาร ประเทศสิงคโปร์ เป็น พระอาจารย์จีนราชธรรมานุสิฐ อย่างไรก็ตามพระเถรานุเถระทั้ง 72 รูปจะเข้ารับพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคมนี้


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วัดพระพิเรนทร์ ตั้งสวนพุทธธรรมพระพรหมคุณาภรณ์



พระครูภัทรกิตติสุนทร (แถม) เจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ กทม. เปิดเผยว่า วัดพระพิเรนทร์จะจัดตั้ง สวนพุทธธรรมพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระเถระนักปราชญ์พระพุทธศาสนาที่ชาวโลกยกย่อง เพื่อเผยแพร่เกียรติประวัติของ พระพรหมคุณาภรณ์ หรือ เจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต ในฐานะที่เป็นสังฆโสภณแห่งสังฆมณฑล และในฐานะที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยและเป็นศรีแห่งวัดพระพิเรนทร์ ในบริเวณวัดพระพิเรนทร์ ถ.วรจักร เนื่องจากพระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระที่วัดพระพิเรนทร์มาหลายสิบปีและเป็นผู้มีปฏิปทาเสมอต้นเสมอปลาย เป็นตัวอย่างให้พระภิกษุสามเณรรุ่นต่อๆ มายึดถือเป็นแบบอย่าง ทั้งด้านการศึกษา และงานวิชาการต่างๆ ทั้งนี้ การสร้างสวนพุทธธรรมแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.ลานสื่อความหมาย และคุณค่าพระพรหมคุณาภรณ์ โดยจัดพื้นที่จัดแสดงเกียรติประวัติให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้ และลานเดินจงกรมเพื่อส่งเสริมวัตรปฏิบัติของพระและผู้ปฏิบัติธรรม 

2.สวนพุทธวจนะเป็นพื้นที่สีเขียว 

3.พื้นที่จอดรถยนต์ ใต้ดินของลานสื่อความหมายฯ และสวนพุทธวจนะ โดยจะใช้งบประมาณ 70 ล้านบาท

พระครูภัทรกิตติสุนทร กล่าวต่อว่า หากโครงการสวนพุทธธรรมเกิดขึ้น จะเป็นโครงการแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของวัดในกรุงเทพฯ และน่าจะเป็นตัวอย่างให้วัดทั่วไปนำไปพัฒนาด้านภูมิทัศน์ แต่ก่อนจะเดินหน้าต้องฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องให้รอบด้าน เพราะไม่ต้องการให้เป็นโครงการที่เป็นบาปถึงคนรุ่นหลัง


*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

9 มี.ค.57 พระราชทานเพลิงศพ "สมเด็จเกี่ยว"


พระพรหมสุธี รักษาการเจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วันที่ 9 มีนาคม 2557 ประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพในการนี้ด้วย

สำหรับพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล สตมวาร (100วัน) ศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในวันที่ 26 พ.ย.นี้นั้น ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 25 พ.ย. วัดสระเกศฯ จะมีพิธีเจริญพุทธมนต์พระสงฆ์อุทิศถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ และในวันที่ 26 พ.ย. มีพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร โดยมีพระสงฆ์ 100 รูปสดัปปกรณ์อุทิศถวาย สมเด็จพระพุฒาจารย์ด้วย

พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กล่าวว่า ทางวัดสระเกศฯ จะจัดพิมพ์หนังสือ พระมหาเถระผู้เป็นประวัติความทรงจำแห่งโลกพระพุทธศาสนา จำนวน 50,000 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติ และการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่าน ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรวบรวมประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ทั้งหมดออกมาเผยแพร่ในงานครบ 100 วัน พร้อมกันนี้ ยังมีกลุ่มจิตอาสาจากนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ได้มาช่วยงานสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม วัดสระเกศฯ จะร่วมกันจัดทำการ์ตูนแอนิเมชันความยาว 15 นาที เกี่ยวกับ ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ ออกเผยแพร่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ ขณะเดียวกัน กลุ่มจริยธรรมมิวสิค ของสำนักสงเสริมคุณธรรม จริยธรรม ก็ได้ร่วมกับแต่งเพลงบรรเลงชุด ห้วงนฤพาน เพื่อเป็นการบูชาคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ทั้งนี้สามารถรับฟังและดาวน์โหลดได้ที่ เว็บไซต์ จริยธรรมดอทคอม

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ยังเปิดให้ประชาชนได้มาถวายสักการะศพสมเด็จพระพุฒจารย์อย่างต่อเนื่อง บริเวณศาลาการเปรียญ และส่วนเจ้าภาพการสวดพระอภิธรรม ในเบื้องต้นมีผู้จองเป็นเจ้าภาพเต็มถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2556 อย่างไรก็ตาม ทางวัด จะยังเปิดให้พุทธศาสนิกชนที่ต้องการร่วมเป็นเจ้าภาพพิธีสวดพระอภิธรรม ได้จองเป็นเจ้าภาพในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ จนถึงก่อนมีพระราชพิธีพระราชทานเพลงศพ” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กล่าว


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ร.6 กษัตริย์ ผู้ทำนุพระศาสนา


พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 46 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 16 ปี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในความรู้ทางพระศาสนามาก ทรงนิพนธ์หนังสือแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นต้น ถึงกับทรงอบรมสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วยพระองค์เอง

ท่านทรงส่งเสริมการสอนพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ ทรงสนับสนุนให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์สกลมหาสังฆปรินายกในเวลานั้น ปรับปรุงแก้ไขการศึกษาและการสอบพระปริยัติธรรม เช่น 

- ได้เปลี่ยนแปลงการสอบไล่ พระปริยัติธรรม จากวิธีการแปลด้วยปากมาเป็นวิธีเขียน 
- จัดตั้งหลักสูตรนักธรรมและบาลีขึ้น ซึ่งได้ยึดเป็นแบบแผนจนถึงปัจจุบัน
ส่วนการบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียสถานนั้น ทรงมีพระราชดำริว่า วัดต่าง ๆ ในเวลานี้มีอยู่มากจนเหลือกำลังที่จะทำนุบำรุงดูแลให้ทั่วถึง อีกทั้งในเวลานี้ การศึกษาและสถานศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ จำเป็น ยิ่งกว่าวัดเสียแล้ว ฉะนั้นจึงมิได้โปรดให้สร้างวัดเพิ่มขึ้นอีกแล้วเปลี่ยนมาสร้างโรงเรียนแทน ดังนั้นนับแต่ รัชกาลนี้เป็นต้นมา การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านวัตถุ จึงมุ่งไปในด้านการบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นสำคัญ และประเพณีการสร้างวัดประจำรัชกาล ก็ได้เลิกล้มไปในคราวนั้นด้วย วัดที่สำคัญที่มีการบูรณะ ได้แก่ 

- วัดพระศรี รัตนศาสดาราม 
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 
- วัดบวรนิเวศวิหาร 
- วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ 

ส่วนวัดในหัวเมือง ได้แก่ สร้างวิหารสำหรับประดิษฐาน พระร่วงโรจนฤทธิ์ ไว้ที่ วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดอยุธยา นอกจากนี้ยังได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นอีก เช่น พระแก้วมรกตน้อย ซึ่งสร้างด้วยช่างชาวรัสเซีย พระนิโรคันตราย ซึ่งโปรดฯ ให้หล่อขึ้น 16 องค์ แล้วพระราชทานไปไว้ตาม วัดมหานิกาย ทำนองเดียวกับรัชกาลที่ 4 ได้สร้าง พระนิรันตราย พระราชทานไว้ตามวัดธรรมยุติกนิกาย

ปัจจุบัน พระร่วงโรจนฤทธิ์ ประดิษฐานในซุ้มวิหารหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ (ทิศเหนือ) โดยสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งได้พระเศียรพระหัตถ์ และพระบาท มาจากเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แล้วโปรดฯให้ช่างทำรูปปั้นขี้ผึ้ง ปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์ เต็มองค์ ทำพิธีหล่อที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ. 2456 เป็นพระพุทธรูปยืนปาง-ประทานอภัย เสร็จแล้วอัญ เชิญไปประดิษฐานไว้ในซุ้มวิหารด้านเหนือ ตรงกับบันไดใหญ่ และพระราชทานนามว่าพระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรี อินทราทิตย์ ธรรม-โมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร โดยต่อมาที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นที่บรรจุพระอังคาร ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย

และใน พ.ศ. 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไอเดียเจ๋ง "โรงแรมธรรมะ" พักศึกษาธรรมะ ฟรี!!


พระราชวรมุนี (พล อาภากโร) รองเจ้าคณะภาค 6 กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจงานคณะสงฆ์พื้นที่ จ.น่าน ซึ่งเป็นจังหวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค 6 ตามที่ พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ สุทสฺสโน) เจ้าคณะภาค 6 มอบหมาย พบว่า ในพื้นที่ จ.น่าน มีวัดที่มีความสำคัญหลายแห่ง ขณะที่ บางแห่งมีแนวทางในการส่งเสริมให้คนเข้าวัดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่วัดภูเก็ต อ.ปัว จ.น่าน มีการสร้าง temple stay หรือ “เทมเปิล สเตย์” หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือ เป็นลักษณะของ โรงแรมธรรมะ 

โดยสร้างเป็นอาคารขนาด 4 ชั้น มี 8 ห้องนอน โดยในชั้นที่ 4 จะเป็นห้องปฏิบัติธรรม ซึ่งที่น่าสนใจคือ ตัวโรงแรมนั้นจะสร้างอยู่ใต้โบสถ์ของวัดภูเก็ต เนื่องจากวัดภูเก็ตสร้างอยู่บนเนินเขา และมีการสร้างโรงแรมขึ้นบริเวณเชิงเขาด้านล่างของโบสถ์ ทำให้บริเวณลานโบสถ์ คือ ดาดฟ้าของโรงแรม และการที่เรียกว่าโรงแรมธรรมะนั้น เพราะมีการจัดห้องพักในลักษณะเดียวกับโรงแรม และผู้ที่จะเข้ามาพักจะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมร่วมกับทางวัด รวมทั้งจะได้ศึกษาวิถีชีวิตของพระ เณร ภายในวัด ได้ทำบุญ ตักบาตร ที่สำคัญที่โรงแรมแห่งนี้ จะไม่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแน่นอน

พระราชวรมุนี กล่าวต่อว่า จากการสอบถามกับทางวัด ทราบว่า โรงแรมดังกล่าวสร้างเสร็จเมื่อช่วงต้นปี 2555 โดยมีแนวคิดมาจากประเทศเกาหลี เนื่องจากพบว่า วัดที่เกาหลีมีการเปิดเป็นที่พักให้นักท่องเที่ยวมาเข้าพัก ทางวัดภูเก็ตจึงนำมาประยุกต์ใช้ที่วัดโดยการสร้างเป็น เทมเปิล สเตย์ หรือโรงแรมธรรมะ โดยผู้ที่เข้าพักที่จะมาปฏิบัติธรรมจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าพัก แต่จะให้ขึ้นอยู่ที่จิตศรัทธาของแต่ละคน ขณะเดียวกันทางวัดจะจัดโปรแกรมให้ได้ศึกษาการใช้ชีวิตของพระ เณรด้วย นอกจากนี้ต่อไปทางวัดภูเก็ตยังเตรียมที่จะทำชุดขาวสำหรับปฏิบัติธรรมให้บริการไว้ภายในห้องพักเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกของผู้ที่จะเข้ามาพักแต่ไม่ได้เตรียมชุดปฏิบัติธรรมมา และหากพบว่า มีผู้สนใจเข้ามาพักจำนวนมากต่อไปทางวัดภูเก็ต ระบุว่า อาจจะมีการจัด โปรแกรมทัวร์ธรรมะ ให้กับผู้ที่เข้าพักด้วย

"โรงแรมธรรมะของวัดภูเก็ต ไม่ใช่การเปิดศาลาวัดให้คนเข้าไปนอนแล้วมาตั้งชื่อว่าเป็นโรงแรม แต่ที่วัดภูเก็ตมีการสร้างอาคารและห้องพักที่มีลักษณะเหมือนกับโรงแรมทั่วไป ประมาณโรงแรมระดับ 3 ดาว เพียงแต่ผู้ที่จะเข้ามาพักหากมาเพื่อปฏิบัติธรรมจะไม่ต้องเสียค่าที่พัก ซึ่งแนวทางนี้วัดต่างๆสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ เพราะถือว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนเข้าวัด ปฏิบัติธรรมมากขึ้น ทั้งยังจะช่วยให้ผู้ที่เข้าพักได้มีโอกาสศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนที่พักอาศัยอยู่รอบวัดด้วย" พระราชวรมุนี กล่าว


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ






วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระสมณทูต ผู้นำพระพุทธศาสนามาสู่ "สุวรรณภูมิ"


องค์พระปฐมเจดีย์
 วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม สันนิษฐานกันว่าได้ถูกสร้างขึ้นในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อคราวที่พระสมณทูตได้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ เนื่องจากเจดีย์องค์เดิมมีลักษณะ ทรงบาตรคว่ำ แบบเดียวกับสถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้นในกรุงอนุราชบุรี เกาะสิงหลทวีป ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกผนวช ได้เสด็จธุดงค์มานมัสการ และหลังจากทรงลาผนวช ได้เสวยราชสมบัติ แล้ว โปรดให้ก่อสร้างเจดีย์องค์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิมไว้ ซึ่งมีความสูงถึง ๑๒๐ เมตร และพระราชทานนามพระสถูปเจดีย์ว่า “พระปฐมเจดีย์” เพราะทรงเชื่อมั่นว่าเป็นเจดีย์องค์แรกที่สร้างขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิ

เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๖ พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน สมัยเดียวกันกับประเทศศรีลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ๙ สาย โดยการอุปถัมภ์ของ พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ทั้ง ๗ ประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่ จังหวัดนครปฐม ของไทย เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่นพระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่เมืองสะเทิม ภาคใต้ของพม่า พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิในยุคนี้ นำโดย พระโสณะ และ พระอุตตระ พระเถระชาวอินเดีย เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบนี้ จนเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ตามยุคสมัยต่อไปนี้

พระโสณะ และ พระอุตตระ ได้เดินทางจากแคว้นมคธ เข้ามาประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ โดยมีข้อสันนิษฐานว่า น่าจะมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนกลางของไทยในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ศิลารูปพระธรรมจักร เป็นต้น

พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในสมัยนี้ เป็นนิกายเถรวาทดั้งเดิม โดยพุทธศาสนิกชนมีความศรัทธาเลื่อมใสบวชเป็นพระภิกษุจำนวนมาก และได้สร้างสถูปเจดีย์ไว้สักการบูชา เรียกว่า สถูปรูปฟองน้ำ เหมือนสถูปสาญจีในประเทศอินเดียที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้น โดยศิลปะในยุคนี้ เรียกว่า ศิลปะทวารวดี

พระโสณะและพระอุตตระเป็นชาวอินเดีย มีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรที่ ๓ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ไม่ปรากฏประวัติก่อนบวช ปรากฏแต่ว่า เมื่อท่านทั้งสองอุปสมบทแล้วเป็นผู้มีความแตกฉานในพระไตรปิฎกและเป็นกำลังสำคัญในการสังคายนาพระธรรมวินัย และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยท่านทั้งสองได้รับมอบหมายให้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ

เมื่อครั้งที่พระโสณะและพระอุตตระ เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยนั้น ประชาชนกำลังตกอยู่ในความหวาดกลัว ผีเสื้อสมุทร ซึ่งมักจับทารกกินเป็นอาหาร ท่านทั้งสองได้สร้างขวัญกำลังใจ ทำให้ประชาชนหายหวาดกลัวโดยใช้อุบายธรรมนำ "พรหมชาลสูตร" ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยความเห็นผิดมาเทศนา และได้เปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์ รวมทั้งสมาทานศีล ๕ ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อที่ถูกต้องและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จนพากุลบุตรและกุลธิดามาบวช ทำให้พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในดินแดนสุวรรณภูมิ และเจริญสืบเนื่องเรื่อยมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ

พระโสณะและพระอุตตระ แม้จะเกิดไม่ทันสมัยพุทธกาล แต่เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านทั้งสองได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมและศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน มีความรู้ ความสามารถ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูตในการเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน แม้ว่า เดินทางจากอินเดียมายังสุวรรณภูมิซึ่งไกลและใช้เวลามาก ย่อมประสบกับความลำบากมากมาย แต่ท่านทั้งสองก็ไม่ย่อท้อ ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ของพระพุทธศาสนา จึงอดทนต่อสู้ต่อความเหนื่อยยาก

งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ปี ๒๕๕๖

"เทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์" หรือชาวบ้านเรียกว่า "กลางเดือนสิบสอง" หรือ "งานองค์พระ" เป็นงานที่จัดขึ้นทุกๆ ปี ระหว่างวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึง วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ รวม ๙ วัน ๙ คืน โดยในปี ๒๕๕๖ นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔-๒๒ พฤศจิกายน ทั้งนี้วัดเปิดให้การเปิดร้านขายของล่วงหน้า ๗ วัน และหลัง ๑๕ ค่ำ อีก ๗ วัน

พระศรีวิสุทธิวงศ์ (พระมหาสุวิทย์ ปวิชฺชญฺญู) เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๕ ฝ่ายมหานิกาย และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า งานองค์พระมิใช่เพียงแค่งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์อย่างเดียว หากเป็นงานนมัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในวิหารต่างๆ รอบองค์พระปฐมเจดีย์ เช่น พระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครปฐม พระพุทธรูปคันธราษฎร์ พระนอน พระพุทธรูปปางต่างๆ ครบทุกปาง โดยเฉาะก่อนงาน ๕ วัน เป็นงานวันพระร่วงโรจนฤทธิ์

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเพณีปฏิบัติเคียงคู่ไปกับการนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์นั่นคือ แห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ มี ๒ วัน คือ วันแรกลอยกระทง คือ วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น. ผู้คนจึงได้ร่วมแรงร่วมใจนำผ้ากาสาวพัสตร์ต่อกันเป็นผืนยาว จัดเป็นขบวนแห่รอบองค์พระปฐมเจดีย์ ช่วยกันจับขึงไว้บนบ่าทั้งผืนด้วยแรงสามัคคี ขบวนแห่ผ้าห่มจะเดินเวียนรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ๓ รอบ แล้วจึงนำขึ้นไปห่มพันรอบองค์พระปฐมเจดีย์ที่บริเวณเสาหานส่วนคอของพระปฐมเจดีย์ ส่วนวันสุดท้ายจะห่มรอบฐานองค์พระปฐมเจดีย์ ในคืนวันศุกร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น.


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วัดสระเกศฯ จัดงานห่มผ้าแดง "ภูเขาทอง"


วัดสระเกศฯ
จัดงานย้อนยุคห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์บรมบรรพต อุทิศถวาย สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เนื่องในงานเทศกาลประจำปี นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างวันที่ 10-19 พ.ย. 2556 นี้

พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า ทางวัดสระเกศฯ จะจัดงานย้อนยุค ห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์บรมบรรพต อุทิศถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เนื่องในงานเทศกาลประจำปี นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่าง 10-19 พ.ย. 2556 นี้ ที่ บรมบรรพต ภูเขาทอง วัดสระเกศฯ ซึ่งภายในงานจะมีการประกาศเกียรติคุณของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกันจะมีการจัดนิทรรศการชุด พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก พร้อมเปิดตัวภาพเขียนประวัติศาสตร์ เย็นหิมะในรอยธรรม ย้อนเส้นทางประวัติศาสตร์การเดินทางรอบโลกของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ร่วม 60 ปี และจะอัญเชิญเกศาสมเด็จพระพุฒาจารย์ ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะอย่างใกล้ชิดด้วย


*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ขอเชิญร่วมบุญบูรณะ วัดตลาดใหม่

วัดตลาดใหม่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปรากฏหลักฐานการก่อตั้งวัด เมื่อ พ.ศ.๒๒๑๐ ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมชื่อ "วัดโบสถ์บ้านกระเดื่อง" ต่อมากลายสภาพเป็นวัดร้าง ปรากฏแต่เนินอุโบสถ และต้นมะขามใหญ่ ๔ ต้นอยู่ ๔ มุมของอุโบสถ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือน สร้างตลาดขึ้นใหม่ และร่วมกันบูรณะ จึงเรียกชื่อว่า "วัดตลาดใหม่" มาจนทุกวันนี้ รวมอายุวัดได้ ๓๓๙ ปี

อดีตเจ้าอาวาสที่มีชื่อเสียงมี ๒ รูป คือ หลวงพ่อคุ่ย เป็นพระเถระที่มีพลังอาคมเข้มขลังในด้านการแก้และล้างอาถรรพณ์ต่างๆ มีชื่อเสียงโด่งดัง ร่วมสมัยกับ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง ส่วนอีกรูปหนึ่ง คือ หลวงพ่อซำ อินฺทวณฺโณ เจ้าตำรับเบี้ยแก้อาถรรพณ์ อันเลื่องชื่อของเมืองอ่างทอง

ปัจจุบันวัดตลาดใหม่ มี พระครูสุเมธานุวัตร หรือ พระอาจารย์ปื้ด เป็นเจ้าอาวาสวัดตลาดใหม่ ผู้สืบทอดตำราศาสตร์วิชาการสร้าง เบี้ยแก้อาถรรพณ์ ของหลวงพ่อซำ โดยในวันพฤหัสบดีที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ นี้ วัดได้ประกอบพิธีปริตตา พิธีมหาพุทธาภิเษก วัตถุมงคล รุ่น "บารมีหลวงพ่อ ไตรมาส ๕๖" เพื่อมอบเป็นของระลึกแก่เจ้าภาพที่มาร่วมทอดกฐินสามัคคีในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ รวมทั้งเพื่อเป็นการรำลึกในเกียรติคุณและหาทุนบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิ-เสนาสนะของวัดตลาดใหม่ที่ทรุดโทรมตามกาลเวลา

วัตถุมงคลรุ่น "บารมีหลวงพ่อ ไตรมาส ๕๖" ประกอบด้วย พระนาคปรกใบมะขาม พระพุทธชินราช ขนาดบูชา ๙ นิ้วและ ๕ นิ้ว รูปหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อซำ ขนาดบูชา ๕ นิ้ว, บาตรน้ำมนต์, เบี้ยแก้อาถรรพณ์, มีดหมอ ขนาด ๙ นิ้ว ๕ นิ้ว และมีดปากกา, ตะกรุดหนังกลอง, ตะกรุดยันต์เกราะเพชร, ตะโพน, ล็อกเกต, ไซดักทรัพย์, สีผึ้ง เป็นต้น

การสร้าง เบี้ยแก้อาถรรพณ์พระอาจารย์ปื้ด ได้สืบตำรับจากหลวงพ่อซำทุกประการ โดยเฉพาะการอุดชันโรงและปิดแผ่นฟอยล์ลงบนเบี้ยแก้จะบริกรรมพระคาถามงคลนิมิตที่ว่า "อะวิชา ปัจจะยา ปิดจะยา ปัจจะยา อะวิชา ปัดจะยา ปัจจะยา ปิดจะยา อะวิชา ปัจจะยา อุอะมะตัง พุทธังอัดธะอุด"

รายนามพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณพุทธาคมแกร่งกล้ามาร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิตภาวนา หลายรูป อาทิ 

- หลวงพ่อรวย วัดตะโก
- หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว 
- หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน 
- หลวงพ่อเอียด วัดไผ่ล้อม 
- หลวงพ่อเฉลิม วัดพระญาติ 
- หลวงพ่อหวล วัดพุทไธสวรรค์
- หลวงพ่อบุญมี วัดม่วงคัน 
- หลวงพ่อเพี้ยน วัดเกริ่นกฐิน 
- หลวงพ่อรักษ์ วัดสุทธาวาส วิปัสสนา เป็นต้น

สำหรับผู้เข้าร่วมพิธีปริตตา พิธีมหาพุทธาภิเษก ในวันพฤหัสบดีที่ ๗ จะได้รับแจก ผ้ายันต์พรหมสี่หน้า แจกฟรีทุกท่าน พุทธศาสนิกชนร่วมบุญได้โดยสอบถามรายละเอียดที่ โทร.๐-๓๕๖๒-๙๐๖๔ และ ๐๘-๑๙๘๖-๑๕๖๗


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันพฤหัสบดีที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2556

แจกฟรี!! เหรียญเจ้าสัวน้อยศรีวิชัย


"กองทุนพระธาตุนครศรีธรรมราชสู่มรดกโลก
"
เป็นกองทุนที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช และจังหวัด ตั้งขึ้นเพื่อหาทุนดำเนินการบูรณะและปรับภูมิทัศน์ให้ "พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร สมกับเป็นมรดกโลก" โดยได้เข้ารับการจดทะเบียนเป็นมรดกโลก (World Heritage Site) ในนามของประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓ กรกฎาคม ๒๕๕๕ ทั้งนี้เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๕๖ ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก สมัยที่ ๓๗ กรุงพนมเปญ ซึ่งประเทศกัมพูชา มีมติเอกฉันท์ ๒๑ เสียง พิจารณารับรองวาระ ๘ A ในการเสนอชื่อ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช เข้าสู่บัญชีเบื้องต้นตามที่ประเทศไทยนำเสนอ เพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกในขั้นตอนต่อไป

อย่างไรก็ตามเพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายจึงมีการจัดสร้าง "เหรียญเจ้าสัวศรีวิชัย (แดนใต้)" คณะกรรมการได้รวบรวมชนวน แผ่นยันต์ เครื่องใช้สำริด ทองโบราณ ฐานพระบูชา เหรียญเก่า แผ่นจารจากพระเกจิอาจารย์ดังทั่วประเทศของคงทนสิทธิ์ เหล็กไหลดำ เหล็กไหลขาว สะเก็ดดาว แร่ธาตุกายสิทธิ์ นำมาประกอบพิธีเททองหล่อนำฤกษ์และวัตถุมงคลทั้งหมด

โดยจะประกอบพิธีเททองหล่อนำฤกษ์ ณ วิหารหลวงวัดพระมหาธาตุมหาวรวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช ใน วันอาทิตย์ที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ แจกฟรี!! เหรียญเจ้าสัวน้อยศรีวิชัยเหรียญเนื้อทองทิพย์ เนื้อเงิน มีโค้ด มีหมายเลขทุกเหรียญ วันเททองเท่านั้น

พระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาส ประธานเททองหล่อนำฤกษ์ ณ วิหารหลวงวัดพระมหาธาตุมหาวรวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยพระเกจิอาจารย์ดังนั่งปรก ๘ ทิศ 

- หลวงพ่อศักดิ์ วัดอินทราวาส จังหวัดพัทลุง, 
- หลวงพ่อลาภ วัดเขากอบ จังหวัดตรัง, 
- หลวงพ่อเอียด วัดโคกแย้ม จังหวัดพัทลุง, 
- หลวงพ่อบุญให้ วัดท่าม่วง จังหวัดนครศรีธรรมราช, 
- หลวงพ่อผล วัดทุ่งนารี จังหวัดพัทลุง, 
- หลวงพ่อเคล้า วัดแดง จังหวัดนครศรีธรรมราช, 
- หลวงพ่อล้าน วัดเกษมบำรุง จังหวัดสุราษฎร์ธานี, 
- หลวงพ่อเอียด วัดบ้านขันประชาสรรค์ จังหวัดพัทลุง, 
- หลวงพ่อเพิ่ม วัดเขียนบางแก้ว จังหวัดพัทลุง, 
- หลวงพ่อสมนึก วัดหรงบน จังหวัดนครศรีธรรมราช

ลักษณะ "เหรียญเจ้าสัวศรีวิชัย (แดนใต้)" ตรงกลางเป็น พระพุทธสิหิงค์ ปางมารวิชัย มีความเชื่อกันว่าเป็นปางชนะมาร ปราบมาร สยบมาร และประทานความสุข ความสบาย สมความปรารถนา เรื่องทรัพย์สินเงินทอง ยศตำแหน่ง หน้าที่การงาน ขจัดปัดเป่าโรคภัยไข้เจ็บ และสิ่งที่เป็นอัปมงคลใดใดทั้งปวงให้มลายหายสิ้น จะประกอบพิธีมหาพุทธาภิเษก ณ วิหารหลวง วันอังคารที่ ๓๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ ถึงวันพุธที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๗ โดยพระเกจิอาจารย์ดัง ๑๔ จังหวัดภาคใต้ ทั้งนี้ พระเทพวินยาภรณ์ เจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุมหาวรวิหาร เป็นประธานจุดเทียนชัย

ในการจัดสร้าง "เหรียญเจ้าสัวศรีวิชัย (แดนใต้)" มีผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานจัดสร้าง รายได้จากการจัดสร้างนอกจากจัดตั้ง "กองทุนพระธาตุนครศรีธรรมราชสู่มรดกโลก" แล้วยังร่วมสมทบทุนสร้างเททองหล่อ ไฉ่ซิ้งเอี๊ย องค์ใหญ่ที่สุด ณ พุทธสถานจีเต็กลิ้ม อ.เมือง จ.นครนายก รวมทั้งช่วยเหลือทหารตำรวจที่ปฏิบัติหน้าที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

โดยผู้มีจิตศรัทธาสามารถร่วมบุญได้ที่ โทร.๐๘-๑๖๕๘-๐๑๖๖, ๐๘-๑๔๗๐-๗๑๙๐, ๐๘-๙๔๔๑-๓๓๙๗ และ ๐๘-๖๕๒๒-๒๙๕๒


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันพุธที่ 30 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พระอนิลมาน ผู้สืบเชื้อสายพระอานนท์ ผู้สนองงานพระสังฆราชฯ


พระศากยวงศ์วิสุทธิ์
 (พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย) อดีตสามเณรชาวเนปาล สายเลือด “ศากยวงศ์”  (ตระกูลเดียวกับพระพุทธเจ้า) ผู้สืบเชื้อสาย พระอานนท์ บวชเป็นสามเณรในประเทศเนปาล และเดินทางมาศึกษาพระธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร จนเมื่ออายุครบบวชพระ จึงอุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เป็นพระอุปัชฌาย์ และต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็น ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช และก็ยังสนองงานสมเด็จพระสังฆราชด้วยดีมาโดยตลอด

พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย ท่านเกิดวันที่ 18 มิ.ย. 2503 เป็นบุตรคนที่ 2 ในพี่น้อง 6 คน ชาย 5 หญิง 1 บิดาชื่อ “อาสา” มารดาชื่อ “ปุรณะ” พ่อเป็นช่างทอง แม่เป็นแม่บ้าน ต่อมาบ้านเปิดร้านขายของชำ ปัจจุบันพ่อเสียชีวิตแล้ว จึงเลิกกิจการไป

พ่อของท่านตั้งใจจะถวายลูกสักหนึ่งในพระพุทธศาสนา หมายมั่นตั้งใจที่ลูกชายคนโต พี่ชายของท่าน แต่พี่ชายสอบได้ทุนเรียนที่ 1 ของประเทศ ไปเรียนที่อินเดีย การจึงกลายเป็นท่าน


ในปี 2517 ท่านอนิลมานจึงได้บวชเป็นสามเณร ใช้ชื่อว่า “สามเณรสุคันธะ” ที่เป็นชื่อนี้ เพราะเป็นไปตามประเพณีในเนปาล ที่ไม่ให้ใช้ชื่อเดิม ท่านบวชอยู่ที่เนปาล 9 เดือน พอวันที่ 14 เม.ย. 2518 ก็ย้ายจากเนปาลมาอยู่ที่ วัดบวรนิเวศวิหาร และเป็นสามเณรถวายการปรนนิบัติสมเด็จพระสังฆราช (สมณศักดิ์ขณะนั้น คือ สมเด็จพระญาณสังวร) และได้รับการประทานอุปสมบทจากสมเด็จพระสังฆราชในปี 2523 และได้รับฉายาว่า “ธมฺมสากิโย” (ผู้กล้าในธรรม)

การที่ท่านมาอยู่วัดบวรฯ ได้ เกิดจากการที่ สมเด็จพระสังฆราชฯ เมื่อครั้งเป็น พระสาสนโสภณ ได้เดินทางไปดูงานที่เนปาลครั้งแรกเมื่อปี 2513 ในตอนนั้นสมเด็จฯ ถามทางเนปาลว่า "จะให้ช่วยอะไรบ้าง" ประมุขสงฆ์เนปาลได้เรียนได้บอกไว่าขอ 2 อย่าง คือ 

1 ให้ทางไทยส่งพระธรรมทูตมาเผยแผ่ที่เนปาล 
2 ให้พระเณรเนปาลมาเรียนที่ไทย

ข้อแรกสมเด็จฯ รับจะนำเข้าที่ประชุมมหาเถรสมาคม ส่วนข้อ 2 สมเด็จฯ บอกว่าท่านรับได้เลย ขอให้ติดต่อและส่งมาเลย จากนั้นในปี 2514 ได้ส่งมา 2 รูป ต่อมาปี 2518 ก็ส่งมาอีก 3 เป็นสามเณรทั้งหมด และ ท่านอนิลมาน ก็เป็นหนึ่งในนั้น

พระ ดร. อนิลมาน ธมฺมสากิโย
สำเร็จการศึกษา ศาสนศาสตรบัณฑิต (ศน.บ) จาก คณะสังคมศาสตร์ มหามกุฏราชวิทยาลัย ในปี พ.ศ.2525 และศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยตรีภูวัน ประเทศเนปาล ในปี พ.ศ.2530 นอกจากนี้ยังได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านมานุษยวิทยาสังคม จาก วิทยาลัยคราอิสต์ คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ โดยทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี พ.ศ. 2537 แล้วศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาสังคม จากมหาวิทยาลัยบรูเนล ในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเช่นเดียวกัน และสำเร็จการศึกษาในปี พ.ศ. 2543

พระ ดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์ (เป็นกรณีพิเศษ) ในวโรกาสที่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชันษา ครบ ๑๐๐ ปี วันที่ ๓ เดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ เป็น พระราชาคณะชั้นสามัญยก ในราชทินนามที่ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์

พระอนิลมาน ท่านมีความผูกพันกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ อย่างมาก ถึงขนาดออกปากว่า สมเด็จพระสังฆราชเป็นเหมือน บิดา ของท่าน

นั่นไม่ใช่การอ้างสุ่มสี่สุ่มห้าของท่านอนิลมาน แต่การที่ท่านมีวันนี้ได้ ก้าวมาถึงจุดนี้ได้ เพราะ สมเด็จพระสังฆราชทรงชุบเลี้ยงและให้ความเมตตามาตลอด

วันนั้นถึงวันนี้ พระ ดร.อนิลมาน ไม่เคยทำสมเด็จพระสังฆราชต้องผิดหวังพระทัย และพูดได้เต็มปากว่า ท่านเป็นพระที่มีศักยภาพ มีความรู้ มีความสามารถเป็นที่ยอมรับในคณะสงฆ์ไทยและในสายตาชาวโลก แม้ท่านจะเป็นพระชาวเนปาล แต่ท่านก็คือหน้าตาของประเทศไทย คณะสงฆ์ไทย ของพระพุทธศาสนา และวัดบวรนิเวศวิหาร โดยเฉพาะ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ