วันพุธที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2556

มหาจุฬาฯ เตรียมจัดสร้างศูนย์จำนงค์ รวมผลงานปราชญ์สายพุทธ

พระมหาหรรษา ธัมมหาโส ผู้อำนวยการสถาบันภาษา ผู้ช่วยอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ฝ่ายวิชาการ เปิดเผยว่า มหาจุฬาฯ เตรียมจัดทำศูนย์ศึกษาผลงานของ ศ.พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ อันเกิดจากการปรารภของผู้บริหารของมหาวิทยาลัย เพื่อรวบรวมผลงานนักปราชญ์ บุคคลสำคัญ อาทิ ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาในประเทศไทย, ศูนย์ศึกษาประวัติพระพุทธศาสนาในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา พม่า ศูนย์ศึกษาผลงานของปราชญ์ทางพระพุทธศาสนาในต่างประเทศ เช่น ติช นัท ฮันห์ ศูนย์ศึกษามหายานศึกษา, ศูนย์ศึกษาวัชรยาน, ศูนย์ศึกษาผลงานของพุทธทาสภิกขุ, ศูนย์ศึกษาผลงานของเสถียร โพธินันทะ ศูนย์ศึกษาผลงานของพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) ศูนย์ศึกษาผลงานของพระธรรมโกศาจารย์ ศูนย์ศึกษาผลงานของ ศ.พิเศษ จำนงค์ ทองประเสริฐ ศูนย์ศึกษาผลงาน วิวัฒนาการมหาวิทยาลัยตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน

ทั้งนี้ ศ.พิเศษจำนงค์ เป็นนิสิตรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เป็นนักคิด นักเขียน อุทิศตนเพื่อพระพุทธศาสนา ประเทศชาติ พระมหากษัตริย์ และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอย่างต่อเนื่อง มีผลงานวิชาการจำนวนมาก เบื้องต้น ศ.พิเศษได้ปรารภที่จะมอบหนังสือที่เป็นผลงานของตนและหนังสือที่สะสมไว้ จัดทำเป็นศูนย์ศึกษาผลงานของศาสตราจารย์พิเศษจำนงค์ ทองประเสริฐ ณ อาคารสำนักหอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศ ชั้น 3 เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้า วิจัย ที่ถาวร เป็นอนุสรณ์ฉลองอายุ 85 ปี ในวันที่ 2 พฤษภาคม 2557 ปัจจุบันอยู่ระหว่างแต่งตั้งคณะกรรมการก่อนที่จะออกแบบและเสนอมหาวิทยาลัยเพื่อดำเนินการต่อไป คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนเมษายน 2557

จึงขอเชิญผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิต บริจาคหนังสือด้านพระพุทธศาสนา หนังสือที่เกี่ยวกับมหาวิทยาลัย บุคคลสำคัญ เพื่อเป็นอาจาริยบูชา ร่วมสร้างห้องสมุดมหาวิทยาลัย พัฒนาห้องสมุดมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางการศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูง สำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์ต่อไป


*************************

เรื่องโดย : ข่าวสดออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันอังคารที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2556

แจกฟรี เหรียญขวัญถุงทองคำ "หลวงพ่อหวล"

"วัดพุทไธศวรรย์" ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาด้านทิศใต้พระราชวังเดิมของกรุงศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา ปัจจุบันมีอายุเก่าแก่ถึง ๖๕๘ ปี โดย สมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ได้ทรงโปรดสถาปนาสร้างไว้ ณ บริเวณท้องพระโรงตรงตำหนักเดิมของพระองค์

ตามพระราชนิพนธ์ของพระบาท สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๔ ได้บันทึกไว้ว่า หลังจากพระเจ้าอู่ทองที่ ๔ ได้สืบราชสมบัติได้ ๖ ปี ได้เกิดโรคห่าขึ้นในพระนคร พระองค์จึงได้ย้ายมาตั้งราชธานีใหม่ที่กรุงศรีอยุธยา

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีนั้น หลังจากกองทัพพม่าเข้าห้ำหั่นเผาบ้านทำลายเมืองกรุงศรีอยุธยา วัดแทบทุกวัดได้ถูกเผาทำลายเกือบทั้งหมด คงเหลือเพียงซากปรักหักพังที่ยากแก่การบูรณปฏิสังขรณ์ บ้างก็กลายเป็นวัดร้าง คงเหลือแต่ วัดวัดพุทไธศวรรย์ เพียงวัดเดียวในบริเวณเกาะเมืองที่มีสภาพสมบูรณ์ที่สุด และได้รับพระราชอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์หลายพระองค์จนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะปรางค์ประธาน องค์ใหญ่ศิลปะแบบขอมที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์

นอกจากนี้ยังมี "หลวงพ่อดำ" เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ปางมารวิชัยขนาดใหญ่ ลักษณะปูนปั้นทาด้วยสีดำ พระพักตร์รูปไข่ เป็นศิลปะอู่ทอง หรืออยุธยาตอนต้น เชื่อว่าสร้างควบคู่มาพร้อมกับการสร้างพระอุโบสถ เล่าขานต่อกันมาว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา หากใครเจ็บป่วยไข้ เมื่อผ่านมาที่วัดแห่งนี้จะขึ้นไปสักการะหลวงพ่อดำเพื่อขอให้หายเจ็บป่วยซึ่งปรากฏปาฏิหาริย์หายเจ็บป่วยไปตามๆ กัน รวมทั้งขอพรหลวงพ่อดำให้ดลบันดาลสิ่งที่ตนเองปรารถนา ซึ่งส่วนมากก็สมปรารถนากันทุกคน

อย่างไรก็ตาม ในสมัยโบราณมีคำกล่าวขานที่เรียกว่า วัดพุทไธศวรรย์เป็นดินแดนอันมีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เกี่ยวกับด้าน อยู่ยงคงกระพัน เป็นที่ลือเลื่องจากอดีตตราบเท่าปัจจุบัน นั่นคือ วัดพุทไธศวรรย์เป็นสถานที่ฝึกอาวุธยุทโธปกรณ์ของทหาร ก่อนออกศึกสงคราม โดยเฉพาะเมื่อครั้ง สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ พระสังฆราชฝ่ายซ้ายคู่กับ สมเด็จพระวันรัตน์ (พนรัตน์) วัดป่าแก้ว (วัดเจ้าพระยาไทหรือวัดใหญ่ชัยมงคล) พระสังฆราชฝ่ายขวา ได้ทำพิธีอาบน้ำว่านให้สมเด็จพระนเรศวรมหาราชก่อนทำสงครามยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา เมืองหงสาวดี ประเทศพม่า ในเช้าของวันจันทร์ แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ ปีมะโรง พ.ศ.๒๑๓๕

ปัจจุบัน วัดพุทไธศวรรย์มี "พระพุทไธศวรรย์วรคุณ" หรือ หลวงพ่อหวล ภูริภัทโท เป็นเจ้าอาวาส ทั้งนี้ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รุ่นเก่าผู้สืบทอดพระเวทวิทยาคม สายวัดประดู่ทรงธรรมจาก หลวงพ่อเทียม วัดกษัตราธิราช มีวิชาเล่นแร่แปรธาตุ ถึงขนาดลูกศิษย์ลูกหาเล่าว่า หลวงพ่อหวล ตัดเหล็กไหลหลอมเหล็กไหลได้ ท่านสร้างวัตถุมงคลประเภทเหรียญรุ่นแรกมีประสบการณ์โด่งดัง แพร่สะพัดไปทั่วตั้งแต่ปี ๒๕๑๕


เนื่องในวาระครบ ๗ รอบ หลวงพ่อหวล ในวันศุกร์ ที่ ๓๐ สิงหาคม ๒๕๕๖ จึงขอเชิญพุทธศาสนิกชนทุกท่าน ร่วมงานมุทิตาจิตถวายแด่หลวงพ่อหวล โดยมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี ในงานนี้คณะศิษย์นำโดย พันเอกทวีศักดิ์ จันทราสินธุ ผบ.หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัย จ.ปัตตานี ได้จัดสร้างเหรียญที่ระลึก ๗ รอบ ถวายแด่หลวงพ่อหวล พร้อมทั้งนำปัจจัยในการบอกบุญเป็นจำนวน ๑ ล้านบาท มอบถวายแด่หลวงพ่อหวล เพื่อก่อตั้ง กองทุนกัลปพฤกษ์ สำหรับพระภิกษุประจำวัดพุทไธศวรรย์

สำหรับผู้ที่มาร่วมงานวันฉลอง ๗ รอบ จะได้รับ เหรียญแจกทาน ขวัญถุง ท่านละ ๑ เหรียญ พิเศษสำหรับปีนี้ ผู้โชคดีจำนวน ๑ ท่านจะได้รับ เหรียญเนื้อทองคำ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น สอบถามข้อมูลรายละเอียดได้ที่ โทร.๐๘-๘๑๕๗-๒๕๐๒ และ ๐๘-๑๖๗๕-๔๗๗๕


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2556

พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ เสด็จงานวันเกิด สมเด็จวัดปากน้ำ


เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม ที่ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ได้มีการจัดพิธีงานอายุวัฒนมงคล สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปฺญโญ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ แม่กองบาลีสนามหลวง 26 สิงหาคม 2556 ปัจจุบันอายุ 88 ปี 68 พรรษา โดยเวลา 08.00 น. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เข้านมัสการสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เวลา 08.45 น. คณะสงฆ์หนเหนือได้ทำพิธีสืบชาตาถวาย ณ บริเวณพระอุโบสถ จากนั้นเปิดให้คณะสงฆ์ ประชาชน และผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าแสดงนมัสการและแสดงมุทิตาจิต

ต่อมาเวลา 10.00 น. พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายเนื่องในโอกาสอภิขิตสมัยวันคล้ายวันเกิดสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อายุครบ 88 ปี ณ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล ทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงกราบ เสด็จไปทรงประเคนพัดรองที่ระลึกแด่พระสงฆ์จำนวน 16 รูป ทรงศีล ประธานคณะสงฆ์ถวายศีล

จากนั้นเสด็จไปทรงประเคนธูปเทียนแพ น้ำสรง พัดรอง พร้อมด้วยเครื่องสักการะแด่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ โดยมีกรรมการมหาเถรสมาคม และคณะสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ เจริญพระพุทธมนต์ เสด็จไปทรงประเคนสำรับภัตตาหารคาวหวานแด่พระสงฆ์ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ ทรงหลั่งทักษิโณทก ทรงลาพระสงฆ์ จากนั้นเสด็จไปยังที่ประดิษฐานรูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยบูชารูปหล่อทองคำ พระมงคลเทพมุนี (สด จันทสโร) หลวงพ่อวัดปากน้ำ เสด็จไปยังชั้น 1 เสด็จไปยังที่ประดิษฐานพระพุทธบารมีมงคล (พระพุทธรูปหยกเขียว) ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องท้ายที่นั่งบูชาพระพุทธบารมีมงคล (พระพุทธรูปหยกเขียว) ประดิษฐานภายในพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล ทรงกราบ จากนั้นเสด็จกลับ

ต่อจากนั้นเวลา 13.00 น. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ มอบทุนการศึกษาแก่นักศึกษาพยาบาลตำรวจ 20 ทุน และในช่วงเย็นเวลา 17.00 น. สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ได้เดินทางไปทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปและรูปเหมือนพระมงคลเทพมุนี (สด จนทสโร) ณ โรงหล่อตรีมูรติ ณ โรงหล่อพุทธมณฑลสาย 4

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ถวายปริญญา ปธ.สงฆ์ศรีลังกา ฉลอง 260 ปี สยามวงศ์

มจร.ถวาย ปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระมหานายากะ ฝ่ายอัสสคีรี และอนุนายากะ ฝ่ายมัลลวัตตา เฉลิมฉลอง 260 ปีแห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในประเทศศรีลังกา

พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) กล่าวว่า จากการที่ มจร. ร่วมกับ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และคณะสงฆ์สยามนิกาย ฝ่ายมัลลวัตตา ฝ่ายอัสสคีรี และวัดพระธาตุเขี้ยวแก้ว จัดงานสัมมนานานาชาติ เรื่องการแลกเปลี่ยนพระพุทธศาสนานานาชาติในบริบทโลก เพื่อเฉลิมฉลอง 260 ปีแห่งการสถาปนาพระพุทธศาสนานิกายสยามวงศ์ในประเทศศรีลังกา ที่สถาบันวิชาการพระพุทธศาสนานานาชาติศรีลังกา (SIBA) เมืองแคนดี้ ประเทศศรีลังกา เมื่อวันที่ 21-22 ส.ค.ที่ผ่านมานั้น ในการประชุมดังกล่าว มจร. ยังได้ถวายปริญญาพุทธศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่พระมหานายากะ ฝ่ายอัสสคีรี และอนุนายากะ ฝ่ายมัลลวัตตา เนื่องจากพระมหานายากะ ฝ่ายมัลลวัตตา ทาง มจร. ได้เคยถวายปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ไปแล้ว ซึ่งการถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ดังกล่าวถือเป็นสัญลักษณ์ของคณะสงฆ์สยามนิกายที่สืบต่อมานานกว่า 260 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งเป็นการยกย่องพระมหาเถระทั้ง 2 รูปด้วย เนื่องจากได้มีมิตรภาพต่อคณะสงฆ์ไทยมาโดยตลอด

พระพรหมบัณฑิตกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้เมื่อวันที่ 1 ส.ค. ที่ผ่านมา องค์การสหประชาชาติได้ให้ความเห็นชอบตั้งสมาคมสภาสากลวันวิสาขบูชาโลกขึ้น ในฐานะเป็นที่ปรึกษาคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ โดยได้มีหนังสือยืนยันการรับรองอย่างเป็นทางการส่งมายัง มจร. แล้ว


*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ

วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ทึ่ง! นศ.สาวจุฬาฯ สอบบาลีประโยค 4 ได้

ดูเหมือนว่าในสังคมไทยนั้น การทำดีของพระจะรู้กันแต่วงการของพระเท่านั้น แต่หากพระทำไม่ดีอย่างเช่นกรณีของ "สมีคำ" เป็นข่าวและกล่าวขานกันทั่วบ้านทั่วเมือง จะจบได้ก็ดูเมื่อ "สมีคำ" กลับไทยแล้วก็ไปนอนในคุกเท่านั้น ส่วนผลกระทบที่ตามมานั้นคงไม่มีการพูดกันว่าจะเหยียวยาอย่างไร คนออกมาเปิดเผยและทำคดีนี้ก็คงจะได้หน้ากันไปตามๆกัน ปัญหาของ "สมีคำ" ที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการศึกษาด้วยเช่นเดียวกัน เพราะเมื่อบวชเข้ามาแล้วแทนที่ศึกษาเหล่าเรียนตามระบบทั้งนักธรรมบาลี หรือการศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็เอาดีทางไสยเวทและการก่อสร้าง

อย่างไรก็ตามแม้นจะมีสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษาของคณะสงฆ์ออกมาก็จะเป็นข่าวเพียงวันสองวันที่มีการประกาศผลสอบบาลี แต่ก็เน้นที่สอบประโยคเก้าได้เท่าใดเท่านั้นแล้วก็จบกัน ไม่มีการสืบค้นว่าการศึกษานักธรรมบาลีนั้นเรียนกันอย่างไร และยิ่งมีแม่ชีและฆราวาสสอบบาลีศึกษาได้ด้วยแล้วยิ่งเงียบฉี่ไม่เป็นข่าว แล้วแบบนี้จะสู้การเรียนบาลีที่ประเทศศรีลังกาและพม่าได้อย่างไร เพราะทั้งสองประเทศนี้มีผู้สามารถบรรยายและตอบโต้เป็นภาษาบาลีได้ด้วยเหมือนกับภาษาอังกฤษ

ดังนั้น น้อยคนนักจะรู้ว่าในแต่ละปีนั้นจะมี ฆราวาสและ แม่ชี สอบบาลีศึกษาได้จำนวนเท่าใด

บาลีนั้นเป็นภาษาของคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาและเป็นคำทับศัพท์ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งปัจจุบันนี้มีระบบการเรียนการสอนและก็สอบภายใต้การดำเนินงานของแม่กองบาลีสนามหลวง โดยสำนักเรียนต่างๆจัดการเรียนและก็ส่งรายชื่อเข้าสอบปีละหนึ่งครั้ง สอบได้ก็เลื่อนชั้นไปเรื่อยๆจนถึง ประโยคเก้า ซึ่งเทียบเท่า ปริญญาตรี สามารถนำวุฒิการศึกษาไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยทั่วๆไปได้ หากสอบไม่ได้ก็จะต้องเรียนแล้วก็สอบเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะละความพยายามแล้วก็เลิกเรียนไปเอง เพราะไม่มีการสอบซ่อม โดยวิธีการเรียนการสอบบาลีนั้น ทั้งสามเณร พระ แม่ชี และฆราวาสทั่วๆไปเหมือนกัน

ล่าสุดทราบจากเฟซบุ๊กบาลีศึกษาแผนกบาลีมหาธาตุวิทยาลัย แจ้งว่า ในปี 2556 สำนักเรียนมหาธาตุวิทยาลัย มี น.ส.สุกัญญา เจริญวีรกุล อายุ 18 ปี ธรรมศึกษาเอก สอบได้บาลีศึกษา 4 ประโยคด้วย และมีแม่ชีและฆราวาสที่สอบได้ในประโยคเดียวกันอีก 4 คน รวมผู้ที่สอบได้ประโยค 1-2 ถึงประโยค 8 โดยเฉลี่ยประโยคละ 5 คน

ขณะนี้ น.ส.สุกัญญา เป็นนิสิตชั้นปีที่ 2 สาขาวิชาภาษาบาลีและสันสกฤต คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทั้งนี้เธอสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แผนการเรียนภาษา-ฝรั่งเศส และโครงการพัฒนาความสามารถพิเศษด้านภาษาไทย ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พร้อมกันนี้เธอกำลังเรียนบาลีศึกษาประโยค 5 อยู่ที่มหาธาตุวิทยาลัย วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ โดยเรียนร่วมกับแม่ชีและฆราวาสมากพอสมควร


ทั้งนี้เธอเคยเขียนข้อความในบล็อกที่เว็บไซต์เด็ก-ดี ความโดยสรุปว่า เมื่อจบ ม. 4 เทอม 1 เริ่มอ่านภาษาบาลีเพื่อเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัยเพราะชอบวิชานี้มากกว่าภาษาฝรั่งเศสหาหนังสือมาอ่านประมาณ 200 เล่ม หลังจากจบเทอม 2 ได้ลงสอบบาลีศึกษาโดยเริ่มจากการสอบประโยค 1-2 ต้องสอบ 2 วิชา คือวิชาบาลีไวยากรณ์และแปลมคธเป็นไทย ซึ่งเก็บคะแนนโหดมาก ถ้าแปลผิด 1 คำหัก 2 คะแนน ถ้าวากยสัมพันธ์ (เชื่อมคำ) ผิดหัก 3 คะแนน และถ้าแปลผิดทั้งประโยคหัก 6 คะแนน ผิดเกิน 18 คะแนนคือสอบตก โดยข้อสอบมีประมาณ 1 หน้ากระดาษเอ 4

สอบปีนั้นเป็นอย่างที่คิดไว้คือสอบผ่านวิชาไวยากรณ์แต่ตกวิชาแปล ถึงจะเสียใจแต่ก็ต้องยอมรับว่า ถ้าเราไม่ได้หว่านพืชก็ไม่ควรหวังผล เรียนมาเพียงไม่กี่เดือนสอบผ่านแค่วิชาไวยากรณ์ก็นับว่าดีแล้ว คนทั่วๆไปที่สอบผ่านใช้เวลา 2 ปีคือเรียนไวยากรณ์ 1 ปี และเรียนแปลอีก 1 ปี

ตั้งแต่นั้นก็เริ่มอ่านธรรมบทภาค 1-4 และเริ่มอ่านเพื่อเตรียมสอบเอนทรานซ์ เมื่ออ่านจริงๆแล้วกลับพบว่าวิชาแปลไม่ยากอย่างที่คิด ปีหน้าฉันจะสอบใหม่อีกครั้ง ถ้าผ่านก็ดี แต่ถ้าไม่ผ่านก็ไม่เป็นไร เพราะไม่มีผลต่อการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

การเรียนบาลีศึกษานั้นมีการเปิดสอนที่มหาธาตุวิทยาลัย และที่้สำนักเรียนทั่วๆ เช่น ที่วัดโมลีโลกยาราม บางกอกน้อยเปิดเรียนสำหรับบุคคลทั่วไป พร้อมกับกลุ่มเฟซบุ๊กชื่อมหาบาชีวิชชาลัยด้วย หรือที่วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม หากอดีตพระมหาเปรียญมีเวลาว่างก็สามารถศึกษาเพิ่มเติมและก็ส่งชื่อสอบอาจจะมีประโยคก็เป็นได้ อีกทั้งทำให้เข้าใจหลักธรรมในพระพุทธศาสนาลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



'บาตร' โชว์ที่อัฟกัน ใช่ของพระพุทธเจ้าหรือไม่?


สำนักข่าว เดอะฮินดู The Hindu ยักษ์ใหญ่แห่งวงการสื่อหนังสือพิมพ์ของอินเดีย ได้นำเสนอ การตามหาบาตรของพระพุทธเจ้าที่หายไปจากเมืองไพสาลี โดยมีนักการเมืองท่านหนึ่งนามว่า ดร. ราคุวานส์ ประสาด ซิงห์ (Raghuvansh Prasad Singh) ได้จุดประกายขึ้นมาโดยได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลอินเดียในคราวประชุมที่รัฐสภาว่า

“เวลานี้รัฐบาลได้รับข้อมูลหรือยังว่า บาตรของพระพุทธเจ้าที่ทรงประทานแก่ชาวเมืองไพสาลีนั้นได้ถูกค้นพบแล้วที่พิพิธภันฑสถานแห่งชาติที่เมืองคาบู ประเทศอัฟกานิสถาน? ถ้าค้นพบแล้ว ทางสถานทูตอินเดียที่ประเทศอัฟกานิสถานได้ส่งรูปบาตรอันนั้นให้กับรัฐบาลหรือยัง? ถ้าได้ส่งมาให้รัฐบาลแล้ว ทางรัฐบาลได้เริ่มกระบวนการที่จะนำเอาบาตรนั้นกลับคืนมาหรือยัง? ถ้าได้เริ่มดำเนินการแล้ว รัฐบาลได้รับข้อมูลบันทึกการเดินทางของนักแสวงบุญชาวจีนชื่อ ฟา เหียน ( Fa-hein) และงานเขียนของ ดร. คันนิ่งแฮม (Dr. Cunningham) รวมทั้งงานเขียนของ ศรี เอส วี ซาห์นิ Shri S.V. Sahni ที่ได้อ้างถึงบาตรอันนี้หรือยัง? ถ้าได้รับแล้วขอรายละเอียดเกี่ยวกับงานเขียนของท่านเหล่านั้นได้มั้ย?”

รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียในขณะนั้นได้ตอบกระทู้ถามเหล่านี้ว่า

“สถานทูตอินเดียที่เมืองคาบูได้สำรวจประเด็นดังกล่าวแล้วและได้บทสรุปว่า วัตถุที่มีการตั้งข้อสมมุติฐานกันว่าเป็นบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น อยู่ที่ เมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) มาจนถึงสมัยของอดีตประธานาธิบดี นาจิบูลลาห์ President Najibullah จากนั้นได้มีการนำไปที่เมืองคาบู และปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของอัฟกานิสถาน ที่เมืองคาบู ดูจากรูปภาพบาตรที่ทางสถานทูตได้รับมีลักษณะค่อนข้างใหญ่ นอกจากนี้ยังมีรอยจารึกเป็นภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียอีกด้วย ทางรัฐบาลได้ขอข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับบาตรอันนี้กับทางฝ่ายสำรวจทางโบราณคดีของอินเดียแล้ว ซึ่งทางฝ่ายสำรวจนี้อาจจะมีข้อมูลดังกล่าว”

ต่อมานักการเมืองท่านเดิมได้ติดตามประเด็นดังกล่าวและได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเกี่ยวกับความคืบหน้าการพิสูจน์หาความจริงว่าบาตรที่ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เมืองคาบูนั้นใช่บาตรของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ โดยตั้งกระทู้ถามอีกว่า

“ รัฐบาลได้รับข้อมูลการตรวจสอบทางประวัติศาสตร์ และทางโบราณคดีเกี่ยวกับแหล่งที่มาของบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากหน่วยงานสำรวจทางโบราณคดีของอินเดียหรือยัง? ถ้าได้แล้ว รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในการพิสูจน์หาความจริงแหล่งที่มาของบาตรอันนั้น?”

ภายหลังจากที่ส่งทีมสำรวจทางโบราณคดีไปตรวจสอบลักษณะของบาตรที่ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เมืองคาบู ประเทศอัฟกานิสถานแล้ว รัฐมนตรีฝ่ายต่างประเทศของอินเดียได้ตอบกระทู้ถามอันนี้ว่า

“บาตรอันดังกล่าวเป็นบาตรหินขนาดใหญ่ สูง ๑ เมตรโดยประมาณ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เมตร มีความหนาราว ๆ ๑๘ เช็นติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีรอยจารึกบทสวดโดยเขียนคล้าย ๆ ลายมือและใช้ภาษาอาราบิก และเปอร์เซียน บาตรอันนี้ปัจจุบันพบที่ทางเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของประเทศอัฟกานิสถานที่เมืองคาบู แรก ๆ บาตรอันนี้พบที่เมืองกันดาฮาร์ และได้มีการนำมาที่เมืองคาบูในสมัยอดีตประธานาธิบดี นาจิบูลลาห์ และได้มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าเป็น บาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (The Bhikshapatra of Lord Buddha) ฝ่ายสำรวจทางโบราณคดีของอินเดีย ได้รายงานว่า พวกเขาได้เอารูปภาพบาตรอันนี้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบดู และได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในเบื้องต้น คือ วัตถุอันนี้ (บาตร) ไม่ปรากฏว่าเป็นบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างไรก็ตามทางฝ่ายสถานทูตอินเดียกำลังพยายามสำรวจประเด็นดังกล่าวต่อไป เพื่อยืนยันแหล่งที่มาของบาตรจากเจ้าหน้าที่ของประเทศอัฟกานิสถาน”

ต่อมาในคราวประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ นักการเมืองท่านเดิมคือ ดร. ราคุวานส์ ประสาด ซิงห์ (Raghuvansh Prasad Singh) ได้ตั้งกระทู้ถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการสำรวจบาตรที่เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมืองคาบูว่า

“ถ้าบาตรหินอันที่เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ประเทศอัฟกานิสถานได้รับการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นบาตรของพระพุทธเจ้าแล้ว รัฐบาลได้ให้นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ องค์กรต่าง ๆ รวมไปถึงหน่วยงานสำรวจทางโบราณคดีของอินเดีย จัดหาข้อมูลพร้อมทั้งหลักฐานต่าง ๆ และมีการดำเนินการเพื่อนำบาตรที่ว่ากันว่าเป็นบาตรสำหรับบิณฑบาตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมาจากประเทศอัฟกานิสถานหรือยัง?”

รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินเดียคนต่อมาคือ นายซัลมาน คุร์ศิด (Salman Khurshid) ได้ตอบกระทู้นี้ว่า

“รัฐบาลได้รับรูปภาพเกี่ยวกับบาตรจากสถานทูตอินเดียที่เมืองคาบูแล้ว และได้ตรวจสอบรูปภาพนั้นแล้วโดย ผู้อำนวยการ ฝ่ายสำรวจทางโบราณคดี ที่เมืองนาคปูร์ จากการตรวจสอบรูปภาพดังกล่าวในเบื้องต้น ผู้อำนวยการท่านนี้ได้กล่าวอ้างถึงรอยจารึกว่า รอยจารึกที่รอบนอกของบาตรดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า บาตรอันนี้เกี่ยวข้องกับเมืองกันดาฮาร์ ผู้อำนวยการท่านนี้แนะนำว่า บาตรอันนี้ควรได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดทั้งทางด้านลักษณะของบาตรและวัตถุที่ใช้ทำบาตร เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมแหล่งที่มาของบาตร ขั้นตอนต่อไปคือรัฐบาลกำลังตรวจสอบโดยการหารือกับหน่วยงานสำรวจทางโบราณคดีของอินเดียเพื่อให้ได้ข้อยุติแหล่งที่มาของบาตรอันนี้”

อย่างไรก็ตามคงไม่ง่ายนักที่รัฐบาลอินเดียจะตรวจสอบบาตรที่ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองคาบู ประเทสอัฟกานิสถานเพื่อพิสูจน์ว่า เป็นบาตรอันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้บิณฑบาตและมอบให้แก่ชาวเมืองไพสาลีหรือไม่ เพราะตัวบาตรมีการจารึกบทสวดที่ปรากฏในคัมภีร์ศาสนาหนึ่ง ซึ่งจารึกเป็นภาษาอาหรับและเปอร์เซีย นอกจากนี้ ถึงแม้หน่วยงานด้านโบราณคดีของอินเดียจะพิสูจน์ได้ว่า นั่นแป็นบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมนาสัมพุทธเจ้าจริง คงไม่ง่ายนักที่จะนำกลับมาประดิษฐานไว้ที่เดิมคือ ที่เมืองไพสาลีตามที่นักการเมืองนามว่า ดร. ราคุวานส์ ประสาด ซิงห์ (Raghuvansh Prasad Singh) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันพุธที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2556

สมเด็จวัดปากน้ำ งดสมโภชตำแหน่ง วาติกัน มอบสาสน์อาลัย สมเด็จเกี่ยว

เมื่อวันที่ 21 ส.ค.2556 ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปฺญโญ) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ แม่กองบาลีสนามหลวง กล่าวภายหลังที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) มีมติแต่งตั้งเป็น ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชแทน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อดีตกรรมการ มส. อดีตเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ซึ่งเมื่อมรณภาพเมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมาว่า การได้รับตำแหน่งทางพระสงฆ์เป็นเรื่องธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนธรรมดา ที่ต้องมีดีใจบ้างกับการได้รับตำแหน่งใหม่

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กล่าวต่อว่า ที่ถามว่าทางวัดปากน้ำฯ จะจัดพิธีสมโภชตำแหน่งหรือไม่ ตามธรรมเนียมที่ถือปฏิบัติกันมาของวัดปากน้ำก็ไม่เคยจัดพิธีสมโภชตำแหน่งใดๆ มาก่อนอยู่แล้ว ดังนั้นการได้รับตำแหน่งในครั้งนี้จึงไม่คิดจะจัดพิธีสมโภชใดๆ จะมีก็แต่การจัดงานแสดงมุทิตาจิตที่คณะสงฆ์และสาธุชนจะมาร่วมกันทำบุญประจำวันเกิดที่จะมาถึงในวันที่ 26 สิงหาคมนี้ ก็ถือเป็นการรวมพลังจากพุทธศาสนิกชนที่มาร่วมกันบำเพ็ญกุศลที่วัดเป็นประจำทุกๆ ปี ซึ่งก็จะจัดพิธีสวดมนต์ทำบุญตามปกติไม่มีอะไรพิเศษ สำหรับการได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งครั้งนี้ ก็ตั้งใจว่าจะช่วยแบ่งเบาการทำงาน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

“การแต่งตั้งนั้นก็เป็นไปตามทำนองคลองธรรมของวงการสงฆ์ที่ถือปฏิบัติกันมาและก็ได้พิจารณาจากสมณศักดิ์ เมื่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ซึ่งเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชมรณภาพ ตำแหน่งก็ว่างลง ต้องมีการแต่งตั้งไปตามวาระและก็ตั้งปณิธานว่า จะช่วยทำงานด้านพระพุทธศาสนาให้ดีที่สุด ทั้งนี้ในส่วนการจัดประชุม มส. ก็จะไปจัดประชุมที่ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐมทุกๆ ครั้ง สุดท้ายก็ขอให้พุทธศาสนิกชนทุกคนรักษาศีล 5 เพื่อให้บ้านเมืองของเราสงบสุข เป็นสังคมที่ร่มเย็นตลอดไป” ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บรรยากาศที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ ตลอดทั้งวันได้มีคณะสงฆ์ ผู้แทนหน่วยงาน ตลอดจนพุทธศาสนิกชน เดินทางมาทำบุญ เพื่อร่วมแสดงมุทิตาจิตกับสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หลังได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเป็นจำนวนมาก


วันเดียวกันที่ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศการจัดพิธีศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ ยังคงมีคณะสงฆ์พร้อมด้วยประชาชน เดินทางมาสักการะศพตั้งแต่ช่วงเช้าอย่างต่อเนื่อง จากนั้นในเวลา 13.40 น. นายปอล ชาง อิน นัม เอกอัครสมณทูตวาติกันประจำประเทศไทย พร้อมด้วย นายเกรียงศักดิ์ โกวิทวาณิช มุขนายกอัครสังฆมณฑลกรุงเทพมหานคร และรองประธานสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทย นายชูศักดิ์ สิริสุทธิ์ มุขนายกอัครสังฆมณฑลนครราชสีมา นายบรรจง ไชยรา มุขนายกอัครสังฆมณฑลอุบลราชธานี มงซินญอร์ ดร.วิษณุ ธัญญอนันต์ รองเลขาธิการสภาประมุขบาทหลวงโรมันคาทอลิกแห่งประเทศไทยและอดีตนักการทูตวาติกัน เดินทางมาสักการะศพพร้อมนำสาสน์แสดงความเสียใจต่อการมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์

พระพรหมสุธี (เจ้าคุณเสนาะ) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กล่าวว่า คณะทูตวาติกันนำสาสน์แสดงความเสียใจมาแจ้งให้ทางวัดรับทราบว่าทางวาติกัน รู้สึกแสดงความเสียใจอย่างมากกับการมรณภาพของสมเด็จพระพุฒาจารย์ เพราะที่ผ่านมาครั้งที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ดำรงตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้มีความสัมพันธ์อันดีกับวาติกันด้วยดีตลอดมา มีการร่วมมือและช่วยเหลือเรื่องต่างๆ หลายครั้ง ที่สำคัญสมเด็จพระพุฒาจารย์ เคยเดินทางไปเยี่ยมสำนักวาติกันมาด้วย

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันอังคารที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ตั้ง "สมเด็จวัดปากน้ำ" ขึ้นประธานปฏิบัติหน้าที่สังฆราช

เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม ที่อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) จ.นครปฐม ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศก่อนการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) ซึ่งมีการพิจารณาวาระการคัดเลือกประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อดำรงตำแหน่งแทน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กรรมการ มส. เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ซึ่งมรณภาพเมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา ด้วยอาการติดเชื้อในกระแสโลหิต โดยตั้งแต่เวลา 13.40 น. กรรมการ มส. อาทิ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปฺญโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ คณะผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ แม่กองบาลีสนามหลวง สมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหารราชวรวิหาร, สมเด็จพระธีรญาณมุนี วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร, สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ วัดพิชยญาติการามวรวิหาร ทยอยเดินทางมาร่วมการประชุม และเริ่มการประชุมในเวลา 14.00 น.

จากนั้นเวลา 15.30 น. นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยภายหลังการประชุม มส.ว่า ในการประชุม มส.ได้นำเสนอวาระการแต่งตั้งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชเพื่อดำรงตำแหน่งแทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สำหรับขั้นตอนการคัดเลือกประธานผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชนั้น กรรมการ มส.ได้ประชุมคัดเลือกสมเด็จพระราชาคณะ และได้มีมติเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ หลังจากนั้นคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ประชุมและมีมติเห็นชอบเสนอให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช

นายนพรัตน์ กล่าวว่า ส่วนเหตุผลที่ประชุม มส. มีมติเลือกสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์นั้น เนื่องจากมีอาวุโสทางสมณศักดิ์สูงที่สุดทุกด้าน และมีความพร้อมทางด้านร่างกายพร้อมที่จะปฏิบัติหน้าที่ ทั้งนี้ขั้นตอนต่อไปภายในสัปดาห์นี้ พศ.จะรายงานเรื่องดังกล่าวให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี รับทราบเพื่อให้สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ทำหนังสือกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ต่อไป 

นอกจากนี้ ที่ประชุม มส. ยังมีมติเห็นชอบแต่งตั้ง พระพรหมเวที เจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม เป็น เจ้าคณะหนใหญ่ตะวันออก แทนสมเด็จพระพุฒาจารย์ รวมทั้งยังมีมติแต่งตั้ง พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) รักษาการเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เป็น ประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ ส่วนตำแหน่งแม่กองงานพระธรรมทูต ที่ประชุมมีมติเสนอให้พระมหารัชมังคลาจารย์เป็นประธาน
นายนพรัตน์ กล่าวต่อว่า ส่วนตำแหน่งพระราชาคณะชั้นสมเด็จฯ ที่ว่างลง ยังคงต้องรอให้มีพิธีพระราชเพลิงศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ จึงค่อยเสนอชื่อพระราชาคณะแต่งตั้งเป็นสมเด็จองค์ใหม่ อย่างไรก็ตามการคัดเลือกและเสนอแต่งตั้งนั้นเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการฝ่ายมหานิกาย ที่จะดำเนินการคัดเลือกและเสนอชื่อ และหากมีพิธีพระราชทานเพลิงศพฯ สมเด็จพระพุฒาจารย์ หลังวันที่ 5 ธันวาคมนี้ การเสนอชื่อแต่งตั้งสมเด็จพระราชาคณะ คงต้องดำเนินการในปีหน้า แต่หากพระราชทานเพลิงก่อนเดือนธันวาคม ต้องดูอีกว่าจะสามารถเสนอชื่อพระราชาคณะแต่งตั้งเป็นสมเด็จองค์ใหม่ทันหรือไม่

พระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศ์ กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะโฆษกกรรมการมหาเถรสมาคม กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 20 วันอังคารที่ 20 ส.ค. 2556 ซึ่งได้มีการแต่งตั้งสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นประธานคณะผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แทน สมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ อัศจรรย์ว่า การพิจารณาแต่งตั้งในครั้งนี้มีระยะเวลาห่างจาก การแต่งตั้ง สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นประธานคณะผู้ปฎิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นเวลา 9 ปี 1 เดือนเต็มพอดี ซึ่งในครั้งนั้น ก็เป็นการประชุมมหาเถรสมาคม ครั้งที่ 19 ในวันอังคารที่ 20 ก.ค. 2547

โฆษกมส. กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ ที่ประชุมมส. ได้มีมติเอกฉันท์ โดยคณะสงฆ์ได้พิจารณาตามลำดับชั้นการปกครองของคณะสงฆ์ ซึ่ง การเมืองของพระ เป็นไปตามสันติวิธี พิจารณาว่า ค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน ไม่ใช่ค่าของคน อยู่ที่คนของใคร อยากจะให้การเมืองมีการเลียนแบบพระบ้าง ถ้าทำได้ โลกนี้จะสุขสงบ อย่างไรก็ตาม คณะสงฆ์เห็นว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่ดีงาม ได้รับการสถาปนาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระมหาเถระที่ทำงานคร่ำหวอดกับกิจการคณะสงฆ์อย่างมากรูปหนึ่ง ท่านมีบารมีธรรม สามารถที่จะนำประชาชน ให้เข้ามาสู่คณะสงฆ์ ในภาวะที่คณะสงฆ์กำลังบอบช้ำ เกี่ยวกับเรื่องไม่ดีหลายเรื่อง นอกจากนี้ ท่านยัง เป็นพระทางสายปฏิบัติ วิปัสนากรรมฐาน และเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อสด ด้วย

ทั้งนี้ สำหรับประวัติ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ปัจจุบันอายุ 88 ปี 68 พรรษา นามเดิมว่า ช่วง สุดประเสริฐ เกิดวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2468 ที่ ต.ราชาเทวะ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ เป็นบุตรนายมิ่งและนางสำเภา สุดประเสริฐ เมื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อายุ 7 ปี นายมิ่ง ผู้เป็นบิดาถึงแก่กรรมจึงให้สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์และพี่ชายบรรพชาเป็นสามเณร เมื่อพี่ชายลาสิกขาบท แต่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ยังบรรพชาเป็นสามเณรอยู่ระยะหนึ่งจึงลาสิกขา เมื่ออายุ 14 ปีได้บรรพชาอีกครั้ง ที่วัดสังฆราชา กรุงเทพมหานคร จากนั้นศึกษาและสอบนักธรรมชั้นตรีและชั้นโท ระหว่างนั้นทราบกิตติคุณหลวงพ่อวัดปากน้ำ จึงอยากมาศึกษากับหลวงพ่อวัดปากน้ำ ในปี 2484 จึงย้ายมาอยู่วัดปากน้ำ

จากนั้นปี 2488 สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ อุปสมบท นามฉายา “วรปุญฺโญ” ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สอบได้โดยลำดับถึง ป.ธ.7 หลวงพ่อวัดปากน้ำ นำไปฝาก สมเด็จพระสังฆราช (กิตฺติโสภณมหาเถร) ให้ศึกษา ป.ธ. 8, 9 ในสำนักเรียนวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม หลังจากสำเร็จการศึกษา ป.ธ. 9 แล้ว หลวงพ่อวัดปากน้ำได้ไปรับกลับมาช่วยงานที่วัดปากน้ำจนถึงปัจจุบัน

สำหรับการเลื่อนสมณศักดิ์ ในปี 2499 ได้รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวิสุทธิโมลี ปี 2505 เลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชเวที และปี 2510 เลื่อนเป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพวรเวที ปี 2516 เลื่อนสมณศักดิ์ เป็นพระราชาคณะชั้นธรรมที่ พระธรรมธีรราชมหามุนี ปี 2530 เลื่อนสมณศักดิ์ขึ้นเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรอง ชั้นหิรัณยบัฏที่ พระธรรมปัญญาบดี และปี2538 สมณศักดิ์ขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะชั้นสุพรรบัฏที่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ส่วนงานด้านการปกครองเคยดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการสมเด็จสังฆนายก วัดเบญจมบพิตร เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ รองเจ้าคณะภาค 3 เจ้าคณะภาค 3 รวม 2 สมัย และเป็นเจ้าคณะภาค 17 รวม 3 สมัย เป็นเจ้าคณะภาค 7

ส่วนการทำงานในต่างประเทศปี 2527 ได้สร้างวัดไทยในสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า วัดมงคลเทพมุนี เมืองฟิลาเดลเฟีย และสร้างวัดไทยแห่งแรกในประเทศญี่ปุ่นชื่อ วัดปากน้ำญี่ปุ่น เมืองชิบะ รวมถึงสร้างวัดไทยในนิวซีแลนด์ชื่อว่า วัดปากน้ำนิวซีแลนด์ เมืองทัวรังง่า นอกจากนี้ยังอุถัมภ์การสร้างวัดปากน้ำอเมริกา รัฐโอโอโฮ สหรัฐอเมริกาแห่งที่ 2 ด้วย และยังทำงานบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ โดยก่อตั้งมูลนิธิหลวงพ่อวัดปากน้ำ นำดอกผลของมูลนิธิใช้ในการบำเพ็ญกุศลต่าง ๆ และได้ชักชวนสาธุชนร่วมสมทบทุนในโอกาสต่างๆ ปัจจุบันมีเงินทั้งหมด 230 ล้านบาท

นอกจากนี้ยังได้รับสมณศักดิ์ต่างประเทศ อาทิ รับสมณศักดิ์จากบังกลาเทศที่ พระศาสนธชมหา ปัญญาสาระ และรับสมณศักดิ์จากศรีลังกา ฝ่ายอมรปุรนิกายที่ พระชินวรสาสนโสภณเตปิฏกวิสารทคณะปาโมกขาจริยะ รับสมณศักดิ์จากศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายอัสสคิริยะที่ พระสาสนโชติกสัทธัมมวิสารทวิมลกิตติสิริ รับสมณศักดิ์จากศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายมัลลวัตตะ ที่ พระธรรมกิตติสิรเตปิฏกวิสารโท และรับสรณศักดิ์จากศรีลังกา ฝ่ายรามัญวงศ์ ที่ พระติปิฏกปัณฑิตธัมมกิติสสิริยติสังฆปติ และได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ของประเทศศรีลังกา สยามวงศ์ ฝ่ายโกฏเฏ ที่ พระอุบาลีวังสาลังการะอุปัชฌายะธรรมธีรมหามุนี เถระ


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ







วันศุกร์ที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2556

“หลวงพี่น้ำฝน” แจกหมวกนิรภัย โครงการ "บวรปลอดภัย"

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน แจกหมวกนิรภัย โครงการ บวรปลอดภัย (บ้าน วัด โรงเรียน) มอบให้นักศึกษาวิทยาลัยอาชีวะศึกษานครปฐม

ชุมชนไม่ปลอดภัย ความหมายของคำนี้อาจรุนแรงเกินกว่าที่คนไทยคนไหนจะยอมรับได้ แต่หากยิ่งหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับ คงยิ่งเนิ่นช้าและสายเกินกว่าจะแก้ไข นั่นเพราะยิ่งสังคมแห่งเทคโนโลยีเบ่งบานมากขึ้นเท่าไร ความสำคัญของการอยู่ร่วมเป็นชุมชนยิ่งถูกลดค่า และอ่อนกำลังลงเท่านั้น

ในวันนี้ ข่าวไม่ดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นให้เห็นไม่เว้นแต่ละวันนั้น สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมที่ซ่อนเร้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากข่าวนั้นเกิดจากการกระทำที่ปราศจากความยั้งคิด และความคึกคะนองของบุคคลที่อยู่ในสถานะของ “เยาวชน”

โดยเฉพาะข่าวลูกๆนักเรียน เยาวชน นักศึกษา ขับรถจักรยานยนต์ไปโรงเรียน เกิดอุบัติเหตุเสียชิต หรือพิการ และอีกมากมายหลายข่าว ที่ล้วนสะเทือนขวัญ สะท้านหัวใจ และเป็นแรงสนับสนุนให้คนในสังคมหันกลับมามองถึงปัญหาและวิธีแก้ปัญหา ที่ถูกละเลยมานาน

วันนี้คำว่า “บวร” หรือ บ้าน วัด โรงเรียน จึงได้ถูกนำกลับมาสนใจอีกครั้ง ผ่านทัศนคติของพระเดชพระคุณ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน ประธานมูลนิธิหลวงพ่อพูล เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม พระนักพัฒนาผู้เชี่ยวชาญด้านจิตใจในหลักคำสอนธรรมะเชิงรุก ท่านได้จัด “โครงการบวรปลอดภัย” มอบหมวกนิรภัยให้กับเยาวชน ตามสถานศึกษาต่างๆ เพื่อหาทางออกในการแก้ปัญหาความปลอดภัยของเยาวชน ในวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2556 เวลา 14.00 น. ณ วิทยาลัยอาชีวะศึกษานครปฐม

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน ประธานมูลนิธิหลวงพ่อพูล เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม กล่าวว่า จากการศึกษาพบว่า ปัญหาที่พบในวัยรุ่นนั้นมีปัญหาหลักคือ การไม่สวมหมวกนิรภัยในการขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งจากการสำรวจพบว่าวัยรุ่นไม่สวมหมวกนิรภัยเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ และที่น่าตกใจคือ เราพบว่าส่วนใหญ่เป็นน้องๆนักเรียน ซึ่งการแก้ปัญหาอาตมาใช้แนวคิดของ “บวร” คือ บ้าน วัด โรงเรียน กล่าวคือครอบครัวปัจจุบันอาจดูเหมือนมีความสมบูรณ์ทางกายภาพ คือ เสมือนมีพ่อ แม่ ลูก แต่ในทางจิตใจแล้วยังมองข้ามความปลอดภัย ประมาท ทำให้เด็กไม่มีวงจรการเรียนรู้เรื่องความปลอดภัยอย่างแท้จริง ฉะนั้นสถานศึกษาจึงมีความสำคัญมาก เพราะนอกจากการปลูกฝังสิ่งที่ดีแล้ว ยังเป็นเหมือนบริบทมาทดแทนครอบครัวด้วย ซึ่งทางโรงเรียนต้องสอน เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาด้านความปลอดภัยในชีวิตได้ ต้องเน้นที่การสอนให้มากกว่า ส่วนวัดก็ต้องช่วยสอนด้านคุณธรรม เพื่อช่วยพ่อแม่ทางบ้าน ช่วยครูที่โรงเรียน อีกทางหนึ่ง โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา ที่ต้องเริ่มจากเรื่องใกล้ตัว คือ นิสัย หรือพฤติกรรมเคยชิน ที่ทำซ้ำ ๆ ทำเป็นประจำ คือไม่ใส่หมวกนิรภัยจนเคยตัวทางวัดต้องช่วยฝึกให้เรียนรู้ถึงโทษภัย หลักธรรมเกิด จน ตาย เพื่อบ่มเพาะนิสัยที่ดี

ซึ่งทั้ง บ้าน วัด โรงเรียน ถ้าทำงานจริงจังล้วนมีประโยชน์ หากทราบถึงวัตถุประสงค์ที่แท้จริงแล้ว ย่อมสามารถสร้างวินัยเปลี่ยนแปลงนิสัยที่ดีขึ้น ทั้งด้านการขับขี่ ความมีวินัย และความปลอดภัยอย่างแท้จริง

กล่าวสำหรับโครงการบวรปลอดภัย มีวินัยจราจร ใส่หมวกกันน็อค(นิรภัย) ประจำปี 2556 เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ สิริกิตติ์ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร จัดขึ้น ณ วิทยาลัยอาชีวะศึกษานครปฐม ในวันพุธที่ 14 สิงหาคม 2556 เวลา 15.00 น. โดย พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) บรรยายพิเศษ เรื่อง “ขับขี่ปลอดภัย มีวินัยจราจร ใส่หมวกกันน็อค” เวลา 15.30 น. มอบหมวกกันน็อคให้กับนักศึกษาจำนวน 200 คน เวลา 16.00 น. ทำพิธีปล่อยขบวนนักศึกษาปลอดภัยใส่หมวกกันน็อค โดย น.ส.อินดา แตงอ่อน ผู้อำนวยการวิทยาลัยอาชีวะศึกษานครปฐม เป็นอันเสร็จพิเศษ


*************************

เรื่องโดย : บก.ไก่ วีรพล
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันอาทิตย์ที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2556

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ "คณะสงฆ์" ไทย

การมรณภาพของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แน่นอนที่สุดว่า เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในวงการสงฆ์ ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งถือว่าเป็นการยุติความขัดแย้งของฝ่ายฆราวาส ที่ลากโยงเอาพระเถระชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย กล่าวคือ เมื่อครั้งที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช เมื่อต้นปี พ.ศ.2547 ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน

การแต่งตั้งทั้งสองครั้ง มีกระแสต่อต้านค่อนข้างรุนแรงจากกลุ่มลูกศิษย์ของ พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) นำโดยนายทองก้อน วงศ์สมุทร และชาวคณะ ซึ่งต่อมายังมีความเคลื่อนไหวแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับสมเด็จเกี่ยวอีกเป็นระลอก

อย่างไรก็ตาม เมื่อตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) สิ้นสุดลง อำนาจการตัดสินใจสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย โดยเฉพาะมหานิกายจะไหลไปที่ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ โดยอัตโนมัติ เพราะพระเถระที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคมขณะนี้ คือ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ ป.ธ.9) จะต้องมารับ "เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์"

สำหรับความเปลี่ยนแปลง และหลายสิ่งที่จะตามมาตามแนวนโยบายของประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชรูปใหม่ คือ ประการแรก แนวความคิดในการเปลี่ยนแปลงการจัดการคณะสงฆ์ครั้งยิ่งใหญ่ในฝ่ายของมหานิกาย โดยเฉพาะใน ด้านการศึกษา ประการต่อมาก็คือ บุคลากรใหม่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ตั้งแต่ระดับบนสุดถึงล่างสุด แม้จะเปลี่ยนตัวบุคคลไม่ได้ แต่ก็จะเปลี่ยนแปลงนโยบายและอำนาจ เช่นเดียวกับการแต่งตั้งโยกย้ายในระบบข้าราชการ

ทั้งนี้ หลังจากพระราชทานเพลิงศพ สมณศักดิ์ "สมเด็จพระพุฒาจารย์" ที่ว่างลง 1 ตำแหน่ง ก็ต้องมีการสถาปนาขึ้นมาแทน มีพระเถระผู้ใหญ่ที่โดดเด่น 5 รูปด้วยกัน คือ


1.พระพรหมเวที วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร 


2.พระพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา 


3.พระพรหมจริยาจารย์ วัดกระพังสุรินทร์ จ.ตรัง เจ้าคณะใหญ่หนใต้ 


4.พระธรรมปัญญาบดี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) กทม. 


5.พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม

เมื่อสถาปนาสมเด็จแล้ว ตำแหน่ง "รองสมเด็จ" ต้องว่างอีก 1 ตำแหน่ง พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ คือ พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม

ขณะเดียวกันยังมีตำแหน่งสำคัญที่ว่างอีก 2 ตำแหน่ง คือ เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ซึ่งเดิมเป็นของสมเด็จเกี่ยว โดยมีพระ 2 รูป ที่เป็นเจ้าคณะภาคและเป็นรองสมเด็จมีอาวุโสสูง คือ พระพรหมเวที วัดไตรมิตร และ พระพรหมสุธี วัดสระเกศ แต่อาจมีการตั้งตำแหน่งนี้ข้ามห้วยมาจากวัดปากน้ำโดยตรง คือ พระวิสุทธิวงศาจารย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งรองสมเด็จ และมีความอาวุโสเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม หาก สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภัททจารีมหาเถระ) กรรมการมหาเถรสมาคม และ เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ไม่อาพาธ ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกจะเป็นของท่านโดยอัตโนมัติ

นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถานที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม เดิมที่อยู่ที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรฯ ภายหลังสมเด็จเกี่ยวเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ย้ายไปที่วัดสระเกศ และจะมีการย้ายอีกครั้งหนึ่งแน่นอน โดยย้ายไปที่พุทธมณฑล เพราะสมเด็จวัดปากน้ำได้สร้างตำหนักที่พักรับรองสมเด็จพระสังฆราช พร้อมห้องประชุมไว้ แต่ไม่เคยถูกเปิดใช้เลยสักครั้งเดียว เมื่อสมเด็จวัดปากน้ำเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจึงชอบธรรมที่ท่านจะใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม

ประเด็นหนึ่งที่น่าจับตา คือ การแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์ตั้งแต่ระดับบนถึงล่างที่จะประกาศในเดือนธันวาคม ซึ่งขณะมีการประชุมการเลือกนำเสนอลำดับเป็นขั้นตอนมาแล้ว อาจจะต้องมีการนำเสนอใหม่ในการประชุม มส. เดือนกันยายน เพราะอำนาจชี้ขาดขณะนี้เปลี่ยนไปอยู่ที่วัดปากน้ำแทนวัดสระเกศ ภาคที่ได้รับอานิสงส์โดยตรง คือ พระจากภาคเหนือ เช่น วัดตากฟ้า จ.นครสวรรค์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กทม.

*************************

เย็นหิมะในรอยธรรม

หนังสือ "เย็นหิมะในรอยธรรม" รวบรวมขึ้นจากโอวาท เกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ที่เจ้าประคุณสมเด็จเกี่ยวแสดงธรรมในโอกาสต่างๆ เป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนได้รับการยอมรับว่า เป็นสุดยอดหนังสือที่ผู้นำชาวพุทธทุกคนต้องอ่าน

บางส่วนของโอวาทจาก หนังสือ "เย็นหิมะในรอยธรรม" ที่สมเด็จเกี่ยวเคยแสดงไว้ คือ

ในโลกปัจจุบัน การจะรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ให้ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้พระเณรได้มีความรู้ มีการศึกษาทั้งธรรมะและวิชาการทางโลก ความรู้อย่างพระก็ต้องรู้ เพราะเป็นเรื่องพระศาสนา แต่ก็ต้องรู้ความรู้ชาวบ้านเขาด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการวางแผน เพื่อให้พระพุทธศาสนาไปอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก

ผู้ที่จะรับภาระหน้าที่อันหนักหน่วงนี้ได้ก็คือ พระเณรนั่นเอง จึงจำเป็นจะต้องให้พระเณรมีการศึกษา รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอายุยังน้อยต้องเรียน เรียนอะไรก็ได้ ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย อย่าอยู่เฉยๆ เพราะพระเณรจะต้องรับภาระธุระพระศาสนา แต่หลวงพ่อแก่แล้ว คนแก่จะทำอะไรได้ แค่ให้หายใจอยู่เฉยๆ ก็ยังแย่แล้ว

พระพุทธศาสนาในเมืองไทยมีภัยรอบด้าน ซึ่งกำลังแทรกเข้ามาทุกรูปแบบ พระพุทธศาสนาอาจจะล้มครืนลงวันใดก็ได้ แต่พระก็ยังเหมือนปลาอยู่ในน้ำเย็น จึงตายใจว่า พระพุทธศาสนาตั้งมั่นเจริญรุ่งเรืองในเมืองไทย เลยไม่รู้สึกถึงความล่มสลาย ซึ่งกำลังใกล้เข้ามา

ให้มองไปข้างหน้าอีก 50 ปี โดยกำหนดดูผลแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งละ 10 ปี และในทุก 10 ปีนั้น ก็ยังต้องดูความเปลี่ยนแปลงในแต่ละปีด้วย จนกว่าจะถึง 50 ปี เพื่อให้คาดการณ์ว่า อีก 50 ปีข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาอย่างที่เคยขึ้นในอดีตแล้ว เราจะทำอย่างไร มองให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีต ความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ของสังคม และของโลก ความเปลี่ยนแปลงมีอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งกับพระพุทธศาสนา มิเช่นนั้นแล้ว พระพุทธศาสนาในอินเดีย ในปากีสถาน บังกลาเทศ และในอัฟกานิสถาน เป็นตัวอย่าง ก็คงไม่ล่มสลาย ถ้าสามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ของสังคม และของโลก ที่จะเกิดขึ้นในอีก 50 ปีข้างหน้า ก็จะทำให้สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





วันศุกร์ที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ชาวพุทธสุดเศร้า สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) มรณภาพ


เมื่อวันที่ 10 ส.ค.2556 สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช มรณภาพแล้ว เมื่อเวลา 08.41น.ที่โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท

สมเด็จพระพุฒาจารย์ เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2471 ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดภูเขาทอง อำเภอเกาะสมุย ได้อุปสมบทที่วัดสระเกศ เมื่อปี พ.ศ. 2492

สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะภาค 9 และเป็นเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2508 เมื่อปี พ.ศ. 2516 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ และเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อปี พ.ศ. 2533 สมเด็จพระพุฒาจารย์ ได้เลื่อนเป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนามหาเถรสมาคม

เนื่องจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการประชวร และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 ทำให้เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม จึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในต้นปี พ.ศ. 2547 ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2556

เริ่มบูรณะใหญ่ พระปรางค์วัดอรุณ สิงหาคมนี้


กรมศิลปากร
แจ้ง วัดอรุณราชวราราม เดือน ส.ค.นี้ จะเริ่มการบูรณะพระปรางค์ประกอบก่อน มีแผน 3 ปี ใช้งบกว่า 130 ล้าน

พระศากยปุตติยวงศ์ (ต่อศักดิ์ สุนฺทรวาที) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดอรุณราชวราราม กล่าวว่า ทางกรมศิลปากรได้แจ้งมายังวัดอรุณฯ แล้วว่าในเดือน ส.ค.นี้จะเริ่มการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ โดยจะเริ่มการบูรณะในส่วนของพระปรางค์ประกอบก่อน ซึ่งจะเป็นการบูรณะครั้งใหญ่ทั้งองค์พระปรางค์ประกอบ และองค์พระปรางค์ประธาน มีแผนในการบูรณะ 3 ปี ใช้งบประมาณทั้งสิ้นประมาณ 130 ล้านบาท และก่อนเริ่มบูรณะวัดอรุณฯ จะจัดพิธีบวงสรวงพระปรางค์ครั้งใหญ่ก่อนด้วย

พระศากยปุตติยวงศ์กล่าวต่อว่า ตามแผนการบูรณะในช่วง 2 ปีแรก จะเริ่มบูรณะที่พระปรางค์ประกอบก่อน ส่วนในปีสุดท้ายจะบูรณะพระปรางค์ประธาน ซึ่งในระหว่างที่ทำการบูรณะ ตนจะมีการหารือกับทาง กรมศิลปากร และ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อหาแนวทางในการจัดนิทรรศการให้ความรู้แก่นักท่องเที่ยวถึงสาเหตุที่ต้องทำการบูรณะ รวมไปถึงประวัติขององค์พระปรางค์ และประวัติในการบูรณะด้วย 

ทั้งนี้การบูรณะพระปรางค์วัดอรุณฯ ครั้งใหญ่ครั้งล่าสุดคือเมื่อประมาณปี 2538-2539 หรือประมาณ 17 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าระยะเวลาในการบูณะใหญ่พระปรางค์วัดอรุณฯ จะสั้นลงเรื่อยๆ ทั้งนี้มีหลายสาเหตุ เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น สภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป เป็นต้น โดยสาเหตุดังกล่าวล้วนทำให้พระปรางค์วัดอรุณฯ มีความเสื่อมโทรมเร็วขึ้น


*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




จุดไฟในใจคน : ภรรยาท้อง สามีทิ้ง


ภรรยาท้อง – สามีทิ้ง !! “ชีวิตจริงยุคปัจจุบัน” โยมเครียดถึงทางตัน “อยากเลิก” แต่ทำใจไม่ได้

เจริญพรคุณโยมผู้อ่านทุกท่าน สัปดาห์นี้นำเสนอปัญหากรณี “ภรรยาท้อง สามีทิ้ง” เที่ยวเตร่ คบชู้ นอกใจ ไม่มีเยื้อใย เครียด กังวนใจ มืดรอบด้าน โทร.เข้ามาหาแสงสว่าง เล่าว่า แต่งงานกับแฟน คบหาดูใจหลายปี สุดท้ายแต่งงาน หลังจากนั้นตั้งครรภ์ ผ่านมา 7 เดือน มีข่าวร้าย สามีไปมีกิ๊ก!! 

สำหรับกรณีของโยม มีหลายคู่ ที่เกิดเรื่องแบบนี้ และการจะเรียกสามีกลับมา ต้องอย่าไปชวนทะเลาะ เบื้องต้นควรพูดคุย แนะนำคำพูดที่เป็นมงคล อาตมาอยากให้ยึดหลักการดำเนินชีวิต เฉกเช่น “การเคี้ยวอาหาร ถ้าลิ้นกับฟันทำงานไม่ประสานกัน ก็มีหวังขบลิ้นตนเองต้องเจ็บปวดจนน้ำตาร่วง”

การครองเรือน ถ้าสามีภรรยาไม่สงเคราะห์กัน ไม่มีความเข้าใจกัน นอกจากจะไม่ก้าวหน้าแล้ว ทั้งสองฝ่ายก็มีหวังช้ำใจน้ำตาร่วงได้เหมือนกัน สามี คือ ผู้เลี้ยง ภรรยา คือ ผู้ควรเลี้ยง ผู้ชายที่ได้ชื่อว่าสามี ก็เพราะเลี้ยงดูภรรยา ผู้หญิงที่ได้ชื่อว่าภรรยา ก็เพราะทำตัวเป็นคนควรเลี้ยง การจะดูว่าใครเป็นสามีภรรยาชนิดไหน ต้องดูหลังแต่งงาน เริ่มที่ ระยะแต่ง คือก่อนเป็นสามีภรรยากัน ต่างคนต่างแต่ง ทั้งแต่งตัว แต่งท่าทาง อวดคุณสมบัติให้อีกฝ่ายหนึ่งเห็น ...จากนั้นมา ระยะงาน คือหลังจากเป็นสามีภรรยากันแล้ว ต่างคนต่างต้องทำงานตามหน้าที่ ใครมีข้อดีข้อเสีย มีความรู้ความสามารถ มีความประพฤติอย่างไรก็จะปรากฏชัดออกมา

พื้นฐานที่จะทำให้สามีภรรยาครองชีวิตยืนยาว และมีความสุข คือคู่สามีภรรยา ต้องมีศรัทธาต่อกัน มีเป้าหมายเหมือนกัน มีความประพฤติดีมีศีลธรรมจรรยา กิริยามารยาทดี ไม่เห็นแก่ตัว ใจกว้างไม่ดื้อด้าน เห็นอกเห็นใจ และต้องพูดกันรู้เรื่อง อาตมาแนะวิธีทำให้ความรักยั่งยืน การเป็นสามีภรรยา เป็นเรื่องที่จะว่ายากก็เหมือนง่าย ครั้นจะว่าง่ายก็เหมือนยาก เพราะเพียงเราตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรสามีภรรยาจึงจะมีความรักยั่งยืนราบรื่น
หัวใจสำคัญต้องสงเคราะห์กัน มีน้ำใจ รู้จักการให้ แบ่งปัน ถ้ารักที่จะอยู่ด้วยกัน ต้องปันกันกิน ปันกันใช้ หามาได้ควรรวมกันไว้เป็นกองกลาง แล้วจึงแบ่งกันใช้ หากไม่เอามารวมกัน อาจเกิดการระแวงกันได้ ที่ใดที่ปราศจากการให้ ที่นั่นย่อมแห้งแล้ง เหมือนทะเลทราย การปันกันนี้รวมทั้งการปันทุกข์กันในครอบครัวด้วย เมื่อฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีความทุกข์ มีปัญหา ควรนำมาปรึกษา อีกฝ่ายต้องรับรู้จักรับฟังและปลุกปลอบให้กำลังใจ

ควรพูดกันด้วยวาจาไพเราะ แม้การตักเตือนกัน ต้องระมัดระวังคำพูด ถ้าถือเป็นกันเองมากไป อาจทำให้ครอบครัวไม่สงบ ก่อนแต่งงานเคยพูดไพเราะอย่างไร หลังแต่งงานก็พูดให้เพราะอย่างนั้น ควรฝึกฝนตนให้เป็นประโยชน์ คือมีความรู้ความสามารถ แล้วนำความรู้ความสามารถที่มีอยู่นั้นมาช่วยเหลือกัน ประพฤติตนเป็นประโยชน์ต่อกันในทุกด้าน เมื่อรู้ว่าอะไรดีหรือไม่ดี ควรหรือไม่ควร ก็นำมาเล่าสู่กันฟัง

สามีภรรยาเมื่อทะเลาะกัน มักจะโยนความผิดให้อีกฝ่ายหนึ่ง ซึ่งแท้จริงแล้วย่อมมีความผิดด้วยกันทั้งคู่ อย่างน้อยก็ผิดที่ไม่หาวิธีที่เหมาะสมแนะนำตักเตือนกัน ปล่อยให้อีกฝ่ายหนึ่งทำความผิด ควรวางตัวให้เหมาะสม เป็นพ่อบ้านก็ทำตัวให้สมกับเป็นพ่อบ้าน เป็นแม่บ้านก็ทำตัวให้สมกับเป็นแม่บ้าน วางตัวให้เหมาะสมกับหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายทั้งในบ้านและนอกบ้าน สามีภรรยาควรประพฤติ ปฏิบัติให้ดี ต้องฝึกสมาธิให้ใจผ่องใสเป็นปกติ เพราะคนที่ใจผ่องใส จะรู้ว่าในภาวะเช่นนั้น ควรจะวางตนอย่างไร ไม่ระเริงจนวางตนไม่เหมาะสม

สามีภรรยาควรยึดหลักคำพูดที่ไพเราะ เพื่ออุดข้อบกพร่อง จะได้เป็นคนมีประโยชน์ ทำใจให้ผ่องใส จะได้เกิดปัญญา วางตัวได้เหมาะสมกับที่ตัวเป็น หน้าที่ของสามี ต้องยกย่องให้เกียรติภรรยา ไม่ปิดบัง หากทำดี ก็ชมเชยด้วยใจจริง หากทำผิดก็เตือน ไม่ควรตำหนิภรรยาต่อหน้าสาธารณชนหรือคนในบ้าน เพราะจะเสียอำนาจการปกครอง สิ่งใดเป็นเรื่องส่วนตัว เช่น การเลี้ยงเพื่อน พบปะญาติมิตร ควรให้อิสระตามสมควร

อย่าดูหมิ่น ไม่เหยียบหยามว่าต่ำกว่าตน ไม่ดูถูกเรื่องตระกูล ทรัพย์ ความรู้ การแสดงความคิดเห็น ไม่กระทำเรื่องที่เกี่ยวกับครอบครัวโดยไม่ปรึกษา หารือ และห้ามทุบตีด่าทอ ไม่นอกใจ ไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับหญิงอื่น เพราะเป็นการดูหมิ่นความเป็นหญิงของภรรยา ให้เอาใจเขามาใส่ใจเรา ภรรยาทุกคนจะปลื้มใจที่สุด ถ้าสามีรักและซื่อตรงต่อตนเพียงคนเดียว

มอบความเป็นใหญ่ให้ภรรยา ให้เป็นผู้จัดการทางบ้าน ไม่เข้าไปก้าวก่ายในเรื่องการครัว การปกครองภายใน นอกจากเรื่องใหญ่ๆ ซึ่งภรรยาไม่อาจแก้ปัญหาได้ 

หน้าที่ภรรยาต่อสามี จัดการงานดี จัดบ้านให้สบายน่าอยู่ จัดอาหารให้ถูกปาก จัดเสื้อผ้าเครื่องใช้ให้สะอาด ดูแลลูกให้ความรักอบอุ่น สงเคราะห์ญาติข้างสามี ด้วยการเอื้อเฟื้อ ให้ความช่วยเหลือตามฐานะ ไม่นอกใจ จงรักภักดี ซื่อสัตย์ต่อสามี รักษาทรัพย์ให้ดี ไม่ฟุ่มเฟือย ขยันทำงาน ไม่เอาแต่กิน นอน เที่ยว หรือเล่นการพนัน สามีภรรยาควรยึดเหนียวน้ำใจกันไว้ด้วยคุณธรรม แทนการสงเคราะห์ ที่ทั้งสองฝ่ายปฏิบัติต่อกัน จะเป็นเงื่อนใจ คล้องไว้ในใจสามี คล้องไว้ในใจภรรยา ถ้าทำได้ตามหลักธรรมนี้ ต่อให้มนุษย์หน้าไหนก็มาพรากไปจากกันไม่ได้ แม้แต่ความตายก็พรากได้เพียงร่างกาย ส่วนดวงใจนั้นยังคงคล้องกันอยู่ชั่วนิรันดร์

อาตมามีข้อเตือนใจอยู่ว่า แม้บางคนตั้งใจแล้วว่าจะต้องยึดใจเอาไว้ ครั้นปฏิบัติจริงก็ไม่วายเขว พอสามีทำท่าจะหลงใหลออกนอกลู่ ภรรยาควรปักใจให้มั่นในการทำความดี ปฏิบัติหน้าที่ของเราไม่ให้บกพร่อง แล้วทุกอย่างจะดี

อีกหลักที่อาตมาต้องเตือนคือ ไฟในอย่านำออก ไม่นำเรื่องราวปัญหา ความร้อนใจต่างๆ ในครอบครัวไปเปิดเผยแก่คนทั่วไปภายนอก ส่วน ไฟนอกอย่านำเข้า หมายถึง ไม่นำเรื่องราวปัญหาต่างๆ ภายนอกที่ร้อนใจเข้ามาในครอบครัว ชีวิตในครอบครัว ต้องกินให้เป็นสุข จัดการเรื่องอาหารการกินในครอบครัวให้ดี ปรนนิบัติพ่อแม่ของสามีอย่าให้บกพร่อง ถ้าทำได้อย่างนี้ ตัวเราเองเวลากินก็จะกินอย่างมีความสุข ไม่ต้องกังวล

อานิสงส์ของการที่สามีสงเคราะห์ภรรยา จะทำให้ความรักยืนยง ทำให้สมานสามัคคีกัน ทำให้ครอบครัวมีความสงบสุข ทำให้ได้รับการยกย่องสรรเสริญ เป็นแบบอย่างที่ดีแก่อนุชนรุ่นหลัง “ภรรยานั้นอยู่ใกล้ชิด หากไม่ผูกมิตร ชีวิตจะสั้น ภรรยานั้นอยู่ร่วมกัน หากคิดสร้างสรรค์ บ้านนั้นเจริญ”  ขอเจริญพร


*************************