วันจันทร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2556

"หลวงพี่น้ำฝน" พระวินยาธิการ บิณฑบาตโปรดโยมปราบเปรต!!

"พระวินยาธิการ" เป็นคำใหม่ที่ใช้เรียกพระภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดให้มีหน้าที่ช่วยเหลือด้านการปกครองคณะสงฆ์ในจังหวัด โดยเฉพาะหน้าที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยด้านการปฏิบัติวินัยของพระภิกษุสามเณร หรือ ภาษาปากว่า ตำรวจพระ หมายถึง พระภิกษุผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการตามพระวินัย

หน้าที่ของ พระวินยาธิการ คือ ตรวจตรา แนะนำ ตักเตือน และชี้แจงระเบียบปฏิบัติแก่พระภิกษุสามเณรในจังหวัดหรือที่เข้ามาในจังหวัด บรรดาที่ประพฤติไม่เรียบร้อย และหากไม่ปฏิบัติตามหรือพบการกระทำความผิดก็มีอำนาจจับกุมตัวส่งเจ้าคณะผู้รับผิดชอบหรือเจ้าหน้าที่บ้านเมืองให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ แต่ไม่มีอำนาจในการให้สละสมณเพศ

ปัจจุบัน แม้ว่าพระวินยาธิการเป็นตำแหน่งที่ยังไม่มีกฎหมายรองรับ ทำให้การปฏิบัติหน้าเป็นไปอย่างติดๆ ขัดๆ แต่สำหรับ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม หัวหน้าพระวินยาธิการจังหวัดนครปฐม ท่านได้ทำหน้าที่อย่างแข็งขัน เช้าตรู่ของทุกๆ วัน หากไม่มีกิจนิมนต์นอกฉันเช้า หลวงพี่น้ำฝนจะตื่นตั้งแต่ตี ๕ เพื่อเตรียมตัวออกไปบิณฑบาต โดยท่านเดินบิณฑบาตในตลาดรอบองค์พระปฐมเจดีย์ทั้ง ๔ แห่ง เป็นระยะทางเกือบ ๕ กิโลเมตร ใช้เวลาเกือบ ๒ ชั่วโมง

หลวงพี่น้ำฝน บอกว่า การบิณฑบาต เป็นกิจวัตรของพระภิกษุสงฆ์ และสามเณรในพระพุทธศาสนา ในการออกเดินถือบาตรรับการถวายภัตตาหารหรือสิ่งของจากชาวบ้านในเวลาเช้า เรียกว่าการออกบิณฑบาต การออกบิณฑบาตของพระภิกษุเป็นกิจวัตรที่พระพุทธเจ้าทรงกำหนดไว้ให้เป็นหน้าที่ของพระภิกษุสามเณรมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล โดยพระพุทธองค์ทรงสรรเสริญว่า การบิณฑบาตเป็นกิจอันประเสริฐ หรือในสามัญเรียกว่าการโปรดสัตว์ เพราะการออกบิณฑบาตนั้นนับว่าเป็นการเผยแผ่พระศาสนาทางหนึ่งด้วย ดังในสมัยพุทธกาลที่พระภิกษุสงฆ์จะเทศนาโปรดแก่บรรดาชาวบ้านซึ่งมาร่วมทำบุญ อันเป็นต้นเหตุแห่งการสวดให้พรหลังภัตตกิจในปัจจุบันนี้

ขณะเดินไปบิณฑบาต นิยมมีสมณสารูปสำรวมกิริยาเรียบร้อย สำรวมกาย สำรวมตา สำรวมปาก ไม่เดินเร็ว หรือเชื่องช้าเกินไป ไม่เหลียวซ้ายแลขวาลอกแลก ไม่เที่ยวทักคนนี้คนนั้นอันแสดงถึงความไม่สำรวม หรือไม่นิยมเดินพูดคุยกันระหว่างพระภิกษุสามเณรด้วยกัน

สำหรับคำพูดที่ว่า "บิณฑบาตโปรดโยมปราบเปรต" หลวงพี่น้ำฝน บอกว่า ในสังคมละเลยการประพฤติในศีลธรรม ไม่เว้นแม้แต่ผู้ที่เข้ามาบวชในพระพุทธศาสนา กล่าวคือ บางคน บางกลุ่ม เมื่อบวชแล้วไม่สนใจศึกษา และปฏิบัติตามหลักพระธรรมวินัย กฎ ระเบียบ คำสั่งมหาเถรสมาคม อาศัยช่องทางจากความเชื่อ ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยของชาวพุทธ ที่ยังไม่ค่อยเข้าใจหลักพระพุทธศาสนา แสวงหาผลประโยชน์โดยวิธีการต่างๆ เช่น บางคนเข้ามาบวชในพระพุทธศาสนาแล้วออกแสวงหาลาภสักการะ โดยการออกบิณฑบาตบ้าง บอกบุญ เรี่ยไรเงินทอง เพื่อประโยชน์ตนเองบ้าง ปักกลด ทำทีเป็นผู้ปฏิบัติเคร่งครัด บางพวกตั้งตนเป็นหมอดูทำนายทายทัก บอกใบให้หวย เป็นหมอยา หมอเสน่ห์ ยิ่งกว่านั้นบางพวกถึงขนาดปลอมบวช โดยใช้อุบายที่แยบยลยากที่จะแก้ไข


จากการออกบิณฑบาต พบว่า พระภิกษุจาก จ.สุพรรณบุรี มาเรี่ยไรใน จ.นครปฐม แล้วถูกจับกุมมาแล้วบ่อยครั้ง แต่ที่เรียกว่า บิณฑบาตหากินกันเป็นทีม คือ เมื่อวันศุกร์ที่ ๙ เมษายน ๒๕๕๓ ตำรวจพระนครปฐมได้รับแจ้งจากญาติโยม มีพระสงฆ์นำสามเณรเดินทางมาเรี่ยไร จึงนิมนต์มาสอบสวน ประกอบด้วยพระ ๑ รูป สามเณร ๓ รูป ให้การว่า มาจากสำนักสงฆ์วังซับใหญ่ ต.พลับพลาชัย อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี ชื่อ พระประเทือง ปัญญาธโร นายจักร มณีวงศ์ ๔๕ ปี ให้การว่า เดินทางออกมาจากสำนักสงฆ์ ตั้งแต่เวลาตีสอง เดินทางด้วยรถตู้ฉันอาหารเช้าบนรถ ที่วัดมีรถตู้ ๔ คัน รถเก๋ง ๑ คัน รถกระบะวีโก้ อีก ๑ คัน

ทีมงานออกเรี่ยไร แบ่งกันเป็นสาย มุ่งไปตามจังหวัดต่างๆ เช่น อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี นครปฐม โดยค่าเช่ารถตู้วันละ ๑,๕๐๐ บาท ค่าคนขับรถวันละ ๔๐๐ บาท ค่าน้ำมันวันละ ๕๐๐ บาท พระที่สำนักสงฆ์มีทั้งหมด ๙ รูป สามเณร ๑๙ รูป มีเจ้าสำนักชื่อ พระอาจารย์สะอาด สุจิณโณ อายุ ๘๐ ปี มีแม่ชี ๒ คน มีฆราวาสอีก ๓ คน แต่ละสายที่ออกไปเรี่ยไร จะได้ปัจจัยประมาณสายละ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาทต่อวัน พระอาจารย์สะอาดจะแบ่งให้องค์ละ ๑๐๐ บาท เท่ากันทั้งพระเณร

"มีพระภิกษุ-สามเณรบางส่วนที่หวังอาศัยพระพุทธศาสนาบังหน้าในการแสดงหาลาภ ยศ สรรเสริญ สุข โดยไม่ยึดหลักพระธรรมวินัย บางครั้งก็เป็นคนจากประเทศเพื่อนบ้าน เข้ามาแต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ เพื่อเรี่ยไรเงินจากชาวบ้านซึ่งปัญหาดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่ร้ายแรง เพราะหากินบนความศรัทธาของประชาชน ทั้งนี้ หากพบทางสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดจะดำเนินการขอดูใบอนุญาตการเรี่ยไรเงิน ใบสุทธิ ว่าเป็นของจริงหรือไม่ หากพบว่าไม่ถูกต้องจะดำเนินการส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดีทางกฎหมาย แต่ถ้าพระภิกษุสงฆ์จริงก็จะให้เจ้าคณะผู้ปกครองตักเตือนไม่ให้มีกระทำการดังกล่าวอีก" หลวงพี่น้ำฝน พูดทิ้งท้าย

ในฐานะที่เป็นหัวหน้าพระวินยาธิการจังหวัดนครปฐม หลวงพี่น้ำฝน ได้มีคำแนะนำไม่ให้ญาติโยมใส่บาตรพระกับพระที่ไม่น่าเลื่อมใสไว้ ๗ ประการ คือ 

๑.ย่ามใหญ่ ซึ่งภายในย่ามอาจมีผ้าขนหนู เสื้อผ้า สบู่ ยาสีฟัน อย่างครบคันรวมอยู่ในย่าม 
๒.จีวรไม่สะอาด เพราะต้องนอนตามสถานีรถไฟ 
๓.มีบาตรและกลดพระติดตัวในย่านชุมชนเมือง ซึ่งกิจของพระธุดงค์ต้องเดินห่างจากชุมชนเมือง ๒๕ กม.เป็นการเดินในป่าไม่ใช่ในเมือง 
๔.นอนมั่วทุกแห่ง 
๕.แหล่งที่พักไม่แน่นอน สัญจรอยู่ตลอดเวลา 
และ ๗.อธิษฐานพรรษาไม่ถูก ไม่มีใบสุทธิ

ปัญหาการเรี่ยไรเงินถือว่าเป็นปัญหาที่พบบ่อยมาก โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมีนาคม-เมษายน เพราะจะเป็นช่วงที่ตามวัดต่างๆ จะมีพิธียกช่อฟ้า ฝังลูกนิมิต บางวัดจึงจำเป็นออกเรี่ยไรเงินจากพุทธศาสนิกชน ทั้งนี้สำหรับการเรี่ยไรเงินจะต้องมีการนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการระดับ จังหวัด ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดหรือผู้แทน เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าคณะผู้ปกครองสงฆ์ในพื้นที่นั้น เพื่อออกใบอนุญาตการเรี่ยไรเงิน ซึ่งจะต้องออกในนามวัดเท่านั้น ไม่มีการออกให้เป็นรายบุคคล และสามารถจะออกเรี่ยไรได้ภายในจังหวัดเท่านั้น จากนั้นจะมีการทำหนังสือเวียนแจ้งไปยังสถานีตำรวจ และวัดในพื้นที่ได้รับทราบ

การแก้ปัญหาการเรี่ยไรเงิน พระวินยาธิการไปดำเนินการลำบากมากขึ้น เนื่องจากพวกนี้จะมากันเป็นกลุ่ม หากจะเข้าไปตักเตือนก็จะมีกลุ่มนักเลงที่มากับผู้เรี่ยไรเข้ามาข่มขู่ ดังนั้น พระวินยาธิการต้องขอความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาอารักขาด้วย อย่างไรก็ตาม อาตมาขอเตือนว่าเมื่อพบกลุ่มที่มาเรี่ยไรเงิน หากไม่แน่ใจว่าจริงหรือหลอกลวง ให้ขอดูใบอนุญาตได้ทันที และสามารถโทรสอบถามไปยังสำนักงานเจ้าคณะจังหวัดได้ด้วย และหากพบว่าเป็นพระแล้วมาขอเรี่ยไรโดยลำพัง ให้ตั้งสมมุติฐานได้เลยว่าไม่ได้รับอนุญาตให้มา

ทั้งนี้ หลวงพี่น้ำฝน พูดทิ้งท้ายไว้อย่างน่าคิดว่า “การทำบุญเป็นเรื่องของศรัทธาที่ต้องบวกด้วยปัญญา อย่ายึดการทำบุญในแบบโฆษณาชวนเชื่อว่าทำมากจะได้มาก เรื่องบุญจึงเป็นเรื่องเดียวกันที่ต้องเข้าใจว่าไม่ใช่การทำบุญโดยยึดปริมาณมากกว่าแล้วจะได้ผลบุญมากตาม ถ้าทำอย่างนั้นน่าจะเรียกได้ว่าเอาบุญมากลบปัญญา การทำบุญยังต้องทำแบบสายกลาง คือ ต้องไม่ทำแบบทุ่มสุดตัว มีเท่าไรทำบุญหมดคงไม่ได้ เพราะชีวิตเราต้องกินต้องใช้ในเรื่องอื่นด้วย”

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2556

พุทธไทย-ญี่ปุ่นสวดมนต์เพื่อสันติภาพโลก


เมื่อวันที่ 25 เม.ย.ที่ วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ให้การต้อนรับ ท่านซินโซ อิโต ประมุขสงฆ์แห่งชินเนียวเอ็น ประเทศญี่ปุ่น ในโอกาสเดินทางมาเป็นประธานในพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อดำรงสันติสุขและมิตรภาพ เนื่องในโอกาสแห่งการระลึกถึงการสมโภชพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ซึ่งเป็นศาสนกิจร่วมกันระหว่างพุทธศาสนามหายานชินเนียว และพุทธศาสนาเถรวาท โดยมีพระมหาเถระ กรรมการมหาเถรสมาคม และพระเถรานุเถระชั้นผู้ใหญ่


นางสาวศันสนีย์ นาคพงศ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานฝ่ายฆาราวาส รวมถึงศิษยานุศิษย์ชินเนียว กว่า 1,500 คนทั่วโลกร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์เป็นภาษาบาลี และญี่ปุ่น โอกาสนี้ ประมุข แห่งพุทธบริษัทชินเนียวเอ็น ได้อัญเชิญพระพุทธมหาปริพพาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสีหไสยาสน์ ความยาว 80 เซ็นติเมตร ประดับด้วยพระรัศมีส่วนรอบพระเศียร และประดิษฐานอยู่บนแท่นประทับกลีบบัว แด่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ประดิษฐาน ยังชั้น 5 ของพระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ แสดงถึงการดำรงสันติสุขและมิตรภาพที่ดีระหว่างประเทศ ตอบแทนที่วัดปากน้ำได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปประดิษฐานที่ชินเนียวเมื่อปี 2521

สำหรับชินเนียวเอ็น นิกายเซนนิโยเอน ถือเป็นองค์กรพุทธศาสนาก่อตั้งในประเทศญี่ปุ่น ตั้งแต่ปี 2473 มีศาสนิกชนกว่า 1 ล้านคน มีวัดสาขากว่า 100 แห่ง ใน 55 ประเทศ

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ






ศาสตร์แห่งไสยศาสตร์เคล็ดวิชา "หลวงพ่อชู" วัดทัพชุมพล


ไสยศาสตร์
เป็นศาสตร์วิชาแขนงหนึ่งที่อยู่คู่กับความเชื่อความศรัทธาของคนไทยสืบมาแต่ครั้งโบราณกาล เมื่อมีศึกสงครามเกิดขึ้นครั้งใด บรรดาบูรพาจารย์ก็จะประกอบพิธีกรรมต่างๆ อย่างเช่น การสักยันต์ลงอาคมตามร่างกาย หรือการปลุกเสกสิ่งของหรือที่นิยมเรียกกันว่าวัตถุมงคล เพื่อมอบให้ลูกศิษย์นำติดตัวไปในยามที่ออกรบกับพวกข้าศึก ถือว่าเป็นการบำรุงขวัญกำลังใจแก่ทหารหาญในยามออกศึก ซึ่งก็เคยสร้างปาฏิหาริย์แก่ผู้ใช้มาแล้วในครั้งสมัยสงครามอินโดจีน ทหารไทยของเราได้สร้างชื่อเสียงโด่งดังไปทั่ว จนเป็นที่เลื่องลืออย่างมาก

ศาสตร์วิชาต่างๆ ท่านบูรพาจารย์ได้จำแนกแยกออกเป็นสายวิชาหลักมากมายดังนี้

๑.วิชาอยู่ยงคงกระพัน เป็นสายวิชาที่เน้นให้ร่างกายมีความคงทนต่อศาสตราวุธทั้งหลาย อย่างเช่น ฟัน แทง ไม่เข้า ซึ่งก็มีหลายวิธีในการใช้วิชาอยู่ยงคงกระพัน อาทิ การอาบน้ำว่านที่ผ่านการปลุกเสก การสักยันต์ลงคาถาอาคมไว้บนร่างกาย การปลุกเสกวัตถุมงคลแล้วให้ติดตัวไปช่วยคุ้มครอง หรือการท่องมนต์พระคาถาอยู่ยงคงกระพัน อย่างนี้เป็นต้น

๒.วิชาชาตรี ถือเป็นสุดยอดวิชาสามารถทำให้ตัวเบาเหมือนนุ่นหรือตัวหนักดั่งภูผาก็ได้ ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการทำสมาธิกำหนดจิตกำหนดลมหายใจจนเกิดพลังจิตที่กล้าแกร่ง วิชาชาตรีมีพระเกจิหลายรูปที่สำเร็จวิชานี้ อาทิ หลวงพ่อเงิน บางคลาน พิจิตร หลวงพ่อกลั่น วัดพระญาติ พระนครศรีอยุธยา หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ดำน้ำลงไปทำตะกรุดโทนเมื่อเสร็จแล้วก็ปล่อยให้ตะกรุดลอยขึ้นมาเหนือน้ำ ส่วนตะกรุดดอกไหนจมถือว่าใช้ไม่ได้ การทำตะกรุดของหลวงปู่ศุขนั้น ใช้เวลาอยู่ใต้น้ำนานมาก นี่คืออิทธิปาฏิหาริย์ของการเรียนวิชาชาตรีที่ถือว่าเป็นสุดยอดไสยศาสตร์วิชาอีกแขนงหนึ่ง

๓.วิชาแคล้วคลาด นับว่าเป็นศาสตร์วิชาที่มีคุณวิเศษทางด้านต้านภัยต่างๆ ทั้งภัยจากธรรมชาติหรือภัยจากมนุษย์ ภูตผีปีศาจ ไม่อาจทนแรงพลังได้ วิธีการทำต้องลงพระคาถาอาคมเลขยันต์ในวัตถุต่างๆ อาทิ มีดหมอ ผ้ายันต์ ผ้าประเจียด (ผ้าโพกหัว) เบี้ยแก้ และการสักยันต์ลงบนร่างกายหรือวัตถุมงคลต่างๆ เป็นต้น

๔.วิชามหาอุตม์ เป็นศาสตร์วิชาที่ให้คุณวิเศษทางความอุดมสมบูรณ์ ทำมาหากินคล่อง มีกินไม่มีหมดผู้ใช้ต้องหมั่นสวดภาวนา วิชามหาอุตม์เป็นอักขระพระคาถามหายันต์ที่นำไปลงวัตถุมงคลต่างๆหรือปลุกเสกสิ่งของนำมาบูชา จนกระทั่งนำอักขระมหายันต์มาสักยันต์ลงบนร่างกาย แต่ถ้าจะให้เกิดคุณโดยเร็ว ต้องหมั่นภาวนาพระคาถากำกับไว้ ถือว่าเป็นมนต์มหาเสน่ห์ มหานิยมเมตตาเป็นเลิศ เช่น นกถึดทือ เจ้ามือวิ่งหนี หรือ นกถึดทือ กระพือเรียกลาภ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า อาจารย์ของกรมหลวงชุมพร ฯ

ที้งนี้มีเรื่องเล่าว่า สมัยก่อนหลวงปู่ศุข มาพักที่วังนางเลิ้งของเสด็จในกรมฯ พอเสด็จในกรมฯ และพระชายา เข้าไปกราบแล้ว ก็เหลือบรรดานายทหาร และคนรับใช้ประจำวัง เข้าไปกราบ หลายคนขอพระเครื่อง ตะกรุดสารพัด แต่อีกหลายคนติดเบี้ยบ่อน มาขอของดีหลวงปู่ศุข ไปแก้มือ ไปล้างแค้นเจ้ามือ ท่านจะไม่ให้พระ แต่จะเขียนยันต์นกถึดทือให้ไป ปรากฏว่า เจ้ามือทั้งนางเลิ้ง พระนคร สี่กั๊ก ยันเสาชิงช้า ต้องปิดบ่อนหนีบรรดาศิษย์นกถึดทือหมด แก้มือสำเร็จ ร่ำรวยไปตามๆ กัน จนเจ้ามือขยาด ถ้ารู้ว่าเป็นพวกนกถึดทือ จากวังนางเลิ้ง จะไม่รับเข้าไปเล่น

ศาสตร์วิชามหาอุตม์นี้ หลายท่านคิดว่าเป็น มหาอุด ที่หมายถึง อุดลูกปืน อุดสิ่งชั่วร้ายไม่ให้เข้าตัวอะไรประมาณนี้ซึ่งความจริงแล้ว วิชาที่อุดลูกปืนหรือป้องกันสิ่งชั่วร้ายนั้น อยู่ในหมวดวิชาอยู่ยงคงกระพัน วิชานี้ป้องกันอาวุธต่างๆ ได้ ป้องกันสิ่งเลวร้ายได้ อย่างเช่น ผู้ที่มีวิชาอยู่ยงคงกระพันถูกยิงด้วยปืน ถึงแม้ลูกปืนจะยิงออกและถูกเข้าตามร่างกาย แต่ก็ไม่สามารถทะลุผ่านผิวหนังเข้าไปได้ อย่างนี้เป็นต้น

ส่วนปืนยิงไม่ออกอยู่หมวดวิชาชาตรี ทำให้ลูกปืนมีน้ำหนักมากกว่าแรงลั่นไกและถ้ายังลั่นไกหลายครั้งลำท่อปืนอาจจะแตกหรือระเบิดได้ หรือปืนที่ยิงออกแต่ไม่ถูกเป้าหมายนั้น อยู่ในหมวดวิชาแคล้วคลาด ถ้าท่านมีวิชาแคล้วคลาดต่อให้ยิงปืนจนหมดแม็กก็ไม่ถูกอย่างนี้ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้บูรพาจารย์จึงได้คิดค้นวิชาที่ให้คุณทางด้านอุดมโภคทรัพย์ขึ้นมาเนื่องจากสมัยก่อนผู้คนมีอาชีพทางการเกษตรเสียส่วนมาก จึงต้องเน้นวิชาเกี่ยวกับความอุดมสมบูรณ์ วิชามหาอุตม์นี้ได้แยกวิชาย่อยอีกหลายสายวิชา อาทิ วิชาปลุกเสก หรือ ลงนะหน้าทอง เป็นเมตตามหาเสน่ห์ วิชาปลุกเสกหรือลงสาลิกาลิ้นทองเมตตามหานิยม วิชาหุงสีผึ้งทาปากเด่นทางเมตตาค้าขายดี เป็นต้น

หลวงพ่อชู เตชธมฺโม วัดทัพชุมพล ต.หนองกรด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความรู้เรื่องศาสตร์วิชาอาคมหลายแขนง โดยเฉพาะวิชาสักยันต์ป้องกันคุ้มภัย นับว่าเป็นศาสตร์วิชาที่ท่านมีความชำนาญมาก ท่านศึกษาวิชาอาคมจากสายพระคณาจารย์ และฆราวาสจอมขมังเวทย์มาหลายสำนัก มากถึง ๑๒ สายด้วยกัน เช่น 

สายหลวงพ่อทอง วัดราชโยธา 
สายหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า 
สายหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ 
สายไสยเวทพุทธาคมตักศิลาเขาอ้อ เมืองพัทลุง 
และนอกจากนั้น ยังศึกษาวิชาเทพนิมิต มีครูเทพ ครูพรหม ครูยม ครูยักษ์ ครูฤๅษี

หลวงพ่อชู ท่านเรียนสักยันต์มาจาก หลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส และได้นำวิชาที่ร่ำเรียนมาเอื้อเฟื้อเกื้อหนุนลูกศิษย์ ก่อนที่จะลงมือสักยันต์ ท่านจะกำชับลูกศิษย์ทุกครั้งว่า วิชาที่ได้ติดตัวไปนี้ จงนำไปใช้เพื่อป้องกันตนเอง อย่านำไปใช้ในทางที่ผิด เมื่อลูกศิษย์ตกปากรับคำท่านก็จะลงมือสักยันต์ให้ วิชาของท่านนี้ใช้ดีทุกด้านแม้แต่อยู่ยงคงกระพัน ป้องกันคุ้มภัยได้สารพัด ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นอย่างจริงจังจะขลังถึงกระดูก ที่สำคัญต้องให้ความเคารพนับถือปู่ฤๅษีนารอด เพราะท่านเป็นองค์ปฐม หรือต้นตำรับของวิชาสักยันต์ ในแต่ละวันจะมีลูกศิษย์เดินทางมาสักยันต์กับหลวงพ่อชูเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันท่านมีลูกศิษย์มากมายหลายรุ่น จัดงานไหว้ครูในแต่ละปี มีลูกศิษย์ไปร่วมในพิธีกันเป็นพันๆ คน

ท่านศึกษาวิชาอาคมสายพระคณาจารย์ดังหลายรูป อาทิ สายหลวงพ่อทอง วัดราชโยธา เรียนจากพ่อเขียน ไกรทองสุข สายหลวงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง เรียนจาก พระสมุห์ชาลี วัดวังยาว ปราณบุรี สายหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท เรียนจากครูทัน รุจิเรส (ตำรา อ.ประสงค์ ลงทองทั้งตัวกะโหลกทอง) เรียนจากอาจารย์ใบ ทับทอง สายวัดสมรโกฏิเรียนจาก อาจารย์ประยูร จิตโสภี สายอาจารย์ฟ้อน ดีสว่าง เรียนจาก อาจารย์ชุม ไชยคีรี สายเขาอ้อ และ เรียนจากอาจารย์หมอริ ภู่โพธิ์ สายหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ จ.นครสวรรค์ เรียนจากอาจารย์ฐาปนา บุญป่อง สายวัดสามวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา เรียนจากหลวงปู่รอด วัดสันติกาวาส จ.พิษณุโลก เรียนจากครูหมุด ผ่องศรี สายราชสำนัก กัมพูชา เรียนสักยันต์จาก หลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส จ.จันทบุรี เรียนจากหลวงพ่อเคน วัดห้วยเจียว จ.พิษณุโลก

สำหรับผู้ที่จะกราบไหว้ขอพรบารมี หลวงพ่อชู เตชธมฺโม สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.๐๘-๙๑๕๙-๙๙๔๕ และ ๐๘-๐๐๔๒-๘๘๓๒ หรือ พระมหาเรวัต ถาวโร โทร.๐๘-๗๑๕๑-๕๙๒๖ (ดูรายละเอียดเพิ่มได้ที่ www.ompradee.com)

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ






วันพุธที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2556

ถวายความรู้ "พระสังฆาธิการ" ดูแลทรัพย์สินศิลปวัฒนธรรม


สํานักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี โดย นางมานิตย์ เขื่อนขันธ์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี จัดประชุมถวายความรู้แด่พระสังฆาธิการ และฆราวาสผู้สนับสนุนวัดใน "โครงการดูแลทรัพย์สินทางศิลปวัฒนธรรมของชาติของพระสังฆาธิการ"

มีพระสังฆาธิการ และฆราวาสผู้สนับ สนุนวัดเข้าร่วมจำนวน 30 รูป/คน และได้รับเกียรติจาก นายเอนก สีหามาตย์ รอง อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานเปิดโครงการและเป็นวิทยากรถวายความรู้ ณ วัดไพรสณฑ์ศักดาราม ต.หล่มสัก อ.หล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ เมื่อเร็วๆ นี้

นางมานิตย์กล่าวว่า มรดกทางศิลปวัฒน ธรรมของชาติ ประเภทโบราณสถาน โบราณวัตถุ ที่มีอยู่ในวัด เช่น โบสถ์ วิหาร เจดีย์ พระพุทธรูป ตู้พระธรรม ธรรมาสน์ และคัมภีร์โบราณ เป็นสิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นจากความศรัทธาของประชาชน ช่างฝีมือในท้องถิ่นที่มีต่อพระพุทธศาสนา โดยได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดียิ่งจากพระสงฆ์และฆราวาสผู้สนับสนุนวัด ปัจจุบันพบว่ามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติเหล่านี้กำลังเสื่อมสภาพลงไป สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม กาลเวลา ภัยทางธรรมชาติ การพัฒนาของบ้านเมือง และการกระทำของมนุษย์

กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะหน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการทำนุบำรุงอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวตลอดเวลา ได้มอบหมายภารกิจให้ สำนักศิลปากรที่ 4 ลพบุรี ซึ่งดูแลรับผิดชอบ 5 จังหวัด คือ จังหวัดลพบุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ และ เพชรบูรณ์ พิจารณาบูรณะโบราณสถานที่มีสภาพชำรุดมากก่อน ซึ่งในปีงบประมาณ 2554 ที่ผ่านมา ได้เลือกบูรณะ วิหารหลังเก่าของวัดไพรสณฑ์ศักดาราม จ.เพชรบูรณ์ ที่เดิมมีสภาพชำรุดทรุดโทรมมาก จนแล้วเสร็จเรียบร้อยเป็นอย่างดี

"ในปีนี้ได้จัดกิจกรรมต่อยอดในโครงการดูแลทรัพย์สินทางศิลปวัฒนธรรมของชาติของพระสังฆาธิการ จัดประชุมถวายความรู้ ความเข้าใจแด่พระสังฆาธิการและฆราวาสผู้สนับสนุนวัดจังหวัดเพชรบูรณ์ ในการดูแลรักษาโบราณสถานและโบราณวัตถุในวัด อีกทั้งยังได้นำผู้เข้าร่วมประชุมเดินทางไปศึกษาดูงานการบูรณะโบราณสถานและวัดที่สำคัญในกรุงเทพมหานคร คือ วัดบวรนิเวศวิหาร วัดราชโอรส วัดเทพธิดาราม และโลหะปราสาท"

นายเอนกกล่าวว่า สืบเนื่องจากกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธ ศักราช 2550 ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาประเทศ รวมถึงการกระจายอำนาจและการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชนท้องถิ่น ในการบริหารจัดการศิลปวัฒนธรรมของชาติ กรมศิลปากรได้ตระหนักดีว่าการดูแลรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนโดยลำพัง เฉพาะส่วนราชการเพียงอย่างเดียวย่อมเป็นไปไม่ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามาเป็นเครือข่ายมีส่วนร่วมในการรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรม ให้ดำรงอยู่อย่างยั่งยืนตลอดไป

"วัดเป็นสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นแหล่งรวบรวมมรดกทางศิลปวัฒนธรรม เป็นจำนวนมาก ดังนั้นพระสงฆ์และฆราวาสผู้สนับ สนุนวัด จึงมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการดูแลรักษาอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมภายในวัด ให้คงอยู่ตลอดไปและไม่ถูกทำลายให้เสื่อมค่าด้วยประการใด การประชุมถวายความรู้ในครั้งนี้ วิทยากรจะได้ให้ความรู้ ความเข้าใจ วิธีการและแนวทางการดำเนินงานด้านอนุรักษ์และดูแลรักษาโบราณสถานโบราณวัตถุในวัดและทรัพย์สินทางศิลปวัฒนธรรมของชาติอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ตลอดจนข้อกำหนด กฎหมายและระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง"

ด้าน พระปริยัติพัชราภรณ์ เจ้าอาวาสวัดไพรสณฑ์ศักดาราม กล่าวว่า ด้วยแรงศรัทธาในบวรพระพุทธศาสนาฝากไว้ให้เป็นทรัพย์แผ่นดินไม่ว่าจะเป็นในด้านของพุทธศิลป์ พุทธสถาปัตยกรรม จวบจนได้ตกทอดมาถึงเรา ผู้เป็นลูกหลานไทย ได้ระลึกและภาคภูมิใจในเกียรติประวัติของชาติบ้านเมือง โดยมีบุคคลในสถาบันศาสนาอันได้แก่พระสงฆ์และฆราวาสผู้ให้การสนับสนุนวัด เป็นผู้จรรโลงให้มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติเหล่านี้ ยังคงคุณค่าความเป็นสมบัติของชาติไว้

การประชุมถวายความรู้ในครั้งนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการอนุรักษ์มรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ให้ผู้ที่ปกป้องดูแลมรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ ได้มีความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ อีกทั้งยังเป็นการแลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์และข้อเสนอแนะ ในการปรับปรุงแก้ไข วิธีการดำเนินการร่วมกันกับผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในภาครัฐ อันจะนำมาซึ่งความก้าวหน้า ในการดำเนินงานด้านการบำรุงรักษามรดกทางศิลปวัฒนธรรมของชาติ ในอนาคต

*************************

เรื่องโดย : ข่าวสดออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





ตั้งทีมกฎหมาย ช่วยพระ กทม.


พระพรหมดิลก
เจ้าอาวาสวัดสามพระยา กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ได้ตั้งทีมกฎหมายของคณะสงฆ์กรุงเทพฯ ขึ้นมา โดยนำพระที่มีความรู้ด้านกฎหมายเข้ามาอยู่ในทีมดังกล่าว เพื่อให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมายกับวัดในเขตกรุงเทพฯ และช่วยป้องกันปัญหาการถูกฟ้องร้องของพระสงฆ์ 

นอกจากนี้ยังแจ้งไปยังเจ้าคณะแขวง เจ้าคณะเขต ทุกรูปในเขตกรุงเทพฯ ให้ดำเนินการกับพระสงฆ์ที่ออกบิณฑบาตเรี่ยไรเงิน รวมทั้งพระสงฆ์ที่บิณฑบาตอยู่กับที่ ซึ่งหากพบพระสงฆ์ที่มีความประพฤติในลักษณะดังกล่าวให้เข้าไปขอชื่อของพระสงฆ์ ชื่อพระอุปัชฌาย์ และชื่อวัด จากนั้นให้แจ้งมายังเจ้าคณะกรุงเทพฯ เพื่อแจ้งไปยังวัดต้นสังกัดพระอุปัชฌาย์ รวมทั้งเจ้าคณะภาคให้มานำตัวกลับ 

ทั้งนี้พระสงฆ์ที่มีพฤติกรรมดังกล่าวส่วนใหญ่จะไปอาศัยอยู่ตามบ้าน และออกมาบิณฑบาตหากิน ซึ่งหากพุทธศาสนิกชนพบเห็นพระสงฆ์ในเขตกรุงเทพฯ ที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ยังสามารถแจ้งมาที่สำนักงานเจ้าคณะกรุงเทพฯ วัดสามพระยา ได้เช่นกัน

พระพรหมดิลก กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีวัดตะล่อมที่รับพระต่างชาติเข้ามาอยู่เป็นจำนวนมากนั้น ล่าสุดทางสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) ได้เข้าไปตรวจสอบแล้ว โดยอยู่ในระหว่างที่ พระครูธีรธรรมานันท์ เจ้าอาวาสวัดบางแวก และเจ้าคณะแขวงบางแวก สรุปรายงานมาที่เจ้าคณะกรุงเทพฯ ทั้งนี้ ยืนยันว่า การออกระเบียบการรับพระอาคันตุกะจากต่างชาติเข้ามาอยู่ในวัด และให้วัดในเขตกรุงเทพฯปฏิบัติตามนั้น เพื่อต้องการให้มีการดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย

*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันอังคารที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2556

ร่วมบุญบูรณะ "วัดแหลมทอง" จ.กาญจน์

วัดแหลมทอง ตั้งอยู่ที่หมู่บ้านแหลมทอง หมู่ ๓ ต.กลอนโด อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ก่อนการสร้างวัด ในสมัยนั้นมีเหตุว่าญาติโยมชาวบ้านผู้ใจบุญ มีความลำบากมากจากการไปทำบุญ เพราะวัดที่จะไปทำบุญนั้นอยู่ไกลต้องเดินทางด้วยเท้า เป็นระยะทาง ๓-๕ กิโลเมตร มีความลำบากมาก ทั้งทางที่เดินไปทำบุญนั้นก็เป็นป่า ทางดินหากมีฝนตกทางเปียกน้ำการเดินก็ลื่นเพราะดินนั้นเป็นดินเหนียว อาหารที่นำไปทำบุญบางครั้งก็ไปไม่ถึงวัดถวายพระ เพราะลื่นล้มแกงหกหมด

พ.ศ.๒๕๑๒ หลวงพ่อพระครูทักษิณานุกิจ (เสงี่ยม อาริโย) เจ้าอาวาส วัดห้วยจระเข้ รูปปัจจุบัน เมื่อครั้งที่จำพรรษาอยู่ วัดพระงาม อ.เมือง จ.นครปฐม ซึ่งเป็นลูกหลานที่ถือกำเนิดที่บ้านแหลมทอง ได้ดำเนินการจัดสร้างกุฏิ ๑ หลัง สร้างด้วยไม้ที่จัดหามาได้ คือเสาไม้ทุบเปลือก เครื่องบนเป็นไม้ไผ่ ส่วนฝานำไม้ไผ่ผ่าซีกนำมาขัดกันเป็นฝากันบังและกั้นห้อง หลังคามุงด้วยหญ้าคาและจาก พื้นกุฏิเป็นไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันบริจาคมาคนละแผ่นสองแผ่น มีบันไดขึ้น ๕ ขั้น เสร็จแล้วได้ไปนิมนต์พระหลวงตา ที่วัดยางเกาะ ซึ่งอยู่ออกไป ๓ กิโลเมตร มาเป็นประธานสงฆ์ เวลาใกล้เข้าพรรษามีผู้ศรัทธาบวชจำนวน ๕ รูป ในพรรษาแรกนั้นมีพระอยู่จำพรรษาจำนวน ๖ รูป ญาติโยมชาวบ้านแหลมทองดีใจมาก ที่ได้ช่วยกันก่อสร้างที่พักสงฆ์และมีพระมาอยู่จำพรรษา ให้ได้ทำบุญใกล้ๆ บ้าน ทุกคนต่างมีความปลื้มปีติ ได้มาคุยกับพระได้มาทำบุญทุกวันและไม่ต้องไปทำบุญไกลๆ อีก

การดำเนินการก่อสร้างวัดแหลมทอง หลวงพ่อเสงี่ยม อาริโย และชาวบ้านพร้อมด้วยผู้ที่มีจิตศรัทธาทั้งหลายที่ร่วมกันบริจาคทรัพย์จัดสร้างวัดแหลมทองให้เป็นวัดโดยสมบูรณ์ ได้สำเร็จลุล่วงแล้วได้ใช้เวลาก่อสร้างตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๒-๒๕๒๓ รวมเป็นเวลา ๑๑ ปี อายุของวัดตั้งแต่พ.ศ.๒๕๑๒-๒๕๕๖ รวมแล้ววัดมีอายุ ๔๔ ปี ถาวรวัตถุบางอย่างได้ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา คณะศิษย์นำโดย พระครูสุจิตกิจจานุกูล หรือ หลวงพ่อมั่น สุจิตโต รองเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ จึงพร้อมใจกันจัดสร้าง เหรียญเจ้าสัว คิงส์อาเซียน รุ่น ๒ เพื่อนำรายได้จากการเช่าบูชาไปบูรณปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญ และถาวรวัตถุต่างๆ ภายในวัด

เหรียญเจ้าสัว คิงส์อาเซียน รุ่น ๒ ด้านหน้าเหรียญ เป็นรูปพระพุทธรูปปางขัดสมาธิเพชร บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย ล้อมรอบด้วยซุ้มลายกนก ด้านหลังเหรียญ เป็นรูปพระปิดตาหลวงปู่นาค มีอักขระคาถาหัวใจเศรษฐี ๔ จุด นะ ชา ลี ติ กำกับ ด้านล่างเหรียญมีอักษรไทยคำว่า "วัดห้วยจระเข้ นฐ ๒"

สำหรับจำนวนการจัดสร้างเหรียญ เหรียญเจ้าสัว คิงส์อาเซียน รุ่น ๒ ประกอบด้วย เนื้อทองคำตามจำนวนผู้จอง เนื้อเงิน ๕๙๙ เหรียญ เนื้อนวโลหะ ๙๙๙ เหรียญ เนื้อทองทิพย์ ๑,๕๙๙ เหรียญ เนื้อทองเหลือง ๒,๕๕๖ เหรียญ เนื้อทองเหลืองผิวไฟ จำนวน ๒,๕๕๖ เหรียญ เนื้อทองแดง จำนวน ๒,๕๕๖ เหรียญ เนื้อทองแดงผิวไฟ จำนวน ๒,๕๕๖ เหรียญ ทุกเนื้อทุกเหรียญมีโค้ดอักษรจีนคำว่า เจ้าสัว และหมายเลขกำกับ

ทั้งนี้จะประกอบพิธีพุทธาภิเษก วันพฤหัสบดีที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๕๖ ณ อุโบสถ วัดห้วยจระเข้ โดยได้นิมนต์พระเกจิคณาจารย์เข้าร่วมในพิธีมหาพุทธาภิเษก ประกอบด้วย 

หลวงพ่อเสงี่ยม อาริโย วัดห้วยจระเข้, 
หลวงพ่อยวง อาภัสสโร วัดโพธิ์ศรี, 
หลวงพ่อหนู ปัญญาโสโต วัดไผ่สามเกาะ, 
หลวงพ่อชุบ ปัญญาวุโธ วัดวังกระแจะ, 
หลวงปู่แย้ม วัดสามง่าม, 
ครูบาเจ้าบุญคุ้ม ปสันโน วัดโพธิสัตว์บรรพตนิมิต และพระเกจิชื่อดังอีกหลายรูป


ผู้มิจิตศรัทธาร่วมบุญได้ที่ พระสรายุทธ ญาณยุทโธ คณะ ๕ วัดห้วยจระเข้ อ.เมือง จ.นครปฐม โทร.๐๘-๗๑๖๐-๖๐๓๙ และ ๐๘-๑๙๒๕-๓๘๓๕

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ







วันจันทร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2556

"พ่อท่านเจ้าฟ้า" รุ่นบูรณะโบสถ์ วัดท่าเรือ

วัดปัฏนาราม หรือ วัดท่าเรือ ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ต.ท่าเรือ อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี เป็นวัดเก่าแก่ จากหลักฐานคือ "ใบเสมาหินทราย" ซึ่งเป็นศิลปะสมัยอยุธยาตอนปลาย และอิฐก้อนใหญ่ เป็นอิฐสมัยศรีวิชัยมีขนาดใหญ่กว่าปัจจุบันมาก กว้างประมาณ 15 เซนติเมตร หนาประมาณ 10 เซนติเมตร

ส่วนพระอุโบสถนั้นสร้างประมาณปีพ.ศ.2510 กว่าๆ โดยหลังเดิมนั้นเป็นไม้ผุพังไปหมดแล้ว หลังใหม่สร้างขึ้นที่โบสถ์หลังเก่า สำหรับพระพุทธรูปในโบสถ์เป็นของเก่าสมัยอยุธยา ศิลปะภาคใต้

พระอาจารย์บุญฤทธิ์ จิตตสังวโร เจ้าอาวาสกล่าวว่า การสร้างวัดไม่ปรากฏว่าผู้ใดเป็นคนสร้าง ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่ากันมาว่า มีรูปปั้นเจ้าอาวาส ซึ่งชาวบ้านเรียกกันว่า "พ่อท่านเจ้าฟ้า" เป็นที่เคารพเลื่อมใสศรัทธาอย่างมาก หากได้มีการบนบานต่อรูปเหมือนขนาดบูชาของท่านที่วัด ก็มักจะหายจากโรค หากมีภัยใดๆ ก็จะเข้าทรงบอกกล่าวชาวบ้านให้เตรียมตัวระวังและรักษาโรค ทุกปีจึงมี "ประเพณีถวายหรับ" หรือ สำรับ แด่พ่อท่านเจ้าฟ้า




สำหรับประวัติของพ่อท่านเจ้าฟ้านั้น มีเพียงคำบอกเล่า ว่ากันว่าศักดิ์สิทธิ์มาก ท่านธุดงค์มาจากพัทลุง มาพร้อมกับ หลวงพ่อวัดปลายราง ซึ่ง หลวงพ่อวัดปลายราง นั้นเก่งทางนั่งแพบก คือ การผูกแพยนต์แล้วนั่งไปมา บนบกคล้ายกับในน้ำ โดยเป็นวิชาของสายเขาอ้อ ซึ่ง "หลวงพ่อนุ้ย" วัดม่วง ท่าฉาง ก็ได้ไปร่ำเรียนจากเขาอ้อ แล้วก็ทำได้เช่นกัน

พ่อท่านเจ้าฟ้านั้นเก่งในด้านวิชาคาถาอาคมหลายชนิด โดยมีเรื่องเล่า ครั้งหนึ่งช้างของหลวงพ่อวัดปลายรางหลายเชือก หลุดออกมาจนถึงวัดท่าเรือ ท่านจึงนำเอากะลาครอบช้างไว้คล้ายกับวิชาที่หลวงพ่อวัดมะขามเฒ่า และวิชาย่อของให้เล็กลงของหลวงพ่อนุ้ยเช่นกัน ทำให้มั่นใจว่า หลวงพ่อท่านเจ้าฟ้านั้นต้องเป็นศิษย์เขาอ้อแน่นอน

ผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้านเล่ากันมาว่าพ่อท่านเจ้าฟ้าเป็นที่เคารพเลื่อมใสของชาวบ้านมาก มีเรื่องเล่าว่ามีพระภิกษุจาริกธุดงค์มา 2 รูป ชื่อ พระหล้า กับ พระดง มาเจอวัดปัฏนาราม (วัดท่าเรือ) จึงหยุดจำพรรษา ส่วนพระหล้าจำพรรษาวัดควนท่าแร่ มีอยู่ครั้งหนึ่งมีแขกทางการเมืองผ่านมา พ่อท่านดงกำลังกวาดขยะอยู่ลานวัด แขกต่างเมืองหัวเราะพร้อมพูดกับเพื่อนที่มาด้วยว่า "ดูพระหัวล้านกวาดใบไม้ หัวไม่เหมือนใคร" และก็หัวเราะ ท่านจึงบอกว่า "อย่าทำเช่นนั้นเลยมันบาปเดี๋ยวฟ้าจะผ่าเอา" เพียงเท่านั้นฟ้าก็ผ่าคนนั้นตายทันที

นับแต่นั้นมาชาวบ้านจึงเรียกพระดงว่า "พ่อท่านเจ้าฟ้า" จนถึงปัจจุบัน และชาวบ้านจะจัดงานรำมโนราห์ถวายทุกปี

หลังจากนั้นท่านก็ให้ความอนุเคราะห์ช่วยเหลือรักษาชาวบ้านแม้มีโรคระบาด ท่านก็จะปัดเป่ารักษาให้ เป็นที่พึ่งพิงของชาวบ้าน แม้ท่านจะมรณภาพมานานแล้วแต่เรื่องรักษาโรคนี้ก็ยังเป็นที่กล่าวขวัญกันจนทุกวันนี้ มีการบนบานต่อรูปบูชาท่านที่วัดก็มักจะหายจากโรค หากมีภัยใดๆ ก็จะเข้าทรงบอกกล่าวชาวบ้านให้เตรียมตัวระวังและรักษาโรคให้ ทั้งหมดนี้เป็นเหตุการณ์ในสมัยรัตนโกสินทร์

วัตถุมงคลของพ่อท่านเจ้าฟ้า ปัจจุบันเป็นที่นิยมในหมู่นักสะสมอย่างมาก โดยเฉพาะ เหรียญรุ่นแรก และ รูปหล่อปั๊มพ่อท่านเจ้าฟ้า 

ล่าสุดเปิดตำนานย้อนยุคประวัติศาสตร์ จัดสร้าง "วัตถุมงคลพ่อท่านเจ้าฟ้า วัดท่าเรือ รุ่นบูรณะอุโบสถ" จัดสร้างโดย พระอาจารย์บุญฤทธิ์ จิตตสังวโร ประธานฝ่ายสงฆ์ กำนันชิงชัย ไชยยศ ประธานฝ่ายฆราวาส

กำหนดพิธีมหาพุทธาภิเษกในวันที่ 14 พ.ค. 2556 เวลา 18.30 น. ณ อุโบสถวัดท่าเรือ โดยมี พระเทพพิพัฒนาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสุราษฎร์ธานี จุดเทียนชัย และดับเทียนชัย พระเกจิอาจารย์ชื่อดังร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิตปลุกเสก อาทิ 

- พระครูอดุลคุณาธาร วัดนิคมประทีป จ.ตรัง, 
- หลวงพ่อเอื้อม วัดบางเนียน จ.นครศรีธรรมราช, 
- หลวงพ่อคล้อย วัดภูเขาทอง จ.พัทลุง, 
- หลวงพ่อเอียด วัดโคกแย้ม จ.พัทลุง, 
- หลวงพ่อพรหม วัดบ้านสวน จ.พัทลุง, 
- หลวงพ่อล้าน วัดขนาย จ.สุราษฎร์ธานี 
- หลวงพ่อเอ็น วัดเขาราหู จ.สุราษฎร์ธานี เป็นต้น

วัตถุมงคลที่จัดสร้างมีดังนี้

1.ชุดกรรมการอุปถัมภ์ชุดใหญ่ 10 องค์ ยกเว้นพระกริ่งจิตตสังวโร 
2.ชุดกรรมการอุปถัมภ์ชุดเล็ก 9 องค์ ยกเว้นพระกริ่งจิตตสังวโร 
3.พระบูชาพ่อท่านเจ้าฟ้าขนาดหน้าตัก 5 นิ้ว 
4.พระบูชาพ่อท่านเจ้าฟ้าตั้งหน้ารถ 
5.หล่อปั๊มย้อนยุคพ่อท่านเจ้าฟ้า 
5.1.หล่อปั๊มย้อนยุคพ่อท่านเจ้าฟ้าเนื้อนวโลหะ
6.เหรียญพ่อท่านเจ้าฟ้าหน้าพระประธานในอุโบสถ เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้อนวโลหะเต็มสูตร เนื้อทองเหลือง เนื้อทองแดงกะไหล่ทอง เนื้อทองแดงกะไหล่เงิน เนื้อทองแดง เนื้อทองแดงรมดำ 
7.พระกริ่ง จิตตสังวโร 
8.ใบโพธิ์พ่อท่านเจ้าฟ้าแขวนหน้ารถ 
9.ตะกรุดกระเบื้องหลังคาโบสถ์เก่า 
โดยวัตถุมงคลมีโค้ดและหมายเลขกำกับ

สั่งจองบูชาได้ที่ วัดปัฏนาราม หรือ วัดท่าเรือ 
ตั้งอยู่ที่หมู่ 3 ต.ท่าเรือ อ.บ้านนาเดิม จ.สุราษฎร์ธานี และ ศูนย์พระเครื่องชั้นนำทั่วไป

*************************

เรื่องโดย : ข่าวสดออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น แหล่งวัฒนธรรม "วัดโพธิ์งาม"


น.ส.นันทิยา สว่างวุฒิธรรม
หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดโครงการวันอนุรักษ์มรดกไทย ประจำปี 2556 ณ วัดโพธิ์งาม ต.กระตีบ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ซึ่ง พระครูอาทรภัทรกิจ เจ้าอาวาส เป็นผู้รวบรวมสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคนในชุมชน และมีผู้นำมาถวาย อีกส่วนหนึ่งได้มาจาก วัดปทุมทองสุทธาราม ต.ห้วยม่วง อ.กำแพงแสน ซึ่งมีสิ่งของที่เป็นโบราณวัตถุจำนวนมาก 

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครปฐม จึงได้ร่วมกับพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระปฐมเจดีย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน โรงเรียนวัดโพธิ์งาม องค์การบริหารส่วนตำบลกระตีบ และประชาชนโดยรอบวัดโพธิ์งาม ร่วมกันจัดทำทะเบียนวัตถุขึ้น และจัดสิ่งของให้เป็นระบบ เมื่อวันที่ 14-15 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อให้หน่วยงานทุกภาคส่วน รวมถึงประชาชนในพื้นที่ ได้รู้จักวิธีดูแลรักษาโบราณสถาน โบราณวัตถุ และศิลปวัตถุอย่างถูกต้อง เพื่อพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ และแหล่งท่องเที่ยวทางศิลปวัฒนธรรมของชุมชน นำไปสู่การศึกษาสืบค้นและเผยแพร่สู่สาธารณชนต่อไป

สำหรับพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดโพธิ์งาม มีการแสดงโบราณวัตถุต่างๆ เป็นจำนวนมาก อาทิ เครื่องนวดข้าว เครื่องสีข้าว เครื่องมือการเกษตร อุปกรณ์ในการจับสัตว์น้ำชนิดต่างๆ เครื่องมือช่าง รถจักรยาน รถสามล้อ ถ้วย ชาม หม้อ ไห โอ่ง เครื่องโม่ และภาชนะเครื่องจักสานที่ใช้ในครัวเรือนอีกมากมาย โดยประชาชนและผู้ที่สนใจสามารถเข้าชม พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดโพธิ์งาม เพื่อเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ได้ทุกวัน

*************************

เรื่องโดย : ข่าวสดออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ







วันเสาร์ที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2556

24 ปี สถาปนา สมเด็จพระสังฆราช


เมื่อวันที่ 19 เม.ย.พระโสภณคณาภรณ์ (สมจิต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร เปิดเผยว่า ในวันที่ 20-28 เม.ย.นี้ วัดบวรนิเวศ จะจัดบำเพ็ญกุศล 24 ปี การสถาปนา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก โดยในเวลา 17.00 น. ของทุกวันจะมีพระสงฆ์นำเจริญพระพุทธมนต์และปฏิบัติธรรมน้อมถวายเป็นพระราชกุศลพระพรชัยแด่สมเด็จพระสังฆราช ณ พระอุโบสถคณะรังษี 

และในวันที่ 21 เม.ย. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปในการบำเพ็ญกุศล 24 ปี ณ พระอุโบสถคณะรังษี และทรงเปิดพิพิธภัณฑ์ และห้องสมุดอดีตเจ้าอาวาส และเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศ ณ อาคารมนุษยนาควิทยาทาน โดยจะเปิดให้ประชาชนเข้าชมทุกวันเวลา 09.00-16.30 น. และ รับสิ่งมงคลสักการะที่ระลึกแห่งการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชด้วย

*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

ตั้ง 9 ศูนย์ตำรวจพระ


พระราชรัตนาภรณ์
เจ้าอาวาสวัดแก้วฟ้าจุฬามณี ในฐานะ หัวหน้าพระวินยาธิการ หรือ ตำรวจพระ ในเขตกรุงเทพฯ เปิดเผยว่า พระวินยาธิการในเขตกรุงเทพฯ จะมีการดำเนินการโดยมีศูนย์อำนวยการ ศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์ประสานงาน และศูนย์เฉพาะกิจ ในการควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของพระวินยาธิการในเขตกรุงเทพฯ ทั้งหมด 

ซึ่งจะมีศูนย์อำนวยการควบคุมดูแลในภาพรวมทั้งหมด ผ่านทางศูนย์ปฏิบัติการที่จะตั้งอยู่ในวัด ของเจ้าคณะเขตทุกรูป รวมมี 35 ศูนย์ แต่ที่ผ่านมาพบว่ายังเกิดปัญหาในการประสานงาน ดังนั้นจึงจะมีการตั้งศูนย์ประสานงานพระวินยาธิการขึ้นใหม่อีก 9 ศูนย์ คือ 

- วัดหัวลำโพง 
- วัดอมรคีรี 
- วัดม่วง 
- วัดเวฬุราชิณ 
- วัดยาง 
- วัดแก้วฟ้าจุฬามณี 
- วัดเสมียนนารี 
- วัดแสนสุข 
- วัดเทพลีลา 

และจะตั้งศูนย์ประสานงานพระวินยาธิการสายต่างประเทศขึ้นอีก 2 แห่ง คือวัดนาคปรก และที่วัดอมรคีรี.

*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันอังคารที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2556

เตือนแสวงบุญอินเดีย ระวังไกด์ท้องถิ่นให้ข้อมูลมั่ว


กงสุลใหญ่เมืองเจนไน เตือนชาวพุทธเดินทางไปปฏิบัติศาสนกิจประเทศอินเดีย-เนปาล ระวังไกด์ท้องถิ่นให้ข้อมูลการเดินทางไม่ถูกต้อง

นายชาญชัย จรัญวัฒนากิจ กงสุลใหญ่ ณ เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีพุทธศาสนิกชนที่สนใจเดินทางมายังแดนพุทธภูมิเป็นจำนวนมาก จากเดิมราว 4 หมื่นคนต่อปี เพิ่มขึ้นเป็น 6 หมื่นคนในปี 2555 ที่ผ่านมา ซึ่งตนอยากเชิญชวนให้ชาวพุทธในเมืองไทยเดินทางมาศึกษาเรื่องราวความเป็นมาของ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ ดินแดนที่เป็นแหล่งกำเนิดของพุทธศาสนาให้มากขึ้น เพื่อความซาบซึ้งชุ่มชื่นหัวใจและเพื่อให้ศาสนาพุทธมีความเจริญรุ่งเรืองสืบไป พร้อมกันนี้สถานกงสุลไทยได้ขานรับนโยบายจาก พระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตสายประเทศอินเดีย-เนปาล เจ้าอาวาสวัดไทยพุทธคยา ที่ต้องการอำนวยความสะดวกสบายแก่คนไทยที่เดินทางมาอินเดีย อาทิ การจัดเตรียมสถานที่วัดไทยสำหรับเป็นที่พักอาศัย การจัดหาห้องน้ำระหว่างทางที่มีความเหมาะสม และการประสานกับรัฐบาลอินเดียเพื่อให้ชาวไทยขอวีซ่าเดินทางมาอินเดียได้มากขึ้น รวมถึงทางวัดไทยยังมีบริการพระวิทยากรเพื่อทำหน้าที่บรรยายและแนะนำสถานที่สำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ สังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง และสถานที่อื่นๆ ตลอดการเดินทางด้วย

“คนไทยไปไหนต้องการความสะดวกสบาย ท่านเจ้าคุณหัวหน้าพระธรรมทูตฯ จึงคิดว่าในเมื่อเรามีของดีอยู่ที่แดนพุทธภูมิ ถ้าเรามีการบริหารจัดการที่ดีให้ มีการจัดสรรสถานที่อำนวยความสะดวก สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็หวังว่าจะมีชาวพุทธมากันมากขึ้น เพื่อทำบุญทำทาน สิ่งนี้สำคัญเพราะพุทธศาสนาอยู่ใกล้ตัวเรา อยู่ในจิตใจเรา แต่เราไม่เคยมาแสดงออก ไม่เคยได้มาพบว่า พระบรมศาสดาของเรา ท่านยิ่งใหญ่อย่างไร และหากคนไทยที่ต้องการมาแสวงบุญสามารถติดต่อขอพระวิทยากรจากวัดไทย ซึ่งมีความชำนาญในพื้นที่และเชื่อมั่นได้ว่าจะได้รับข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับพุทธประวัติได้อย่างถูกต้อง แต่หากจะไปว่าจ้างไกด์ที่อื่นก็สามารถทำได้ แต่ขอให้ระมัดระวังมิจฉาชีพ เพราะเคยมีกรณีนักท่องเที่ยวชาวไทยว่าจ้างไกด์ชาวอินเดียแล้วได้รับข้อมูลที่ไม่ถูกต้องในระหว่างการเดินทาง” นายชาญชัยกล่าว.

*************************

เรื่องโดย : เดลินิวส์ออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





แจกฟรี!! เหรียญแสตมป์จตุคามฯ ปี 51


"ปรากฏการณ์จตุคามรามเทพครองเมือง"
นั้น เป็นผลพวงมาจากจตุคามฯ ที่จัดสร้างเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๐ และหนึ่งในผู้มีบทบาทสำคัญยิ่งและถือว่าเป็นประวัติศาสตร์ของการสร้างจตุคามฯ คือ พล.ต.ท.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล อดีตผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้สร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช และผู้จัดทำวัตถุมงคลต่างๆ ของหลักเมืองมาตั้งแต่ต้น

ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นต้นมากระแส จตุคามรามเทพ ตายจากความศรัทธาของคนไทย แต่ในหมู่ผู้ที่มีพลังศรัทธายังเชื่อว่าจตุคามฯ ยังอยู่ช่วยเหลือผู้ที่ศรัทธา โดยเฉพาะร่างทรง ร.ต.ต.ธงชัย เจริญวิริยะภาพ อดีตหัวหน้าตำรวจชุมชน ต.เกาะหลัก อ.เมืองประจวบ ซึ่ง พล.ต.ท.สรรเพชญ หนึ่งเดียวในแผ่นดินที่อัญเชิญองค์จตุคามรามเทพประทับทรงได้อัญเชิญจตุคามฯ มาประทับทรง ณ เทวาลัยจตุคามฯ ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อคอยให้ความช่วยเหลือผู้มีความทุกข์ดังคำพูดที่ว่า “ขอได้ ไหว้รับ เข้าถึง พึ่งได้”

ด้วยความศรัทธาในจตุคามรามเทพ พล.ต.ท.สรรเพชญ มีโครงการจัดสร้างเทวาลัยจตุคามรามเทพนาคปรก ๙ เศียร องค์ใหญ่ที่สุดในโลกและงดงามที่สุดในโลก ณ ริมแม่น้ำกุยบุรี ต.หาดขาม อ.กุยบุรี จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทั้งนี้ เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๕ เวลา ๐๘.๒๙- ๑๕.๕๙ น. ได้มีพิธีอัญเชิญ “เจ้าแม่นางพระยา” และ “องค์จตุคามรามเทพ” ประทับทรง เพื่อทำพิธีเขียนผ้ายันต์ ปลุกเสกแผ่นดวงฤกษ์ พระผงจตุคามรามเทพรุ่นสร้างเทวาลัย สำหรับใช้เป็นชนวนที่ศักดิ์สิทธิ์ในการเททองหล่อเศียรจตุคามฯ ขนาดความ ๒๔ นิ้ว จำนวน ๔๙ องค์ โดยมี นายศิริชัย บูลกูล ผู้ซึ่งเป็นกำลังหลักในการสร้างศาลหลักเมืองนครศรีธรรมราช ปี ๒๕๓๐ ประธานบริษัทในเครือมาบุญครอง และ นายโชคชัย บูลกุล เจ้าของ “ฟาร์มโชคชัย” เป็นประธานในพิธีเททองหล่อองค์จตุคามรามเทพนาคองค์ (หล่อนำฤกษ์)

อย่างไรก็ตามเพื่อความเป็นสิริมงคลในช่วงเทศกาลสงกรานค์ เมื่อวันจันทร์ ที่ ๑๕ เมษายน ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา ระหว่างเวลา ๐๙.๐๐-๑๔.๐๐ น. เทวาลัยจตุคามรามเทพฯ ได้แจก พระผงแสตมป์ เศียรหลักเมือง พ.ศ.๒๕๕๑ ผ้ายันต์รุ่นแรกของเทวาลัย สีขาว และรุ่นสร้างเทวาลัย สำหรับผู้เดินทางไปขอพรองค์พ่อจตุคามรามเทพ ทุกท่านฟรี ในช่วงเทศกาลต้อนรับปีใหม่ไทย ซึ่งได้ไปรับจากมือร่างทรงองค์พ่อจตุคามและแม่นางพญาโดยตรง ทั้งนี้ มีการเจิมหน้าผาก รวมทั้งรดน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคลแก่ผู้เดินทางทุกท่านด้วย

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ร่วมบุญหล่อสมเด็จโต 9 องค์ ถวาย 9 วัด


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) เป็นพระเกจิผู้มีปฏิปทาจริยาวัตรน่าเลื่อมใส มีความสมถะ เป็นที่เคารพนับถือทั่วไปมาตั้งแต่ท่านยังมีชีวิตอยู่ ทั้งยังทรงคุณวิเศษทางด้านวิชาคาถาอาคม เมตตามหานิยม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดสร้าง "พระสมเด็จ" วัตถุมงคลอันเลื่องลือ

นอกเหนือจากพระเครื่องแล้ว ท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้สร้างถาวรวัตถุไว้มากมายหลายแห่ง และมักจะชอบสร้างของที่แปลกๆ และโตๆ ซึ่งกล่าวกันว่า เพื่อจะให้สมกับนามของท่านที่ชื่อ “โต” ที่โดดเด่นเป็นปูชนียวัตถุและสร้างเป็นอนุสรณ์เนื่องในตัวท่าน คือ

- พระนอนใหญ่วัดสะตือ จ.พระนครศรีอยุธยา หรือ “พระพุทธไสยาสน์” เป็นที่ระลึกว่าท่านได้ ‘เกิด’ ที่นั่น

- พระพุทธรูปใหญ่ วัดไชโยวรวิหาร จ.อ่างทอง พระนามว่า "พระพุทธพิมพ์" เป็นที่ระลึกว่าท่านได้ ‘สอนนั่ง’ ที่นั่น

- พระยืนใหญ่ วัดอินทรวิหาร กรุงเทพมหานคร เป็นพระก่ออิฐถือปูนปางอุ้มบาตร เรียกกันว่า "หลวงพ่อโต" เป็นที่ระลึกว่าท่าน ‘สอนยืนเดิน’ ได้ที่นั่น

สำหรับ “พระพุทธไสยาสน์ วัดสะตือ” นั้น ในโอกาสฉลองอายุหลวงปู่โตครบ ๒๑๕ ปี เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ ได้มีการจัดสร้างวัตถุมงคล “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี รุ่น ๒๑๕ ปี สมเด็จโต” ขึ้น โดยจัดพิธีมหาพุทธาภิเษกอย่างยิ่งใหญ่ ณ มณฑลพิธีหน้าพระพุทธไสยาสน์ วัดสะตือ จ.พระนครศรีอยุธยา ถิ่นกำเนิดของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เมื่อวันที่ ๑๘-๒๐ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๖


ในครั้งนี้มีการสวดพระคาถาชินบัญชร ๓ วัน ๓ คืน หน้าองค์พระพุทธไสยาสน์ วัดสะตือ โดย สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ วัดปากน้ำภาษีเจริญ กทม.เป็นประธานจุดเทียนชัย และ หลวงปู่ทิม วัดพระขาว จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นประธานดับเทียนชัย พร้อมพระเกจิชื่อดังร่วมพิธีมากมาย ซึ่งในพิธีครั้งนั้นได้เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์ ‘พระอาทิตย์ทรงกลด เหนือพระเศียรองค์พระพุทธไสยาสน์วัดสะตือ’ ต่อหน้าสายตาทุกคู่ของผู้ร่วมพิธีที่มากันอย่างคับคั่ง

ณ โอกาสนี้ ผ่านพ้นมา ๑๐ ปี ได้มีการเปิดให้บูชาวัตถุมงคล “สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี รุ่น ๒๑๕ ปี สมเด็จโต” อีกครั้ง เพื่อนำปัจจัยมาร่วมกันสร้าง รูปหล่อลอยองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี พ.ศ.๒๕๕๖ จำนวน ๙ องค์ ถวาย ๙ วัด ที่เป็นถิ่นกำเนิดและครองวัดของท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ โดยผู้บริจาคเช่าบูชาจะได้รับ ‘แผ่นทอง’ เพื่อเขียนชื่อ วัน เดือน ปีเกิด นำมาหลอมรวมหล่อรูปหล่อลอยองค์สมเด็จโตร่วมกัน

รายการวัตถุมงคล สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี รุ่น ๒๑๕ ปี สมเด็จโต มีดังนี้ รูปหล่อสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี นั่งธรรมมาสน์ขนาดตั้งหน้ารถ หน้าตักกว้าง ๑.๕ นิ้ว สูง ๒.๕ นิ้ว เนื้อสัมฤทธิ์รมดำ, เหรียญพระพุทธไสยาสน์ หลังสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) เนื้อเงิน พิมพ์ใหญ่, เนื้อนวะ พิมพ์ใใหญ่, เนื้อทองแดงชุบทอง พิมพ์ใหญ่-พิมพ์เล็ก, เนื้อทองแดง พิมพ์ใหญ่-พิมพ์เล็ก, เนื้อทองเหลือง พิมพ์ใหญ่-พิมพ์เล็ก รวมทั้งชุดเหรียญพระพุทธไสยาสน์ หลังสมเด็จพุฒาจารย์ (โต) พร้อมพระสมเด็จวัดระฆัง องค์จิ๋วเลี่ยมกรอบทองไมครอน ซึ่งวัตถุมงคลต่างๆ นี้เหลือยอดไม่มากนัก

ผู้มีจิตศรัทธอยากร่วมบุญสร้าง รูปหล่อลอยองค์สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต) พรหมรังสี พ.ศ.๒๕๕๖ จำนวน ๙ องค์ ถวาย ๙ วัด ได้ที่โทร.๐๘-๙๘๗๒-๒๗๐๑ และเว็บไซต์ www.aj-ram.com

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556

“พระพรหมดิลก” สละสำเภาภาค14!! คุ้มบังเหียน กทม


พลิกตำนานยก “พระพรหมดิลก” สละสำเภาภาค14!! คุ้มบังเหียน กทม.

“เจ้าคุณเอื้อน ทายาทสมเด็จฟื้น เอกอุบาลีสามพระยา สยบขมิ้นบางกอก”

ชู 2 รองฯ คู่ใจ พระเทพวิริยาภรณ์ รั้งพระนคร - พระราชปริยัติเวที แผ่รัศมีฝั่งธนบุรี


กรุงเทพมหานครได้ชื่อว่ามีพระหนุ่มเณรน้อย จวบจนพระมหาเถระ ระดับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เกรดยศช้างขุนนางพระ มีอยู่เพียบทั่วคุ้งน้ำถนนคอนกรีต

และแล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ก็เกิดขึ้น เมื่อ“รองสมเด็จชั้นหิรัญบัฏ” เฉกเช่น พระพรหมดิลก หรือ เจ้าคุณเอื้อน แห่งเมืองกรุงเก่า ต้องมีอันข้ามห้วยมารั้งตำแหน่ง เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ที่หลายๆคนมองว่า มีพระมันสมองกระจายอยู่เต็มเมือง และมันก็แค่จังหวัดหนึ่งของเมืองไทย ไฉนเลยต้องให้มหาดอกเตอร์นักปราชญ์ 9 ประโยค ระดับกุนซือทิ้งเรือสำเภาใหญ่ภาค14 มาคุมบังเหียน แต่ขอโทษทีครับคุณโยมพี่น้อง กทม.คือเมืองหลวงของประเทศไทย ไม่ต่างอะไรกับคุณชายสุขุมพันธ์ ที่ต้องถวิลหากลับมาอีกครั้ง ในฐานะผู้ว่ากทม.พ่อเมืองใหญ่ที่ไร้เทียมทาน!!! 

ด้วยฝีไม้ลายมือของท่านเจ้าคุณอาจารย์ “พระพรหมดิลก” แล้วไซร์ ที่กุมหัวใจภาค 14 อันเป็นที่รักของคณะสงฆ์นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร ที่ผ่านมาราบรื่นดีไม่ทีที่ติ!!!

“แต่บทบาทที่แท้จริงของท่าน มันต้องกทม. ถึงสมยี่ห้อพระแท้ที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ”

เนื่องเพราะพระพรหมดิลก เป็นพระนักวิชาการ ดีกรีเปรียญ 9 ประโยค สำเร็จด๊อกเตอร์จากประเทศอินเดีย มีอุปนิสัยไม่เห็นแก่เงิน ไม่ชอบลาภสักการะ ชอบให้ความรู้ ชอบให้การศึกษา ชอบให้ธรรมะความจริง แม้แต่ในวัดสามพระยาเอง ไม้บรรทัดยังเรียกหลวงพี่เลย...

ที่สำคัญอาจารย์ของท่าน (สมเด็จฟื้น) สอนมาดี คือไม่ให้ยึดติดกับตำแหน่ง ไม่ว่าจะใหญ่ขนาดไหน จึงส่งผลให้ รุ่นเพื่อน รุ่นน้อง หรือรุ่นพี่ ล้วนต่างแซงคิวขึ้นไปเป็นรองสมเด็จฯ เป็นสมเด็จฯ ล้ำหน้าท่าน เสียมากมายหลายรูป แต่ท่านก็มิได้ทดท้อหรือน้อยอกน้อยใจแต่ประการใด

แต่ยามใดที่ขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็น ท่านมักจะสอนสั่ง ได้อย่างสะใจ สะเทือนถึงแก่นธรรมในบวรพุทธศาสนาได้มากพอสมควร

สุดท้ายมติสวรรค์ ก็ต้องตั้งท่านให้เป็นรองสมเด็จฯ ให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ให้เป็นเจ้าคณะภาค 14 ให้เป็นเจ้าคณะกทม. ด้วยเหตุปัจจัยแห่งหลักสัจธรรม ภายใต้เหตุและผลอย่างถ่องแท้

วาระสำคัญ พลันที่ มีเสียงสนับสนุน จากคณะกรรมการมหาเถรสมาคม อันประกอบด้วย หัวโต๊ะใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา ในยามนี้คือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ เป็นประธาน ได้มีการเสนอแต่งตั้งเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร (เจ้าคณะ กทม.) รูปใหม่แทน พระธรรมสิทธินายก (เฉลิม พนฺธุรํสี) เจ้าคณะ กทม.และเจ้าอาวาสวัดจันทาราม ที่เกษียณอายุ 80 ปี

และการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าคณะภาคในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง โดย สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลางและเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ได้เสนอชื่อ พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสามพระยาและเจ้าคณะภาค 14 ขึ้นเป็นเจ้าคณะ กทม.รูปใหม่

ซึ่งที่ประชุมมิได้มีการอภิปรายคัดค้าน หรือแสดงความเห็นใดๆ ก่อนจะลงมติให้ พระพรหมดิลก เป็นเจ้าคณะ กทม.รูปใหม่ ให้มีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ปัจจุบัน พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธัม โม) สิริอายุ 68 พรรษา 48 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสามพระยา แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ, รองเลขานุการแม่ กองบาลีสนามหลวง, เจ้าคณะกทม. อัตตะโนประวัติ นามเดิมว่า เอื้อน กลิ่นสาลี เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2488 ที่บ้านเลขที่ 116 หมู่ 6 อ.นครหลวง จ.อยุธยา โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายไสวและนางน้อม กลิ่นสาลี ในวัยเยาว์ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จนสำเร็จ การศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนนครหลวงอุดมรัชต์วิทยา จ.พระนคร ศรีอยุธยา กระทั่งอายุครบบวช จึงตัดสินใจขอทดแทนคุณบุพการี ด้วยการเข้าพิธีบรรพชา- อุปสมบท เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2510 ณ พัทธสีมาวัดมหาพล อ.นครหลวง จ.อยุธยา มี พระอธิการพัฒน์ ติสสสุวัณโณ วัดปรีดาราม อ.นครหลวง จ.อยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการคต โฆสิโต วัดมหาพล เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ และ พระครูอุดมนครกิจ วัดตะโหนด อ.นครหลวง จ.อยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จากนั้น มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งนักธรรมและบาลีอย่างจริงจัง แต่ด้วยเห็นว่าวัดในต่างจังหวัด ยังมีความไม่พร้อมในด้านการศึกษาหลายด้าน จึงตัดสินใจมุ่งหน้าเข้าเมืองหลวง ไปเรียนหนังสือที่สำนักเรียนวัดสามพระยา สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ ที่สำนักเรียนวัดสามพระยา ขณะเดียวกัน ก็มุ่งเรียนแผนกบาลี จนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ต่อมา ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อสาขาบาลีและการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย สามารถสอบได้ปริญญาโท ในปี พ.ศ.2526 จากนั้น ได้มุมานะเรียนต่อปริญญาเอก พ.ศ.2529 จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ในสาขาบาลีและการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี ประ เทศอินเดียและกลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดสามพระยาอีกครั้งได้รับความไว้วางใจจาก เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร) เจ้าอาวาสวัดสามพระยาขณะนั้น ให้เป็นเลขานุการเจ้าอาวาส เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี เป็นผู้ช่วยเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง รับผิดชอบภารกิจสนองงานเจ้าอาวาส ทั้งในด้านการปกครอง การศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และอื่นๆ พระพรหมดิลก ถือเป็นศิษย์เอกของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มหาเถระผู้มีบารมีในคณะสงฆ์สายมหานิกาย ในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ โรงเรียนพระปริยัติธรรมส่วนกลาง เปิดสอนหลักสูตรบาลีชั้นสูง คือระดับเปรียญธรรม 7-8-9 อาจกล่าวได้ว่า สมเด็จพระราชาคณะ และรองสมเด็จพระราชาคณะแทบทุกรูปในปัจจุบัน มีกำเนิดมาจากวัดสามพระยาแทบทั้งสิ้น นอกจากเป็นศิษย์ก้นกุฏิของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์แล้ว สมัยยังเป็นพระหนุ่ม ท่านยังต้องทําหน้าที่เป็นเลขานุการ เป็นเจ้าภาพคอยต้อนรับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ หรือแขกที่มาเยี่ยมเยือนวัดสามพระยา และยังได้รับมอบหมายให้เป็นรองเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวงด้วย สำหรับงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นผู้แสดงธรรม บรรยายธรรม และแสดงปาฐกถาทั้งในวัด ในเขตปกครอง ในหน่วยงานของรัฐ เอกชน สถานศึกษา และสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ

นอกจากนี้ ท่านยังได้ปรับปรุงศาลาอบรมสงฆ์ ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์เครื่องขยายเสียง เพื่อใช้ในการสอบนักธรรม-บาลี, ตรวจผลสอบประโยคบาลีสนามหลวง ประจำปี, การอบรมพระอุปัชฌาย์ และโครงการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรมแก่ญาติโยมทั่วไป ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2536 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะภาค 1 พ.ศ. 2537 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. 2539 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัด สามพระยา พ.ศ.2545 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค 14 ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีปริยัติบดี พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปริยัติบดี พ.ศ.2542 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสุธี วันที่ 12 สิงหาคม 2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมคุณาภรณ์ วันที่ 5 ธันวาคม 2553 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ที่พระพรหมดิลก เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

พระพรหมดิลก เป็นพระเถระมีภูมิรู้ เป็นผู้นำ เป็นพระสงฆ์นักพัฒนาในด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่และการสาธารณูปการ ตามลักษณะรูปแบบของการจัดการการปกครองของคณะสงฆ์ไทยชีวิตส่วนตัวของท่าน เป็นไปอย่างเรียบร้อยมักน้อยสันโดษในการบริหารท่านกล้าคิด กล้าทํา เด็ดขาด เด็ดเดี่ยว น่าเคารพยำเกรง แต่ส่วนลึก ท่านเป็นคนอ่อนโยน มีเมตตาปรานี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สอดส่องดูแลความเป็นอยู่ของผู้น้อยอย่างดี จึงเป็นที่เคารพนับถือของคณะสงฆ์ผู้ใต้ปกครอง ทั้งสิ้น!!!
ที่สำคัญในการมานั่งแท่นปกครองคณะสงฆ์กทม.ครั้งนี้ ท่านมีกระบี่ที่เป็นมันสมองคู่ใจ ในตำแหน่งรองเจ้าคณะกทม. ช่วยดูแลในฝั่งพระนคร คือ พระเทพวิริยาภรณ์ วัดหัวลำโพง ปัจจุบันอายุ 70 ปี (เกิด 9 มกราคม พ.ศ.2486) พรรษา 50 ส่วนอีกรูปที่ดูแลสงฆ์ย่านฝั่งธนบุรีคือ พระราชปริยัติเวที (สุชาติ กิตฺติปญฺโญ) ป.ธ.8 เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม ปัจจุบันอายุ 50 ปี พรรษา 29

สำหรับพระเทพวิริยาภรณ์ เป็นที่ยอมรับว่าเป็นพระสังฆาธิการที่มีความชำนาญในงานด้านปกครองชนิดที่หา ตัวจับยากในปัจจุบัน ได้รับมอบหมายให้ดูแลในฝั่งพระนคร ชำนาญวิชาบัญชี ที่มีในกฎมหาเถรสมาคม ที่พระทุกรูปต้องรู้และเข้าใจ ตัวท่านเองท่องจนขึ้นใจในมาตรา 37 และมาตรา 38 เมื่อได้เป็นรองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร พร้อมกับบอกว่าตามประสบการณ์ของท่าน สมภารมี 3 ประเภทคือ สมภารแมว สมภารจิ้งหรีด และสมภารแม่ไก่ สองประเภทแรกนั้นไม่ควรทำ คือสมภารแมว เป็นคนขี้เหนียว ไม่เผื่อแผ่ ลูกวัดอดอยาก สมภารจิ้งหรีดมักถูกปั่นหัวจากคนโน้น คนนี้เสมอ สมภารแม่ไก่ดีที่สุด นอกจากเผื่อแผ่ลูกๆ ให้ได้กิน เมื่อมีภัยยังกางปีกปกป้องอีกต่างหาก

ก่อนที่จะมีวันนี้ ชีวิตของท่านก็เหมือนพระเถระในเมืองหลวงส่วนมากคือมาจากต่างจังหวัด ผ่านความยากลำบากมามาก ตั้งแต่เป็นเด็ก ตัวท่านก็เช่นกัน มาจากต่างจังหวัด หากแต่ประวัติยาว เล่า 3 วัน 3 คืน ไม่จบ หากเอาอย่างรวบรัด ก็ว่าท่านเป็นเด็กวัดมาหลายปี อยู่วัดตั้งแต่อายุ 6 ขวบ สถานะเดิมชื่อ นรินทร์ นามสกุลปิยทัศน์ บิดาชื่อชด มารดาชื่อชื่น เกิดที่บ้านเลขที่ 78 หมู่ที่ 1 ต.หนองยาง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ปี พ.ศ. 2486

เมื่อเรียนจบประถมปีที่ 4 พระอาจารย์บุญ เป็นชาวอุทัยธานี พามาบรรพชาที่วัดโฆสิทธาราม ต.น้ำตาล อ.เมืองอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ปี พ.ศ. 2499 ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 โยมพามาฝากวัดหัวลำโพง อุปสมบทที่วัดนี้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ปี พ.ศ. 2506 โดยมีพระราชวิสุทธิโมลี (หลวงพ่อขาว) เป็นพระอุปัชฌาย์

การศึกษาทางธรรม จบนักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม 3 ประโยค ทางโลกจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนราษฎร์อำนวยศิลป์ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2508 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยถวายปริญญามหา บัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาสังคมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2539 และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ปี พ.ศ. 2548

ความที่ชีวิตมีแต่ให้ และช่วยเหลือส่วนรวมเสมอ ปี พ.ศ. 2526 จึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส และปี พ.ศ. 2535 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวลำโพง รูปที่ 10 ปี พ.ศ. 2541 เป็นเจ้าคณะเขตบางรัก เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2553 มหาเถรสมาคม ตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ที่ว่างมานานถึง 5 ปี

ส่วนสมณศักดิ์นั้น ท่านได้เลื่อนเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับพระเถระด้วยกัน จากพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่ พระครูนิวิฐกิจจาภรณ์ ปี พ.ศ. 2532 เลื่อนเป็นพระครูชั้นโทในราชทินนามเดิมในปี พ.ศ. 2535 จากนั้นได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์แบบข้ามหลายชั้นขึ้นเป็นพระราชาคณะ ที่พระพิพัฒน์ปริยัติสุนทร เมื่อปี พ.ศ. 2539

ถ้าไต่ตามลำดับจากพระครูชั้นโทเป็นชั้นเอก และชั้นพิเศษคงใช้เวลานาน เพราะ 5 ปี ได้เลื่อนครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่าอายุ 75 ปีจะได้เป็นเจ้าคุณหรือไม่

นับแต่ปี พ.ศ. 2539 ก็เจริญรุ่งเรืองในสมณศักดิ์ จากพระราชาคณะชั้นสามัญ ขึ้นเป็นราชที่พระราชปริยัติสุนทร ในปี พ.ศ. 2545 และเลื่อนเป็นชั้นเทพที่พระเทพวิริยาภรณ์ การทำงานในฐานะรองเจ้าคณะ กทม. พระเทพวิริยาภรณ์ ท่านมีหลักในการทำงานโดยถือคติโบราณว่า ฆ่าควายไม่เสียดายเกลือ เมื่อถึงคราวเสียต้องเสีย กล้าได้กล้าเสีย แม้ว่าท่านจะได้การยอมรับว่าเป็นพระผู้ให้และมีเมตตา แต่ท่านปฏิบัติในหลักการที่ว่า เมตตาต้องให้พอดี อย่าให้เกินประมาณ

ส่วนรองเจ้าคณะกทม. อีกรูปที่เป็นกระบี่คู่ใจ คุมพระสงฆ์กรุงเทพฯในซีกฝั่งธนบุรี ก็คือ พระราชปริยัติเวที (สุชาติ กิตฺติปญฺโญ) ป.ธ.8 ปัจจุบันมีอายุ 50 ปี พรรษา 29 พธบ. ศศ.ม. อดีตเจ้าอาวาสวัดวัดดาวดึงษาราม เขตบางพลัด และเพิ่งได้รับแต่งเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม เป็นรองเจ้าคณะกทม.ที่มากความสามารถสุดๆอีกด้วย!!!

ฉะนั้นจวบจนวันนี้ พระพรหมดิลก มีสองมันสมองรองฯคู่ใจ เมื่อท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ทำให้คณะสงฆ์หลายท่านนึกย้อนไปถึงบรรยากาศเก่าๆ เมื่อคราที่ พระวิสุทธาธิบดี หลวงพ่อใหญ่ หรือ หลวงพ่อไสว แห่งวัดไตรมิตร ที่ท่านเป็นเจ้าคณะกทม. เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งท่านเป็นเจ้าคณะกทม.ที่เก่งสุดๆ ฉลาดปราดเปรื่อง มีลูกศิษย์ระดับรัฐมนตรี ต้องมาปรึกษาหารือที่กุฏิทุกวัน มาถึงวันนี้กทม. มี พระพรหมดิลก ซึ่งก็ฉลาดละม้ายคล้ายคลึงกับหลวงพ่อใหญ่วัดไตรมิตร เฉกเช่นเดียวกัน!!!

*************************

เรื่องโดย : บก.ไก่ วีรพล
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

"พระราชบัณฑิต" เป็นอธิการบดี ม.มหามกุฏฯ


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่สภามหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาอธิการบดี โดยมี พระพรหมเมธี กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เป็นประธานนั้น ขณะนี้คณะกรรมการสรรหาได้ดำเนินการคัดเลือกผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมจะดำรงตำแหน่งอธิการบดี มมร. เสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยคณะกรรมการ สรรหามีมติเสนอชื่อ พระราชบัณฑิต (ธรณิศ ชาคโร) รักษาการอธิการบดี มมร.ให้เป็นผู้ที่มีความเหมาะสมจะเป็นอธิการบดี มมร. ซึ่งหลังจากนี้จะมีการเสนอชื่อพระราชบัณฑิต เข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย มมร. ก่อนที่จะมีการเสนอขอพระบัญชา สมเด็จพระสังฆราช แต่งตั้งเป็นอธิการบดี มมร.อย่างเป็นทางการต่อไป โดยคาดว่าจะสามารถเสนอชื่อพระราชบัณฑิต เข้าสู่การพิจารณาของสภามหาวิทยาลัย มมร.ได้ภาย ในเดือน เม.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า สำหรับรายชื่อผู้ที่สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น อธิการบดี มมร.ในครั้งนี้ พบว่า มีรายชื่อของ พระเทพวิสุทธิกวี (เกษม สญฺญโต) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส และรองอธิการบดี มมร. พระเทพปริยัติวิมล (แสวง ธมฺเมสโก) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร อดีตอธิการบดี มมร. สมัครเข้ารับการสรรหาเป็นอธิการบดี มมร.ในครั้งนี้ด้วย

*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันพุธที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2556

"กองธรรมยุคใหม่" ปรับระบบส่งข้อสอบผ่านเน็ต

พระพรหมมุนี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะเลขานุการแม่กองธรรมสนามหลวง กล่าวว่า ในโอกาสที่ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงก่อตั้งกองธรรมสนามหลวงครบรอบ 100 ปี เมื่อปี 2555 ที่ผ่านมา จึงถือวันประสูติของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส วันที่ 12 เม.ย.ของทุกปีเป็นคล้ายวันก่อตั้ง 

โดยปีนี้ สมเด็จพระวันรัต แม่กองธรรมสนามหลวง จะจัดงานบำเพ็ญกุศล และประชุมสัมมนาวิชาการ วันที่ 11-12 เม.ย.นี้ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีการบรรยายพิเศษเรื่องเทคนิคการสอน และการออกข้อสอบ และปาฐกถาเรื่องสนามหลวงแผนกธรรมในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต

พระพรหมมุนี กล่าวต่อไปว่า การพัฒนาการสอบธรรมสนามหลวงในรอบ 100 ปี ทางกองธรรม สนามหลวงได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ ปรับระบบการส่งข้อสอบใหม่ โดยผ่านระบบอินเตอร์เน็ตไป ยังสนามสอบ 4,000 แห่ง โดยมีคณะกรรมการ 10 คน คอยดูแล ซึ่งสนามสอบจะได้รับรหัสในการเปิดอ่านเพื่อสำเนาข้อสอบใช้ในการสอบ รวมทั้งเป็นการป้องกันปัญหาข้อสอบรั่ว นอกจากนี้ จะมีการปรับเนื้อหาหลักสูตรให้เข้าใจง่ายขึ้น และ เรียนด้วยตนเองผ่านระบบอินเตอร์เน็ต 

ทั้งนี้ จะเริ่มทดลองระบบใหม่ปลายปี 2556 และขอฝากถึงรัฐบาลและผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับทั่วประเทศ หันมาส่งเสริมการสอบธรรมศึกษา เพราะเด็กที่ผ่านการสอบก็เชื่อว่าจะเป็นบุคลากรที่ดีของชาติ

*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





วันจันทร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2556

จุดไฟในใจคน : ค.ว.ย.ห.

เรื่องราวต่างๆ ในคอลัมน์จุดไฟในใจคน ผู้อ่านหลายคนสงสัยว่า “หลวงพี่น้ำฝน” เมคขึ้นเองหรือไม่??

อาตมาเฉลยจากใจ มอบ ………. ให้ เอาไปเลย

เจริญพรญาติโยมพุทธศาสนิกชนทุกท่าน พบกันอีกเช่นเคยกับ “คอลัมน์ จุดไฟในใจคน” ที่พรั่งพร้อมไปด้วยสาระความรู้เคียงคู่คุณธรรม สำหรับสาระเด่นประจำสัปดาห์นี้ มีเรื่องราวเด็ดๆ มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้ง โดยเฉพาะห้วงนี้ กระแสมลภาวะแดดเปรี้ยง อากาศร้อนรน เหมือนใจคนในยามนี้!!!

ต้องขอเตือนให้ญาติโยมทุกคน “ควรธรรมใจ” เนื่องเพราะ “ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นใหญ่สำเร็จแล้วด้วยใจ” ฉะนั้นอย่าไปรนร้อนตามอากาศ ที่สำคัญร่างกายร้อนไม่เป็นไร แต่ใจห้ามเลียนแบบร้อนตามความรู้สึก โดยเด็ดขาด หลายคนยังไม่ได้อ่านเนื้อเรื่อง เห็นจั่วพาดหัว รู้สึกงงกับอักษรย่อคำว่า “ค. ว. ย. ห.” และต่างจินตนาการตีความกันไปต่างๆนานา อาตมาเชื่อว่า โยมพอเห็นจั่วหัวใหญ่ คงตั้งข้อฉงนสนเท่ห์ไปแล้ว กลายเป็นปมปริศนาตั้งข้อสงสัยว่า “ฉบับนี้หลวงพี่น้ำฝน จะมาไม้ไหนกันแน่” 

จริงๆแล้วก็ไม่มีอะไรมาก ชนวนเหตุเกิดขึ้นเมื่อคราเขียนเรื่อง “ไซด์ไลน์ - ขายตัว - ช่วยผัว - ติดการพนัน” แฟนคอลัมน์น่าจะยังจำกันได้ดี ปรากฏว่ามีโยมท่านหนึ่ง โทร.เข้ามา ถามว่า “เรื่องที่เขียนเมคขึ้นมาเองหรือเปล่า ใช่เรื่องจริงหรือไม่” 

อาตมาจึงตอบไปว่า เรื่องทุกเรื่องในคอลัมน์ จุดไฟในใจคน เป็นเรื่องจริงทุกเรื่อง ไม่มีการเขียนนิยายแต่งหรือเมคขึ้นมาแต่ประการใด เนื่องเพราะไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องสร้างเรื่องขึ้นมาให้สมองเหนื่อย ที่สำคัญทุกวันนี้มีเรื่องเข้าคิวรอเขียนมากมาย จนเขียนไม่ทันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่เรื่องเกือบทั้งหมดก็มาจากญาติโยมที่โทรศัพท์เข้ามาเล่าปรึกษาหารือ ขอคำชี้แนะ ทั้งสิ้น!!!

และขอยืนยันอีกครั้งว่า มีคนถามเข้ามาจริงๆ ซึ่งส่วนใหญ่อาตมาจะนำไปออกอากาศในรายการ คิดไม่ออกบอกหลวงพี่น้ำฝน ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 อีกด้วย

การโทรศัพท์เข้ามาอาตมารับเองตลอด 24 ชั่วโมง “อาตมาเน้นเปิดเผย” ที่เบอร์ 087-711-1333 และอีกส่วนหนึ่งมีตัวตนจริง เป็นพวกลูกศิษย์ลูกหา มาถามถึงที่วัดไผ่ล้อม นครปฐม

กลับมาเข้าเหตุการณ์นี้กันต่อ จากนั้นชายคนดังกล่าว ก็ได้ถามอีกว่า “เขียนแบบนี้หลวงพี่ต้องการอะไร มีผลประโยชน์อะไร เคลือบแฝงหรือไม่”

อาตมาตอบไปอีกว่า “ผลประโยชน์ของอาตมา ก็คือ การได้ช่วยเหลือผู้คน ให้พ้นจากความทุกข์ร้อน ทางกายและใจ ซึ่งประเด็นนี้ ถ้าเราคิดบวก ย่อมได้บุญมหาศาล เพราะเป็นการให้แสงสว่างแก่ผู้คน ในมุมของการดำเนินชีวิต”

และในความจริงแล้ว แก่นของบุญ ต้องเกิดจาก กาย วาจา ใจ เพื่อเป็นการช่วยเหลือคนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีอะไรเคลือบแฝง นั่นถึงจะเรียกว่า “บุญแท้” อาตมาเป็นพระสงฆ์ที่ตรงไปตรงมา มุสาไม่รู้จัก พูดหรือเขียนอะไร ก็เน้นแต่ความจริงล้วนๆ อาตมาโกหกไม่เป็น ไปสืบประวัติอาตมาดูได้ ในชีวิตตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยพูดจาโกหกหลอกลวง

โยมบอกว่า เป็นแฟนรายการคิดไม่ออกบอกหลวงพี่น้ำฝน ทางช่อง 5 ยิ่งน่าจะเข้าใจอาตมา เพราะรายการทุกตอนที่ออนแอร์ออกไป ไม่มีสคริป ไม่มีการเตี๊ยม ไม่มีการปรุงแต่ง หรือสร้างภาพแต่ประการใด “ถามอะไรมา ก็ใส่กันตรงๆทุกครั้ง ทุกตอน”

หลวงพี่น้ำฝนของแท้ รู้กันทั้งจังหวัดนครปฐม ว่า หวานไม่เป็น เรื่องที่จะพูดโยมจ๊ะโยมจ๋า รับรองไม่เคยออกจากปากพระรูปนี้ชัวร์!?! และยิ่งถ้าเป็นแฟนพันธุ์แท้ของอาตมา พวกเขาจะรู้ดีว่า ถ้าอะไรไม่ถูกต้อง อาตมาก็ไม่ยอมเช่นกัน ถ้าอาตมาไม่แน่จริง พระเดชพระคุณพระราชรัตนมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม คงไม่ตั้งให้เป็น หัวหน้าพระวินยาธิการ (ตำรวจพระ) จังหวัดนครปฐม อย่างแน่นอน!!!

ที่ผ่านมางานเขียนหนังสือของอาตมา โยมไปสำรวจตรวจสอบย้อนหลังดูได้ อาตมาเน้นสัจธรรมความจริงล้วนๆ เจาะลึกให้แสงสว่างผู้คน ที่กำลังตกอยู่ในห้วงแห่งภวังค์ความทุกข์ โดยทุกรายล้วนเดือดเนื้อร้อนใจ ในสมองมืดแปดด้าน ถึงทางตันทั้งสิ้น โยมจงจำไว้เลยว่า แต่ละคนล้วนมีเวรกรรม ที่ไม่เหมือนกัน “ต่างกรรม ต่างวาระ” สิ่งที่เราเห็น แต่เขาอาจมองไม่เห็นเหมือนเราก็ได้??? เคยได้ยินคำว่า มืดบอดหรือไม่!!!

ชีวิตคนเราเปรียบเสมือนเหรียญสองด้าน ย่อมมีความแตกต่างในคน คนเดียวกัน ที่อาจมีหลายแง่หลายเหลี่ยมมุมมอง ที่คนทั่วไปอาจสะท้อนมองไม่เห็น ซึ่งในสองด้านจะให้เหมือนกันย่อมเป็นไปได้ยากยิ่งนัก ฉะนั้นการสอนคน ต้องมีหลัก มีประสบการณ์จริง ต้องมีคุณธรรม มีความเมตตา มีความกรุณา และต้องมีตัวอย่างยกเป็นอุทาหรณ์ ถ้าไม่มีหลากสิ่งนี้ จะเป็นครูบาอาจารย์สอนคนได้เยี่ยงไร

“คนที่ถามเข้ามา อาตมาถือเป็นครู มีนัยอุทาหรณ์บทเรียนสอนใจ ได้เป็นอย่างดีเฉกเช่นเดียวกัน”

ส่วนโยมจะมองว่าอาตมาไม่ดี เป็นคนเลว อย่างไร ตรงนี้อาตมาตอบไม่ได้ ขึ้นอยู่กับสติปัญญาของโยม ซึ่งจะเป็นเครื่องตัดสิน “ผิด ชอบ ชั่ว ดี” เพราะห้ามความคิดกันไม่ได้

อาตมาไม่มีสิทธิ์ไปก้าวล่วง หรือบอกให้โยมเชื่อตามอาตมาทุกเรื่อง “คนเราอายุน้อย อายุมากไม่สำคัญ” ทุกสิ่งทุกอย่างขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของแต่ละบุคคล และการนำประสบการณ์มาบอกต่อ ถือเป็นการให้ความรู้ เป็นการสร้างบุญอีกทางหนึ่งในพุทธศาสนา

ยกตัวอย่างเช่น คนกำลังจะจมน้ำตาย เขาว่ายน้ำไม่เป็น เมื่อเราลงไปช่วยเขาให้รอดชีวิต เพราะเราว่ายน้ำเป็น ตรงนี้ก็ถือว่าได้บุญเช่นเดียวกัน ที่สำคัญเราไม่ได้หวังผลตอบแทน เราไม่ต้องการคำชม เราช่วยด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีผลประโยชน์ใดๆเคลือบแฝง อย่างนี้ถึงเรียกว่า “จริงใจ” แต่ก็ต้องขอเจริญพรอนุโมทนาขอบคุณอีกครั้ง กับคำถามข้อข้องใจ ที่โยมสงสัยในงานเขียนของอาตมา

ด้วยกุศลเจตนา วิธีการนำเสนอเรื่องราวต่างๆของอาตมา ไม่ว่าจะสื่อด้านใดก็แล้วแต่ อาตมาเน้นความจริง และเรื่องจริงล้วนๆ นี่คือข้อสรุปของการทำงานด้านการเขียนของอาตมา

แต่มีอยู่สิ่งหนึ่งที่อาตมาอยากจะฝากญาติโยมทุกท่าน ให้เก็บไปเป็นแง่มุมในการดำเนินชีวิต ให้จำไว้เลยว่า ทุกคนต้องมี ค.ว.ย.ห.

เริ่มต้นจากคำว่า ค. นัยความหมายของอาตมา ก็คือ “คิด” หมายถึง เมื่อเราจะเริ่มทำอะไรก็แล้วแต่ในชีวิต ต้องใช้ความคิดไตร่ตรองเป็นหลักใหญ่ใจความ “คิดให้ดีเสียก่อน” อย่างที่โบราณสอนไว้เสมอคือ “คิดก่อนทำ อย่าทำก่อนคิด” โดยก่อนที่จะลงมือกระทำงานการสิ่งใด ควรมีหัวใจที่ต้องคิด เป็นการเคลือบหรือเลี่ยมไว้ด้วยความรอบคอบเสียก่อน และที่สำคัญต้องเป็นความคิดที่ดี ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ไม่คิดทำผิดกฎหมายบ้านเมือง ควรดำรงไว้ด้วยความคิดดี มีกระบวนการที่ประกอบด้วยสติปัญญา กรองระบบคิดหรือลำดับแง่คิด ให้ดำเนินไปในทิศทางเดียวกัน สร้างกรอบแนวความคิด ด้วยการรับรู้ จากความรู้สึกที่ดี มีจิตสำนึก และมีจินตนาการทางจิตใจที่แฝงไว้ด้วยคุณธรรม จักทำให้สัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย งานคุณภาพที่เกิดประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง

จากนั้นก็มาที่คำว่า ว. นัยความหมายของอาตมา ก็คือ “วิเคราะห์” หมายถึง การที่เราเมื่อคิดได้แล้ว ควรต่อยอดทางความคิดด้วยการวิเคราะห์ งานที่จะทำ ไม่ว่าจะเป็นงานอะไรก็แล้วแต่ ต้องวิเคราะห์พิจารณา ค้นหาข้อมูลในเนื้อหาสาระ สำรวจทิศทาง ลู่ทางลม เพื่อทำความเข้าใจในแต่ละส่วน ให้แจ่มแจ้งชัดเจนขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งการสืบค้นความสัมพันธ์ของส่วนต่าง ๆ เพื่อดูว่าส่วนประกอบเหล่านั้น สามารถเข้ากันได้หรือไม่ มีความเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร ซึ่งจะช่วยให้เกิดความเข้าใจต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดที่จะกระทำอย่างถ่องแท้ โดยพื้นฐานแล้ว การวิเคราะห์ถือเป็นทักษะที่มนุษย์ทุกคนสามารถ ฝึกได้และควรฝึกการวิเคราะห์ให้ติดเป็นนิสัย เพราะจะทำให้เกิดประโยชน์ในการทำงานทุกสรรพสิ่ง โดยไม่ประมาท และจะไม่เกิดการผิดพลาดอย่างแน่นอน

มาถึงคำว่า ย. หมายถึง “แยกแยะ” เมื่อคิดวิเคราะห์ จนสรุปได้ถึงจุดเป้าหมายแล้ว ก็ถึงเวลาที่จะต้องแบ่งงานออก ด้วยวิธีจำแนก หรือ แจกแจง ด้วยการมองและแสดงความจริง โดยแยกแยะออกให้เห็นแต่ละแง่แต่ละมุมแต่ละด้านแต่ละประเด็นให้ครบทุกแง่ทุกมุม เพื่อความรอบด้าน ครบวงจรในทุกประเด็นของเนื้อหาสาระ สานต่อให้เกิดความสำเร็จ ลงมือกระทำตามนโยบายหรือตามแผนที่กำหนดวางไว้ ตลอดจนสังเคราะห์เรื่องทั้งหมดให้จบบริบูรณ์

สุดท้ายมาถึงคำว่า ห. หมายถึง “เหตุผล” เมื่อ คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว ก็ควรต้องมีเหตุผล เพราะคนเรานั้นเมื่อคิดจะทำอะไรก็แล้วแต่ในชีวิต หรือการอยู่บนโลกใบนี้ ควรต้องอยู่ภายใต้เหตุผล ซึ่งเป็นที่ยอมรับของผู้คน เป็นหลักสากล ฉะนั้นคนเราจะดำเนินชีวิตเหนือเหตุผลไม่ได้ เพราะนั่นหมายถึงเราตะแบง ไม่สนใจใคร ข้าอยู่คนเดียว ข้ามาคนเดียว ไม่ฟังใคร

บทสุดท้ายในการเรียนรู้ชีวิตมนุษย์ ก็คือการดำรงด้วยกันอย่างสันติสุขในสังคมอย่างมีเหตุผล รับฟังเหตุผล ซึ่งกันและกัน ด้วยความเป็นประชาธิปไตย ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ สรุปได้ว่า เหตุผลคือทุกสิ่งทุกอย่าง ที่ล้วนมีความเกี่ยวข้องกันอยู่ทั้งสิ้น ไม่มากก็น้อย ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม

สรุปก็คือ อาตมาเน้นหลัก ค.ว.ย.ห. คิด วิเคราะห์ แยกแยะ ภายใต้เหตุผล รับรองได้เลยว่า ใครก็ตามที่มีหลัก 4 อย่างนี้ ชีวิตไม่พังสลาย ไม่ฉิบหาย ตายไปจากความดี มีศีล สมาธิ สติปัญญา ไม่ต้องไปยกธรรมะข้อไหนมาอ้างอิง เพราะนี่ก็คือธรรมะเชิงรุกสไตล์ของอาตมาหลวงพี่น้ำฝน ของแท้!!!

อาตมาขอให้ญาติโยมทุกท่าน ตั้งอยู่ด้วยการมีสติ ควรมองลึกไปถึงนัยยะ ทางพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้รู้แจ้งเห็นจริงในอริยสัจ 4 คือความจริงอันประเสริฐ อันเป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา ซึ่งหลักธรรมข้อปฏิบัติทุก ๆข้อ ล้วนเกิดจากการคิดสอบสวนค้นคว้า และการลงมือปฏิบัติอบรมให้เกิดปัญญา นอกจากนั้น พระพุทธศาสนายังสอนให้ถือธรรมะ คือความถูกต้อง ตรงกับความจริงเป็นใหญ่ ที่สำคัญพระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ถือตนนั่นเอง ขอเจริญพร
*************************




วันอาทิตย์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2556

หลวงพ่อล้อม สีลสํวโร "พระดีศรีโพธิ์ชัย" แห่งวัดป่าเมตตาธรรม

หลวงปู่ทองมา ถาวโร วัดสว่างท่าสี จ.ร้อยเอ็ด อมตะอริยะสงฆ์ผู้ทรงอภิญญาแห่งลุ่มแม่น้ำชี อดีตเจ้าอาวาสวัดสว่างท่าสี ต.ท่าม่วง อ.เสลภูมิ ซึ่งได้รับสมญานามว่า "หลวงพ่อหมอยาเทวดา" ครั้งยังมีชีวิตท่านดังมากในเรื่อง "น้ำมนต์" มีความศักดิ์สิทธิ์ชนิดที่ว่า เสกล้างหน้าเป็นสิริมงคล เสกน้ำมนต์แก้เสนียดจัญไรภัยพิบัตินานาทั้งปวง แก้ถูกกระทำย่ำยี ปราบผีสางนางไม้ ช่วยให้คลอดบุตรง่าย ฯลฯ และที่ขึ้นชื่อลือชาคือ การรักษาคนบ้าวิกลจริตหายเป็นปลิดทิ้ง ท่านจะอบรมสั่งสอนชาวบ้านให้ตั้งอยู่ในศีลธรรม ยึดมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

ศิษย์ที่เป็นบรรพชิตรูปหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงในปัจจุบัน คือ พระครูวิมลสังวรคุณ หรือ หลวงพ่อล้อม สีลสังวโร เจ้าอาวาสวัดป่าเมตตาธรรม อ.โพธิชัย จ.ร้อยเอ็ด โดยท่านได้ศึกษากรรมฐาน และคาถาอาคมจากหลวงปู่ทองมา ทั้งนี้หลวงพ่อล้อมให้ความเคารพนับถือประดุจดังบิดามารดา โดยท่านได้ทำหน้าที่แห่งความเป็นศิษย์อย่างดีเยี่ยม

ส่วนความรู้ทางธรรมนั้น หลวงพ่อสอบได้นักธรรมชั้นเอก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๑ ณ วัดเวฬุวัน สำนักเรียน จ.ร้อยเอ็ด และสอบได้ประโยค ๑-๒ เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๕ จากวัดสาลาวดี สำนักเรียน จ.ร้อยเอ็ด นอกจานี้ท่านยังศึกษา อักษรขอม อักษรไทยน้อย การเขียนแบบแปลนงานก่อสร้าง และสิ่งที่หลวงพ่อชอบมากรวมทั้งมีความชำนาญเป็นพิเศษ คือ นวกรรม การเขียนอักษณธรรม

เมื่อหลวงพ่อล้อมได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ท่านได้ดำเนินรอยตามรอยหลวงปู่ทองอย่างงดงาม สร้างทั้งศาสนวัตถุ และศาสนทายาทไว้มากมาย จนทำให้หลวงพ่อเป็นที่รู้จัก และเป็นที่นับถือของศิษยานุศิษย์ทั้งในและต่างประเทศ สำหรับการจัดสร้างวัตถุมงคลนั้น ท่านเริ่มสร้าง ตะกรุด มาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๖ เมื่อครั้งยังเป็นเจ้าอาวาสใหม่ๆ จากนั้นก็สร้างเรื่อยมา โดยท่านจะสร้างเองทั้งหมด เพื่อนำปัจจัยที่ได้มาสร้างพัฒนาปรับปรุงวัด รวมทั้งกิจทางด้านการสงเคราะห์อย่างที่เห็น

เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ ท่านได้นำญาติโยมสร้างถาวรวัตถุในวัดทั้งหมด เช่น อุโบสถ พระเจดีย์ศรีเมตตา ศาลาการเปรียญ กุฏิกัมมัฏฐาน ศาลาอเนกประสงค์ รวมทั้งรักษาสภาพป่าให้สมกับคำว่า "วัดป่า" เหมาะเป็นที่สัปปายะแก่การปฏิบัติธรรม ขณะเดียวกันท่านได้สร้างองค์เทพตามคติความเชื่อคนของไทยไว้หลายองค์ เพื่อเป็นที่ยึดเหนี่ยวทางใจได้กราบไหว้ขอพรโดยไม่ต้องเดินทางไกล ภายในวัดมีพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อยูองค์หนึ่ง คือ พระพุทธรูปเสี่ยงทาย โดยการอธิษฐานให้หนักและเบาได้

นอกจากนี้แล้วหลวงพ่อล้อมยังให้ความสำคัญในเรื่องการศึกษาของพระภิกษุสามเณรในวัดเป็นอย่างมาก แม้ที่วัดจะไม่ได้เป็นสำนักเรียนแต่ท่านก็ได้ส่งพระเณรไปเรียนตามสำนักเรียนต่างๆ โดยเป็นธุระนำไปฝากถึงที่ทั้งวัดในต่างจังหวัด และวัดในกรุงเทพฯ ทั้งนี้หลวงพ่อจะพูดกับลูกศิษย์เสมอๆ ว่า "ถ้าเราไม่มีวิชาความรู้ก็เหมือนคนตาบอดที่ไม่รู้ทางเดิน เป็นชีวิตที่ไม่มีจุดมุ่งหมาย ไร้แสงส่วางนำทาง ขาดเข็มทิศชี้ทาง"

หลวงพ่อล้อมจะสอนลูกศิษย์รุ่นแล้วรุ่นเล่า ให้ขยันพากเพียรในการศึกษา ดังนั้นศิษย์ของท่านจึงได้ดีแล้วก้าวหน้า ทั้งนี้หลวงพ่อไม่เคยกล่าวอ้างถึงบุญคุณกับลูกศิษย์เหล่านั้นเลย ท่านได้ตั้งอยู่ในพรหมวิหาร ๔ อย่างดีเยี่ยม นั่นคือ มีเมตตารักใคร่ศิษย์ทุกคน มีกรุณาสงสารศิษย์ที่ช่วยตัวเองไม่ได้ มีมุฑิตากับศิษย์ที่ได้ดีมีความเจริญก้าวหน้า และมีอุเบกขาวางเฉยต่อเหตุการณ์ที่ดีและร้าย มุ่งหาทางแก้ด้วยปัญญาให้เหตุร้ายกลายเป็นดี

สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันในเรื่องความรู้ ความสามารถ และผลงาน คือ เกียรติประวัติที่หน่วยงานและสถาบันต่างๆ มอบให้ เช่น 

พ.ศ.๒๕๔๑ ได้โล่วัดพัฒนาตัวอย่าง จากกรมการศาสนา 
พ.ศ.๒๕๕๓ ได้รับโล่-พัด-ย่าม วัดพัฒนาตัวอย่างที่มีผลงานดีเด่น จากกรมการศาสนา 
และ เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๔ หลวงพ่อล้อมได้รับพระราชทานเสาเสมาธรรมจักรทองคำ สาขาสงเคราะห์ประชาชน จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดฯ สยามบรมราชกุมารี

"อาตมาสร้างโลงศพไว้ใส่ตัวเอง เขาเรียกว่า เตรียมตัวตายก่อนตายจริง เมื่อถึงเวลาจะไม่ได้เป็นภาระต่อญาติโยม ปีนี้อายุมากถึง ๗๒ ปี ซึ่งจะมีการทำบุญครบ ๖ รอบ ในเดือนพฤษภาคม ชีวิตยิ่งใกล้ความตายมากยิ่งขึ้น การได้เห็นโลงทำให้เราคิดถึงความตายมากยิ่งขึ้น เป็นกรรมฐานอย่างหนึ่ง ไม่ยึดติด ยึดมั่น ถือมั่น ไม่ได้ใช้เตือนสติตัวเองอย่างเดียว หากยังใช้เตือนสติญาติโยมด้วย คนที่อายุยังน้อยมักคิดว่าอีกนานถึงจะตาย แต่แท้ที่จริงแล้วความตายกับการมีชีวิตอยู่เป็นเส้นขนานกัน เมื่ออาตมาตายก็ให้สวดและเผาตามประเพณีอีสาน ไม่ต้องเก็บไว้เป็นภาระกับคนรุ่นหลัง" นี่เป็นเหตุผลการทำโลงศพไว้ใส่ตัวเองของหลวงพ่อล้อม ซึ่งท่านได้สั่งทำและมาตั้งไว้ที่วัดมา ๑ ปีแล้ว

สำหรับชาติภูมิของหลวงพ่อล้อมนั้น ชื่อและสกุลเดิมของท่าน คือ "บุญล้อม ทิพย์โชติ" เกิดวันศุกร์ที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๘๕ ณ บ้านเลขที่ ๓๔ หมู่ ๗ ต.ดอนโอง อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๓ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๐๕ ณ อุโบสถวัดศรีชมชื่น ต.อ้อมกอ อ.บ้านดุง จ.อุดรธานี โดยมี พระครูวชิรธรรมนิเทศ เจ้าอาวาสวัดศรีชมชื่นเป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูสิริโกศล วัดศรีชมชื่น เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการคำไหล วัดเวฬุวัน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่ออุปสมบทแล้วได้รับฉายาว่า "สีลสํวโร" แปลว่า "ผู้มีศีลอันสำรวมดีแล้ว ผู้มีศีลอันประเสริฐ หรือ ผู้สำรวมด้วยศีล"

"พระหมอยาผู้ชี้ทางให้เลิกยาเสพติด"

ทุกๆ วันจะมีญาติโยมจากจังหวัดต่างๆ นำลูกหลานมาเลิกยาเสพติด เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ หลวงพ่อล้อมก็เมตตาให้ความสงเคราะห์แก่ทุกคน บางวันก็ไม่ได้พักผ่อนเลย มีอยู่บ่อยๆ ที่ญาติโยมมาปลุกตอนกลางดึก เพื่อขอความช่วยเหลือจากหลวงพ่อ

ในการรักษาผู้ติดตาเสพติดทุกชนิด หลวงพ่อล้อมจะให้กินยาสมุนไพร ๑ แก้ว สำหรับผู้ติดบุหรี่ ยาบ้า กาว ทินเนอร์ ยากล่อมประสาทต่างๆ เมื่อผู้มาเลิกยาเสพติดออกไปจากวัดป่าเมตตาธรรมแล้ว ผู้เสพยาเสพติดที่ได้กินยาสมุนไพรไป ๑ อาทิตย์ ผู้นั้นจะถูกหรือได้กลิ่นยาเสพติดชนิดนั้นๆ ไม่ได้เลย จะมีอาการเหม็นยาชนิดนั้นๆ อย่างรุนแรง จะไม่มีอาการอยากยาเสพติดชนิดนั้นๆ อีกเลย

ขณะเดียวกัน หลวงพ่อล้อมยังรักษาผู้ที่มีอาการปวดเอว แข้ง ขา ปวดเมื่อยตามร่างกาย ช่วยแผ่เมตตาให้ผู้ที่ค้าขายไม่ค่อยดี รวมทั้งรักษาคุณไสยมนต์ดำต่างๆ ตลอดจนให้ฤกษ์ในงานมงคลพิธีต่างๆ ตามหลักโหราศาสตร์ เพื่ออนุเคราะห์ญาติโยมให้ดำเนินชีวิตอย่างมีความสงบสุข

หลวงพ่อล้อมบอกว่า เรื่องสมุนไพร หรือยาไทยนั้น ในเบื้องต้นหลวงพ่อล้อมไม่ได้สนใจมากนัก แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ชีวิตได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามาก มองเห็นความเป็นอนิจจังของชีวิตตนเองและญาติโยม หลวงพ่ออยากช่วยให้ญาติโยมหายเจ็บป่วย จึงได้มุ่งศึกษาสมุนไพรไทยจากหมอยาไทย จนถือได้ว่ามีความรู้ความสามารถในการรักษาชาวบ้าน ซึ่งกล่าวได้ว่าเป็นปราชญ์ผู้ทรงวิทยาการด้านสมุนไพรระดับหนึ่ง

ท่านใดอยากเลิกยาเสพติดทุกชนิด สามารถมารักษาให้หายขาดได้ ซึ่งที่ผ่านมากว่า ๙๐% มารักษาแล้วหายขาดอย่างน่าอัศจรรย์ใจ โดยใช้ทั้งยาสมุนไพร คาถา รวมทั้งการตั้งสัจจะ โดยท่านรักษามาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๕๒ มีผู้เข้ามารักษากว่าหมื่นคน สอบถามข้อมูลได้ที่ หลวงพ่อล้อม ๐๘-๑๐๕๐-๙๙๐๙

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ