วันจันทร์ที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2556

สิ้นลมแล้ว "โกเอ็นก้า" วิปัสสนาจารย์เอกแห่งยุค

แหล่งข่าวได้รายงานว่า อาจารย์โกเอ็นก้า ผู้วางรากฐานการฝึกอบรมวิปัสสนากรรมฐานให้มั่นคง สิ้นลมแล้วอย่างสงบที่บ้านพักเมืองมุมไบ ประเทศอินเดีย เมื่อเวลา 10.40 น.ของวันอาทิตย์ที่ 29 ก.ย.2556 (เวลาอินเดีย) ด้วยวัย 90 ปี โดยจะมีพิธีฌาปนกิจในวันอังคารที่ 1 ตุลาคม เวลา 10.30 น.(ตรงกับเวลา 12.00น. ในประเทศไทย)

“ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า” หรือ “ท่านอาจารย์สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า” (S.N. Goenka) เป็นชาวอินเดียที่ถือกำเนิดในประเทศพม่า ในครอบครัวนักธุรกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2467 ท่านได้ประกอบธุรกิจจนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงมากตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม ทั้งได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนชาวอินเดียในพม่า รวมทั้ง เป็นประธานองค์กรต่างๆ อาทิเช่น หอการค้ามาร์วารีแห่งพม่า และสมาคมพาณิชย์และอุตสาหกรรมแห่งร่างกุ้ง นอกจากนี้ยังร่วมเดินทางไปต่างประเทศกับคณะผู้แทนการค้าของสหภาพพม่าในฐานะที่ปรึกษาอยู่บ่อยๆ

เมื่ออายุ 31 ปี ท่านถูกคุกคามด้วย โรคไมเกรน แม้จะได้รับการดูแลบำบัดรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในหลายประเทศ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น จนในที่สุดท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้ทดลองเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหลักสูตร 10 วันเป็นครั้งแรกกับ ท่านอาจารย์อูบาขิ่น (Sayagyi U Ba Khin) วิปัสสนาจารย์ผู้มีชื่อเสียงที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่งผู้หนึ่ง โดยการแนะนำของเพื่อนชาวพม่าคือ ท่านอูชันตุน อดีตประธานศาลฎีกาพม่า ซึ่งต่อมาภายหลัง ท่านอูชันตุนได้เป็นประธานคนแรกของ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ครั้งแรกท่านก็ลังเลใจ แต่ด้วยคำอธิบายของท่านอาจารย์อูบาขิ่น ถึงหลักของศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหลักการสากลที่จะช่วยให้มนุษยชาติได้พบทางแห่งการพ้นทุกข์ได้อย่างถาวร ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าจึงตัดสินใจเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งท่านได้กล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า

“ใน 10 วันนั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นว่า วิธีการนี้เป็นวิธีการที่มีเหตุมีผล ปฏิบัติได้จริง ทั้งยังเป็นวิทยาศาสตร์ และมุ่งประโยชน์แห่งการปฏิบัติ มิได้มุ่งให้เราเกิดศรัทธาความเชื่ออันมืดบอดอย่างเดียว ทำให้ข้าพเจ้าเป็นอิสระจากโรคภัยไข้เจ็บ รู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งในความสงบ และได้ตระหนักว่า สิ่งที่ทำให้หายจากโรคไมเกรนนั้น อันที่จริงก็คือ การที่ข้าพเจ้าสามารถขุดรากของกิเลสบางอย่างในตัวข้าพเจ้าได้ เดิมทีข้าพเจ้าเป็นคนที่มีโทสะมาก วู่วาม และเป็นคนมีอัตตาสูง แต่ในการอบรม 10 วันนี้ ได้ทำให้ข้าพเจ้าสามารถที่จะควบคุมตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”

ท่านได้เล่าถึงวิธีการที่ได้รับการอบรมว่า “ตอนที่เข้ารับการอบรมใหม่ๆ เข้าใจว่าคงจะมีการให้บริกรรมคำสวดบางอย่าง แต่อันที่จริงแล้วไม่มีเลย ไม่มีการบริกรรมคำใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีแม้การสร้างภาพ เพียงแต่ให้เราเฝ้าสังเกตลมหายใจที่เข้าออกอย่างเป็นธรรมชาติเท่านั้น นี่คือสมาธิ ขั้นตอนต่อไปเป็นขั้นตอนที่สำคัญ คือวิปัสสนาด้วยการสังเกตเวทนาหรือความรู้สึกทางกายอันเป็นหนทางนำไปสู่ปัญญา คือ การรู้แจ้งในความเป็นอนิจจังหรือความไม่เที่ยง ซี่งวิธีการสังเกตเวทนานี้เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้แก่มนุษยชาติเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการนำตนให้พ้นทุกข์”

หลังจบจากการปฏิบัติตามหลักสูตร 10 วันแล้ว ท่านโกเอ็นก้าเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในเนื้อหาสาระของคำสอนและในแนวทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก จึงปวารณาตัวเข้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ต่อมาท่านอาจารย์อูบาขิ่นได้แต่งตั้งให้ท่านทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอน

ปี พ.ศ.2512 ท่านได้เดินทางกลับไปยังประเทศอินเดียเพื่อเยี่ยมมารดาที่ล้มป่วย ระหว่างที่อยู่ในอินเดีย ท่านได้จัดอบรมวิปัสสนาให้แก่มารดาและญาติพี่น้อง ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจเป็นอันมาก นับจากนั้นขบวนการเอหิปัสสิโกก็ได้เริ่มต้นจากปากต่อปากที่บอกต่อๆ กันไป ทำให้มีผู้มาขอเข้าปฏิบัติกันมากขึ้น และจากการที่ท่านอาจารย์อูบาขิ่นมีความฝังใจอยู่แต่เดิมว่า ประเทศอินเดียมีบุญคุณอย่างล้นเหลือที่ได้หยิบยื่นธรรมอันบริสุทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก่ประเทศพม่า ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน แต่ธรรมอันล้ำค่านี้กลับได้สูญหายไปจากประเทศอินเดียอันเป็นต้นกำเนิดจนเกือบหมดสิ้น

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าจึงมีความปรารถนาที่จะทดแทนคุณประเทศอินเดีย ด้วยการหาทางนำเอาธรรมะอันล้ำค่านี้กลับไปเผยแผ่อีกครั้ง ซึ่งท่านอาจารย์อูบาขิ่นก็ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท่านเปิดการอบรมวิปัสสนาในแนวทางนี้ขึ้นในประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง

หลังจาก 14 ปีของการปฏิบัติ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวิปัสสนาจารย์และได้เดินทางไปเผยแผ่การปฏิบัติวิปัสสนาที่ประเทศอินเดียตามความประสงค์ของอาจารย์ของท่าน จนกระทั่งปี พ.ศ.2517 ท่านจึงได้ก่อตั้งและเป็นประธานสถาบันวิปัสสนานานาชาติศูนย์แรกชื่อ “ธรรมคีรี” ขึ้นที่เมืองอิกัตปุรี ใกล้ๆ กับเมืองบอมเบย์ รัฐมหาราษฎร์ ประเทศอินเดีย เพื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางของท่านอาจารยอูบาขิ่น ซึ่งดำเนินตามแนวทางของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามที่ได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฏก นับจากนั้นมาก็ได้มีการจัดอบรมวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันและหลักสูตรระยะยาวต่อเนื่องเรื่อยมา

ปี พ.ศ.2522 ท่านเริ่มเดินทางไปเผยแผ่อบรมการปฏิบัติวิปัสสนาตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตามแนวทางของท่านอาจารยอูบาขิ่น ซึ่งดำเนินตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎก ท่านได้อำนวยการสอนวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันในประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ ทั้งในซีกโลกตะวันตกและตะวันออก กว่า 400 หลักสูตร หลักการสอนของท่านโกเอ็นก้าได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ทั้งในอินเดีย ประเทศที่ยังคงมีความแตกต่างทางด้านชนชั้นและศาสนาอย่างมาก และจากทั่วโลก ทั้งนี้เพราะคำสอนที่มีลักษณะเป็นสากล มิได้ขัดต่อหลักศาสนาใด ท่านเน้นเสมอว่า มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด นับถือศาสนาใด และมีผิวสีอะไร ต่างก็มีความทุกข์ในรูปแบบเดียวกันทั้งสิ้น ในเมื่อความทุกข์ของมนุษย์เป็นสากล วิธีการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากความทุกข์จึงต้องเป็นสากลเช่นกัน

ต่อมาท่านได้เริ่มแต่งตั้งอาจารย์ผู้ช่วยให้ช่วยดำเนินการอบรมแทนท่าน โดยใช้เทปและวิดีโอของท่านเป็นแนวทางในการสอน เพื่อรองรับกับความต้องการของประชาชนที่จะเข้าอบรมซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ทุกวันนี้มีอาจารย์ผู้ช่วยกว่า 700 ท่าน และอาสาสมัครช่วยงานต่างๆ อีกนับพันๆ คน มีการจัดอบรมวิปัสสนาในประเทศต่างๆ กว่า 90 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

โดยมีการก่อสร้างศูนย์วิปัสสนาทั้งสิ้น 80 แห่งใน 21 ประเทศทั่วโลก ในแต่ละปีจะมีการจัดอบรมหลักสูตรวิปัสสนาทั่วโลกกว่าหนึ่งพันหลักสูตร โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าอบรม ที่พัก หรือค่าอาหารใดๆ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจที่จะบริจาค ทั้งตัวท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเองและอาจารย์ผู้ช่วยต่างๆ ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากการอบรมดังกล่าวแม้แต่น้อย

สำหรับประเทศไทยมีศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางของท่าน รวมทั้งหมด 5 ศูนย์ ดังนี้

1. ศูนย์วิปัสสนาธรรมกมลา บ้านเนินผาสุก ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี

2. ศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา บ้านห้วยพลู ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก

3. ศูนย์วิปัสสนาธรรมสุวรรณา ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น

4. ศูนย์วิปัสสนาธรรมกาญจนา บ้านวังขยาย ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี

5. ศูนย์วิปัสสนาธรรมธานี ถ.นิมิตใหม่ แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ


ศูนย์วิปัสสนาทั้ง 5 แห่งนี้ อยู่ในความดูแลของ สำนักงานมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้ทรงเมตตารับไว้ในพระสังฆราชูปถัมภ์ โดยมีการจัดการอบรมหลักสูตรวิปัสสนา (หลักสูตรสติปัฏฐาน) 10 วัน สำหรับพระภิกษุ สามเณร และฆาราวาสทั่วไป และหลักสูตรวิปัสสนาในเรือนจำ รวมทั้งหลักสูตรอานาปานสติสำหรับเด็กและเยาวชน เริ่มต้นในเย็นวันแรก และสิ้นสุดในตอนเช้าของวันสุดท้าย ตลอดทั้งปี

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า (S.N. Goenka) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติไว้ว่า วิปัสสนาเป็นวิธีการปฏิบัติกรรมฐานที่เก่าแก่ที่สุดวิธีหนึ่งของอินเดีย ซึ่งได้สาบสูญไปจากมนุษยชาติมาเป็นเวลานาน แต่ก็ได้กลับมาค้นพบอีกครั้งโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว วิปัสสนาหมายถึง “การมองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง” อันเป็นกระบวนการในการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการเฝ้าดูตนเอง เราจะเริ่มต้นด้วยการเฝ้าสังเกตดูลมหายใจตามธรรมชาติ เพื่อทำให้จิตมีสมาธิ

เมื่อมีสติที่มั่นคง เราก็จะก้าวไปสู่การเฝ้าสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของกายและจิต ซึ่งจะทำให้ได้พบกับสัจธรรมที่เป็นสากล คือ ได้เห็นความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความทุกข์ (ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน (อนัตตา) การที่ได้รู้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงเหล่านี้จากประสบการณ์ของท่านเองโดยตรง จึงเป็นวิธีการในการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ธรรมะเป็นเรื่องสากล มีไว้สำหรับแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นสากล มิได้ผูกขาดเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ด้วยเหตุนี้บุคคลทุกคนจึงสามารถจะปฏิบัติได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องของเชื้อชาติ ชั้นวรรณะ หรือศาสนา ทั้งในซีกโลกตะวันออกและตะวันตกทั่วทุกทวีป ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ และจะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆ คนโดยทั่วถึงกัน

พื้นฐานในการปฏิบัติวิปัสสนา คือ “ศีล” ศีลจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสมาธิ และกระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นจะเกิดขึ้นจากปัญญา คือ “การรู้แจ้งเห็นจริง”

ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า (S.N. Goenka) ได้เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน ถึง 4 กรกฏาคม พ.ศ.2544 อาจารย์สุทธี ชโยดม อาจารย์และตัวแทนผู้ดูแลการอบรม การปฏิบัติ และกิจกรรมในประเทศไทย กล่าวว่า การมาเยือนประเทศไทยของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์คือ

1. เพื่อแสดงปาฐกถาธรรมเฉลิมพระเกียรติ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เรื่อง “พระไตรปิฏกกับการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน” ซึ่งจัดโดยกองทุนสนทนาธรรมนำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ในการนี้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทรงเป็นประธานการแสดงปาฐกถาธรรม เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2544 ณ หอพระไตรปิฏกนานาชาติ อาคารอักษรศาสตร์ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

2. เพื่อหารือเรื่องการแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมจากซีดีรอมพระไตรปิฎก ฉบับฉัฏฐสังคายนา ซึ่งทางสถาบันวิจัยวิปัสสนาโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ได้ริเริ่มจัดทำขึ้นและเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยได้มอบให้กองทุนสนทนาธรรมนำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์ นำมาเป็นฐานในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระครบรอบ 72 พรรษา

3. เพื่อเยี่ยมศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา จ.พิษณุโลก ศูนย์วิปัสสนาแห่งที่ 2 ในประเทศไทย ณ เลขที่ 138 บ้านห้วยพลู ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก พร้อมกับเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าผู้ปฏิบัติธรรมในแนวทางของท่านอาจารย์อูบาขิ่น สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในประเทศไทย โดยมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ได้ซักถามปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม

ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาธรรมตามสถาบันต่างๆ รวมทั้งในเวทีเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และการประชุมสุดยอดสันติภาพโลกสหัสวรรษใหม่ที่สหประชาชาติด้วย

ปัจจุบัน ท่านเป็นวิปัสสนาจารย์เอกผู้หนึ่งที่สอนวิปัสสนากรรมฐานในพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นเวลาเกือบ 40 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มนำพระไตรปิฏก ฉบับฉัฏฐสังคายนา ซึ่งเป็นการทำสังคายนาครั้งล่าสุดของโลก มาบันทึกไว้บนแผ่นซีดีรอมพร้อมด้วยคัมภีร์บริวารต่างๆ รวมกว่า 200 เล่ม และได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับฉัฏฐสังคายนา ด้วยอักษรเทวนาครี เพื่อนำพระพุทธศาสนากลับไปประดิษฐานในประเทศอินเดียอีกครั้งหนึ่งด้วย และเพื่อมอบเป็นธรรมทานเผยแผ่ไปทั่วโลก


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





วันศุกร์ที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงพ่อผ่อง ธัมมโชติโก วัดคูหาสวรรค์


วัดคูหาสวรรค์ 
หรือ วัดศาลาสี่หน้า เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ ในอดีตเป็นสำนักปฏิบัติกัมมัฏฐาน มีอดีตเจ้าอาวาสที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้ และเป็นเจ้าตำรับ "พระสมเด็จเล็บมือ" ท่านคือ พระวิสุทธิสารเถร หรือ หลวงพ่อผ่อง ธัมมโชติโก สุดยอดพระเกจิอาจารย์ยุคเก่าย่านฝั่งธนบุรีอีกรูป อีกทั้งเป็นสหธรรมิกที่สนิทชิดเชื้อกับ หลวงปู่ชู วัดนาคปรก อีกด้วย และทั้งหลวงพ่อผ่อง และ หลวงปู่ชู ต่างก็เป็นศิษย์สืบทอดพุทธาคมจาก หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง

หลวงพ่อผ่อง มีนามเดิมว่า "ผ่อง" เป็นบุตรของนายสุด นางอ่ำ เกิดเมื่อปีพ.ศ.2414 ต้นรัชกาลที่ 5 ที่บ้านตำบลบางสีทอง อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เมื่อปีพ.ศ.2435 อุปสมบทที่วัดรวก จ.นนทบุรี มี พระปรีชาเฉลิม (แก้ว สงขสุวณโณ) ป.ธ. 6 (ภายหลังเลื่อนเป็นพระเทพโมลี เจ้าอาวาสวัดมหรรณพาราม) วัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการแก้ว วัดไฟไหม้ (วัดอมฤต) เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอธิการลบ วัดรวก เป็นอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายา "ธัมมโชติโก"

หลังจากบวชแล้วได้เรียนวิปัสสนาธุระในสำนักอาจารย์แก้ว วัดไฟไหม้อยู่ 3 พรรษา ในพรรษาที่ 4 ย้ายมาอยู่ที่วัดนางชี คลองด่าน ในสมัยพระครูศีลขันธ์สุนทร เป็นเจ้าอาวาส ในพรรษาที่ 11 ย้ายจากวัดนางชี มาอยู่วัดนาคปรก อีก 10 พรรษา จนถึงปีพ.ศ.2455

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2455 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีชวด สมเด็จพระวันรัต (เผื่อน) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (ขณะดำรงสมณศักดิ์ที่พระศากยปุตติยวงศ์) กับ พระพุทธพยากรณ์ วัดอัปสรสวรรค์ (ในขณะที่ดำรงสมณศักดิ์ที่พระครูพุทธพยากรณ์) ได้อาราธนาให้เป็นเจ้าอาวาสวัดคูหาสวรรค์วรวิหาร ในขณะดำรงพระฐานานุกรม พระปลัด

เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2458 ได้เป็นพระครูสัญญาบัตร ที่ "พระครูสังวรสมาธิวัตร" เนื่องในงานพระราชพิธีฉัตรมงคล ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ต้นรัชกาลที่ 6 ในขณะที่มีอายุได้ 44 ปี เมื่อวันที่ 21 มี.ค.2464 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ และเป็นเจ้าคณะหมวดคลองบางจาก อำเภอภาษีเจริญ เมื่อวันที่ 24 กันยายน 2464 ได้รับเลื่อนเป็นพระราชาคณะฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ "พระ วิสุทธิสารเถร" ถือพัดงาสาน

"หลวงพ่อผ่อง" เป็น 1 ใน 3 พระเกจิอาจารย์ของฝั่งธนบุรี ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ให้ความเคารพนับถือ โดยเป็นพระเถระ 1 ใน 4 รูปที่ได้ "พัดงาสาน" สมัยรัชกาลที่ 5 ประกอบด้วย 

1.หลวงปู่เอี่ยม วัดหนัง 
2.พระสังวราชุ่ม วัดราชสิทธิฯ (วัดพลับ) 
3.หลวงพ่อผ่อง วัดคูหาสวรรค์ 
4.หลวงปู่ปั้น วัดสะพานสูง

หลวงพ่อผ่องได้ชื่อว่าเป็นพระสมถะ สันโดษ ไม่สะสมทรัพย์สินใด สมัยยังมีชีวิตอยู่ ทุกๆ วันจะมีผู้คนมาท่านให้ช่วยรักษาโรคต่างๆ บางคนก็มาขอฝึกกรรมฐานและวิปัสสนา บางคนเป็นบ้าเสียสติมาให้ท่านอาบน้ำมนต์เพียงครั้งเดียวก็หาย ถึงขนาดร่ำลือกันว่า น้ำมนต์ของท่านศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก จะเป็นผีหรือเจ้าเข้าสิงก็ใช้ไล่ได้ดี หรือจะทางแคล้ว คลาด เมตตามหานิยม อยู่ยงคงกระพันชาตรีก็เป็นยอด

วัตถุมงคลประเภทพระเครื่องและเครื่อง รางของขลังที่ท่านสร้างแจกยุคแรก ส่วนใหญ่จะเป็นประเภท "ตะกรุดและผ้ายันต์" ซึ่งปัจจุบันหายากมาก

ส่วนวัตถุมงคลยอดนิยม คือ "พระสมเด็จเล็บมือ" มีอยู่ด้วยกัน 2 รุ่น คือ รุ่นแรกสร้างประมาณปี พ.ศ.2457 ด้านหลังนูนเรียบ ไม่ปรากฏลวดลายหรืออักขระเลขยันต์คดๆ ส่วนรุ่นสอง สร้างประมาณปี พ.ศ.2464 ด้านหลังจะปรากฏอุณาโลมประทับอยู่ จำนวนสร้างทั้งสองรุ่นประมาณกันว่าคงไม่เกิน 5,000 องค์ 

พุทธลักษณะมีกรอบพิมพ์เป็นรูปคล้ายครอบแก้วหรือปลายนิ้วมือ มีรูปพระพุทธปางขัดสมาธิเพชรเห็นสังฆาฏิประทับอยู่เหนือฐาน ซึ่งเป็นขีดหนา เนื้อพระเป็นผงสีขาวนวล ละเอียดแห้ง 

พระสมเด็จเล็บมือ หลวงพ่อผ่อง มีพุทธคุณโดดเด่นทางด้านเมตตามหานิยม ค้าขายร่ำรวย แม้ปัจจุบันจะไม่โด่งดังเหมือนพระเครื่องของพระเกจิอาจารย์รูปอื่น อีกทั้งพระเครื่องของท่านมีจำนวนน้อย ส่วนใหญ่จะอยู่ในครอบครองของชาวฝั่งธนบุรี โดยเฉพาะชาวภาษีเจริญและใกล้เคียง

หลวงพ่อผ่อง ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดคูหา สวรรค์ได้ 16 ปี แม้หลวงพ่อผ่องจะอายุไม่สูงวัย แต่มีอาการอาพาธบ่อยครั้ง สุดท้ายได้มรณภาพอย่างสงบ เมื่อวันที่ 30 พ.ย.2471 สิริอายุ 57 ปี พรรษา 35 

แม้ท่านจะละสังขารไปแล้ว แต่คุณงามความดีของท่านยังจะคงปรากฏอยู่ในใจของพุทธศาสนิกไปตราบนานเท่านาน


*************************

เรื่องโดย : ข่าวสดออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




ในหลวง พระราชทาน สมณศักดิ์พิเศษ 2 รูป

เนื่องในโอกาสมหามงคลที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทรงเจริญพระชนมายุ 100 พรรษา 3 ตุลาคม 2556 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานตั้งสมณศักดิ์ พระราชาคณะชั้นสามัญเป็นกรณีพิเศษ เพื่อถวายพระเกียรติแด่สมเด็จพระสังฆราช 2 รูป ได้แก่ พระดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร เป็น พระศากยวิสุทธิวงศ์ และ พระครูอนุกูลกาญจนกิจ (บุญเพิ่ม อานนฺโท) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งเป็นวัดที่สมเด็จพระสังฆราชเคยบรรพชาเป็นสามเณร เป็น พระสุวัฒนมงคล โดยจะมีพิธีรับพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ แต่งตั้งพระราชาคณะ ยังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ในวันที่ 3 ตุลาคม นี้

ดร. พระอนิลมาน เป็นชาวเนปาลที่บวชเป็นสามเณรในประเทศเนปาล และมาศึกษาพระธรรม ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ซึ่งเมื่ออายุครบบวชพระได้อุปสมบท ณ วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เป็นอุปัชฌาย์แล้วและได้ให้การอุปถัมภ์มาตั้งแต่เป็นสามเณร ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช และก็ยังสนองงานเจ้าประคุณสมเด็จจนกระทั่งบัดนี้

สำเร็จการศึกษาศาสนศาสตรบัณฑิต (ศน.บ) จาก คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ในปี 2525 และศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยตรีภูวัน ประเทศเนปาล ในปี 2530 นอกจากนี้ยังได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านมานุษยวิทยาสังคม จากวิทยาลัยไครสต์คอลเลจ (Christ College) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ โดยทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในปี 2537 แล้วศึกษาต่อระดับปริญญาเอก ด้านมานุษยวิทยาสังคม จากมหาวิทยาลัยบรูเนล กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ โดยทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอีกเช่นกัน โดยสำเร็จในปี 2543

ปัจจุบันนี้ดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยฝ่ายการต่างประเทศ

ขณะเดียวกันที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระครูสังฆสิทธิกร หัวหน้าฝ่ายศาสนวิเทศ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา ในวันที่ 3 ตุลาคม นี้ ทางวัดบวรนิเวศวิหาร จะมีการจัดกิจกรรมพิเศษตั้งแต่วันที่ 1-7 ตุลาคม เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ โดยจะมีการจัดนิทรรศการ 4 มิติ นำบันทึกส่วนพระองค์ และพระนิพนธ์มาจัดแสดง โดยผู้ที่เข้าชมนิทรรศการจะได้รับการประพรมน้ำพระพุทธมนต์ที่มีการนำหัวเชื้อน้ำพระพุทธมนต์ของทางวัดบวรฯ อายุ 100 ปีมาผสมด้วย

พระครูสังฆสิทธิกร กล่าวต่อไปว่า สำหรับวันที่ 1-3 ตุลาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงรับงานบำเพ็ญพระกุศล สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่วัดบวรฯ โดยวันที่ 1 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีจะมาเป็นประธานในพิธีทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ 200 รูป และลงนามถวายพระพรสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรฯ พร้อมทั้งเปิดประชุมเสวนาพระธรรมทูต 4 ทวีป ด้วย ในส่วนวันที่ 3 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันประสูติสมเด็จพระสังฆราช เวลา 13.30น. ที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะมีการเจริญพระพุทธมนต์นพเคราะห์ จากพระสงฆ์ 101 รูป ถวายเป็นพระกุศล จากนั้นเวลา 17.30น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลถวายเป็นกรณีพิเศษที่พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

หัวหน้าฝ่ายศาสนวิเทศ กล่าวอีกว่า ขณะที่ในส่วนของรพ.จุฬาลงกรณ์ ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช ประทับรักษาอาการพระประชวรอยู่ที่ชั้น 6 ตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบารนั้น เวลา 15.30น. วันที่ 3 ตุลาคม สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯเป็นประธานในการทอดผ้าป่าจัดหาทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ให้ตึกภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาฯ จากนั้นจะเสด็จฯเข้าถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้ ภายหลังสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จฯกลับ จะเปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้าลงนามถวายพระพรที่บริเวณชั้น 1 และชั้น 6 ตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาร โดยผู้ที่ลงนามถวายพระพรที่ชั้น 6 จะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช อย่างใกล้ชิด โดยจะมีกระจกกั้นอยู่ระหว่างที่ลงนามถวายพระพร กับห้องประทับ เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ต้องประทับอยู่ในห้องปลอดเชื้อเพื่อรักษาอาการพระประชวร โดยจะเปิดให้ลงนามถวายพระพรจนถึงเวลา 18.00น.

ด้านพระราชรัตนมงคล ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ประทานพระอนุญาตให้สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ดำเนินการจัดสร้าง พระผงของขวัญ 100 ปี ญสส. หรือ สมเด็จพระบรมพุทโธโพธิสัตว์ จำนวน 84,000 องค์ เพื่อประทานให้แก่พุทธศาสนิกชนที่มาลงนามถวายพระพรยังสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ระหว่างวันที่ 1-7 ตุลาคม 2556

“พระผงของขวัญ 100 ปี ญสส. มีพุทธลักษณะที่งดงาม ด้านหน้าเป็นหลวงปู่ทวดนั่งสมาธิอยู่หน้าพระประธาน ด้านหลังประดิษฐานพระนามย่อ ญสส. ผิวพระผงออกสีน้ำตาลเข้ม หรือผงหว่าน การสร้างพระผงของขวัญครั้งนี้ ได้รวบรวมมวลสารอันเป็นมงคลจากทั่วประเทศ จำนวน 6,000 มวลสาร ประกอบด้วยมวลสารพระสมเด็จรุ่นต่างๆ เช่น สมเด็จวัดระฆัง สมเด็จบางขุนพรหม เป็นต้น ซึ่งนอกจาก จะประทานให้แก่ ผู้มาถวายพระพรแล้ว ส่วนหนึ่งได้ประทานให้ตำรวจทหารและข้าราชที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามจังหวัดชายแดนทั่วประเทศด้วย

ในวันเดียวกันที่ห้องประชุมคณะล่าง พระโสภณคณาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร และเลขานุการมูลนิธิสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช กล่าวว่า วัดบวรฯรวมกับมูลนิธิภาพถ่ายแห่งประเทศไทย จัดประกวดภาพถ่ายงานฉลองพระชนมายุ 100 พรรษา โดยเปิดให้ประชาชนส่งภาพถ่ายกิจกรรมของงานฉลองพระชันษา 100 ปีตั้งแต่วันที่ 1-7 ตุลาคม 2556 รวมทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นทั่วประเทศ โดยแต่ละคนสามารถได้ไม่เกิน 10 ภาพ ซึ่งประชาชนที่สนใจ ส่งภาพได้ตั้งแต่วันที่ 10 -30 ตุลาคม ยังสถานปฏิบัติธรรมเฉลิมพระเกียติ วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ซึ่งประกาศผล 15 พฤศจิกายนนี้ อย่างไรก็ตาม หลังจากประกาศผลแล้ว จะมีการรวบรวมภาพจัดพิมพ์เป็นหนังสือภาพ และมีการจัดทำฉบับพิเศษปกทองคำ เพียงเล่มเดียว เพื่อทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันพุธที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2556

เปิดตัวพุทธการ์ตูน พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช เล่มแรกของไทย


เมื่อวันที่ 25 ก.ย.2556 ที่ห้องประชุมชั้น 6 บริษัท ไทยนครพัฒนา จ.นนทบุรี กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) ร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และมูลนิธิวีระภุชงค์ เปิดตัว “หนังสือจิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” เพื่อเทิดพระเกียรติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในโอกาสเจริญพระชันษา 100 ปี 3 ตุลาคม 2556 โดยมี นายสนธยา คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) พระดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช ดร.สุภชัย วีระภุชงค์ กรรมการมูลนิธิวีระภุชงค์ และพระธีรโพธิภิกขุ หรือพระอาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์ ประธานชมรมธุลีไท ร่วมแถลงข่าว

พระดร.อนิลมาน กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆ ปริณายก ทรงเจริญพระชันษา 100 ปี 3 ตุลาคม 2556 รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมใจจัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติพระองค์ท่าน ระหว่างวันที่ 1-7 ตุลาคม 2556 ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ในการบำเพ็ญพระราชกุศล เป็นกรณีพิเศษ ณ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ สมเด็จพระสังฆราชในวันที่ 3 ตุลาคม โดยมีการนิมนต์พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ สวดเจริญพระพุทธมนต์ ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน และสมเด็จพระสังฆราช เป็น สังฆราช ที่มีพระชันษายืนยาวที่สุดในโลก ด้วย

พระดร.อนิลมาน กล่าวต่อไปว่า ส่วนการอัญเชิญพระนิพนธ์ "จิตตนคร" ซึ่งเป็นผลงานพระนิพนธ์ในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ได้นิพนธ์ไว้เมื่อ ปี 2513 มาจัดทำเป็นหนังสือพุทธการ์ตูนเล่มแรกของสมเด็จพระสังฆราช ที่เรียกว่า หนังสือจิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร ขึ้น นับเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา โดยได้ถอดเรื่องราวจากหนังสือ จิตตนคร ซึ่งสมเด็จพระสังฆราช พระองค์ได้นำหลักพระธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา

เรื่องจิตและธรรมะที่เกี่ยวกับจิตในแง่มุมต่างๆ มาผูกเป็นเรื่องราวในทำนองบุคลาธิษฐาน ถือว่า เป็นวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาชิ้นเอกของโลก เนื่องจากในประเทศพระพุทธศาสนาอย่าง พม่า ศรีลังกา ที่สร้างวรรณกรรมไว้อย่างมากมาย ก็ยังไม่มีวรรณกรรมที่ลึกซึ้งทางพระพุทธศาสนาเช่นนี้ ที่ให้ผู้อ่านเข้าใจในเรื่องจิตและการปฏิบัติทางจิต โดยสมเด็จพระสังฆราช ได้ถอดความมาจาก พุทธสุภาษิต ที่ว่า อยากให้รักษาจิตเหมือนกับนคร คำเดียวเท่านั้น อย่างไรก็ตาม หากหน่วยไหนสนใจสามารถนำไปจัดพิมพ์ เพื่อใช้แจกให้ประชาชนได้เรียนรู้ได้ด้วย

นายสนธยา กล่าวว่า สวธ. ได้ร่วมกับสถาบันโพธิคยาวิชชาลัย 980 และมูลนิธิวีระภุชงค์ ให้การสนับสนุนการจัดพิมพ์หนังสือจิตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร จำนวน 15,000 เล่ม เพื่อถวายเป็นสักการบูชาและถวายเป็นพระกุศลแด่สมเด็จพระสังฆราช อีกทั้งเล็งเห็นในคุณค่าของหนังสือ “จิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” ว่าสามารถเผยแผ่พระธรรมคำสอนให้เข้าถึงประชาชน โดยเฉพาะเยาวชนไทยได้ง่ายขึ้น ซึ่งไม่เฉพาะแต่ผู้ที่นับถือพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เป็นหลักปฏิบัติอย่างสากล ถือเป็นหนังสือแห่งยุคที่เชื่อว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่รูปแบบอื่นได้อีก เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคมโลกต่อไป

พระธีรโพธิภิกขุ หรือ พระอาจารย์ธีระพันธุ์ ลอไพบูลย์ ประธานชมรมธุลีไท กล่าวว่า ได้อ่านหนังสือเรื่อง "จิตตนคร" จึงเกิดแรงบันดาลใจในการคิดแปลงเนื้อหาธรรมในเรื่องจิตตนครออกมาเป็นภาพการ์ตูน เพื่อให้ผู้อ่านทั่วไปโดยเฉพาะเยาวชนได้รับความรู้ ความซาบซึ้งในพระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยอาศัยภาพเป็นสื่อ “จิตตกรรมเล่าเรื่องจิตตนคร” จึงถือกำเนิดขึ้นโดยการนอบน้อมต่อทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระอริยสงฆ์อย่างแท้จริง

“ผลงานในครั้งนี้แม้จะทำออกมาในรูปแบบของนิยายภาพ เรียกว่า “จิตตกรรม”มากกว่า เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า “จิตตนคร” ที่พระสังฆราชได้พระนิพนธ์เอาไว้ เพราะครั้งนี้ไม่ใช่การวาดรูปปกติ แต่เป็นการวาดรูปโดยใช้ภาวะจิตในการตีความบทธรรมคำสอนในเรื่องให้ออกมาเป็นภาพที่สื่อความหมายไม่ผิดเพี้ยนไปจากต้นฉบับเดิม ที่สมเด็จพระสังฆราช ทรงอุปมา "กาย" ของมนุษย์เป็นเมืองหนึ่งชื่อว่า "จิตตนคร" โดยมี "จิต" เป็นเจ้าเมือง มีบริวารคนสนิทอยู่ 2 คน คนแรกฝ่ายขาวชื่อว่า "คู่บารมี" คอยห้ามปรามตักเตือนเจ้าเมืองไม่ให้ทำสิ่งไม่ดี บริวารอีกคนชื่อ "สมุทัย (ต้นเหตุแห่งทุกข์)" ด้านดำที่หนุนให้เจ้าเมืองทำตามกิเลสในทางไม่ดีตาม โลโภ โมโห และโทโส ที่เป็นลูกน้องของสมุทัยอีกทีหนึ่ง ซึ่งเนื้อเรื่องสนุกน่าติดตาม และสิ่งสำคัญคือเนื้อหาที่ทรงพระนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ปี 2513 ไม่ได้ล้าสมัยแม้แต่น้อย” พระธีรโพธิกล่าว

ในวันเดียวกันที่กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) สมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธาน ในพิธีเปิดโครงการส่งเสริมปฎิบัติธรรม สังฆราชบูชา ตลอดพรรษกาล 2556 ฉลองพระชันษา 100 ปี สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก 3 ตุลาคม 2556 เพื่อเทิดพระเกียรติ และถวายเป็นพระกุศล ในฐานะที่ทรงมีคุณุปการต่อพุทธศาสนิกชนและประเทศชาติโดยมี นายสุระ เตชะทัต ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายปรีชา กันธิยะ อธิบดีกรมการศาสนา พร้อมด้วยวัฒนธรรมจังหวัด 76 ทั่วประเทศร่วมกิจกรรม


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

วัวธนู ควายธนู เครื่องรางคู่สังคมไทย

วัวธนู ควายธนู เป็นเครื่องรางตามความเชื่อทางไสยศาสตร์ สะท้อนให้เห็นระบบความเชื่อทางไสยศาสตร์ของสังคมเกษตรกรรม อันมีความผูกพันกับวัฒนธรรมข้าว ซึ่งเลี้ยงวัวควายไว้ใช้งานในด้านการเกษตร วิชาเหล่านี้เป็นการทำหุ่นพยนต์รูปแบบหนึ่ง หุ่นพยนต์สามารถทำได้ทั้งรูปคนและสัตว์ ที่นิยมมีทั้งวัวธนูและควายธนู สามารถสร้างได้หลายวิธี เช่น สานจากไม้ไผ่ ปั้นด้วยดินผสมมวลสาร ปั้นจากขี้ผึ้ง ไปจนถึงหล่อขึ้นด้วยโลหะอาถรรพณ์ เช่น ตะปูโลงศพเจ็ดป่าช้า, เหล็กขนันผีพราย, เหล็กยอดเจดีย์ เป็นต้น เอามาหลอมรวมกันหล่อเป็นรูปควาย

บางสำนักใช้โครงเป็นไม้ไผ่แล้วพอกด้วยครั่งที่ได้จากต้นพุทรา เมื่อทำสำเร็จแล้วต้องปลุกเสกตามพิธีกรรม แล้วเลี้ยงไว้ให้ดี ต้องหาหญ้าและน้ำเลี้ยงเสมอ เชื่อว่าสามารถใช้ให้เฝ้าบ้านหรือไร่นา ใช้งานได้ตามความประสงค์ ทั้งป้องกันภูตผีและโจรผู้ร้าย และสามารถสั่งให้ไปสังหารคู่อริได้อีกด้วย มีคาถาใช้เสกเมื่อทำควายธนูว่า โอมปู่เจ้าสมิงไพร ปู่เจ้ากำแหงให้กูมาทำควาย เชิญพระอีศวรมาเป็นตาซ้าย เชิญพระอาทิตย์มาเป็นตาขวา เชิญพระนารายณ์มาเป็นเขา เชิญพระอินทร์เจ้าเข้ามาเป็นหาง เชิญพระพุทธคีเนตร์ พระพุทธคีนายมาเป็นสีข้างทั้งสอง เชิญพระจัตตุโลกบาลทั้งสี่มาเป็นสี่เท้า เชิญฝูงผีทั้งหลายเข้ามาเป็นไส้พุง นะมะสะตีติ

ความเชื่อเรื่อง ควายธนู มีอยู่ทุกภาคของประเทศไทย บางท้องถิ่นเชื่อว่าผู้เลี้ยงต้องดูแลอย่างดีหมั่นให้อาหาร และปล่อยออกไปท่องเที่ยว จะประมาทหลงลืมไม่ได้ ไม่เช่นนั้นควายธนูจะหวนมาทำร้ายเจ้าของเสียเอง แต่บางแห่งก็ถือเป็นเสมือนเครื่องรางธรรมดาสำหรับใช้พกพาติดตัว การสานวัวหรือควายธนูที่ทำจากไม้ไผ่นั้นมีแบบมาจากสายพ่อค้า การทำธนูมือแต่วัวหรือควายธนูนี้จะแรงมากก็คือ การปราบเสือเย็น (เสือสมิง) และยังใช้ทำน้ำมนต์ประพรมสิ่งของขายดีต่างๆ นานา เพราะแบบนี้จึงเป็นสายพ่อค้าแต่แบบไหนก็ใช้ได้เหมือนกัน อาจต่างที่รูปมวลสารอาจเป็นผงเป็นโลหะไม้ไผ่แล้วแต่เจตนาของผู้สร้าง


วัตถุอาถรรพณ์ที่ใช้สร้างวัวธนู-ควายธนู แต่ละชนิดออกไปดังนี้ 

๑.วัวทอง เป็นวัวธนูชั้นหนึ่ง สร้างขึ้นด้วยโลหะอาถรรพณ์ มีตะปูตรึงโลงศพ เหล็กขนัน ผีตายท้องกลม งั่ง (ตัวยาซัดทองชนิดหนึ่ง) ทองแดงเถื่อน ดีบุก ทองขวานฟ้า เงินปากผี ทองยอดนพศูนย์ นำมาหล่อหลอมเข้าด้วยกัน แล้วลงอักขระตามตำราที่ใช้บังคับ หรือหล่อเป็นโคถึกหรือกระทิงโทน

๒.วัวขี้ผึ้ง เป็นวัวธนูชั้นสอง ท่านให้ใช้ขี้ผึ้งปิดหน้าผีตายโหง ผีตายท้องกลม ผสมด้วยผมผีตายพราย ผมผีตายลอยน้ำ ตานกกรด ตาแร้ง ตาชะมด กำลังวัวเถลิง เผาไฟให้ไหม้บดเป็นผง ผสมกับเถ้ากองฟอนเจ็ดป่าช้าแล้วนำไปคลุกกับขี้ผึ้งปั้นเป็นรูปวัวหรือความก็ได้ เสกด้วยอาการ ๓๒ บางตำราเพิ่มคนเลี้ยงอีก ๑คน

๓.วัวไม้ไผ่ เป็นวัวธนูชั้นสาม ใช้ชั่วคราวในเวลาฉุกเฉิน ให้ใช้ไม้ไผ่ที่ขึ้นคร่อมทาง กลั้นหายใจตัดด้วยนะโมตัสสะ กะทีเดียวให้ขาดจากกัน นำมาสานเป็นรูปหัววัว คล้ายเฉลวปักหม้อยาแผนโบราณ


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันเสาร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2556

สำเร็จแล้ว!! คัมภีร์อรรถกถา อักษรธรรมล้านนา


ในพระพุทธศาสนามีคัมภีร์ที่สำคัญ คือ พระไตรปิฎก และมีคัมภีร์ที่สำคัญรองลงมา คือ อรรถกถา เพราะเป็นคัมภีร์ที่ อธิบายความอันเป็นเนื้อหาสาระในพระไตรปิฎก โดยเรียกท่านผู้แต่งคัมภีร์เหล่านี้ว่าพระอรรถกถาจารย์ เป็นคัมภีร์ที่มีมาแต่โบราณ มีทั้งอรรถกถาพระวินัย อรรถกถาพระสูตร และอรรถกถาพระอภิธรรม ซึ่งท่านผู้แต่งต้องการอธิบายความในพระไตรปิฎกให้เข้าใจง่ายขึ้น โดยการอธิบายของท่านนั้นจะยกเอาบางเรื่อง บางตอน มาอธิบายขยายความให้ชัดเจนมากขึ้น แล้วยังแสดงทัศนะ และข้อวินิจฉัยไว้ให้ด้วย ทำให้ผู้ศึกษาไม่ต้องไปตีความเอง บางเรื่องมีในพระไตรปิฎก แต่ในอรรถกถาไม่อธิบายขยายความไว้ เพราะท่านเห็นว่าเนื้อหาส่วนนั้นผู้ศึกษาเข้าใจได้ง่ายอยู่แล้ว คณะสงฆ์ไทยใช้อรรถกถาหลายเล่มมาเป็นหลักสูตรการศึกษาภาษาบาลีของคณะสงฆ์จนถึงปัจจุบันนี้ ดังนั้น อรรถกถาจึงเป็นคัมภีร์ที่น่าศึกษาค้นคว้า และใช้เป็นหลักฐานอ้างอิงในการศึกษาพระพุทธศาสนาได้เป็นอย่างดีเพราะเป็นคัมภีร์ที่อยู่คู่กับพระพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน เบื้องต้นอรรถกถามีการบันทึกไว้เป็นภาษาบาลีต่อมามีการแปลเป็นหลายภาษารวมทั้งภาษาไทย แต่ยังไม่มีการแปลเป็นอักษรธรรมล้านนาถึงจะมีบ้างที่โบราณจารย์ทำไว้บางคัมภีร์ บางผูก แต่ที่ยังคงเหลือก็ไม่ครบถ้วนบริบูรณ์

ล้านนาในอดีตเป็นอาณาจักรซึ่งตั้งอยู่ตอนบนของประเทศไทยโดยมีเมือง เชียงใหม่ เป็นราชธานีมีภาษา ตัวหนังสือ วัฒนธรรม และประเพณีเป็นของตนเอง กล่าวโดยเฉพาะด้านศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีพระมหาเถระที่มีความชำนาญภาษาบาลีและมีการแต่งคัมภีร์เป็นภาษาบาลีไว้อย่างมากมาย คือ พระสิริมังคลาจารย์ แต่ง มังคลัตถทีปนีเวสสันตรทีปนี จักรวาลทีปนี พระรัตนปัญญาเถระ แต่ง ชินกาลมาลีปกรณ์ พระโพธิรังษี แต่ง จามเทวีวงส์ สิหิงคนิทาน พระอุตตราม แต่ง วิสุทธิมรรคทีปนี พระญาณกิตติ แต่ง สมันตปาสาทิกาอัตถโยชนา ภิกขุปาฏิโมกขคัณฐิทีปนี และสีมาสังกรวินิจฉัย คำอธิบายอรรถกถา เป็นต้น ไม่มีพระสงฆ์ไทยยุคไหนจะมีความชำนาญ และแต่งคัมภีร์เป็นภาษาบาลีเท่ากับล้านนาได้ บางคัมภีร์ยังใช้เป็นหลักสูตรการเรียนการสอนของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน

ในสมัยของ พระเจ้าติโลกราช มหากษัตริย์องค์ที่ ๙ แห่งราชวงศ์มังราย พ.ศ.๒๐๒๐ ได้มีการประชุมสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลก ณ วัดมหาโพธารามหรือวัดเจ็ดยอด พระอารามหลวง ในปัจจุบัน โดยมี พระธรรมทินเถร เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ พระเจ้าติโลกราช เป็นประธานฝ่ายคฤหัสถ์ เป็นที่สันนิฐานกันว่าน่าจะใช้ภาษาล้านนาในการจารึกพระไตรปิฎกในครั้งนั้นเพราะทำกันในดินแดนล้านนา เมื่อเวลาผ่านไปจนถึงยุคปัจจุบันพระไตรปิฎกฉบับล้านนาที่ทำขึ้นในการทำสังคายนาครั้งที่ ๘ นั้นไม่หลงเหลือให้คนรุ่นหลังได้เห็นว่ามีเนื้อหาลักษณะและรูปร่างครบปิฎกทั้ง ๓ เป็นเช่นไร ต่อมา คณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่ วัดร่ำเปิง นำโดย พระเดชพระคุณ พระสุพรหมยานเถร (หลวงพ่อทอง) เจ้าคณะอำเภอฮอด และเจ้าอาวาสวัดร่ำเปิงได้ทำการชำระพระไตรปิฎกภาษาล้านนาที่มีอยู่ในคัมภีร์ของล้านนาและปริวรรตพระไตรปิฎกภาษาไทยบางส่วนที่ไม่มีในคัมภีร์ของล้านนาเป็นสำนวนภาษาล้านนาทำให้พระไตรปิฎกมีฉบับสำนวนภาษาล้านนาเกิดขึ้นและต่อมา พ.ศ.๒๕๓๙ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ โดยความอุปถัมภ์และอำนวยการของ พระเดชพระคุณ พระสุพรหมยานเถร (หลวงพ่อทอง) ได้ทำการปริวรรตพระไตรปิฎกจากภาษาไทยเป็นภาษาล้านนาอีกฉบับหนึ่งแต่คัมภีร์อรรถกถายังไม่มีการปริวรรตเป็นภาษาล้านนา

ปีพ.ศ.๒๕๕๕ เป็นวาระที่พุทธชยันตี คือ การตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าครบ ๒๖๐๐ ปีคณะสงฆ์จังหวัดเชียงใหม่นำโดย พระเดชพระคุณ พระเทพโกศล เจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดศรีโสดา พระอารามหลวง และ พระเดชพระคุณ พระธรรมมังคลาจารย์ วัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหารที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ เจ้าอาวาสวัดพระธาตุศรีจอมทองวรวิหาร เห็นว่าเป็นวาระพิเศษที่จะทำการปริวรรตคัมภีร์อรรถกถา และร่วมเฉลิมพระเกียรติในวาระที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุครบ ๗ รอบ ๘๔ พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีพระชนมายุครบ ๘๐ พรรษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มีพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา โดยใช้ อรรถกถา ฉบับสยามรัฐ ของมูลนิธิมหามกุฏราชวิทยาลัย จำนวน ๔๘ เล่ม ปริวรรตเป็นอักษรธรรมล้านนา และบันทึกลงแผ่น CD เพื่อความสมบูรณ์ทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถาที่เป็นภาษาล้านนา โดยมอบหมายให้ พระมหาดวงรัตน์ ตรตโนป.ธ.๙ พธ.ม. รองเจ้าอาวาสวัดบุพพาราม อ.เมืองเชียงใหม่ เป็นประธานดำเนินงาน ใช้เวลาในการปริวรรต ๑ ปี เศษ โดยโครงการนี้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ในการปริวรรต และให้ผู้เชี่ยวชาญภาษาล้านนาช่วยตรวจสอบทั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ และการพิมพ์อักษรธรรมล้านนาโดยมีคณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งจากเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ร่วมทำงานดังต่อไปนี้

คณะกรรมการที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

- เจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าคณะใหญ่หนเหนือ

- พระเดชพระคุณ พระวิสุทธิวงศาจารย์เจ้าคณะภาค ๗

- พระเดชพระคุณ พระธรรมคุณาภรณ์ รองเจ้าคณะภาค ๗

- พระเดชพระคุณ พระเทพวรสิทธาจารย์ รองเจ้าคณะภาค ๗

คณะกรรมการที่ปรึกษา

พระเทพวิสุทธิคุณ
พระเทพโกศล 
พระเทพปริยัติ 
พระเทพมังคลาจารย์พระราชสุตาภรณ์พระราชกิตติสุนทร 
พระราชสิงหวรมุนี
พระโพธิรังษีพระปิฎกโกศล 
พระวิมลญาณมุนี 
พระประชานาถมุนี 
พระวิมลมุนี 
พระครูสุนทรพรหมคุณ 
พระครูวรญาณมงคล
พระครูอินทญาณรังษี
พระครูประภัศร์ธรรมรังษี
พระครูอดุลสีลกิตติ์
พระครูวิบูลกิตติรักษ์ 
พระครูภาวนาวิรัช
พระครูสิริเจติยานุกูล

คณะกรรมการอำนวยการ

พระธรรมมังคลาจารย์ ประธาน
พระสุวรรณเมธี รองประธาน
พระอมรเวที รองประธาน
พระครูปลัดสุวัฒนวิสุทธิคุณ กรรมการ
พระครูวรปัญญาคุณ กรรมการ
ผศ.พระมหาบุญเลิศอินฺทปญฺโ กรรมการ

คณะกรรมการดำเนินงาน

พระมหาดวงรัตน์ ตรตโน ประธาน
พระศุภชัย ชยสุโภ รองประธาน
นายพิชัย แสงบุญ รองประธาน
นางชวนพิศ นภตาศัย กรรมการ
นายสุวิทย์ ใจจุ้ม กรรมการ
คณะกรรมการที่ปรึกษาภาษาบาลี –ไทย
พระศรีสิทธิเมธี ป.ธ. ๙ ประธาน
พระมหาวิฑูรย์ ภูริเมธี ป.ธ. ๙ รองประธาน
พระมหารัชวัตร ตาโภป.ธ. ๙ กรรมการ
พระมหาวีรศักดิ์ สุรเมธี ป.ธ. ๙ กรรมการ
พระมหาประจักษ์ ภูริวฑฺฒโน ป.ธ. ๙ กรรมการ
พระมหาพิภพจนฺทสิริ ป.ธ. ๙ กรรมการ
พระมหาวิเชียร วชิรเมธี ป.ธ. ๙ กรรมการ
พระมหาสกล วิโรจนกิตฺติ ป.ธ. ๙ กรรมการ
อ. เทวัญ เอกจันทร์ ป.ธ. ๙ กรรมการ
อ. เดชะ ผลชูศรี ป.ธ. ๙ กรรมการ
อ. กฤติ กิตติธารยังกูรป.ธ. ๙ กรรมการ

คณะกรรมการตรวจสอบภาษาบาลี-อักษรธรรมล้านนา

ผศ.ดร.วิโรจน์ อินทนนท์ ประธาน
รศ.พิเศษ ถาวร เสาร์ศรีจันทร์ รองประธาน
อ.ดุสิต ชวชาติ รองประธาน
พระมหาอัศนัยปุณฺณาโน กรรมการ
พระมหาวรเชษฐ์ มหาวีริโย กรรมการ
พระจตุพล จิตฺตสํวโร กรรมการ
พระจรินทร์ธมฺมวโร กรรมการ
แม่ชีผ่องพรรณ ล่องทอง กรรมการ
อ. เกริก อัครชิโนเรศ กรรมการ
อ. จำพงษ์ ตั้งตระกูล กรรมการ
ร.ต. ดุลศักดิ์ บัณฑิต กรรมการ
อ. ชัปนะ ปิ่นเงิน กรรมการ
อ. สุเมธ สุกิน กรรมการ
อ. สิทธิชัย พันชน กรรมการ

คณะกรรมการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์

รศ.ดร. ศุภชัย ตั้งวงศ์ศานต์ ประธาน
นางสาวบังอร กรวิรัตน์ รองประธาน
นายพิชัย แสงบุญ รองประธาน
นายณัฐพล บุญสม กรรมการ
นายเด่น ทัพซ้าย กรรมการ
นายอุปถัมภ์ ชมภู กรรมการ

คณะกรรมการกองงานเลขานุการ

พระมหายุวรัตน์ ยสิสฺสโร ประธาน
พระมหาสาทร ธมฺมาทโร รองประธาน
พระมหาประจักร ธมฺมวิภูโต รองประธาน
พระมหาสมบูรณ์ธมฺมทินฺโน กรรมการ
พระมหาสมพร ขนฺติธโร กรรมการ
พระเจริญ สุภทฺโท กรรมการ

ถึงแม้ว่า ภาษาล้านนา จะมีคนที่อ่านออกเขียนได้มีจำนวนน้อยลง และจำกัดอยู่ในเฉพาะกลุ่มแต่ก็เป็นภาษาที่ยังมีคนใช้อยู่ และยังเป็นภาษาของอาณาจักรแห่งนี้ในอดีตที่ผ่านมาซึ่งเป็นความภาคภูมิใจของชาวล้านนาเป็นอย่างยิ่งที่เรามีภาษาเป็นของตนเองทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน จึงสมควรที่จะรักษาให้ภาษานี้อยู่คู่กับประวัติศาสตร์ของชาวล้านนาตลอดไป

วัตถุประสงค์ของการปริวรรตคัมภีร์อรรถกถา

- เพื่อให้คัมภีร์อรรถกถามีการจารึกเป็นอักษรธรรมล้านนา
- เพื่อให้อักษรธรรมล้านนาจารึกครบทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา
- เพื่อเป็นแหล่งค้นคว้าของบุคคลผู้มีความสนใจในภาษาล้านนา

โดยใช้ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่เดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๕๕ - สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๖ และผลที่ได้รับจากการปริวรรต คือ

- คัมภีร์อรรถกถามีการจารึกเป็นอักษรธรรมล้านนา
- อักษรธรรมล้านนาจารึกครบทั้งพระไตรปิฎกและอรรถกถา
- เป็นแหล่งค้นคว้าของบุคคลผู้มีความสนใจในอักษรธรรมล้านนา


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันศุกร์ที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2556

เสี่ยอู๊ด ถูกอายัดทรัพย์ 23 ล้าน!!


ปปง.มีมติให้อายัดทรัพย์ของ นายสิทธิกร บุญฉิม หรือ เสี่ยอู๊ด เป็นเงินฝาก 4 บัญชี มูลค่ากว่า 23 ล้านบาท จากความผิดในคดีฉ้อโกงประชาชน ในการจัดสร้างและเช่าบูชา พระสมเด็จเหนือหัว ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงิน

สำหรับ นายสิทธิกร บุญฉิม หรือ เสี่ยอู๊ดได้รับโทษจำคุก 5 ปี ในคดีฉ้อโกงประชาชน ปัจจุบันได้พ้นโทษออกจากเรือนจำแล้ว ทั้งนี้ เลขาธิการ ปปง. ยังกล่าวว่า การอายัดทรัพย์เป็นเพียงการอายัดชั่วคราวไม่เกิน 90 วัน เพื่อตรวจสอบที่มาของทรัพย์สินจึงห้ามไม่ให้ผู้ใดยักย้ายทำให้เสียหาย ทำลายซ่อนเร้น 

ขณะเดียวกัน ปปง.อยู่ระหว่างการสืบสวนและรวบรวมพยานหลักฐานในคดีเพิ่มเติมเพื่อดำเนินการตามกฎหมาย หากพบว่า มีทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดก็จะเสนอต่อบอร์ดธุรกรรม เพื่อพิจารณา และมีมติยึดหรืออายัดทรัพย์ต่อไป


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ






วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร เกจิดังเมืองลพบุรี ละสังขารแล้ว

หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมเขาสามยอด หลังโรงพยาบาลอานันทมหิดล ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี ละสังขารแล้วอย่างสงบ ด้วยโรคชรา สิริอายุย่างเข้า 101 ปี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า "หลวงปู่เรือง อาภัสสะโร" เจ้าสำนักปฏิบัติธรรมเขาสามยอด เกจิอาจารย์ดังของเมืองลพบุรี ละสังขารอย่างสงบแล้วด้วยโรคชรา สิริอายุย่างเข้า 101 ปี เมื่อเวลา 19.29 น.วานนี้ (15 ก.ย. 56) ที่ห้อง ICU อาคารกัลยาณิวัฒนา โรงพยาบาลอานันทมหิดล ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี หลังเข้าพักรักษาตัวอยู่หลายวัน

สำหรับ "หลวงปู่เรือง" มีชื่อเดิมว่า บุญเรือง นามสกุล สุขสันต์ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 10 ม.ค. 2455 ที่บ้านดอนตระโกหัก ต.บ้านสร้าง อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี ต่อมาได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านสระข่อย ต.โคกปีบ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี บิดาชื่อ นายคำพันธ์ สุขสันต์ มารดาชื่อ นางศรี สุขสันต์ มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 8 คน เป็นชาย 5 คน และหญิง 3 คน หลวงปู่เรืองเป็นบุตรคนที่ 2 ต่อมาหลวงปู่ได้เข้ารับการศึกษาชั้นประถมศึกษาที่ ร.ร.ขุนโคกปีบปรีชา โดยมี คุณครูหลั่น ปราณี ผู้ทั้งเป็นครูสอนและครูใหญ่ จบ ป.4 ท่านเก่งทั้งภาษาไทยและภาษาขอม ท่านเป็นคนเรียนเก่ง จนทางราชการได้ให้เป็นผู้สอนหนังสือให้กับเด็กๆ ซึ่งในสมัยนั้นหาคนเรียนจบชั้น ป.4 ยากมาก

ต่อมาเมื่ออายุได้ 21 ปี ก็เข้าอุปสมบทตามประเพณีเพื่อทดแทนคุณบิดามารดา เมื่อวันศุกร์ ที่ 6 ก.ค. 2477 ณ วัดสระข่อย ต.โคกปีบ อ.ศรีมหาโพธิ จ.ปราจีนบุรี โดยมี พระสมุห์จำปา วัดสระข่อย อันเป็นเจ้าคณะหมวด (เจ้าคณะตำบลโคกปีบ) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูพัด ธัมมะธีโร วัดโคกมอญ (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดโคกไทย) ต.โคกปีบ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ฉัตร คังคะปัญโญ วัดต้นโพธิ์ ต.โคกปีบ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ อันมี พระครูพิบูล วัดท่าประชุม อ.ศรีมหาโพธิ์ เป็นเจ้าคณะแขวง (เจ้าคณะอำเภอศรีมหาโพธิ) ได้รับฉายาว่า "อาภสสโร" (อาภัสสะโร) จากนั้นได้จำพรรษาและศึกษาพระธรรมพระวินัยอยู่กับพระอุปัชฌาย์ที่วัดสระข่อย เป็นเวลา 10 พรรษา โดยได้อยู่รับใช้ปรนนิบัติพระอุปัชฌาย์ พร้อมทั้งศึกษาวิชาต่างๆ จากพระอุปัชฌาย์ จนเป็นที่รักและไว้วางใจยิ่งจากพระอุปัชฌาย์

ด้านการศึกษาธรรมะ หลวงปู่ได้เรียนนักธรรมชั้นตรี และสอบได้ในพรรษาแรกเลย (พ.ศ.2477) จากสำนักเรียนที่วัดของท่าน พรรษาที่ 2 (พ.ศ.2478) สอบได้นักธรรมโท พรรษาที่ 3 สอบได้นักธรรมเอก สอบได้ปีละชั้น ทั้งที่พรรษายังน้อย อายุแค่ 23 ปีเท่านั้น เมื่อท่านเรียนจบนักธรรมแล้ว พระอาจารย์ฉัตร วัดต้นโพธิ์ ให้ไปช่วยสอนธรรมะที่วัดต้นโพธิ์ ท่านก็ไปช่วยสอนอยู่ระยะหนึ่ง พร้อมกันนี้ ก็ได้ศึกษาวิชาบาลีมูลกัจจายน์ และวิชาโหราศาสตร์สมุนไพรใบยา พร้อมวิชาคาถาอาคมต่างๆ ไปด้วย จนพรรษาพ้น 10 พรรษาแล้ว ท่านเห็นว่าได้ศึกษาวิชาการพอที่จะปกครองตนเองได้แล้ว จึงออกธุดงค์แสวงวิเวก ประพฤติปฏิบัติธรรมไปตามที่ต่างๆ

หลังจากนั้น ระยะปลายสงครามโลกครั้งที่ 2 หลวงปู่ได้ออกเดินธุดงค์ขึ้นอีสาน แล้วกลับมาอยู่ที่ จ.ลพบุรี ที่ถ้ำพิบูลย์ ในปี พ.ศ. 2489 (พรรษาที่ 13) หลวงปู่เรืองได้จำพรรษาที่ ถ้ำพิบูลย์ 5 พรรษา ต่อมาทางทหารได้มานิมนต์ให้ท่านไปอยู่วัดที่สร้างใหม่ เป็นที่เจริญ และใหญ่โตกว่าที่เดิม อีกทั้งไม่กันดาร เพราะที่ท่านอยู่นี้เป็นเขตของทหาร และทหารซ้อมยิงอาวุธอยู่บ่อยๆ เกรงว่าจะเป็นอันตรายได้ อีกอย่างในหน้าแล้งกันดารน้ำมาก จึงขอให้ไปอยู่ที่วัดที่สร้างใหม่ แต่หลวงปู่ไม่ไป กลับเก็บกลดสะพายย่าม ธุดงค์เข้าป่าลึกไปเลย จนมาพบถ้ำพระอรหันต์ที่เขาสามยอด 2-3 ปีแรกหลวงปู่ไม่ได้บิณฑบาตเลย ท่านอยู่องค์เดียวมาตลอด ไม่มีใครมาพบเห็นท่านเลย หลวงปู่อยู่ได้อย่างไร? และฉันอะไร? จึงอยู่ได้

หลวงปู่ เล่าให้ฟังว่า ฉันยอดไม้ ใบไม้ โดยเฉพาะยอดโสม ซึ่งขึ้นอยู่บนเขามากมาย ก็ฉันมาตลอด อิ่มแทนข้าวก็อยู่ได้ ส่วนหน้าแล้งบนเขาไม่มีน้ำ แล้วหลวงปู่เอาน้ำที่ไหนดื่มและมาสรง (อาบ) หลวงปู่ บอกว่า ก็ตัดเถาวัลย์ให้น้ำไหลจากเถาวัลย์ เอากระติกรอง แล้วนำมาฉัน วันละนิดเดียวพอแก้กระหาย เพราะอยู่ในถ้ำ อากาศเย็น จึงไม่ต้องฉันบ่อยๆ ส่วนน้ำสรงก็ไม่ต้อง เพราะอะไร ก็เพราะเหงื่อไม่ค่อยออก กลิ่นตัวจึงไม่ค่อยมี ฝนตกทีก็ได้สรงกันที และอยู่ที่แห่งนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2493 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และได้สร้างวัตถุมงคลต่างๆ หลายรุ่น เป็นที่นิยมของบรรดานักสะสม และนำไปเป็นมงคลป้องกันตัว จนทำให้หลาวงปู่เรืองมีชื่อเสียงทางด้านเกจิอาจารย์ มีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมาก นิมนต์ไปอธิษฐานจิตในพิธีปลุกเสกหลายแห่ง และท่านยังได้บริจาคทรัพย์ช่วยเหลือสังคมอีกมากมายเช่นกัน


*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันพฤหัสบดีที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2556

พระพรหมเวที เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ยอดพระเถระนักปกครอง

พระพรหมเวที เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ยอดพระเถระนักปกครอง สถิตอารามหลวง วัดไตรมิตร มหามณฑป หลวงพ่อทองคำ ศักดิ์สิทธิ์

พระเดชพระคุณ พระพรหมเวที กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดไตรมิตร สุดยอดพระนักปกครอง พระมหาเถระผู้ครองตำแหน่ง เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ดูแลคณะสงฆ์ทั่วภาคอีสาน ด้วยประสบการณ์ฐานะเจ้าคณะภาค 8 บริหารจังหวัดอุดรธานี หนองคาย สกลนคร เลย หนองบัวลำภู บึงกาฬ

ท่านจัดเจนในโซนภาคนี้มาก่อน จึงทำให้ลึกซึ้งล่วงรู้อุปสรรคปัญหา มากกว่าใคร อีกทั้งยังเน้นด้านการศึกษา สงเคราะห์พระเณร ด้านการเรียนทั้งทางโลกและทางธรรม อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

ส่งผลให้พระเณรภาคนี้มีวิถีปฏิบัติที่ดีงามเปี่ยมคุณภาพ พุทธศาสนิกชนให้ความไว้วางใจ มีศรัทธาถ้วนหน้า งานในอดีตที่ท่านเจ้าคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์เกี่ยว ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ท่านวางรากฐานไว้ ค่อนข้างหนักแน่น เพราะภาคนี้เป็นภาคใหญ่ มีพระจำนวนมาก พระผู้ปกครองต้องเข้มแข็ง มากเมตตา และต้องทำงานด้วยความเสียสละจริงใจ

คุณสมบัติเยี่ยงนี้ พระเดชพระคุณ พระพรหมเวที ท่านเพียบพร้อมเต็มพิกัด จึงได้รับความไว้วางใจจากกรรมการมหาเถรสมาคมทุกรูป ลงมติมอบตำแหน่งนี้ให้ท่านดูแลพระสงฆ์จังหวัดในหนตะวันออก 20 จังหวัด อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ชัยภูมิกาฬสินธุ์ ขอนแก่น เลย มหาสารคาม มุกดาหาร นครพนม นครราชสีมา หนองบัวลำภู หนองคาย ร้อยเอ็ด สกลนคร ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุบลราชธานี อุดรธานี ยโสธร บึงกาฬ ทั้ง 20 จังหวัดนี้ ถือเป็นงานท้าทาย พระเดชพระคุณ พระพรหมเวที เป็นอย่างยิ่ง

กล่าวสำหรับอัตตะโนประวัติ พระพรหมเวที มีนามเดิม สนิท นามสกุล วงษา เกิดเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2485 ณ บ้านเลขที่ 28 หมู่ที่ 6 ตำบลดงน้อย อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา อุปสมบทเมื่อวันที่ 15 เมษายน พ.ศ. 2506 ณ วัดเกาะแก้วเวฬุวัน อำเภอราชสาส์น จังหวัดฉะเชิงเทรา โดยมี พระอดุลสารมุนี วัดท่าเกวียน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา เป็นพระอุปัชฌาย์

จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนวัดเกาะแก้วเวฬุวัน อำเภอพนมสารคาม จบชั้น มศ.3 โรงเรียนปริยัติธรรมวัดไตรมิตร (สาขา 1 วัดท่าเกวียน) สอบไล่ได้นักธรรมชั้นเอก สำนักเรียนวัดท่าเกวียน สอบไล่ได้เปรียญธรรม 9 ประโยค สำนักเรียนวัดไตรมิตร ได้รับถวายปริญญาครุศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ โปรแกรมวิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตร เป็นรองเจ้าคณะภาค 8 พ.ศ. 2526 เป็นเจ้าคณะเขตป้อมปราบฯ-ปทุมวัน เป็นพระอุปัชฌาย์ ประเภทวิสามัญ เป็นเจ้าอาวาสวัดไตรมิตร เป็นเจ้าคณะภาค 8 เป็นหัวหน้าพระธรรมทูต สายที่ 5 เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก รับพระราชทานตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระศรีวีราภรณ์ พระราชาคณะชั้นราช ที่ พระราชวีราภรณ์ พระราชาคณะชั้นเทพ ที่ พระเทพปัญญาเมธี พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมปริยัติโสภณ พ.ศ. 2544 พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัณยบัฏ ที่ พระพรหมเวที


ในฐานะที่พระเดชพระคุณ พระพรหมเวที ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดไตรมิตร สิ่งที่เชิดหน้าชูตามากที่สุดคือ พระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (หลวงพ่อทองคำ) ประดิษฐาน ณ พระมหามณฑป สร้างเมื่อคราที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราช สมบัติครบ ๖๐ ปี พ.ศ. 2549 และทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษาในปี พ.ศ. 2550 ประชาคมนักธุรกิจเขตสัมพันธวงศ์ ชุมชนชาวไทยเชื้อสายจีน ร่วมกับวัดไตรมิตรและพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย จึงได้จัดสร้างพระมหามณฑปประดิษฐานพระพุทธมหาสุวรรณปฏิมากร (หลวงพ่อทองคำ) ขึ้น ด้วยความวิจิตรงดงามควรค่าแก่องค์หลวงพ่อทองคำ อีกทั้งยังเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในโอกาสอันเป็นมหามงคลนี้ด้วย

บัดนี้มณฑปหลวงพ่อทองคำ โดดเด่นต้องตาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ นับเป็นสถานที่ท่องแดนธรรม ที่มีชื่อเสียงระดับโลก อีกทั้งมีการรังสรรค์พระมหามณฑปให้ยิ่งใหญ่ สมฐานะบารมีขององค์หลวงพ่อทองคำ มีเอกลักษณ์พิเศษคู่ควรกับกับการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพุทธศิลป์ละเอียดพิถีพิถัน มีอัจฉริยะภาพทางศิลปะระดับชาติในหลากหลายสาขามาร่วมกัน สร้างสรรค์พุทธสถาปัตกรรมทรงคุณค่าตามหลักปรัชญา

สมฐานะบารมีหลวงพ่อทองคำ น่าเกรงขาม เป็นภูมิสถาปัตยกรรมใหม่ของย่านเยาวราช เป็นมรดกทางวัฒนธรรมชั่วลูกหลาน และพร้อมสรรพด้วยพิพิธภัณฑ์ชุมชน ที่สมบูรณ์แบบที่สุด

และเนื่องด้วยล่าสุด พระอุโบสถ วัดไตรมิตร หลังปัจจุบัน มีสภาพชำรุดทรุดโทรม ไม่ได้มีการบูรณะมาเป็นระยะเวลานาน บัดนี้ พระเดชพระคุณ พระพรหมเวที เจ้าอาวาส จึงมีมติเห็นสมควรให้มีการบูรณะปฏิสังขรณ์ครั้งใหญ่ เพื่อเป็นการทำนุบำรุงศาสนสถานประจำวัดไตรมิตรให้มั่นคงถาวรสืบต่อไปในอนาคตกาล และเพื่อเป็นการปรับภูมิทัศน์ของสถาปัตยกรรมโดยรอบให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับพระมหามณฑปเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา อันเป็นสถานที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทองคำสุโขทัยไตรมิตร "พระพุทธสุวรรณมหาปฏิมากร" จึงได้มีการปิดพระอุโบสถเพื่อรื้อถอน ซ่อมแซม และบูรณะ เป็นระยะเวลา (อย่างน้อย) 6 เดือน โดยเริ่มจากเดือนกันยายน พ.ศ. 2556 นี้ จึงขอแจ้งพุทธศาสนิกชนทุกท่านให้ได้ทราบ และหากท่านได้เดินทางมาที่วัด เพื่อนมัสการหลวงพ่อโต "พระพุทธทศพลญาณ" พระประธานในพระอุโบสถ แล้วพบว่า ไม่สามารถเข้าไปเยี่ยมชมหรือนมัสการสักการะได้ ทางวัดต้องขออภัยในความไม่สะดวกในครั้งนี้เป็นอย่างสูง


*************************

เรื่องโดย : น้าวี ศรีสุรา
เรียบเรียงโดย : โอมเพี้ยง เชี่ยงชุน



วันจันทร์ที่ 9 กันยายน พ.ศ. 2556

หลวงพี่น้ำฝน นำสวดพุทธคุณ 100 จบ ถวาย สมเด็จพระสังฆราชฯ

หลวงพี่น้ำฝน นำสวดพุทธคุณ 100 จบ ถวายพระมหากุศล สมเด็จพระสังฆราช 100 ชันษา ณ มณฑป บริเวณลาน Central World ราชประสงค์ พร้อมศิลปิน ดารา นักร้อง และพุทธศาสนิกชนไทย

เนื่องในวโรกาสวาระมหามงคลที่ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์พระสังฆบิดร ประมุขสงฆ์แห่งราชอาณาจักรไทย จะทรงเจริญพระชนมายุครบ 100 ชันษา ในปีพุทธศักราช 2556 นี้ คณะสงฆ์ และองค์กรทางพระพุทธศาสนาทั้งภาครัฐและเอกชน ต่างพร้อมใจกันจัดกิจกรรมอันเป็นมหากุศล เพื่อน้อมถวายเป็นพระกุศลฯ ในวโรกาสดังกล่าว

ทั้งนี้ สภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยในพระอุปถัมภ์ฯ ในส่วนเผยแพร่ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้ร่วมกับ สำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชฯ วัดบวรนิเวศวิหาร ได้จัดกิจกรรมเทิดพระเกียรติ โดยการ เจริญพุทธานุสติ ธรรมมานุสติ และสังฆานุสติ เผยแพร่ไปในหมู่ชาวพุทธ และเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยมีศิลปิน ดารา นักร้อง พุทธศาสนิกชนไทย เป็นสื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนในการร่วมกิจกรรมทำความดีน้อมถวายเป็นพระกุศลฯ

ในโอกาสอันเป็นมงคลนี้ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ ได้มีพระเมตตาทรงประทาน พระบรมสารีริกธาตุสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าฯ ให้แก่ พุทธศาสนิกชนชาวไทยผ่านสำนักเลขานุการสมเด็จพระสังฆราชฯ โดยสภาศิลปินส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทยฯ จะเป็นผู้รับ และอัญเชิญสมโภชในกิจกรรมต่างๆ ถวายเป็นพระกุศลในการนี้ด้วย

โดยจะอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า มาประดิษฐาน ณ มณฑป บริเวณลาน Central World ราชประสงค์ ในระหว่างวันที่ 15-19 กันยายน 2556

ในการนี้ ทางคณะกรรมการฯ ยังได้จัดกิจกรรมสวดพระพุทธมนต์บทต่างๆ 100 จบ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระบรมศาสดาผู้มีพระมหากรุณาธิคุณอันใหญ่หลวง และร่วมถวายเป็นพระมหากุศลแด่สมเด็จพระสังฆราชฯ ผู้ทรงมีคุณูปการอย่างยิ่งต่อวงการพระพุทธศาสนาทั้งในและต่างประเทศ

โดยได้กำหนดให้มีการสวดพระพุทธมนต์บทต่างๆ อาทิ บทสรรเสริญพุทธคุณ , บทพระคาถามหาจักรพรรดิ , บทพระคาถาอิติปิโสเรือนเตี้ย , บทพระคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้า (คาถาเงินล้าน) และบทสรรเสริญพุทธคุณของฝ่ายมหายาน ซึ่งจะนำสวดโดยสุดยอดพระเถระผุ้ทรงวิทยาคม

โดยกำหนดการภายในพิธีมีดังนี้ 

วันที่ 15 กันยายน 2556 หลังพิธีเปิดงาน พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม นำศิลปินดารา ประกอบด้วย หนุ่ม กรรชัย, เบ๊นซ์ พรชิตา, บิ๊ก บรมวุฒิ, พีช พชร จิราธิวัฒน์, ต้น AF, กระรอก เชิญยิ้ม และคณะ สวดพุทธคุณ 100 จบถวายพระกุศล

วันที่ 16 กันยายน 2556 เวลา 17.00 น. พระครูวิลาศกาญจนธรรม เจ้าอาวาสวัดท่าขนุน จ.กาญจนบุรี นำคณะสวดพระพุทธมนต์บทพระคาถาเงินล้าน 100 จบ

วันที่ 17 กันยายน 2556 เวลา 18.00 น. ครูบาหน่อแก้วฟ้า จ.นครราชสีมา นำคณะ สวดพุทธคุณแบบล้านนา จำนวน 100 จบ ถวายพระกุศลฯ

วันที่ 18 กันยายน 2556 เวลา 17.00 น. พิธีทอดผ้าป่าหนังสือธรรมมะ ถวายพระกุศลฯ โดย คุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย และคณะศิลปิน พร้อมสวดพุทธคุณ 100 จบ

วันที่ 19 กันยายน 2556 เวลา 18.00 น.คณะสวดมนต์พระพุทธศาสนามหายาน แบบจีนนิกาย สวดพุทธคุณแบบจีนนิกาย ถวายพระกุศลฯ และในเวลา 21.30 น. เชิญพระบรมสารีริกธาตุฯ จากพระมณฑป เพื่ออัญเชิญกลับ

ผู้มีจิตศรัทธาที่สนใจจะร่วมพิธีในครั้งนี้ สามารถเข้าร่วมพิธีได้ในวันและเวลาดังกล่าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร.082-791-9461, 088-090-0805


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันอังคารที่ 3 กันยายน พ.ศ. 2556

ความจริง!! กรณีตรวจฉี่พระ

โครงการตรวจสารเสพติด ‘ภิกษุ สามเณร’ จังหวัดนครปฐม
กิจกรรมดีๆช่วงเข้าพรรษา เพื่อบำบัดรักษา เพื่อความโปร่งใส ในหมู่คณะสงฆ์

ที่ผ่านมา ศูนย์ปฏิบัติการพระวินยาธิการ คณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม ได้มีการประชุมปรึกษาหารือ เพื่อหาข้อสรุป กับเหตุการณ์ผลกระทบด้านบวกและลบที่มีต่อความศรัทธาในพุทธศาสนิกชนและคณะสงฆ์ในจังหวัดนครปฐมโดยองค์รวมทั้งหมด และเพื่อเป็นการค้นหากิจกรรม จรรโลงวิถีปฏิบัติ ในการสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม สร้างความเคารพศรัทธา ที่ญาติโยมมีต่อพระพุทธศาสนา ในจังหวัดนครปฐม อย่างมั่นคงเข้มแข็งตลอดไป

ซึ่งในปัจจุบันต้องยอมรับความศรัทธาถดถอยไปตามกาลเวลา ด้วยมูลเหตุสำคัญ กล่าวคือเนื่องจากการนำเสนอข่าวสาร จากสื่อสารมวลชนในด้านลบ ที่ถูกนำเผยแพร่สู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่องนั้น ส่งผลให้คณะสงฆ์จังหวัดนครปฐมตื่นตัว ที่จะจัดทำโครงการดีๆมีสาระต่อสังคมส่วนรวม

ฉะนั้น คณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม จึงได้ข้อสรุปในที่ประชุม ลงมติให้ความร่วมมือจัดทำโครงการ นครปฐมวัดร่มเย็น เพื่อพัฒนา และดูแลคณะสงฆ์ตามวัดวาอารามต่างๆในจังหวัดนครปฐม โดยเน้นร่วมกันรังสรรค์ เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีงามของพระสงฆ์ ต่อสาธารณชน ด้วยความสะอาดและบริสุทธิ์จริงใจ

จุดประกาย จัดทำ “โครงการตรวจหาสารเสพติด ตรวจปัสสาวะ พระภิกษุ สามเณร ตามวัดวาอารามต่างๆ ทุกอำเภอในจังหวัดนครปฐม” โดยเฉพาะในช่วงเข้าพรรษา ในปี พ.ศ.2556 นี้ ซึ่งโครงการดังกล่าว นับเป็นดำริร่วมกัน ของหลายหน่วยงานต่างๆ และที่สำคัญเป็นการหนุนนำสร้างความโปร่งใสให้บังเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยมีพระเดชพระคุณ พระราชรัตนมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม เป็นผู้ดำริริเริ่มโครงการฯ ในฐานะหัวหน้าโครงการฯ

พร้อมทั้งทีมพันธมิตร จาก 5 หน่วยงานสำคัญของทางราชการ คือ 

1.สำนักงานเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม 
2.ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐมโดยนายวันชาติ วงษ์ชัยชนะ และนายอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดนครปฐม 
3.พระวินยาธิการทุกรูปในจังหวัดนครปฐม 
4.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนครปฐม 
5.สำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดนครปฐม

โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อจรรโลงรังสรรค์ ปกป้องปกปักรักษาบวรพระพุทธศาสนา เพื่อให้เกิดความโปรงใสในทุกมิติรอบด้าน และโดยเฉพาะในฐานะที่พระภิกษุสามเณรทุกรูป คือ บุคลากรผู้ทำหน้าที่ เผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมต้องประพฤติปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีต่อพุทธศาสนิกชนโดยทั่วไป ทั้งต่อหน้าและลับหลัง ปราศจากมลทินใดๆมาเคลือบแฝงรวมทั้งเพื่อสร้างกระแสให้ชุมชนมีความร่วมมือในการรณรงค์และดำเนินการให้วัดทุกวัดปลอดสิ่งเสพติด และอบายมุข

ฉะนั้นเพื่อความเป็นตัวอย่างและแบบอย่างที่ดี ที่ควรรักษาไว้ ซึ่งคุณงามความดี มีความเคร่งครัด ในการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และซื่อตรงต่อพระธรรมวินัย จึงนับเป็นโอกาสอันดี โดยคณะสงฆ์ถือโอกาสใช้วันเวลา ในห้วงเข้าพรรษา ดำเนินการจัดกิจกรรมโครงการดังกล่าวนี้ โดยเริ่มต้นที่อำเภอเมืองนครปฐม เป็นอำเภอแรก ในการตรวจปัสสาวะหาสารเสพติด เพื่อทำการบำบัดรักษาอย่างจริงจัง และเมื่อตรวจพบก็จะได้ช่วยกันแก้ไข เพื่อให้เกิดการบูรณาการ และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสังคมส่วนรวมอย่างแท้จริง

คณะทำงานทั้งหมดได้ออกเดินทางไปตรวจปัสสาวะพระภิกษุ สามเณรเพื่อหาสารเสพติด เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป โดยเดินทางไปตามวัดต่างๆในแต่ละอำเภอ ทั้ง 7 อำเภอ เฉกเช่น อำเภอเมืองนครปฐม อำเภอนครชัยศรี อำเภอสามพราน อำเภอพุทธมณฑล อำเภอดอนตูม อำเภอบางเลน และอำเภอกำแพงแสน

ที่ผ่านมาก็ไม่มีปัญหาอะไร เจ้าหน้าที่ทุกคน พระสงฆ์ทุกรูป มุ่งมั่นทำงานด้วยความจริงใจ ทำงานด้วยความคล่องตัว มีความสะดวกสบาย ไม่เจออุปสรรคปัญหาใดๆ ทุกวัดให้ความร่วมมือ ยินดีให้ตรวจอย่างดี ไม่มีปัญหาอะไร

ส่วนใหญ่พระทุกวัด ร่วมมือ เตรียมความพร้อม ชื่นชมชื่นชอบ อยากให้มาตรวจเป็นอย่างยิ่ง การตรวจเป็นไปด้วยความเรียบร้อย “สงบ นุ่มนวล สุภาพ อ่อนโยน” ให้เกียรติซึ่งกันและกัน และเมื่อเจอวัดไหนพบพระสงฆ์สามเณร ที่ติดยาเสพติด และมีความปรารถนาอยู่ต่อ ไม่ลาสิกขา ทางวัดและเจ้าหน้าที่ ก็จะช่วยกันบำบัด ให้คำแนะนำที่ถูกต้อง และจะมีการตรวจปัสสาวะซ้ำอีกทุก 15 วัน เพื่อให้เลิกได้หายขาด ในโอกาสต่อไป

ซึ่งโครงการดังกล่าวนี้ นับเป็นการ คืนคนดีสู่สังคมอีกครั้ง ด้วยความปรารถนาดีด้วยความจริงใจจากทุกฝ่าย ทุกภาคส่วน ที่พร้อมให้ความร่วมมืออย่างใจถึงใจ

ประสบผลสัมฤทธิ์ ในด้านการพัฒนาวัดให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี อบอุ่น สังคมอยู่เย็นเป็นสุข รวมทั้งให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้วัดเป็นสถานที่เผยแผ่หลักธรรมและ ตระหนักถึงความรุนแรงของปัญหายาเสพติด โดยทุกภาคส่วนในสังคมจะต้องร่วมกันดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จโดยเร็ว

*************************

เรื่องโดย : น้าวี ศรีสุรา
เรียบเรียงโดย : โอมเพี้ยงเชี่ยงชุน





วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

ละสังขารแล้ว "หลวงปู่สุภา กันตสีโล" อริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน!!

เมื่อวันที่ 2 กันยายน 2556 แหล่งข่าวได้รายงานว่า หลวงปู่สุภา กันตสีโล พระอริยสงฆ์ 5 แผ่นดิน ได้ละสังขารอย่างสงบแล้ว เมื่อเวลาประมาณ 5.00 น. ที่ วัดคอนสวรรค์ ต.บ้านค้อเขียว อ.วาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร สิริอายุรวม 118 ปี

พระมงคลวิสุทธิ์ (สุภา กนฺตสีโล) หรือ หลวงปู่สุภา กันตสีโล ท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดสีลสุภาราม รูปปัจจุบัน ท่านเป็นศิษย์ของ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า และ พระอาจารย์สีทัตต์ วัดท่าอุเทน จังหวัดนครพนม เป็นพระเถระคณาจารย์ที่มีพรรษาแก่กล้า และมีอายุยืนถึง 118 ตั้งแต่แผ่นดินรัชกาลที่ 5 ปัจจุบันนับเป็นเวลาถึง 5 แผ่นดิน และเชี่ยวชาญพุทธาคมมากที่สุดรูปหนึ่งในรูปปัจจุบัน พระเครื่องที่ออกนามในวัดสารอด รุ่นเสด็จกลับ เป็นพระเครื่องที่ได้รับความนิยมสูงสุดของท่านเช่นเดียวกับเครื่องราง แมงมุมเรียกทรัพย์ และ จระเข้อาคม อันขึ้นชื่อลือชา




หลวงปู่สุภา ท่านเกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2439 ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ณ บ้านคำบ่อ ตำบลคำบ่อ อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร โยมบิดาชื่อ ขุนพลภักดี ผู้ใหญ่บ้านคำบ่อ โยมมารดาชื่อ นางสอ วงศ์คำภา มีพี่น้องร่วมบิดามารดากัน 8 คน ท่านเป็นคนที่ 6

เมื่อมีอายุได้ 9 ขวบตรงกับปี พ.ศ. 2448 บิดามารดาจึงนำไปบรรพชาเป็นสามเณร โดยมี พระอาจารย์สวน เจ้าอาวาสวัดในหมู่บ้านคำบ่อ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้เดินทางไปศึกษาไปเรียนหนังสือคัมภีร์มูลกัจจายน์ที่วัดไพร่ใหญ่ จังหวัดอุบลราชธานี ใช้เวลาศึกษาคำภีร์มูลกัจจายน์อยู่ที่วัดไพร่ใหญ่อยู่หลายปี และในปี พุทธศักราช 2459 ท่านได้อุปสมบท ณ ภูเขาควาย ประเทศลาว โดมี พระอาจารย์สีทัตต์ เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า กนฺตสีโล  

4 พรรษาเต็มแห่งการเดินธุดงค์ตามป่าเขาลำเนาไพร พอถึงปี พ.ศ. 2463 ท่านได้กราบลาพระอาจารย์สีทัตต์ไปศึกษาพุทธาคมกับ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า ตามที่พระอาจารย์สีทัตต์แนะนำ ได้รับการอบรมสั่งสอนด้านวิปัสสนากรรมฐาน และพุทธาคมเป็นเวลาถึง 3 ปีเต็ม ได้รำเรียนวิชาอาคม และการสร้างเครื่องรางของขลังต่างๆ นอกจากนี้ท่านยังธุดงค์ข้ามไปยัง ประเทศเขมร ลาว พม่า จีน อินเดีย และอัฟกานิสถาน ได้ศึกษาและแลกเปลี่ยนวิชากับพระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ หลวงพ่อจาด วัดบางกะเบา หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อทบ วัดชนแดน และ หลวงพ่อโอภาสี 

คงมิใช่เรื่องเกินจริงหากจะกล่าวว่า การละสังขารของ หลวงปู่สุภา กันตสีโล ในครั้งนี้ นับเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่ง แห่งวงการพุทธาคม ณ สยามประเทศ


*************************

เรื่องโดย : เต้ มงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ








พระกิตติญาณโสภณ วัดท่าพระหงษ์เทศประดิษฐ์ มรณภาพ


เมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา พระกิตติญาณโสภณ (หนูปัน ญาณกิตฺติ/อาสาสะนา ป.ธ.5, ศน.บ., M.A., Ph.D.) ที่ปรึกษาเจ้าคณะจังหวัดขอนแก่น, ที่ปรึกษารองอธิการบดี มจร.วิทยาเขตขอนแก่น, เจ้าอาวาส วัดท่าพระหงษ์เทศประดิษฐ์ อ.เมือง ขอนแก่น มรณภาพ เมื่อเวลา 19.30 น.ของวันที่ 31สิงหาคม 2556 ที่ ร.พ.ศูนย์ขอนแก่น โดย พระกิตติญาณโสภณ เป็นชาวอำเภอเชียงยืน จ.มหาสารคาม เกิดเมื่อวันที่ 14 ส.ค.2492 อายุ 64 ปี ศน.บ.มมร.รุ่น 27/2523, อดีตผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวางแผน มจร.วิทยาเขตขอนแก่น 2537


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ