วันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

"นะหน้าทอง" โบราณพิธีแห่งการสร้างขวัญกำลังใจ


นะหน้าทอง คือ นะ ประเภทหนึ่ง ซึ่งปรากฏอยู่ในตำรับคัมภีร์โบราณ ที่ผ่านมาตำราเก่านี้ มีบทบาทมากมายในสังคมไทยมาแต่โบราณกาล ดังเห็นได้จากเรื่องขุนช้าง ขุนแผน ที่ตำนาน นะหน้าทอง ปรากฎเป็นหลักฐานชัดเจนว่าคนไทยสมัยนั้นนิยมไปให้พระเถราจารย์ ที่มีความชำนาญในด้านนี้เป็นผู้ลงนะหน้าทองให้ คัมภีร์โบราณบันทึกไว้ว่า ผู้ที่ได้รับการลงนะหน้าทอง เปรียบเสมือนผู้มีบุญญาธิการ มีผู้คนเมตตาอุปถัมภ์ค้ำจุน เป็นที่รักใคร่แก่บุคคลทั่วไป การลงนะหน้าทองจะใช้แผ่นทองคำแท้ๆ ตั้งแต่จำนวน 3..9..12..24.. ถึง 108 แผ่น แล้วแต่ความพึงพอใจ เชื่อกันว่าเมื่อได้ลงนะหน้าทองแล้ว หากผู้นั้นปฏิบัติอยู่ในศีลในธรรม แผ่นทองจะติดอยู่ที่กะโหลกหน้าผากตลอดไป!!

การลงนะหน้าทอง พระคณาจารย์สมัยโบราณจะลง ยันต์นะเมตตา ซึ่งถือเป็นยันต์ประเภทหนึ่ง ที่นิยมใช้กันมากในหมู่พระเกจิอาจารย์ชื่อดัง มีพระพุทธคุณทางด้าน เมตตา มหาเสน่ห์ ลงได้ทั้งวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลัง และยังสามารถลงได้ที่บริเวณหน้าผาก และมือทั้งสองข้างอีกด้วย โดยการนำแผ่นทองที่จารึกอักขระยันต์นะเมตตา นำไปลงบริเวณหน้าผาก ฝ่ามือ พระคณาจารย์ท่องพระคาถาอธิษฐานจิตแผ่เมตตาบารมี โบราณถือเป็นพิธีมงคลอย่างยิ่ง ผู้ที่ได้รับการลง แล้วนั้น จะเป็นดั่งผู้มีวาจาไพเราะเสนาะหู ใครได้ยินแม้เพียงเสียงก็จะหลงใหลในวาจา จึงเป็นที่นิยมกันมากในหมู่นักเจรจาธุรกิจ พ่อค้า แม่ค้า และประชาชนทั่วไป เมื่อลงแล้ว ทำให้เกิดมีเสน่ห์ที่ใบหน้า มีคนให้ความสนใจมากมาย ค้าขายเจริญรุ่งเรือง มีคนรักใคร่เอ็นดูเมตตา แบบไม่รู้ตัว เพื่อนร่วมงานนิยมชมชอบ เจ้านายเมตตาสม่ำเสมอ การงานก้าวหน้า ชีวิตดีขึ้นตามลำดับ ที่สำคัญมีคนนับหน้าถือตามากยิ่งขึ้น คนที่เคยมีปัญหาความทุกข์จะมลายหายไปทุกเรื่อง ผู้คนที่พบปะยิ้มแย้มแจ่มใสเอาใจใส่ดี การลงนะหน้าทอง โบราณว่า..ถ้าทำด้วยความศรัทธาแล้วไซร์ จะได้แต่ของดีกลับไปอย่างแน่นอน

การลงนะหน้าทอง ปัจจุบันถือเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย ในแบบอย่างโบราณจารย์ เป็นมหาเสน่ห์ที่มาจากทองคำที่บริสุทธิ์และการกระทำแต่คุณงามความดีที่เป็นตบะบารมี เป็นมหาเสน่ห์ของคนที่ลงไปแล้ว จะฝังอยู่ที่รอยยิ้ม ฝังอยู่ที่คำพูดเเละการกระทำอย่างแท้จริง การลงนะหน้าทองได้รับการถ่ายทอดมาจากหลายครูหลายอาจารย์ เป็นการครอบถ่ายทอดเเบบโบราณที่สืบทอดมา ยังผลให้เกิดความเป็นสิริมงคล ต่อผู้รับมอบนะเเละผู้ประสิทธิให้ นับเป็นวิชชาที่หาผู้รู้และทำจริงได้ยากเต็มทีในยุคนี้

ปัจจุบันเห็นจะมีเพียงแต่ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาส วัดไผ่ล้อม นครปฐม ที่สามารถการันตีได้เต็มปากว่า "เป็นผู้รู้จริง" ทางด้านนี้ เพราะท่านคือ ศิษย์เอกทายาทพุทธาคมของ หลวงพ่อพูล สุดยอดพระอมตะเถราจารย์ แห่งจังหวัดนครปฐม

หลวงพี่น้ำฝน ท่านสืบสานพิธีลงนะหน้าทอง จันทร์มหาเสน่ห์ ตามตำรับ หลวงพ่อพูล อย่างถูกต้องและครบถ้วน โดยท่านเมตตาประกอบพิธีลงนะหน้าทองให้กับคณะศิษยานุศิษย์ ทุกวันจันทร์ ณ วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจให้กับญาติโยม โดยผู้ที่สนใจจะร่วมพิธี สามารถสอบถามได้ที่ วัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม 034-250077-9 , 087-6984777 , 081-4424262


*************************

เรื่องโดย : บก.ไก่ วีรพล
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

"กุ" ว่าเป็นพระกรุ!!


ในยุคเฟื่องฟูของพระเครื่องโบราณ ที่เรียกขานกันว่า "พระกรุ" นั้น มีสิ่งที่ควบคู่กันมาอย่างแยกออกเสียมิได้คือ "ของเทียมเลียนแบบ" หรือ "ผียัดกรุ" พฤติกรรมสุดแสบแบบนี้เป็นความเจ้าเล่ห์ของ "นักเลงพระนอกลู่" ผู้ไม่เคยเกรงกรรม ที่คอยแต่สร้างความระยำในวงการฯ

ผียัดกรุ คืออะไร? ผียัดกรุ คือ ขบวนการอุปโลกน์พระปลอมให้เป็นพระแท้ด้วยวิการธีฝังกรุ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ แล้วสร้างเรื่องราวข่าวลือ เพื่อ "กุ" ว่าเป็น พระกรุโบราณ

ในยุคบรรพกาล บรรพชนโบราณท่านสืบสานพระศาสนาด้วยการสร้างพระแล้วบรรจงบรรจุไว้ใน "กรุ" ใต้สถานที่หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น สถูปเจดีย์ แต่สรรพสิ่งย่อมเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา เป็นธรรมดาว่ากรุที่ฝังพระย่อมต้องชำรุดเสียหาย เผยให้เห็นให้สัมผัสความงาม ของศิลปวัตถุมงคลพร้อมร่องรอยที่มาแห่งตำนานการสร้างสรรค์ในอดีต เป็นสารประกอบทางโบราณคดีที่ชวนศึกษา จนปุถุชนเกิดศรัทธาปนตัณหาอยากครอบครอง

"พระกรุ" จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการเก็บสะสม บ่มเป็นกระบวนการเล่นพระในยุคแรกๆ เหตุเพราะเสน่ห์ของความเก่าที่ถูกเหมาเอาว่าน่าจะเข้มขลัง ที่ใดมีวัดหรือเจดีย์เก่าๆ มีเค้าว่าน่าจะมีพระดีๆ ฝังกรุซ่อนไว้ จึงยังไม่ทันที่นักสำรวจจะมาตรวจตรา มารศาสนาก็จะเดินหน้าก่อบาป "ขุดโดยไม่รอแตก"

เพราะ "คำสั่งซื้อ" ล้นทะลัก การลักขุดขโมยเท่านั้นจึงจะทันตอบสนอง แต่ของดีย่อมต้องมีจำกัด เมื่อขุดกันแบบไม่มัธยัสถ์ย่อมไม่เหลือ แต่พวกวายร้ายหัวใส รู้ว่าแค่พระเก๊ดูเก่าๆ แล้วเอาคำว่า "กรุ" มาแปะไว้ อ้างเป็นที่มา จะนำพาให้คนเทใจไปแล้วกว่าครึ่ง จึงใช้วิธีย้อนศรนำพระเก๊ยัดใส่กรุซะดื้อๆ ทิ้งระยะรอเวลาอยู่หลายปีอย่างอดทนจนได้ที่ จึงทำทีเป็นข่าวฮือฮาว่ากรุแตก!! บางพวกก็รอท่าว่าไร่นาของใครจะถางที่ ก็จะรี่เอาพระเก๊เป็นไหๆ ที่เตรียมไว้เอาไปฝัง รอเพียงจังหวะ "รถไถกระแทกไห" ทุกอย่างก็ลงตัว

หน้าม้าที่วางงานไว้จะทำทีผ่านมาเห็น แค่นี้ก็เป็นประเด็น ที่เหลือก็เป็นเรื่องการโฆษณา พระเก๊ไม่มีค่าแต่แสร้งว่าจัดให้ราคาถูกๆ หน้ากรุก่อนใครเพียงองค์ละ 2-3 พัน แค่นี้ก็ฟันเป็นล้าน!!

การถกเถียงเรื่องพระกรุแตก ความเชื่อถูกแบ่งแยกออกเป็นสองฝ่ายทุกครั้งเสมอ ระหว่าง "ผู้เอาใจช่วย" กับ "ผู้ไม่รีบร้อนเห็นด้วย" แต่คำตอบมีอยู่แล้วในองค์พระ "ผู้รู้" มักจะแนะให้พิจารณาที่

- ศิลปะเชิงช่าง
- เนื้อหามวลสาร
- ธรรมชาติความเก่า เมื่อเทียบจากพระกรุในยุคเดียวกัน
- ตรวจสอบความแท้หรือเทียมของปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นจากการฝังกรุ
- เหตุผลความน่าจะเป็นทางประวัติศาสตร์หลายๆ ด้าน

หากแต่ ถ้าการหา พระกรุแท้ๆ มันลำบากมากมายนัก ก็อยากจะแนะนำวิธีง่ายๆ คือ "แขวนพระใหม่" ใจจะได้สบาย ไม่ต้องวุ่นวายค้นหาความจริง เพราะความขลังและความศักดิ์สิทธิ์ จะเกิดขึ้นเมื่อจิตสถิตอยู่ด้วยความศรัทธา


*************************

เรื่องและเรียบเรียงโดย : ทีมข่าวมงคลพระ




วันอาทิตย์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ร่วมบุญสร้างรูปหล่อ "หลวงปู่ทิม" องค์ใหญ่ที่สุดในโลก


พระครูภาวนาภิรัต หรือที่รู้จักกันในนาม หลวงปู่ทิม อิสริโก ท่านเกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2422 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5 แห่งราชวงศ์จักรี) ที่บ้านหัวทุ่งตาบุตร ตำบลละหาร อ.บ้านค่าย จ.ระยอง ท่านเป็นหลานของ หลวงปู่สังข์เฒ่า วัดเก๋งจีน อุปสมบทเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ.2449 มี พระครูขาว วัดทับมา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ พระอาจารย์เกตุ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ณ พัทธสีมา วัดละหารไร่ ได้รับฉายาว่า อิสริโก

เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาวิทยาคมจากตำราของหลวงปู่สังข์เฒ่า ศึกษาเพิ่มเติมทั้งจากฆราวาสและบรรพชิต ท่านออกธุดงค์ไปหลายจังหวัด ต่อมาท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดละหารไร่ และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูภาวนาภิรัต เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ.2507 หลวงปู่ทิม ท่านมรณภาพเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2518 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (รัชกาลปัจจุบัน) รวมสิริอายุได้ 96 ปี นับพรรษา 69 ปี

อย่างไรก็ตาม ในพ.ศ.2557 นี้ วัดละหารไร่ ได้ดำเนินการสร้าง รูปหล่อหลวงปู่ทิมองค์ใหญ่ เนื้อสัมฤทธิ์ ขนาดหน้าตักกว้าง 12 เมตร จึงจัดสร้าง “ขุนแผนผงพรายกุมาร ปี 17 ย้อนยุคขุนแผนบล็อกแรก” เพื่อหาปัจจัยสมทบการสร้างรูปหล่อให้แล้วเสร็จตามกำหนด

“ขุนแผนผงพรายกุมาร ปี 17” เป็นขุนแผนที่ถูกออกแบบให้บล็อกแม่พิมพ์ที่แกะคล้ายคลึงกับ "ขุนแผนหลวงปู่ทิม ปี ๒๕๑๗" หรือ "รุ่นบล็อกแรก" แต่ลักษณะของตัวหนังสือจะไม่เหมือนกัน โดยการแกะบล็อกแม่พิมพ์สวยงามมาก เป็นการสร้างสรรค์งานให้วิจิตรกว่าเดิม แต่ยังคงแฝงไปด้วยศิลปะเดิมเมื่อครั้งหลวงปู่ทิมยังดำรงค์ขันธ์ ส่วนองค์พระปางมารวิชัยที่นั่งสมาธิในซุ้มเรือนแก้วมีการแกะบล็อกละเอียดขึ้น มีความคมชัดและลึก สร้างเป็นเนื้อกระยาสารท เนื้อว่าน และเนื้อผงพุทธคุณ มีทั้งแบบฝังตะกรุดและไม่ฝังตะกรุด เนื้อหามวลสารนอกจากผงพรายกุมารเดิมของหลวงปู่ทิมแล้ว ยังได้รับเมตตาจากพระเกจิอาจารย์ชื่อดังมากมายร่วมมอบสีผึ้งและมวลสารมงคลอื่นๆ รวมทั้งร่วมปลุกเสกอธิษฐานจิต

เนื้อหามวลสารทั้งเหรียญ และพระขุนแผนผงพรายกุมาร ผ่านพิธีพุทธาภิเษกอย่างยิ่งใหญ่ถึง 3 วาระแล้วได้แก่ ครั้งแรกที่กุฏิหลวงปู่ทิม ครั้งต่อมาวันสวดมนต์ข้ามปี และครั้งที่สาม ณ พระอุโบสถวัดละหารไร่ ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ซึ่งเป็นวันแรกของการเปิดให้เช่าบูชา ปรากฏว่ามีผู้ศรัทธาเดินทางไปเช่าที่วัดจำนวนมาก บางเนื้อหมดอย่างรวดเร็ว ส่วนที่เหลือไม่มากนัก ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญได้ที่ โทร.08-9872-2710 และ 08-4645-2929

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



หลวงพ่อสด พุทฺธสโร เกจิวาจาสิทธิ์ แห่งวัดห้วยชินสีห์


พระครูพุทธสาราภิรัต หรือ หลวงพ่อสด พุทฺธสโร ท่านมีนามเดิมว่า “สด คลิ้นสุวรรณ” เกิดที่บ้านคูบัว ต.คูบัว อ.เมือง จ.ราชบุรี เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2442 ในวัยเยาว์ฝึกเรียน เขียน อ่าน ก กา ที่วัดเกาะนัมมทาฯ ภายหลังออกจากโรงเรียน เพื่อช่วยบิดามารดาทำนาทำไร่

ในปี พ.ศ. 2462 เข้าอุปสมบทที่ วัดคูบัว ได้ฉายา “พุทฺธสโร” ภายหลังอุปสมบทแล้ว จำพรรษาที่วัดคูบัวหนึ่งพรรษา แล้วจึงย้ายไปจำพรรษาที่ วัดเกาะนัมมทาฯ ท่านมีชื่อเสียงทางด้านเมตตา ชาวบ้านและคณะสงฆ์ให้การยอมรับ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาส วัดห้วยชินสีห์ จ.ราชบุรี เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ.2481

ในปี พ.ศ. 2498 หลวงพ่อสด ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบล และเป็นพระอุปัชฌาย์ พระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรเจ้าคณะตำบลชั้นตรี ราชทินนาม “พระครูพุทธสาราภิรัต” จนถึงเจ้าคณะตำบลชั้นเอก ราชทินนามเดิม

วัดห้วยชินสีห์ เดิมชื่อว่า วัดห้วยฤาษี ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลห้วยชินสีห์ ต.อ่างทอง อ.เมือง จ.ราชบุรี 70000 ตามประวัติความเป็นมาของการจัดตั้งวัด เดิมมีฤาษีมาตั้งอาศรมบนยอดเขาใหญ่ที่มีลำห้วยไหลผ่าน ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "ห้วยฤาษี" ในภายหลังเมื่อมีการจัดตั้งวัด และได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อราว พ.ศ.2482 โดยอดีตสมเด็จพระสังฆราชได้มีการเปลี่ยนชื่อ จากวัดห้วยฤาษี เป็น วัดห้วยชินสีห์ และบริเวณสระน้ำใกล้กับทางเข้าวัด ได้มีการสร้างศาลพระฤาษีใต้ต้นโพธิ์ เพื่อเป็นการระลึกถึงพระฤาษีที่เป็นผู้ริเริ่มสร้าง

หลวงพ่อสด พุทธฺสโร ท่านดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์แรกของวัดห้วยชินสีห์ ท่านเป็นพระเกจิที่มีความเมตตาสูง มีความเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติ และมีวิชาอาคมที่เข้มขลัง ลูกศิษย์ล้วนมีจิตศรัทธาในความแก่กล้าทางพุทธาคมของท่าน ชาวบ้านในละแวกนั้นต่างเล่นขานกันว่า ท่านคือผู้ที่มี "วาจาสิทธิ์" ครั้งหนึ่งเคยมีผู้ไม่ประสงค์ดีเข้ามาสร้างความเสื่อมเสียภายในวัด ท่านได้ว่ากล่าวตักเตือนด้วยความเมตตา แต่ทว่า บุคคลผู้นั้นหาได้ฟังไม่ กลับยังดื้อรั้นทำต่อไปโดยไม่ยำเกรง ท่านจึงกล่าวว่า "ระวังผลกรรมจะตามมา" ผ่านไปเพียงเสี้ยวเพลา บุคคลกิเลสหนาผู้นั้นก็ประสบอุบัติเหตุจนถึงแก่ความตาย

ต้นปี พ.ศ. 2538 หมู่คณะศิษย์วัดห้วยชินสีห์ ต้องพบกับความหมองเศร้า เมื่อร่มโพธิ์ธรรมผู้นำใจของพวกเขา ได้ละสังขารจากไปในช่วงปลายเดือนมกราฯ หลวงพ่อสด พุทธฺสโร ท่านมุ่งสู่แดนดินนิพพาน เมื่อวันพุธที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2538 สิริรวมอายุ 96 ปี พรรษา 76


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กำเนิด "สิ่งสมมุติ" เพื่อการน้อมรำลึกพระบรมศาสดา


เมื่อครั้งพระพุทธกาล ขณะที่องค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาแห่งศาสนาพุทธ ได้เสด็จดับขันธ์สู่ปรินิพพาน ณ ตำบลสาลวัน แขวงเมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายในสมัยนั้น ก็พากันโศกเศร้าเสียใจ เหล่ามัลลกษัตริย์ซึ่งครองเมืองกุสินาราในขณะนั้น ได้ช่วยกันจัดงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เมื่อเสร็จจากการถวายพระเพลิงแล้ว เหล่ามัลลกษัตริย์ก็ร่วมกันคิดจะสร้างพระสถูปเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมธาตุไว้ ณ เมืองกุสินารา แต่เหล่ากษัตริย์เมืองอื่นๆไม่ยอม ต่างก็ต้องการที่จะเชิญพระบรมธาตุไปให้พลเมืองของตนเคารพบูชาเช่นกัน ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นจะสู้รบเพื่อแย่งพระบรมธาตุกัน จนกระทั่ง โทณพราหมณ์ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยให้เหล่ามัลลกษัตริย์ปรองดองและแบ่งพระบรมธาตุกัน

เมื่อเหล่ามัลลกษัตริย์ได้รับพระบรมธาตุแล้ว จึงกลับไปสร้าง พระสถูปเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในบ้านเมืองของตน จึงเกิดสถูปเจดีย์เป็นรูปเคารพแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่นั้นมา

ตามพระพุทธประวัติได้กล่าวถึงตอนที่พระพุทธเจ้าทรงพระประชวร ใกล้จะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน พระอานนท์เถรเจ้า ผู้เฝ้าถวายการพยาบาลได้ทูลปรารภว่า ที่ผ่านมาเหล่าภิกษุอันเป็นสาวกเคยได้เข้าเฝ้าพระองค์เป็นนิจ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าสู่พระนิพพานแล้วก็จะมิได้เข้าเฝ้าพระองค์อีก คงจะพากันว้าเหว่เศร้าหมองไปตามๆกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสอนุญาตให้สร้างสังเวชนียสถานไว้ 4 แห่ง เพื่อให้พุทธสาวกที่ใคร่จะเห็นพระองค์ได้ปลงธรรมสังเวช ณ ที่ใดที่หนึ่งตามความเหมาะสม สังเวชนียสถาน 4 แห่ง นั้นคือ

- ณ ป่าลุมพินี แขวงเมืองกบิลพัสดุ์ อันเป็นสถานที่ๆ พระองค์ประสูติ
- ณ แขวงเมืองคยา อันเป็นสถานที่ๆ พระองค์ตรัสรู้
- ณ ตำบลอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อันเป็นสถานที่ๆ พระองค์ประทานปฐมเทศนา
- ณ ตำบลสาลวัน แขวงเมืองกุสินารา อันเป็นสถานที่ๆ พระองค์เสด็จเข้าสู่พระนิพพาน

นอกจากนี้ยังมีสังเวชนียสถานที่สร้างขึ้นในภายหลังอีก 2 แห่งคือ

- ณ แขวงเมืองปิบผลิวัน บรรจุพระอังคาร
- ณ แขวงเมืองกุสินารา บรรจุทะนานโลหะตวงพระบรมธาตุองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในครั้งแรกพุทธบริษัทที่สร้างสถูปเจดีย์ มิได้มีพระพุทธรูปประดับแต่อย่างใด กระทั่งกาลเวลาผ่านไปหลายปี มีผู้คิดขึ้นมาได้ว่า ต่อไปภายภาคหน้าจะไม่มีใครจดจำพุทธลักษณะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ หากจะแกะสลักหรือปั้นโดยการคาดเดาก็เกรงว่าจะผิดเพี้ยนเป็นการลบหลู่พระบารมีของพระองค์ จึงนิยมสร้างสิ่งสมมุติแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้สักการะบูชาในรูปแบบต่างๆ เช่น สลักรูปดอกบัวแทนตอนประสูติ สร้างแท่นอาสนะแทนตอนตรัสรู้ สร้างรูปธรรมจักรและกวางหมอบแทนตอนแสดงปฐมเทศนา สร้างสถูปเจดีย์แทนตอนเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน หรือ สร้างลอยพระพุทธบาท เป็นต้น

จวบจนเมื่อกาลเวลาผ่านไป 200 ปี พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้ยกพลชาวกรีกออกศึกทำสงครามขยายอนาเขตไปทั่วทวีบยุโรปมาถึงประเทศอิเดียบางส่วน แต่ยังไม่ทันทั่วประเทศก็สวรรคตเสียก่อน พวกชาวกรีกระดับแม่ทัพนายกองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ต่างก็ตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน ครองบ้านเมืองหลายอาณาเขต และแต่ละอาณาเขตก็ชักชวนชาวกรีกจากภูมิลำเนาเดิมให้มาตั้งต้นทำมาหากินในท้องถิ่นที่ตนสร้างขึ้นใหม่ ส่งผลทำให้ชาวกรีกมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินอินเดียด้านตะวันตกเฉียงเหนือที่เรียกว่า อาณาเขตคันธารราฐ เป็นจำนวนมาก

ในประเทศคันธารราฐ (ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) ชาวเมืองส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนาสืบมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช และเมื่อชาวกรีกมาอาศัยอยู่ในเมืองคันธารราฐก็มีความสนิทสนม และมีการสมรสกับชาวพื้นเมือง ทำให้เลื่อมใสศรัทธาและนับถือพระพุทธศาสนาตามไปด้วย

อยู่มาจนถึงยุคของ พระยามิลินท์ ท่านได้บำรุงพระพุทธศาสนาในประเทศคันธารราชให้รุ่งเรืองขึ้นมาก จึงมีการริเริ่มสร้างพระพุทธรูปสำหรับเป็นที่เคารพบูชาขึ้น แรกๆ เรียกพระพุทธรูปว่า แบบคันธารราฐ หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการสร้างพระพุทธรูปตามที่ต่างๆ ขึ้นมาอีกมากมาย โดยคติการสร้างพระพุทธรูปทั่วไป จะยึดเอาอิริยาบถที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในพระพุทธประวัติมาสร้าง โดยเรียกพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเป็น “ปาง” เช่น ปางสมาธิ ปางมารวิชัย ฯลฯ


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันอาทิตย์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วัดสาขลา ตำนาน "สาวกล้า" แห่งสยามประเทศ


หมู่บ้านสาขลา
 สันนิษฐานว่าเคยเป็นหมู่บ้านใหญ่มาแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ตั้งอยู่ที่ ตำบลนาเกลือ อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ มีลักษณะพื้นที่เป็นเกาะเล็ก ๆ อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติทางทะเล ส่วนใหญ่ชาวบ้านมีอาชีพทำการประมง และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ทะเล เช่น กุ้งเหยียด กุ้งแห้ง ปูสต๊าฟ ปูรามเกียรติ์ ฯลฯ

ในสมัยก่อนบ้านสาขลามีชื่อว่า สาวกล้า อันเนื่องมาจากครั้งสงคราม 9 ทัพ ในสมัยรัตนโกสินทร์ ผู้ชายในหมู่บ้านได้เข้าไปเป็นทหารกันหมด เหลือแต่ผู้หญิงกับคนแก่ที่อยู่ในหมู่บ้านเพียงลำพัง ในเวลานั้นข้าศึกผู้ประสงค์ร้ายได้บุกมาหวังจะตีบ้านสาขลา แต่ด้วยความสามัคคีและความชำนาญในพื้นที่ ผู้หญิงในหมู่บ้านจึงได้รวมตัวกันเพื่อต่อต้านข้าศึก และสามารถชนะศึกครั้งนั้นได้ หมู่บ้านแห่งนี้จึงถูกขนานนามว่า "สาวกล้า" และเพี้ยนมาเป็น "สาขลา" จวบจนปัจจุบัน

วัดสาขลา คือ ศูนย์รวมแห่งความศรัทธาของคนถิ่นนี้ โดยตั้งอยู่ที่ 19 หมู่ 3 ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินประมาณ 27 ไร่ 2 งาน วัดสาขลาสร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2325 สันนิฐานกันว่าชาวบ้านช่วยกันสร้างเมื่อคราวรบชนะพม่า โดยวัดสาขลาได้รับพระราชทานนามว่า วิสุงคามสีมา เมื่อพ.ศ. 2375 มีพระประธานถายในวิหาร นามว่า หลวงพ่อโต ซึ่งอยู่คู่กับวัดสาขลามาแต่อดีต หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทอง ปางมารวิชัย เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านสาขลาและประชาชนทั่วไปเป็นอย่างยิ่ง


หากถามถึงตำนานความศักคิ์สิทธิ์ของ หลวงพ่อโต ผู้เถ้าผู้แก่ต่างเล่าว่า ในคืนวันที่ 6 มกราคม 2526 เวลาประมาณ 3 ทุ่ม ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านต่างช่วยกันดับไฟแต่ก็เป็นที่ยากลำบาก ไฟลุกโหมกระหน่ำอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น ชาวบ้านที่ออกไปหาปูหาปลา ไม่ไกลจากหมู่่บ้านนัก ได้เห็นองค์หลวงพ่อโตยืนเอาจีวรโบกไฟที่กำลังไหม้ จนค่อยๆ ดับลง พร้อมกับได้ยินเสียงสวดมนต์อย่างต่อเนื่องจนรุ่งเช้า

พอชาวบ้านได้ทราบข่าวว่ามีคนเห็นองค์หลวงพ่อโตช่วยดับไฟ ทุกคนจึงแห่ไปที่วัด ชาวบ้านทุกคนถึงกับน้ำตาไหล เมื่อเห็นองค์หลวงพ่อโตดำเป็นเขม่าไปทั้งองค์ผ้าที่ห่มองค์หลวงพ่อกรอบเหมือนโดนไฟไหม้ ใบหน้าของท่านมี่ร่องรอยเหมือนน้ำตาไหล ชาวบ้านถึงกับร่ำไห้กันยกใหญ่ และพร้อมใจกันจัดงานบุญถวาย หลวงพ่อโต เพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งนั้น ทุกวันที่ 6 มกราคม ของทุกปี


นอกจาก หลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งวัดสาขลาแล้ว พระปรางค์เอียง แห่งวัดสาขลา ก็มีความสำคัญไม่น้อยไปกว่ากัน โดยเป็นพระปรางค์เก่าแก่ ตั้งอยู่ริมคลองมาตั้งแต่เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว พระปรางค์แห่งนี้มีลักษณะเอียงอย่างเด่นชัด แต่ก็ไม่มีทีท่าว่าจะล้มลงแต่อย่างใด  จวบจนทุกวันนี้ก็ยังคงสภาพเดิม เป็นที่อัศจรรย์ใจยิ่งแก่ผู้ที่พบเห็น.

ปัจจุบัน วัดสาขลาได้รับการบูรณะพัฒนาเป็นอย่างมาก โดยภายในวัดมีทางเข้าลอดโบสถ์เป็นซุ้ม พระราหู ดูน่าเกรงขาม ซึ่งพระราหูนั้นแสดงถึงการปัดเป่าและป้องกันสิ่งชั่วร้าย เมื่อได้ลอดซุ้มประตูมาแล้วจะพบกับ ลูกนิมิต ลูกเอก ทำจากศิลาแลงอายุหลายร้อยปี มีลักษณะเป็นทรงเหลี่ยม ซึ่งมีลักษณะต่างจากวัดอื่นๆ เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีช่างฝีมือในการทำจึงได้นำศิลาแลงมาใช้เป็นลูกนิมิต ลูกนิมิตที่วัดสาขลาแห่งนี้มีด้วยกันทั้งหมด 9 ลูก ซึ่งลูกเอกนั้นถูกวางไว้ใต้โบสถ์เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะ

เมื่อเดินไปตามทางเดินจะพบกับ พระบัวเข็ม ซึ่งประดิษฐานอยู่ท่ามกลางเหล่าดอกบัวมากมาย ซึ่งสาธุชนสามารถมาลอยบัวขอพรพระบัวเข็มได้อีกด้วย ส่วนด้านข้างของพระบัวเข็มนั้นมีพระเกจิอาจารย์ชื่อดังให้ได้สักการะมากมายไม่ว่าจะเป็น หลวงพ่อโต หลวงปู่มั่น หลวงพ่อสด หลวงปู่ศุข หลวงพ่อเงิน หลวงพ่อพูล เป็นต้น


ถัดมาจะพบกับ “พระสองพี่น้อง” มีลักษณะครึ่งองค์หันหลังชนกัน เป็นปางห้ามญาติ และปางห้ามสมุทร ซึ่งเป็นพระพุทธรูปเก่าแก่สมัยอยุธยาให้ได้ทำบุญตามศรัทธากันด้วย นอกจากนี้ก่อนที่จะออกประตูไปจะพบกับ ฐานหลวงพ่อโตศักดิ์สิทธิ์ ให้ได้ขอพรกันอีกด้วย จากนั้นให้ลอดท้องช้างออกจากใต้โบสถ์เพื่อความเป็นมงคล


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ธรรมยุต ประกาศเปลี่ยนสีจีวร!!


เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าอาวาส วัดบวรนิเวศวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) ในฐานะรักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ได้ลงนามในคำสั่ง ประกาศคณะธรรมยุต เรื่อง การครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยม ความว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชศรัทธามั่นคงในพระพุทธศาสนา ทรงมีพระราชดำริในการที่จะให้พระภิกษุสงฆ์ครองผ้าไตรจีวรที่มีสีเหมือนกัน เพื่อความเรียบร้อยงดงาม จึงได้ทรงนำผ้าสีต่างๆ มาถวาย และมีพระราชปุจฉากับพระมหาเถระ จนได้ผ้ามีสีที่ถูกต้องไม่ผิดพระวินัย เป็นที่พอพระราชหฤทัยแล้ว จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพนักงานในพระองค์จัดผ้าไตรจีวรสีตามพระราชดำริพระราชทานถวายแด่พระภิกษุสงฆ์ในงานทรงบำเพ็ญพระราชกุศลวาระต่างๆ ซึ่งพระภิกษุสงฆ์เมื่อรับพระราชทานถวายแล้ว ได้ครองจีวรสีดังกล่าวฉลองพระราชศรัทธามาโดยลำดับ ผ้าไตรจีวรที่พระราชทานถวายนั้น ทราบกันในนามว่า “จีวรสีพระราชนิยม”

อนึ่ง ในการประชุมเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัดคณะธรรมยุต เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 ณ วัดอาวุธวิกสิตาราม กรุงเทพมหานคร ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาเรื่องการครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยม และมีมติอนุโมทนาในพระราชศรัทธา และเห็นชอบที่จะให้พระภิกษุสามเณร คณะธรรมยุต ครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยมเสมอกัน และให้นำเสนอคณะกรรมการบริหารคณะธรรมยุตพิจารณา


คณะกรรมการบริหารคณะธรรมยุต ประชุมครั้งที่ 5/2556 เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 ณ สำนักงานแม่กองธรรมสนามหลวง วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร ได้พิจารณาตามข้อเสนอของเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัดดังกล่าว มีมติเห็นชอบ และให้มีประกาศคณะธรรมยุต เรื่อง ให้พระภิกษุสามเณรคณะธรรมยุตครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยม ตั้งแต่วันวิสาขบูชา 2557 ซึ่งตรงกับวันที่ 13 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นไป จึงประกาศให้ทราบโดยทั่วกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับสีจีวรในปัจจุบันของคณะสงฆ์ธรรมยุตส่วนใหญ่จะใช้จีวร สีกรัก (สีแก่นขนุนเข้ม) ซึ่งจะมีลักษณะเป็นสีน้ำตาลเข้ม แต่สำหรับสีพระราชนิยม สีจะอ่อนกว่าสีกรัก ซึ่งเวลาพระสงฆ์รับนิมนต์เข้าพระราชพิธีในพระบรมมหาราชวังก็จะครองจีวรสีพระราชนิยม และจะเห็นได้ชัดอีกช่วงในพิธีพระราชทานสมณศักดิ์ของทุกปี

นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวว่า การดำเนินการดังกล่าวทางคณะสงฆ์สามารถดำเนินการได้เลย โดยสีดังกล่าวเป็นสีจีวรที่พระสงฆ์จะใช้ในเวลามีงานพระราชพิธี แต่หากคณะสงฆ์คณะธรรมยุตจะนำมาใช้เป็นสีจีวรของพระภิกษุสามเณรคณะธรรมยุตก็สามารถทำได้ ไม่ต้องแจ้งทางสำนักพระราชวัง ส่วนจะมีการแจ้งต่อที่ประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) หรือไม่นั้น อยู่ที่การพิจารณาของรักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต

ขณะเดียวกัน สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ พระผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ในฐานะเจ้าคณะใหญ่หนเหนือ ประกาศกติกาสงฆ์หนเหนือ เมื่อวันที่ 9 มกราคม พ.ศ.2556 ที่ผ่านมาให้ภิกษุ-สามเณรในภาคเหนือ นุ่งห่มไตรจีวร สีเหลืองทอง เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

หลวงพ่อแดง ปิยะสีโล สุดยอดเกจิวิปัสสนา แห่งเกาะสมุย


พระครูสมาธานกิตติคุณ หรือ หลวงพ่อแดง ปิยะสีโล อดีตเจ้าอาวาส วัดคุณาราม เกาะสมุย ผู้ที่สละชีวิตทางโลก เพื่อธรรมะแห่งพระพุทธองค์ ท่านมีลูกศิษย์ลูกหาที่เลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก ท่านเป็นผู้ที่มีวิชาอาคมเข้มขลังและหยั่งรู้อนาคต โดยเมื่อท่านได้มรณภาพลง ปรากฏว่าร่างของท่านไม่เน่าเปื่อยเหมือนกับผู้คนทั่วไป และอยู่ในท่า "นั่งขัดสมาธิ" ซึ่งเป็นไปตามคำปรารถนาของท่าน

หลวงพ่อแดง ปิยะสีโล วัดคุณาราม (เขาโป๊ะ) อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี เดิมชื่อ แดง สีชั้น เป็นบุตรของ หลวงพิทักษ์ และ นางน้อยหีต สง่าราษฏร์ ท่านเกิดที่ บ้านตะพ้อ หมู่ 5 ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี เมื่ออายุได้ 20 ปีบริบูรณ์ ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุตามประเพณีได้ประมาณ 2 พรรษา จึงลาสิกขา ต่อมาได้สมรสกับ นางเขียว ทองทิพย์ ที่บ้านละไม ตำบลมะเร็ต มีบุตรธิดารวม 6 คน ในชีวิตฆราวาสนั้น หลวงพ่อแดง ได้สร้างฐานะครอบครัวจนจัดได้ว่า เป็นครอบครัวที่มีอันจะกินครอบครัวหนึ่ง และเป็นที่ยอมรับของสังคมในสมัยนั้น

ในยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ข้าวยากหมากแพง ท่านได้ช่วยเหลือเพื่อนบ้านเกี่ยวกับเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรคและ สิ่งของต่างๆ ที่พอจะช่วยได้ในยุคนั้น ต่อมาพอสงครามสงบลง ท่านก็ได้บวชอีกครั้ง โดยมี พระครูทีปาจารคุณารักษ์ (มี อินฺทสุวณฺโน) เจ้าอาวาสวัดสำเร็จ เจ้าคณะอำเภอเกาะสมุย รูปที่ 4 ในสมัยนั้น เป็นพระอุปัชฌาย์ ตรงกับปี พ.ศ.2487 นับว่าท่านบวชครั้งที่ 2 เมื่ออายุครบ 50 ปี พอดี

พอเข้าพรรษาท่านก็ได้ขึ้นไปปฏิบัติสมถะกัมมัฏฐาน บนถ้ำยาย ที่เชิงเขาหมาแหงน โดยมี พระครูประยุตธรรมโสภิต (ทองไหล สิริวฑฺฒโน) เจ้าอาวาสวัดละไม เป็นอาจารย์สอนสมถกัมมัฏฐานให้ ท่านจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำเขายายประมาณ 2 ปี จึงย้ายไปอยู่กับ หลวงพ่อแดง ติสฺโส ที่สำนักสงฆ์หัวแหลมสอ (วัดพระเจดีย์แหลมสอ ในปัจจุบัน)

หลวงพ่อแดง ติสฺโส ได้พาท่านออกธุดงค์เพื่อแสวงหาธรรมะที่แท้จริงเป็นเวลา 1 ปีเศษ ท่านจึงได้อำลา หลวงพ่อแดง ติสฺโส กลับมาพัฒนาวัดศิลางู อีก 4-5 ปี หลังจากนั้นท่านได้ออกธุดงค์อีก จนไปพบป่าไม้ที่เงียบสงบมากแห่งหนึ่งที่หาดเฉวง ท่านจึงได้ย้ายจากวัดศิลางู ไปปลูกกุฏิเล็กๆอยู่ปฏิบัติสมถะกัมมัฏฐานอยู่ 3-4 ปี ต่อมาทราบข่าวว่าที่ วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพมหานคร ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ได้เปิดสอนวิปัสสนากัมมัฏฐานขึ้น ท่านจึงเดินทางเข้ากรุงเทพมหานครทันที และเข้าฝากตัวเป็นศิษย์กับ ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรม ฝึกจิตให้ได้มาซึ่งวิปัสสนากัมมัฏฐาน จนกระทั่งสามารถนั่งสมาธิกำหนดจิตได้นานถึง 15 วัน โดยไม่มีการเคลื่อนไหว ตัวท่านแข็งเหมือนดั่งท่อนไม้


หลวงพ่อแดง ปิยะสีโล ท่านเป็นคนพูดจริงทำจริง ปฏิบัติเคร่งครัด ท่านฉันท์ภัตตาหารเพียงมื้อเดียว คือ ฉันท์ในบาตรตั้งแต่แรกบวชจนกระทั่งท่านดับสังขาร ท่านได้รับการฝึกสอนประมาณ 1 ปี มีความรู้แตกฉานเชี่ยวชาญในวิชาวิปัสสนาธุระ คณะอาจารย์ที่สอนลงความเห็นว่า สมควรส่งท่านไปเผยแพร่พระพุทธศาสนา ตั้งสำนักวิปัสสนาจึงจัดหาที่ดินที่ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย ตั้งเป็นวัดสำนักวิปัสสนา คือ วัดบุญฑริการาม (หรือ วัดพังบัว) เปิดสอนวิปัสสนากัมมัฏฐาน มีพระภิกษุสามเณร อุบาสก อุบาสิกา เป็นศิษย์ปฏิบัติวิปัสสนามากมายทีเดียว ท่านได้ประจำอยู่ที่ วัดบุญฑริการาม (วัดพังบัว) ประมาณ 20 ปี ระยะหลังท่านเกิดป่วยหนักขึ้น 2 ครั้งเกี่ยวกับสังขาร ซึ่งชราภาพ ประกอบกับการคมนาคมสมัยนั้น ทางไปบ้านเฉวงกันดารมาก หมอที่จะรักษาก็ไม่มีเวลา ท่านเจ็บป่วยขึ้นมา ลูกศิษย์ก็ต้องรักษากันตามมีตามเกิด ลูกศิษย์และลูกหลานจึงนิมนต์ท่านมาจำพรรษาที่ วัดคุณาราม (เขาโป๊ะ) ตำบลหน้าเมือง อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นวัดบ้านเกิดของท่านเอง

หลวงพ่อแดง ปิยะสีโล ท่านสามารถ หยั่งรู้ถึงการแตกดับของสังขารตัวเอง ท่านได้สั่งให้ นายแคล้ว กัยนายเพชร ซึ่งเป็นโยมอุปัฏฐาก ทำหีบศพแบบนั่งขัดสมาธิให้ใบหนึ่ง ท่านสั่งว่า "เมื่อถึงเวลาท่านตายจะได้เข้าไปนั่งสมาธิตายในหีบ ไม่ต้องยุ่งยากศิษย์หาวาเตและลูกหลาน" แต่ก็ไม่มีใครเชื่อว่าท่านจะตายตามที่ท่านพูด เพราะคนใกล้ชิดกับท่านเห็นว่าถึงท่านจะอายุมาก แต่ร่างกายของท่านยังแข็งแรงสมบูรณ์ดีทุกประการ พอขึ้นเดือน 5 ท่านก็เตือน นายแคล้ว กับนายเพชร อีกว่า ให้รีบทำหีบศพให้เสร็จโดยเร็ว เพราะเวลาชีวิตของท่านเหลือน้อยเต็มทีแล้ว นายแคล้วกับนายเพชรก็ยังไม่เชื่ออีก จนมาเดือน 5 ข้างแรม ท่านก็เตือนอีก ท่านบอกว่า "เดือน 6 ท่านจะตายแล้ว" แต่ก็ไม่มีใครเชื่อท่านอยู่ดี เพราะในอดีตไม่เคยปรากฏมาก่อน พอท่านมรณภาพลงตามวันที่ท่านบอกเอาไว้ลูกหลานทุกคนก็เสียใจ ที่ไม่เชื่อคำพูดของท่านแต่แรก

หลวงพ่อแดง ปิยะสีโล หรือ พระครูสมถกิตติคุณ ท่านอยู่ในเพศสมณะจนถึงวันมรณภาพ นับเวลาของท่านได้ 29 ปี 8 เดือน ท่านมรณภาพลงเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2516 ตรงกับ แรม 5 ค่ำ เดือน 6 ปี ฉลู รวมสิริอายุได้ 79 ปี 8 เดือน หลังจากที่ท่านมรณภาพแล้ว ลูกศิษย์และลูกหลานจึงได้นำสรีระสังขารของท่านบรรจุในท่านั่งในโลง ซึ่งได้เร่งทำขึ้นภายหลัง ตามลักษณะที่ท่านต้องการและประดิษฐานไว้บนศาลาที่วัดคุณาราม (เขาโป๊ะ) เพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของท่านที่ได้เขียนสั่งไว้

ถึงแม้นท่านจะละสังขารไปนานปีแล้วก็ตาม แต่สรีระสังขารของท่านก็มิได้เน่าเปื่อยแต่อย่างใด หากท่านใดมีโอกาสเดินทางไปที่เกาะสมุย สิ่งที่ลืมเสียมิได้ คือ การเดินทางไปกราบสรีระสังขารและขอพรจาก หลวงพ่อแดง ที่วัดคุณาราม (เขาโป๊ะ) เพื่อเสริมความมงคลแก่ชีวิตให้ยั่งยืนสืบไป


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



"มาฆบูชา" วาเลนไทน์วิถีพุทธ


วันมาฆบูชา ถือเป็น "วาเลนไทน์วิถีพุทธ" หรือ วันแห่งความรักในทางพระพุทธศาสนา สืบเนื่องมาจากหลักธรรม “โอวาทปาฏิโมกข์” ที่พระพุทธองค์ทรงประทานหลักอันเป็นหัวใจของพระธรรม แก่พระอรหันตสาวกผู้เป็นเอหิภิกขุทั้ง 1,250 องค์ ที่มาประชุมพร้อมกันเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้นัดหมาย ซึ่งใจความสำคัญนั้นสอนให้ทุกคนตั้งมั่นในการทำความดี ละเว้นความชั่ว ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน นั่นก็คือ สอนให้ทุกคนมี “ความรัก” เป็นความรักที่ไม่เห็นแก่ตัว และเป็นความรักที่มีเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก

วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ กลางเดือน 3 แต่เดิมนั้นไม่มีการประกอบพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น โดยการประกอบพระราชพิธี จะมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาใน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2549 รัฐบาลไทยได้ประกาศให้ วันมาฆบูชา เป็น "วันกตัญญูแห่งชาติ" เนื่องจากสังคมไทยในปัจจุบัน วัยรุ่นมักจะเสียตัวในวันวาเลนไทน์ หลายหน่วยงานจึงพยายามรณรงค์ให้ วันมาฆบูชา เป็น วันแห่งความรัก (อันบริสุทธิ์) แทน

และในปี พ.ศ. 2557 นี้ วันมาฆบูชา ได้เวียนมาตรงกับ วันวาเลนไทน์ อย่างพอดิบพอดี วันมาฆบูชาปีนี้ จึงถือได้ว่าเป็น “วันวาเลนไทน์วิถีพุทธ” หรือ “วันแห่งความรัก (อันบริสุทธิ์) สากล”


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันอังคารที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

วัดตาก้อง จัดงานบุญประจำปี 57


วัดตาก้อง เดิมมีชื่อว่า วัดไพรวัลย์นิกาวาส สร้างขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๒๒๕ เป็นเวลากว่า ๓๓๑ ปี เดิมทีนั้นบริเวณหน้าวัดมีแม่น้ำสายโบราณสายหนึ่งที่ใช้เป็นเส้นทางเดินเรือไปบ้านยาง พระแท่นดงรัง จ.กาญจบุรี หมู่บ้านตาก้องเป็นหมู่บ้านที่ประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นมาเป็นเวลานับร้อยปีมาแล้ว เดิมเรียกว่า "บ้านอ้ายก้อง" สันนิษฐานว่าคงเรียกตามชื่อชาวจีนคนหนึ่ง ซึ่งมีฐานะร่ำรวยเป็นเจ้าของโรงหีบอ้อย ในหมู่บ้านที่มีชื่อว่า เจ๊กก่อง หรือ เจ๊กก้อง

จากการบอกเล่าของผู่เฒ่าที่เล่าสืบต่อๆ กันมาว่า เหตุที่ใช้ชื่อวัดว่า "วัดไพรวัลย์นิกาวาส" นั้น เนื่องจากที่ตั้งของวัดยังเป็นป่าอยู่ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้แบ่งการปกครองเป็หมู่บ้าน ตำบล และอำเภอ ในครั้งนั้นหมู่บ้านอ้ายก้องได้ยกฐานะเป็นตำบลชื่อว่า "ตำบลตาก้อง" สันนิษฐานว่าชื่อของ "วัดไพรวัลย์นิกาวาส" คงเปลี่ยนตามชื่อของตำบลเป็น "วัดตาก้อง" มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งปัจจุบันมี พระครูสาราภิวัฒน์ (วีระวงศ์ เตชฺสมฺปนฺโน) หรือ หลวงพ่อเล็ก เป็นเจ้าอาวาส

เมื่อหลวงพ่อเล็กได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๐ ท่านขึ้นชื่อว่าเป็นพระนักพัฒนารูปหนึ่งของ จ.นครปฐม ทั้งด้านก่อสร้างและด้านส่งเสริมการศึกธรรม ทั้งพระภิกษุและฆราวาส ในแต่ละปีมีนักเรียนในเขตใกล้เคียงกับวัดมาเรียนและสอบธรรมศึกษาไม่ตำว่า ๓,๐๐๐ คน ปัจจุบันวัดตาก้องกลายเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในตำบลตาก้อง มีบรรยากาศร่มรื่นเหมาะกับการปฏิบัติธรรม

วัดตาก้อง มี หลวงพ่อแช่ม ซึ่งเป็นที่ศรัทธาของศิษยานุศิษย์ โบสถ์มหาอุตม์ อายุ ๒๐๐ ปี โบสถ์มหาอุตม์เป็นวิธีการสร้างโบสถ์ของคนโบราณเราจะเห็นว่าในอุโบสถแต่เดิมจะมีการควบคุมไม่ให้แสงสว่างจนเกินไป จะก่อผนังทึบ ไม่มีช่องหน้าต่างและมีประตูเข้าแค่ทางเดียว แต่เขากลับเจาะช่องเล็กๆ ไว้บนผนังด้านหลังพระประธาน เมื่อเราปิดประตู แสงที่ออกมาจากด้านหลังจะทำให้ดูเหมือนพระ และยังมีรูปปั้นของครูสุรพล สมบัติเจริญ

พระจุฬามณี สร้างขึ้นตามตำนานกล่าวว่า ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ มีพระเจดีย์ใหญ่งดงาม สร้างด้วยแก้วอินทนิล ยอดเจดีย์ทำด้วยทองคำแท้ ประดับด้วยรัตนะคือแก้ว ๗ ประการ ล้อมรอบด้วยกำแพงทองประดับด้วยธงทิวสีต่างๆ อย่างงดงาม มีเทพเจ้าทั้งหลายมาบรรเลงด้วยดุริยางค์ บูชาพระเจดีย์ทุกวัน พระจุฬามณีองค์นี้ท้าวสักกะเทวราชพระองค์นี้ ทรงสร้างไว้ให้เป็นเครื่องสักการบูชาของหมู่เทวดาในชั้นฟ้า ในฐานะที่พระเจดีย์นี้เป็นที่บรรจุของสำคัญสองประการคือ "พระเกศธาตุ กับพระเขี้ยวแก้วขวาของพระพุทธเจ้าของเราพระองค์นี้พระจุฬามณีวัดตาก้อง สร้างขึ้นประมาณ พ.ศ.๒๔๖๕

หลวงพ่อเล็ก บอกว่า เทศกาลงานประจำปีของวัด คือ งานนมัสการองค์พระจุฬามณี นมัสการเจ้าแม่กวนอิม ปิดทองรูปหล่อหลวงพ่อแช่ม และลอดประตูมหามงคล ๑๒ นักษัตร จัดกลางเดือน ๓ ของทุกปี โดยในปี ๒๕๕๗ นี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๓-๑๗ กุมภาพันธ์ พร้อมกับงานระลึก "ครูเพลงสุรพล สมบัติเจริญ" เพื่อเป็นการประหยัดค่าใช่จ่าย เพราะเราจัดกันหลายคืน งานครูสุรพลนั้นเดิมทีแล้ววัดหนองปลาไหล (อ.กำแพงแสน นครปฐม สถานที่ที่ครูสุรพลถูกยิงหน้าวัด) ทำทุกปี หลังๆ มีคนภายนอกไปขอจัด เราเห็นวัดไม่ได้ทำ เราก็จะนำมาจัดที่นี่ ส่วน ๑๖ สิงหาคมปีนี้ เราไม่ได้ทำอะไร มีการทำบุญถวายสังฆทานเท่านั้น

ส่วนการออกวัตถุมงคลจะยึดรูปแแบบที่หลวงพ่อแช่มสร้างไว้เป็นหลัก โดยในปีนี้วัดไจัดสร้างภาพเหรียญหลวงพ่อแช่มขนาด ๓.๓ ซม.เป็นเหรียญเนื้อแร่เหล็กไหลศักดิ์สิทธิ์ ๙ ชนิด ผสมหินพระธาตุที่ตกทอดมาจากหลวงพ่อแช่มและแร่ธรรมชาติบำบัด สเคล่าร์หินลาวาภูเขาไฟ มีจำนวนจำกัด ๒,๙๙๙ เหรียญเท่านั้น เพื่อนำปัจจัยสมทบทุนบูรณะศาสนสถานของวัด ผู้มีจิตศรัทธาร่วมบุญได้ที่หลวงพ่อเล็ก โทร.๐๘-๙๙๒๙-๒๖๙๙

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

"สังข์" มงคลวัตถุแห่งความรุ่งเรือง


สังข์ ถือเป็นมงคลวัตถุที่ชาวไทย และชาวต่างประเทศเชื่อกันว่า เป็นสิ่งที่เป็นอุดมมงคลสูงยิ่ง มักจะพบเห็นได้ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ เช่น พระราชพิธีราชาภิเษก ตอนที่พระมหาราชครูผู้เป็นประธานคณะพราหมณ์ได้ถวายน้ำมหาสังข์แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ หรือแม้ในงานพิธีมงคลต่าง ๆ ซึ่งจัดขึ้นในบ้านเรือนของประชาชน เช่น งานมงคลสมรส เรามักจะได้พบ "สังข์" ซึ่งใช้เป็นที่รดน้ำแก่คู่บ่าวสาว เพื่อจะให้อยู่เย็นเป็นสุข และ พบเจอแต่ความเจริญรุ่งเรือง

สังข์ นอกจากจะใช้รดน้ำ เพื่อให้เกิดความสุขความเจริญแล้ว ยังใช้เป่าเพื่อให้ได้ยินเสียง เพื่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลอีกด้วย ซึ่งมักจะได้พบเห็นอยู่ในงานพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น เมื่อมีงานวางศิลาฤกษ์แล้วก็จะมีการเป่าสังข์ไกวบัณเฑาะว์

ส่วนประวัติและความเป็นมาของหอยสังข์ ซึ่งนิยมนับถือว่าเป็นอุดมมงคลสูงยิ่งนั้น มีเรื่องเล่าเป็นตำนานว่า มียักษ์ตนหนึ่งมีชื่อว่า "สังข์อสูร" เมื่อได้พบ พระพรหม ซึ่งกำลังบรรทมหลับอยู่ และได้มีพระเวทต่าง ๆ ไหลออกมาจากพระโอษฐ์ของพระพรหมดังนั้น ก็ให้เกิดมีความอิจฉาขึ้นจึงได้ขโมยเอาพระเวทต่าง ๆ นั้นไปเสีย เพื่อจะไม่ให้พวกพราหมณ์ได้มีพระเวทเป็นเครื่องสวดอ้อนวอนพระพรหม และเทพเจ้าองค์อื่นๆ ได้อีกต่อไป 

แต่ในขณะเดียวกันนั้นเอง พระนารายณ์ ได้ทอดพระเนตรเห็นการกระทำของยักษ์สังข์อสูรนั้นทุกประการ จึงได้ติดตามไปเพื่อจะเอาพระเวทนั้นกลับคืนมาเสีย เมื่อยักษ์สังข์อสูรนั้นเห็นพระนารายณ์ติดตามตนมาในระยะที่กระชั้นชิดเช่นนั้น ก็เห็นว่าเป็นการจวนตัว จึงได้กลืนพระเวททั้งหมดนั้นลงไปไว้ในท้องของตนเสีย แล้วก็กระโดดลงไปในน้ำมหาสมุทร ดำน้ำหายไปในทันที เมื่อพระนารายณ์ทรงทราบดังนั้น จึงได้เนรมิตร่างของพระองค์ให้เป็นปลาใหญ่เที่ยวค้นหาตัวยักษ์สังข์อสูร เพื่อจะจับตัวไว้ให้ได้ ก่อนที่ยักษ์สังข์อสูรนั้นจะทำลายพระเวทต่าง ๆ ให้หมดไปจากโลก

ในที่สุด พระนารายณ์ ก็ทรงจับตัวยักษ์สังข์อสูรเอาไว้ได้ แล้วจึงทวงถามเอาพระเวทคืน แต่ยักษ์สังข์อสูรนั้นไม่ได้มีการเจรจาโต้ตอบแต่ประการใด ได้แต่นิ่งเฉยอยู่เท่านั้น เมื่อพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าพิจารณาดูไปก็ได้ทราบว่ายักษ์สังข์อสูรได้กลืนเอาพระเวทเข้าไว้ในท้องของตน จึงได้เอาพระหัตถ์บีบที่ปากของยักษ์สังข์อสูร จนเนื้อที่ปากนั้นปริออกมาตามระหว่างนิ้วพระองค์ แต่เมื่อทรงเห็นว่ายักษ์สังข์อสูรนั้นยังไม่ยอมคืนพระเวทอีก จึงได้ทรงเอานิ้วพระหัตถ์ล้วงเข้าไปในท้องของสังข์อสูรนั้น แล้วทรงค้นหาพระเวทซึ่งอยู่ในท้องของสังข์อสูรนั้น ในที่สุดก็ได้พบพระเวทนั้น จึงได้เอานิ้วพระหัตถ์จับพระเวทนั้น ดึงลากออกมาทางปากของยักษ์สังข์อสูร เมื่อทรงเอาพระเวทกลับคืนออกมาจากท้องของยักษ์สังข์อสูร ได้จนหมดเรียบร้อยทุกพระคัมภีร์แล้ว พระนารายณ์ผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงสาปยักษ์สังข์อสูรนั้นว่า “ขอให้เจ้าจงมีสภาพร่างกายเป็นอย่างนี้ และจงอยู่แต่ในน้ำสืบไป อย่าได้ขึ้นมาบนบกอีกต่อไปเลย เมื่อชาวมนุษย์จะทำการมงคลใด ๆ จึงค่อยมาจับเอาตัวเอ็งไปร่วมในงานพิธีมงคลนั้น ๆ ด้วย” เมื่อทรงสาปแล้ว จึงได้ทิ้งร่างของยักษ์สังข์อสูรนั้นลงไปในมหาสมุทรทันที แล้วจึงได้เอาพระเวทนั้นมาส่งคืนให้แก่พระพรหม ผู้เป็นเจ้าของเดิมทันที

เมื่อยักษ์สังข์อสูรนั้นอยู่ในน้ำมหาสมุทรนั้นนาน ๆ เข้าจึงได้กลับกลายมาเป็นหอยสังข์ และมีสภาพเหมือนกับคำที่พระนารายณ์ท่านได้สาปไว้ทุกประการ และได้เที่ยวเร่ร่อนไปในทะเลลึก เมื่อถึงเวลาจะทำพิธีมงคลต่าง ๆ พวกพราหมณ์จึงได้ไปจับเอาตัวไปเข้าอยู่ในพิธีมงคลนั้น ๆ เหตุผลที่พวกพราหมณ์ผู้ทำพิธีต่าง ๆ จะนำหอยสังข์นั้นมาเข้าร่วมอยู่ในงานพิธีมงคลต่าง ๆ นั้น ก็เพราะ พราหมณ์มีความเห็นว่า

1. หอยสังข์นั้นเคยเป็นที่บรรจุพระเวทต่าง ๆ ไว้ในท้องของตนจนครบทุกประการ
2. ตามบริเวณร่างกายของหอยสังข์นั้น ได้มีรอยนิ้วพระหัตถ์ของพระนารายณ์ผู้เป็นเจ้า ยังปรากฏอยู่ในขณะที่พระองค์ทรงบีบปากเพื่อค้นหาคัมภีร์พระเวทเมื่อครั้งแรกนั้น ที่ปากของหอยสังข์นั้นจึงเป็นรอยยาวออกมานั้น ก็เพราะพระนารายณ์ท่านลากคัมภีร์พระเวทต่าง ๆ ออกมาทางปากนั้น

ด้วยเหตุดังกล่าว "สังข์" จึงถือได้ว่าเป็นมงคลวัตถุที่สูงและศักดิ์สิทธิ์ยิ่งนัก จึงนิยมที่จะนำเข้ามาร่วมในพิธีมงคลต่าง ๆ สืบต่อมา


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันพฤหัสบดีที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

ท่านพ่อเขียน เทพเจ้า แห่งขุนเขาคิชฌกูฏ


พระครูธรรมสรคุณ หรือ หลวงพ่อเขียน ขนฺธสโร อดีตเจ้าอาวาส วัดกะทิง จ.จันทบุรี หรือที่ชาวบ้านต่างขนานนามเรียกท่านว่า "ท่านพ่อเขียน" เทพเจ้าแห่งขุนเขาคิชฌกูฏ ท่านคือสุดยอดพระเกจิอาจารย์ แห่งจังหวัดจันทบุรี ท่านเป็นผู้ที่มีวิชาอาคมอันแก่กล้า โดยเฉพาะสามารถ "เปิดป่า" ใช้วิชาสะกดพวกสัตว์ป่า ไม่ให้ออกมาเพ่นพ่าน ในช่วงเวลาที่เขาคิชฌกูฎ ได้เปิดให้ผู้คนขึ้นมาสักการะ นมัสการรอยพระพุทธบาท (พระบาทพลวง)

ท่านพ่อเขียน ขนฺธสโร ท่านเกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2473 ซึ่งตรงกับรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ณ บ้านกะทิง ต.พลวง อำเภอเขาคิชฌกูฏ (ขณะนั้นเป็นอำเภอมะขาม) จ.จันทบุรี ท่านเป็นบุตรของ นายอยู่ และ นางมุ้ง ทองคำ ในครอบครัวของท่านประกอบอาชีพเกษตรกรรม และการหาของป่าสมุนไพร ดังนั้น ท่านจึงได้รับการถ่ายทอดวิชาพืชสมุนไพรและของป่า จนมีความชำนาญ

ในช่วงวัยเรียน ท่านเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ที่โรงเรียนวัดกะทิง ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี จนกระทั่งท่านมีอายุครบบวช ท่านจึงได้อุปสมบทเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2494 โดยมี พระครูนิเทศคณานุสิฏฐ์ วัดหนองอ้อ ต.มะขาม อ.มะขาม จ.จันทบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ และ พระครูพุทธบทบริบาล วัดพลวง ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ได้รับนามฉายาว่า “ขนฺธสโร”


หลังจากนั้น ท่านได้สอบไล่นักธรรมชั้นตรี และได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดกระทิง สืบต่อจาก หลวงพ่อรุ่ง อดีตเจ้าอาวาสวัดกระทิง ที่ได้มรณภาพลงในปี พ.ศ. 2499 และในปี พ.ศ. 2516 ได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูธรรมสรคุณ และในปี พ.ศ. 2538 ท่านก็ได้ริเริ่มโครงการ นำวัดเข้าสู่โรงเรียน จากนั้นอีก 3 ปีต่อมา ท่านได้พิมพ์หนังสือเรื่อง นำวัดเข้าสู่โรงเรียน เพื่อให้เด็กได้รู้จักอารยธรรมของชาวจันทบุรี และ วิถีชีวิตของคนจันทบุรีในสมัยก่อน

จากผลงานของท่าน ที่ได้ปฏิบัติมา สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ได้พระราชทานปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ แด่ พระครูธรรมสรคุณ ในวันที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2546 รวมทั้ง ได้รับโล่เกียรติคุณผู้ทำคุณประโยชน์ด้านการแนะแนวชีวิตและสังคม ประจำปี พ.ศ. 2546 จากกระทรวงศึกษาธิการ

หลวงพ่อเขียน ขนฺธสโร ท่านเป็นผู้ที่มีความเมตตาสูง ทุกครั้งที่หน่วยงานราชการ องค์กรการกุศล โรงเรียน หรือชาวบ้าน ได้ขอความอนุเคราะห์จากท่าน ท่านไม่เคยปฏิเสธ ท่านจะช่วยเหลือพวกเขาเหล่านั้นอย่างเต็มที่ เหล่าคณะศิษย์ผู้ที่มีจิตศรัทธาต่อท่าน ล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ท่านพ่อเขียน ท่านเป็นผู้ที่สามารถ "หยั่งรู้ฟ้าดิน" มีวิชาอาคมอันแก่กล้า และความเมตตาแก่ศิษย์ผู้ศรัทธาทุกผู้ทุกคน


หลวงพ่อเขียน ท่านมรณภาพ เมื่อเวลา 12.00 น. ของวันเสาร์ที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2555 ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ด้วยอาการไตวาย โดยท่านได้เข้ารับการรักษาอาการอาพาธโรคไต และโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ มาตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม ของปีเดียวกัน สิริอายุได้ 82 ปี 62 พรรษา

แม้วันนี้ ท่านพ่อเขียน จะมรณภาพไปนานนับปีแล้ว แต่คุณงามความดีที่ท่านได้เคยก่อไว้ จะยังคงดำรงอยู่ในใจของเหล่าคณะศิษย์ทั่วฟ้าเมืองไทย ตลอดไปตราบนานเท่านาน


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันอาทิตย์ที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

1 ปี 1 ครั้ง 1 คำอธิษฐาน “เขาคิชฌกูฏ” จันทบุรี


เขาคิชฌกูฏ ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ ต.พลวง กิ่ง อ.เขาคิชฌกูฏ จ.จันทบุรี “เขาคิชฌกูฏ” เป็นที่ประดิษฐานของ รอยพระพุทธบาท ที่อยู่สูงที่สุดในประเทศไทย สูงกว่า 1,050 เมตร จากระดับน้ำทะเล ถือว่าสูงที่สุดในเขตอุทยานแห่งชาติเขาคิชฌกูฏ “รอยพระพุทธบาท” มีลักษณะเป็นรอยบนหินแผ่นใหญ่ มีรอยลึกประมาณ 2 เมตรเศษ กว้าง 1 เมตร ยาว 2 เมตร ค้นพบที่ยอดเขาพระบาทห่างจากที่ทำการอุทยานเขาคิชฌกูฏราว 4 กม.

เล่ากันว่า “รอยพระพุทธบาท” นี้ถูกค้นพบโดยนายพรานหาของป่าที่เดินขึ้นไปบนเขาคิชฌกูฏเมื่อปี พ.ศ.2397 เดิมทีนั้นเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “พระบาทพลวง” และเมื่อปี พ.ศ.2515 พระครูธรรมสรคุณ หรือ ท่านพ่อเขียน ขนฺธสโร แห่ง วัดกระทิง จ.จันทบุรี ผู้เป็นหลักในการพัฒนาพระบาทพลวง ได้เสนอให้เปลี่ยนไปใช้ชื่อ “เขาคิชฌกูฏ” 


โดยตามพุทธประวัติแล้ว บนยอด “เขาคิชฌกูฏ” เป็นที่ตั้งของ พระคันธกุฎี ที่ประทับของพระพุทธองค์ เมื่อครั้งประทับที่เมืองราชคฤห์ เพื่อเป็นที่รำลึกถึงพระองค์ และแสดงถึงความเจริญในพระพุทธศาสนาอย่างสูงส่งของประเทศไทย

ผู้มีจิตศรัทธาต้องใช้ความอึดเดินขึ้นสู่ยอดเขาอีกราว 3 กม. เดินพื้นราบอาจเป็นเรื่องธรรมดา แต่เดินขึ้นเขาอาจไม่ง่ายอย่างที่คิด แถมยังต้องเบียดเสียดกับผู้คนมากมาย เพราะการเปิดให้ขึ้นนมัสการรอยพระพุทธบาท เขาคิชฌกูฏ จะเริ่มตั้งแต่วันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี ช่วงประมาณปลายเดือนมกราคม – เดือนมีนาคม (ในปี 2557 นี้ ช่วงระยะเวลาอย่างไม่เป็นทางการ คือระหว่างวันที่ 31 มกราคม – 24 มีนาคม 2557) หรือแค่ประมาณ 2 เดือนต่อปีเท่านั้น เลยเป็นธรรมดาที่พุทธศาสนิกชนจะแห่แหนกันไปจนแน่นขนัดทุกครั้ง เพราะศรัทธากันว่าผู้ที่ได้มาสักการะแผ่นหินซึ่งเชื่อว่าประทับรอยพระพุทธบาทไว้ จะได้อานิสงส์แรงกล้า เปรียบได้กับการได้เข้าเฝ้าองค์พระศาสดาถือเป็นกุศลอันยิ่งใหญ่


นอกจากนี้ บนยอด “เขาคิชฌกูฏ” ยังมีความมหัศจรรย์ทางธรรมชาติต่างๆ ที่เป็นตำนาน และความเชื่อทางพระพุทธศาสนาให้เราได้ทึ่ง เช่น ก้อนหินขนาดใหญ่มีรูปคล้ายกับบาตรพระคว่ำ อยู่ใกล้กับหินรูปรอยพระพุทธบาท ศิลาเจดีย์รอยพระหัตถ์ รอยเท้าพญามาร ถ้ำฤๅษี ลานแข่งรถพระอินทร์ หินที่มีรูปร่างคล้ายเต่า และช้างขนาดยักษ์ เป็นต้น

การเดินทางไป “เขาคิชฌกูฏ” หากวิ่งเส้นถนนสุขุมวิท ถึงทางแยกเข้าตัวเมืองจันทบุรี (สี่แยกเขาไร่ยา) ให้เลี้ยวลงถนนทางน้ำตกกระทิง หรือถนนบำราศนราดูร จากทางแยกเขาไร่ยา ไปถึงน้ำตกกระทิงประมาณ 20 กิโลเมตร เลยวัดระทิงไป 400 เมตร ถึงแยกขวามือไปวัดพลวง เป็นถนนลูกรังระยะทาง 3 กิโลเมตร เมื่อถึงวัดพลวง จะเป็นจุดเริ่มต้นขึ้นไปยังยอดเขา มีรถรับจ้างทดเฟืองพิเศษรับไปส่งถึงจุดที่ใกล้ที่สุด และเดินเท้าต่ออีกประมาณ 40 นาที

ผู้มีจิตศรัทธาที่สนใจจะเดินทางไปสักการะ “เขาคิชฌกูฏ” สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมก่อนเดินทางได้ที่ อุทยานแห่งชาติเขาคิดชฌกูฎ โทรศัพท์ 0-3945-2075 , กิ่งอำเภอเขาคิดชฌกูฎ โทรศัพท์ 0-3945-2437 และ องค์การบริหารส่วนตำบลพลวง โทรศัพท์ 0-3930-9281


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ