วันอาทิตย์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2557

สอนธรรมะเป็น "ภาษาอังกฤษ" ไอเดียสุดวิจิตร จากวัดสระเกศ


พระพรหมสุธี (เสนาะ ปญฺญาวชิโร) เจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) กล่าวว่า วัดสระเกศฯ เตรียมเปิดสำนักปฏิบัติธรรม โดยจะใช้ชื่อว่า สถาบันญาโณทยธรรมสถาน ซึ่งนอกจากจะสอนเกี่ยวกับปฏิบัติธรรมแล้ว จะมีการ เปิดสอนธรรมะเป็นภาษาอังกฤษ อีกด้วย ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามคำปรารภของ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และ อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ที่ท่านต้องการให้มีการสอนธรรมะให้กับชาวต่างชาติ พร้อมกันนี้ที่สถาบันดังกล่าวยังจะมีการสอนปฏิบัติธรรมเป็นภาษาอังกฤษสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติด้วย 

ทั้งนี้ การจัดตั้งสถาบันดังกล่าวอยู่ในระหว่างการออกแบบตัวอาคาร และวางแนวทางในการสอนปฏิบัติธรรม รวมทั้งต้องเตรียมการในการรับพระสงฆ์ที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ทั้งยังต้องสามารถสอนปฏิบัติธรรมเป็นภาษาอังกฤษมาอยู่ที่สถาบันดังกล่าวด้วย

เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กล่าวต่อไปว่า จะสานต่องานทั้งหมดที่สมเด็จพระพุฒาจารย์เคยพูดไว้ รวมทั้งการสร้างซุ้มประตูวัดใหม่ ดังนั้นตนจะสร้างซุ้มประตูเข้าวัดใหม่ และได้ออกแบบแล้วโดยจะดำเนินการก่อสร้างในเร็วๆ นี้


*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันศุกร์ที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2557

"พระพิราพ" ศิวะอวตาร มหาเทพแห่งสงคราม บรมครูแห่งนาฏศิลป์


พระพิราพ คือ อวตารปางหนึ่งของ พระอิศวร หรือ ศิวะอวตาร ถือเป็นบรมครูสูงสุดของทั้งฝ่ายนาฏศิลป์และดุริยางค์ศิลป์ โดยเชื่อกันว่า พระองค์นั้นเป็นภาคของ พระอิศวรปางไภรวะ (ปางดุร้าย) เสมือนหนึ่ง พระแม่กาลี ซึ่งเป็นอวตารปางหนึ่งของ พระอุมา ในคติดั่งเดิมเรียกองค์พระพิราพว่า พระไภรวะ พระไภราวะ หรือ พระไภราพ ซึ่งเป็นคนละองค์กันกับ ยักษ์วิราธ หรือ พระพิราพป่า ในเรื่องรามเกียรติ์

พระองค์ คือ บรมครูยักษ์ เป็นมหาเทพแห่งสงคราม การทำลายล้าง บันดาลได้ทั้งความเป็นและความตาย เป็นมหาเทพปางขจัดความชั่วร้าย และขจัดสิ่งอัปมงคลทั้งหลายให้สิ้นไป โดยในประเทศอินเดียถือว่า พระพิราพ หรือ พระไภรวะ มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับนาฏศิลป์ เพราะท่านเป็นผู้ให้กำเนิดท่ารำที่เรียกว่า วิจิตรตาณฑวะ ซึ่งเป็นท่ารำท่าหนึ่งใน 108 ท่ารำของพระศิวะ ดังนั้นจึงถือว่าท่านเป็น นาฏราช ที่หมู่นาฏศิลป์อินเดียให้ความเคารพยำเกรง เมื่อนาฏดุริยางค์ศิลป์ของไทยนับเอาศาสตร์แขนงนี้มาจากอินเดีย คติการนับถือพระอิศวรนารายณ์ทวยเทพทั้งหลาย รวมไปถึง พระไภรวะ จึงติดตามมา โดยคติการนับถือ พระพิราพ กับการแสดงนาฏศิลป์และดุริยางค์ศิลป์ ปรากฏหลักฐานมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา และมีการบันทึกหลักฐานเป็นที่แน่ชัดในรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ 2)

กรมศิลปากรได้มีการชำระประวัติของ พระพิราพ โดยนักวิชาการ และมีการเผยแพร่สร้างความเข้าใจให้แก่บุคคลทั่วไป แต่ก็ยังไม่เป็นที่แพร่หลายนัก โดยในปัจจุบันคติการนับถือ พระพิราพ แพร่หลายมากขึ้น เนื่องจากครูบาอาจารย์ และพระเกจิอาจารย์หลายสำนัก นิยมสร้างวัตถุมงคลที่มีลักษณะของพระพิราพขึ้น โดยส่วนใหญ่มักจะมีบทสวดบูชาดังนี้

อิมัง พุทธัง องค์พระพิราพัง ขอเอหิจงมา
ธัมมัง องค์พระพิราพัง ขอเอหิจงมา
สังฆัง องค์พระพิราพัง ขอเอหิจงมา
พุทโธ สิทธิฤทธิ ธัมโม สิทธิฤทธิ สังโฆ สิทธิฤทธิ
สุขะ สุขะ ไชยะ ไชยะ ลาภะ ลาภะ
สัพพะธัมมานัง ประสิทธิเม ประสิทธิเต
พุทโธ สวัสดีมีไชย ธัมโม สวัสดีมีไชย สังโฆ สวัสดีมีไชย
อิมัง ปทีปัง สุรังคันธัง อธิฏฐามิ

* บทสวดบูชาองค์พระบรมครูพระพิราพ คัดลอกมาจาก
"สมุดพระตำรา พิธีไหว้ครู และพิธีครอบโขน ละคร" ของ พระยานัฏการุรักษ์


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





วันพฤหัสบดีที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2557

Summer นี้ หนีร้อน!! มาพบธรรม


หากเอ่ยถึงคำว่า "Summer" หลายคนคงจินตนาการถึงฤดูร้อนที่มีแดดใส มองไปทางไหนก็เห็นแต่ความสดสวย หากแต่ในสภาวการณ์ปัจจุบัน โลกใบเดิมของเรานั้นได้ผันแปรแปลงเปลี่ยนไป คล้ายกับว่าพระอาทิตย์ดวงใหญ่ กระหน่ำโหมผลาญเผาอย่างจงใจ โดยหมายให้เมืองมนุษย์ไหม้เป็นจุล

ดังนั้น "Summer" หรือ "ฤดูร้อน" ในทัศนคติของหลายคน จึงเป็นช่วงเวลาแห่งความสับสน ทั้งกายทุกข์ใจระทม เหมือนดิ่งจมน้ำมันเดือดบนกองไฟ เมื่ออุณหภูมิระอุร้อนขึ้นทุกวัน เปลวเพลิงสุริยะแห่ง "เดอะซัน" ย่อมถาโถมแผดเผาทำลายใจ

"เยาวชน" ถือเป็นทรัพยากรและรากฐานสำคัญแห่งสังคม หากเราปล่อยให้เค้าเติบใหญ่ในกองไฟแห่งทุกข์ "สังคมย่อมเป็นสังคัง" หากแต่สังคังจะไม่เกิดถ้าเรารู้วิธีป้องกัน "ธรรมะเปรียบดั่งฝน สอนใจให้หลุดพ้น ดั่งฝนโปรยดับไฟ"

โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน จึงถือได้ว่าเป็นเสมือนวิธีป้องกันสังคังในสังคม โดยการเตรียมความพร้อมให้กับเยาวชน ด้วยพุทธวิธีที่แยบยลในวีถีแห่งความเป็นไทย ค่อยๆปลูกจิตสำนึกแห่งชาวพุทธ ให้เขาเหล่านั้นมีใจอันบริสุทธิ์และผ่องใส ฝึกเตรียมใจให้รู้ทันทุกข์ของชีวิตในก้าวต่อไป เพื่ออนาคตในการเติบใหญ่จะได้มีธรรมะประดับใจ และ ไม่เป็นเหตุแห่งภัยในสังคม

พระเดชพระคุณ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาส วัดไผ่ล้อม ดินแดนแห่งธรรม จังหวัดนครปฐม เล็งเห็นถึงความสำคัญของการปลูกจิตสำนึกเชิงบวกให้กับเยาวชน ท่านจึงเมตตาจัด "โครงการบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน" ขึ้น โดยในปี พ.ศ.2557 นี้ กำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 8 - 23 เมษายน 2557 เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ 

โดยผู้มีจิตศรัทธาที่ประสงค์จะร่วมบุญใหญ่ในครั้งนี้ สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พระครูใบฎีกาวิทยา โทร.086-303-4210 หรือ ติดต่อโดยตรงได้ที่ วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม


*************************

เรื่องโดย : เต้ มงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันอังคารที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2557

จาด จง คง อี๋ สุดยอดพระเกจิ ผู้สร้างตำนาน “ทหารผี”


เมื่อสมัยที่เมืองไทยใจพุทธ เกิดกรณีพิพาท ต้องรบรากับข้าศึกใน สงครามอินโดจีน (พ.ศ.๒๔๘๓-๒๔๘๔) นับเป็นช่วงที่คนไทยใจสั่นขวัญผวา ล้วนต้องการขวัญกำลังใจ โดยเฉพาะเหล่าทหารที่ไปร่วมรบในศึกสงคราม “วัตถุมงคล” จึงถือเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจที่ดีที่สุด ทั้งยังส่งผลให้แคล้วคลาดปลอดภัย และห่างไกลจากภัยร้ายแห่งอาวุธสงคราม

ในสมัยนั้นทางการได้จัดพิธีปลุกเสกพระเครื่องรวมถึงเครื่องรางของขลังครั้งใหญ่ขึ้น โดยมีพระเกจิอาจารย์ ๔ รูปที่ร่วมปลุกเสก และด้วยความศักดิ์สิทธิ์จากพุทธาคมของพระอาจารย์ทั้ง ๔ ทำให้ทหารไทยที่ไปร่วมรบ ต่างได้รับความปลอดภัย แคล้วคลาด จนถึงขั้นคงกระพันชาตรี ขนาดถูกยิงล้มลงไป ยังลุกขึ้นมาต่อสู้กับข้าศึกได้ วีรกรรมของทหารไทยในครั้งนั้นจึงเป็นที่มาของสมญา “ทหารผี” โดยสุดยอดพระเกจิอาจารย์ทั้ง ๔ รูปนั้นคือ

๑.หลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา จ.ปราจีนบุรี ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิชาอาคมเข้มขลังที่สุดรูปหนึ่งของเมืองปราจีนบุรี ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ ที่ จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อเติบโตจนถึงวัยหนุ่มได้ย้ายไปอยู่ที่ จ.ปราจีนบุรี จนอายุครบบวชใน พ.ศ.๒๔๓๖ ท่านได้บรรพชาที่วัดบ้านสร้าง โดยมี พระครูปราจีนบุรี วัดหลวงปรีชากุล เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากนั้นท่านได้ย้ายมาอยู่ประจำที่วัดบางกระเบา ศึกษาพระธรรม รวมทั้งวิชาอาคมต่างๆ จากพระอาจารย์หลายๆ ท่านที่มีชื่อเสียงในสมัยนั้น

ว่ากันว่า ท่านได้เดินธุดงค์ไปศึกษาวิชาอาคมถึงประเทศเขมร จนเชี่ยวชาญในคาถาอาคมอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะวิชาการถอนคุณไสย และวิชามหาอุด คงกระพันชาตรี ท่านได้ปลุกเสกวัตถุมงคลจนโด่งดังไปทั่ว มีลูกศิษย์ให้ความเคารพนับถือทั่วทั้งเมืองไทย รวมถึงข้าราชการนายทหารตำรวจผู้ใหญ่ในสมัยนั้น และที่สำคัญสุด ท่านได้เป็นที่พึ่งของชาวบ้านที่มักจะถูกคุณไสยจากอาจารย์ชาวเขมรที่ชอบลองวิชาปล่อยของในสมัยก่อน เป็นต้องถูกหลวงพ่อสยบจนสิ้นฤทธิ์ทุกรายไป ด้วยคุณประโยชน์ที่ หลวงพ่อจาด สร้างให้กับวัด และเป็นที่ศรัทธาของประชาชน ทำให้ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์มาโดยตลอด จนเมื่อถึง พ.ศ. ๒๔๗๐ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ที่ พระครูสิทธิสารคุณ

ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน ๒๔๙๙ หลวงพ่อจาด ได้มรณภาพที่วัดบางกระเบา สิริรวมอายุได้ ๘๔ ปี พรรษา ๖๔ สำหรับวัตถุมงคลของหลวงพ่อที่ได้รับความนิยมกันมาก มีราคาสูง และหายาก คือ เหรียญรุ่นแรก พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นเหรียญกลม รูปหลวงพ่อครึ่งองค์ ด้านหลังเป็นรูปพระปิดตา , เหรียญรุ่น ๒ พ.ศ.๒๔๘๕ มีหลากหลายแบบพิมพ์ , เหรียญรุ่น ๓ , รูปเหมือนลอยองค์ , พระกริ่งออกที่วัดบางหอย , ตะกรุด , เสื้อยันต์ , ผ้ายันต์ ฯลฯ วัตถุมงคลที่ท่านปลุกเสกแทบทุกรุ่น สามารถเชื่อถือได้ว่ามีพุทธคุณศักดิ์สิทธิ์ มหาอุด คงกระพันชาตรี รวมถึงเมตตาค้าขาย อย่างครบถ้วน

๒.หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก จ.พระนครศรีอยุธยา ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “เทพเจ้าแห่งความเมตตา” ชาวอยุธยาและประชาชนทั่วไปล้วนเคารพรักท่านทุกคน หลวงพ่อจง ท่านเป็นชาว ต.หน้าไม้ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๑๕ ต่อมาบิดาได้นำไปฝากพระอาจารย์ที่วัดหน้าต่างใน เพื่อเรียนหนังสือตั้งแต่เล็ก จนอายุครบ ๒๐ ปี ได้บรรพชาอุปสมบทที่วัดแห่งนี้ โดยมี หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ เป็นพระอุปัชฌาย์ ด้วยความที่สนใจใฝ่หาวิชาร่ำเรียนเพิ่มเติม ท่านได้ฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอ, หลวงพ่อปั้น วัดพิกุล ฯลฯ โดยหลวงพ่อเป็นศิษย์รุ่นพี่ของ หลวงพ่อปาน วัดบางนมโค และหลวงพ่อปาน นับถือหลวงพ่อจง เป็นที่สุด โดยเรียกหลวงพ่อจงว่า “หลวงพี่” ทุกคำ พร้อมกับยกย่องหลวงพ่อจง ให้ศิษย์ฟังเสมอว่า “หลวงพ่อจงนี่แหละพระทองคำทั้งองค์”

ในสมัยที่หลวงพ่อปกครองวัด ท่านมีชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือมาก มีกิจนิมนต์แทบทุกวัน ขณะเดียวกันก็มีชาวบ้านมากราบไหว้ท่านที่วัดไม่ขาดระยะ ท่านไม่เคยปฏิเสธในการให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน ไม่ว่าการรดน้ำมนต์ ทำตะกรุด ปลุกเสกพระเครื่อง โดยหลวงพ่อเพียงแค่เป่าพ่วงเดียว ก็มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นยิ่งนัก จวบจน เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๘ หลวงพ่อจง ได้มรณภาพอย่างสงบที่ วัดหน้าต่างนอก นับเป็นการสูญเสียสุดยอดพระเกจิอาจารย์ผู้บริสุทธิ์ผุดผ่อง และกราบไหว้ได้อย่างสนิทใจท่านหนึ่งของเมืองไทย

วัตถุมงคลของท่าน สูงส่งพุทธคุณด้านแคล้วคลาด เมตตามหานิยม ป้องกันเขี้ยวงา ภูตผีปีศาจ มหาอุด คงกระพันชาตรี โดยมีหลากหลายรูปแบบ ทั้งเหรียญยอดนิยมหลายรุ่น รูปหล่อ เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ ตะกรุด แหวน ปลาตะเพียน รักยม ฯลฯ ตลอดเวลาที่ท่านให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน และปกครองวัด ท่านไม่ยอมรับสมณศักดิ์ใดๆ และ กิจนิมนต์สำคัญที่ท่านมักจะได้รับเป็นประจำ คือ การไปร่วมนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคลในพิธีใหญ่ๆ ทุกครั้ง เรียกว่าทุกพิธีสำคัญจะขาด หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก เสียมิได้

๓.หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม จ.สมุทรสงคราม ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดของเมืองสมุทรสงคราม ท่านเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๘ ที่ อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เมื่อเติบโตอายุ ๑๒ ปี บิดามารดานำไปบวชเรียนเป็นสามเณร ที่ วัดเหมืองใหม่ อ.อัมพวา ต่อมาได้บรรพชาอุปสมบทเมื่อ พ.ศ.๒๔๒๗ ที่วัดเหมืองใหม่ โดยมี พระอาจารย์ด้วง เป็นพระอุปัชฌาย์ เนื่องจากหลวงพ่อบวชเรียนตั้งแต่เป็นสามเณร จนเป็นพระภิกษุ ทำให้ท่านมีความเชี่ยวชาญในภาษาบาลี รวมถึงสนใจในวิชาอาคมต่างๆ โดยได้เดินทางไปศึกษาวิชากับพระอาจารย์ชื่อดังในอดีตหาลกหลายท่าน อาทิ หลวงพ่อหรุ่น วัดช้างเผือก หลวงพ่อแก้ว วัดพวงมาลัย ฯลฯ จนเมื่อถึง พ.ศ.๒๔๔๘ ชาวบ้านใน ต.บางกะพ้อม ได้รวมใจกันขอความเมตตาให้ท่านมารับตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดบางกะพ้อม ซึ่งในเวลานั้นตำแหน่งเจ้าอาวาสได้ว่างลง

หลังจากนั้น ท่านจึงทำนุบำรุงวัดที่กำลังเสื่อมโทรม โดย หลวงพ่อคง มีความเชี่ยวชาญในฝีมือทางช่าง รวมถึงการตกแต่งสิ่งก่อสร้างต่างๆ จนวัดที่เคยทรุดโทรม กลับกลายเป็นวัดที่สวยงาม โดดเด่นเป็นสง่ามาจนถึงทุกวันนี้ 

หลวงพ่อคง ท่านมรณภาพเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๖ โดยตลอดเวลาที่เป็นเจ้าอาวาส ท่านไม่ยอมรับสมณศักดิ์ใดๆ ที่ทางคณะสงฆ์มอบให้ ทางด้านวิชาอาคม หลวงพ่อได้ทำตะกรุด และลูกอม แจกศิษย์ในยุคแรกๆ ปรากฏเป็นที่ร่ำลือในทางคงกระพันชาตรี กล่าวกันว่า มีดปาดตาลที่คมๆ ยังไม่สามารถทำอะไรผู้ที่บูชาวัตถุมงคลของหลวงพ่อคงได้ นอกจากนี้ยังดีทางเมตตาค้าขายเป็นยิ่งนัก พระเครื่องที่โด่งดังที่สุดของหลวงพ่อคง คือ เหรียญรูปเหมือน ที่ออกเมื่อปี ๒๔๘๔ ซึ่งปัจจุบันจัดอยู่ในชุดเบญจภาคีเหรียญยอดนิยม เหรียญสภาพสวยๆ เช่าหาบูชาเกินราคาหลักล้าน!!

๔.หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี ท่านคือสุดยอดพระเกจิอาจารย์อีกท่านหนึ่งที่ปลุกเสกวัตถุมงคลได้อย่างเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ โดยเฉพาะ ปลัดขิก ของท่านโด่งดังเป็นอันดับต้นๆ ของเมืองไทย เพราะอานุภาพเป็นที่ประจักษ์อย่างเด่นชัดว่า ดีทุกทาง ทั้งเมตตา มหานิยม ค้าขาย เป็นเสน่ห์ยิ่งนัก โดยเฉพาะป้องกันเขี้ยวงา แคล้วคลาดคงกระพัน รวมถึงอาราธนาทำน้ำมนต์ก็เข้มขลัง ตามแต่จะอธิษฐาน จนอาจกล่าวว่า “สารพัดนึก” ก็ย่อมได้

หลวงพ่ออี๋ ท่านเป็นชาวสัตหีบ จ.ชลบุรี เกิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๐๘ พออายุครบ ๒๐ กว่าปี ได้บวชเรียนที่ วัดอ่างศิลา โดยมี พระอาจารย์จั่น วัดอ่างศิลา เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบวชเรียนแล้ว ท่านได้ศึกษากับพระอาจารย์ที่วัดแห่งนี้ จนมีวิชาอาคมระดับหนึ่ง จึงได้เดินทางไปขอเป็นลูกศิษย์ หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย จ.สมุทรปราการ ทำให้ได้รู้จักและสนิทสนมกับ หลวงพ่อนก วัดสังกะสี และ หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก

หลังจากได้ศึกษาวิชาอาคมต่างๆ อยู่นานพอสมควร ท่านได้เดินทางกลับมาบ้านที่สัตหีบ และได้สร้างวัดขึ้น โดยได้เป็นเจ้าอาวาสรูปแรกของวัดสัตหีบ ท่านได้ปกครองวัด สร้างความเจริญรุ่งเรืองเป็นอันมาก จวบจนถึง พ.ศ.๒๔๘๔ ท่านได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูวรเวทมุนี เจ้าคณะอำเภอสัตหีบ จนเมื่ออายุท่านได้ ๘๒ ปี หลวงพ่ออี๋ ได้มรณภาพ ณ ที่วัดสัตหีบ เมื่อ พ.ศ.๒๔๘๙

วัตถุมงคลของท่าน นอกจาก ปลัดขิก อันโด่งดังแล้ว ยังมี เหรียญรุ่นแรก สร้างปี ๒๔๗๓ จัดเป็นเหรียญยอดนิยมเหรียญหนึ่งของเมืองไทย รวมทั้ง ผ้ายันต์ เสื้อยันต์ ก็เป็นที่นิยมแสวงหาของคณะศิษย์และนักสะสม จวบจนถึงทุกวันนี้


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันจันทร์ที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2557

"หลวงพ่อโต" พระพักตร์ยิ้มละไม ศูนย์รวมใจชาวบ้านแพ้ว


วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร เป็นวัดที่ประชาชนในบริเวณหลักสี่และบริเวณกึ่งกลางคลองดำเนินสะดวก รวมตัวกันสร้างขึ้นบนที่ดินของ นางแจ่ม วาสุกรี ผู้มีจิตศรัทธายกที่ดินให้เป็นธรณีสงฆ์สำหรับสร้างวัด ในช่วงแรกของการสร้างวัด มีเพียงกุฏิมุงจากหลังเดียว ต่อมาได้รับการถวายบ้านเก่าเป็นฝากระดานบ้าง ฝาขัดแตะบ้าง ทางวัดได้รื้อถอนมาปลูกเป็นกุฏิสงฆ์เพิ่มขึ้น และได้ตั้งชื่อวัดตามชื่อหลักแบ่งเขตคลองว่า วัดใหม่หลักสี่ ตั้งอยู่ใน มณฑล นครไชยศรี ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร ปัจจุบันตั้งอยู่เลขที่ ๑๗ หมู่ ๒ ตำบลยกกระบัตร อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร 

ปัจจุบัน วัดหลักสี่ราษฎร์สโมสร ได้รับการพัฒนาโดย พระครูพิพัฒน์สาครธรรม วัดจึงเจริญรุ่งเรืองใหญ่โตและสวยงาม มีพระอุโบสถถาวร มีกุฏิคอนกรีตเสริมเหล็กทรงไทยประยุกต์มุงกระเบื้องเคลือบ มีหอฉัน หอสวดมนต์ มีศาลาการเปรียญหลังใหญ่ที่สุดในคลองดำเนินสะดวกจุคนได้ไม่น้อยกว่า ๑.๐๐๐ คน มีเมรุจัตุรมุขที่ สวยงาม มีศาลาท่าน้ำทรงไทย ตั้งเรียงรายได้ระยะอยู่หน้าวัด และจากอดีต "วิหารหลวงพ่อโต" เคยมุงจาก ชำรุดทรุดโทรมแทบจะล้ม เมื่อต้องแรงลม วันนี้ หลวงพ่อโต ได้ประทับเด่นเป็นสง่าอยู่บนวิหารหลังใหม่ทรงไทยจัตุรมุข มียอดสูงเสียดฟ้า ประดับประดาด้วย กระจกหลากสี ทุกส่วนของวิหารถูกประดับตกแต่งให้สวยงามตามแบบสถาปัตยกรรมไทย กระจกหลากสีหลากชนิด ทองคำเปลว บริสุทธิ์หลายแสนแผ่นถูกนำมาเป็นส่วนประกอบของความงาม

จากวัดเล็กๆ ที่เคยเงียบเหงา ตั้งอยู่ในชนบทห่างไกลความเจริญ การคมนาคมไปมาได้ทางเดียวคือเรือ บัดนี้ วัดหลักสี่ราษฏร์สโมสร เป็นวัดที่คับคั่งด้วยผู้คนชายหญิงทั้งชาวไทยและต่างชาติต่างภาษา มุ่งหน้ามาพึ่งบารมี หลวงพ่อโต พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด เพื่อขอพร ขอโชคขอลาภ ขอให้ทำมาหากินเจริญรุ่งเรืองกัน แน่นวัด เสียงประทัดจะดังสนั่นเป็นระยะๆ บอกถึงความสำเร็จของผู้ที่มาแก้บน

หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปโบราณสมัยอู่ทอง เนื้อหินทรายแดงฉาบปูน ปางมารวิชัย มีพระพักตร์ "เอิบอิ่ม ยิ้มละไม" หน้าตักกว้าง ๘๑ นิ้ว สูง ๙๙ นิ้ว (เป็นที่อัศจรรย์ถึงสัดส่วนของหลวงพ่อโตที่ช่างสมัยโบราณได้กำหนดไว้ล้วนเป็นเลขมงคลทั้งสิ้น เช่น ขนาดความกว้างของหน้าตักเมื่อนำตัวเลขมารวมกันจะได้ ๙ ส่วนสูงรวมกันได้ ๙ อีก เมื่อนำส่วนกว้างรวมกับส่วนสูงก็ได้ ๙ ซึ่งเลข ๙ คนทั่วโลกถือว่าเป็นเลขสุดยอดของเลขมงคล) หลวงพ่อแฟง เจ้าอาวาสวัดดอนมโนรา ต.ขุนพิทักษ์ อ.ดำเนินสะดวก จ.ราชบุรี ซึ่งเป็น ศิษย์เอก หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม เกจิชื่อดังในสมัยนั้น ได้เดินทางไปพบที่วัดร้างแห่งหนึ่งบริเวณริมแม่น้ำแม่กลอง อ.บางคนที จ.สมุทรสงคราม เมื่อตรวจด้วยทางในแล้ว พบว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มาก จึงทำพิธีอัญเชิญมาประดิษฐานยังวัดดอนมโนรา 

ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.๒๔๗๐ หลวงพ่อแฟง ได้ย้ายมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดหลักสี่ จึงได้อัญเชิญพระพุทธรูปโบราณดังกล่าวมาประดิษฐานในวิหารหน้าวัดหลักสี่ บริเวณริมคลองดำเนินสะดวก ชาวบ้านเห็นว่าเป็นพระพุทธรูปองค์แรกและองค์โตที่สุดในลุ่มน้ำคลองดำเนินสะดวก จึงพากันขนานนามว่า หลวงพ่อโต วัดหลักสี่ ตั้งแต่นั้นมา


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันพุธที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2557

ฮือฮา!! พบรูปปั้น "สุนัข" คู่พระพุทธรูปอายุกว่าร้อยปี


ฮือฮา!! พบรูปปั้น "สุนัขคู่พระพุทธรูป" อายุกว่าร้อยปี โดยอดีตเจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ให้ช่างในคุ้มหลวงสร้าง เผยปริศนาธรรมกันขโมยโจร เห่าเตือนสติญาติโยม

ผู้สื่อข่าวได้รับแจ้งว่าที่ วัดศรีนวรัฐ (ทุ่งเสี้ยว) ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ มีรูปปั้นสุนัขคู่ทรงพื้นเมืองนอนหมอบคู่พระพุทธรูปในวิหารโบราณเป็นที่ฮือฮาอย่างมากภายในวัดดังกล่าว หลังรับแจ้งแล้ว จึงรีบรุดไปตรวจสอบที่วัดดังกล่าว พบ พระครูถาวร นพรัฐ (พระสุเทพฐานวโร) เจ้าอาวาสวัดศรีนวรัฐ (ทุ่งเสี้ยว) และเจ้าคณะตำบลบ้านกลาง เขต 2 จึงนำไปที่วิหารดังกล่าว โดยวิหารดังกล่าวอยู่กลางวัด โดยมีพระประธานองค์ใหญ่และซ้ายขวาสามองค์แบบแท่นแก้ว โดยรูปปั้นสุนัขคู่ดังกล่าว นอนหมอบบนแท่นแก้วคู่พระพุทธรูปซ้ายขวาในท่าน่าเกรงขามชูคอสูง มีรอยยิ้มที่มุมปาก โดยสีของรูปปั้นสุนัขสีขาว ปลอกคอสีแดงพร้อมกระพรวน

พระครูถาวร นพรัฐ เจ้าอาวาสเปิดเผยว่า วิหารดังกล่าวเดิมสร้างเป็นจตุรมุขแบบล้านนา อายุหลายร้อยปีมีทางเข้าเปิดโล่ง 4 ด้าน ต่อมาเมื่อปี 2470 ได้เกิดน้ำท่วมใหญ่ ทำให้วิหารพังเสียหาย เจ้าแก้วนวรัฐ อดีตผู้ครองนครเมืองเชียงใหม่ได้มาบูรณะยังพระประธาน และหลังจากนั้นได้ให้ทำรูปปั้นสุนัขไว้ข้างแท่นพระประธาน โดยใช้ช่างจากคุ้มหลวงเชียงใหม่ ซึ่งมีความหมายปริศนาธรรม หมายถึง สอดส่องดูแลโจรขโมยต่างๆ เห่าเตือนใจเตือนสติ ผู้ที่เข้ามากราบไหว้พระ ให้ประพฤติปฏิบัติตนเองเป็นคนดี อยู่ในศีลอยู่ในครรลองคลองธรรม


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันอังคารที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2557

วัดอาฮงศิลาวาส แดนดินศักดิ์สิทธิ์ "สะดือแม่น้ำโขง"


วัดอาฮงศิลาวาส ตั้งอยู่บนเนื้อที่ประมาณ 80 ไร่ บ้านอาฮง ตำบลไคสี อำเภอบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย ห่างจากตัวอำเภอบึงกาฬ ประมาณ 21 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดหนองคาย ประมาณ 115 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อ คือ ทิศเหนือ ติดกับ แม่น้ำโขงบริเวณแก่งอาฮง ทิศใต้ ติดกับ ถนนมิตรภาพเส้นทาง หนองคาย- นครพนม ทิศตะวันออก ติดกับ ห้วยอีเต่าและเขตบ้านไคสี ส่วนทิศตะวันตก ติดกับ บ้านอาฮง

วัดอาฮงศิลาวาส เป็นวัดเก่าแก่แต่ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่า เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อใด จากคำบอกเล่า ทราบแต่เพียงว่าเดิมเป็นสำนักสงฆ์ และเนื่องจากวัดตั้งอยู่ในป่าที่รกทึบ จึงเรียกว่า “วัดป่า” โดย หลวงพ่อลุน เป็นผู้ก่อตั้ง ท่านมรณะเมื่อปี พ.ศ. 2506 หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็ไม่มีพระภิกษะสงฆ์มาจำพรรษาอีกเลย หากจะมีบ้างก็เป็นเพียง พระธุดงค์ที่จาริกผ่านมาพักบำเพ็ญเพียรภาวนาชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็จากไป สภาพวัดในสมัยนั้นแทบเรียกว่าวัดร้าง แต่ถึงแม้ไม่มีพระสงฆ์ จำพรรษาก็ยังมีคุณยายชีท่านหนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นบรรพบุรุษของชาวบ้านอาฮงคอยเฝ้ารักษาดูแล

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2517 พระนิเทศศาสนคุณ (ท่านเจ้าคุณหลวงพ่อสมาน สิริปัญโญ) สมัยนั้นท่านดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาส วัดบุญเรืองสุวรรณาราม บ้านคำโป้งเป้ง ต.ค่ายบกหวาน อ. เมือง จ. หนองคาย ได้เดินทางไปกราบนมัสการพระอาจารย์จวน กุลเชฎโฐ วัดเจติยาวิหาร (ภูทอก) ขากลับเห็นป้ายชื่อวัดจึงได้แวะเข้ามาดู พบเพียงแม่ชีสูงอายุท่านหนึ่ง ไม่มีพระสงฆ์อยู่จำพรรษา ท่านจึงได้ซักถามถึงประวัติความเป็นมา แม่ชีได้เล่าถวายโดยละเอียด ประกอบกับท่านได้เดินตรวจตราสภาพวัดโดยรอบเห็นว่าสถานที่มีความศักดิ์สิทธิ์ สงบ ร่มรื่น เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรภาวนา ของพระภิกษุสงฆ์ สมควรจะได้รับการบูรณะขึ้นมาใหม่ เมื่อกลับถึงหนองคาย ท่านได้นำเรื่องนี้ไปปรึกษากับพระลูกวัดและญาติโยมซึ่งทั้งหมดก็เห็นสมควรเช่นเดียวกับท่านด้วย หลวงพ่อสมานจึงพาคณะศรัทธา มาที่วัดป่าแห่งนี้ พร้อมทั้งได้ประชุมกับชาวบ้านอาฮงในเรื่องการบูรณะวัด ซึ่งเมื่อชาวบ้านได้ทราบดังนั้นแล้วต่างก็พากันยินดีพร้อมทั้งอนุโมทนาสาธุกับหลวงพ่อ และได้ดำเนินงานทันทีในวันต่อมา โดยปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม สร้างศาลากุฎี และสาธารณะประโยชน์อื่นๆ ที่มีความจำเป็น หลวงพ่อได้จัดภิกษุสามเณรให้อยู่จำพรรษา โดยมี หลวงพ่อเมธา จิตฺกาคุตโต เป็นเจ้าอาวาส และตั้งชื่อใหม่ว่า “วัดอาฮงศิลาวาส”

วัดอาฮงศิลาวาส ตั้งอยู่ในจุด ภูมิศาสตร์ที่เรียกได้ว่ามีความโดดเด่นหลายประการ ทั้งยังมี เรื่องเล่าขานเป็นตำนานเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา คือ เมื่อ ครั้งพุทธกาล หรือ ประมาณ 2,500 กว่าปีล่วงมา สมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เสด็จจำพรรษา เหล่าเทพเทวาได้พากันเนรมิตบันไดเงิน บันไดทอง เพื่อรองรับเบื้องพระบาทบทมาลย์ในการเสด็จกลับยังโลกมนุษย์ และด้วยพระมหากรุณาธิคุณอย่างที่สุด พระองค์ ได้หยุดอยู่ท่ามกลางพร้อมผายพระกรทั้งสองข้าง เปิดให้โลกทั้งสาม คือ สวรรค์ มนุษย์ นรก ได้มองเห็นกัน ส่วนเหล่าพญานาคนั้นได้พากันสำแดงฤทธิ์พ่น ไฟถวายเป็นพุทธบูชา เพื่อต้อนรับการกลับมาขององค์พระพุทธชินสีห์ เรื่องนี้จึงเป็นที่มาของ “บั้งไฟพญานาค”

นอกจากนี้ จุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขงตลอดทั้งสาย ซึ่งมีความยาววัดได้ ประมาณ 4,590 กม. ก็คือ บริเวณแก่งอาฮงนี้เอง คนเฒ่าคนแก่เคยวัดความลึกโดยใช้เชือกผูกกับก้อนหินหย่อนลงไป วัดได้ 98 วา ในหน้าแล้งคือช่วงเดือนมีนาคม – เมษายน วัดได้ 40 – 50 วา เนื่องจากแก่งอาฮงเป็นแอ่งน้ำขนาดใหญ่ และเป็นแก่งหินกว้างจากฝั่งไทยถึงฝั่งลาวประมาณร้อยกว่าเมตร จึงยากที่จะสังเกตให้รู้ได้ ดังนั้นหากท่านใดอยากจะทราบว่าบริเวณใดเป็นจุดที่ลึกที่สุด หรือเรียกกันว่า “สะดือแม่น้ำโขง” นั้นให้สังเกตได้บริเวณหน้าพระอุโบสถ ลักษณะจะเป็นคุ้งน้ำที่มีกระแสไหลวน กินบริเวณกว้าง เห็นได้ชัดในฤดูน้ำหลาก เพราะน้ำจะไหลเชี่ยววนจนเป็นหลุมรูปกรวย และถ้ามีเศษไม้ ต้นไม้ หรือวัตถุใดๆ ลอยมาก็จะไหลวนอยู่บริเวณนี้ประมาณ 20-30 นาที จึงค่อยหลุดไปบางครั้งติดค้างอยู่ริมตลิ่งก็มี กล่าวกันว่าถ้ามีคนตกน้ำตกตายเหนือแก่งอาฮงขึ้นไป ไม่ว่าที่ใด หากหาศพไม่พบ ก็จะหาได้ที่แก่งอาฮง เชื่อกันว่าศพจะไหลไม่พ้นแก่งอาฮง เพราะตกลงไปในจุดที่เป็นคุ้งน้ำไหลวนและเป็นจุดที่ลึกที่สุดของแม่น้ำโขงนั่นเอง ทั้งยังเป็นที่อยู่อาศัยของปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก นั่นก็คือ ปลาบึก ในตอนดึกของฤดูน้ำหลาก จะได้ยินเสียงจากแม่น้ำโขงประหนึ่งว่าคนลงเล่นน้ำ เสียงดังตูมตามประมาณ 2-3 ชั่วโมง ก็จะเงียบหายไป ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า เสียงนั้นคือ ปลาบึกผสมพันธุ์กัน ด้วยในบริเวณนั้นมีความลึก และปลาบึกกินตะไคร่น้ำเป็นอาหาร ใต้น้ำบริเวณแก่งอาฮงนั้นมีโขดหินมากมายและมีถ้ำใหญ่ ระบบนิเวศวิทยาเรียกได้ว่ามีความสมบูรณ์จึงเป็นแหล่งที่มีปลาบึกชุกชุมอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

และในวันเสาร์ที่ 5 เมษายน 2557 นี้ วัดอาฮงศิลาวาส จะมีการประกอบพิธีศักดิ์สิทธิ์ขึ้น โดยได้รับความเมตตาจาก พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หรือ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม เป็นเจ้าพิธี ดำเนินการจัดพิธีขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง ตำรับ หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม ตามขนบธรรมเนียมแบบชาวพุทธ เพื่อสร้างขวัญ และเสริมมงคลให้กับพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย โดยพิธีจะเริ่มตั้งแต่เวลา 16.39 น. เป็นต้นไป ผู้ที่สนใจร่วมพิธี สามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ วัดไผ่ล้อม นครปฐม โทร.087-7567555 , 087-6984777 และ 087-7067555


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันพฤหัสบดีที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2557

"ไวยาวัจกร" ผู้ช่วยกระทำกิจแทนสงฆ์


ไวยาวัจกร แปลว่า ผู้จัดการขวนขวาย ช่วยกระทำกิจธุระของสงฆ์ หมายถึง ผู้ช่วยเหลือรับใช้พระสงฆ์ ทำกิจธุระแทนสงฆ์ ซึ่งตามกฎหมาย คือ คฤหัสถ์ ผู้ได้รับแต่งตั้งให้มีหน้าที่เบิกจ่ายนิตยภัต และมีอำนาจหน้าที่ดูแลรักษาจัดการทรัพย์สินของวัด ได้ตามที่เจ้าอาวาสมอบหมายเป็นหนังสือ และกำหนดให้ไวยาวัจกรเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมาย

การแต่งตั้งไวยาวัจกร ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาส ซึ่งภายในวัดหนึ่ง อาจมีไวยาวัจกรได้หลายคน และความเป็นไวยาวัจกร จะสิ้นสุดลงเมื่อเจ้าอาวาสผู้ที่แต่งตั้งให้นั้น พ้นจากความเป็นเจ้าอาวาส เช่น ลาออก ลาสิกขา หรือ มรณภาพ

ไวยาวัจกร จะมีหน้าที่ต่างกับ มัคนายก โดย มัคนายก จะมีหน้าที่ช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ที่มักจะเกี่ยวข้องกับอุบาสกอุบาสิกา คล้ายเป็นตัวกลาง หรือผู้ประสานงานระหว่างพระกับอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งบางครั้งอาจจะคอยดูแลรับใช้พระสงฆ์ด้วย แต่ก็ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง ส่วนไวยาวัจกร มีหน้าที่กระทำกิจธุระแทนสงฆ์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ไวยาวัจกรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน คล้ายกับเป็น สมุห์บัญชีของวัด นั่นเอง

ตามพระวินัย มีไวยาวัจกร ที่ปรากฏในสิกขาบทที่ 10 จีวรวรรคที่ 1 นิสัคคิยปาจิตตีย์ 3 ความว่า "ถ้าใคร ๆ นำทรัพย์มาเพื่อค่าจีวรแล้วถามภิกษุว่า ใครเป็นไวยาวัจกรของเธอ ถ้าภิกษุต้องการจีวร ก็พึงแสดงคนวัดหรืออุบาสกว่า ผู้นี้เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ครั้นเขามอบหมายไวยาวัจกรนั้นแล้ว สั่งภิกษุว่า ถ้าต้องการจีวร ให้เข้าไปหาไวยาวัจกร ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาเขาแล้วทวงว่า เราต้องการจีวรดังนี้ได้ 3 ครั้ง ถ้าไม่ได้จีวร ไปยืนแต่พอเขาเห็นได้ 6 ครั้ง ถ้าไม่ได้ ขืนไปทวงให้เกิน 3 ครั้ง ยืนเกิน 6 ครั้ง ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์

ไวยาวัจกร ถือเป็น ตัวแทน หรือ ผู้แทนของวัดในการจัดการทรัพย์สินของวัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งยังมีฐานะเป็น “เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา จึงได้รับการคุ้มครองและควบคุมตามประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ “ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และถ้าหากเจ้าพนักงานกระทำความผิดเสียเอง หรือเป็นใจให้มีการทุจริตย่อมต้องถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาเช่นกัน


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันอาทิตย์ที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2557

"มหามงคล" หลวงพ่อคูณ เทพเจ้าด่านขุนทด


วัดบ้านไร่ (วัดหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ) ตั้งอยู่ในต.กุดพิมาน อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา มีชื่อเสียงเนื่องจาก หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเกจิชื่อดัง เป็นที่เคารพศรัทธาของคนทั้งประเทศ ปัจจุบันท่านเป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ จึงทำให้วัดแห่งนี้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไปด้วย หลวงพ่อคูณ เป็นพระชาวบ้านที่เข้าถึงมวลชนทุกระดับชั้น ตั้งแต่เจ้าฟ้าเจ้าแผ่นดิน นักการเมืองไปจนถึงชาวบ้าน ด้วยท่านมีเมตตามหานิยม มีวิธีการสั่งสอนที่ตรงไปตรงมาง่ายแก่การเข้าใจ

เดิมที่ วัดบ้านไร่ เป็นสำนักสงฆ์ที่มีมาตั้งแต่ปี ๒๔๓๖ ในช่วงรัชกาลที่ ๕ โดยมี พระอาจารย์เชื่อม วิรโช เป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ได้มีการก่อสร้างศาสนอาคารต่างๆ ขึ้น โดยเฉพาะช่วงที่ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เป็นเจ้าอาวาสได้มีการพัฒนาวัดมากที่สุด ด้วยมีผู้ศรัทธาจากทั่วประเทศได้ร่วมถวายวัตถุปัจจัยเป็นเงินมหาศาล โดยเริ่มสร้างอุโบสถ ปี ๒๔๙๖ นอกจากการก่อสร้างอุโบสถแล้ว หลวงพ่อคูณยังสร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค และที่สำคัญยังสร้างโรงเรียนไว้เพื่อเด็กบ้านไร่อีกด้วย นอกจากนี้แล้ว หลวงพ่อคูณได้ก่อตั้งเป็นมูลนิธิหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ต่างๆ เช่น การบูรณะวัด การสร้างโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นต้น

ปณิธานอันแน่วแน่ของหลวงพ่อคูณเมื่อครั้งแรกเริ่มที่มาอยู่วัดบ้านไร่ คือ "ก่อสร้างโครงการชลประทานผันน้ำจากเขื่อนลำคันฉูสู่ อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิ สู่วัดบ้านไร่" เพื่อให้ปณิธานอันแน่วแน่ของหลวงพ่อคูณในการก่อสร้างโครงการชลประทานผันน้ำจากเขื่อนลำคันฉูสู่วัดบ้านไร่ได้สำเร็จลุล่วงตามประสงค์ จึงขอเชิญชวนลูกศิษย์หลวงพ่อคูณ พุทธศาสนิกชนผู้มีศรัทธาแรงกล้าร่วมบริจาคบูชาวัตถุมงคล พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทฺโธ) รุ่น มหามงคล เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นมหามงคลอันยิ่งใหญ่ ขออนุโมทนาบุญกุศลครั้งนี้แก่ผู้บริจาคบูชาทุกท่าน

วัตถุมงคล รุ่นมหามงคล ถือว่าเป็นรุ่นเดียวที่ หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เป็นประธานจัดสร้าง พิธีบวงสรวงเทพยดาบูชาฤกษ์ และเททองนำฤกษ์ ณ วัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา เมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๙ น. ส่วนพิธีมหาพุทธาภิเษก ณ มณฑลพิธีวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา วันอาทิตย์ที่ ๖ เมษายน ๒๕๕๗ เวลา ๑๓.๐๙ - ๑๗.๕๙ น. โดย หลวงพ่อคูณ ปริสุทฺโธ เป็นประธานจัดสร้างฝ่ายสงฆ์

ผู้มีจิตศรัทธาร่วมสานปณิธานอันแน่วแน่ของหลวงพ่อคูณ โดยการบูชาวัตถุมงคลได้ที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ กำหนดเปิดจอง ตั้งแต่วันที่ ๓ มีนาคม-๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗ หรือ ปิดจองก่อนเมื่อวัตถุมงคลหมด กำหนดรับวัตถุมงคล วันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันพุธที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2557

สิ้นแล้ว!! หลวงปู่หงษ์ เกจิดังแห่งเมืองสุรินทร์

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 5 มี.ค.57 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ หรือ พระครูประสาทพรหมคุณ เกจิดังเมืองสุรินทร์ แห่ง วัดสุสานทุ่งมน (วัดเพชรบุรี) ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ได้ละสังขารลงแล้ว ด้วยระบบไตไม่ทำงาน หลังนอนรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ด้วยโรคชรา ซึ่งหลวงปู่หงษ์ป่วยด้วยโรคชรามานานหลายปีแล้ว โดยหลวงปู่ท่านเกิด วันพฤหัสบดีที่ 5 มี.ค.2460 มรณะ วันพุธที่ 5 มี.ค.57 สิริรวมอายุได้ 97 ปีบริบูรณ์ สร้างความเศร้าสลดแก่ศิษยานุศิษย์และชาว จ.สุรินทร์ รวมถึงศิษยานุศิษย์ที่อยู่ทั่วประเทศเป็นอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ คณะศิษยานุศิษย์จะนำหลวงปู่หงษ์กลับมาประกอบพิธีทางศาสนา และขอพระราชทานเพลิงศพที่วัดสุสานทุ่งมน (วัดเพชรบุรี) ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ ต่อไป ขณะที่เฟซบุ๊กของหลวงปู่หงษ์ ซึ่งคณะศิษยานุศิษย์ได้จัดทำขึ้น ก็มีประชาชนศิษยานุศิษย์จากทั่วทุกสารทิศเข้ามาพิมพ์ข้อความไว้ทุกข์และอาลัยต่อการจากไป ของหลวงปู่หงษ์ในครั้งนี้จำนวนมาก

สำหรับ หลวงปู่หงส์ พรหมปัญโญ นับเป็นพระเถระที่ มีอายุพรรษาสูงที่สุดรูปหนึ่งของแดนอีสานใต้ บวชตั้งแต่อายุ 20 ปี ไม่เคยสึก ท่านเป็นพระที่เมตตาสูง และเป็นพระสายเขมรที่มีวิชาอาคมขลัง ได้รับการยอมรับจากคนในพื้นที่และต่างถิ่นมานานหลายสิบปี โดยได้สร้างพระเครื่องวัตถุมงคลมากมายหลายร้อยรุ่น ได้รับความนิยมทั้งจากชาวไทยและชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก

ในวัยเด็ก หลวงปู่หงษ์ พรหมปัญโญ ท่านเป็นเด็กที่มีความขยันหมั่นเพียร มีความกตัญญูต่อบิดามารดา ได้ช่วยกิจการงานทุกอย่าง ทำนาหว่านกล้า เก็บเกี่ยวข้าว ด้วยความวิริยะอดทน จนอายุได้ 18 ปี มารดาขอร้องให้บวชเณร ด้วยสาเหตุเกรงว่าจะไปมีเรื่องกับผู้อื่น เพราะเป็นช่วงของวัยรุ่นอารมณ์ร้อนซึ่งโดยนิสัยแล้วเป็นผู้มีจิตใจเข้มแข็ง กล้าหาญ ไม่เกรงกลัวใคร สุดท้ายเห็นแก่มารดาจึงได้ตัดสินใจว่าจะบวชให้แค่เพียง 7 วัน

ครั้นบรรพชาแล้วพระอุปชฌาย์ได้ตั้งนามให้ใหม่ว่า “สามเณรพรหมศร” ลุมาได้ 3 วัน ขณะทีนั่งบนแคร่ไม้ใต้ต้นมะขามใหญ่ ได้มีบุรุษหญิงชายแปลกหน้าทั้งมีอายุแก่และหนุ่ม แต่งกายแบบชาวบ้านมาขอร้องให้เทศน์โปรดทีเถิด สามเณรพรหมศรกล่าวว่า “ฉันพึ่งบวชได้ไม่ถึงวันยังเทศน์ไม่เป็นหรอก ชายหญิงผู้แปลกหน้าทั้งหลายต่างให้คำแนะนำว่า ท่านเจ้าคะท่านเทศน์ไม่เป็นก็ไม่เป็นไร แต่ขอให้ท่านทดลองว่า นะโม 3 จบ ประเดี๋ยวท่านก็จะเทศน์ได้เองนั่นแหละ” สามเณรพรหมศรนั่งนิ่งแลสงสัยว่าบุคคลทั้งหลายเหล่านี้เป็นใคร? มาจากไหน? อยู่ ๆ ก็มาขอให้เราเทศน์ แต่เมื่อลองคิดแล้วเขาบอกให้ว่านะโม 3 จบ เราก็ว่าได้ จึงได้ว่า นะโม 3 จบ จากนั้นก็เป็นเรื่อง ที่ปากพูดไปได้เองเป็นเรื่องเป็นราว ชายหญิงทั้งหลายต่างนั่งพนมมืออมยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ครั้นเทศน์จบก็กราบขอบคุณขอลากลับ หันไปอีกทางปรากฏว่าหายไปทางไหนก็ไม่รู้” 


จากความตั้งใจที่จะบวชเพียง 7 วัน ก็อยู่เลยเรื่อยมาจนอายุครบ 20 ปี พระอุปัชฌาย์จึงอุปสมบทให้ ณ วัดเพชรบุรี ต.ทุ่งมน อ.ปราสาท จ.สุรินทร์ โดยตั้งนามฉายาให้ใหม่ว่า “พรหมปัญโญ” แปลว่า ผู้มีปัญญาประดุจพรหม

เมื่ออุปสมบทแล้ว หลวงปู่ตั้งใจมั่นขยันหมั่นเพียรศึกษาพระปริยัติธรรมคำสั่งสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า หลวงปู่เป็นพระผู้มีความวิรยะสูงจดท่องจำแม่นยำยิ่งนัก ทั้งฝักใฝ่หาความรู้ เพียรหาครูบาอาจารย์อย่างไม่ลดละ แม้จะไกลไปยาก ก็อุตส่าห์ดั้นด้นเดินทางไป เพื่อให้ได้วิชาความรู้กลับคืนมาเป็นรางวัล ด้วยปณิธานมั่นที่จะโปรดลูกหลานญาติโยมภายหน้าสืบไป


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ