"นครปฐม" ดินแดนแห่งพระพุทธศาสนา นับเป็นจังหวัดที่ถือได้ว่า มีความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ที่สืบสานเจริญมา อย่างมั่นคงและช้านาน หากเปรียบกรุงเทพมหานครฯ เป็นศูนย์กลางการปกครองของประเทศไทย นครปฐมนั้นไซร้ ก็คงไม่ต่างไป จาก "ศูนย์กลางชาวพุทธ แห่ง ดินแดนขวานทอง"
ด้วยความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนที่มีต่อพระศาสนา ชาวนครปฐมจึงนิยมสักการะองค์พระปฏิมา ซึ่งเปรียบเสมือนได้นอบน้อมบูชา "องค์พระศาสดา" ผู้ชี้ทางนำพาให้หลุดพ้นจากห้วงกรรม
องค์พระปฏิมา หรือ พระพุทธรูปที่ชาวพุทธในนครปฐมเคารพบูชา ซึ่งเปรียบประหนึ่งศูนย์กลางแห่งความศรัทธา นั่นก็คือ "หลวงพ่อพระร่วง" แห่งองค์พระปฐมเจดีย์
"หลวงพ่อพระร่วง" หรือ "พระร่วงโรจนฤทธิ์" พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ที่ประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์
มีชื่อเต็มว่า "พระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรีอินทราทิตย์ธรรโมภาส มหาวชิราวุธปูชนียบพิตร" เป็นพระพุทธรูป "ปางห้ามญาติ" ศิลปะสุโขทัย มีขนาดความสูงวัดจากพระบาทถึงพระเกศ 7.42 เมตร หรือสูง 12 ศอก 4 นิ้ว ประทับยืนอยู่บนฐานโลหะทองเหลืองลายบัวคว่ำบัวหงาย ทำวงพระพักตร์ตามยาว พระหนุเสี้ยม นิ้วพระหัตถ์ พระบาทไม่เสมอกัน ห้อยพระหัตถ์ซ้ายลงข้างพระวรกาย แบฝ่าพระหัตถ์ขวายกตั้งขึ้น ยื่นไปข้างหน้า มีพระอุทรพลุ้ย ห่มจีวรบางคลุม แนบติดพระวรกาย บ่ายพระพักตร์สู่ทางทิศเหนือ
ตามบันทึกกล่าวไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระยุพราช เสด็จฯ ประพาสหัวเมืองฝ่ายเหนือ ในปี พ.ศ. 2451 พระองค์ได้ทรงทอดพระเนตรพระพุทธรูปโบราณต่างๆ มากมาก แต่มีพระพุทธรูปองค์หนึ่งที่เมืองศรีสัชนาลัย (สุโขทัย) มีพระลักษณะอันงดงาม เป็นที่ต้องพระราชหฤทัย หากแต่ชำรุดมาก เหลืออยู่เพียงพระเศียร พระหัตถ์ และพระบาท
พระองค์จึงทรงโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญลงมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อให้ช่างปั้นสถาปนาขึ้นมาบริบูรณ์เต็มพระองค์ และโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชพิธีเททองหล่อ เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2456 ณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม โดยมีผู้ออกแบบ คือ กรมหลวงนเรศร์วรฤทธิ์ (พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร) จากนั้นได้อัญเชิญมาสู่จังหวัดนครปฐม เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2457
การอัญเชิญพระร่วงโรจนฤทธิ์ มาประดิษฐานยังองค์พระปฐมเจดีย์ฯ ด้วยข้อจำกัดของระยะทาง จึงจำเป็นต้องแยกชิ้นส่วนขณะเดินทาง เพื่อมาประกอบเข้าด้วยกันที่จังหวัดนครปฐม โดยประกอบเสร็จเป็นองค์สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2458 (ชาวนครปฐมมักเรียกวันที่ 2 พฤศจิกายน ว่า "วันเกิดพระร่วง") และประดิษฐาน ณ พระวิหารด้านทิศเหนือขององค์พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร มาจนถึงปัจจุบัน
พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีความผูกพันกับพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ เป็นอย่างมาก โดยมีพระบรมราชโองการสั่งข้อความเป็นพระราชพินัยกรรม ตามหนังสือพระบรมราชโองการวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2463 ความว่า
" ข้อ 17 พระอังคารขอให้บรรจุใต้ฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ ฯ ที่พระปฐมเจดีย์ในโอกาสอันเหมาะ ซึ่งไม่ติดต่อกับงานพระเมรุ "
ครั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 หลังจากถวายพระเพลิงพระบรมศพแล้ว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงโปรดเกล้า ฯ ให้อัญเชิญผอบพระบรมราชสรีรางคารจากวัดพระศรีรัตนศาสดารามมาบรรจุไว้ในฐานพระร่วงโรจนฤทธิ์ฯ ตามข้อความในพระราชพินัยกรรม
ด้วยประวัติความเป็นมาที่ผูกพันกับจังหวัดนครปฐมมาอย่างช้านาน และด้วยประสบการณ์ปาฏิหาริย์ความศักดิ์สิทธิ์ที่มากมี จึงทำให้ "หลวงพ่อพระร่วง" แห่งองค์พระปฐมเจดีย์ เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บารมี เมืองนครปฐม จวบจนปัจจุบัน
*************************
เรื่องโดย : เต้ มงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น