วันจันทร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2556

หลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เนื้อว่านรุ่นแรกปี 2497


พระหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ จ.ปัตตานี ที่ทัน พระอาจารย์ทิม ปลุกเสก ทุกรุ่น ทุกพิมพ์ จัดเป็น พระหลักยอดนิยม ของวงการไปแล้ว แต่ละรุ่นมีค่านิยมเช่าบูชาพุ่งพรวดกว่าหลายปีที่ผ่านมาหลายเท่าตัว

ในบรรดา "พระหลวงพ่อทวด" วัดช้างให้ ทั้งหมดที่ทัน พระอาจารย์ทิม ปลุกเสกนั้น กลุ่มพระบูชา
รูปเหมือน
ดูเหมือนว่ามีการนำข้อมูลลงพิมพ์เผยแพร่ทางสื่อต่างๆ น้อยมาก เมื่อเทียบกับ กลุ่มพระเนื้อว่าน พระหล่อโบราณ และเหรียญ ไม่ว่าประวัติการสร้าง วัสดุที่ใช้ทำ รุ่นที่สร้าง และจำนวนที่สร้าง ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พระบูชาหลวงพ่อทวด มีการจัดสร้างอย่างต่อเนื่องแทบทุกปี ในช่วงที่พระอาจารย์ทิมยังไม่มรณภาพ สาเหตุที่มีข้อมูลน้อยนี้ อาจเนื่องมาจากจำนวนพระบูชามีการสร้างน้อยองค์ เมื่อเทียบกับพระหลวงพ่อทวด กลุ่มอื่นๆ จึงทำให้กระแสหมุนเวียนการเช่าหาไม่เด่นชัด และไม่ครึกโครมเหมือนพระชุดอื่น

อีกประการหนึ่งอาจจะมาจากเพราะพระบูชา มีขนาดค่อนข้างใหญ่ น้ำหนักมาก ไม่สามารถนำไปห้อยคอหรือนำติดตัวได้เหมือนอย่างพระเครื่องเนื้อว่าน, หลังเตารีด, หลังตัวหนังสือ และเหรียญ ทำให้กิตติศัพท์ด้านพุทธคุณ เรื่องความแคล้วคลาด ปลอดภัย ซึ่งเป็นจุดเด่นของพระหลวงพ่อทวด ไม่ปรากฏให้เห็นอย่างเด่นชัด อีกทั้งพระบูชามักจะเป็นพระประจำบ้านที่บรรพบุรุษมอบให้สืบทอดต่อๆ กันมา ผู้ครอบครองมักจะศรัทธา และหวงแหนอย่างยิ่ง เพราะเป็นพระมรดกของครอบครัว ไม่มีคนหนึ่งคนใดในครอบครัวเป็นเจ้าของโดยตรง และมักจะมีเพียงองค์เดียวในหนึ่งครอบครัว ทำให้การหมุนเวียนเปลี่ยนมือในการเช่าหาน้อยมาก

ว่าไปแล้ว พระบูชาหลวงพ่อทวด นั้นหากพิจารณาด้านรูปทรงหน้าตาขององค์ท่านแล้วจะเหมือนกับนิมิตของ พระอาจารย์ทิม และ คุณอนันต์ คณานุรักษ์ มากที่สุด จนอาจจะกล่าวได้ว่า พระบูชาหลวงพ่อทวด "เปรียบเสมือนตัวแทนของท่านอย่างเด่นชัดที่สุด" ใครได้เห็นพระบูชาหลวงพ่อทวดแล้วเสมือนว่าได้พบกับท่านสมัยที่ยังดำรงสมณศักดิ์เป็นพระเถราจารย์ เลยทีเดียว

พระบูชาหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ แบ่งออกเป็น ๓ ประเภทใหญ่ๆ คือ 

- พระบูชาประเภทเนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗
- พระบูชาประเภทเนื้อปูนผสมน้ำว่าน 
- พระบูชาประเภทเนื้อโลหะ

วันนี้จะขอนำเสนอข้อมูลเชิงลึกของ พระบูชาหลวงพ่อทวด วัดช้างให้ เนื้อว่าน ปี ๒๔๙๗ อย่างละเอียด พร้อมกับนำเสนอภาพพระบูชาองค์ที่สวยงามคมชัด ชนิดที่เป็น องค์ครู ได้เลย ส่วน พระเนื้อปูนผสมว่าน และ เนื้อโลหะ จะนำเสนอในโอกาสต่อไป

พระบูชาหลวงพ่อทวด เนื้อว่าน จัดสร้างเป็นครั้งแรกในปี ๒๔๙๗ พร้อมกับ พระเนื้อว่านขนาดห้อยคอ โดยใช้เนื้อว่านอย่างเดียวกัน อันเป็นปฐมบทของตำนานพระหลวงพ่อทวด ที่โด่งดังทั่วฟ้าเมืองไทย และขจรไกลถึงต่างแดน

พระบูชารุ่นนี้เป็นพระเนื้อว่าน สร้างด้วยวิธี "ปั้นมือคราวละองค์" ทำให้แต่ละองค์มีรูปหน้าเค้าโครงไม่เหมือนกันทีเดียว และมักจะมีการลงรักและทาทอง เพื่อเพิ่มความสวยงาม และป้องกันการแตกร้าว เนื่องจากการแห้งตัวของเนื้อว่านอันเกิดมาจากการระเหยของความชื้นตามธรรมชาติ

ตามหลักฐานปรากฏว่า มีการ จัดสร้างเพียง ๒ ขนาด คือ 
- ขนาดหน้าตัก ๑.๕ นิ้ว 
- หน้าตัก ๓ นิ้ว 

เคยมีหลักฐานปรากฏว่า มีการนำเอาพระเนื้อว่านขนาดห้อยคอ ซึ่งสร้างในปีเดียวกัน มาอุดที่ใต้ฐานองค์พระบูชานี้ แสดงให้เห็นว่า ทางกรรมการผู้สร้างได้ให้ความสำคัญกับพระบูชาเนื้อว่านนี้มาก โดยปกติ พระบูชาเนื้อว่าน ภายในองค์พระจะมีวัสดุค้ำยันอยู่แล้ว เพื่อเพิ่มความแข็งแรง และเพิ่มการยึดเกาะของเนื้อว่าน คล้ายๆ กับการหล่อเสาคอนกรีตอาคาร ซึ่งต้องมีเหล็กด้านในเพื่อความแข็งแรง ท่านที่มีพระแท้องค์จริงอาจจะพิสูจน์ได้จากการนำพระบูชาที่ว่านี้ไปลองเอกซเรย์ดู

ปัจจุบันพระบูชาเนื้อว่านรุ่นนี้ ถือว่าเป็นพระที่หาชมองค์แท้ และสภาพสวยเดิมได้ยากมาก คาดว่ามีจำนวนสร้าง ไม่เกิน ๕๐ องค์ เนื่องจากกรรมวิธีการสร้างนั้นยุ่งยาก เพราะต้องปั้นด้วยมือคราวละ ๑ องค์ และใช้มวลสารเนื้อว่านมากในแต่ละองค์




ต่อมาทางวัดจึงได้ปรับเปลี่ยนกรรมวิธีการสร้างใหม่เป็นแบบหล่อด้วยเนื้อโลหะ โดยใช้แม่พิมพ์เป็นต้นแบบ ซึ่งสร้างได้คราวละมากๆ เมื่อเทียบกับการสร้างด้วยเนื้อว่าน โดยสร้างมาเรื่อยๆ จนถึงปี ๒๕๑๒

พระบูชาเนื้อว่าน ๒๔๙๗ มีน้ำหนักค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับขนาดองค์พระ ซึ่งหากนำเนื้อว่านนี้ไปทำพระหลวงพ่อทวด แบบพระเครื่อง เช่น พระหลวงพ่อทวด พิมพ์ใหญ่ เนื้อว่าน ปี ๒๔๘๗ จะทำได้มากกว่า ๔ องค์ เลยทีเดียว

พระบูชาเนื้อว่าน ขนาดหน้าตัก ๑.๕ นิ้ว องค์ที่เห็นนี้เป็นพระของ ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ รังสิต ซึ่งเจ้าตัวภาคภูมิใจมากที่ได้ครอบครองพระองค์นี้ เป็นพระสภาพเก่าเก็บ ที่สวยสมบูรณ์มากองค์หนึ่ง เพราะเจ้าของเดิมเก็บรักษาไว้ในครอบแก้วอย่างดี ทำให้ไม่มีฝุ่นละอองไปเกาะจับตามผิวองค์พระ ถือเป็น พระแท้องค์ครู พระสวยองค์จริง ได้อย่างเต็มร้อย สภาพเนื้อเทานุ่มตา และมีไขว่านกระจายอย่างเห็นได้ชัดทั่วทั้งองค์พระ มีรอยรานตามธรรมชาติของพระเนื้อว่าน นอกจากนี้ยังมีการทาทองที่บริเวณจีวรองค์พระ ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่สามารถชี้แท้เก๊ได้เช่นเดียวกับการพิจารณาพิมพ์ทรงองค์พระ ตลอดจนธรรมชาติของเนื้อว่าน ไขว่าน และความเก่าของเนื้อพระ

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น