วันอาทิตย์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

หนังสือ "พระสมเด็จวัดระฆัง" รวมสุดยอดพระสมเด็จ!!


สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรํสี) เป็นผู้สร้างพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ขึ้น เมื่อปี พ.ศ.2409 ภายหลังจากได้รับโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น พระสมเด็จพุฒาจารย์ จึงเรียกขานพระเครื่องที่สร้างขึ้นว่า 'พระสมเด็จ' และได้สร้างเรื่อยมาจนถึง พ.ศ.2415 โดยได้แจกจ่ายแก่บรรดาญาติโยมที่มาเยี่ยมเยียน และเมื่อครั้งออกบิณฑบาตในตอนเช้า ครั้นหมดก็สร้างใหม่ ปลุกเสกด้วยคาถาชินบัญชรที่ท่านได้มาจากเมืองกำแพงเพชร ผู้แกะพิมพ์ถวาย คือ หลวงวิจารณ์เจียรนัย ช่างทองในราชสำนัก

พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม เป็นพระเครื่องประเภทเนื้อปูนผสมผงที่สร้างขึ้นด้วยผงวิเศษทั้ง 5 ประการ คือ ผงปถมัง ผงอิทธิเจ ผงมหาราช ผงพุทธคุณ ผงตรีนิสิงเห นอกจากนั้น ยังผสมด้วยมวลสารต่างๆ อาทิ ปูนเปลือกหอย ดินสอพอง เกสรดอกไม้ กล้วยและข้าวสุกตากแห้ง โดยมีส่วนของน้ำมันตังอิ๊วและน้ำอ้อยเป็นตัวเชื่อมประสานให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน เนื้อของพระมีสีขาวแบบปูนปั้น หรือสีขาวอมเหลือง มองดูเนื้อแก่ผง มีความหนึบนุ่มและแกร่ง ขนาดองค์พระเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ามีความกว้างประมาณ 2.2 เซนติเมตร สูงประมาณ 3.5 เซนติเมตร หนาประมาณ 4-6 มิลลิเมตร ทุกแบบพิมพ์ ประกอบด้วยพิมพ์ทรงมาตรฐานที่เล่นหาสะสมในวงการทั้งหมด 4 พิมพ์ทรง คือ พิมพ์ใหญ่ พิมพ์ทรงเจดีย์ พิมพ์ฐานแซม พิมพ์เกศบัวตูม ส่วนพิมพ์ปรกโพธิ์นั้น ยังเป็นที่ถกเถียงกันของนักสะสมพระเครื่อง ฝ่ายหนึ่งกล่าวว่า พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม ไม่มีพิมพ์ปรกโพธิ์ แต่อีกฝ่ายหนึ่งกล่าวว่าในพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม มีพิมพ์ปรกโพธิ์เช่นเดียวกับในพระสมเด็จกรุวัดบางขุนพรหม ที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรํสี) สร้างไว้

ทั้ง พ.อ.(พิเศษ)ประจน กิตติประวัติ หรือ ตรียัมปวาย ได้จัดทำเนียบชุดพระเครื่อง เบญจภาคี ขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2495 โดยเมื่อแรกเริ่มยังคงเป็นเพียง ไตรภาคี คือ มีเพียง 3 องค์เท่านั้น อันประกอบด้วย 'พระสมเด็จ' วัดระฆังโฆสิตาราม เป็นองค์ประธาน ซ้ายขวาเป็น 'พระนางพญา' พิษณุโลก และ 'พระรอด' ลำพูน ไม่นานจากปีนั้นจึงได้ผนวก 'พระกำแพงซุ้มกอ' กำแพงเพชร และ 'พระผงสุพรรณ' สุพรรณบุรี เข้าเป็นชุด 'เบญจภาคี' สุดยอดปรารถนาของนักสะสมพระเครื่องทั้งหลาย

อย่างไรก็ตามหากมองย้อนกลับไปในครั้งนั้น พระเครื่องที่ได้รับความนิยมชมชอบมากเป็นพิเศษแล้ว คือ พระเครื่องที่มีพุทธคุณในด้าน 'คงกระพันชาตรี'ซึ่งการจัดทำทำเนียบ 'เบญจภาคี' นั้น เป็นส่วนหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดความนิยมพระเครื่องทั้ง 5 องค์ ในชุดดังกล่าว อันล้วนเป็นพระเครื่องที่มีราคาการเช่าที่สูงๆ ทั้งสิ้นยิ่งเมื่อ พ.อ.(พิเศษ) ประจน กิตติประวัติ จัดให้พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม เป็น 'จักรพรรดิแห่งพระเครื่อง' ความนิยมใน 'พระสมเด็จ' ก็ทะยานสู่แถวหน้าของพระเครื่องเมืองไทย

"สมศักดิ์ คงวุฒิปัญญา" หรือ ชื่อที่วงการพระเครื่องคุ้นหูกันดีกับ "ยี่ บางแค" กรรมการตัดสินพระเครื่องชุดเบญจภาคีของสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทยและหนึ่งในทีมงาน "หนังสือพระท่าพระจันทร์" ผู้ซึ่งรับหน้าที่จัดทำหนังสือ "พระสมเด็จวัดระฆัง" บอกว่า หนังสือพระสมเด็จวัดระฆังฯ ความหนา ๓๐๐ กว่าหน้า เนื้อหาในเล่มประกอบด้วย ประวัติและภาพพระเครื่อง ๓ สมเด็จฯ คือ 

๑.สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหฺมรังสี) ผู้สร้าง พระสมเด็จฯ วัดระฆังฯ
๒.สมเด็จพระพุฒาจารย์ (ทัด เสนีย์วงศ์) ผู้สร้าง พระสมเด็จปิลันทน์ วัดระฆังฯ 
๓.สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ม.ร.ว.เจริญ อิศรางกูร) ผู้สร้าง เหรียญหล่อวัดระฆังฯ หลังค้อน

"ความพิเศษของหนังสือเล่มนี้อยู่ที่ภาพพระสมเด็จที่ปรากฏเป็นพระหน้าใหม่ของวงการ ที่แท้และสวย รวมทั้งภาพพระสมเด็จองค์ดังที่มีชื่อในอดีตจนถึงปัจจุบัน ไว้ครบทุกพิมพ์ ชนิดที่เรียกว่าภาพพระยังหาดูได้ยาก โดยเฉพาะ พระสมเด็จ พิมพ์ใหญ่ วัดระฆัง องค์แชมป์ ของคุณกฤตย์ รัตนรักษ์ สมเด็จองค์ลุงพุฒิ นายไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ หรือ โป๊ยเสี่ย" ยี่ บางแค กล่าว

นอกจากนี้เพื่อความเข้าในการศึกษาพระเครื่อง ยังได้นำภาพพระสมเด็จที่มีรักก่อนล้างทำความสะอาดและหลังจากล้างทำความสะอาดแล้ว รวมทั้งพระสมเด็จที่ชำรุด ก่อนซ่อมและหลังซ่อม นำมาเปรียบเทียบองค์ต่อองค์ให้นักสะสมพระเครื่องได้ศึกษาและเรียนรู้อีกด้วย

หนังสือ "พระสมเด็จวัดระฆัง" ไม่ใช่หนังสือที่ทำออกมาวางจำหน่ายทั่วๆ ไป หากเป็นหนังสือที่นิตยสารพระท่าพระจันทร์จัดทำขึ้นเป็นรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศพระแต่ละรายการ ในงานการประกวดการอนุรักษ์ และอนุรักษ์พระบูชา พระเครื่อง และเหรียญคณาจารย์ ครั้งที่ ๑ ณ หอประชุมชุณหะวัณ โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน จ.นครปฐม ในวันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖ นี้ ค่าส่งพระรายการละ ๓๐๐ บาท แต่ราคาหนังสือเล่มนี้มีการถามหาในวงการหนังสือพระในเล่มละ ๓,๐๐๐ บาท เลยทีเดียว


พระสมเด็จองค์ครูเอื้อ ซึ่งเป็นพระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่ ถือว่าเป็นพระสมเด็จองค์ครูที่วงการพระเครื่องมักกล่าวขวัญถึงเสมอๆ ซึ่งปัจจุบันนี้อยู่ในครอบครองของ พล.ต.ท.สันติ เสนะวงศ์ อดีตผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทั้งนี้ อ.รังสรรค์ ต่อสุวรรณ ประเมินราคาพระองค์นี้ในหนังสือพระเงินล้าน ว่า องค์ครูเอื้อมูลค่าในปัจจุบันน่าจะเป็น ๑๐๐ ล้าน ส่วนองค์เจ้แจ๋วสูงกว่า ๑ เท่า สวยที่สุดในประเทศไทย ราคา ๒๐๐ ล้านบาท!!

พล.ต.ท.สันติ เคยกล่าวไว้ ได้มาจากพ่อตา (ครูเอื้อ สุนทรสนาน) ท่านได้ให้ไว้เมื่อวันแต่งงานกับบุตรสาวของท่าน (อติพร สุนทรสนาน เสนะวงศ์) สมัยที่ท่านยังรับข้าราชการอยู่กรมประชาสัมพันธ์ เวลากลับบ้านท่านก็นั่งรถรางข้างวังสวนจิตรลดาแล้วต้องผ่านนางเลิ้ง ซึ่งมีแผงขายพระเครื่องเป็นกระด้งมากมาย พ่อก็จะลงไปเลือกเช่าพระสมเด็จ โดยจะซื้อครั้งละร้อยสองร้อยบาท หลังจากนั้นไม่กี่วัน พ่อก็จะลงไปเลือกซื้อพระอยู่เป็นประจำทำให้พระสมเด็จวัดระฆังที่พ่อเก็บสะสมเอาไว้มีหลายองค์ และแต่ละองค์จะมีความสมบูรณ์มาก

อย่างไรก็ตามการเช่าการขายพระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ ที่มีชื่อเสียงอยู่ในระดับแถวหน้าเช่น 'องค์เสี่ยหน่ำ' อย่าง 'องค์ลุงพุฒ' 'องค์ขุนศรี' 'องค์เล่าปี่' 'องค์กวนอู' 'องค์บุญส่ง' 'องค์เจ๊แจ๊ว' 'องค์เจ๊องุ่น' 'องค์ครูเอื้อ' 'องค์เสี่ยดม' และ 'องค์มนตรี' ล้วนมีการเช่าการขายกันองค์ละหลายสิบล้านบาททั้งสิ้น โดยเฉพาะ "องค์ขุนศรี" หรือ "องค์มนตรี" ซึ่งนายมนตรี พงษ์พานิช นักการเมืองชื่อดังในอดีตได้ครอบครอง เป็น พระสมเด็จวัดระฆังโฆสิตาราม พิมพ์ใหญ่ และพิมพ์ทรงเจดีย์ทั้งสององค์ เช่ากันเกือบ ๕๐ ล้านบาท แต่ก็เป็นที่ทราบกันในวงการพระเครื่องเท่านั้น เนื่องเพราะการติดต่อเรื่องราคาอยู่ที่ผู้ขาย และผู้เช่าเท่านั้น

ส่วน "รังพระสมเด็จ" ที่ขึ้นชื่อของวงการพระเครื่องในปัจจุบัน ซึ่งมูลค่าของพระบางรังอาจจะสูงถึงหลักพันล้าน เช่น รังพระของนายไชยทัศน์ เตชะไพบูลย์ หรือ "โป๊ยเสี่ย" เจ้าของ พระสมเด็จองค์ลุงพุฒิ (พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่) รังพระของนายปรีดา อภิปุญญา หรือ "เฮียหนึ่ง" เจ้าของพระสมเด็จองค์ครูเอื้อ (พระสมเด็จวัดระฆัง พิมพ์ใหญ่)พระเครื่ององค์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นพระดังในตำนานที่ย้ายเข้าไปอยู่ในรังของ นายวิชัย รักศรีอักษร ประธานกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เจ้าของฉายา “เจ้าพ่อดิวตี้ฟรี” หรือ เสี่ยวิชัย มี ๒ องค์ คือ พระสมเด็จ "องค์เปาบุ้นจิ้น" และ พระสมเด็จ“องค์ขุนศรี”

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น