วันเสาร์ที่ 30 สิงหาคม พ.ศ. 2557

มติ มส.ตั้ง พระพรหมเวที เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์


เมื่อวันที่ 29 ส.ค.2557 ที่ผ่านมา ณ อาคารสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) พุทธมณฑล จ.นครปฐม สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เป็นประธานการประชุมมหาเถรสมาคม (มส.) โดยมีวาระสำคัญคือ การพิจารณาเลื่อน และตั้งสมณศักดิ์ ให้กับพระสงฆ์ที่ทำคุณประโยชน์แก่ชาติและพระพุทธศาสนา เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 5 ธ.ค.2557 โดยได้หารือนานกว่า 2 ชั่วโมง และมีมติเสนอรายชื่อพระสงฆ์ตามโควตาสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ที่ว่างลง ดังนี้ ฝ่ายมหานิกาย พระราชาคณะชั้นสามัญ 28 รูป สายต่างประเทศ 8 รูป พระราชาคณะชั้นราช 17 รูป สายต่างประเทศ 3 รูป พระราชาคณะชั้นเทพ 7 รูป สายต่างประเทศ 1 รูป พระราชาคณะชั้นธรรม 4 รูป พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ หรือรองสมเด็จพระราชาคณะ 4 รูป และสมเด็จพระราชาคณะ ชั้นสุพรรณบัฏ หรือ สมเด็จพระราชาคณะ 1 รูป ขณะที่ในส่วนของฝ่ายธรรมยุตมีโควต้าสมณศักดิ์พระสงฆ์ที่ว่างลง ดังนี้ พระราชาคณะชั้นสามัญ 8 รูป พระราชาคณะชั้นราช 4 รูป รวมทั้ง 85 รูป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับรายชื่อที่ทางที่ประชุมมหาเถรฯ มีมติเสนอรายชื่อเพื่อสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระราชาคณะ คือ พระพรหมเวที (สนิท ชวนปญฺโญ) เจ้าอาวาส วัดไตรมิตรวิทยาราม กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก โดยคาดว่าจะได้ชื่อสมณศักดิ์ที่ “สมเด็จพระพุฒาจารย์” แทน สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) อดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ และอดีตเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก 

ทั้งนี้เนื่องจากที่ประชุมมหาเถรฯ เห็นว่า พระพรหมเวที มีคุณสมบัติพร้อม โดยมีตำแหน่งทางการปกครองเป็นเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก และเจ้าอาวาสพระอารามหลวง ทั้งยังจบการศึกษาบาลีชั้นสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย คือ ระดับเปรียญธรรม (ป.ธ.) 9 ประโยค

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า หลังจากนี้จะมีการนำรายนามพระสงฆ์ที่ได้รับการพิจารณาตามมติมหาเถรฯ ในครั้งนี้ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงพิจารณาโปรดเกล้าฯ รับพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธ.ค.นี้

ทั้งนี้ ที่ประชุม มส. ยังได้เห็นชอบแต่งตั้งเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม พระอารามหลวง เนื่องจาก พระธรรมปัญญาจารย์ (สุพจน์ ปภสสโร) เจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม ได้ถึงมรณภาพ บัดนี้เจ้าคณะภาค 1-2-3 และ 12-13 (ธรรมยุต) เสนอแต่งตั้ง พระธรรมปาโมกข์ (สุนทร สุนทราโภ) อายุ 71 พรรษา 51 ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม และผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดราชผาติการาม และ มส.ยังได้เห็นชอบการเสนอแต่งตั้ง พระครูกิตติสารสุมณฑ์ (สุพัฒน์) ฉายา สุวฑโฒ อายุ 62 พรรษา 31 วัดศรีสุทธาวาส ต.กุดป่อง อ.เมืองเลย จ.เลย ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดเลย (ธรรมยุต)

รวมไปถึงยังได้เห็นชอบกรณี พระพรหมสุธี เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ในฐานะประธานสำนักงานกำกับดูแลพระธรรมทูตไปต่างประเทศ เสนอขอแต่งตั้งพระธรรมทูตสายประเทศอังกฤษที่ว่างลง เนื่องจาก พระมหาประเสริฐ ฐิตคุโณ ได้ขอลาออกจากตำแหน่งพระธรรมทูต จึงได้แต่งตั้ง พระมหาภาสกรณ์ ฉายา ปิโยภาโส ป.ธ.9 วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เขตพระนคร


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ






วันศุกร์ที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2557

30 สิงหา งานใหญ่!! สมเด็จฯ วางศิลาฤกษ์ "อาคารหลวงพี่น้ำฝน"


โรงเรียนอนุบาลนครปฐม
ปัจจุบันตั้งอยู่ที่เลขที่ ๙๙ ถ.เทศา ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมืองนครปฐม จ.นครปฐม เป็นโรงเรียนรัฐบาล จัดการศึกษาเป็น ๒ รูปแบบ คือ ๑.จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ภาคปกติ) ชั้นอนุบาล ๑-ชั้น ป.๖ และ ๒. จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการเป็นภาษาอังกฤษ ชั้นอนุบาล ๓ ขวบ ถึงชั้น ป.๖ มีนักเรียนทั้งสิ้น ๒,๓๓๘ คน มีข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน ๑๖๑ คน โดยมี นายสาธิต นะวาระ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลนครปฐม และ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม และกรรมการสถานศึกษาร่วมบริหารจัดการศึกษา

ล่าสุดได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารเรียนโรงเรียนอนุบาลนครปฐม ลักษณะเป็นอาคารคอนกรีต ๔ ชั้น ขนาด ๒๔ ห้อง วงเงินที่ได้รับจัดสรรจากรัฐบาลจำนวน ๒๑,๗๑๘,๐๐๐ บาท แต่การก่อสร้างอาคารเรียนนี้ ต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น ๗,๖๗๘,๐๐๐ บาท โดยต้องระดมทุนบริจาคสมทบเพิ่มเติมอีก ๖,๐๐๐,๐๐๐ ล้านบาท โดยมี นายสาธิต พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ และกรรมการสถานศึกษาเป็นประธานในการดำเนินการหาเงินบริจาคเพื่อสมทบการก่อสร้างอาคารเรียนจำนวนดังกล่าว ที่สำคัญการก่อสร้างอาคารเรียนใช้ระยะเวลาทำงานทั้งสิ้น ๔๙๕ วัน คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์และพร้อมใช้งาน พ.ศ.๒๕๕๘ เพื่อประโยชน์ในทางการศึกษาของเด็กๆ เยาวชนไทยสืบต่อไป


ในการนี้ได้กราบอาราธนานิมนต์ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ กทม. และท่านเจ้าประคุณได้เมตตารับเป็นองค์ประธานวางศิลาฤกษ์ อาคารเรียน “พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน” ณ โรงเรียนอนุบาลนครปฐม ในวันเสาร์ที่ ๓๐ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๔.๐๙ น. พร้อมด้วยพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ เจริญชัยมงคลคาถา เช่น 

พระพรหมสุธี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค ๑๒ วัดสระเกศ กทม. 
- พระพรหมมุนี กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะภาค ๑๔-๑๕ ธรรมยุต วัดราชบพิธ กทม. 
- พระพรหมดิลก กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร วัดสามพระยา กทม. 
- พระธรรมปริยัติเวที เจ้าคณะภาค ๑๕ วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม 
- พระเทพสุธี เจ้าคณะภาค ๑๔ วัดนิมมานรดี กทม.
- พระราชธรรมาภรณ์ เจ้าคณะจังหวัดสมุทรปราการ วัดกลางวรวิหาร จ.สมุทรปราการ 
- พระราชวิริยาลังการ รองเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม วัดไร่ขิง จ.นครปฐม เป็นต้น

ทั้งนี้ มีกำหนดการพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารเรียน “พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน” (ตอกเข็ม) เวลา ๑๒.๐๐ น. คณะสงฆ์ คณะกรรมการสถานศึกษา คณะผู้บริหาร คณะครู ผู้ปกครองนักเรียน และแขกผู้มีเกียรติพร้อมกัน ณ บริเวณพิธี เวลา ๑๒.๑๙ น. พิธีบวงสรวง ประธานในพิธีจุดเทียนชัย จุดเทียนเครื่องบายศรี และจุดเทียนขันน้ำมนต์ จุดธูปบูชา พราหมณ์อ่านคำบวงสรวง ประธานกล่าวคำส่งเทวดา โปรยข้าวตอกดอกไม้

เวลา ๑๔.๐๐ น. พิธีวางศิลาฤกษ์ พระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ ๑๐ รูป พร้อมบริเวณพิธี สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ประธานในพิธี เดินทางถึงบริเวณพิธี

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน และ ผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลนครปฐม ถวายเครื่องสักการะ ประธานจุดธูปเทียนบูชาพระรัตนตรัย เจ้าหน้าที่อาราธนาศีล สงฆ์ให้ศีล จุดธูปเทียนบูชาฤกษ์ ผู้อำนวยการกล่าวรายงาน พิธีประทานเกียรติบัตร ประธานเจิมแผ่นศิลาฤกษ์ วางศิลาฤกษ์ พระสงฆ์เจริญชัยมงคลคาถา อนุโมทนา เสร็จพิธี จึงเรียญเชิญผู้มีจิตศรัทธาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันอังคารที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ปลัดขิก ศิลปะแห่งเครื่องรางศักดิ์สิทธิ์

ปลัดขิก หรือ ขุนเพ็ด จัดเป็นเครื่องรางของขลังที่ได้รับความนิยมของคนไทย ปลัดขิกส่วนมากแกะสลักมาจากไม้ที่เชื่อกันว่าเป็นไม้มงคล หรือบางทีอาจทำจาก หิน ทองเหลือง ทองแดง กัลปังหา เขา งา เขี้ยวของสัตว์ แกะสลักเป็นรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศชายแต่ไม่มีหนังหุ้มปลายอวัยวะ มีขนาดต่าง ๆ กัน เมื่อทำการแกะสลักแล้วก่อนนำมาบูชาเป็นเครื่องรางของขลังจะต้องทำการปลุกเสกโดยผู้มีความรู้ด้านไสยศาสตร์ หรือ พระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคม

ส่วนชื่อเรียก ปลัดขิก ไม่ปรากฏชัดว่าเหตุใดจึงเรียกเช่นนั้น ส่วนคำว่า ปลัด หมายถึง ตำแหน่งรองจากตำแหน่งที่เหนือกว่า หรือสันนิษฐานว่าพ้องเสียงมาจากคำว่า ปราศวะ ในภาษาสันสกฤต แปลว่าเคียงข้าง เนื่องจากผู้บูชาปลัดขิกนิยมแขวนไว้ที่เอว หรือหากเป็นเด็กจะแขวนที่คอ

ในประเทศไทยไม่ปรากฏแน่ชัดว่าเริ่มมีการแพร่หลายตั้งแต่สมัยใด แต่ ปลัดขิก ในความเชื่อของคนไทยนั้น มีความแแตกต่างจาก ศิวลึงค์ ของชาวฮินดู เนื่องจากปลัดขิกที่คนไทยนำมาบูชานั้นสร้างขึ้นจากผู้มีวิชาความรู้ด้านไสยศาสตร์และทำการปลุกเสกเพื่อให้เป็นเครื่องรางของขลัง โดยในสมัยโบราณคนไทยนิยมห้อยปลัดขิกไว้กับเอว หรือห้อยคอสำหรับเด็กผู้ชาย ซึ่งการทำเช่นนี้เพราะมีความเชื่อว่า หากมีปลัดขิกติดตัวจะช่วยป้องกันอันตรายต่างๆได้ หรือบางคนนำมาบูชาไว้กับสถานประกอบการค้าขายเพราะเชื่อว่าจะทำให้ค้าขายมีกำไรมีคนอุดหนุนกิจการมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ ปลัดขิก ยังถูกมองว่าเป็นงานศิลปะชนิดหนึ่ง เพราะมีการแกะสลักเป็นรูปลิง หรือรูปร่างหญิงเปลือยกาย ซึ่งล้วนแต่มีความเชื่อเจือปนอยู่ด้วยเสมอ เช่น ลิงอาจหมายถึงความคล่องแคล่ว , หญิง อาจหมายถึงเสน่ห์ 

พระเกจิอาจารย์ผู้เรืองวิทยาคมแห่งสยามหลายรูป นิยมสร้างเครื่องรางชนิดนี้กันอย่างแพร่หลาย บ้างก็ลงอักขระเลขยันต์ เช่น อะ อุ มะ หรือ โอม อันเป็นการสรรเสริญ พระพรหม พระวิษณุ และ พระศิวะ ในศาสนาฮินดู บ้างก็จารจารึกอักขระศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ โดยพระเกจิอาจารย์ผู้มีชื่อเสียงทางด้านการสร้างปลัดขิกก็คือ หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก จ.ฉะเชิงเทรา หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ จ.ชลบุรี หลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส จันทบุรี และ หลวงพ่อยิด วัดหนองจอก เป็นต้น


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ







หลวงพ่อเสงี่ยม อาริโย พระนักพัฒนา แห่ง วัดห้วยจระเข้


วัดห้วยจระเข้ ตั้งอยู่เลขที่ ๔๔๗ ถ.พิพิธประสาท ด้านหน้าวัดใกล้คลองเจดีย์บูชา ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม เดิมมีชื่อวัดว่า วัดนาคโชติการาม ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดใหม่ห้วยจระเข้ ปัจจุบันได้ชื่อเป็นทางการว่า วัดห้วยจระเข้ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัดคือ หลวงปู่นาค โชติโก (พระครูปัจฉิมทิศบริหาร) ท่านเป็นผู้สร้างวัดนี้ให้เป็นวัดบริวารขององค์พระปฐมเจดีย์ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ ปัจจุบันมี พระครูทักษิณานุกิจ อายุ ๙๐ ปี หรือ หลวงพ่อเสงี่ยม อาริโย เป็นเจ้าอาวาส

"เสงี่ยม แขวงอินทร์" เป็นชื่อและสกุลเดิมของหลวงพ่อเสงี่ยม เกิดวันอาทิตย์ที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๔๖๗ ปี ชวด บิดาชื่อพุ่ม มารดาชื่อทอง ที่บ้านเลขที่ ๑ หมู่ ๓ ต.กลอนโด อ.ด่านมะขามเตี้ย จ.กาญจนบุรี ก่อนบวชเป็นตำรวจขบวนการเสรีไทย

บรรพชา-อุปสมบท เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ณ วัดหนองสองห้อง ต.หนองสองห้อง อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร โดยมี พระครูธรรมสาพิศ (หลวงพ่อแม้น) วัดใหญ่โพธิหัก เป็นพระอุปัชฌาย์ มีพระอาจารย์แม้น วัดใหญ่โพธิหัก เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อบวชแล้วได้เรียนตำราอาคมตำรับตำราอักษรเลขยันต์กับหลวงพ่อสาย อยู่ ๒ ปี จากนั้นย้ายมาจำพรรษาอยู่ที่ วัดพระงาม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม เพื่อศึกษาต่อภาษาบาลี ซึ่งหลวงพ่อเป็นนักเรียนบาลีรุ่นแรกของโรงเรียนสหศึกษาบาลี เป็นโรงเรียนบาลีของคณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม หลวงพ่อได้ศึกษาพระบาลีจนสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค จากนั้นเป็นครูสอนภาษาบาลี ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๔๙๙-๒๕๒๗ รวม ๒๘ ปี และพ.ศ.๒๕๒๗ ก็ได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ ซึ่ง หลวงปู่ล้ง เป็นเจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์

หลวงพ่อเสงี่ยมได้ศึกษาพระบาลีจนสอบได้เปรียญธรรม ๔ ประโยค จากนั้นเป็นครูสอนภาษาบาลีตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๙ -๒๕๒๗ รวม ๒๘ ปี และเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ ก็ได้ย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ ซึ่งมีหลวงปู่ล้ง เป็นเจ้าอาวาสกิตติมศักดิ์

เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๕ ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็นพระครูรักษาองค์พระปฐมเจดีย์ ในราชทินนามพระครูทักษิณานุกิจ พ.ศ.๒๕๐๗ เป็นพระธรรมทูตประจำอำเภอเมือง นครปฐม พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นรองเจ้าคณะอำเภอเมืองนคร ปฐม พ.ศ.๒๕๑๙ เป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ พ.ศ.๒๕๒๘-ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการโครงการบรรพชาสามเณรหมู่ภาคฤดูร้อน มีเด็กเข้ามาบวชปีละประมาณ ๑๕๐ คน

พ.ศ.๒๕๓๖ เป็นประธานศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดนครปฐม พ.ศ.๒๕๓๗ เป็นผู้อำนวยการศูนย์สงเคราะห์พุทธมามกะ วัดห้วยจระเข้ พ.ศ.๒๕๔๐ เป็นพระวินยาธิการประจำอำเภอเมืองนครปฐม พ.ศ.๒๕๔๑ เป็นผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสานาวันอาทิตย์ พ.ศ.๒๕๔๒ เป็นประธานหน่วยอบรมประชาชนประจำ ตำบลพระปฐมเจดีย์ พ.ศ.๒๕๔๔ เป็นเจ้าสำนักปฏิบัติธรรมประจำจังหวัดนครปฐม แห่งที่ ๒ วัดห้วยจระเข้ พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นเจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม พ.ศ.๒๕๔๙ เป็นที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอเมืองนครปฐม

ทุกวันนี้แม้วัยจะล่วงเลยมาถึง ๙๐ ปี แต่หลวงพ่อเสงี่ยมยังคงดำเนินชีวิตดุจเดิมด้วยความมักน้อย สันโดษ ไม่ยินดียินร้ายในลาภสักการะทั้งหลายทั้งปวง เคร่งครัดในศีลาจารวัตร ทำให้เป็นที่เคารพนับถือของศิษยานุศิษย์ตลอดจนพุทธศาสนิกชนทั่วไป


หลวงพ่อเสงี่ยม เป็นพระนักปกครอง นักเผยแผ่พระพุทธศาสนา หลังจากจำพรรษาครองวัดห้วยจระเข้ ได้พัฒนาวัดห้วยจระเข้ ทั้งในด้านศาสนวัตถุ กุฏิสงฆ์ วิหาร ศาลาการเปรียญ ถนนพื้นภายในวัดให้เจริญเรียบร้อยดูสวยงามร่มรื่นสะอาดตา ท่านพัฒนาวัดจนวัดห้วยจระเข้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่าง เมื่อ พ.ศ.๒๕๓๙ และเป็นวัดพัฒนาที่มีผลงานดีเด่น เมื่อพ.ศ.๒๕๔๓

ด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ท่านเป็นประธานศูนย์เผยแผ่พระพุทธศาสนาประจำจังหวัดนครปฐม เป็นนักเทศน์ที่มีฝีปากกล้าสำนวนโวหารเป็นที่ไพเราะจับหูผู้ฟัง ตอนเช้ามืดเวลาประมาณ ๐๕.๐๐ น. ท่านจะบรรยายธรรมตามสายเครื่องกระจายเสียงของวัดทุกวัน ถ้าวันใดท่านไม่ได้พูดธรรมะ โยมที่ฟังประจำจะมาถามว่าท่านป่วยหรือเปล่า ทำไมเมื่อเช้ามืดไม่พูดธรรมะ

นอกจากนี้แล้วหลวงพ่อเสงี่ยมท่านเคร่งครัดกฎระเบียบและพระธรรมวินัยมาก ท่านจะสอนให้พระเณรฟังเสมอเรื่องข้อวัตรปฏิบัติของพระภิกษุ-สามเณร เรื่องกฎระเบียบพระธรรมวินัยแล้ว ยังสอนพระภิกษุ-สามเณรเป็นประจำ ว่ารู้จักหน้าที่ทำตามหน้าที่จะเกิดศักดิ์ศรีทั้งทางโลกและทางธรรม อีกทั้งยังได้สนับสนุนการศึกษาของคณะสงฆ์ทุกระดับ ทำให้วัดห้วยจระเข้มีพระมหาเปรียญธรรม ๙ ประโยค และประโยคอื่นๆ หลายรูป ที่ผ่านมาท่านได้ส่งพระสงฆ์ไปเรียนระดับปริญญาตรี-โท-เอกจำนวนมาก

การปฏิบัติธรรมหลวงพ่อเสงี่ยมจะให้การสนับสนุนมาโดยตลอด นำผู้เข้าร่วมปฏิบัติธรรมเองทุกครั้ง แต่ละปีมีนักเรียนและประชาชนทั่วไปเข้าปฏิบัติปีละประมาณ ๑,๕๐๐ คน ถือได้ว่าท่านได้ทำงานของพระศาสนาครบถ้วนสมบูรณ์แบบ แม้ปัจจุบันตัวท่านจะมีพรรษายุกาลมากแล้วก็ตาม ท่านก็ไม่เคยละทิ้งหน้าที่ของความเป็นพระลงทำวัตรสวดมนต์ตอนตีสี่ และเช้า-เย็นทุกวัน เทศน์สอนประชาชนทุกวันพระ

หลวงพ่อเสงี่ยม ได้เรียนตำราต่างๆ ทั้งคาถาอาคมอักษรขอมมาจาก หลวงพ่อสาย วัดหนองสองห้อง บ้านแพ้ว ซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน จากนั้นได้เรียนคาถาอาคมพร้อมทั้งการสร้าง พระปิดตาเนื้อเมฆพัด กับพระครูอุตตรการบดี หรือ หลวงปู่ล้ง เลมิกุล อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ ซึ่งหลวงปู่ล้งก็ได้เรียนการดำน้ำจารอักขระบนองค์พระปิดตาเนื้อเมฆพัดรุ่นแรกของท่านเมื่อปี พ.ศ.๒๕๒๗ พระรุ่นนี้ก็เป็นที่นิยมของนักสะสมทั่วไป

หลวงพ่อเสงี่ยม กล่าวปรารภว่า "ตำราคาถาของวัดและสำนักต่างๆ ในปัจจุบันนี้ส่วนใหญ่สืบทอดมาจากของเดิมที่ครูบาอาจารย์ในอดีตถ่ายทอด แต่เหนือสิ่งอื่นใดจิตต้องนิ่งเป็นสมาธิคาถาจึงมีความเข้มขลัง ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส ถ้าจิตนิ่งเป็นสมาธิ บริกรรมคาถาบทใดก็เข้มขลัง ที่ขาดไม่ได้คือ ต้องตั้งอยู่ในศีลมั่นอยู่ในธรรม"

ปัจจุบัน พระปิดตา ๒๗ สนนราคาเล่นหากันองค์ละเป็นหมื่น พระปิดตาเนื้อเมฆพัดแต่ละรุ่นที่ท่านได้สร้างตามตำรับของ หลวงปู่นาค อดีตพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง อดีตเจ้าอาวาสวัดห้วยจระเข้ทุกอย่าง แม้กระทั่งเนื้อพิมพ์ และ การลงอักขระเลขยันต์ หลวงพ่อเสงี่ยมจะพิถีพิถันในการจัดสร้าง ทำให้พระปิดตาของท่านแต่ละรุ่นมีผู้สนใจเป็นจำนวนมาก

ในโอกาสที่หลวงพ่อมีอายุครบ ๙๐ ปี หลวงพ่อได้จัดสร้าง พระกริ่ง พระชัยวัฒน์ รุ่นอาริโย ๙๐ จัดสร้างตามแบบพระกริ่งของวัดสุทัศน์ให้แก่ท่านที่สนใจมีไว้บูชา กำหนดเททองหล่อพระกริ่งพระชัยวัฒน์ ใน วันจันทร์ที่ ๑ กันยายน พ.ศ.๒๕๕๗ เวลา ๑๐.๐๙ น. โดยมีท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังราช ประธานเททอง ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเกิดของท่าน คณะศิษย์ได้จัดงานทำบุญถวายมุทิตาสักการะให้หลวงพ่อ ถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์สามเณร จำนวน ๒๐๐ รูป มอบทุนการศึกษาให้เด็กนักเรียนที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในวันดังกล่าวด้วย เพื่อที่หลวงพ่อจะได้นำปัจจัยไปบูรณะซ่อมแซมเมรุเผาศพต่อไป และในวันนั้นหลวงพ่อได้มีเมตตาแจกพระชัยวัฒน์ เนื้อเงินยวง จำนวน ๙๙๙ องค์เท่านั้น ให้ผู้ที่มาร่วมงาน สนใจติดต่อสอบถามที่ โทร.๐๘-๕๐๗๖-๐๙๗๔


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2557

เจดีย์ร้อยยอด วัดไผ่โรงวัว ถล่ม!!


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจดีย์ร้อยยอดวัดไผ่โรงวัว หมู่ 11 ต.บางตาเถร อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ที่สร้างอยู่ใกล้กันกับโบสถ์สามร้อยยอด ได้ทรุดพังถล่มลงมา ทีมข่าวจึงรีบเดินทางไปตรวจสอบ พบชาวบ้านและพระภิกษุสงฆ์กำลังยืนมุงดูกันจำนวนมาก และพบซากปรักหักพังของเจดีย์ทับถมกองรวมกันที่ฐานด้านในตัวเจดีย์

จากการสำรวจ พบว่า เจดีย์ร้อยยอด ได้พังลงมาทั้งหมด เหลือเพียงฐานรอบนอกซึ่งเป็นเจดีย์ที่เก็บอัฐิ สอบถาม พระครูอนุกูล ปัญญากร เจ้าอาวาสวัดไผ่โรงวัว รองเจ้าคณะอำเภอสองพี่น้อง ทราบว่า เจดีย์ร้อยยอดนี้สร้างมาได้ประมาณ 40 ปี โดย หลวงพ่อขอม อดีตเจ้าอาวาสได้สร้างขึ้นครั้งยังไม่มรณภาพ เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และมีเจดีย์เล็กๆ บรรจุอัฐิอยู่โดยรอบ เพื่อเป็นการระลึกถึงความดีของบรรพชนทั้งหลายที่ได้สร้างประโยชน์ไว้แต่ครั้งก่อน

สำหรับเจดีย์ร้อยยอดวัดไผ่โรงวัวนี้ กว้าง 30 เมตร สูง 60 เมตร สร้างด้วยคอนกรีต เสริมเหล็ก ก่ออิฐถือปูน ใช้เงินทั้งสิ้นประมาณ 2,500,000 บาท ส่วนสาเหตุของการถล่ม จากการสอบถามนายอนุชา อ่องเพชร อายุ 26 ปี พ่อค้าขายของบริเวณเจดีย์ร้อยยอด บอกว่าได้ยินเสียงดังครืนดังมาก และเห็นยอดเจดีย์เอนหักลงมาก่อนที่องค์เจดีย์จะทรุดตัวลงไปทับพระประธานพังเสียหายทั้งหมด ซึ่งก่อนหน้านี้ประมาณ 3 ปี เคยเกิดเหตูไฟไหม้เจดีย์มาก่อน ส่วนพื้นล่างที่สร้างเจดีย์เป็นสระน้ำเก่า ทางวัดได้ถมดินเพื่อสร้างเจดีย์ อย่างไรก็ตาม ต้องรอช่างผู้เชี่ยวชาญมาตรวจสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ