วันจันทร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2557

สมเด็จเจ้าพะโคะ


สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ หรือ หลวงปู่ทวด หรือ สมเด็จเจ้าพะโคะ ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์รูปสำคัญในสมัยกรุงศรีอยุธยา ปัจจุบันเป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งในและต่างประเทศ โดยเชื่อถือกันว่า วัตถุมงคลของท่านล้วนมีอานุภาพศักดิ์สิทธิ์ ป้องกันสารพัดภัยได้ทั่วสารทิศ ผู้ที่บูชาอยู่เป็นนิจ "เงินทองจะไม่ขัดติด เดินทางทั่วทิศจะไม่ตายโหง"

ตามตำนานกล่าวว่า หลวงปู่ทวด เกิดเมื่อวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ. 2125 ณ บ้านสวนจันทร์ (บ้านเลียบ) ต.ดีหลวง (ปัจจุบันเป็นตำบลชุมพล) อ.สทิงพระ (จะทิ้งพระ) จ.สงขลา เป็นบุตรของนายหู และ นางจันทร์ ซึ่งเป็นทาสในเรือนเบี้ยของเศรษฐีปาน เกิดในรัชกาลของ สมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช แรกเกิดมีชื่อว่า "ปู" ขณะท่านเกิดมีเหตุอัศจรรย์คือเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าแผ่นดินสะเทือนเลื่อนลั่น เสมือนหนึ่งว่ามีผู้มีบุญญาธิการมาเกิด เมื่อตัดรกจากสายสะดือแล้ว นายหูผู้เป็นบิดาก็นำรกของท่านไปฝังไว้ที่โคนต้นเลียบ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ "สำนักสงฆ์ต้นเลียบ" ในปัจจุบัน

เมื่อท่านเกิดมาแล้วก็มีเหตุอัศจรรย์เกิดขึ้นเรื่อยมา เป็นต้นว่า ขณะที่ท่านอยู่ในวัยแบเบาะในช่วงฤดูเกี่ยวข้าวบิดามารดาของท่านต้องออกไปเกี่ยวข้าวที่กลางทุ่งนาซึ่งเป็นนาของเศรษฐีปาน ซึ่งท้องนาแห่งนั้นห่างจากบ้านประมาณ 2 กิโลเมตร ที่นาแห่งนั้นมีดงตาลและมะเม่าเป็นจำนวนมากครั้งนั้นจึงเรียกว่าทุ่งเม่า ปัจจุบันตั้งเป็น "สำนักสงฆ์นาเปล" ในสมัยนั้นจึงมีสัตว์ป่าชุกชุมพอสมควร บิดามารดาของท่านจึงผูกเปลของท่านซึ่งเป็นเปลผ้าไว้กับต้นมะเม่าสองต้นและก็ได้เกี่ยวข้าวอยู่ไม่ไกลจากบริเวณนั้น พอได้ระยะเวลาที่นางจันทร์ต้องให้นมลูก นางจันทร์จึงเดินมาที่ที่ปลูกเปลของลูกน้อย และก็เห็นงูจงอางตัวใหญ่หรืองูบองหลาที่ชาวภาคใต้เรียกกันพันที่รอบเปล นางจันทร์เห็นแล้วตกใจเป็นอันมากจึงเรียกนายหูซึ่งอยู่ไม่ไกลนักมาดูและช่วยไล่งูจงอางนั้น แต่งูจงอางนั้นก็ไม่ไปไหน นายหูและนางจันทร์จึงตั้งสัตยาธิฐานว่าขออย่าให้งูนั้นทำร้ายลูกน้อยเลย ไม่นานนักงูจงอางนั้นก็คลายวงรัดออกและเลื้อยหายไปในป่านายหูและนางจันทร์จึงเข้าไปดูลูกน้อยเห็นว่ายังหลับอยู่และไม่เป็นอันตรายใด ๆ และปรากฏว่ามีเมือกแก้วขนาดใหญ่ที่งูจงอางคลายไว้อยู่บนอกเด็กชายปูนั้น เมือกแก้วนั้นมีแสงแวววาวและต่อมาได้แข็งตัวเป็นลูกแก้ว ปัจจุบันได้ประดิษฐานที่ วัดพะโคะ

เมื่อเศรษฐีปานทราบเรื่องเข้าก็บีบบังคับขอลูกแก้วเอาจากนายหูและนางจันทร์ บิดามารดาของท่านจึงจำต้องยอมให้ลูกแก้วนั้นแก่เศรษฐีปานซึ่งเป็นนายเงิน แต่ลูกแก้วนั้นเป็นของศักดิ์สิทธิประจำตัวท่าน เมื่อเศรษฐีปานเอาลูกแก้วไปแล้วก็เกิดเภทภัยในครอบครัวเกิดการเจ็บป่วยกันบ่อย และมีฐานะยากจนลง เศรษฐีปานจึงได้เอาลูกแก้วมาคืนและขอขมาเด็กชายปู และยกหนี้สินให้แก่นายหูและนางจันทร์ ทั้งสองจึงพ้นจากการเป็นทาสและต่อมาก็มีฐานะดีขึ้น ๆ ส่วนเศรษฐีปานก็มีฐานะดีขึ้นดังเดิม

เมื่อท่านมีอายุได้ประมาณ 7 ขวบ พ.ศ. 2132 บิดามารดาของท่านจึงนำท่านไปฝากไว้เป็นศิษย์วัด เพื่อเล่าเรียนหนังสือที่ "วัดกุฎีหลวง" หรือ "วัดดีหลวง" ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นวัดใกล้บ้าน ขณะนั้นมีท่าน "สมภารจวง" ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงของท่านเป็นเจ้าอาวาสอยู่ เด็กชายปูเป็นเด็กที่หัวดีเรียนเก่งสามารถเล่าเรียนภาษาขอมและภาษาไทยได้อย่างรวดเร็ว สมภารจวงได้บวชให้ท่านเป็นสามเณรเมื่ออายุได้ 15 ปี ตอนที่ท่านบวชเป็นสามเณรนี้เองบิดาของท่านจึงถวายลูกแก้วคืนให้แก่ท่านเป็นลูกแก้วประจำตัวท่านต่อไป

ด้วยความที่เป็นคนใฝ่เรียนใฝ่รู้ตลอดเวลาของท่าน ต่อมาท่านสมภารจวงได้นำไปฝากให้เล่าเรียนหนังสือที่สูงขึ้นสมัยนั้นเรียกว่า มูลบทบรรพกิจ ซึ่งปัจจุบันก็คือเรียนนักธรรมนั่นเอง โดยนำไปฝากเรียนไว้กับ สมเด็จพระชินเสน ซึ่งเป็นพระเถระชั้นสูงที่มาจากกรุงศรีอยุธยา เพื่อมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส วัดสีคูยัง หรือ วัดสีหยัง ในปัจจุบัน ห่างจากวัดดีหลวงไปทางเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร ท่านเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็วและจบหลักสูตรที่วัดสีคูยังนั้น หลังจากนั้นท่านได้เดินทางเข้ามาศึกษาต่อที่เมืองนครศรีธรรมราชเพื่อเรียนหนังสือให้สูงขึ้น โดยมาพำนักอยู่ที่ วัดเสมาเมือง ซึ่งเป็นสำนักเรียนและมี สมเด็จพระมหาปิยะทัสสี เป็นเจ้าอาวาส และบรรพชาอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เมื่ออายุครบกาลอุปสมบท ท่านได้ศึกษาวิชาจากครูบาอาจารย์ต่าง ๆ จนมีความรู้และเป็นผู้ทรงอภิญญา

ท่านได้รับพระราชทานสมณศักดิ์จาก สมเด็จพระเอกาทศรศ ในครั้งสุดท้ายในราชทินนามที่ สมเด็จเจ้าพระราชมุนีสามีรามคุณูปรมาจารย์ เมื่อท่านมีอายุได้ 80 ปี ท่านได้กลับมาจำพรรษาที่ วัดพะโคะ วัดบ้านเกิดของท่าน และต่อมาท่านได้สั่งเสียกับลูกศิษย์ว่า เมื่อท่านมรณภาพให้นำพระศพท่านไปไว้ที่ วัดช้างไห้ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี

หลวงปู่ทวด ท่านละสังขารด้วยโรคชราในปลายรัชกาลของ สมเด็จพระนารายณ์มหาราช วันที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2225 ที่เมืองไทรบุรี สิริอายุได้ 100 ปี นับพรรษาได้ 80 พรรษา


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันอาทิตย์ที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2557

หลวงพ่อปากแดง พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์แห่งเมืองนครนายก

วัดพราหมณี ถือเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในจังหวัดนครนายก ตั้งอยู่บนถนนสาริกา-นางรอง หลักกิโลเมตรที่ 4 ต.สาริกา อ.เมือง จ.นครนายก วัดแห่งนี้สร้างขึ้นในสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อประมาณปี พ.ศ.2446 ปัจจุบันนี้มีอายุ 100 กว่าปีแล้ว

ปัจจุบัน วัดพราหมณี มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี ด้วยเพราะมี "หลวงพ่อปากแดง" พระประธานศักดิ์สิทธิ์อันเป็นที่เคารพนับถือกันอย่างกว้างขวาง โดยมีความเชื่อกันว่าองค์หลวงพ่อมีความศักดิ์สิทธิ์ ช่วยให้คนที่มาขอพรประสบความสำเร็จในสิ่งที่ต้องการ จนโด่งดังขจรไกลทั่วภูมิภาคของไทยและต่างประเทศ

หลวงพ่อปากแดง วัดพราหมณี คือพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาว จ.นครนายก เป็นที่เคารพนับถือกันอย่างกว้างขวาง มีชื่อว่า “หลวงพ่อปากแดง” เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ สร้างด้วยโลหะสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง 49 นิ้ว สูง 1 เมตร เป็นศิลปะสมัยล้านช้าง จีวรเป็นลายดอกพิกุล พระโอษฐ์แย้มทาสีแดงเห็นชัด ชาวบ้านจึงเรียกว่า “หลวงพ่อปากแดง”




สิ่งที่เด่นสะดุดตา คือ ปากของหลวงพ่อมีสีแดงสด เหมือนมีผู้นำลิปสติกไปทาไว้ ผู้เฒ่าผู้แก่ย่านนั้นยืนยัน ว่าเห็นปากท่านแดงแบบนี้มาตั้งแต่เกิด แม้แต่ปู่ย่าตายายของผู้เฒ่าเหล่านี้ก็บอกว่าเห็นมาตั้งแต่เกิดเหมือนกัน

พระสุธีพรหมคุณ หรือ หลวงพ่อตึ๋ง เจ้าอาวาส วัดพราหมณี เล่าว่าตามตำนาน หลวงพ่อปากแดง เป็นพระพุทธรูปพี่น้องกับ หลวงพ่อพระสุก และ หลวงพ่อพระใส ที่ประดิษฐานอยู่ที่ จ.หนองคาย แต่เดิมได้อัญเชิญมาจากนครเวียงจันทน์ พอมาถึงประเทศไทย ชาวบ้านได้แยกย้ายไปตามวัดต่างๆ ส่วนหลวงพ่อปากแดงนั้น ถูกชาวบ้านอัญเชิญและนำมาหยุดยังพื้นที่ว่างบริเวณที่เป็นวัดพราหมณีในปัจจุบัน จากนั้นก็ลงมือสร้างวัดแล้วก็อัญเชิญองค์หลวงพ่อขึ้นเป็นพระประธานในพระอุโบสถ

ซึ่งต่อมา หลวงพ่อปากแดง ได้กลายมาเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ของชาวจังหวัดนครนายกจนถึงทุกวันนี้ โดยประชาชนที่เดินทางไปเที่ยวน้ำตกสาริกา จะต้องแวะกราบสักการบูชา พร้อมกับบนบานด้วยกล้วยน้ำว้า 9 หวี หมากพลู 9 ชุด พวงมาลัย 9 พวง และน้ำแดง 1 ขวด กันอย่างล้นหลาม พร้อมทั้งตั้งจิตอธิษฐานให้สมความปรารถนาตัวเอง


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




พระสังฆราชเมืองลาว ข้ามโขงทำบุญ 2 แผ่นดิน


เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2557 ที่ผ่านมา พระอาจารย์ใหญ่ ดร.มหาผ่อง ปิยะทีโร (สะมาเลิก) ประธานศูนย์กลางการพระพุทธศาสนาสัมพันธ์ลาว (พระสังฆราชเมืองลาว องค์ที่ 4 ) นำญาติโยมจำนวนหนึ่ง มาร่วมทำบุญ ที่ วัดพระโต บ้านที่วัดพระโต บ้านปากแซง ตำบลพะลาน อำเภอนาตาล จังหวัดอุบลราชธานี ด้วยการทำบุญตักบาตร ถวายเครื่องไทยทาน และปล่อยปลาดุกลงสู่แม่น้ำโขง จำนวน 99 ตัว ครบตามอายุ 99 ปี โดยมี พระครูพุทธวราธิคุณ เจ้าคณะอำเภอนาตาล และเจ้าอาวาสวัดพระโต บ้านปากแซง นำพระภิกษุสงฆ์พร้อมพุทธสาสนิกชนถวายการต้อนรับคับคั่ง

ทั้งนี้ ท่านพระอาจารย์ใหญ่ หรือ พระสังฆราชเมืองลาว องค์ที่ 4 เปิดเผยว่า “ข้อยดีใจหลายเด้อ ที่ได้มาทำบุญในมื้อนี่” พร้อมบอกต่อไปว่า การทำบุในครั้งนี้นับเป็นการที่ทำบุญที่มีความสำคัญมา เพราะเป็นการเชื่อมสัมพันธ์พุทธศาสนาไทย ลาว ให้ได้เป็นแบบอย่างในการที่ได้ร่วมกันทำบุญเพื่อเป็นการจรรโลงพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไป และเห็นว่า วัดแห่งนับเป็นวัดที่ศักดิ์สิทธิ์อีกวัดหนึ่ง ในแถบลุ่มแม่น้ำโขง ที่สำคัญ ชื่อพระประธานในวัด ที่เวียงจันทร์ ก็ชื่อเดียวกันกับที่นี่ คือ ชื่อ “พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ” เช่นเดียวกัน แต่ที่พระเจ้าองค์ตื้อ ที่เวียงจันทร์นั้น ก่อสร้างขึ้นมาได้เพียง 450 ปี แต่พระเจ้าใหญ่องค์ตื้อ ที่ฝั่งไทยแห่งนี้ มีอายุกว่า 1 พันปี!! นับเป็นพระพุทธรูปที่มีคนเลื่อมใสกันมาก

ส่วนชาติภูมิของ พระอาจารย์ใหญ่ ดร.มหาผ่อง ปิยะทีโร (พระสังฆราชเมืองลาว องค์ที่ 4) นั้นพบว่า ท่านเป็นคนไทยโดยกำเนิด เกิดที่บ้านกุงน้อย ตำบลกุศกร อำเภอตระการพืชผล จังหวัดอุบลราชธานี เมื่อปี พ.ศ..2459 ติดตามบิดามารดาไปอยู่ บ้านโพนทอง เมืองโพนทอง แชวงจำปาสัก สปป.ลาว ตั้งแต่เป็นเด็กเล็ก และได้รับการเป็นลูกบุญธรรมของ เจ้าฟ้าเพชรราช วีระบุรุษของชาวลาวอิสระ ปลดแอกจากการปกครองฝรั่งเศส และได้เป็นบุตรบุญธรรมของ โฮจิมินห์ ประธานพรรคคอมมิวนิสน์ อีกด้วย อุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปี ที่ วัดโพธิ์สระปทุม บ้านกุศกร (ที่บ้านเกิด) จากนั้นก็เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรม ที่ วัดชนะสงคราม กรุงเทพมหานคร (ท่านสนิทสนมกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปรินายก เพราะศึกษาร่วมสำนักเดียวกันจนคุ้นเคย) ได้รับพระราชทานประกาศนียบัตร เปรียญธรรม 6 ประโยค จาก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ 8) จากนั้นก็ได้นำความรู้มาสอนมัธยมสงฆ์หลายแห่งในประเทศลาว ปัจจุบัน ท่านพนักอยู่ที่ วัดองค์ตื้อมหาวิหาร แขวงเวียงจันทร์ ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557

ม.ศรีปทุม ถวายปริญญา "สมเด็จวัดปากน้ำ"


เมื่อเวลาวันที่ 1 เม.ย. 2557 ที่ผ่านมา ณ พระมหาเจดีย์มหารัชมงคล วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ มีพิธีถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยศรีปทุม แด่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) เจ้าอาวาสวัดปากน้ำฯ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช โดยมี ม.จ.ชาตรีเฉลิม ยุคล นายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ผวจ.สระบุรี พร้อมคณะศิษยานุศิษย์ พระสงฆ์ คณาจารย์มหาวิทยาลัยศรีปทุม และประชาชนร่วมงานจำนวนมาก

ทั้งนี้ ดร.รัชนีพร พุคยาภรณ์ พุกกะมาน อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีปทุม กล่าวว่า สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นพระมหาเถระที่มีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการจัดการเรียนการสอนพระปริยัติธรรม แผนกบาลีในหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย ขณะที่การเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศก็มีผลงานเป็นที่ประจักษ์จนท่านได้ รับการถวายสมณศักดิ์ทางด้านต่าง ๆ มากมาย รวมไปถึงปริญญาจากต่างประเทศเช่น องค์กรสงฆ์จากประเทศอินเดียได้ถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ด้ว

อย่างไรก็ตามจากการที่ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เป็นพระมหาเถระที่ถึงพร้อมด้วยเมตตาธรรม และความรู้ความสามารถในด้านการบริหารจัดการ โดยเฉพาะการบริหารการศึกษาของคณะสงฆ์ สภามหาวิทยาลัยศรีปทุม จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ถวายปริญญาศิลปศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาบริหารการศึกษา แด่สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไป

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ กล่าวว่า รู้สึกปราบปลื้มที่ทำประโยชน์แล้วมีคนเห็น การทำประโยชน์เพื่อสังคมเป็นเรื่องที่ดีทุกคนควรทำ นอกจากทำความดีเพื่อสังคมแล้ว ทุกคนควรทำความดีเพื่อชาติบ้านเมือง สิ่งสำคัญคนในชาติต้องมีความรักความสามัคคี ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบสุข


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





พระเจ้าตากสินฯ จักรพรรดิแห่งอัศวิน ของคนถิ่นจันท์


ประวัติศาสตร์แห่งชาติสยามแผ่นดินไทย มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเกรียงไกรอยู่หลายพระองค์ หากแต่เมื่อ สิ้นถิ่นดินย่อมสิ้นชาติ เอกราชจะอยู่ดำรงเพราะเอกบุรุษ

ชาวจังหวัดจันทบุรี ถือว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อเมืองจันท์และสยามประเทศเป็นอันมาก ดังประวัติศาสตร์การกอบกู้เอกราชคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่จารึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือ พระยาวชิรปราการ (สิน) ในขณะนั้น เล็งเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาต้องแตกพ่ายและตกเป็นของพม่าแน่นอน จึงรวบรวมพลทหารไทย จีน ได้ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าทางทิศตะวันออก โดยต่อสู้กับข้าศึกในระหว่างทางและได้ชัยชนะ จนสามารถรวบรวมไพร่พลได้มากขึ้น

พระยาวชิรปราการ (สิน) เห็นว่าเมืองจันทบุรี มีชัยภูมิที่เหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ เป็นหัวเมืองชายทะเลที่ปลอดจากสงคราม ทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ด้านพืชพันธัญญาหาร รวมทั้งยังเป็นชุมชนชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งพระยาวชิรปราการมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋วและเคยเป็นพ่อค้ามาก่อน จึงมุ่งหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีนเหล่านี้ ดังนั้นจึงใช้เมืองจันท์เห็นที่มั่น และรวบรวมหัวเทืองชายฝั่งทะเลตะวันออกได้ทั้งหมด สามารถต่อเรือรบได้ 100 ลำ มีผู้สวามิภักดิ์มากขึ้นถึง 5,000 คน แล้วกลับไปตีทัพพม่า ขับไล่ออกไปจากอยุธยาได้สำเร็จนับเป็นการกอบกู้เอกราชของชาติกลับคืนมาได้อีกครั้ง

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บริเวณหน้าค่ายตากสิน จ.จันทบุรี จึงถือเป็นจุดสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเคารพศรัทธาของคนเมืองจันท์ที่มีต่อ "พระเจ้าตาก" โดยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมใจของทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่พำนักพักพิงอยู่ในถิ่นแคว้นเมืองจันท์

หากจะกล่าวว่า เมืองจันท์ เริ่มต้นขึ้นมาพร้อมกับพระเจ้าตากสินนั้น ก็คงจะมิใช่เรื่องผิด ศาลพระเจ้าตากสินแห่งนี้บ่งบอกถึงความผูกพันของชาวเมืองจันท์นี้ที่มีต่อพระเจ้าตากได้เป็นอย่างดี ถึงขนาดที่มีคำกล่าวว่า "ถ้าไม่ได้มาสักการะพระเจ้าตาก ก็ถือว่ายังมาไม่ถึงเมืองจันท์"

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งนี้ ชาวเมืองจันท์สร้างด้วยความศรัทธา เพื่อให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวได้เดินทางมากราบไหว้สักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคล แต่เดิมเป็นเพียงศาลไม้อยู่ด้านข้างศาลหลักเมือง ครั้นในสมัย ม.จ.สฤษดิเดช ชยางกูล สมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรีได้สร้างศาลใหม่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2463 บริเวณด้านหน้าค่ายทหารกองพันนาวิกโยธิน ใกล้กับศาลหลักเมือง โดยมีลักษณะเป็นศาลคอนกรีตสี่เหลี่ยมจัตุรมุข มีบันไดด้านหน้าและด้านข้างสามทาง กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ภายในเป็นที่ประดิษฐานเทวรูป ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่ยังไม่มีพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินเช่นปัจจุบัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมกันบริจาคเงินสร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขึ้นใหม่ เป็นศาลทรงเก้าเหลี่ยม เคียงคู่กับศาลเดิม ศาลใหม่นี้ เป็นรูปทรงเก้าเหลี่ยมสร้างด้วยหินอ่อน พื้นเป็นหินแกรนิต หลังคาเป็นรูปพระมาลายอดแหลม สูงจากพื้นถึงยอด 16.9 เมตร ประดับลวดลายทอง ยอดบนเป็นฉัตรทองคำเก้าชั้น บันไดทางขึ้นมีสามด้าน ราวบันไดด้านหน้าเป็นรูปพญานาค ด้านหน้าศาลมีสิงห์คู่หนึ่ง ภายในมีพระบรมรูปของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หล่อด้วยทองเหลืองรมดำ ประทับนั่งทรงเมือง ผนังภายในเขียนลายไทยพุ่มข้าวบิณฑ์ไว้อย่างสวยงาม ในแต่ละวันจะมีประชาชนมาสักการะบูชาเป็นจำนวนมาก และในวันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์ จะจัดให้มีการทำบุญตักบาตรและถวายเครื่องราชสักการะ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อแผ่นดินสยามชาติไทย


*************************

เรื่องโดย : เต้ มงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ