วันอังคารที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2557

พระเจ้าตากสินฯ จักรพรรดิแห่งอัศวิน ของคนถิ่นจันท์


ประวัติศาสตร์แห่งชาติสยามแผ่นดินไทย มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเกรียงไกรอยู่หลายพระองค์ หากแต่เมื่อ สิ้นถิ่นดินย่อมสิ้นชาติ เอกราชจะอยู่ดำรงเพราะเอกบุรุษ

ชาวจังหวัดจันทบุรี ถือว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณต่อเมืองจันท์และสยามประเทศเป็นอันมาก ดังประวัติศาสตร์การกอบกู้เอกราชคราวเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่จารึกไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน หรือ พระยาวชิรปราการ (สิน) ในขณะนั้น เล็งเห็นว่ากรุงศรีอยุธยาต้องแตกพ่ายและตกเป็นของพม่าแน่นอน จึงรวบรวมพลทหารไทย จีน ได้ 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่าทางทิศตะวันออก โดยต่อสู้กับข้าศึกในระหว่างทางและได้ชัยชนะ จนสามารถรวบรวมไพร่พลได้มากขึ้น

พระยาวชิรปราการ (สิน) เห็นว่าเมืองจันทบุรี มีชัยภูมิที่เหมาะสมในทางยุทธศาสตร์ เป็นหัวเมืองชายทะเลที่ปลอดจากสงคราม ทั้งมีความอุดมสมบูรณ์ด้านพืชพันธัญญาหาร รวมทั้งยังเป็นชุมชนชาวจีนแต้จิ๋ว ซึ่งพระยาวชิรปราการมีเชื้อสายจีนแต้จิ๋วและเคยเป็นพ่อค้ามาก่อน จึงมุ่งหวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือจากชาวจีนเหล่านี้ ดังนั้นจึงใช้เมืองจันท์เห็นที่มั่น และรวบรวมหัวเทืองชายฝั่งทะเลตะวันออกได้ทั้งหมด สามารถต่อเรือรบได้ 100 ลำ มีผู้สวามิภักดิ์มากขึ้นถึง 5,000 คน แล้วกลับไปตีทัพพม่า ขับไล่ออกไปจากอยุธยาได้สำเร็จนับเป็นการกอบกู้เอกราชของชาติกลับคืนมาได้อีกครั้ง

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บริเวณหน้าค่ายตากสิน จ.จันทบุรี จึงถือเป็นจุดสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเคารพศรัทธาของคนเมืองจันท์ที่มีต่อ "พระเจ้าตาก" โดยสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ถือได้ว่าเป็นศูนย์รวมใจของทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ที่พำนักพักพิงอยู่ในถิ่นแคว้นเมืองจันท์

หากจะกล่าวว่า เมืองจันท์ เริ่มต้นขึ้นมาพร้อมกับพระเจ้าตากสินนั้น ก็คงจะมิใช่เรื่องผิด ศาลพระเจ้าตากสินแห่งนี้บ่งบอกถึงความผูกพันของชาวเมืองจันท์นี้ที่มีต่อพระเจ้าตากได้เป็นอย่างดี ถึงขนาดที่มีคำกล่าวว่า "ถ้าไม่ได้มาสักการะพระเจ้าตาก ก็ถือว่ายังมาไม่ถึงเมืองจันท์"

ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งนี้ ชาวเมืองจันท์สร้างด้วยความศรัทธา เพื่อให้ชาวเมืองและนักท่องเที่ยวได้เดินทางมากราบไหว้สักการะ เพื่อความเป็นสิริมงคล แต่เดิมเป็นเพียงศาลไม้อยู่ด้านข้างศาลหลักเมือง ครั้นในสมัย ม.จ.สฤษดิเดช ชยางกูล สมุหเทศาภิบาลมณฑลจันทบุรีได้สร้างศาลใหม่ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2463 บริเวณด้านหน้าค่ายทหารกองพันนาวิกโยธิน ใกล้กับศาลหลักเมือง โดยมีลักษณะเป็นศาลคอนกรีตสี่เหลี่ยมจัตุรมุข มีบันไดด้านหน้าและด้านข้างสามทาง กรมศิลปากร เป็นผู้ออกแบบ ภายในเป็นที่ประดิษฐานเทวรูป ซึ่งเป็นเทพเจ้าประจำพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าตากสิน แต่ยังไม่มีพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินเช่นปัจจุบัน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ข้าราชการ พ่อค้า ประชาชนชาวจังหวัดจันทบุรี ได้ร่วมกันบริจาคเงินสร้างศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ขึ้นใหม่ เป็นศาลทรงเก้าเหลี่ยม เคียงคู่กับศาลเดิม ศาลใหม่นี้ เป็นรูปทรงเก้าเหลี่ยมสร้างด้วยหินอ่อน พื้นเป็นหินแกรนิต หลังคาเป็นรูปพระมาลายอดแหลม สูงจากพื้นถึงยอด 16.9 เมตร ประดับลวดลายทอง ยอดบนเป็นฉัตรทองคำเก้าชั้น บันไดทางขึ้นมีสามด้าน ราวบันไดด้านหน้าเป็นรูปพญานาค ด้านหน้าศาลมีสิงห์คู่หนึ่ง ภายในมีพระบรมรูปของ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หล่อด้วยทองเหลืองรมดำ ประทับนั่งทรงเมือง ผนังภายในเขียนลายไทยพุ่มข้าวบิณฑ์ไว้อย่างสวยงาม ในแต่ละวันจะมีประชาชนมาสักการะบูชาเป็นจำนวนมาก และในวันที่ 28 ธันวาคม ของทุกปี ซึ่งเป็นวันคล้ายวันเสด็จขึ้นครองราชย์ของพระองค์ จะจัดให้มีการทำบุญตักบาตรและถวายเครื่องราชสักการะ เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อแผ่นดินสยามชาติไทย


*************************

เรื่องโดย : เต้ มงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น