วันเสาร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หลวงพ่อชื่น วัดในปราบ มรณภาพ ปิดตำนาน ผาลพลิกแผ่นดินพลิกชีวิต

พระครูมงคลสมณกิจ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พ่อท่านชื่น อินทปัญโญ หรือ หลวงพ่อชื่น วัดในปราบ พระอริยสงฆ์แห่งวัดในปราบ ต.บ้านเสด็จ อ.เคียนซา จ.สุราษฎร์ธานี กลายเป็นอีกหนึ่งตำนานเจ้าตำรับ "ผาลพลิกแผ่นดิน พลิกชีวิต" ท่านมรณภาพอย่างสงบเมื่อวันพุธที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๘ เวลา ๑๔.๓๕ น. สิริอายุรวม ๙๒ ปี

"นายชื่น แก้วศรีมล" เป็นชื่อและสกุลเดิมของพ่อท่านชื่น อินทปัญโญ เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ ๑ มกราคม พ.ศ.๒๔๖๗ บิดาของท่านเป็นที่รู้จักกันในนาม อาจารย์ล่อง ผู้รักษาคนไข้ทางด้านอาคม หรือไสยศาสตร์ในสมัยนั้น เมื่ออายุครบ ๗ ขวบ ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนวัดศิลา จ.นครศรีธรรมราช เรียนจบชั้น ป.๔ หลังจากเรียนจบ บิดาของท่านได้นำท่านไปฝากเป็นศิษย์หลวงพ่อคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดสวนขัน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งหลวงพ่อคล้ายมีฐานะเป็นตาของนายชื่น

ครั้งหนึ่งพ่อท่านคล้ายได้สรงน้ำในขณะที่นายชื่นซักสบงให้พ่อท่านคล้ายอยู่ พ่อท่านคล้ายได้ตักน้ำขันที่สามนำมารดศีรษะและนำมือรับน้ำใต้คาง แล้วส่งให้นายชื่นดื่ม เมื่อดื่มน้ำนั้นแล้วพ่อท่านคล้ายได้เริ่มถ่ายทอดวิชาต่างๆ และท่านได้เล่าเรียนวิชาอาคมจากพ่อท่านคล้าย เช่น วิชาทำนายดวงชะตา ขับไล่ภูตผีปีศาจ การขับไล่คุณไสยต่างๆ อีกมากมายจากพ่อท่านคล้าย และเล่าเรียนวิชาอาคมที่ตกทอดจากตระกูลของบิดาท่าน ซึ่งได้ถ่ายทอดให้จนครบอายุครบ ๑๘ ปี บิดาเสียชีวิตจึงกลับมาบ้านทำงานเลี้ยงดูผู้เป็นมารดา

ขณะอายุ ๕๕ ปี พ่อท่านชื่นได้เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ อุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดไม้เรียง ต.ไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๒๒ โดยมีพระครูญาณวรากร เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับฉายาว่า “อินฺทปญฺโญ” พอถึงปี ๒๕๓๒ ท่านได้ย้ายไปจำพรรษาอยู่ที่ที่พักสงฆ์ที่ชาวบ้านจัดไว้ให้ในหมู่บ้านในปราบ และเริ่มสร้างวัดขึ้นตั้งแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้ชื่อว่า วัดในปราบ โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า วัดเจริญประชาธรรม

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ หลวงพ่อมีอาการอาพาธมานานแล้วได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลเคียนซามาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดหลวงพ่อมีอาการไอ เหนื่อยหอบ และมีเสมหะมาก แพทย์ระบุปอดติดเชื้อ ต้องนำส่งเข้ารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ก่อนที่จะมรณภาพอย่างสงบ โดยได้ประกอบพีธีสรงน้ำศพวันที่ ๒๕ มิถุนายนที่ผ่านมา

ส่วนกำหนดการสวดพระอภิธรรมกี่คืนคณะกรรมการวัดกำลังหารือ หลังจากครบกำหนดแล้วจะเก็บสรีระของท่านไว้ในพระมหาเจดีย์ ซึ่งหลวงพ่อชื่นท่านได้สร้างไว้ล่วงหน้าเสร็จมาหลายปีแล้ว

ตำนานแห่งเจ้าตำรับ "ผาลพลิกแผ่นดิน พลิกชีวิต"

วัตถุมงคลที่ขึ้นชื่ออีกอย่างหนึ่งของท่าน คือ ผาลไถนา โดยท่านได้ใช้ผาลไถนาส่วนที่เป็นเหล็กอายุกว่า ๑๐๐ ปีนำมาตัดเป็นชิ้นๆ ขนาดและรูปร่างต่างๆ กันไปแล้วแต่หลวงพ่อจะจารมือลงไปว่าเป็นยันต์อะไร บางครั้งก็ยันต์นะ บางครั้งก็ยันต์นะพุทธคุณของผาลไถ เมตตามหานิยม โชคลาภ ทำมาค้าขายเจริญรุ่งเรือง แคล้วคลาด คงกระพันชาตรี มีประสบการณ์กล่าวขานมาแล้วมากมาย

ในพระไตรปิฎก เล่มที่ ๕ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๕ มหาวรรค ภาค ๒ ว่าด้วยเรื่อง "ภิกษุอาพาธด้วยโรคต่างๆ" โดยสมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งอาพาธถูกยาแฝด ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาค พระผู้มีพระภาคตรัสอนุญาตแก่ภิกษุทั้งหลายว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ดื่มน้ำที่เขาละลายจากดินรอยไถซึ่งติดผาล"

ตรงคำว่า "ดินติดผาลไถ" นี้ก็ได้แก่ ดินที่ติดอยู่ที่ผาลไถที่ชาวนาเขาใช้ไถนานั่นแหละ ถ้าได้ดินติดผาลไถที่เป็นแบบโบราณคือ ไถที่เป็นไม้หรือเหล็ก และใช้เทียมกับควายหรือวัว แล้วก็มีคนจับเดินตามแบบนี้ก็ดี และก่อนจะดื่มน้ำดินผาลไถ ก็อธิษฐานด้วยว่า "ขออำนาจพุทธ-ธรรม-สงฆ์ จงบันดาลบุญข้าให้มาอยู่ที่น้ำดินผาลไถนี้ จงมีฤทธิ์อำนาจล้างอาคมยาแฝดในกายข้าให้มลายไป" เรื่องดื่มน้ำนี้ก็ดื่มไปเรื่อยๆ ทั้งดื่มทั้งอธิษฐานไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการจะดีขึ้น

ส่วนที่มาของผาลไถนั้นท่านเคยคิดจะสร้างพระเครื่องแต่ด้วยทุนทรัพย์ที่มีไม่มาก ชาวบ้านจึงช่วยกันหาโลหะเก่าๆ มามอบให้ท่าน ส่วนใหญ่เป็นเหล็กและทองเหลือง แต่เมื่อท่านแลเห็นผาลที่ถูกกองเศษเหล็กทับอยู่ท่านจึงดำริว่า "รู้แล้วของดีไม่ต้องไปหาไกล อยู่นี่นี่เอง" ว่าแล้วท่านจึงหยิบผาลไถออกมาแล้วให้ชาวบ้านช่วยกันหามาอีก ก็ได้มาจำนวนหนึ่ง ท่านนำมาปลุกเสกแล้วก็จาร แจกให้ผู้ที่มาทำบุญ แต่แล้วผาลก็หมดลง ท่านจึงนำผาลที่เหลือนำมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ ได้โขเลยคราวนี้ แต่ก็หมดลงอีกเพราะผู้ที่ทราบข่าวเรื่องผาลในการนำไปใช้ใช้ดีมากๆ

คติการใช้ผาลเป็นวัตถุอาถรรพณ์นั้น ส่วนใหญ่เป็นคนในภาคใต้ โดยจะใช้ผาลในการประกอบพิธีต่างๆ เมื่อหมดอายุใช้งาน หรือมีผาลเก่าๆ ก็จะเอาขึ้นหิ้งบูชา บางรายถึงกับใส่ไว้ในโอ่งน้ำเพื่อป้องกันอาถรรพณ์ ขณะเดียวกันการทำพิธีถอนอาถรรพณ์พื้นดิน เมื่อเสร็จพิธีสวดถอนก็จะเอาผาลพลิกธรณีทั้ง ๘ ทิศ นอกจากนี้แล้วในการถอนหรือย้ายตำหนิบนร่างกาย (ไฝ-ปาน) จะใช้ผาลในการประกอบพิธีถึงจะได้ผลดีที่สุด

เหรียญรุ่นแรกและรุ่นสุดท้าย

หลวงพ่อชื่น ถือเป็นตำนานแห่งผู้สร้างเครื่องรางผาลไถอันโด่งดัง เมตตาให้คติว่า วัตถุจากธรรมชาติและเครื่องใช้ไม้สอยต่างๆ ที่เราใช้ในชีวิตปกติประจำวันหลายชนิดมีอาถรรพณ์อยู่ในตัวอยู่แล้ว ไม่ต้องปลุกเสกสามารถนำไปใช้ได้เลย อย่างกรณีผาลไถนา ซึ่งใช้ประโยชน์สำหรับไถพลิกพื้นดิน และเป็นของใช้ชนิดเดียวในโลกที่สามารถพลิกแผ่นดินได้ เมื่อไถลงไปในดินแล้วก็สามารถผ่านตลอดโดยไม่มีอะไรติดขัด คนจึงเกิดความเชื่อ ผาลเป็นวัตถุอาถรรพณ์ที่สามารถพลิกสิ่งร้ายๆ ให้กลายเป็นดี ทำอะไรก็ผ่านตลอดเช่นเดียวกับผาลไถ

ชาวบ้านให้ความเคารพนับถือพ่อท่านชื่นอย่างมาก เพราะพ่อท่านชื่นได้ใช้วิชาอาคมที่ร่ำเรียนมาช่วยสงเคราะห์ชาวบ้านรักษาอาการเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยดีตลอดมา

ทั้งนี้เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๘ พ่อท่านชื่นได้จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้นมาเป็นรุ่นแรกของท่าน ชาวบ้านได้บูชาเหรียญรูปเหมือนท่านไปห้อยคอ ต่างมีประสบการณ์มากมาย จนเป็นที่ร่ำลือกล่าวขานในด้านของความอยู่ยงคงกระพัน แคล้วคลาดปลอดภัย เมตตามหานิยม เป็นเลิศ ชื่อเสียงกิตติคุณของท่านเป็นที่รู้จักกันทั่วภาคใต้ แม้แต่ชาวมาเลเซียยังเดินทางมาบูชาวัตถุมงคลและขอพรจากท่านอย่างไม่ขาดสาย

อย่างไรก็ตามในการก่อสร้างศาลาการเปรียญและเมรุ ใช้เงินประมาณ ๓ ล้านบาท คณะกรรมการจึงจัดสร้างหลวงพ่อชื่น รุ่น หลังผาลไถ โดยมีชนวนจากผาลไถนาโบราณ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายลำพังหัวผาลโบราณก็ถือว่าหายากแล้ว กรรมวิธีลอมละลายผาลก็ยากไม่น้อยกว่ากัน เพราะหัวผาลส่วนใหญ่เป็นเหล็กคุณภาพสูงแข็งกว่าเหล็กทั่วไป

หลวงพ่อชื่น รุ่น หลังผาลไถ มีการจัดสร้างชุดกรรมการใหญ่ และชุดกรรมการเล็กสร้าง ๙ ชุด ประกอบด้วย พระ ๙ องค์ ได้แก่ พระบูชาหลวงพ่อชื่นหล่อเป็นรูปผาลไถเนื้อนวะหน้าตัก ๙ นิ้ว และ ๕ นิ้ว เนื้อทองคำ (ชุดใหญ่หนักกว่า ๒ บาท ชุดเล็ก ๖ สลึง) เนื้อเงิน เนี้อนวะ เนื้อทองแดง เนื้อฝาบาตร เนื้อเงินยวง และเนื้อผาลไถ


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น