วันพฤหัสบดีที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

หลวงพ่อโต วัดสาขลา ตำนานแห่งหมู่บ้านสาวกล้า จ.สมุทรปราการ


วัดสาขลา ตั้งอยู่เลขที่ ๑๙ บ้านสาขลานาเกลือ หมู่ ๑๙ ต.นาเกลือ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ เป็นวัดเก่าแก่ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมายาวนาน โดยสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๓๒๕ สันนิษฐานว่าชาวบ้านช่วยกันสร้างเมื่อคราวที่รบชนะพม่า ...กว่า ๒๓๓ ปี ของวัดแห่งนี้ เต็มเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ซึ่งปัจจุบันได้ถูกพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของ จ.สมุทรปราการ

ชุมชนบ้านสาขลา เป็นหมู่บ้านตั้งอยู่ริมปากแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทย ก่อตั้งขึ้นในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น ต่อมาเมื่อเกิดสงคราม ๙ ทัพในรัชสมัยรัชกาลที่ ๑ ชาวบ้านที่เป็นผู้ชายได้ถูกเกณฑ์ไปเป็นทหาร เหลือแต่ผู้หญิงและคนชรา เมื่อทหารพม่าเดินทัพผ่านมา พยายามเข้าตีเพื่อยึดเอาเสบียงอาหาร แต่ชาวบ้านทุกคนได้ร่วมแรงร่วมใจหยิบอาวุธเท่าที่พอจะหาได้ ออกไปต่อสู้กับทหารพม่าอย่างกล้าหาญ และเอาชนะทหารพม่าได้ หมู่บ้านแห่งนี้จึงมีชื่อเรียกว่า “หมู่บ้านสาวกล้า” ตามวีรกรรมอย่างกล้าหาญของผู้หญิงในหมู่บ้านนี้ ก่อนที่จะเพี้ยนมาเป็น “หมู่บ้านสาขลา” เช่นในปัจจุบัน

วิหาร หลวงพ่อโต พระพุทธรูปเก่าแก่ประจำวัด ซึ่งวิหารจะอยู่ติดกับอุโบสถที่ยกสูงขึ้นเมื่อครั้งถูกน้ำท่วม เดินขึ้นไปจะมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวต่างยืนถือดอกไม้ ธูป เทียน เตรียมสักการะไม่ขาดสาย

ลองเดินเข้าไปในวิหาร อันเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปเก่าแก่หลายองค์ โดยเฉพาะ หลวงพ่อโต ที่สร้างมาพร้อมกับวัด เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยอู่ทอง ปางมารวิชัย เป็นที่เคารพบูชาของชาวบ้านสาขลา คนเฒ่าคนแก่แถวนั้นเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของ หลวงพ่อโต ว่า เมื่อคืนวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๒๖ เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ น. ได้เกิดไฟไหม้ครั้งใหญ่ในหมู่บ้าน ชาวบ้านต่างช่วยกันดับไฟ แต่ก็เป็นไปด้วยความยากลำบาก พายุเพลิงได้ลุกโหมกระหน่ำไม่หยุดหย่อน จนเกินความสามารถของชาวบ้าน

ในขณะนั้นได้เกิดสิ่งที่ไม่คาดคิดขึ้นมา เมื่อชาวบ้านที่ออกไปหาปูปลาไม่ไกลจากหมู่บ้าน ได้เห็นสิ่งอัศจรรย์ เมื่อ หลวงพ่อโต ยืนเอาจีวรโบกไฟที่กำลังโหมไหม้ จนค่อยๆ ดับลง พร้อมกับได้ยินเสียงสวดมนต์อย่างต่อเนื่อง

พอรุ่งเช้า ชาวบ้านทราบข่าวว่า มีคนเห็นองค์หลวงพ่อโตช่วยดับไฟ ทุกคนจึงแห่ไปดูที่วัด และต้องตกตะลึง บางคนถึงกับร้องไห้ เมื่อเห็นว่าองค์หลวงพ่อโต ดำไปด้วยเขม่าทั้งองค์ ผ้าที่ห่มกรอบไหม้ ใบหน้าของท่านมีร่องรอยเหมือนน้ำตาไหล ชาวบ้านจึงพร้อมใจกันทำบุญให้ หลวงพ่อโต ทุกวันที่ ๖ มกราคม ของทุกปี จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้าน...ถึงทุกวันนี้


ในส่วนของ อุโบสถ โดยรอบจะมีลูกนิมิตโบราณ ๘ ลูก วางอยู่บนแท่นพญานาค ๗ เศียร ชาวบ้านแถวนั้นเล่าว่า ลูกนิมิตโบราณนี้มีอายุไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ ปี ซึ่งได้ขุดพบตอนที่ทางวัดได้ยกอุโบสถให้สูงขึ้น นอกจากนี้ยังขุดพบพระพุทธรูปโบราณอีกเป็นจำนวนมาก

ลักษณะของลูกนิมิตนั้นมีลักษณะไม่กลม แต่จะมีรูปทรงบิดเบี้ยว ซึ่งทางวัดได้เปิดให้ชาวบ้านร่วมปิดทองเพื่อความเป็นสิริมงคลกับตัวเอง

วิหาร ในขณะที่กำลังยกวิหารให้สูงขึ้น ได้ขุดพบพระพุทธรูปที่มีลักษณะหันหลังชนกัน องค์หนึ่งปางประทานพร อีกองค์หนึ่งปางห้ามสมุทร

เมื่อชาวบ้านได้ขุดและอัญเชิญพระพุทธรูปขึ้นมา ปรากฏว่า ด้านล่างเป็นบ่อน้ำขนาดไม่ใหญ่มากนัก แต่ที่ทำให้ชาวบ้านต้องตกตะลึง ก็คือ เป็นบ่อน้ำจืด ซึ่งในบริเวณพื้นที่ตรงนั้นจะติดกับทะเล ทำให้พื้นดินเป็นน้ำเค็มทั้งหมด สร้างความอัศจรรย์ใจให้แก่ผู้พบเห็นเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันบ่อน้ำนั้นก็ยังคงเป็นบ่อน้ำจืดอยู่เช่นเคย

พระพุทธรูปที่ขุดพบใต้วิหาร ซึ่งตรงกับฐานองค์หลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปศิลา ด้านบนเศียรเป็นฐานของหลวงพ่อโต ซึ่งเป็นอิฐก้อนใหญ่ที่นิยมใช้ในอดีต โดยมีเกร็ดความรู้ว่า นั่นก็คือ วิธีการเชื่อมอิฐสมัยอดีต ซึ่งใช้น้ำผึ้งผสมกับอ้อย เหมือนเป็นกาว ให้อิฐติดกันได้ดี ถือเป็นภูมิปัญญามาแต่ครั้งโบราณ

พระปรางค์เอียง ตั้งอยู่บริเวณหน้าวัด ริมคลองสาขลา ถือเป็นสัญลักษณ์เฉพาะของวัดแห่งนี้ คนเฒ่าคนแก่แถวนั้นเล่าให้ฟังว่า ในอดีตการทำสิ่งปลูกสร้างจะไม่ใช้วิธีลงเสาเข็มเหมือนปัจจุบัน แต่จะใช้วิธีวางท่อนซุงหรือท่อนไม้ไขว้กันไปมา ตรงบริเวณการสร้างพระปรางค์ก็เช่นกัน แต่บริเวณนั้นอยู่ใกล้กับริมคลอง คนสมัยก่อนจึงได้วางท่อนไม้บริเวณริมคลองไว้มาก เพราะกลัวว่าเวลาผ่านไปอาจจะถูกน้ำกัดเซาะขึ้นมาถึงฐานพระปรางค์ได้ จึงวางท่อนไม้ไว้มากกว่าอีกด้านหนึ่งที่ไม่ติดคลอง แต่เวลาเนิ่นนานทางฝั่งคลองพื้นที่ยังคงเดิม แต่ฝั่งพื้นดินกลับทรุดลง จึงทำให้พระปรางค์เอียงนั่นเอง

ปัจจุบัน พระปรางค์ยังคงอยู่แบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ถ้าไปชมหลายๆ คน อาจจะสงสัยว่าทำไมพระปรางค์ถึงไม่สูงนัก นั่นก็เพราะได้มีการถมดินบริเวณฐานพระปรางค์ขึ้นมากว่าเดิมถึง ๒ เมตร จึงทำให้รู้สึกว่าพระปรางค์ไม่สูง แต่แท้จริงแล้วใต้ดินลึกลงไปยังคงมีฐานพระปรางค์อยู่นั่นเอง

ในวันอาทิตย์ที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๘ ทางวัดจะประกอบพิธีหล่อพระพุทธรูป ปางห้ามสมุทร เพื่อประดิษฐานประจำทิศทั้ง ๔ บนซุ้มพระปรางค์ นับเป็นครั้งแรกที่มีการหล่อพระในวัดสาขลา พร้อมทั้งหล่อรูป “สาวกล้า” เพื่อประดิษฐานบนอนุสาวรีย์ โอกาสนี้ขอเชิญชวนพุทธศาสนิกชนร่วมงานบุญครั้งนี้ด้วย

วัดสาขลา ได้องค์อุโบสถให้สูงขึ้น เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงน้ำหลาก ใต้อุโบสถจึงสามารถลอดไปมาได้ ในแต่ละวันจะมีพุทธศาสนิกชนไปลอดอุโบสถเสมอ โดยเชื่อว่าจะช่วยเสริมสิริมงคล ๙ ประการ คือ

มงคลที่ ๑ ลอดประตูพระราหู มงคลที่ ๒ ปิดทองลูกนิมิตโบราณ มงคลที่ ๓ บูชาพระบัวเข็ม กราบรูปเหมือนพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจำนวนมาก มงคลที่ ๔ โยนเหรียญทำบุญพระสังกัจจายน์ มงคลที่ ๕ บูชาพระพุทธรูปที่ขุดพบ มงคลที่ ๖ พระพุทธรูปปางบำเพ็ญทุกขกิริยา มงคลที่ ๗ ปิดทองพระพุทธรูปศิลา มงคลที่ ๘ ปิดทองใต้ฐานองค์หลวงพ่อโต และมงคลที่ ๙ ลอดท้องช้าง พรายมหาลาภ


ปัจจุบัน วัดสาขลา ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งที่อยู่ใกล้ กทม.โดยมี พระปลัดสันทาน ธมฺมสนฺทโน (อยู่ไสว) เป็นเจ้าอาวาส สอบถามข้อมูลการเดินทาง และกิจการงานบุญต่างๆได้ที่ โทร.๐๘-๕๙๐๗-๑๔๓๑, ๐๘-๑๖๓๒-๘๒๗๑


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น