วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

“พึงชนะผู้น้อย ด้วยการให้

พึงชนะผู้ใหญ่ ด้วยความอ่อนโยน”



Must win the inferior by giving

Must win the superior by courteousness.



วันจันทร์ที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

พระครูสมุห์อวยพร หรือ หลวงพ่ออวยพร ฐิติญาโน แห่งวัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม 



วัดดอนยายหอมนั้นมีชื่อเสียงมานานด้วยเรื่องหนึ่ง คือ ผู้สืบทอดพุทธาคมที่เป็นศิษย์เอก จะเป็นคนในสายเลือดเดียวกันเท่านั้น เริ่มตั้งแต่ คุณปู่พรม โยมพ่อของหลวงพ่อเงิน ที่เป็นศิษย์ของหลวงพ่อจ้อย วัดบางช้างเหนือ เกจิยุคเก่า ตั้งแต่ก่อนหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้วเสียอีก 

จากนั้นก็เป็น หลวงพ่อเงิน มาสู่ หลวงพ่อแช่ม 
ผู้เป็นหลานแท้ๆ ของหลวงพ่อเงิน
และปัจจุบันคือ พระครูสมุห์อวยพร หรือ หลวงพ่ออวยพร ฐิติญาโน รองเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอมรูปปัจจุบันและเจ้าคณะตำบลดอนยายหอม ซึ่งท่านเป็นก็หลานแท้ๆของหลวงพ่อเงินและหลวงพ่อแช่ม กล่าวคือโยมทวดของหลวงพ่อพรนั้น ท่านเป็นพี่ชายแท้ๆ ของหลวงพ่อเงิน ส่วนโยมพ่อของหลวงพ่อพรเองก็เป็นพี่ชายแท้ๆ ของหลวงพ่อแช่มด้วย


พระครูสมุห์อวยพร หรือ หลวงพ่ออวยพร ฐิติญาโน แห่งวัดดอนยายหอม จังหวัดนครปฐม ท่านเกิดในวันพุทธที่ 7 มกราคม 2485 (ช่วงสงครามอินโดจีน) ตรงกับปีมะเมีย โยมบิดาชื่อ นายพวง โยมมารดาชื่อ นางอินทร์ อินทนชิดจุ้ย มีพี่น้อง 5 คน โดยท่านเป็นบุตรคนที่ 3 ซึ่งวัน และปีนักษัตรของหลวงพ่ออวยพร ตรงกับของหลวงพ่อแช่ม ท่านจึงเป็นหลานที่หลวงพ่อแช่มรักมาก เมื่ออายุครบ 20 ปี ได้อุปสมบทที่วัดดอนยายหอม โดยมี

- หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม เป็นพระอุปชา
- หลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- พระอาจารย์แก้ว วัดดอนยายหอม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
นอกจากนี้หลวงพ่อเงินยังได้รับเป็นศิษย์ถ่ายทอดพุทธาคมให้ 
โดยได้รับการครอบครูหลังจากบวชไม่กี่ปี

หลวงพ่ออวยพระนั้นนอกจากจะได้รับการถ่ายทอดวิชาจากสายบิดาแล้ว ก็ได้รับการอบรมวิชาจากหลวงพ่อเงิน และที่สำคัญคือ หลวงพ่อแช่มนั้นได้ถ่ายทอดวิชาทั้งหมดที่มีให้ ด้วยความที่ว่าทั้งหลวงพ่อแช่มและหลวงพ่อพรนั้นมีดวง และอุปนิสัยคล้ายกัน จึงทำให้หลวงพ่อพรนั้นเป็นพระเกจิที่มีพลังจิต และวิชาแก่กล้าอย่างรวดเร็ว ดังนั้นในช่วงท้ายชีวิตของหลวงพ่อเงิน ท่านได้ให้หลวงพ่ออวยพรเป็นผู้ช่วยปลุกเสกพระเครื่องของท่านด้วย และตลอดสมัยหลวงพ่อแช่ม หลวงพ่ออวยพรก็เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดสร้างพระเครื่องตลอดมา 

จนถึงบางงานท่านก็อนุญาตให้หลวงพ่ออวยพรไปปลุกเสกแทนยังมี
ในทางปกครองสงฆ์ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็น พระครูสมุห์อวยพร ก่อนจะเป็น พระครูสังฆรักษ์อวยพร เจ้าคณะตำบลดอนยายหอม พร้อมกันนั้นก็ยังดำรงตำแหน่งรองเจ้าอาวาสวัดดอนยายหอม โดยในต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็น "พระอุปัชฌาย์" แต่ถึงท่านจะมีลาภยศก็ไม่สู้ใยดียังคงปฏิบัติตัวสมถะไม่ถือตัว ทุกวันท่านจะปฏิบัติกิจสงฆ์อย่างเคร่งครัดมิได้ขาด
คงไม่เกินจริงนักหากจะกล่าวว่า หลวงพ่ออวยพร ท่านคือ "พระผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ" และเป็น "เทพเจ้าแห่งดอนยายหอม" รูปที่สาม หลังจากหลวงพ่อเงิน และ หลวงพ่อแช่ม แห่งวัดดอนยายหอม


100 ปีชาติกาล หลวงพ่อพูล ละสังขาร

หลวงพี่น้ำฝน นำศิษย์ยานุศิษย์
ถวายความกตัญญูกตเวที ไหว้ครู-ครอบครู ท้าวเวสสุวรรณ
วิสาขบูชารำลึก วันจันทร์ที่ 4 มิ.ย. 55 เวลา 09.09 น.
                พระเดชพระคุณท่านเจ้าคุณ พระมงคลสิทธิการหลวงพ่อพูล อัตตะรักโข อมตะเถราจารย์ วัดไผ่ล้อม จ. นครปฐมท่านละสังขารวันวิสาขบูชา ตรงกับวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาคม 2548 จวบจนวันนี้ครบ 7 ปีบริบูรณ์ รวมสิริอายุ 100 ปี ชาติกาล
วิสาขบูชารำลึก ของทุกปี วัดไผ่ล้อม จัดให้มีพิธีไหว้ครู ครอบครูบูรพาจารย์สานต่ออนุรักษ์ประเพณีดีงามตามตำรับหลวงพ่อพูล
พิธีไหว้ครูบูรพาจารย์ วันวิสาขบูชา ปีนี้ตรงกับวันจันทร์ 4 มิ.ย. 55 พระเดชพระคุณพระครูปลัดสิทธิวัฒน์ หลวงพี่น้ำฝน ทายาทศิษย์เอกหลวงพ่อพูล เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ประธานมูลนิธิหลวงพ่อพูล จัดงานสานต่อประเพณีพิธี ไหว้ครู บูรพาจารย์ จัดต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ประกาศคุณงามความดี ถวายความกตัญญูกตเวที แด่ครูบาอาจารย์ที่ทรงคุณอันประเสริฐ
โดยในปีนี้จัดให้มีพิธีครอบเศียรท้าวเวสสุวรรณ เป็นความประสงค์ของพระเดชพระคุณหลวงพี่น้ำฝน เพื่อต้องการให้ศิษย์ทุกคน ได้รับรู้ และปฏิบัติต่อครู กตัญญูเฉกเช่นพระเดชพระคุณ หลวงพ่อพูล อัตตะรักโข ผู้เป็นอาจารย์
                ที่สำคัญพิธีไหว้ครูบูรพาจารย์ ครอบครูเศียรท้าวเวสสุวรรณในปีนี้ พระเดชพระคุณหลวงพี่น้ำฝน ท่านได้นิมิตบัญชา เมตตาจากพระเดชพระคุณ หลวงพ่อพูล ให้จัดทำพิธีไหว้ครูครอบครู ท้าวเวสสุวรรณ เพื่อสารต่ออนุรักษ์แระเพณีอันดีงาม
                ตามตำรับโบราณบันทึกไว้ว่า ท้าวเวสสุวรรณ เป็นอธิบดีแห่งอสูรย์หรือยักษ์หรือเป็นเจ้าแห่งผี เป็นหนึ่งในบรรดาท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ผู้คุ้มครองละดูแลโลกมนุษย์สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา ซึ่งมีท้าวมหาราชทั้งสี่ปกครอง คือ ท้าวธตรัฏฐะ ท้าววิรุฬหกะ ท้าววิรูปักขะ และท้าวเวสสุวรรณ ประจำทิศต่างๆทั้งสี่ทิศ โดยเฉพาะท้าวเวสสุวรรณ เป็นใหญ่ปกครองบริวารทางทิศเหนือดูแลปกครองรับผิดชอบมีอาณาเขตใหญ่โตมหาศาล กว้างขวาง และเป็นใหญ่กว่าท้าวมหาราชองค์อื่น
ท้าวเวสสุวรณ เป็นเทพแห่งขุมทรัพย์ เป็นมหาเทพแห่งความร่ำรวย มั่งคั่งรักษาสมบัติของเทวโลก ทั้งเป็นเจ้านายปกครองดูแลพวกยักษ์ ภูตผีปีศาจทั้งปวงนอกจากนี้ยังมีหน้าที่ ดูแลปกป้องคุ้มครอง พระพุทธศาสนา ปกป้องคุ้มครองแก่ผู้นั่งสมาธิปฏิบัติพระกรรมฐาน เป็นต้น
ในคัมภีร์โบราณ ได้กล่าวไว้ว่า ผู้ใดหวังความเจริญในลาภยศ ทรัพย์สินทองอำนาจวาสนา ให้บูชารูปท้าวเวสสุวรรณ ซึ่งถือว่าเป็นเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย สัญลักษณ์แห่งมหาเศรษฐี มั่งมีทรัพย์ เป็นเทพเจ้าแห่งโชคลาภและความร่ำรวย ที่ชาวจีนยกย่องในนาม องค์ไฉ่ซิงเอี้ยซึ่งมีบูชากันทุกบ้าน ร่ำรวยทุกคน ขับไล่ภูตผีปีศาจ วิญญาณร้ายแก้เสนียดจัญไร อัปมงคลคุณไสยต่างๆ หากผู้ใดบูชาท้าวเวสสุวรรณด้วยความเคารพศรัทธา จะประสบแต่ความโชคดี มีทรัพย์ ตลอดจนพ้นภัยจากบรรดาภูติผีปีศาจทั้งหลายตลอดกาล!!!
สอบถามรายละเอียดโทร.034-250077-9, 087-6984777, 087-1517799, 081-4424262














วันอาทิตย์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


หลวงพ่อยวง อาภัสสโร วัดโพธิ์ศรี (พระครูสิริโพธิรักษ์)

หลวงพ่อยวง อาภัสสโร วัดโพธิ์ศรี 
(พระครูสิริโพธิรักษ์)
หลวงพ่อยวง อาภัสสโร หรือ พระครูสิริโพธิรักษ์ พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม แห่งวัดโพธิ์ศรี ต.หนองกระทุ่ม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี เป็นพระเกจิอาจารย์ที่มีความเมตตา มักน้อย ถือสันโดษ และมีพลังจิตที่เข้มขลังอาคมแก่กล้า นามของท่านจึงเป็นที่เลื่องลือ และขจรขจายไปไกล

หลวงพ่อยวง ท่านเกิดในสกุลชาวนรินทร์ เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2475 เกิดที่ ต.หนองกระทุ่ม อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี บิดาชื่อเต้ มารดาชื่อบุญช่วย มีอาชีพทำนาทำไร่ ในวัยเยาว์ ท่านเรียนจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 จากนั้นจึงออกมาช่วยครอบครัวทำนาทำไร่ จวบจนอายุได้ประมาณ 23 ปี ได้เข้าบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ เพื่อทดแทนคุณบุพการี เมื่อวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2498 ณ พัทธสีมาวัดราษฎร์สมานฉันท์ ต.หนองกระทุ่ม อ.เมือง จ.ราชบุรี
ซึ่งมีพระครูขันตยาภิรัต (หลวงปู่ป๋อง) เจ้าอาวาสวัด หนองกระทุ่ม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระอาจารย์แห วัดหนองกระทุ่ม เป็นพระอนุสาวนาจารย์
และ พระอาจารย์บุญช่วย วัดเขาย้อย เป็นพระกรรมวาจาจารย์
หลังอุปสมบทได้ศึกษาพระธรรมวินัย และวิทยาคมกับพระเกจิคณาจารย์หลายท่าน

หลวงพ่อยวง ท่านเรียนวิชาอักขระขอมจากหลวงปู่นาค วัดช่องลม และศึกษาวิชาเสกหินสะกดจากหลวงปู่นาค โดยนำแผ่นหินมาลงอักขระยันต์ ปลุกเสกตามตำราแล้วให้เจ้าของนำไปฝังยังมุมบ้านของตนเอง เพื่อรักษาดูแล และกันไม่ให้ขโมย หรือโจรเข้าบ้านหรือลักขโมยสิ่งของในบ้าน
ท่านได้เล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า "เวลาไปเรียนเขียนขอมกับหลวงปู่นาค ห้ามเขียนหัวอักขระขอมใต้เส้น ต้องเขียนทูนเส้น ถ้าเขียนใต้เส้นถือว่าลบหลู่ครูบาอาจารย์ จะโดนหลวงปู่นาคดุเอา"

ส่วนวิชาการลงตะกรุดท่านเรียนมาจาก พระครูขันตยาภิรัต หรือ หลวงปู่ป๋อง วัดหนองกระทุ่ม ซึ่งหลวงปู่ป๋องท่านเป็นลูกศิษย์ของ หลวงปู่นวม วัดแจ้งเจริญ อ.วัดเพลง จ.ราชบุรี
หลวงปู่ป๋องเป็นพระที่ดุมากๆ พระเณรที่วัดได้กลิ่นยาฉุน ยังไม่ต้องเห็นตัวหลวงปู่ป๋อง ได้แต่กลิ่นยาก็ไม่กล้าเดินเข้าใกล้หรือเดินเฉียดแล้ว มีงานวัดก็ไม่ต้องจ้างเจ้าหน้าที่บ้านเมือง หลวงปู่ป๋องเดินถือไม้เท้า ไม้ตะพดอันเดียวพวกวัยรุ่นก็ไม่มีใครกล้ามีเรื่องทะเลาะวิวาทกันแล้ว
ส่วนวิชาลงปลัดขิกนั้นท่านเรียนกับ หลวงพ่อบุศย์ วัดพรหมวิหาร อ.เมือง จ.เพชรบุรี และนอกจากนี้ ท่านยังได้ไปเรียนวิทยาคมเพิ่มเติมจาก หลวงพ่อบุญ วัดวังมะนาว อีกด้วย
ยังมีอาจารย์ฆราวาสอีกท่านหนึ่งชื่อว่า "ตาชม" ซึ่งหลวงพ่อยวงเคยได้ศึกษาวิชาตะกรุดสอดที่ตา ตะกรุดแปดทิศ และการทำยาวาสนาจินดามณี
ต่อมาก็ได้นำวิชาต่างๆ ที่ได้ร่ำเรียนสงเคราะห์ญาติโยมที่มากราบหรือมาพึ่งบารมีของท่าน ช่วยขจัดปัดเป่าให้บรรเทาเบาบางลงไป ด้วยความเป็นพระที่เมตตา เข้าถึงง่าย จึงเป็นที่เคารพและศรัทธาของคนในพื้นที่และใกล้เคียง

หลวงพ่อยวงนับเป็นพระเกจิอาจารย์ที่ชาวราชบุรีรู้จักกันดี มีลูกศิษย์มากมายทั่วประเทศ ท่านเป็นพระที่ใจดีมากๆ ด้วยความที่หลวงพ่อยวงเป็นผู้ที่มีชาวบ้านให้ความเลื่อมใสศรัทธาเป็นจำนวนมาก แต่ท่านจะไม่ค่อยได้สร้างวัตถุมงคลสักเท่าไร โดยส่วนมากวัตถุมงคลที่ท่านจัดสร้างนั้น จะมอบให้ผู้ที่ร่วมทำบุญสร้างโบสถ์และเสนาสนะภายในวัด

หลวงพ่อยวงเป็นพระดีมีวินัยเคร่งครัด มีหลายคนเดินทางไปที่วัดของท่าน ปรากฏว่าท่านจะออกมาต้อนรับขับสู้เป็นอย่างดี และเมื่อเอ่ยปากขอท่านถ่ายรูปท่านก็จะรีบเดินไปห่มผ้า และมาให้ถ่ายในทันทีเช่นกัน
นี่คือภาพของพระสงฆ์ ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา มีหัวใจแห่งการสงเคราะห์ญาติโยมที่มากราบขอความเมตตาอย่างจริงใจ ให้อาบน้ำมนต์ ลงกระหม่อม ผู้ที่ได้รับวัตถุมงคล เครื่องรางของขลังของหลวงพ่อพกติดตัวแล้ว ล้วนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่ามีพุทธคุณโดดเด่นรอบด้านและครบเครื่องจริงๆ
อาจกล่าวได้ว่า เมืองราชบุรีนับแต่สิ้นหลวงปู่ม่วง วัดยางงาม ยอดพระเกจิอาจารย์แห่งอำเภอปากท่อ ปัจจุบันก็มีหลวงพ่อยวง วัดโพธิ์ศรี ที่เป็นพระเกจิอาจารย์ที่น่าเลื่อมใสศรัทธา และน่ากราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ 







หลวงพ่อสิริ สิริวฒฺโน พระผู้เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีธรรม แห่งวัดตาล 


                หลวงพ่อสิริ สิริวฒฺโน พระผู้เปี่ยมด้วยเมตตาบารมีธรรม แห่งวัดตาล ต.บางตะไนย์ อ.ปากเกร็ดท่านเกิดในสกุล แก้วกาญจน์ เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2484 เป็นคนไทยเชื้อสายรามัญ ณ บ้านบางตะไนย์ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เป็นบุตรชายของนายเต๊ะ กับ นางนาค แก้วกาญจน์ บิดามีอาชีพช่างไม้ มารดามีอาชีพทำนา

ในวัยเยาว์โยมบิดามารดาได้พาท่านมาฝากตัวเป็นลูกศิษย์วัดคอยปรนนิบัติรับใช้พระสงฆ์ภายในวัดตาล ทำให้ท่านมีความผูกพันกับวัด ชอบศึกษาอ่านตำราทางพระพุทธศาสนา และนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม
เมื่ออายุได้ 14 ปี จึงบวชเป็นสามเณร หลังจากบวชเป็นสามเณรได้เพียง 1 ปี มีเรื่องน่าประหลาด กล่าวคือ "หลวงพ่อโอภาสี" ซึ่งเป็นพระเกจิที่มีฌานสมาบัติสูงรูปหนึ่งในยุคนั้นได้ให้ลูกศิษย์พายเรือ เอาธงชาติผืนใหญ่มาฝากไว้ให้สามเณรสิริ เป็นเวลา 7 วัน ในธงชาตินั้นเขียนยันต์ล้อมรอบ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ใจต่อผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ยิ่งนักว่าทำไมหลวงพ่อโอภาสีจึงให้ความสำคัญกับสามเณรสิริ ซึ่งบวชเป็นสามเณรได้เพียงแค่ 1 ปี ถึงขนาดนี้
และในขณะที่บวชเณรอยู่นั้น ท่านได้ศึกษาและปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานจนเกิดความเชี่ยวชาญ จนทำให้ชาวบ้าน และประชาชนต่างถิ่นมาสมัครขอเป็นศิษย์จำนวนมาก ว่ากันว่าน้ำมนต์ของท่านมีความศักดิ์สิทธิ์มาก  ขนาดที่ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยังเคยมาอาบน้ำมนต์กับท่านที่วัดด้วย
ครั้นเมื่ออายุครบ 20 ปี จึงเข้าพิธีอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุโบสถ วัดตาล เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2504 โดยมี
- ท่านเจ้าคุณพระอริยธัชเถระ วัดสวนมะม่วง จ.ปทุมธานี เป็นพระอุปัชฌาย์
- พระอธิการเปลือย เป็นพระกรรมวาจาจารย์
- พระปลัดกัณหา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ และได้รับฉายาว่า  "สิริวัฑฒโน"
ด้วยความที่หลวงพ่อสิริ มีความสนใจในการศึกษาทางด้านพุทธาคมตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร เมื่อได้อุปสมบทแล้วท่านจึงได้กราบขอฝากตัวเป็นศิษย์กับ ท่านเจ้าคุณพระอริยธัชเถระ ซึ่งท่านเป็นลูกศิษย์สายตรงของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า
หลวงพ่อสิริจึงมีโอกาสได้ศึกษาพุทธาคมสายวิชาของหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า รวมทั้งศึกษาทางด้านวิปัสนากรรมฐาน และวิทยาคมต่างๆ อย่างลึกซึ้ง จนมีความแตกฉานในหลายด้าน
ด้านศาสนกิจถือได้ว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ซึ่งมากด้วยเมตตา คอยให้การอุปถัมภ์กิจกรรมของคณะสงฆ์ภายในวัดตาล และวัดวาอารามต่างๆ ที่มาขอความเมตตาจากท่าน หรือท่านพิจารณาแล้วว่ามีเจตนาดีบริสุทธิ์เป็นประโยชน์ต่อพุทธศาสนา เห็นควรที่จะให้การอุปถัมภ์ ท่านก็จะเมตตาช่วยเหลืออย่างเต็มกำลังความสามารถทุกครั้งไป

หลวงพ่อสิริ สิริวฒฺโน เป็นพระสุปฏิปันโน เป็นพระแท้ ที่น่าเลื่อมใสศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ชื่อเสียงของหลวงพ่อสิริโด่งดังมานาน และเป็นที่กล่าวขวัญในหมู่ศิษย์ชาวปากเกร็ด และชาวเมืองนนท์ เป็นอย่างยิ่ง ถึงความขลังความศักดิ์สิทธิ์ และ จริยวัตรของหลวงพ่อ ทำให้ท่านได้รับกิจนิมนต์ไปนั่งปรกปลุกเสกวัตถุมงคลในพื้นที่ภาคตะวันออก และพิธีพุทธาภิเษก วัตถุมงคลสำคัญทั่วประเทศ

สำหรับวัตถุมงคลของท่านที่มีประสบการณ์ และกล่าวขวัญกันถึงพุทธคุณ ประกอบด้วย
- พระกริ่ง พระชัยวัฒน์สิริโสฬส เนื้อนวโลหะก้นเงิน
- รูปหล่อ รุ่นแรก เนื้อนวโลหะขนาด 1 เซนติเมตร
- ล็อกเกตรุ่นแรก อุดผงวิเศษ และ เกศา
โดยเฉพาะเนื้อโลหะที่นำมาใช้หล่อพระ ส่วนใหญ่เป็นเนื้อนวโลหะกลับดำผสมเต็มสูตร (ผสมทองคำ 2 บาท ต่อโลหะ 1 กิโลกรัม) ผสมชนวนกริ่งวัดสุทัศน์-วัดบวรนิเวศ อาวุธโบราณ เงินพดด้วง เงินโบราณชนิดต่างๆ และตะกรุดเก่าอีกหลายร้อยดอก 

วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

หลวงพ่อฟู วัดบางสมัคร “เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำบางปะกง”


พระเดชพระคุณ ท่านเจ้าคุณ พระมงคลสุทธิคุณ หรือ หลวงพ่อฟู อติภทฺโท เจ้าอาวาสวัดบางสมัคร อ.บางประกง จังหวัดฉะเชิงเทรา หรือที่คณะศิษยานุศิษย์ต่างขนานนามท่านว่า เทพเจ้าแห่งลุ่มน้ำบางปะกง

พระครูมนูญธรรมรัต ( หลวงพ่อฟู อติภัทโท ) มีนามเดิมว่า ฟู นามสกุล ดวงดารา ถือกำเนิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 เดือน ธันวาคม พ.ศ.2465 ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนอ้าย ปีจอ เป็นบุตรของนายนุ่ม และ นางเปลี่ยน ดวงดารา ณ.บ้านเลขที่19 ม.4 ตำบลบางสมัคร อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา
หลวงพ่อฟู เข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ เมื่ออายุครบ 20 ปี ในวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2485 ที่วัดบางสมัคร โดยมีพระครูพิบูลย์คณารักษ์ (หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว) ผู้เป็นพระอาจารย์เป็นพระอุปัชฌาย์ หลวงพ่อชื่น วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพฯ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูเมธีธรรมโฆสิต (พระมหาจอม) วัดบางสมัคร เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ได้รับฉายาว่า อติภัทโทหลังจากอุปสมบทแล้ว ท่านได้ศึกษาด้านคันถธุระ ที่วัดทองนพคุณ กรุงเทพฯ จนสามารถสอบได้นักธรรมโท และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2487 ท่านได้ไปจำพรรษาที่วัดอุทยานที จ.ชลบุรี เพื่อเรียนนักธรรมเอก

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2492 ท่านก็สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค ต่อมาพรรษาที่ 16 พ.ศ.2501 หลวงพ่อฟูได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดอู่ตะเภา จ.ชลบุรี เลื่อนอันดับเป็นพระกรรมวาจาจารย์ และตำแหน่งเจ้าคณะตำบลหนองไม้แดง จ.ชลบุรี จนกระทั่งปี พ.ศ. 2503 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอุปัชฌาย์ ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2505 ตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางสมัคร จ.ฉะเชิงเทรา ว่างเว้นลง ชาวบ้านและญาติโยมจึงนิมนต์ท่านให้มาเป็นเจ้าอาวาสวัดบางสมัครจวบจนปัจจุบัน 

หลวงพ่อฟูเป็นพระสุปฏิปันโน พระนักปฏิบัติผู้เปี่ยมด้วยเมตตา อาคมขลัง สืบทอดพุทธาคมจากครูบาอาจารย์ที่โด่งดังหลายรูป เช่น

- หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว พระอุปัชฌาย์ ที่เมตตาและถ่ายทอดวิชาให้ทั้งหมด
- หลวงพ่อปาน วัดบางเหี้ย ศึกษาต่อจากหลวงพ่อจอม หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก
- หลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส จันทบุรี ทั้งวิชาเสืออาคม เสือสมิง ปลัดขิก
- หลวงพ่อเริ่ม วัดจุกกระเชอ ซึ่งถ่ายทอดวิชาหน้าผากเสือ และปลัดขิก
- หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ อันลือลั่น

และยังถือได้ว่าเป็นศิษย์องค์สุดท้ายของหลวงพ่อดิ่ง ที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาวิทยาคม ในการสร้างวัตถุมงคล ลิง หรือหนุมานอันลือเลื่อง และสุดยอดวิชาของหลวงพ่อดิ่งคือวิชา สูญผีไล่ผี คาถาพระเจ้าสิบหกพระองค์  


ทั้งชีวิตของท่านอุทิศเพื่อพระศาสนา ได้พัฒนาวัดบางสมัครจนเจริญรุ่งเรืองเป็นวัดที่ใหญ่โตและกว้างขวาง วันนี้มีพระอุโบสถ ที่ใหญ่ที่สุดในเขต อ.บางปะกง ในปี พ.ศ. 2534 ท่านได้รับรางวัลพระราชทานเสมาธรรมจักรทองคำ สาขาเผยแผ่พระพุทธศาสนาจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี สร้างความปลื้มปีติให้แก่ศิษยานุศิษย์ทั่วทุกหย่อมหญ้า ในด้านการศึกษา หลวงพ่อฟู ท่านได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการตรวจธรรมสนามหลวง เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมให้พระภิกษุสามเณรรุ่นใหม่อีกด้วย   

หลวงพ่อฟู ได้ชื่อว่าเป็นผู้สืบสานวิทยาคมสายตรงจาก หลวงพ่อดิ่ง วัดบางวัว โดยแท้ เนื่องจากเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่านและยังเป็นเกจิอาจารย์ที่มีอาคมขลังยิ่ง วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม และกล่าวขานกันมากของหลวงพ่อดิ่ง คือ เหรียญรูปไข่ รุ่นแรก พ.ศ. 2481 ตะกรุดเสือเสื้อยันต์  ลิงจับหลักแกะจากรากพุดซ้อน ว่ากันว่า หลวงพ่อดิ่ง ได้ถ่ายทอดวิชา สูญผีไล่ผี คาถาพระเจ้าสิบหกพระองค์อันเป็นวิชาชั้นสูงสุดของท่านและวิชาการสร้างลิงจับหลักที่แกะจากรากต้นพุดซ้อนให้หลวงพ่อฟูจนหมดสิ้น

หลวงพ่อคง วัดวังสรรพรส จ.จันทบุรี ก็ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาทำเครื่องรางของขลัง ตะกรุด ผ้ายันต์ ปลัดขิก เสืออาคม เสือสมิง การเขียน และลบผงอิทธิเจ ปถมัง ตรีนิสิงเห และ การสร้างพระปิดตา ให้แก่หลวงพ่อฟูเช่นกัน

นอกจากนี้ หลวงพ่อบุญมี วัดบึงกระจับ จ.ฉะเชิงเทรา พระอาจารย์ผู้โด่งดังทางด้านการสร้างลูกอม ก็ได้ถ่ายทอดวิชากรรมฐานในการออกธุดงค์  คาถาที่ใช้ภาวนา คือ อะระหังกับ นะ ขัตติยะให้กับหลวงพ่อฟูด้วย

หลวงพ่อเริ่ม วัดจุกเฌอ จ.ชลบุรี ก็เป็นอาจารย์อีกรูปหนึ่งที่หลวงพ่อฟูให้ความเคารพ หลวงพ่อเริ่มนั้นสืบสานวิชา ฝนแสนห่าและ สีผึ้งเจ็ดจันทร์จาก หลวงพ่ออ่ำ วัดหนองกระบอก วิชาทำปลัดขิก วิชาหน้าผากหนังเสือ จาก หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ โดยตรง  วิชาทำผง 12 นักษัตรของ หลวงปู่เทียน วัดโบสถ์ วิชาการสร้างพระปิดตา และวิชาโหราศาสตร์จาก สมเด็จพระสังฆราช (อยู่) วัดสระเกศฯ กรุงเทพฯ วิชาเหล่านี้หลวงพ่อเริ่มได้ถ่ายทอดให้หลวงพ่อฟูในฐานะศิษย์เอกจนครบถ้วนด้วย

ส่วน หลวงพ่อบุญมา วัดอุทยานที จ.ชลบุรี ก็ได้สอนตำราพระเวทสายเกจิอาจารย์ชายฝั่งทะเลตะวันออก และสูตรการผสมผงสร้างพระปิดตาสายวัดเครือวัลย์ จ.ชลบุรี ให้แก่หลวงพ่อฟู และวิชาการทำยาหอม ยาหม่อง น้ำมันใส่แผล จากสมุนไพรต่าง ๆ ซึ่งทุกวันนี้หลวงพ่อฟูได้นำมาใช้และแจกจ่ายประชาชนทั่วไปโดยไม่คิดมูลค่าใด ๆ ทั้งสิ้น


วัตถุมงคลของหลวงพ่อฟู วัดบางสมัคร นั้น มีพุทธคุณครบถ้วนทุกด้าน แต่ที่โดดเด่นที่สุด ก็คือในด้านของคงกระพันชาตรี และ ยังดีในเรื่องของการเดินทางไกล เพราะเคยช่วยเหลือให้ชาวบ้านรอดพ้นจากพญามัจจุราชมาแล้ว ซึ่งวัตถุมงคลที่เด่นๆ ของท่านได้แก่

- เหรียญรุ่นแรก เสาร์ห้า หลังยันต์ห้า ปี2523
- เหรียญฉลองอายุครบรอบ 60 ปี ปี2526
- เหรียญฉลองเจ้าคณะอำเภอชั้นพิเศษ ปี2532
- ปลัดขิกกัลปังหา และ ไม้คูณ
- ลิงจับหลัก แกะจากรากพุดซ้อน
- องคตไม้แกะ
- เขี้ยวเสือไฟ
- วัตถุมงคล รุ่นอติภัทโท
- วัตถุมงคล รุ่นไม้ตะเคียนทอง 

*************************

เรียบเรียงโดย : ทีมข่าวมงคลพระ



พระธรรมภาวนา-ร.ร.มัธยมเทียนจิน ประเทศจีน
 หนุน ร.ร.วัดราชบพิธ เรียนรู้สัมผัสวัฒนธรรมจีน


อาจารย์สุรพล การบุญ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดราชบพิธ นับเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และที่สำคัญท่านเป็นศิษย์ของ พระธรรมภาวนาวิกรม ผู้บุกเบิกโครงการเพชรยอดมงกุฎ โดยเฉพาะวิชาภาษาจีน ที่กำลังโด่งดัง ไปถึงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยล่าสุดได้เปิดโครงการ “เรียนรู้สัมผัสวัฒนธรรมจีน” และได้นำคณะนักเรียนครูบาอาจารย์ ไปศึกษาหาความรู้ที่โรงเรียนมัธยมเทียนจิน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกด้วย!!!
กล่าวสำหรับประวัติความเป็นมาของโรงเรียนวัดราชบพิธ อาจารย์สุรพล ได้เปิดเผยว่า
โรงเรียนวัดราชบพิธ ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากโรงเรียนสอนภาษาไทยในยุคต้นของการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนของไทย ในแผ่นดินของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปิยะกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในกาลครั้งนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ทรงทำความตกลงกับกรมศึกษาธิการ แต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี จัดตั้งโรงเรียนวัดราชบพิธขึ้นเมื่อ ปีระกาสัปตศก จุลศักราช 1247 ตรงกับ รัตนโกสิทร์ ศก 104 หรือปี พุทธศักราช 2428 ดังปรากฏหลักฐานรายชื่อโรงเรียนวัดราชบพิธ อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 หน้า 139
เมื่อครั้งแรกตั้งโรงเรียนนั้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ได้ทรงอนุญาตใช้ชั้นบนของตึกศาลาการเปรียญข้างสระน้ำด้านถนนเฟื่องนครซึ่ง ใช้เป็น " ภัณฑาคาร " สำหรับเก็บรักษาถาวร วัตถุของสงฆ์ เป็นสถานที่เล่าเรียนโดยมิต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ในกาลครั้งนั้นโรงเรียนวัดราชบพิธมีนักเรียนทั้งสิ้น 53 คน มีครู 2 คน มีนายกวีซึ่งต่อมาได้ลาออกไปรับราชการในกรมระอาลักษณ์ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น " ขุนสุทรลิขิต " เป็นครูใหญ่ มีชั้นเรียนเพียงชั้นเดียว คือ ชั้นประโยคหนึ่ง โดยนักเรียนที่สอบได้ประโยคหนึ่ง คนแรกขอโรงเรียนคือ พระสวัสดิ์นคเรศ สอบไล่ได้เมื่อ พ.ศ. 2430
ต่อมาอีกประมาณ 3 ปี คือราว พ.ศ. 2431 ในสมัยที่ นายพยอม เป็นครูใหญ่ ผู้คนในละแวกใกล้ไกลนิยมส่งบุตรมาเข้าเรียนมาขึ้น ทำให้สถานที่เล่าเรียนคับแคบ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า พระอรุณนิภาคุณาการ พระผู้ก่อกำเนิดโรงเรียนวัดราชบพิธ จึงได้ทรงให้ย้ายไปทำการสอนที่ชั้นล่างของตำหนักที่ประทับของพระองค์ (ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้คือที่ตั้งขออาคารภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ 1 ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้นที่อยู่ติดกับสุสานหลวง) แต่กระนั้นก็ตาม ผู้คนก็นิยมส่งบุตรมาเข้าเรียนจนสถานที่ชั้นล่างของตำหนักนั้นไม่เพียงพออีก พระองค์จึงทรงประทานศาลารายรอบบริเวณให้ใช้เป็นห้องเรียนอีก 3 หลัง ในยุคนี้โรงเรียนวัดราชบพิธมีเพียงชั้นประถม 1 - 4 เท่านั้น มีนักเรียนประมาณ 100 คน และมี นายรอด รักตะประจิตร หรือ หลวงชำนาญอนุสาสน์เป็นครูใหญ่
ในสมัยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระองค์ได้ทรงประทาน ศาลารายหลังที่อยู่ดานถนนเฟื่องนคร ให้ใช้เป็นสถานที่เรียนอีก 1 หลัง ด้วยทรงเล็งเห็นความอัตคัตของสถานที่เรียน โรงเรียนจึงได้ใช้ศาลารายทั้ง 4 หลัง กับชั้นล่างของตำหนักเป็นที่เรียน อย่างไรก็ดีโรงเรียนวัดราชบพิธก็ได้เจริญโดยลำดับ จนกระทั่ง พ.ศ. 2457 สถานที่เรียนก็ไม่เพียงพอ ราชบุรุษกวย ป.ป. ครูใหญ่ในขณะนั้นได้ทูลขอชั้นบนของตำหนัก ซึ่งมีพระสงฆ์อาศัยอยู่เป็นที่เรียน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสงฆ์ราชเจ้าก็ได้มีพระเมตตาทรงโปรดประทานให้ตามประสงค์ ในพ.ศ. 2487 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสงฆ์ราชเจ้าก็ได้ทรงประทานทุนส่วงนพระองค์สร้างตึกสัมฤทธิ์วิทยา การให้เป็นที่เล่าเรียนอีก 1 หลังด้วยเหตุนี้มีการยกฐานะโรงเรียนเดิมให้เป็นมัธยมตอนต้น โรงเรียนวัดราชบพิธจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ" ดังปรากฏหลักฐานดวงตราที่ประทับอยู่บนหนังสือของห้องสมุดโรงเรียนหลายสิบ เล่ม โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธในเวลานั้นมีเพียงชั้นมัธยม 1 - 3 ส่วนประถม 1 - 3 ที่มีอยู่เดิมก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนประถมวัดสุทัศน์แทน โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธได้เจริญโดยลำดับ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2467 จึงได้เริ่มเปิดชั้นมัธยมศึกษา ตอนปลาย ในสมัยที่ขุนกิตติเวทย์เป็นครูใหญ่ ปีพ.ศ. 2469 อันเป็นปีที่โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนถึง 401 คน และในปี พ.ศ. 2474 นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธก็สามารถสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ของประเทศคือ นายสุดใจ เอี่ยมอุดม
ปีพ.ศ. 2478 ขุนชำนิอนุสาสน์ (เส่ง เลาหะจินดา) ครูใหญ่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการได้ไปเฝ้าพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสงฆ์ราชเจ้า ผู้ทรงอุปการะโรงเรียนทูลขอสถานที่เล่าเรียนเพื่อจะขยายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 - 8 แผนกวิทยาศาสตร์ พระองค์ก็ได้ทรงพระเมตตาประทานทุนสร้างตึก " สัมฤทธิ์วิทยาการ " ให้พร้อมทั้งจัดตั้งอุปกรณ์การศึกษาให้เสร็จทั้งยังทรงฉลองตึกให้เสร็จในปี พ.ศ. 2479 อันเป็นปีรุ่งขึ้น แต่กระทรวงธรรมการในเวลานั้นกลับอนุญาตให้เปิดแผนภาษาแทน และสั่งยุบโรงเรียนมัธยมศึกษาวัดมหรรณพ์ มารวมกับโรงเรียนนี้
หลังจากที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสงฆ์ราชเจ้า สิ้นพระชนม์เมื่อ 25 สิงหาคม 2480 แล้ว พระศาสนโสภณ ( ภาณก) เจ้าอาวาสยุคที่ 3 ได้เป็นผู้อุปาระสืบต่อมาในปี พ.ศ. 2481 กระทรวงธรรมการได้สั่งให้ยุบโรงเรียนมัธยมวัดมหาธาตุกับโรงเรียนมัธยมกล่อม พิทยากร มารวมกับโรงเรียนวัดราชบพิธในสมัยขุนวิทยาวุฑฒิ (นวม ชัยรัตน์) เป็นครูใหญ่ ทำให้มีนักเรียนเพิ่มขึ้นถึง 560 คน จนสถานที่เรียนไม่เพียงพอ ต้องขอยืมใช้สถานที่ในสุสานหลวงจากพระธรรมปาโกข์ ผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส ใช้เป็นสถานที่เรียนชั่วคราว และได้ร่วมมือกันหารือกับพระธรรมปาโมกข์ราชทินนามท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระ สังฆราชฯ วาสนมหาเถระ ในเวลานั้น พระจุลคณิศร และพ.อ.พระยาศรีสุรสงคราม เพื่อหาทุนสร้างโรงเรียนถวายเป็นอนุสรณ์แต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสงฆ์ราชเจ้า
ในปลายปี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ขุนชำนิอนุสาสน์ได้กลับจาการเป็นผุ้แทนราษฎรมารับตำแหน่งครูใหญ่อีกทั้งยัง ได้รับอนุมัติจากพระศาสโสภณ เจ้าอาวาสให้จัดสร้างอาคารเรียนเพิ่มอีก 4 หลังคือ พ.ศ. 2484 สร้างตึกชินวรศรีธรรมวิทยาคาร และพ.ศ. 2485 สร้างตึกภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์1,2 และ 3
ครั้นต่อมาปี พ.ศ. 2487 - 2488 นายพิศาล มั่นเสมอ ครูใหญ่ เวลานั้นได้ติดต่อขอทุนกรมสามัญศึกษาจัดการซื้อหนังสือไทยและต่างประเทศ เพื่อจัดตั้งห้องสมุด แต่ท่านได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนเมื่อ 27 ธันวาคม 2488 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2492 กระทรวงศึกษาธิการได้ดำริให้มีห้องสมุดโรงเรียนขึ้น โดยเลือกเอาโรงเรียนแห่งนี้เป็นที่ตั้งห้องสมุดกลาง สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาโดยใช้ตึกภุชงค์ประทานวิยาสิทธิ์ 3 เป็นที่ตั้งเปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2492 มีอาจารย์ รสา วงศ์ยังอยู่ เป็นบรรณรักษ์คนแรก ในสมัยที่นายโกวิท ประทัตสุนทรสาร เป็นครูใหญ่ และโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธได้เจริญมาโดยลำดับจวบจนกระทั่งสถานที่ที่มีอยู่ มีความคับแคบ แยกบางส่วนไปเรียนในบริเวณวัดสุทัศน์ พร้อม ๆ กับการขาดหายไปของคำว่า "มัธยม" ในนามโรงเรียนจนกลายเป็น "โรงเรียนวัดราชบพิธ" ในปัจจุบัน
นับเนื่องจากการที่อาจารย์ผลใจสว่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดราชบพิธคนที่ 23 ได้มองเห็น ความอัตคัตเรื่องสถานที่เรียน ทั้งสมเด็จพระอริยะวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงมีพระดำริเรื่องที่นักเรียนของโรงเรียนวัดราชบพิธมีความยากลำบากในเรื่อง สถานที่เรียนแออัด ทรงมีพระประสงค์ที่จะะขยายสถานที่เรียนให้กว้างขวางออกไป ได้มีผู้ประสงค์จะทูลถวายที่ดินให้โรงเรียนหลายรายด้วยกัน แต่พระองค์ทรงเห็นว่าที่เหล่านั้นไกลจากวัด และโรงเรียนเดิมมากเกินไปจนกระทั่งปี พ.ศ. 2524 โรงเรียนวัดราชบพิธได้ที่ดินแปลงหนึ่งจำนวน 9 ไร่ 1 งาน 46 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารคลังยกกระบัตร กรมพลาธิการทหารบก ตั้งอยู่บริเวณสวนเจ้าเชตุ ไม่ไกลจากวัดและโรงเรียนเดิมเหมาะที่จะสร้างขยายโรงเรียน เพราะกองทัพบกเจ้าของที่นั้นมีโครงการจะย้ายคลังพัสดุไปที่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัด นนทบุรี
สมเด็จพระอริยวงศ์ศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก จึงทรงมีพระลิขิตถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม(พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2525 เพื่อทรงขิบิณฑบาตรที่ดินดังกล่าวสำหรับใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างขยายโรงเรียน วัดราชบพิธ ภายหลังที่กองทัพบกได้ย้ายคลังพัสดุออกไปแล้ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2531 ในมหามงคลสมัยที่เจริญพระชนมายุ 90 พรรษา กองทัพบก โดยพลเอกเชาวลิตร ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกรักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุด ด้วยความเห็นชอบของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้น้อมเกล้าถวายเอกสารสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุ ที่ตั้งอาคารคลังยกกระบัตร แด่สมเด็จพระสังฆราชฯ พร้อมกันนี้ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสร้างอาคารโรงเรียนวัดราชบพิธเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2531 โดยมีพลเอกเชาวลิตร ยงใจยุทธ เป็นประธาน และสมเด็จพระสังฆราชฯ ได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่ก่อสร้างขยายโรงเรียนวัดราชบพิธเป็นครั้งแรกและ ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2531 ก่อนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2531
วันที่ 5 เมษายน 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ณ สวนเจ้าเชตุ โดยได้รับงบประมาณการก่อสร้างโรงเรียนจากกรมสามัญศึกษา 39,560,00 บาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทย พร้อมทั้งอาคารพลศึกษาและสระว่ายน้ำในวงเงิน 117 ล้านบาท การก่อสร้างได้ดำเนินไปจนกระทั้ง สามารถย้ายนักเรียนเข้าไปเรียนยังสถานที่เรียนแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2533 เป็นต้นมา
วันที่ 2 มีนาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดอาคารเรียน โรงเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ซึ่งเป็นวาระดิถีวโรกาศวันคล้ายวันประสูติใน สมเด็จพระอริยะวงศาคตาญาณ  วาสนมหาเถระ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
ปัจจุบันโรงเรียนวัดราชบพิธ ได้พัฒนาขึ้นโดยลำดับโดย อาจารย์สุรพล การบุญ ผู้อำนวยการ คนปัจจุบันร่วมกับพระธรรมภาวนาวิกรม เจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตร และโรงเรียนมัธยมเทียนจิน  ได้เล็งเห็นความสำคัญ ด้านวิชาภาษาจีน จึงได้สนับสนุนนักเรียน ให้ได้เรียนรู้อย่างจริงจัง จากเจ้าของภาษา เพื่อพัฒนาให้เยาวชนได้นำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม!!!
                  …………………………………………….



วันพุธที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2555



''การพัฒนาการศึกษาคณะสงฆ์ไทย''

ผศ.ดร.สมศักดิ์ บุญปู่
       การศึกษานั้น ได้มีมาพร้อม ๆ กับมนุษย์ที่ได้อุบัติขึ้นมาในโลกโดยรู้จักการแก้ปัญหา รู้จัก รับผิดชอบต่อตนเองและสังคม ตลอดทั้งแก้ปัญหาขัดแย้งด้วยเหตุและผล รู้จักสำนึกและเข้าใจ ในคุณค่าของสิ่งที่เป็นนามธรรมและรูปธรรมที่ปรากฏให้เราได้เรียนรู้ในแง่ต่าง  ๆ  ตลอดทั้ง สิ่งแวดล้อมสมัยนั้น ๆ ด้วย ทั้งนี้เพราะการศึกษาหรือการค้นคว้าทำให้รับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิด ขึ้นในโลกตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน และสามารถรู้และคาดการณ์ล่วงหน้าในอนาคตได้ นอกจากนั้น การศึกษาไม่ว่าจะเป็นคดีโลกหรือคดีธรรม ย่อมเป็นเหตุปัจจัยยกระดับฐานะของตนเองให้สูงขึ้น กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันด้วย ในที่นี้จะมุ่งถึงเฉพาะการศึกษาทางคดีธรรมหรือศึกษาการพัฒนาการ ศึกษาคณะสงฆ์ไทยว่าเป็นมาอย่างไร
การศึกษาของคณะสงฆ์เป็นมาอย่างไร 
     เมื่อพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้น พระองค์ได้ทรงประกาศคำสอนใหม่ ซึ่งเป็นการปฏิวัติต่อคำสอน ของพราหมณ์ กำจัดความเชื่อถือเรื่องวรรณะ ไม่ให้ถือเอาชาติกำเนิดเป็นเครื่องแบ่งแยกความสูง ต่ำและสิทธิของมนุษย์ ให้ถือว่าทุกคน ทุกวรรณะเกิดมามีความเสมอภาคกัน จะดี จะชั่ว จะประเสริฐ หรือต่ำทราม เพราะการกระทำ และการประพฤติดีของตนเอง จะเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ แพทย์ ศูทร จัณฑาลหรือปุกุสะก็ตาม ทำดีก็ได้ผลดีเหมือนกัน ทำชั่วก็ได้ผลชั่วเหมือนกัน คนใดปฏิบัติ ธรรมก็ได้ความสงบทางจิต มีความก้าวหน้า ถึงจุดหมายของศาสนาได้เหมือนกัน ชาติกำเนิด ไม่สำคัญ สำคัญที่การฝึกอบรม
     นอกจากทรงประกาศคำสอน เพื่อให้เกิดผลทางการปฏิบัติ ทางความเชื่อถืออย่างใหม่ ของประชาชนแล้ว พระพุทธเจ้าทรงนำหลักการนี้มาปฏิบัติให้เกิดผลในรูปสถาบันด้วย ทรงตั้ง คณะสงฆ์ขึ้น คณะสงฆ์นี้เปิดรับบุคคลทุกวรรณะและนอกวรรณะ ทุกคนที่เข้ามาเป็นสมาชิกของ สถาบันสงฆ์นั้นแล้วมีสิทธิเสมอกันในทางด้านการปกครองและชีวิตทางสังคม มีข้อกำหนดเพียง ให้แสดงความเคารพกันตามลำดับอายุสมาชิกภาพ และมีโอกาสเท่าเทียมกันในการที่จะได้รับการ ศึกษาอบรมตลอดจนปฏิบัติเพื่อเข้าถึงจุดหมายสูงสุดที่ชีวิตในสงฆ์จะเข้าถึงได้สถาบันวัดกลายเป็น สถาบันทางการศึกษา เพราะเป็นที่ฝึกหัดอบรม บรรยากาศภายในวัดรวมถึงวิถีชีวิตของพระสงฆ์ ภายในวัดเป็นบรรยากาศสำหรับฝึกหัดพัฒนาคนและพัฒนาตนให้เดินไปในวิถีชีวิตที่ถูกต้องดีงาม ตามระบบพัฒนาคน ๓ ด้าน ที่เรียกว่า ไตรสิกขา ได้แก่
     ๑.  ฝึกฝนพัฒนาในการแสดงออกทางกายและวาจา (อธิศีล)
     ๒.  ฝึกฝนพัฒนาด้านคุณภาพ สมรรถภาพ และสุขภาพจิต (อธิจิต)
     ๓.  ฝึกฝนพัฒนาสมองหรือปัญญา (อธิปัญญา)
     พิจารณาจากประวัติการประดิษฐานพระพุทธศาสนา  จะเห็นได้ว่าคณะสงฆ์ใน ความหมายที่แท้นั้น พระพุทธเจ้าทรงตั้งขึ้นเป็น “สังคมตัวอย่าง” ที่มีการจัดระบบต่าง ๆ ทั้งใน การปกครอง การเลี้ยงชีพ ชีวิตทางสังคม  ตลอดจนการศึกษาอบรมทุกอย่าง โดยให้สมาชิก ทุกคนมีสิทธิ์และมีส่วนร่วมในกิจกรรมและผลประโยชน์ต่าง ๆ ของสถาบันโดยทั่วถึงและเท่าเทียม กัน มีความรู้สึกที่ดีต่อกัน เคารพในคุณค่าของกันและกัน อยู่ด้วยความกลมกลืนประสานกัน เป็น ระเบียบเรียบร้อย มีความปลอดโปร่งเป็นอิสระทั้งทางกาย ทางวาจา และความคิด มีโอกาสพร้อม บริบูรณ์ที่จะให้ความสามารถ และคุณสมบัติต่าง ๆ ของตน ๆ ได้รับการฝึกอบรมเจริญก้าวหน้า โดยเต็มที่ถึงขีดสุดเท่าที่ตนจะทำได้ในมรรคาแห่งการปฏิบัติ เพื่อเข้าถึงจุดหมายของพระศาสนา คือให้ทุกคนมีสิทธิในการปกครองสถาบันของตน มีปัจจัย ๔ พอเหมาะพอดีแก่การที่จะให้ชีวิตดำรง อยู่ด้วยความสะดวกสบายพอสมควร และช่วยให้การปฏิบัติหน้าที่ได้ผลดี สมาชิกทุกคนอยู่ร่วม กัน โดยให้ความเคารพนับถือกันฉันพี่น้อง ช่วยเหลือกันและให้โอกาสแก่กันในการปฏิบัติหน้าที่
ผู้จบการศึกษาอบรมแล้ว หรือศึกษาต่ำกว่า ผู้รับการศึกษาจะต้องฝึกฝนอบรมตนเอง ด้วยตั้งใจจริงเต็มหน้าที่และความสามารถของตน
     หลักทางพระพุทธศาสนาส่งเสริมให้มีการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นทางด้านหลักธรรม เช่น เรื่อง พระนิพพาน การกำจัดอวิชชา ไตรสิกขา การเน้นปัญญา ความสำคัญของกัลยาณมิตร ความ เป็นพหูสูต เป็นต้น หรือทางพระวินัย เช่น การถือนิสัยของพระนวกะ การร่วมประชุมในอุโบสถ เดียวกัน การนั่งประชุมแสดงธรรม สนทนาสากัจฉา อภิปราย ตอบปัญหาธรรมกันเป็นต้น ทั้งนี้ โดยมีวัดเป็นสถาบันการศึกษา ชีวิตความเป็นอยู่ของพระภิกษุ เป็นชีวิตที่มุ่งต่อการฝึกฝนอบรมและ การให้การศึกษาอบรม ดังนั้น ชีวิตของสังคมภิกษุจึงมากไปด้วยกิจกรรมการศึกษา พัฒนาการทาง การศึกษาของอารยันที่ได้จากพระพุทธศาสนา
     การศึกษาคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ดำเนินตามแนวไตรสิกขา โดยยึดถือพุทธพจน์ คือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหลัก มีความมุ่งหมายสำคัญ เพื่อให้ประพฤติปฏิบัติตน ดำรง รักษาและเผยแผ่พรหมจรรย์อันเป็นระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ ดำเนินชีวิตตามหลักการแห่ง พระธรรมวินัย ต่อมา ได้แยกออกเป็นฝ่ายคันถธุระและวิปัสสนาธุระ  คือคันถธุระ  ได้ศึกษา พระธรรมวินัย คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า และวิปัสสนาธุระ ได้แก่ การเรียนวิธีฝึกหัดจิตใจของ ตนเองให้ปราศจากกิเลส เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว พระสงฆ์ พุทธสาวก จึง ประชุมกันทำสังคายนา รวบรวมพระธรรมวินัยอันเป็นคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ได้ตรัสสอน ไว้มีจำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ จัดไว้เป็น ๓ หมวด คือ พระสูตร พระวินัย และ พระอภิธรรม เรียกรวมกันว่า พระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์ของพระพุทธศาสนาสืบมา
     พระพุทธศาสนา มีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการ ได้แก่ ปริยัติ คือ การเล่าเรียน ปฏิบัติ คือ ลงมือกระทำ และปฏิเวธ คือ ประจักษ์แจ้งผลการศึกษาปริยัติ เป็นองค์ประกอบสำคัญ อันเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ความเจริญทางการศึกษาหรือปริยัติของคณะสงฆ์ เป็นปัจจัยสำคัญ เกี่ยวกับความเจริญของพระพุทธศาสนา
ลักษณะของการศึกษาพระพุทธศาสนาในสมัยพุทธกาล
     ๑.  ระบบการรับเข้าศึกษาพระพุทธศาสนา ตามพุทธบัญญัติพระวินัย กุลบุตรที่จะเข้า มาสู่สถาบันแห่งนี้ต้องบรรพชาอุปสมบท สามเณรมีอายุ ๗ ปีขึ้นไป พระภิกษุอายุ ๒๐ ปีขึ้นไป
     ๒.  ระบบการศึกษาของพระพุทธศาสนา เป็นแบบโรงเรียนกินนอน
     ๓.  สถานศึกษา คือ วัด
     ๔.  ชีวิตนักศึกษา ทุกคนเสมอภาคเท่าเทียมกันตามพระวินัย ไม่แบ่งชนชั้นวรรณะ
     ๕.  ด้านปัจจัย ๔ ได้รับการดูแลและอุปถัมภ์โดยพระราชา อำมาตย์ พ่อค้า คหบดี และ ประชาชนทั่วไป
     ๖.  เครื่องแบบการแต่งกาย ใช้ผ้าบังสุกุลตามพุทธบัญญัติ เรียบง่าย สะอาด มีเพียง๓ ผืน
     ๗. วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อกำจัดตัณหา อันเป็นวัฏจักรแห่งการเวียนว่ายตาย เกิดของมนุษย์ และดำเนินตามมรรคมีองค์ ๘ คือ ทางสายกลางมุ่งเข้าสู่นิพพาน อันเป็นจุดหมาย สูงสุดของพระพุทธศาสนา
     ๘.  หลักสูตร  พระสุตตันตปิฎก พระวินัยปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก หลักสูตรนี้ใช้ หลักการท่องจำ เรียกว่า มุขปาฐะ โดยการแต่งเป็นร้อยแก้ว ร้อยกรอง เพื่อสะดวกในการท่องจำ ผู้เรียนจะเลือกเรียนตามความสมัครใจ
     ๙.  วิธีสอน สอนด้วยการใช้มุขปาฐะ (ปากเปล่า) สนทนา การบรรยาย การถามตอบ แบบวางกฎข้อบังคับ
     ๑๐.  บทบาทของครู ครูผู้สอนมักเรียกว่า อุปัชฌาย์ อาจารย์ เป็นผู้มีบทบาทในการสอน ให้การอบรม ให้คำปรึกษา และสอบวัดผลด้วยตนเอง
พัฒนาทางการศึกษาของพระพุทธศาสนาหลังพุทธปรินิพพาน
     ๑.  ระบบการศึกษาแบบเถรวาท (พ.ศ. ๑-๕๐๐) รูปแบบการศึกษามี ๒ ลักษณะ คือ
     คันถธุระและวิปัสสนาธุระ โดยมีสำนักต่าง ๆ ที่มีการดำเนินการศึกษาอย่างอิสระต่อ กัน บางสำนักเน้นพระสุตตันตะ บางสำนักเน้นพระวินัย เป็นต้น แต่เมื่อใดแต่ละสำนักมีความ เข้าใจพุทธธรรม และปฏิบัติแตกต่างกันมาก คณะสงฆ์ก็จะขอพึ่งอำนาจรัฐให้เข้ามาจัดทำสังคายนา เป็นครั้งคราวไป เพื่อสร้างความเป็นเอกภาพของพระพุทธศาสนา
     ๒. ระบบการศึกษาแบบมหายาน (พ.ศ. ๖๐๐-๑๔๐๐) มีประเด็นศึกษา ๒ ประเด็น คือ
     ๒.๑ สำนักปรัชญาพุทธ (พ.ศ. ๖๐๐-๙๐๐) การเกิดขึ้นของมหายานทำให้การศึกษาใน พระพุทธศาสนาเปลี่ยนไปจากรูปแบบของศาสนาสู่ระบบปรัชญา เกิดสำนักทางปรัชญาเด่น ๆ ขึ้น ๒ สำนัก คือ ก. สำนักมาธยมิกะ ผู้ก่อตั้ง คือ นาคารชุน (พ.ศ. ๗๐๙ - ๗๓๙) ผลงานที่สำคัญ คือ “มาธยมิกศาสตร์” หรือ “มาธยมิกการิกา” ให้ตรรกศาสตร์ ความคิดที่ว่องไว กล้าหาญ แนวคิดที่ สำคัญเน้น “ศูนยตา” มีอิทธิพลทั่วชมพูทวีปและขยายออกนอกเขตประเทศ, ข. สำนักโยคาจารย์ ผู้ก่อตั้งคือ  ท่านอสังคะและท่านวสุพันธุ์ (พุทธศตวรรษที่ ๙) ผลงานที่สำคัญคือ อภิธรรมโกศะ, มหายานสัมปริครหะ และประกรณะอารยวาจา แนวคำสอนเป็นจิตนิยม
     ๒.๒ มหาวิทยาลัยทางพระพุทธศาสนา (พ.ศ. ๑๐๐๐-๑๗๐๐) ในช่วงนี้ วัดซึ่งเดิมเป็น ศูนย์รวมของผู้ฝึกฝนอบรมตนเองอยู่แล้วได้พัฒนามาเป็นสถาบันทางการศึกษา  โดยสืบทอด คุณลักษณะกลุ่มของสาวกของพระพุทธเจ้าที่ว่า “สังฆะ” คือชุมชนแห่งการเรียนรู้ ราว พ.ศ. ๙๐๐ วัด  หลายวัดได้ร่วมกันดำเนินการทางการศึกษา จนกลายเป็นระบบมหาวิทยาลัยทางพระพุทธ ศาสนาขึ้นและขยายรูปแบบการให้การศึกษากว้างขวางขึ้น  มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้แก่ นาลันทา วัลภี โอทานตะปุระ วิกรมศิลา โสมปุระ มีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ มีผู้เข้า ศึกษาหลายหมื่นคน มีหลักสูตร มีการวัดผลประเมินผล
     ๒.๓ ระบบการศึกษาแบบตันตระ (พ.ศ. ๑๒๐๐-๑๗๐๐) ซึ่งมีพัฒนาการมาตามลำดับคือ
     (๑)  มันตรยาน/รหัสยาน ลักษณะสำคัญคือพร่ำสอน บ่นมนตร์และลงเลขยันตร์ ให้ เกิดความศักดิ์สิทธิ์เป็นทางรอดพ้นจากทุกข์ (๒) วัชรยาน นับถือฌานิพุทธและพระโพธิสัตว์ นำศักติ ของฮินดูตันตระมานับถืออ่อนวอน ผู้เข้าอยู่ในองค์นิรตมเทวีเป็นผู้เข้าสู่นิพพาน (๓) กาลจักร นับถือ เหมือนสองอย่างแรก เพิ่มการเซ่นผีเข้าด้วย ถือว่าการอ้อนวอนบูชาจะสำเร็จประสบสุขได้
     พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) มีความเห็นเกี่ยวกับระบบการศึกษาของพระพุทธ ศาสนาหลังพุทธปรินิพพานว่า การศึกษาในมหาวิทยาลัยนั้นแบ่งได้เป็น ๒ ระยะ คือ ระยะแรกราว พ.ศ. ๑๐๐๐ ถึง ๑๔๐๐ เป็นระยะที่มีการศึกษาวิชาการต่าง ๆ กว้างขวาง ทั้งทางวิชาศาสนาและ วิชาสามัญ แต่ครั้นถึงระยะหลัง พ.ศ. ๑๔๐๐ เป็นต้นมา การที่พระสงฆ์หันมานิยมศึกษาและใช้ ภาษาสันสกฤตเป็นภาษาวิชาการ ได้กลายเป็นการจำกัดวงการศึกษาให้แคบเข้ากว่าเดิมอีก ที่ นาลันทาและมหาวิทยาลัยอื่น ๆ ที่เหลือ ก็ปรากฏว่าพระพุทธศาสนามหายาน ได้รับอิทธิพลจาก ศาสนาพราหมณ์ นำมาผสมผสานกันมา จนกลายเป็นนิกายตันตระ หรือวัชรยานขึ้น ระยะนี้ ก็นิยมชื่นชมกับผลงานเก่า ๆ ที่สร้างสมกันมา ยุคนี้เป็นระยะของการเขียนอรรถกถาและอรรถาธิบาย ต่าง ๆ พร้อมกับมีความรู้สึกหยิ่งลำพองในความรู้ ใจแคบ และลำเอียง นอกจากนี้ ความนับถือ เรื่องวรรณะก็เหมือนจะรุนแรงขึ้น วิธีการเรียนการสอนก็เป็นแบบประเพณีตายตัว โดยนัยนี้ การ ศึกษาในชมพูทวีปก็เสื่อมถอย และยังไม่ทันรู้ตัวที่จะรื้อฟื้นแก้ไข ก็ประสบเหตุให้พินาศเสียก่อน สาเหตุที่ทำให้พินาศนั้น ก็คือ การเข้ายึดครองของต่างชาติ เริ่มด้วยชาวเติร์กยกทัพเข้ามา และ ทำลายมหาวิทยาลัยพุทธศาสนาหมดสิ้น ทำลายวัดส่วนมาก พระสงฆ์ที่ไม่ถูกฆ่า หนีไปต่างประเทศ อันเป็นเหตุการณ์ในราว พ.ศ. ๑๗๐๐ ตามปกติการใช้อำนาจเข้ากดขี่บีบคั้นถ้าไม่ถึงกับทำลายให้ สูญสิ้นเสียทีเดียว หรือให้เปลี้ยหมดกำลังจริง ๆ แล้ว ย่อมเป็นทางให้เกิดการดิ้นรน ต่อสู้ ให้เกิด ความเข้มแข็งและการกลับฟื้นตัวได้ แต่เหตุการณ์ครั้งนี้  เป็นแบบทำลายโดยสิ้นเชิง  พระพุทธ ศาสนาจึงไม่มีโอกาสคืนชีวิตได้อีก เป็นอันสิ้นยุคความเจริญในอดีต
พระพุทธศาสนาเข้าสู่ประเทศไทย
     ก่อนที่พระเจ้าอโศกมหาราชจะทรงส่งพระสงฆ์เป็นสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ในประเทศต่าง ๆ นั้น ได้มีการแตกแยกนิกายสงฆ์ขึ้นในประเทศอินเดีย ในการสังคายนาครั้ง ที่ ๒ เมื่อ พ.ศ.  ๑๐๐ เนื่องจากมีความเห็นไม่ตรงกันในเรื่องวินัยบางประการ จึงเกิดเป็นนิกาย ใหญ่ ๆ ๒ นิกาย คือ
     ๑.  เถรวาท
     ๒.  อาจริยวาทหรือ มหายาน
     นิกายทั้ง  ๒ มีข้อแตกต่างกันคือ เถรวาท เป็นนิกายที่ภิกษุชาวอินเดียภาคกลางและ ภาคใต้  ผู้ปฏิบัตตามคำสอนของพระเถระ  หมายถึง พระเถระที่ทำสังคายนาครั้งแรกบางทีก็ เรียกว่า นิกายสถวีรวาท แปลว่า ลัทธิของพระเถระ ปัจจุบันประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา นิกาย เถรวาท คือประเทศไทย ศรีลังกา พม่า เขมร และลาว พระพุทธศาสนานิกายเถรวาทใช้ภาษา มคธ (ภาษาบาลี) จารึกพระไตรปิฎก
     มหายาน เป็นนิกายของภิกษุชาวอินเดียฝ่ายเหนือ ที่ถือตามพุทธานุญาตที่ประทานไว้ ในเวลาใกล้ดับขันธปรินิพพานว่า   ถ้าภิกษุทั้งปวงเห็นพร้อมกันว่า สิกขาบทเล็ก ๆ น้อย ๆ บทใด ที่ทรงบัญญัติไว้จะประพฤติไม่ได้สะดวก  ก็ให้แก้ไขได้  ภิกษุในนิกายมหายาน  อนุโลมดัดแปลง พระธรรมวินัยตามกาลเทศะ และประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน คือ จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ทิเบต เกาหลี มองโกเลีย และไต้หวัน ใช้ภาษาสันสกฤตจารึกพระธรรมวินัย
     ต่อมาในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ที่อยู่ในราวพุทธศตวรรษที่  ๓ ได้ทรงจัดให้การ สังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๓   เมื่อทำสำเร็จแล้วได้ส่งพระสงฆ์ที่เป็นพระธรรมทูตไปเผยแผ่ พระพุทธศาสนาในแว่นแคว้นต่าง ๆ รวม ๙ สาย คณะของพระโสณะและพระอุตตระได้มายัง สุวรรณภูมิ  ได้แก่พื้นที่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  มีประเทศไทยปัจจุบันเป็นศูนย์กลาง  โดยมี นครปฐมเป็นราชธานี เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๓๐๓ ดังตำนานที่สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชา นุภาพทรงพระนิพนธ์ไว้ในหนังสือตำนานพระพุทธเจดีย์ว่า พระพุทธศาสนาได้มาถึงประเทศไทย เป็น ๔ ยุค คือ
     ยุคที่  ๑ เมื่อปี พ.ศ. ๓๐๓ เป็นการเผยแผ่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท
     ยุคที่ ๒ เมื่อปี พ.ศ. ๗๖๐ พระพุทธศาสนาฝ่ายมหายานจากแคว้นกัสมิระ ได้เผยแผ่มา ทางดินแดนทางตอนใต้ของสุวรรณภูมิคือเกาะสุมาตรา ชวา และกัมพูชา ล่วงมาถึงประมาณ ปี พ.ศ. ๑๓๐๐ ก็ได้แพร่ขยายขึ้นมาถึงปัตตานี สุราษฎร์ธานี ที่ไชยา
     ยุคที่ ๓ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๖๐๐ พระพุทธศาสนาแบบพุกาม ได้แพร่เข้ามาถึงอาณาจักร ล้านนา และอาณาจักรทวารวดี
     ยุคที่ ๔ เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๑๙๐๐ พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทได้แผ่จากลังกาเข้ามา ทางภาคใต้ของไทย คือ นครศรีธรรมราช เรียกว่า ลัทธิลังกาวงศ์
การพัฒนาการศึกษาของสงฆ์สมัยสุโขทัย
     วัดเป็นสถาบันสังคมที่ให้การศึกษาแก่คนไทยมาช้านานตั้งแต่โบราณ  โดยพระเป็น ครูสอน มีทั้งการอบรมสั่งสอนพระด้วยกันเอง ถวายพระธรรมเทศนาแด่พระมหากษัตริย์ และเทศนา สั่งสอนอบรมประชาชนทั่วไป หรือเด็กวัด ก่อนสถาปนากรุงสุโขทัยได้มีชุมชนต่าง ๆ รวมกันอยู่ และมีพระเป็นผู้ให้การศึกษาแก่คนในชุมชนนั้น  ภายหลังก่อตั้งสุโขทัยเป็นราชธานีของคนไทย การปกครองคณะสงฆ์สมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ ฝ่ายคามวาสี และ อรัญญวาสี พ่อขุนรามคำแหงมหาราชทรงส่งเสริมให้มีการศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนาจาก พระไตรปิฎก  แม้พระองค์เองก็ทรงสั่งสอนประชาชนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนา การศึกษา จากพระไตรปิฎกนี้เรียกว่า “การศึกษาพระปริยัติธรรม” แบ่งการศึกษาเป็น ๓ ตอน โดยเริ่มต้นให้ ศึกษาพระสุตตันตปิฎก (หมวดพระสูตรที่ประมวลพระธรรมเทศนาและเรื่องเล่าต่าง ๆ) เมื่อศึกษา จบแล้วให้ศึกษาพระวินัยปิฎก (หมวดพระวินัยประมวลข้อบัญญัติสำหรับพระสงฆ์) เมื่อศึกษา พระวินัยจบแล้วให้ศึกษาพระอภิธรรมปิฎก (หมวดพระอภิธรรม ประมวลหลักธรรมที่เป็นวิชาการ ไม่เกี่ยวกับเหตุการณ์และตัวบุคคล)
     การที่พ่อขุนรามคำแหงมหาราช แบ่งคณะสงฆ์เป็น ๒ ฝ่าย ดังที่กล่าวมาแล้วนั้น ทำให้ การจัดการศึกษาสำหรับสงฆ์แตกต่างออกไปคือฝ่ายคามวาสีซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่อยู่ในเมืองมีหน้าที่ ศึกษาเล่าเรียนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา  และอบรมพระภิกษุสามเณรตลอดจนประชาชนให้ ปฏิบัติดี ประพฤติชอบอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เรียกว่า คันถธุระ (ฝ่ายที่ศึกษาคัมภีร์) และ ฝ่ายอรัญญวาสี ซึ่งเป็นพระสงฆ์ที่อยู่ตามป่า  มีหน้าที่อบรมสั่งสอนศิษยานุศิษย์ในทางปฏิบัติ สมถกัมมัฏฐาน และวิปัสสนากัมมัฏฐาน เรียกว่า “วิปัสสนาธุระ” (ฝ่ายบำเพ็ญภาวนา) พระสงฆ์ ทั้ง ๒ ฝ่าย แบ่งกันทำหน้าที่ ทำให้เกิดผลดีต่อการปกครองคณะสงฆ์ และช่วยให้การพระศาสนา ในกรุงสุโขทัยเจริญรุ่งเรืองมาก
     ครั้นถึงสมัยพระยาลิไทครองราชสมบัติ การพระศาสนาฝ่ายเถรวาทเจริญรุ่งเรืองมาก พระองค์มีพระราชศรัทธาแรงกล้า ถึงกับทรงอุทิศถวายพระมหาปราสาทเป็นที่เล่าเรียนของพระภิกษุ สามเณร และวิชาที่ศึกษายังมีทั้งสองฝ่าย คือทั้งฝ่ายวิชาการทางธรรมและทางโลก มิใช่ศึกษาวิชา ทางพระพุทธศาสนาอย่างเดียว
การพัฒนาการศึกษาของสงฆ์สมัยอยุธยา
     การศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสงฆ์ในสมัยนี้  แรก  ๆ ถูกปล่อยปละละเลย ต่อมาถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงเห็นพระพุทธศาสนาถูกลัทธิภายนอกย่ำยี ประชาชน มัวเมาหลงใหลเห็นผิดเป็นชอบ จึงทรงรับบำรุงพระพุทธศาสนา ทรงโปรดจัดการศึกษาเล่าเรียน พระปริยัติธรรมขึ้นเหมือนในครั้งกรุงสุโขทัย  ให้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรม  นับว่าเป็นการ สอบไล่ที่เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ต่อมาจนถึงสมัยธนบุรี พระเจ้าตากสินมหาราช ทรงใส่ พระทัยพัฒนาการพระพุทธศาสนา ทรงอาราธนาพระภิกษุสงฆ์ให้มาอยู่รวมกันอีกครั้งหนึ่ง ทรง แต่งตั้งสมณศักดิ์และสถาปนาพระอารามหลายแห่งให้พระภิกษุสงฆ์ศึกษาเล่าเรียนคันถธุระและ วิปัสสนาธุระ พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอีกวาระหนึ่ง
หลักสูตรการศึกษา
     ในสมัยอยุธยา สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้ทรงโปรดให้คณะสงฆ์เอาภารธุระในการ เรียนการสอนอย่างจริงจัง โดยกำหนดหลักสูตร เวลาเรียน การประเมินผล และฐานะของผู้สอบ ไล่ได้เป็นการแน่นอน ใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลีเป็นหลักสูตร โดยแบ่งเป็น ๓ ชั้นเรียน คือ
     ๑.  บาเรียนตรี ต้องแปลภาษาบาลีจบพระสูตร
     ๒. บาเรียนโท ต้องแปลภาษาบาลีจบพระสูตร และพระวินัย
     ๓.  บาเรียนเอก ต้องแปลภาษาบาลีจบพระสูตร พระวินัย และพระอภิธรรม
     ผู้เรียนจบบาเรียน ตรี  -  โท  - เอก เรียกว่า “มหาบาเรียนบาลี” โดยใช้อักษรย่อว่า“บ.บ.”
     สถานศึกษา
     ในสมัยอยุธยา การเรียนการสอนพระปริยัติธรรมใช้บริเวณพระบรมมหาราชวังเป็นที่ เล่าเรียน  ส่วนวัดวาอารามต่าง ๆ เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนส่วนย่อยเท่านั้น ครูผู้สอน ได้แก่ พระมหากษัตริย์บ้าง ราชบัณฑิตบ้าง พระเถระผู้มีความเชี่ยวชาญในพระไตรปิฎกบ้าง
     การวัดผลการศึกษา
     เริ่มแรกเรียนคัมภีร์มูลกัจจายน์ (หลักภาษา) ใช้เวลาประมาณ ๒ - ๓ ปี จึงเรียนแปล พระไตรปิฎกที่จารึกในใบลานเป็นหนังสือแบบเรียน เมื่อมีความรู้ความสามารถในการแปลได้ดีแล้ว ครูบาอาจารย์และเจ้าสำนักเรียนก็จะทูลถวายรายงานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ทรงทราบ และทรงโปรดให้ประกาศการสอบไล่ความรู้ของพระภิกษุสามเณรขึ้น เรียกว่า “สอบสนามหลวง” หมายถึงการสอบในพระบรมราชูปถัมภ์ ทรงยกย่องผู้สอบได้ให้มีสมณศักดิ์เป็น “มหา” นำหน้า ชื่อ แล้วพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระราชาคณะ เป็นเกียรติแก่พระพุทธศาสนาสืบไป สถาน ที่สอบใช้พระบรมหาราชวังเป็นที่สอบ และใช้ระยะเวลาเรียน ๓ ปี จึงมีการสอบ ๑ ครั้ง
วิธีสอบ
     เมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงประกาศให้มีการสอบพระปริยัติธรรมขึ้นแล้ว พระมหาเถระและ ราชบัณฑิตทั้งหลาย ก็แต่งตั้งคณะกรรมการขึ้น โดยมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นประธาน การสอบแปล ผู้สอบต้องจับสลาก ตามที่คณะกรรมการกำหนดให้ ถ้าจับได้คัมภีร์ผูกใดก็แปลผูกนั้น โดยเริ่มจาก พระสูตรก่อน ต้องแปลปากเปล่าต่อหน้าคณะกรรมการ ผิดศัพท์หรือประโยคได้เพียง ๓ ครั้ง ถ้า กรรมการทักท้วงเกิน ๓ ครั้ง ถือว่า ตก ถ้าแปลได้คล้องเป็นที่พอใจ ไม่มีการทักท้วงถือว่าสอบได้ ในประโยคนั้น ๆ เมื่อผ่านพระสูตร ก็ให้เกียรติคุณเป็น “บาเรียนตรี” เรียนพระวินัยปิฎกต่อไป อีก ๓ ปี สอบผ่านก็เป็น “บาเรียนโท” จากนั้นศึกษาพระอภิธรรมปิฎกอีก ๓ ปี สอบผ่านก็ได้รับ ยกย่องเป็น “บาเรียนเอก”

การพัฒนาการศึกษาสมัยธนบุรี
     ศูนย์การศึกษาในสมัยธนบุรีก็ยังคงอยู่ที่วัดเหมือนสมัยอยุธยา โดยมีแต่เด็กผู้ชายเท่านั้น ที่มีโอกาสศึกษา เพราะต้องอยู่กับพระที่วัดเพื่อเรียนหนังสือ พระสงฆ์ก็คือครูที่จะสอนหนังสือให้ แก่กุลบุตร เพื่อให้ได้รับการอบรมความประพฤติ เรียนพระธรรม ภาษาบาลี สันสกฤต และศัพท์เขมร เพื่อประโยชน์ในการอ่านคัมภีร์พระพุทธศาสนา นอกจากนี้ ยังมีการเรียนวิชาเลขเน้นมาตรา ชั่งตวง วัด มาตรเงินไทย และการคิดหน้าไม้ ซึ่งจะต้องนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน มีวิชาช่างฝีมือ สำหรับเด็กโต ส่วนใหญ่เกี่ยวกับการช่างก่อสร้าง เพื่อประโยชน์ในการบูรณะซ่อมแซมเสนาสนะ และสิ่งก่อสร้างภายในวัด สำหรับการเรียนวิชาชีพโดยตรงนั้นเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ใครมีอาชีพ อะไรก็ถ่ายทอดวิชานั้น  ๆ  ให้แก่ลูกหลานของตน ตามสายตระกูล เช่นวิชาแพทย์แผนโบราณ วิชาช่างปั้น ช่างถม ช่างแกะสลัก ช่างปูนปั้น ช่างเหล็ก ช่างเงิน ช่างทอง ส่วนการศึกษาสำหรับ เด็กผู้หญิงก็ถือตามประเพณีโบราณ คือเรียนการเย็บปักถักร้อย ทำกับข่าว การจัดบ้านเรือน การ ฝึกอบรมมารยาทของกุลสตรี สังคมสมัยนั้นไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนหนังสือ จึงมีผู้หญิงจำนวนน้อย ที่อ่านออกเขียนได้
     การศึกษาของพระสงฆ?สมัยนี้ ช่วงแรกขาดการศึกษาในระยะหนึ่ง เพราะพระสงฆ์มีเหลือ อยู่น้อย  กระจายกันไปตามชนบทเพื่อหนีภัยข้าศึก  เมื่อพระเจ้าตากสินมหาราชทรงว่างจาก ศึกสงครามแล้ว  ทรงเลือกสรรพระสงฆ์ผู้ตั้งมั่นอยู่ในพระธรรมวินัยแต่งตั้งเป็นพระราชา คณะปกครองคณะสงฆ์ รวมถึงการจัดระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ และทรงโปรดให้มีการเรียน พระปริยัติธรรม เหมือนสมัยอยุธยาทุกประการ
การพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น 
     พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงฟื้นฟูพระพุทธศาสนาไปพร้อมกับ การพัฒนาบ้านเมือง ทรงอาราธนาพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์และราชบัณฑิตเป็นกรรมการชำระ พระไตรปิฎก จารึกเป็นอักษรขอมขึ้นใช้เวลา ๕ เดือน จึงเสร็จสมบูรณ์ ซึ่งถือว่าเป็นการทำสังคายนา ครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์
     หลักสูตรการศึกษา
     ในสมัยรัตนโกสินทร์ยุคต้น หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมยังใช้พระไตรปิฎก เรียน ๓ ปี จึงมีการสอบ ๑ ครั้ง  เหมือนครั้งกรุงศรีอยุธยา  ต่อมาในรัชกาลที่ ๒ ได้มีการปรับปรุง หลักสูตรการเรียนการสอนขึ้นใหม่ โดยจัดหลักสูตรเป็น ๙ ชั้น เรียกว่า ประโยค ประโยค ๑-๒_ ๓ เป็นเปรียญตรี ประโยค ๔-๕-๖ เป็นเปรียญโท ประโยค ๗-๘-๙ เป็นเปรียญเอก และผู้ที่สอบ ไล่ได้ ๓ ประโยคแล้วจึงจัดว่าเป็นเปรียญ ถ้าเป็นภิกษุใช้คำนำหน้าว่า พระมหา และถ้าเป็นสามเณร ก็ใช้อักษรย่อและตัวเลขต่อท้าย เช่น สามเณรพุ่ม ป.ธ.๓ เป็นต้น
     สถานศึกษา 
     พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๑ และที่ ๒ โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระที่นั่งมณเฑียร ธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์และ เจ้านาย ส่วนข้าราชการชั้นผู้น้อยให้ไปศึกษาตามวัดต่าง ๆ พอถึงยุครัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้ใช้พระอารามบ้าง ทรงสร้างเก๋งบริเวณพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยภายในพระบรมมหาราชวังบ้าง เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียน  โปรดเกล้าฯ  ให้เลี้ยงเพลพระภิกษุและพระราชทานรางวัลด้วย ภายหลังสถานที่ไม่เพียงพอจึงโปรดเกล้าฯ ให้ใช่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทเป็นที่เล่าเรียน ต่อมา ในรัชกาลที่ ๔ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเก๋งขึ้น  ๔ หลัง ณ วัดพระศรีรัตน ศาสดาราม เพื่อให้เป็นสถานที่ศึกษาเล่าเรียนเพิ่มเติม
การพัฒนาการศึกษาของสงฆ์ : ยุคปฏิรูปประเทศ (ร.๔ - ร.๖)
     การศึกษาของสงฆ์สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔) คงดำเนิน ไปเหมือนเช่นในรัชกาลก่อน  และโปรดเกล้าฯ  ให้สร้างเก๋งอีก ๔ หลัง  ที่วัดพระศรีรัตน ศาสดาราม สำหรับราชบัณฑิตบอกหนังสือพระ ในสมัยนี้ มีปราชญ์ด้านการสงฆ์ คือ สมเด็จพระ มหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีตำแหน่งเป็นสมเด็จพระสังฆราช ได้ปรับปรุงการเรียน การสอนของสงฆ์ให้พัฒนาขึ้น การวัดผลการสอนพระปริยัติธรรมนับเป็นราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง ด้วย อยู่ในพระราชกิจของพระมหากษัตริย์ผู้เป็นพุทธศาสนูปถัมภก เพราะฉะนั้น การสอบแต่ละ ครั้งได้มีเจ้าพนักงานฝ่ายราชอาณาจักรช่วยปฏิบัติดูแล อำนวยความสะดวกด้วย เพราะการสอบ พระปริยัติธรรมแต่ก้อนสอบกันเป็นคราว ๆ  หลาย ๆ  ปีสอบครั้ง  ที่ต้องใช้เวลานานเพราะ นักเรียนต้องนั่งแปลด้วยปากเปล่าต่อหน้าคณะกรรมการทีละองค์เรียงกันไปตามลำดับ
     สมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถือว่าเป็นยุคใหม่แห่งการศึกษาของสงฆ์ ทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ จึงทรงสนับสนุนการศึกษาทั้งทางโลกและการศึกษาสงฆ์ด้วย เพราะพระองค์ทรงประสงค์ให้พระภิกษุสงฆ์ได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งด้านพระปริยัติธรรม และวิชาการ
     สมัยใหม่ควบคู่กันไป เพื่อจะให้พระสงฆ์ในฐานะผู้มีความรอบรู้ทั้งวิชาการทางโลก และทางธรรม ทางพระพุทธศาสนา เพื่อจะนำไปเผยแผ่แก่ประชาชนของไทย และในรัชกาลนี้ได้เริ่มเกิดสำนัก การศึกษาของสงฆ์ที่เข้าสู่ระบบการศึกษาสากล จึงได้ทรงสถาปนาการศึกษาชั้นสูงทางคณะสงฆ์ขึ้น ๒ แห่ง คือ ทรงสถาปนามหาธาตุวิทยาลัยขึ้น เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๒ ที่วัดมหาธาตุ ถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๙ โปรดพระราชทานนามใหม่ว่า  “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”  เพื่อเป็นที่ศึกษา พระปริยัติธรรมและวิชาการชั้นสูง ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๓๖ โปรดให้สถาปนา “มหามกุฏราชวิทยาลัย” ขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหาร อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยทั้ง ๒ แห่งนี้ ก็ยังไม่พร้อมจะดำเนินการใน รัชกาลนี้
     มาถึงรัชกาลที่ ๖ สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงเป็นผู้อำนวย การศึกษาของคณะสงฆ์ได้ร่วมมือกับพระเถระในสมัยนั้น (พ.ศ. ๒๔๕๔) จัดให้มีการศึกษา พระธรรมวินัยในแบบภาษาไทย โดยคัดเลือกหัวข้อธรรมวินัยในพระไตรปิฎก จัดเป็นหมวดหมู่เป็น ชั้น  ๆ ตามความยากง่าย ทั้งนี้เพื่อให้ผู้บวชเข้ามาใหม่เรียนได้ง่ายขึ้น โดยแบ่งเป็น  ๓ ชั้นเรียน คือ  ชั้นตรี  ชั้นโท  ชั้นเอก  ผู้ที่เรียนจึงได้ชื่อว่านักธรรม  พระเณรที่สอบได้  ก็เรียกกันว่า “พระ นักธรรม” หลักสูตรนี้ต่อมาอนุญาตให้ชาวบ้านเข้าสอบด้วย เรียก “ธรรมศึกษา” สำหรับผู้ที่สอบ บาลีได้เป็นเปรียญ และสอบนักธรรมได้อีก เรียกว่า “เปรียญธรรม” ใช้อักษรย่อว่า “ป.ธ.” อนึ่ง ผู้ที่จะสอบบาลีนั้นจะต้องสอบนักธรรมให้ได้ก่อน ถ้าสอบนักธรรมตก บาลีก็โมฆะ คือนักธรรมตรี มีสิทธิ์สอบได้แค่ ประโยค ๑-๒-๓ นักธรรมโท มีสิทธิ์สอบประโยค ๔-๕-๖ ส่วนนักธรรมเอก มี สิทธิ์สอบประโยค ๗-๘-๙
การวัดผลการศึกษา
     ยุคแรกการสอบพระปริยัติธรรมใช้เวลาศึกษา ๓ ปี สอบ ๑ ครั้ง ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงได้กำหนดให้สอบปีละ ๑ ครั้ง ตลอดมา วิธีสอบพระปริยัติธรรมในสมัยรัชกาลที่ ๕ ยังคงใช้ สอบแบบเดิม คือ สอบด้วยปากเปล่า ต่อมาปี พ.ศ. ๒๔๕๕ ได้เปลี่ยนแปลงมาสอบด้วยวิธีเขียน เฉพาะประโยค ๑ และประโยค ๒ ส่วนตั้งแต่ประโยค ๓ ขึ้นไป สอบแปลด้วยปากตามแบบเดิม

การพัฒนาการศึกษาของสงฆ์สมัย ร.๗ - ปัจจุบัน 
     นับตั้งแต่รัชกาลที่ ๖ เป็นต้นมา นโยบายการศึกษาได้เปลี่ยนไป โดยแยกการศึกษาของ ภิกษุสามเณร และเด็กนักเรียนออกจากกัน ตลอดจนถึงส่วนราชการที่รับผิดชอบด้วย โดยให้ กระทรวงศึกษาธิการรับผิดชอบเฉพาะการศึกษา สำหรับเด็กนักเรียนเท่านั้น ส่วนการศึกษาสำหรับ ภิกษุสามเณรให้สังกัดกระทรวงธรรมการ คณะสงฆ์ก็ได้เป็นภาระรับผิดชอบดำเนินการต่างหากออก ไปจนเป็นเอกเทศจากการศึกษาของรัฐ โครงการและแผนการศึกษาของชาติในสมัยต่อมา ก็ไม่ได้ กล่าวถึงสงฆ์และการศึกษาของสงฆ์อีกเลย
     การศึกษาของฝ่ายบ้านเมืองก็ได้มีการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เจริญรุดหน้ามาตามลำดับ มีมหาวิทยาลัย วิทยาลัย โรงเรียน เกิดขึ้นมากมายทั่วทุกส่วนของประเทศและมีการพัฒนาทาง ด้านการเรียนการสอนไปตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ตลอดเวลา ขณะที่สภาพการศึกษาพระปริยัติธรรม มิได้มีการแก้ไขปรับปรุง ทำให้ค่านิยมในหมู่เยาวชนและภิกษุสามเณรที่มีต่อการศึกษาปริยัติธรรม ลดลงไป พระภิกษุสามเณรมีความไม่มั่นใจต่อระบบการศึกษาสายพระปริยัติธรรมเดิมของคณะสงฆ์ จึงได้ขวนขวายเรียนวิชาต่าง ๆ  ทางโลกมากกว่าวิชาพระปริยัติธรรม แต่ปัจจุบันนี้  พระเถระ ผู้บริหารการพระศาสนาเริ่มเปิดกว้างมากขึ้น เพื่อให้ได้เรียนวิชาการสมัยใหม่มากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะ มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ได้แสดงบทบาทเป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและต่างประเทศ จนขยาย วิทยาเขตในทั่วประเทศมากขึ้น
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกธรรม
     ในปี พ.ศ.  ๒๔๕๔ ได้มีการเริ่มศึกษาแบบนักธรรมขึ้นควบคู่กับฝ่ายเปรียญ แต่ยังเป็น การศึกษาของสงฆ์เท่านั้น จนถึงรัชกาลที่ ๗ จึงเปิดโอกาสให้ฆราวาสชายหญิงเข้าเรียนด้วย โดย แยกเป็นแผนกธรรม สำหรับภิกษุสามเณรและแผนกธรรมศึกษาสำหรับฆราวาสชายหญิงแบ่งเป็น ๓ ชั้น นักธรรมศึกษาตรี ชั้นโทและชั้นเอก
     มูลเหตุที่เริ่มให้มีการศึกษาแผนกธรรมขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๖ นั้น เนื่องมาจากทางราชการ ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) ในพระราชบัญญัติฉบับนี้ ได้ ยกเว้นพระภิกษุสามเณรไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร สำหรับผู้รู้ธรรม ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงตั้งหลักสูตรการศึกษาของพระภิกษุสามเณรแบบใหม่นี้เรียกว่า “นักธรรม” มี ๓ ชั้น คือ นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก เริ่มสอบไล่สนาม หลวงเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๗ เป็นต้นมา
      ปี พ.ศ. ๒๔๗๒ ทางคณะสงฆ์อนุญาตให้ครูที่เป็นคฤหัสถ์เข้าสอบไล่วิชานักธรรมตรีใน สนามหลวงคณะสงฆ์ได้ และต่อมาทางคณะสงฆ์ได้อนุญาตให้คฤหัสถ์ชายหญิงเข้าสอบความรู้ นักธรรมในสนามหลวงได้ด้วย โดยกำหนดให้สอบพร้อมกับภิกษุสามเณรทั่วราชอาณาจักร สำหรับ หลักสูตรวินัยบัญญัตินั้น ไม่เหมาะกับคฤหัสถ์ จึงเปลี่ยนเป็นเบญจศีล เบญจธรรมและอุโบสถศีล เป็นหลักสูตรแทน สำหรับผู้เรียนธรรมศึกษาตรี เรียน ๔ วิชา ส่วนธรรมศึกษาโทและเอก เรียน เพียง ๓ วิชา ยกเว้นวิชาวินัย
การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลี
     ตั้งแต่โบราณมาไม่ค่อยมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมากนัก ส่วนใหญ่ยังคงรูปเดิมอยู่ ทั้งทางด้านหลักสูตร การวัดผลและวิธีสอบ ยังยากต่อการเล่าเรียน ต้องใช้เวลามาก และเดิมที การสอบบาลีต้องสอบด้วยปากเปล่า จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๙ จึงให้ยกเลิกการสอบความรู้บาลี ด้วยวิธีแปลปากเปล่า มาใช้เป็นการสอบด้วยวิธีเขียนแทนทุกประโยค ในปัจจุบัน  การสอบบาลีสนามหลวง ป.ธ.  ๑-๒ ถึง ป.ธ.๕ เมื่อสอบได้วิชาหนึ่งและ ตกวิชาหนึ่งแล้ว แม่กองบาลีสนามหลวงเปิดโอกาสให้สอบแก้ตัวอีกครั้ง
     อนึ่งการสอบบาลี เมื่อก่อนไม่กำหนดวันสอบแน่นอน กรรมการจะประกาศเป็นคราว ๆ ไปจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๓๖ จึงกำหนดให้สอบปีละครั้งตลอดมา เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นสอบ ๒ ครั้ง ใน รัชกาลปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๑ นี้เอง
     การศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา
     กระทรวงศึกษาธิการให้ออกระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๕๑๔ เมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ และปรับปรุงใหม่เมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ การศึกษาแบบนี้เป็นการศึกษาแบบประยุกต์หรือเป็นการศึกษารูปแบบ หนึ่งของการศึกษาคณะสงฆ์ เป็นการศึกษาที่รัฐกำหนดให้มีขึ้นตามความประสงค์ของคณะสงฆ์ โดย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ฝ่ายศาสนจักรได้ศาสนทายาทที่ดีมีความรู้ความเข้าใจในหลักธรรมทาง พระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และสืบต่อพระพุทธศาสนาให้เจริญสถาพรต่อไป และฝ่ายบ้านเมือง เมื่อพระภิกษุสามเณรได้ลาสิกขาแล้ว ก็สามารถเข้าศึกษาต่อในสถานศึกษาของรัฐได้ หรือเข้ารับ ราชการสร้างคุณประโยชน์ให้แก่ตนเองและบ้านเมืองสืบต่อไป ปัจจุบันนี้การศึกษาประเภทนี้ได้กระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
     มหาวิทยาลัยสงฆ์
     ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงเห็นว่าการศึกษาเป็นสิ่งสำคัญจึงได้ปฏิรูปการศึกษา จัดการเรียน การสอนให้เป็นระบบเหมือนนานาอารยประเทศ  ให้ราษฎรทุกคนได้ศึกษาอย่างมีระบบ และสำหรับ พระภิกษุสามเณร พระองค์ก็ทรงสนับสนุนให้คณะสงฆ์ได้ศึกษาเล่าเรียน ทั้งด้านพระปริยัติธรรม และวิชาการชั้นสูงสมัยใหม่ควบคู่กันไป ได้ทรงสถาปนามหาธาตุวิทยาลัยขึ้น เมื่อ พ.ศ.  ๒๔๓๒ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.  ๒๔๓๙ ได้พระราชทานนามใหม่ว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” และในปี พ.ศ. ๒๔๓๖ ก็โปรดให้เปิดขึ้นที่วัดบวรนิเวศวิหารและได้ทรงพระราชทานนามว่า “มหามกุฏราช วิทยาลัย”  อย่างไรก็ตามมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งนี้ได้ดำเนินการมาโดยลำดับแต่ก็ยังไม่ ก้าวหน้าถึงขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย เพิ่งจะมายกระดับการศึกษาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในรัชกาลปีจจุบัน นี้เอง  โดยเฉพาะเมื่อ  พ.ศ. ๒๕๑๒ มหาเถรสมาคมได้ออกคำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องการศึกษา ของมหาวิทยาลัยสงฆ์อันเป็นการรับรองว่าการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งนั้นเป็นการ ศึกษาของสงฆ์อย่างเป็นทางการ
     ต่อมา รัฐบาลโดยการยินยอมของรัฐสภา ก็ได้ตราพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะ ผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ.  ๒๕๒๗ ลงวันที่  ๘ ตุลาคม พ.ศ.  ๒๕๒๗ และได้ตรา พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๐ ลงวันที่ ๒๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยให้มีสถานะเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของ รัฐและเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลไทย จัดการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีถึงปริญญาเอก เปิดสอนทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์และจัดหลักสูตรทั้งภาค ภาษาไทยและภาคภาษาอังกฤษ เพื่อผลิตบัณฑิตเป็นสะพานเชื่อมเครือข่ายทั่วโลก แนวโน้มการพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ในอนาคต
     ปัจจุบันนี้ การศึกษาในวงการคณะสงฆ์ได้พลิกโฉมหน้าไปอย่างมาก โดยได้มีการจัดการ ศึกษาสมัยใหม่เพิ่มขึ้นอีก ไม่เหมือนสมัยดั้งเดิมที่เน้นอยู่เฉพาะการศึกษาแผนกนักธรรมและภาษา บาลีเท่านั้น แต่ได้เปลี่ยนมาเป็นระบบการศึกษาในรูปแบบของการศึกษาปริยัติธรรมสายสามัญ และ มหาวิทยาลัยระดับอุดมศึกษาขึ้นไป เพื่อเน้นให้พระสงฆ์มีความสมบูรณ์ทางความรู้ในหลาย ๆ ด้าน โดยเน้นในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาแก่ชาวต่างประเทศด้วย
      ยิ่งขณะนี้  พระสังฆาธิการระดับต่าง  ๆ  ได้ตื่นตัวในการศึกษาเพื่อให้มีความรู้ด้าน ต่าง ๆ ให้ทันกับเหตุการณ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้เปิดหลักสูตรประกาศนีย บัตรการบริหารกิจการคณะสงฆ์  (ปบ.ส.) ตั้งแต่ปี  พ.ศ. ๒๕๔๗ เป็นต้นมา พระสังฆาธิการ ทั่วประเทศได้ศึกษาหลักสูตร ปบ.ส. ๑ ปี และสามารถเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรี และขณะนี้มี พระสังฆาธิการได้เรียนจบปริญญาตรี และกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท นับว่าเป็นหลักสูตรที่ ทำให้พระสังฆาธิการสนใจและศึกษาเป็นจำนวนมาก
บทสรุป
     ขณะนี้สังคมไทยกำลังสนใจเรื่องโครงสร้างการบริหารองค์กรต่าง ๆ และสังคมการศึกษา มีการเปลี่ยนแปลง มีการใช้เทคโนโลยีมากขึ้น กำหนดให้ครูอาจารย์เป็นผู้บริหารมืออาชีพในการ กำหนดวิธีการและเครื่องมือในการวัดจริยธรรม คุณธรรม และวัดคุณภาพทั้งภายในและภายนอก ในการประกันคุณภาพทางการศึกษา ส่วนในการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้ ให้ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ต่าง ๆ ให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ของชุมชน เมื่อการศึกษาทางโลกมีการเปลี่ยน แปลงอยู่เสมอ และมีความตระหนักที่จะนำศีลธรรมเข้าไปแก้ปัญหาของสังคม เช่น รัฐบาลได้ สนับสนุนให้พระเป็นครูสอนศีลธรรมในโรงเรียนทั่วประเทศเป็นต้น ดังนั้น กระบวนการจัดการ ศึกษาของคณะสงฆ์โดยเฉพาะพระปริยัติธรรมทั้งแผนกบาลีและแผนกธรรม จึงควรที่จะมีการ เปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เข้าเป็นระบบ เพื่อจะได้รองรับเด็กที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ สามารถ เข้ามาศึกษาในคณะสงฆ์ และสามารถเทียบโอนกันได้ก็จะทำให้เด็กที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา อยู่แล้ว  ได้ศึกษาทั้งฝ่ายธรรมและฝ่ายโลกควบคู่กันไป และเป็นการสร้างศาสนทายาทและเปิด โอกาสให้เป็นทางเลือกใหม่ในการศึกษาของชาติ เพราะเหตุว่าการเรียนในโรงเรียนทั่วไปนั้นจะมี ปัญหาเรื่องยาเสพติด เรื่องคุณธรรมจริยธรรม ถ้าเข้ามาบวชเรียนในวัด พระจัดการดูแลให้ คือ จัดศาสนศึกษาซึ่งเป?นการจัดการศึกษาสำหรับพระภิกษุสามเณรที่เข้ามาบวชเรียนเพื่อเป็นทางเลือก หนึ่งของผู้ต้องการให้ลูกของตนเองมีคุณธรรมและจริยธรรม เข้ามาบวชเรียนเพื่อที่จะเป็นพลเมือง ดีของชาติ และรัฐจะต้องให้การสนับสนุนด้านงบประมาณเหมือนโรงเรียนทั่วไป
     สิ่งสำคัญ ผู้บริหารคณะสงฆ์ จะต้องเร่งพัฒนาหลักสูตรการศึกษาของคณะสงฆ์โดยเฉพาะ หลักสูตรพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลีให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ที่สามารถรักษาสาระหลักสูตร เดิมไว้และสามารถเทียบโอนผลการเรียนกับการจัดการศึกษาสามัญทั่วไปของรัฐ มิฉะนั้นในทศวรรษ หน้า คณะสงฆ์จะเกิดวิกฤติขาดแคลนผู้เข้ามาบวชเรียนและสืบต่อพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรง