ประวัติหลวงพ่อเดิม
พระครูนิวาสธรรมขันธ์ หรือ หลวงพ่อเดิม
วัดหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ เกิดเมื่อวันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๐๓
โดยมีบิดาชื่อ เนียม เป็นชาวบ้านเนินมะกอก อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์
โยมมารดาชื่อ ภู่ เป็นชาวบ้านหนองโพ ท่านเป็นลูกชายคนโตของพี่น้องทั้งหมด ๖ คน คือ
1. หลวงพ่อเดิม
2. นางทองคำ คงหาญ
3. นางพู ทองหนุน
4. นายดวน ภู่มณี
5. นางพันธ์ จันทร์เจริญ
6. นางเปรื่อง หมื่นนราเดชจั่น
การศึกษาเมื่อเยาว์วัย
ก่อนการอุปสมบทนั้นท่านไม่ได้เล่าเรียนอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน
คงใช้ชีวิตอย่างชาวไร่ชาวนา ตราบจนอุปสมบท เมื่ออายุ ๒๐ ปี เมื่อวันที่ ๓๑ ตุลาคม
พ.ศ.๒๔๒๓ ที่วัดเขาแก้ว อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ โดยมีหลวงพ่อแก้ว
วัดอินทาราม (วัดใน) เป็นพระอุปัชฌาย์หลวงพ่อเงิน (พระครูพยุหานุศาสก์)
วัดพระปรางค์เหลือง กับ หลวงพ่อเทศ วัดสระทะเลเป็นคู่สวดได้นามฉายาว่า “พุทฺธสโร” ครั้นอุปสมบทแล้วมาจำพรรษาอยู่ที่
วัดหนองโพ
เนื่องจากท่านมิได้มีการศึกษามามากนักก่อนอุปสมบท
ท่านจึงต้องมาเริ่ม ศึกษาอย่างจริงจังเมื่ออุปสมบทแล้ว
โดยที่หลวงพ่อเดิมท่านเป็นคนมีความเพียรสูง ดังที่ท่านเคยพูดไว้ว่า “ท่านมีนิสัยจะทำอะไรต้องทำให้สำเร็จ คิดอะไรไม่ได้เป็นไม่ยอม หยุดคิด
คิดมันไปจนออกจนเข้าใจ”
การศึกษาในวิชาสาขาต่างๆ
ท่านได้เรียนจากหลายครูหลายอาจารย์ ทั้งฆราวาส และ พระภิกษุ คือ
- หลวงตาชม (เจ้าอาวาส วัดหนองโพในสมัยนั้น)
เรียนพระปริยัติธรรม
- นายพัน ชูพันธ์ ชาวบ้านหนองโพ ซึ่งเป็นผู้เรืองวิชา
ท่านได้เรียนวิชาอาคม
- หลวงพ่อมี วัดบ้านมน อำเภอพยุหะคีรี
จังหวัดนครสวรรค์ เรียนทางปริยัติธรรม
- หลวงพ่อนุ่ม วัดเขาทอง เรียนเรื่องการเทศน์
- อาจารย์แย้ม (เป็นฆราวาส) วัดสระทะเล
เรียนพระธรรมวินัย
- หลวงพ่อเทศ วัดสระหวาน เรียนวิปัสสนาธุระ
- หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง
เรียนวิปัสนากรรมฐาน การเจริญกสิน ทำน้ำมนต์
- หลวงพ่อวัดเขาหน่อ (ไม่ทราบชื่อ)
เรียนวิชาอาคม
- หลวงพ่อขำ วัดเขาแก้ว เรียนวิชาการทำมีดหมอ
ด้วยเหตุที่มีจิตใจแน่วแน่ มีความพากเพียร
ดังได้กล่าวแล้ว ประกอบกับได้ ศึกษาจากผู้มีวิชาความรู้มากมายหลายท่าน ทั้งฆราวาส และพระภิกษุ
ท่านจึงได้ชื่อว่า “พระอาจารย์ขลัง” จนเป็นที่เลื่องลือ
นายธนิต อยู่โพธิ์ อดีตอธิบดีกรมศิลปากร
ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อเดิม ได้เขียนบันทึกไว้ว่า กิตติคุณในเรื่อง “วิชาขลัง” ของหลวงพ่อนั้น
เป็นที่เลื่องลือกันแพร่หลาย มานานหนักหนา มีเรื่องเล่ากันต่างๆ
หลายอย่างหลายเรื่อง ถ้าจะจดลงไว้ก็จะเป็น หนังสือเล่มใหญ่ ผู้เขียน (นายธนิต
อยู่โพธิ์) เคยได้ยินได้ฟังมาตั้งแต่เด็ก ครั้นเมื่อมีอายุมากขึ้น
คราวหนึ่งเมื่อมีโอกาสจึงกราบเรียนหลวงพ่อตรงๆว่า “มีดีจริงอย่างที่เขาเลื่องลือกันหรือขอรับ”
ท่านก็ยิ้มรับแล้วตอบว่า “เขาพากัน
เชื่อถือกันว่าอย่างนั้นดีขอให้ทำก็ทำให้” ฟังดูเหมือนหลวงพ่อทำให้ตามใจผู้ขอ
ผู้เขียนจึงกราบเรียนต่อไปว่า “คาถาแต่ละบทดูครูบาอาจารย์แต่ก่อน
ท่านก็บอกฝอยของท่านไว้ล้วนแต่ดีๆ บางบทก็ใช้ได้หลายอย่างหลายด้าน จะเป็นจริงตามนั้นบ้างไหม?”
หลวงพ่อได้ชี้แจงอย่างกลางๆ เป็นความสั้นๆ ว่า “ของจริง รู้จริง เห็นจริง ย่อมทำได้จริง” ครั้นผู้เขียนได้ฟังอย่างนี้
ก็มิได้กราบเรียนซักถามหลวงพ่อต่อไป
สมณศักดิ์
- ราว พ.ศ.๒๔๓๕ เป็นเจ้าอธิการเดิม
- วันที่ ๓๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๕๗ วันเฉลิมพระชนมพรรษาของรัชกาลที่
๖ เป็น “พระครูนิวาสธรรมขันธ์” โดยมีบันทึกว่า
“ให้เจ้าอธิการเดิม วัดหนองโพ เป็นพระครูนิวาสธรรมขันธ์
รองเจ้าคณะ แขวงเมืองนครสวรรค์”
- พ.ศ.๒๔๖๒ เป็น พระอุปัชฌาย์
ท่านอายุยืนยาวถึง ๙๒ ปี ๗๑ พรรษา
จึงถึงแก่มรณภาพ เมื่อวันที่ ๒๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๔ เวลา ๑๗.๔๕ นาที
ท่านนับได้ว่าเป็นที่พึ่งของชาวบ้าน มาเป็นระยะยาวนาน
ในวันที่ท่านมรณภาพนั้นสระน้ำของวัดมีน้ำอยู่น้อยมาก
ท่านมีความห่วงใยได้พูดว่า “น้ำในสระมีพอกินกันหรือ” ศิษย์ผู้พยาบาลอยู่ตอบว่า “ถ้าฝนไม่ตกภายใน ๖-๗
วันนี้ น่ากลัวจะถึงอัตคัดน้ำ” หลวงพ่อก็นิ่งสงบ
ไม่พูดไม่ถามอะไรอีก หลังจากวันนั้นไม่นานกลุ่มเมฆก็ตั้งเค้ามาและฟ้าคะนองไม่ช้า
ฝนก็ตกห่าใหญ่ จนน้ำไหลลงสระราวครึ่งค่อนสระ พอฝนตกขาดเม็ดหลวงพ่อก็ มรณภาพ
เรื่องนี้เป็นเรื่องอัศจรรย์และอภินิหารของหลวงพ่อที่ชาวบ้านประจักษ์กัน
ในวันที่ท่านมรณภาพ
อภินิหารครั้งสุดท้ายของหลวงพ่อเดิม
ในวันนั้นหลวงพ่อเดิมมีอาการเพียบหนัก
แต่สติของหลวงพ่อเดิมยังดีอยู่ คงหลับตานอนอยู่กับที่พร้อมกับเจริญภาวนาเป็นลำดับ
สลับกับการลืมตาถามเวลาว่าเวลาเท่าใดแล้วเป็นระยะๆ ไป
ไม่แสดงอาการกระสับกระสายให้เห็นเลย
คงมีความอดทนอย่างเยียมยอดสมกับเป็นนักปฏิบัติธรรมอย่างเยี่ยม เป็นเวลาประมาณ
๑๗.๐๐ น. หลวงพ่อลืมตาแล้วถามเวลาเป็นครั้งสุดท้าย
คราวนี้หลวงพ่อถามว่าน้ำในสระทั้งสองลูกมีระดับเป็นอย่างไร พอกินกันไหม
เพราะหลวงพ่อไม่ได้ออกไปตรวจตรา จึงเป็นห่วง
ด้วยน้ำในสระนั้นคือเส้นโลหิตใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวบ้านหนองโพด้วยเป็นที่ดอนกันดารน้ำ
หลวงพ่อพยายามขยายสระให้กว้างขึ้นเป็นลำดับเพื่อเก็บกักน้ำ
ผู้ดูแลท่านจึงตอบว่าแห้งขอดลงไปแล้วเพราะฝนไม่ตกมาเป็นระยะนานแล้งมาก
ถ้าฝนไม่ตกลงมาในวันสองวันนี้น่ากลัวจะอดน้ำกันแน่นอน
เมื่อหลวงพ่อได้ยินดังนั้นก็ไม่กล่าวว่าอะไร สองมือของท่านประคองขึ้นไว้บนหน้าอกของท่าน
นัยน์ตาของท่านหลับสนิทมองเห็นทรวงอกของท่านสะท้อนขึ้นลงแผ่วๆ
ในลักษณะการเข้าสมาธิเป็นลำดับ
ทันใดนั้นเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้นเป็นที่เล่าสืบกันมาถึงทุกวันนี้
กล่าวคือฟ้าที่สว่างไม่มีเค้าแห่งเมฆฝนเลยแม้แต่น้อย
กลับมืดครึ้มลงเป็นลำดับด้วยเมฆฝนที่ตั้งเค้า พร้อมกับสายลมกระโชกแรงขึ้น
และฝนก็พร่างพรมลงจากฟากฟ้าดุจเทพมนต์ ตกหนักมากตกอย่างไม่ลืมหูลืมตา
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในระยะเวลาอันสั้นไม่มีใครคิดเหนือความคาดหมายว่าฟ้าที่สว่างๆ
ไม่มีวี่แววฝนนั้นจะมีเมฆฝนและฝนตกลงมาก่อนเลย ฝนตกลงมาจนกระทั่งน้ำไหลลงไปในสระได้ครึ่งสระทั้งสองลูกเป็นระยะเวลาประมาณ
๓๐ นาที ฝนจึงเริ่มขาดเม็ดลง
พร้อมกันนั้นลมหายใจของหลวงพ่อก็ขาดหายไปพร้อมกับสายฝนเป็นอัศจรรย์
อันเป็นสิ่งที่แสดงว่าหลวงพ่อได้บันดาลให้ฝนตกลงมาเพื่อต่อชีวิตชาวหนองโพไม่ให้อดน้ำ
โดยอาศัยบารมีศีลอันบริสุทธิ์ของท่าน
และอำนาจฌาณสมาบัติอันสูงส่งของหลวงพ่อเป็นอภินิหารครั้งสุดท้าย
ที่หลวงพ่อแสดงให้เห็นประจักษ์ชัดถึงบารมีของท่าน
ด้วยเมตตาบารมีที่ท่านมีต่อสัตว์ผู้ยากคือชาวหนองโพที่จะอดน้ำกันเดือดร้อน
นี่แหละเมตตาธรรมของท่านแม้ชีวิตท่านจวนจะดับสูญแล้วยังอุตส่าห์เป็นห่วงเป็นใยในผู้ที่อาศัยบารมีท่าน
ร่มโพธิ์ใหญ่ในวัดหนองโพล้มลงแล้ว
ร่มโพธิ์ที่เคยให้ร่มเงากับศานุศิษย์ได้ถูกพายุแห่งการเวลาพัดกระโชกจนถึงการล่มสลาย
เป็นที่น่าเสียดาย
เมื่อผู้ใกล้ชิดจับชีพจรดูจนแน่ใจว่าหลวงพ่อมรณภาพแล้ว
คณะกรรมการวัดได้จัดกุฏิของหลวงพ่อให้เข้ารูป
พร้อมทั้งค้นดูของหลวงพ่อมีอะไรเป็นของมีค่า
ที่จะเก็บรักษาไว้เป็นสมบัติของวัดต่อไป จากการค้นตรวจสอบทั่วทุกตารางนิ้ว
ไม่ปรากฏว่ามีของมีค่าหรือเงินทองอยู่แม้แต่สลึง ในย่ามของหลวงพ่อก็ไม่มี
มีอยู่สิ่งเดียวก็คือ คัมภีร์ใบลานเก่าๆ เล่มเล็กๆ ที่หลวงพ่อใช้อ่านสอนตัวเองอยู่จนตลอดชีวิต
จากการนี้เองทำให้ทุกคนประจักษ์ความจริงว่า หลวงพ่อเป็นพระแท้
เป็นพระที่เป็นผู้ให้ไม่สะสม ไม่ติดในลาภสักการะและโลกธรรมแปด
เป็นพระพุทธบุตรที่ซื่อตรงต่อคำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระบรมศาสดา
และดำเนินตามทางมรรคผลนิพพาน ที่องค์พระบรมครูวางไว้ทุกประการ
บทสรุป
พระครูนิวาสธรรมขันธ์ หรือ หลวงพ่อเดิม
วัดหนองโพ ท่านเป็นพระเกจิ อาจารย์รุ่นเก่าของจังหวัดนครสวรรค์
ท่านได้สร้างความเจริญให้กับวัดในท้องถิ่นจังหวัดนครสวรรค์หลายสิบวัด
หลวงพ่อเดิมท่านนับเป็นผู้มี “วิชาขลัง” จนเป็นที่เลื่องลือ และมีผู้คนทั่วไปเคารพนับถือ
ในเรื่องของความศักดิ์สิทธิ์
ของวัตถุมงคลของหลวงพ่อมากมายโดยหลวงพ่อเดิมท่านได้สร้างวัตถุมงคล
และเครื่องรางของขลังไว้หลายชนิดด้วยกัน เช่น ตะกรุด ผ้ารอยเท้าเหยียบ ผ้าประเจียด
รูปถ่าย พระปิดทวารเนื้อโลหะ เหรียญ รูปเหมือนหลวงพ่อเดิม (มีทั้งหล่อและปั๊ม)
สิงห์งาแกะ พระงาแกะ มีดหมอ(ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่) และ แหวน เป็นต้น
แต่ทุกอย่างล้วนแล้วเป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก
ซึ่งบางอย่างก็มีค่านิยมสูงมากเช่นกัน
ส่วนความศักดิ์สิทธิ์ในวัตถุมงคลของหลวงพ่อเดิมนั้นมีเรื่องเล่ามากมายจน
นายธนิต อยู่โพธิ์ ลูกศิษย์ของท่าน เขียนไว้ว่า “ถ้าจะจดลงไว้ก็จะเป็น
หนังสือเล่มใหญ่” และคงจะไม่เกินความจริงที่จะกล่าวว่าท่านเป็นพระเกจิอาจารย์
อันดับหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์ตลอดกาล
วัตถุมงคลหลวงพ่อเดิมที่ได้รับความนิยม
- เหรียญรุ่นแรกสร้างปี พ.ศ.2470 เป็นเหรียญเสมา
- เหรียญที่นิยมคือ เหรียญรูปไข่ ปี 2482 มี 2 เนื้อ
คือ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง มีบล๊อคดอกจันตรงและจันโค้ง
- รูปเหมือนปั๊ม รูปเหมือนหล่อ
- ตะกรุดแบบต่าง ๆ มีดหมอขนาดต่าง ๆ
- แหวน
เสื้อยันต์ ผ้ายันต์ และอื่น ๆ ที่แกะจากงา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น