วันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2555


พระธรรมภาวนา-ร.ร.มัธยมเทียนจิน ประเทศจีน
 หนุน ร.ร.วัดราชบพิธ เรียนรู้สัมผัสวัฒนธรรมจีน


อาจารย์สุรพล การบุญ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดราชบพิธ นับเป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และที่สำคัญท่านเป็นศิษย์ของ พระธรรมภาวนาวิกรม ผู้บุกเบิกโครงการเพชรยอดมงกุฎ โดยเฉพาะวิชาภาษาจีน ที่กำลังโด่งดัง ไปถึงประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยล่าสุดได้เปิดโครงการ “เรียนรู้สัมผัสวัฒนธรรมจีน” และได้นำคณะนักเรียนครูบาอาจารย์ ไปศึกษาหาความรู้ที่โรงเรียนมัธยมเทียนจิน ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน อีกด้วย!!!
กล่าวสำหรับประวัติความเป็นมาของโรงเรียนวัดราชบพิธ อาจารย์สุรพล ได้เปิดเผยว่า
โรงเรียนวัดราชบพิธ ได้ถือกำเนิดขึ้นมาจากโรงเรียนสอนภาษาไทยในยุคต้นของการจัดการศึกษาในระบบโรงเรียนของไทย ในแผ่นดินของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปิยะกษัตริย์แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในกาลครั้งนั้น พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร เมื่อครั้งยังดำรงตำแหน่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ เจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ได้ทรงทำความตกลงกับกรมศึกษาธิการ แต่ครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงดำรงตำแหน่งอธิบดี จัดตั้งโรงเรียนวัดราชบพิธขึ้นเมื่อ ปีระกาสัปตศก จุลศักราช 1247 ตรงกับ รัตนโกสิทร์ ศก 104 หรือปี พุทธศักราช 2428 ดังปรากฏหลักฐานรายชื่อโรงเรียนวัดราชบพิธ อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา เล่ม 1 หน้า 139
เมื่อครั้งแรกตั้งโรงเรียนนั้น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร ได้ทรงอนุญาตใช้ชั้นบนของตึกศาลาการเปรียญข้างสระน้ำด้านถนนเฟื่องนครซึ่ง ใช้เป็น " ภัณฑาคาร " สำหรับเก็บรักษาถาวร วัตถุของสงฆ์ เป็นสถานที่เล่าเรียนโดยมิต้องเสียค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด ในกาลครั้งนั้นโรงเรียนวัดราชบพิธมีนักเรียนทั้งสิ้น 53 คน มีครู 2 คน มีนายกวีซึ่งต่อมาได้ลาออกไปรับราชการในกรมระอาลักษณ์ และได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น " ขุนสุทรลิขิต " เป็นครูใหญ่ มีชั้นเรียนเพียงชั้นเดียว คือ ชั้นประโยคหนึ่ง โดยนักเรียนที่สอบได้ประโยคหนึ่ง คนแรกขอโรงเรียนคือ พระสวัสดิ์นคเรศ สอบไล่ได้เมื่อ พ.ศ. 2430
ต่อมาอีกประมาณ 3 ปี คือราว พ.ศ. 2431 ในสมัยที่ นายพยอม เป็นครูใหญ่ ผู้คนในละแวกใกล้ไกลนิยมส่งบุตรมาเข้าเรียนมาขึ้น ทำให้สถานที่เล่าเรียนคับแคบ พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้า พระอรุณนิภาคุณาการ พระผู้ก่อกำเนิดโรงเรียนวัดราชบพิธ จึงได้ทรงให้ย้ายไปทำการสอนที่ชั้นล่างของตำหนักที่ประทับของพระองค์ (ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้คือที่ตั้งขออาคารภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์ 1 ซึ่งเป็นอาคาร 3 ชั้นที่อยู่ติดกับสุสานหลวง) แต่กระนั้นก็ตาม ผู้คนก็นิยมส่งบุตรมาเข้าเรียนจนสถานที่ชั้นล่างของตำหนักนั้นไม่เพียงพออีก พระองค์จึงทรงประทานศาลารายรอบบริเวณให้ใช้เป็นห้องเรียนอีก 3 หลัง ในยุคนี้โรงเรียนวัดราชบพิธมีเพียงชั้นประถม 1 - 4 เท่านั้น มีนักเรียนประมาณ 100 คน และมี นายรอด รักตะประจิตร หรือ หลวงชำนาญอนุสาสน์เป็นครูใหญ่
ในสมัยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราช ทรงเป็นเจ้าอาวาสวัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม พระองค์ได้ทรงประทาน ศาลารายหลังที่อยู่ดานถนนเฟื่องนคร ให้ใช้เป็นสถานที่เรียนอีก 1 หลัง ด้วยทรงเล็งเห็นความอัตคัตของสถานที่เรียน โรงเรียนจึงได้ใช้ศาลารายทั้ง 4 หลัง กับชั้นล่างของตำหนักเป็นที่เรียน อย่างไรก็ดีโรงเรียนวัดราชบพิธก็ได้เจริญโดยลำดับ จนกระทั่ง พ.ศ. 2457 สถานที่เรียนก็ไม่เพียงพอ ราชบุรุษกวย ป.ป. ครูใหญ่ในขณะนั้นได้ทูลขอชั้นบนของตำหนัก ซึ่งมีพระสงฆ์อาศัยอยู่เป็นที่เรียน พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสงฆ์ราชเจ้าก็ได้มีพระเมตตาทรงโปรดประทานให้ตามประสงค์ ในพ.ศ. 2487 พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสงฆ์ราชเจ้าก็ได้ทรงประทานทุนส่วงนพระองค์สร้างตึกสัมฤทธิ์วิทยา การให้เป็นที่เล่าเรียนอีก 1 หลังด้วยเหตุนี้มีการยกฐานะโรงเรียนเดิมให้เป็นมัธยมตอนต้น โรงเรียนวัดราชบพิธจึงเปลี่ยนชื่อเป็น "โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธ" ดังปรากฏหลักฐานดวงตราที่ประทับอยู่บนหนังสือของห้องสมุดโรงเรียนหลายสิบ เล่ม โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธในเวลานั้นมีเพียงชั้นมัธยม 1 - 3 ส่วนประถม 1 - 3 ที่มีอยู่เดิมก็ย้ายไปอยู่โรงเรียนประถมวัดสุทัศน์แทน โรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธได้เจริญโดยลำดับ จนกระทั่งปี พ.ศ. 2467 จึงได้เริ่มเปิดชั้นมัธยมศึกษา ตอนปลาย ในสมัยที่ขุนกิตติเวทย์เป็นครูใหญ่ ปีพ.ศ. 2469 อันเป็นปีที่โรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียนถึง 401 คน และในปี พ.ศ. 2474 นักเรียนโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธก็สามารถสอบไล่ได้เป็นที่ 1 ของประเทศคือ นายสุดใจ เอี่ยมอุดม
ปีพ.ศ. 2478 ขุนชำนิอนุสาสน์ (เส่ง เลาหะจินดา) ครูใหญ่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมการได้ไปเฝ้าพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสงฆ์ราชเจ้า ผู้ทรงอุปการะโรงเรียนทูลขอสถานที่เล่าเรียนเพื่อจะขยายชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 7 - 8 แผนกวิทยาศาสตร์ พระองค์ก็ได้ทรงพระเมตตาประทานทุนสร้างตึก " สัมฤทธิ์วิทยาการ " ให้พร้อมทั้งจัดตั้งอุปกรณ์การศึกษาให้เสร็จทั้งยังทรงฉลองตึกให้เสร็จในปี พ.ศ. 2479 อันเป็นปีรุ่งขึ้น แต่กระทรวงธรรมการในเวลานั้นกลับอนุญาตให้เปิดแผนภาษาแทน และสั่งยุบโรงเรียนมัธยมศึกษาวัดมหรรณพ์ มารวมกับโรงเรียนนี้
หลังจากที่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสงฆ์ราชเจ้า สิ้นพระชนม์เมื่อ 25 สิงหาคม 2480 แล้ว พระศาสนโสภณ ( ภาณก) เจ้าอาวาสยุคที่ 3 ได้เป็นผู้อุปาระสืบต่อมาในปี พ.ศ. 2481 กระทรวงธรรมการได้สั่งให้ยุบโรงเรียนมัธยมวัดมหาธาตุกับโรงเรียนมัธยมกล่อม พิทยากร มารวมกับโรงเรียนวัดราชบพิธในสมัยขุนวิทยาวุฑฒิ (นวม ชัยรัตน์) เป็นครูใหญ่ ทำให้มีนักเรียนเพิ่มขึ้นถึง 560 คน จนสถานที่เรียนไม่เพียงพอ ต้องขอยืมใช้สถานที่ในสุสานหลวงจากพระธรรมปาโกข์ ผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าอาวาส ใช้เป็นสถานที่เรียนชั่วคราว และได้ร่วมมือกันหารือกับพระธรรมปาโมกข์ราชทินนามท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระ สังฆราชฯ วาสนมหาเถระ ในเวลานั้น พระจุลคณิศร และพ.อ.พระยาศรีสุรสงคราม เพื่อหาทุนสร้างโรงเรียนถวายเป็นอนุสรณ์แต่พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริรัตน์ สมเด็จพระสงฆ์ราชเจ้า
ในปลายปี เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2481 ขุนชำนิอนุสาสน์ได้กลับจาการเป็นผุ้แทนราษฎรมารับตำแหน่งครูใหญ่อีกทั้งยัง ได้รับอนุมัติจากพระศาสโสภณ เจ้าอาวาสให้จัดสร้างอาคารเรียนเพิ่มอีก 4 หลังคือ พ.ศ. 2484 สร้างตึกชินวรศรีธรรมวิทยาคาร และพ.ศ. 2485 สร้างตึกภุชงค์ประทานวิทยาสิทธิ์1,2 และ 3
ครั้นต่อมาปี พ.ศ. 2487 - 2488 นายพิศาล มั่นเสมอ ครูใหญ่ เวลานั้นได้ติดต่อขอทุนกรมสามัญศึกษาจัดการซื้อหนังสือไทยและต่างประเทศ เพื่อจัดตั้งห้องสมุด แต่ท่านได้ถึงแก่กรรมเสียก่อนเมื่อ 27 ธันวาคม 2488 จนกระทั่งปี พ.ศ. 2492 กระทรวงศึกษาธิการได้ดำริให้มีห้องสมุดโรงเรียนขึ้น โดยเลือกเอาโรงเรียนแห่งนี้เป็นที่ตั้งห้องสมุดกลาง สำหรับโรงเรียนมัธยมศึกษาโดยใช้ตึกภุชงค์ประทานวิยาสิทธิ์ 3 เป็นที่ตั้งเปิดทำการครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2492 มีอาจารย์ รสา วงศ์ยังอยู่ เป็นบรรณรักษ์คนแรก ในสมัยที่นายโกวิท ประทัตสุนทรสาร เป็นครูใหญ่ และโรงเรียนมัธยมวัดราชบพิธได้เจริญมาโดยลำดับจวบจนกระทั่งสถานที่ที่มีอยู่ มีความคับแคบ แยกบางส่วนไปเรียนในบริเวณวัดสุทัศน์ พร้อม ๆ กับการขาดหายไปของคำว่า "มัธยม" ในนามโรงเรียนจนกลายเป็น "โรงเรียนวัดราชบพิธ" ในปัจจุบัน
นับเนื่องจากการที่อาจารย์ผลใจสว่าง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดราชบพิธคนที่ 23 ได้มองเห็น ความอัตคัตเรื่องสถานที่เรียน ทั้งสมเด็จพระอริยะวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก ทรงมีพระดำริเรื่องที่นักเรียนของโรงเรียนวัดราชบพิธมีความยากลำบากในเรื่อง สถานที่เรียนแออัด ทรงมีพระประสงค์ที่จะะขยายสถานที่เรียนให้กว้างขวางออกไป ได้มีผู้ประสงค์จะทูลถวายที่ดินให้โรงเรียนหลายรายด้วยกัน แต่พระองค์ทรงเห็นว่าที่เหล่านั้นไกลจากวัด และโรงเรียนเดิมมากเกินไปจนกระทั่งปี พ.ศ. 2524 โรงเรียนวัดราชบพิธได้ที่ดินแปลงหนึ่งจำนวน 9 ไร่ 1 งาน 46 ตารางวา ซึ่งเป็นที่ตั้งอาคารคลังยกกระบัตร กรมพลาธิการทหารบก ตั้งอยู่บริเวณสวนเจ้าเชตุ ไม่ไกลจากวัดและโรงเรียนเดิมเหมาะที่จะสร้างขยายโรงเรียน เพราะกองทัพบกเจ้าของที่นั้นมีโครงการจะย้ายคลังพัสดุไปที่ อำเภอปากเกร็ด จังหวัด นนทบุรี
สมเด็จพระอริยวงศ์ศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก จึงทรงมีพระลิขิตถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม(พลเอกเปรม ติณสูลานนท์) เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2525 เพื่อทรงขิบิณฑบาตรที่ดินดังกล่าวสำหรับใช้เป็นสถานที่ก่อสร้างขยายโรงเรียน วัดราชบพิธ ภายหลังที่กองทัพบกได้ย้ายคลังพัสดุออกไปแล้ว จนกระทั่งเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2531 ในมหามงคลสมัยที่เจริญพระชนมายุ 90 พรรษา กองทัพบก โดยพลเอกเชาวลิตร ยงใจยุทธ ผู้บัญชาการทหารบกรักษาราชการผู้บัญชาการทหารสูงสุด ด้วยความเห็นชอบของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีได้น้อมเกล้าถวายเอกสารสิทธิ์ที่ดินราชพัสดุ ที่ตั้งอาคารคลังยกกระบัตร แด่สมเด็จพระสังฆราชฯ พร้อมกันนี้ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการสร้างอาคารโรงเรียนวัดราชบพิธเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2531 โดยมีพลเอกเชาวลิตร ยงใจยุทธ เป็นประธาน และสมเด็จพระสังฆราชฯ ได้เสด็จทอดพระเนตรสถานที่ก่อสร้างขยายโรงเรียนวัดราชบพิธเป็นครั้งแรกและ ครั้งสุดท้าย เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2531 ก่อนสิ้นพระชนม์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2531
วันที่ 5 เมษายน 2532 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ทรงวางศิลาฤกษ์อาคารเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ณ สวนเจ้าเชตุ โดยได้รับงบประมาณการก่อสร้างโรงเรียนจากกรมสามัญศึกษา 39,560,00 บาท เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงเรียนมัธยมศึกษาคอมเพล็กซ์แห่งแรกของประเทศไทย พร้อมทั้งอาคารพลศึกษาและสระว่ายน้ำในวงเงิน 117 ล้านบาท การก่อสร้างได้ดำเนินไปจนกระทั้ง สามารถย้ายนักเรียนเข้าไปเรียนยังสถานที่เรียนแห่งใหม่ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2533 เป็นต้นมา
วันที่ 2 มีนาคม 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ทรงเปิดอาคารเรียน โรงเรียนวัดราชบพิธแห่งใหม่ ซึ่งเป็นวาระดิถีวโรกาศวันคล้ายวันประสูติใน สมเด็จพระอริยะวงศาคตาญาณ  วาสนมหาเถระ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
ปัจจุบันโรงเรียนวัดราชบพิธ ได้พัฒนาขึ้นโดยลำดับโดย อาจารย์สุรพล การบุญ ผู้อำนวยการ คนปัจจุบันร่วมกับพระธรรมภาวนาวิกรม เจ้าคุณธงชัย วัดไตรมิตร และโรงเรียนมัธยมเทียนจิน  ได้เล็งเห็นความสำคัญ ด้านวิชาภาษาจีน จึงได้สนับสนุนนักเรียน ให้ได้เรียนรู้อย่างจริงจัง จากเจ้าของภาษา เพื่อพัฒนาให้เยาวชนได้นำไปใช้ประโยชน์ในอนาคตได้อย่างเป็นรูปธรรม!!!
                  …………………………………………….



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น