วันศุกร์ที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ดร.สมเกียรติ จวกพุทธอิสระ หยาบคายควรสึก


ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล
ชี้การล้มระบอบทักษิณต้องล้มด้วยประชาธิปไตยโดยมวลมหาประชานไทยอย่างแท้จริง ต้องสู้ด้วยความดีที่ดีกว่า แนะสุเทพและมวลมหาประชาชนตั้งพรรคการเมืองใหม่เป็นทางเลือก เพื่อเสนอแนวทางปฏิรูปประเทศให้ประชาชนทั้งประเทศตัดสิน แพ้-ชนะ ก็ต้องรับ

ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยวิทัศน์ จำกัด เขียนข้อความผ่านทวิตเตอร์ Somkiat Onwimon กรณีการปราศรัยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำต่อต้านรัฐบาล และ พระพุทธอิสระ โดยมีข้อความตอนหนึ่งกล่าวว่า 

ระบอบสุเทพฯ ประกาศห้ามไม่ให้ผู้ไม่เห็นด้วยแสดงความเห็นค้านไม่ฟังคำท้วงติงจาก คุณกรณ์ จาติกวณิช หรือ ใครก็ตามที่ไม่ได้เข้าร่วมชุมนุม ผมจะยังคงท้วงติงคุณสุเทพไปเรื่อยๆ นะครับ ห้ามผมไม่ได้ ไม่ฟังผมได้ ผมมีเสรีภาพในการแสดงความเห็น เพื่อช่วยปรับขบวนการมหาประชาชนให้ผมพอใจด้วย การล้มระบอบทักษิณต้องล้มด้วยประชาธิปไตยโดยมวลมหาประชาชนไทยอย่างแท้จริง ต้องสู้ด้วยความดีที่ดีกว่า ความสามารถที่มากกว่า ความสงบที่งดงามกว่า 

และข้อความตอนหนึ่งกล่าวถึง พระพุทธอิสระ ว่า หลวงปู่พุทธอิสระหยาบคายมาก บนเวทีมวลมหาประชาชน สึกเถิดครับ ฟังไม่ได้ครับ ไม่มีธรรมะอะไรสำหรับมวลมหาประชาชน วานคุณสุเทพบอกให้ท่านหยุดเถิด


มส.เตือน พุทธะอิสระ ร่วมม็อบไม่เหมาะ แจ้งเจ้าคณะจัดการ


แหล่งข่าวจาก กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เปิดเผยว่า จากกรณีช่วงหลายวันที่ผ่านมาปรากฏภาพ พระพุทธะอิสระ วัดอ้อน้อย อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม ขึ้นปราศรัยบนเวทีชุมนุม รวมถึงประกาศเป็นผู้นำขบวนม็อบด้วยตนเองนั้น มส.เห็นว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสมอย่างมากตามกฎระเบียบของ มส.มีข้อกำหนดไว้ชัดเจนว่า พระสงฆ์ไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือว่าออกมาแสดงความเห็นที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม

ขณะนี้ มส.ได้ทำหนังสือแจ้งไปยังเจ้าคณะภาคและเจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ซึ่งมีหน้าที่ปกครองดูแลคณะสงฆ์ในจังหวัดนครปฐม ดำเนินการตักเตือนและพูดคุยกับพระพุทธะอิสระ ให้รู้ว่าการกระทำดังกล่าวไม่เหมาะสม ไม่ใช่กิจของพระสงฆ์ สมควรที่จะหยุดการเคลื่อนไหวในลักษณะดังกล่าวทันที เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดความแตกแยกยิ่งขึ้น 

อย่างไรก็ตาม มส.ยังได้กำชับไปเจ้าคณะปกครองในแต่ละระดับชั้น ทั้งเจ้าคณะภาค เจ้าคณะจังหวัดและเจ้าคณะตำบลทั่วประเทศ ให้ดูแลและตักเตือนคณะสงฆ์ในปกครองว่าไม่ควรเข้าไปร่วมชุมนุม หรือยุ่งเกี่ยวกับการเมือง รวมถึงกระทำอะไรที่จะให้เกิดความขัดแย้งในสังคมเพิ่มขึ้นอีก


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ






วันพฤหัสบดีที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ในหลวง โปรดเกล้าฯ เลื่อนสมณศักดิ์ ปี 2556



นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสถาปนาเลื่อนและแต่งตั้งสมณศักดิ์พระเถรานุเถระ ประจำปี 2556 จำนวน 72 รูป เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2556 ดังนี้

พระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ หรือ รองสมเด็จพระราชาคณะ จำนวน 2 รูป ได้แก่ 

- พระธรรมวราภรณ์ วัดเครือวัลย์ กรุงเทพฯ เป็น พระพรหมวิสุทธาจารย์ 
- พระธรรมภาวนาวิกรม (เจ้าคุณธงชัย) วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ เป็น พระพรหมมังคลาจารย์ 

พระราชาคณะชั้นธรรม 4 รูป ได้แก่ 

- พระเทพเมธาภรณ์ วัดสนามพราหมณ์ จ.เพชรบุรี เป็น พระธรรมวราภรณ์
- พระเทพวงศาจารย์ วัดหนองแวง จ.ขอนแก่น เป็น พระธรรมวิสุทธาจารย์
- พระเทพปริยัติวิธาน วัดคลองโพธิ์ จ.อุตรดิตถ์ เป็น พระธรรมมหาวีรานุวัตร
- พระเทพสุธี วัดไตรธรรมาราม จ.สุราษฎร์ธานี เป็น พระธรรมวิมลโมลี

พระราชาคณะชั้นเทพ 7 รูป ได้แก่ 

- พระราชสารสุธี วัดสิริกาญจนาราม จ.กาญจนบุรี เป็น พระเทพเมธาภรณ์
- พระราชรัตนมุนี วัดพระปฐมเจดีย์ จ.นครปฐม เป็น พระเทพมหาเจติยาจารย์
- พระราชวิริยาภรณ์ วัดศรีอุโมงค์คำ จ.พะเยา เป็น พระเทพญาณเวที
- พระราชสุตาลังการ วัดนิมมานรดี กรุงเทพฯ เป็น พระเทพสุธี
- พระราชมุนี วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพฯ เป็น พระเทพโมลี
- พระราชมงคลรังสี วัดโสธรวราราม จ.ฉะเชิงเทรา เป็น พระเทพสิทธิญาณรังษี วิ. 
- พระราชรัตนรังษี หัวหน้าพระธรรมทูตสายอินเดีย-เนปาล วัดไทยพุทธคยา อินเดีย เป็น พระเทพโพธิวิเทศ

พระราชาคณะชั้นราช 14 รูป ได้แก่ 

- พระภาวนาวิริยคุณ วัดพระธรรมกาย จ.ปทุมธานี เป็น พระราชภาวนาจารย์ วิ.
- พระมหานายก วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ เป็น พระราชมุนี
- พระวิสุทธินายก วัดสนธิกรประชาราม จ.เพชรบูรณ์ เป็น พระราชปริยัติบัณฑิต
- พระเมธีธรรมาลังการ วัดพระบาทมิ่งเมือง จ.แพร่ เป็น พระราชเขมากร
- พระวิสุทธิภัทรธาดา วัดประยุรวงศาวาส กรุงเทพฯ เป็น พระราชวรเมธี
- พระรัตโนภาสวิมล วัดศรีบุญเรือง จ.มุกดาหาร เป็น พระราชรัตนโมลี
- พระภาวนาวิสุทธิคุณ วัดพุทธภูมิ จ.ยะลา เป็น พระราชมงคลวุฒาจารย์ วิ.
- พระพิศิษฏ์พัฒนพิธาน วัดหนองหอย จ.ราชบุรี เป็น พระราชวัลภาจารย์ วิ.
- พระรัตนมงคลโมลี วัดธาตุทอง กรุงเทพฯ เป็น พระราชวรญาณโสภณ
- พระปัญญารัตนาภรณ์ วัดศรีเอี่ยม กรุงเทพฯ เป็น พระราชรัตนเมธี
- พระเมธีวราภรณ์ วัดโมลีโลกยาราม กรุงเทพฯ เป็น พระราชปริยัติโมลี
- พระศรีสุธรรมมุนี วัดพิชยญาติการาม กรุงเทพฯ เป็น พระราชรัตนมุนี
- พระเมธีรัตโนดมวัดบึง จ.นครราชสีมา เป็น พระราชสีมาภรณ์
- พระปรีชาญาณวิเทศ วัดธัมมธโร ออสเตรเลีย เป็น พระราชสีลาภรณ์ 


พระราชาคณะชั้นสามัญ 44 รูป ได้แก่ 

พระครูพิศาลวินัยวาท (สังฆ์ ป.ธ.5) ธ. วัดบวรนิเวศ กรุงเทพฯ เป็น พระมหานายก สป., พระครูวิสุทธิญาณ (สุพรรณ) ธ.วัดหนองหญ้าลาด จ.ศรีสะเกษ เป็น พระญาณวิเศษ สย.วิ.,พระครูอรรคธรรมธารี (บุญเลิศ) ธ.วัดถ้ำพรหมโลก จ.ลพบุรี เป็น พระอุดมศีลคุณ สย.,พระครูกิตติวรคุณ (บุญเลิศ) ธ. วัดอรัญญวาสี จ.หนองคาย เป็น พระกิตติสารโสภณ สย.วิ.,พระครูสันติปัญญาภรณ์ (ประสงค์) วัดเซกาเจติยาราม จ.บึงกาฬ เป็น พระวิชัยธรรมคณี สย.วิ, พระครูวิมลศีลโสภณ (สำเนา) ธ. วัดทุ่งศรีสองเมือง จ.นครพนม เป็น พระวิมลธรรมภาณ สย.วิ.,พระครูอาทรธรรมนาถ (ประชุม) ธ. วัดชุมนุมศรัทธา จ.นครปฐม เป็น พระปฐมคณาจารย์ สย.

“พระครูสารเนติโกศล (บุญมี) ธ. วัดตำหนัก จ.นครนายก เป็น พระมุนีนายก สย., พระครูสุปัญญาโกศล (สมศักดิ์) ธ. วัดดอนตูมกมลาวาส จ.ชัยนาท เป็น พระวิสุทธินายก สย.,พระครูสุทธิพรหมคุณ (สุทธิพงศ์) ธ. วัดป่าวังเลิง จ.มหาสารคาม เป็น พระสุทธิธรรมโสภณ สย.,พระครูอรรถธรรมเมธี (ชัยวัฒน์) ธ.วัดควนกะไหล จ.พังงา เป็น พระประสาธน์สารโสภณ สย.,พระมหาทอง ป.ธ.9 วัดเขาสมโภชน์ จ.ลพบุรี เป็น พระภาวนาสมณคุณ สป.วิ.,พระครูศรีจริยาภรณ์ (ชรัช ป.ธ.5) วัดตานีนรสโมสร จ.ปัตตานี เป็น พระสิริจริยาลังการ สป.,พระครูศรีรัตนาลังการ (บุญเพ็ง ป.ธ.6) วัดโพนชัย จ.เลย เป็น พระสิริรัตนเมธี สป.,พระครูเขมวงศานุการ (เกษม ป.ธ.3) วัดนิโรธสังฆาราม จ.ยะลา เป็น พระโสภณธรรมมุนี สป.,พระครูอนุสรธรรมคุณ (เกษร) วัดเหนือ จ.กาฬสินธุ์ เป็น พระสุนทรธรรมประพุทธ์ สย. , พระครูเกษมวิริยคุณ (เลียม) วัดแสงเกษม จ.อุบลราชธานี เป็น พระรัตโนภาสวิมล สย., พระครูสิทธิคีรีรักษ์ (ประเชิญ) วัดเขาทุเรียน จ.นครนายก เป็น พระสิทธิวรนายก สย.” นายนพรัตน์ กล่าว

พระมหาสนอง ป.ธ. 9 วัดเชิงหวาย จ.อ่างทอง เป็น พระศรีวิสุทธิโสภณ สป.,พระครูวิสิฐนันทวุฒิ (ธรรมวัตร ป.ธ. 4) วัดพระธาตุแช่แห้ง จ.น่าน เป็น พระชยานันทมุนี สป.,พระครูปัญญาวรกิจ (อ่วม) วัดโลการาม จ.สงขลา เป็น พระวิสุทธาจารคุณ สย.,พระครูพุทธิญาณโสภณ (ชวลิต ป.ธ.4) วัดพระพุทธบาทตากผ้า จ.ลำพูน เป็น พระพุทธบาทพิทักษ์ สป.,พระครูพิศาลจริยาภิวัฒน์ (อนันต์) วัดชัยมงคล จ.ชลบุรี เป็น พระปัญญารัตนาภรณ์ สย.,

พระมหาชูชาติ ป.ธ. 9 ธ. วัดนรนาถสุนทริการาม กรุงเทพฯ เป็น พระอมรมุนี สป.,พระมหามงคล ป.ธ. 9 วัดไตรมิตรวิทยาราม กรุงเทพฯ เป็น พระศรีวีรมุนี สป., พระมหาจำลอง ป.ธ.9 วัดยานนาวา กรุงเทพฯ เป็น พระศรีวชิราลังการ สป., พระมหาศิริ ป.ธ.9 วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จ.กาญจนบุรี เป็น พระเมธีปริยัติวิบูล สป.,พระมหาอิทธิยาวุธ ป.ธ. 9 วัดสามพระยา กรุงเทพฯ เป็น พระปริยัติโศภณ สป.พระครูปลัดสัมพิพัฒนปัญญาจารย์ (วิศิษฏ์ ป.ธ.7) วัดปากน้ำภาษีเจริญกรุงเทพฯ เป็น พระวิเชียรกวี สป.

พระมหาไสว ป.ธ.7 วัดมหาธาตุฯ กรุงเทพฯ เป็น พระภาวนาวิริยคุณ สป.วิ., พระครูปลัดสุวัฒนวชิรคุณ (ไสว ป.ธ.6) วัดอรุณราชวราราม กรุงเทพฯ เป็น พระโสภณวชิราภรณ์ สป., พระครูวิสุทธิสีลวัฒน์ (กิตติชัย ป.ธ.5) ธ.วัดโสมนัส กรุงเทพฯ เป็น พระกิตติวิมลเมธี สป.วิ., พระครูปลัดสัมพิพัฒนธุตาจารย์ (ชาญ ป.ธ.4) วัดสระเกศ กรุงเทพฯ เป็น พระพิทักษ์บรมบรรพต สป.,พระครูปลัดสุวัฒนวิสุทธิคุณ (ประมวล) วัดพระธาตุศรีจอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็น พระศรีศิลปาจารย์ สย.,พระครูวิมลจันโทภาส (สุวิช ป.ธ.3) วัดใหญ่สว่างอารมณ์ จ.นนทบุรี เป็นพระนันทวิริยาภรณ์ สป.,พระครูสุนทรพิพัฒนโกศล (ประจวบ) วัดศาลาแดง กรุงเทพฯ เป็น พระพิพัฒน์วิริยาภรณ์ สย., พระครูไพศาลสาครกิจ (สมบัติ) วัดเกตุมดีศรีวราราม จ.สมุทรสาคร เป็น พระภาวนาวิสุทธิคุณ สย.วิ.

พระครูปลัดวิมลสิทธิวัฒน์ (ไพศาล) วัดแก้วฟ้า จ.นนทบุรี เป็น พระโสภณรัตนาภรณ์ สย., พระมหาพิมล ป.ธ. 9 วัดปากน้ำมิชิแกน สหรัฐอเมริกา เป็น พระศรีญาณวิเทศ สป.,พระมหาพยอม ป.ธ.7 วัดธัมมาราม สหรัฐอเมริกา เป็น พระวรญาณวิเทศ สป.,พระครูศรีวิเทศธรรมคุณ (ศักดิ์ชัย ป.ธ.6) วัดสุทธาวาส สหรัฐอเมริกา เป็น พระวิเทศธรรมคุณ สป.,พระครูวรกิตติโสภณ (เศรษฐกิจ) วัดพุทธสามัคคี นิวซีแลนด์ เป็น พระกิตติโสภณวิเทศ สย.,พระครูปลัดสัมพิพัฒนสุตาจารย์ (กาเข่ง) ธ. วัดสันติวนาราม มาเลเซีย เป็น พระวินัยธรรมวิเทศ สย.วิ., พระครูปลัดสุวัฒนสมาธิคุณ (สิทธิพล) วัดปากน้ำนิวซีแลนด์ นิวซีแลนด์ เป็น พระมหาสิทธิวิเทศ สย.

นายนพรัตน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีบรรพชิตจีนในประเทศสิงคโปร์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นิมนต์เข้ารับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์ 1 รูป ได้แก่ พระอาจารย์จีนวิเทศธรรมานุสิฐ (ด้ายหมิงขวา ฝ่าจ้าว) วัดพระเขี้ยวแก้ววิหาร ประเทศสิงคโปร์ เป็น พระอาจารย์จีนราชธรรมานุสิฐ อย่างไรก็ตามพระเถรานุเถระทั้ง 72 รูปจะเข้ารับพระราชทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง เนื่องในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 5 ธันวาคมนี้


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




วันอังคารที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วัดพระพิเรนทร์ ตั้งสวนพุทธธรรมพระพรหมคุณาภรณ์



พระครูภัทรกิตติสุนทร (แถม) เจ้าอาวาสวัดพระพิเรนทร์ กทม. เปิดเผยว่า วัดพระพิเรนทร์จะจัดตั้ง สวนพุทธธรรมพระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต) พระเถระนักปราชญ์พระพุทธศาสนาที่ชาวโลกยกย่อง เพื่อเผยแพร่เกียรติประวัติของ พระพรหมคุณาภรณ์ หรือ เจ้าคุณประยุทธ์ ปยุตฺโต ในฐานะที่เป็นสังฆโสภณแห่งสังฆมณฑล และในฐานะที่สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศไทยและเป็นศรีแห่งวัดพระพิเรนทร์ ในบริเวณวัดพระพิเรนทร์ ถ.วรจักร เนื่องจากพระพรหมคุณาภรณ์ เป็นพระที่วัดพระพิเรนทร์มาหลายสิบปีและเป็นผู้มีปฏิปทาเสมอต้นเสมอปลาย เป็นตัวอย่างให้พระภิกษุสามเณรรุ่นต่อๆ มายึดถือเป็นแบบอย่าง ทั้งด้านการศึกษา และงานวิชาการต่างๆ ทั้งนี้ การสร้างสวนพุทธธรรมแบ่งเป็น 3 ส่วน ได้แก่

1.ลานสื่อความหมาย และคุณค่าพระพรหมคุณาภรณ์ โดยจัดพื้นที่จัดแสดงเกียรติประวัติให้ผู้มาเยือนได้เรียนรู้ และลานเดินจงกรมเพื่อส่งเสริมวัตรปฏิบัติของพระและผู้ปฏิบัติธรรม 

2.สวนพุทธวจนะเป็นพื้นที่สีเขียว 

3.พื้นที่จอดรถยนต์ ใต้ดินของลานสื่อความหมายฯ และสวนพุทธวจนะ โดยจะใช้งบประมาณ 70 ล้านบาท

พระครูภัทรกิตติสุนทร กล่าวต่อว่า หากโครงการสวนพุทธธรรมเกิดขึ้น จะเป็นโครงการแห่งแรกในประวัติศาสตร์ของวัดในกรุงเทพฯ และน่าจะเป็นตัวอย่างให้วัดทั่วไปนำไปพัฒนาด้านภูมิทัศน์ แต่ก่อนจะเดินหน้าต้องฟังความคิดเห็นจากประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องให้รอบด้าน เพราะไม่ต้องการให้เป็นโครงการที่เป็นบาปถึงคนรุ่นหลัง


*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

9 มี.ค.57 พระราชทานเพลิงศพ "สมเด็จเกี่ยว"


พระพรหมสุธี รักษาการเจ้าอาวาส วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรรมการมหาเถรสมาคม (มส.) เปิดเผยว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้วันที่ 9 มีนาคม 2557 ประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงศพ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ และอดีตประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ยังเมรุหลวงหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส ในการนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ ประกอบพิธีพระราชทานเพลิงศพในการนี้ด้วย

สำหรับพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศล สตมวาร (100วัน) ศพสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในวันที่ 26 พ.ย.นี้นั้น ตั้งแต่ช่วงเย็นของวันที่ 25 พ.ย. วัดสระเกศฯ จะมีพิธีเจริญพุทธมนต์พระสงฆ์อุทิศถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ และในวันที่ 26 พ.ย. มีพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลสตมวาร โดยมีพระสงฆ์ 100 รูปสดัปปกรณ์อุทิศถวาย สมเด็จพระพุฒาจารย์ด้วย

พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กล่าวว่า ทางวัดสระเกศฯ จะจัดพิมพ์หนังสือ พระมหาเถระผู้เป็นประวัติความทรงจำแห่งโลกพระพุทธศาสนา จำนวน 50,000 เล่ม ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติ และการทำงานเผยแผ่พระพุทธศาสนาของท่าน ถือเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรวบรวมประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ทั้งหมดออกมาเผยแพร่ในงานครบ 100 วัน พร้อมกันนี้ ยังมีกลุ่มจิตอาสาจากนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่ได้มาช่วยงานสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม วัดสระเกศฯ จะร่วมกันจัดทำการ์ตูนแอนิเมชันความยาว 15 นาที เกี่ยวกับ ประวัติสมเด็จพระพุฒาจารย์ ออกเผยแพร่ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ ขณะเดียวกัน กลุ่มจริยธรรมมิวสิค ของสำนักสงเสริมคุณธรรม จริยธรรม ก็ได้ร่วมกับแต่งเพลงบรรเลงชุด ห้วงนฤพาน เพื่อเป็นการบูชาคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ทั้งนี้สามารถรับฟังและดาวน์โหลดได้ที่ เว็บไซต์ จริยธรรมดอทคอม

“อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ยังเปิดให้ประชาชนได้มาถวายสักการะศพสมเด็จพระพุฒจารย์อย่างต่อเนื่อง บริเวณศาลาการเปรียญ และส่วนเจ้าภาพการสวดพระอภิธรรม ในเบื้องต้นมีผู้จองเป็นเจ้าภาพเต็มถึงวันที่ 29 ธันวาคม 2556 อย่างไรก็ตาม ทางวัด จะยังเปิดให้พุทธศาสนิกชนที่ต้องการร่วมเป็นเจ้าภาพพิธีสวดพระอภิธรรม ได้จองเป็นเจ้าภาพในช่วงหลังเทศกาลปีใหม่ จนถึงก่อนมีพระราชพิธีพระราชทานเพลงศพ” ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ กล่าว


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ร.6 กษัตริย์ ผู้ทำนุพระศาสนา


พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 46 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 16 ปี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในความรู้ทางพระศาสนามาก ทรงนิพนธ์หนังสือแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นต้น ถึงกับทรงอบรมสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วยพระองค์เอง

ท่านทรงส่งเสริมการสอนพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ ทรงสนับสนุนให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์สกลมหาสังฆปรินายกในเวลานั้น ปรับปรุงแก้ไขการศึกษาและการสอบพระปริยัติธรรม เช่น 

- ได้เปลี่ยนแปลงการสอบไล่ พระปริยัติธรรม จากวิธีการแปลด้วยปากมาเป็นวิธีเขียน 
- จัดตั้งหลักสูตรนักธรรมและบาลีขึ้น ซึ่งได้ยึดเป็นแบบแผนจนถึงปัจจุบัน
ส่วนการบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียสถานนั้น ทรงมีพระราชดำริว่า วัดต่าง ๆ ในเวลานี้มีอยู่มากจนเหลือกำลังที่จะทำนุบำรุงดูแลให้ทั่วถึง อีกทั้งในเวลานี้ การศึกษาและสถานศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ จำเป็น ยิ่งกว่าวัดเสียแล้ว ฉะนั้นจึงมิได้โปรดให้สร้างวัดเพิ่มขึ้นอีกแล้วเปลี่ยนมาสร้างโรงเรียนแทน ดังนั้นนับแต่ รัชกาลนี้เป็นต้นมา การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านวัตถุ จึงมุ่งไปในด้านการบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นสำคัญ และประเพณีการสร้างวัดประจำรัชกาล ก็ได้เลิกล้มไปในคราวนั้นด้วย วัดที่สำคัญที่มีการบูรณะ ได้แก่ 

- วัดพระศรี รัตนศาสดาราม 
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 
- วัดบวรนิเวศวิหาร 
- วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ 

ส่วนวัดในหัวเมือง ได้แก่ สร้างวิหารสำหรับประดิษฐาน พระร่วงโรจนฤทธิ์ ไว้ที่ วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดอยุธยา นอกจากนี้ยังได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นอีก เช่น พระแก้วมรกตน้อย ซึ่งสร้างด้วยช่างชาวรัสเซีย พระนิโรคันตราย ซึ่งโปรดฯ ให้หล่อขึ้น 16 องค์ แล้วพระราชทานไปไว้ตาม วัดมหานิกาย ทำนองเดียวกับรัชกาลที่ 4 ได้สร้าง พระนิรันตราย พระราชทานไว้ตามวัดธรรมยุติกนิกาย

ปัจจุบัน พระร่วงโรจนฤทธิ์ ประดิษฐานในซุ้มวิหารหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ (ทิศเหนือ) โดยสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งได้พระเศียรพระหัตถ์ และพระบาท มาจากเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แล้วโปรดฯให้ช่างทำรูปปั้นขี้ผึ้ง ปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์ เต็มองค์ ทำพิธีหล่อที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ. 2456 เป็นพระพุทธรูปยืนปาง-ประทานอภัย เสร็จแล้วอัญ เชิญไปประดิษฐานไว้ในซุ้มวิหารด้านเหนือ ตรงกับบันไดใหญ่ และพระราชทานนามว่าพระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรี อินทราทิตย์ ธรรม-โมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร โดยต่อมาที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นที่บรรจุพระอังคาร ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย

และใน พ.ศ. 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันศุกร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ไอเดียเจ๋ง "โรงแรมธรรมะ" พักศึกษาธรรมะ ฟรี!!


พระราชวรมุนี (พล อาภากโร) รองเจ้าคณะภาค 6 กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ตรวจงานคณะสงฆ์พื้นที่ จ.น่าน ซึ่งเป็นจังหวัดในเขตปกครองคณะสงฆ์ ภาค 6 ตามที่ พระธรรมราชานุวัตร (สุทัศน์ สุทสฺสโน) เจ้าคณะภาค 6 มอบหมาย พบว่า ในพื้นที่ จ.น่าน มีวัดที่มีความสำคัญหลายแห่ง ขณะที่ บางแห่งมีแนวทางในการส่งเสริมให้คนเข้าวัดที่น่าสนใจ โดยเฉพาะที่วัดภูเก็ต อ.ปัว จ.น่าน มีการสร้าง temple stay หรือ “เทมเปิล สเตย์” หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ คือ เป็นลักษณะของ โรงแรมธรรมะ 

โดยสร้างเป็นอาคารขนาด 4 ชั้น มี 8 ห้องนอน โดยในชั้นที่ 4 จะเป็นห้องปฏิบัติธรรม ซึ่งที่น่าสนใจคือ ตัวโรงแรมนั้นจะสร้างอยู่ใต้โบสถ์ของวัดภูเก็ต เนื่องจากวัดภูเก็ตสร้างอยู่บนเนินเขา และมีการสร้างโรงแรมขึ้นบริเวณเชิงเขาด้านล่างของโบสถ์ ทำให้บริเวณลานโบสถ์ คือ ดาดฟ้าของโรงแรม และการที่เรียกว่าโรงแรมธรรมะนั้น เพราะมีการจัดห้องพักในลักษณะเดียวกับโรงแรม และผู้ที่จะเข้ามาพักจะได้มีโอกาสปฏิบัติธรรมร่วมกับทางวัด รวมทั้งจะได้ศึกษาวิถีชีวิตของพระ เณร ภายในวัด ได้ทำบุญ ตักบาตร ที่สำคัญที่โรงแรมแห่งนี้ จะไม่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างแน่นอน

พระราชวรมุนี กล่าวต่อว่า จากการสอบถามกับทางวัด ทราบว่า โรงแรมดังกล่าวสร้างเสร็จเมื่อช่วงต้นปี 2555 โดยมีแนวคิดมาจากประเทศเกาหลี เนื่องจากพบว่า วัดที่เกาหลีมีการเปิดเป็นที่พักให้นักท่องเที่ยวมาเข้าพัก ทางวัดภูเก็ตจึงนำมาประยุกต์ใช้ที่วัดโดยการสร้างเป็น เทมเปิล สเตย์ หรือโรงแรมธรรมะ โดยผู้ที่เข้าพักที่จะมาปฏิบัติธรรมจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าพัก แต่จะให้ขึ้นอยู่ที่จิตศรัทธาของแต่ละคน ขณะเดียวกันทางวัดจะจัดโปรแกรมให้ได้ศึกษาการใช้ชีวิตของพระ เณรด้วย นอกจากนี้ต่อไปทางวัดภูเก็ตยังเตรียมที่จะทำชุดขาวสำหรับปฏิบัติธรรมให้บริการไว้ภายในห้องพักเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกของผู้ที่จะเข้ามาพักแต่ไม่ได้เตรียมชุดปฏิบัติธรรมมา และหากพบว่า มีผู้สนใจเข้ามาพักจำนวนมากต่อไปทางวัดภูเก็ต ระบุว่า อาจจะมีการจัด โปรแกรมทัวร์ธรรมะ ให้กับผู้ที่เข้าพักด้วย

"โรงแรมธรรมะของวัดภูเก็ต ไม่ใช่การเปิดศาลาวัดให้คนเข้าไปนอนแล้วมาตั้งชื่อว่าเป็นโรงแรม แต่ที่วัดภูเก็ตมีการสร้างอาคารและห้องพักที่มีลักษณะเหมือนกับโรงแรมทั่วไป ประมาณโรงแรมระดับ 3 ดาว เพียงแต่ผู้ที่จะเข้ามาพักหากมาเพื่อปฏิบัติธรรมจะไม่ต้องเสียค่าที่พัก ซึ่งแนวทางนี้วัดต่างๆสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ เพราะถือว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้คนเข้าวัด ปฏิบัติธรรมมากขึ้น ทั้งยังจะช่วยให้ผู้ที่เข้าพักได้มีโอกาสศึกษาวิถีชีวิตของผู้คนที่พักอาศัยอยู่รอบวัดด้วย" พระราชวรมุนี กล่าว


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ






วันศุกร์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

พระสมณทูต ผู้นำพระพุทธศาสนามาสู่ "สุวรรณภูมิ"


องค์พระปฐมเจดีย์
 วัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร จ.นครปฐม สันนิษฐานกันว่าได้ถูกสร้างขึ้นในสมัย พระเจ้าอโศกมหาราช เมื่อคราวที่พระสมณทูตได้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ เนื่องจากเจดีย์องค์เดิมมีลักษณะ ทรงบาตรคว่ำ แบบเดียวกับสถูปเจดีย์ที่สร้างขึ้นในกรุงอนุราชบุรี เกาะสิงหลทวีป ประเทศศรีลังกาในปัจจุบัน ต่อมาเมื่อครั้ง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงออกผนวช ได้เสด็จธุดงค์มานมัสการ และหลังจากทรงลาผนวช ได้เสวยราชสมบัติ แล้ว โปรดให้ก่อสร้างเจดีย์องค์ใหม่ห่อหุ้มองค์เดิมไว้ ซึ่งมีความสูงถึง ๑๒๐ เมตร และพระราชทานนามพระสถูปเจดีย์ว่า “พระปฐมเจดีย์” เพราะทรงเชื่อมั่นว่าเป็นเจดีย์องค์แรกที่สร้างขึ้นในดินแดนสุวรรณภูมิ

เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๓๖ พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนที่เป็นประเทศไทยในปัจจุบัน สมัยเดียวกันกับประเทศศรีลังกา ด้วยการส่งพระสมณทูตไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในประเทศต่างๆ ๙ สาย โดยการอุปถัมภ์ของ พระเจ้าอโศกมหาราช กษัตริย์อินเดีย ในขณะนั้นประเทศไทยรวมอยู่ในดินแดนที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวาง มีประเทศรวมกันอยู่ในดินแดนส่วนนี้ทั้ง ๗ ประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ ไทย พม่า ศรีลังกา ญวน กัมพูชา ลาว มาเลเซีย ซึ่งสันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่ จังหวัดนครปฐม ของไทย เนื่องจากได้พบโบราณวัตถุที่สำคัญ เช่นพระปฐมเจดีย์ และรูปธรรมจักรกวางหมอบเป็นหลักฐานสำคัญ แต่พม่าก็สันนิษฐานว่ามีใจกลางอยู่ที่เมืองสะเทิม ภาคใต้ของพม่า พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่สุวรรณภูมิในยุคนี้ นำโดย พระโสณะ และ พระอุตตระ พระเถระชาวอินเดีย เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนาในแถบนี้ จนเจริญรุ่งเรืองมาตามลำดับ ตามยุคสมัยต่อไปนี้

พระโสณะ และ พระอุตตระ ได้เดินทางจากแคว้นมคธ เข้ามาประดิษฐานพระพุทธศาสนา ณ ดินแดนสุวรรณภูมิ โดยมีข้อสันนิษฐานว่า น่าจะมีศูนย์กลางอยู่บริเวณตอนกลางของไทยในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ เช่น พระปฐมเจดีย์ศิลารูปพระธรรมจักร เป็นต้น

พระพุทธศาสนาที่เข้ามาในสมัยนี้ เป็นนิกายเถรวาทดั้งเดิม โดยพุทธศาสนิกชนมีความศรัทธาเลื่อมใสบวชเป็นพระภิกษุจำนวนมาก และได้สร้างสถูปเจดีย์ไว้สักการบูชา เรียกว่า สถูปรูปฟองน้ำ เหมือนสถูปสาญจีในประเทศอินเดียที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างขึ้น โดยศิลปะในยุคนี้ เรียกว่า ศิลปะทวารวดี

พระโสณะและพระอุตตระเป็นชาวอินเดีย มีชีวิตอยู่ในช่วงพุทธศตวรรที่ ๓ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ไม่ปรากฏประวัติก่อนบวช ปรากฏแต่ว่า เมื่อท่านทั้งสองอุปสมบทแล้วเป็นผู้มีความแตกฉานในพระไตรปิฎกและเป็นกำลังสำคัญในการสังคายนาพระธรรมวินัย และยังได้รับการแต่งตั้งเป็นพระธรรมทูตในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยท่านทั้งสองได้รับมอบหมายให้เดินทางมาเผยแผ่พระพุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ

เมื่อครั้งที่พระโสณะและพระอุตตระ เดินทางมาเผยแผ่พุทธศาสนายังดินแดนสุวรรณภูมิ มีเรื่องเล่าว่า ในสมัยนั้น ประชาชนกำลังตกอยู่ในความหวาดกลัว ผีเสื้อสมุทร ซึ่งมักจับทารกกินเป็นอาหาร ท่านทั้งสองได้สร้างขวัญกำลังใจ ทำให้ประชาชนหายหวาดกลัวโดยใช้อุบายธรรมนำ "พรหมชาลสูตร" ซึ่งมีเนื้อหาว่าด้วยความเห็นผิดมาเทศนา และได้เปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์ รวมทั้งสมาทานศีล ๕ ทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อที่ถูกต้องและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จนพากุลบุตรและกุลธิดามาบวช ทำให้พระพุทธศาสนาได้หยั่งรากลึกลงในดินแดนสุวรรณภูมิ และเจริญสืบเนื่องเรื่อยมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ

พระโสณะและพระอุตตระ แม้จะเกิดไม่ทันสมัยพุทธกาล แต่เมื่ออุปสมบทแล้ว ท่านทั้งสองได้ตั้งใจปฏิบัติธรรมและศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน มีความรู้ ความสามารถ จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมทูตในการเผยแผ่พระพุทธศาสนายังต่างแดน แม้ว่า เดินทางจากอินเดียมายังสุวรรณภูมิซึ่งไกลและใช้เวลามาก ย่อมประสบกับความลำบากมากมาย แต่ท่านทั้งสองก็ไม่ย่อท้อ ด้วยเห็นแก่ประโยชน์ของพระพุทธศาสนา จึงอดทนต่อสู้ต่อความเหนื่อยยาก

งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ ปี ๒๕๕๖

"เทศกาลนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์" หรือชาวบ้านเรียกว่า "กลางเดือนสิบสอง" หรือ "งานองค์พระ" เป็นงานที่จัดขึ้นทุกๆ ปี ระหว่างวันขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑๒ ถึง วันแรม ๕ ค่ำ เดือน ๑๒ รวม ๙ วัน ๙ คืน โดยในปี ๒๕๕๖ นี้จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๔-๒๒ พฤศจิกายน ทั้งนี้วัดเปิดให้การเปิดร้านขายของล่วงหน้า ๗ วัน และหลัง ๑๕ ค่ำ อีก ๗ วัน

พระศรีวิสุทธิวงศ์ (พระมหาสุวิทย์ ปวิชฺชญฺญู) เลขานุการเจ้าคณะภาค ๑๕ ฝ่ายมหานิกาย และผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า งานองค์พระมิใช่เพียงแค่งานนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์อย่างเดียว หากเป็นงานนมัสการพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ในวิหารต่างๆ รอบองค์พระปฐมเจดีย์ เช่น พระร่วงโรจนฤทธิ์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองนครปฐม พระพุทธรูปคันธราษฎร์ พระนอน พระพุทธรูปปางต่างๆ ครบทุกปาง โดยเฉาะก่อนงาน ๕ วัน เป็นงานวันพระร่วงโรจนฤทธิ์

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งประเพณีปฏิบัติเคียงคู่ไปกับการนมัสการองค์พระปฐมเจดีย์นั่นคือ แห่ผ้าห่มองค์พระปฐมเจดีย์ มี ๒ วัน คือ วันแรกลอยกระทง คือ วันอาทิตย์ที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น. ผู้คนจึงได้ร่วมแรงร่วมใจนำผ้ากาสาวพัสตร์ต่อกันเป็นผืนยาว จัดเป็นขบวนแห่รอบองค์พระปฐมเจดีย์ ช่วยกันจับขึงไว้บนบ่าทั้งผืนด้วยแรงสามัคคี ขบวนแห่ผ้าห่มจะเดินเวียนรอบองค์พระปฐมเจดีย์ ๓ รอบ แล้วจึงนำขึ้นไปห่มพันรอบองค์พระปฐมเจดีย์ที่บริเวณเสาหานส่วนคอของพระปฐมเจดีย์ ส่วนวันสุดท้ายจะห่มรอบฐานองค์พระปฐมเจดีย์ ในคืนวันศุกร์ที่ ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ เวลาประมาณ ๒๑.๓๐ น.


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันพุธที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

วัดสระเกศฯ จัดงานห่มผ้าแดง "ภูเขาทอง"


วัดสระเกศฯ
จัดงานย้อนยุคห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์บรมบรรพต อุทิศถวาย สมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เนื่องในงานเทศกาลประจำปี นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่างวันที่ 10-19 พ.ย. 2556 นี้

พระพรหมสิทธิ (ธงชัย สุขญาโณ) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร กล่าวว่า ทางวัดสระเกศฯ จะจัดงานย้อนยุค ห่มผ้าแดงองค์พระเจดีย์บรมบรรพต อุทิศถวายสมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ เนื่องในงานเทศกาลประจำปี นมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ระหว่าง 10-19 พ.ย. 2556 นี้ ที่ บรมบรรพต ภูเขาทอง วัดสระเกศฯ ซึ่งภายในงานจะมีการประกาศเกียรติคุณของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ซึ่งได้มรณภาพลง เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกันจะมีการจัดนิทรรศการชุด พระมหาเถระผู้เป็นประวัติศาสตร์ความทรงจำพระพุทธศาสนาโลก พร้อมเปิดตัวภาพเขียนประวัติศาสตร์ เย็นหิมะในรอยธรรม ย้อนเส้นทางประวัติศาสตร์การเดินทางรอบโลกของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ร่วม 60 ปี และจะอัญเชิญเกศาสมเด็จพระพุฒาจารย์ ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะอย่างใกล้ชิดด้วย


*************************

เรื่องโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันจันทร์ที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ขอเชิญร่วมบุญบูรณะ วัดตลาดใหม่

วัดตลาดใหม่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง เป็นวัดเก่าแก่สมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย ปรากฏหลักฐานการก่อตั้งวัด เมื่อ พ.ศ.๒๒๑๐ ตรงกับรัชสมัย สมเด็จพระนารายณ์มหาราช เดิมชื่อ "วัดโบสถ์บ้านกระเดื่อง" ต่อมากลายสภาพเป็นวัดร้าง ปรากฏแต่เนินอุโบสถ และต้นมะขามใหญ่ ๔ ต้นอยู่ ๔ มุมของอุโบสถ จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีชาวบ้านมาตั้งบ้านเรือน สร้างตลาดขึ้นใหม่ และร่วมกันบูรณะ จึงเรียกชื่อว่า "วัดตลาดใหม่" มาจนทุกวันนี้ รวมอายุวัดได้ ๓๓๙ ปี

อดีตเจ้าอาวาสที่มีชื่อเสียงมี ๒ รูป คือ หลวงพ่อคุ่ย เป็นพระเถระที่มีพลังอาคมเข้มขลังในด้านการแก้และล้างอาถรรพณ์ต่างๆ มีชื่อเสียงโด่งดัง ร่วมสมัยกับ หลวงพ่อเงิน วัดบางคลาน หลวงพ่อเงิน วัดพระปรางค์เหลือง ส่วนอีกรูปหนึ่ง คือ หลวงพ่อซำ อินฺทวณฺโณ เจ้าตำรับเบี้ยแก้อาถรรพณ์ อันเลื่องชื่อของเมืองอ่างทอง

ปัจจุบันวัดตลาดใหม่ มี พระครูสุเมธานุวัตร หรือ พระอาจารย์ปื้ด เป็นเจ้าอาวาสวัดตลาดใหม่ ผู้สืบทอดตำราศาสตร์วิชาการสร้าง เบี้ยแก้อาถรรพณ์ ของหลวงพ่อซำ โดยในวันพฤหัสบดีที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ นี้ วัดได้ประกอบพิธีปริตตา พิธีมหาพุทธาภิเษก วัตถุมงคล รุ่น "บารมีหลวงพ่อ ไตรมาส ๕๖" เพื่อมอบเป็นของระลึกแก่เจ้าภาพที่มาร่วมทอดกฐินสามัคคีในวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๕๖ รวมทั้งเพื่อเป็นการรำลึกในเกียรติคุณและหาทุนบูรณปฏิสังขรณ์กุฏิ-เสนาสนะของวัดตลาดใหม่ที่ทรุดโทรมตามกาลเวลา

วัตถุมงคลรุ่น "บารมีหลวงพ่อ ไตรมาส ๕๖" ประกอบด้วย พระนาคปรกใบมะขาม พระพุทธชินราช ขนาดบูชา ๙ นิ้วและ ๕ นิ้ว รูปหล่อรูปเหมือนหลวงพ่อซำ ขนาดบูชา ๕ นิ้ว, บาตรน้ำมนต์, เบี้ยแก้อาถรรพณ์, มีดหมอ ขนาด ๙ นิ้ว ๕ นิ้ว และมีดปากกา, ตะกรุดหนังกลอง, ตะกรุดยันต์เกราะเพชร, ตะโพน, ล็อกเกต, ไซดักทรัพย์, สีผึ้ง เป็นต้น

การสร้าง เบี้ยแก้อาถรรพณ์พระอาจารย์ปื้ด ได้สืบตำรับจากหลวงพ่อซำทุกประการ โดยเฉพาะการอุดชันโรงและปิดแผ่นฟอยล์ลงบนเบี้ยแก้จะบริกรรมพระคาถามงคลนิมิตที่ว่า "อะวิชา ปัจจะยา ปิดจะยา ปัจจะยา อะวิชา ปัดจะยา ปัจจะยา ปิดจะยา อะวิชา ปัจจะยา อุอะมะตัง พุทธังอัดธะอุด"

รายนามพระคณาจารย์ผู้ทรงคุณพุทธาคมแกร่งกล้ามาร่วมนั่งปรกอธิษฐานจิตภาวนา หลายรูป อาทิ 

- หลวงพ่อรวย วัดตะโก
- หลวงพ่อเพิ่ม วัดป้อมแก้ว 
- หลวงพ่อพูน วัดบ้านแพน 
- หลวงพ่อเอียด วัดไผ่ล้อม 
- หลวงพ่อเฉลิม วัดพระญาติ 
- หลวงพ่อหวล วัดพุทไธสวรรค์
- หลวงพ่อบุญมี วัดม่วงคัน 
- หลวงพ่อเพี้ยน วัดเกริ่นกฐิน 
- หลวงพ่อรักษ์ วัดสุทธาวาส วิปัสสนา เป็นต้น

สำหรับผู้เข้าร่วมพิธีปริตตา พิธีมหาพุทธาภิเษก ในวันพฤหัสบดีที่ ๗ จะได้รับแจก ผ้ายันต์พรหมสี่หน้า แจกฟรีทุกท่าน พุทธศาสนิกชนร่วมบุญได้โดยสอบถามรายละเอียดที่ โทร.๐-๓๕๖๒-๙๐๖๔ และ ๐๘-๑๙๘๖-๑๕๖๗


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ