วันจันทร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2556

ร.6 กษัตริย์ ผู้ทำนุพระศาสนา


พระบาทสมเด็จพระรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราวุธฯ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 6 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ เสด็จพระราชสมภพเมื่อ วันเสาร์ เดือนยี่ ขึ้น 2 ค่ำ ปีมะโรง ตรงกับวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2423 เป็นพระราชโอรสพระองค์ที่ 29 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสวยราชสมบัติเมื่อวันเสาร์ที่ 23 ตุลาคม ปีจอ พุทธศักราช 2453 และ เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468 รวมพระชนมพรรษา 46 พรรษา เสด็จดำรงราชสมบัติรวม 16 ปี

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระปรีชาปราดเปรื่องในความรู้ทางพระศาสนามาก ทรงนิพนธ์หนังสือแสดงคำสอนในพระพุทธศาสนาหลายเรื่อง เช่น เทศนาเสือป่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อะไร เป็นต้น ถึงกับทรงอบรมสั่งสอนอบรมข้าราชการด้วยพระองค์เอง

ท่านทรงส่งเสริมการสอนพระพุทธศาสนาในด้านต่าง ๆ ทรงสนับสนุนให้ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส สมเด็จพระสังฆราชเจ้าองค์สกลมหาสังฆปรินายกในเวลานั้น ปรับปรุงแก้ไขการศึกษาและการสอบพระปริยัติธรรม เช่น 

- ได้เปลี่ยนแปลงการสอบไล่ พระปริยัติธรรม จากวิธีการแปลด้วยปากมาเป็นวิธีเขียน 
- จัดตั้งหลักสูตรนักธรรมและบาลีขึ้น ซึ่งได้ยึดเป็นแบบแผนจนถึงปัจจุบัน
ส่วนการบูรณะ ปฏิสังขรณ์วัดและปูชนียสถานนั้น ทรงมีพระราชดำริว่า วัดต่าง ๆ ในเวลานี้มีอยู่มากจนเหลือกำลังที่จะทำนุบำรุงดูแลให้ทั่วถึง อีกทั้งในเวลานี้ การศึกษาและสถานศึกษาเป็นสิ่งสำคัญ จำเป็น ยิ่งกว่าวัดเสียแล้ว ฉะนั้นจึงมิได้โปรดให้สร้างวัดเพิ่มขึ้นอีกแล้วเปลี่ยนมาสร้างโรงเรียนแทน ดังนั้นนับแต่ รัชกาลนี้เป็นต้นมา การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาในด้านวัตถุ จึงมุ่งไปในด้านการบูรณะปฏิสังขรณ์เป็นสำคัญ และประเพณีการสร้างวัดประจำรัชกาล ก็ได้เลิกล้มไปในคราวนั้นด้วย วัดที่สำคัญที่มีการบูรณะ ได้แก่ 

- วัดพระศรี รัตนศาสดาราม 
- วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม 
- วัดบวรนิเวศวิหาร 
- วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ 

ส่วนวัดในหัวเมือง ได้แก่ สร้างวิหารสำหรับประดิษฐาน พระร่วงโรจนฤทธิ์ ไว้ที่ วัดพระปฐมเจดีย์ นครปฐม วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี วัดสุวรรณดาราราม จังหวัดอยุธยา นอกจากนี้ยังได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นอีก เช่น พระแก้วมรกตน้อย ซึ่งสร้างด้วยช่างชาวรัสเซีย พระนิโรคันตราย ซึ่งโปรดฯ ให้หล่อขึ้น 16 องค์ แล้วพระราชทานไปไว้ตาม วัดมหานิกาย ทำนองเดียวกับรัชกาลที่ 4 ได้สร้าง พระนิรันตราย พระราชทานไว้ตามวัดธรรมยุติกนิกาย

ปัจจุบัน พระร่วงโรจนฤทธิ์ ประดิษฐานในซุ้มวิหารหน้าองค์พระปฐมเจดีย์ (ทิศเหนือ) โดยสร้างในสมัยรัชกาลที่ 6 ซึ่งได้พระเศียรพระหัตถ์ และพระบาท มาจากเมืองศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย แล้วโปรดฯให้ช่างทำรูปปั้นขี้ผึ้ง ปฏิสังขรณ์ให้บริบูรณ์ เต็มองค์ ทำพิธีหล่อที่วัดพระเชตุพนฯ เมื่อ พ.ศ. 2456 เป็นพระพุทธรูปยืนปาง-ประทานอภัย เสร็จแล้วอัญ เชิญไปประดิษฐานไว้ในซุ้มวิหารด้านเหนือ ตรงกับบันไดใหญ่ และพระราชทานนามว่าพระร่วงโรจนฤทธิ์ ศรี อินทราทิตย์ ธรรม-โมภาส มหาวชิราวุธราชปูชนียบพิตร โดยต่อมาที่ฐานพระพุทธรูปองค์นี้ เป็นที่บรรจุพระอังคาร ของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกด้วย

และใน พ.ศ. 2524 องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ได้ยกย่องพระเกียรติคุณของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงเป็นบุคคลสำคัญของโลก ผู้มีผลงานดีเด่นด้านวัฒนธรรม ในฐานะที่ทรงเป็นนักปราชญ์ นักประพันธ์ กวี และนักแต่งบทละครไว้เป็นจำนวนมาก


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น