วันจันทร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2557

อุปลวณฺโณ คัพ 2013 วิธีดึงคนเข้าวัดแบบ "ครูบาจง"

อุปลวณฺโณคัพ หรือ UPALAWANNO CUP 2013 เป็นโครงการจัดการแข่งขันฟุตบอลต้านภัยยาเสพติด ชิงถ้วย พล.ต.ชาตรี เศษรฐกร หัวหน้าศูนย์ข่าวยาเสพติด กองทัพภาคที่ 3 ของ เจ้าอธิการบุญต่อ อุปลวัณโณ หรือ ครูบาจง เจ้าอาวาสวัดศรีสว่าง (วัวลาย) และ เจ้าคณะตำบลหารแก้ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ หรือที่ชาวบ้านใน อ.หางดง เรียกขานนามของท่านว่า “ตุ๊จง”

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ ๗ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๖ ที่ผ่านมา เป็นวันเปิดสนาม ณ สนามศีลพิลาสอนุสรณ์ ต.หารแก้ว อ.หางดง จ.เชียงใหม่ โดยมี พ.อ.จิตติวัศร์ ศรสุวรรณ์ เป็นประธานดำเนินงาน พร้อมด้วยแมทช์การกุศลเป็นการแข่งขันฟุตบอลระหว่าง ทีมศิษย์เจ้าอธิการบุญต่อ ปะทะกับทีมร่วมดารา นำทีมโดย "ออย" ธนา สุทธิกมล และ "ไมค์" ภัทรเดช สงวนความดี โดยมีชาวบ้านร่วมชมนับพัน ได้รับการสนับสนุนและจัดกิจกรรมระหว่างการแข่งขันโดยห้าง PROMENADA Resort Mall Chiang Mai, กุญแจ SOLO, เครื่องเสียงติดรถยนต์ Piority และ น้ำดื่มช้าง

"การดึงคนเข้าวัดมีหลายวิธี บางคนเข้าวัดเพื่อกราบไหว้ขอพรพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ บางคนเข้าวัดเพื่อปฏิบัติธรรม บางคนเข้าวัดเพื่อประกอบพิธีกรรม บางคนเข้าวัดเพื่อชื่นชมความงดงานทางสถาปัตยกรรม ส่วนอาตมาใช้ฟุตบอลดึงคนเข้าวัด ไม่ว่าคนจะเข้าวัดด้วยเหตุผลใดก็ตามอย่างน้อยก็ได้เห็นพระ ได้ใกล้ชิดพระพุทธศาสนา อาตมาไม่ได้คาดหวังอะไรมากกว่าได้ข้อคิด หรือคติธรรมเพียงข้อเดียวเท่านั้นพอ" นี่เป็นเหตุผลในสนับสนุนการแข่งขันฟุตบอลของครูบาจง

พร้อมกันนี้ ครูบาจง ยังยกตัวอย่างบางท่อนของเพลง "เพลงกราวกีฬา" ซึ่งป็นเพลงที่นิยมใช้ในการเชียร์กีฬา ประพันธ์คำร้องโดย ครูเทพ เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี หรือ นามจริง สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา ส่วนทำนองประพันธ์โดย นารถ ถาวรบุตร ซึ่งประพันธ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๓๗ เพื่อใช้ในการแข่งกีฬาสีของนักเรียนโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ต่อมาเพลงนี้ได้รับความนิยมและแพร่หลายออกไปสู่การแข่งขันกีฬาทั่วไป

"ใจคอมั่นคงทรงศักดิ์ รู้จักทีหนีทีไล่
รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ไว้ใจได้ทั่วทั้งรักชัง
ไม่ชอบเอาเปรียบเทียบแข่งขัน สู้กันซึ่งหน้าอย่าลับหลัง
มัวส่วนตัวเบื่อเหลือกำลัง เกลียดชังการเล่นเห็นแก่ตัว"

ครูบาจง ยังบอกด้วยว่า การแข่งขันกีฬาทุกชนิดสิ่งที่ได้มากกว่าสุขภายกาย คือ สุขภาพใจ การเรียนรู้ที่จะยอมรับความพ่ายแพ้ และแสดงความยินดีแก่ผู้ชนะ เป็นจุดประสงค์หลักอย่างหนึ่งของกีฬา หากสังคมของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยคนที่เปี่ยมไปด้วยสปิริตของนักกีฬา เราคงไม่เห็นความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความขัดแย้ง การเอารัดเอาเปรียบซึ่งกันในสังคม ไม่รู้จักแพ้ ไม่รู้จักชนะ ไม่รู้จักการให้อภัย สังคมเราคงจะน่าอยู่ขึ้นมาก


นอกจากนี้แล้วการให้อภัยก็ถือว่าสำคัญไม่ยิ่งหย่อนกว่าอย่างอื่น การรู้แพ้ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่ดี มันแตกต่างกับการยอมความแพ้ ทุกครั้งที่เราเล่นด้วยหัวใจ แม้จะรู้ตัวว่าต้องแพ้แน่ๆ ทำหน้าที่ของตัวเองให้สุดความสามารถบนพื้นฐานของกติกามารยาทอย่างสมศักดิ์ศรี เมื่อพบกับความพ่ายแพ้ก็ฝึกฝนตัวเองให้ยอมรับกับมันแต่โดยดีโดยไม่ต้องโทษสิ่งอื่นใด ในทางกลับกันเมื่อเราเป็นผู้ชนะก็ต้องเรียนรู้ที่จะเป็นผู้ชนะที่ดี การเป็นผู้ชนะในสนามแข่งขันไม่ได้หมายความว่าเราจะชนะไปเสียทุกอย่าง

"หากสังคมของเราเต็มเปี่ยมไปด้วยคนที่เปี่ยมไปด้วยสปิริตของนักกีฬา เราคงไม่เห็นความแตกแยกแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ความขัดแย้ง เอารัดเอาเปรียบซึ่งกันในสังคม และถ้าเรารู้จักแพ้ รู้จักชนะ รู้จักการให้อภัย สังคมเราก็คงจะน่าอยู่ขึ้นมากกว่าที่เป็นอยู่" ครูบาจงกล่าวทิ้งท้าย


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น