การแต่งตั้งไวยาวัจกร ถือเป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าอาวาส ซึ่งภายในวัดหนึ่ง อาจมีไวยาวัจกรได้หลายคน และความเป็นไวยาวัจกร จะสิ้นสุดลงเมื่อเจ้าอาวาสผู้ที่แต่งตั้งให้นั้น พ้นจากความเป็นเจ้าอาวาส เช่น ลาออก ลาสิกขา หรือ มรณภาพ
ไวยาวัจกร จะมีหน้าที่ต่างกับ มัคนายก โดย มัคนายก จะมีหน้าที่ช่วยเหลือกิจกรรมต่าง ๆ ที่มักจะเกี่ยวข้องกับอุบาสกอุบาสิกา คล้ายเป็นตัวกลาง หรือผู้ประสานงานระหว่างพระกับอุบาสกอุบาสิกา ซึ่งบางครั้งอาจจะคอยดูแลรับใช้พระสงฆ์ด้วย แต่ก็ไม่ใช่หน้าที่โดยตรง ส่วนไวยาวัจกร มีหน้าที่กระทำกิจธุระแทนสงฆ์ ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า ไวยาวัจกรที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงิน คล้ายกับเป็น สมุห์บัญชีของวัด นั่นเอง
ตามพระวินัย มีไวยาวัจกร ที่ปรากฏในสิกขาบทที่ 10 จีวรวรรคที่ 1 นิสัคคิยปาจิตตีย์ 3 ความว่า "ถ้าใคร ๆ นำทรัพย์มาเพื่อค่าจีวรแล้วถามภิกษุว่า ใครเป็นไวยาวัจกรของเธอ ถ้าภิกษุต้องการจีวร ก็พึงแสดงคนวัดหรืออุบาสกว่า ผู้นี้เป็นไวยาวัจกรของภิกษุทั้งหลาย ครั้นเขามอบหมายไวยาวัจกรนั้นแล้ว สั่งภิกษุว่า ถ้าต้องการจีวร ให้เข้าไปหาไวยาวัจกร ภิกษุนั้นพึงเข้าไปหาเขาแล้วทวงว่า เราต้องการจีวรดังนี้ได้ 3 ครั้ง ถ้าไม่ได้จีวร ไปยืนแต่พอเขาเห็นได้ 6 ครั้ง ถ้าไม่ได้ ขืนไปทวงให้เกิน 3 ครั้ง ยืนเกิน 6 ครั้ง ได้มา ต้องนิสสัคคิยปาจิตตีย์
ไวยาวัจกร ถือเป็น ตัวแทน หรือ ผู้แทนของวัดในการจัดการทรัพย์สินของวัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ อีกทั้งยังมีฐานะเป็น “เจ้าพนักงาน” ตามประมวลกฎหมายอาญา จึงได้รับการคุ้มครองและควบคุมตามประมวลกฎหมายอาญา กล่าวคือ “ผู้ใดดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ซึ่งกระทำการตามหน้าที่ หรือเพราะได้กระทำการตามหน้าที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” และถ้าหากเจ้าพนักงานกระทำความผิดเสียเอง หรือเป็นใจให้มีการทุจริตย่อมต้องถูกลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญาเช่นกัน
*************************
เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น