วันอังคารที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2555

สุดยอดอมตะเหรียญหล่อ

สุดยอดอมตะเหรียญหล่อ
หลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา นครปฐม
นักเลงปืนขยาด-หน้าเสือหรือหน้าเสียกันแน่!?!

นักเลงรถส่วนใหญ่รู้จักหลวงพ่อน้อย วัดธรรมศาลา จ.นครปฐม เป็นอย่างดี เพราะท่านคือสุดยอดพระอมตะเถราจารย์ชื่อดังที่โดดเด่นทางเรื่องแคล้วคลาดปลอดภัย และที่สำคัญท่านได้ศึกษาวิชาการทาง “พุทธคุณ” มาเป็นเวลานาน  แต่มิได้แสดงออกให้ผู้ใดได้ทราบ จากจริยาวัตรของท่านที่สร้างความศรัทธาให้กับบุคคลผู้พบเห็น..... 
จวบจนวัยชรา ศิษย์ทั้งหลายต่างพร้อมใจกันขอให้หลวงพ่อ ได้สร้างอิทธิวัตถุเพื่อเป็นมงคลแก่บรรดาศิษย์ทั้งมวล แต่ท่านไม่อนุญาต.......
ในเวลาต่อมา บรรดาศิษย์ทั้งหลายไม่ละความพยายามที่จะขอให้หลวงพ่อสร้างอิทธิวัตถุมงคลให้ได้ มีลูกศิษย์ผู้หนึ่งได้ไปพบพระเมฆพัดที่ร้านจำหน่ายพระมีไว้ให้เช่า พระเมฆพัดนี้ พิมพ์เดียวกันกับ “หลวงพ่ออี๋” วัดสัตหีบเป็นผู้ปลุกเสก เพื่อแจกทหารเรือในสมัยสงครามอินโดจีน มีลักษณะเป็นรูปพระสมาธิสี่ด้านและมาเรียกกันว่า “พิมพ์พรหมสี่หน้า”
ดังนั้นศิษย์หลวงพ่อน้อยที่มาพบพระพิมพ์พรหมสี่หน้าที่กรุงเทพฯ นี้ ได้เช่าไปประมาณ 200 กว่าองค์ เมื่อเช่ามาได้แล้วจึงพากันไปหาหลวงพ่อ แล้วถวายหลวงพ่อเพื่อการปลุกเสก
พร้อมกับมีผู้เรียนหลวงพ่อว่า “พระจำนวนนี้เมื่อหลวงพ่อปลุกเสกแล้ว ให้แจกจ่ายลูกศิษย์ใกล้ชิดทั้งหลาย”  โดยลักษณะนี้หลวงพ่อท่านจำยอมรับมาปลุกเสกให้
ในการปลุกเสกหลวงพ่อท่านทำทุกวัน เป็นระยะเวลานานพอสมควร แต่ก็ไม่มีผู้ใดจำว่านานเท่าใด จึงได้แต่เชื่อว่าประมาณ 1 พรรษาหลวงพ่อจึงนำมาแจกจ่ายให้กับศิษย์ทั้งหลาย พระชุดนี้จึงถือว่าเป็นพระชุดแรกที่หลวงพ่อท่านปลุกเสกให้
ต่อมามีลูกศิษย์อีกหลายคนที่ยังมิได้รับพระปลุกเสกครั้งแรกจากหลวงพ่อ ต่างก็มาขอร้องให้ท่านสร้างหรือเหรียญเพื่อแจกเป็นที่ระลึกโดยทั่วถึง ความปรารถนาของศิษย์ทั้งหลายที่หลวงพ่อได้รับรู้นี้ ท่านได้ใช้เวลาไตร่ตรองอยู่เป็นนานพอสมควร และในโอกาสที่ท่านได้พบกับ “หลวงพ่อเงิน” วัดดอนยายหอม ซึ่งมีความมักคุ้นกันมากหลวงพ่อท่านก็ได้ปรารภความปราถนาของศิษย์ดังกล่าวให้หลวงพ่อเงินทราบ หลวงพ่อเงินท่านก็สนับสนุน ควรจะตอบสนองความศรัทธา
หลังจากนั้นไม่นานนัก เมื่อบรรดาลูกศิษย์ นำเรื่องนี้เรียนกับหลวงพ่ออีก หลวงพ่อท่านก็ไม่กล่าวความแต่อย่างใด กลุ่มลูกศิษย์จึงถือว่าท่านอนุญาตแล้ว จึงเริ่มตั้งต้นการสร้างเหรียญของท่านก่อนเป็นปฐมฤกษ์ แต่ในครั้งแรกนี้ในฐานะที่แต่ละคนยังไม่เคยสร้างพระ หรือสร้างเหรียญมาก่อน จึงใช้วิธีการติดต่อช่างว่าจ้างให้สร้างเหรียญรูปหลวงพ่อขึ้นจำนวนหนึ่ง
เหรียญรุ่นนี้เป็นเหรียญรุ่นอัดพิมพ์ เนื้อโลหะผสมที่แก่ทองแดงพิมพ์เสมา มีขนาดค่อนข้างเล็ก ด้านหน้าเบื้องบนอักษรไทยตัวนูนว่า"หลวงพ่อน้อย" ขอบด้านหน้ามีลายกนกกิ่งกลางด้านหน้าเป็นรูปหลวงพ่อครึ่งองค์ลอยเด่นอยู่ตรงกลาง มีใบหน้าหนุ่มและรู้สึกดูด้านล่างของรูปหลวงพ่อประมาณแนวอก ตัดตรงและไม่มีส่วนใดชิดเส้นขอบ
สำหรับด้านหลังเรียบมียันต์นะปถมังอยู่ตรงกลางเป็นเส้นนูนขึ้นมา ดังนั้นเหรียญรุ่นนี้จึงนับว่าเป็นรุ่นแรก ที่หลวงพ่อได้สร้างและปลุกเสก
หลวงพ่อน้อย ได้สร้างอิทธิวัตถุอันเป็นมงคลไว้หลายชนิด ทั้งที่สร้างเป็นรุ่นๆ ในจำนวนมาก และที่ปลุกเสกเป็นการเจาะจงให้กับลูกศิษย์เป็นเฉพาะรายในจำนวนน้อย เมื่อรวมกันแล้วถึง 50 กว่าชนิด
การสร้างนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่อแจกเป็นที่ระลึกให้กับบรรดาผู้ที่มานมัสการหลวงพ่อ รวมทั้งแจกในโอกาสต่างๆ
“หลวงพ่อน้อย” เป็นเกจิอาจารย์ที่เรืองด้วยวิทยาคุณ การปลุกเสกมักจะเป็นไปในทำนองเกจิอาจารย์ทั้งหลาย คือ มักจะปลุกเสกเพียงองค์เดียว  แต่ก็ปรากฏอยู่บางครั้งเหมือนกันที่ปลุกเสกเพียงองค์เดียว แต่ก็ปรากฏอยู่บางครั้งเหมือนกันที่จัดเป็นพิธีพุทธาภิเษก อันเป็นงานใหญ่ของวัด โดยคณะกรรมการวัดได้นิมนต์พระอาจารย์ที่มีชื่อเสียง และคุ้นเคยชอบพอกับหลวงพ่ออีกหลายแห่ง มาร่วมการปลุกเสกกับหลวงพ่อ เช่นในงานสมโภชที่หลวงพ่อได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นโท ที่ “พระครูภาวนากิตติคุณ” เมื่อเดือนมีนาคม 2512 เป็นต้น
อิทธิวัตถุต่างๆ ที่สร้างนี้ในยุคแรกมีทั้ง “เนื้อโลหะ” และ “เนื้อผง” บางส่วนจัดสร้างขึ้น โดยเฉพาะภิกษุเป็นช่างกันเองภายในวัดนั้น ดังนั้นของจำพวกหล่อจึงผิดความจริงไปบ้าง
ส่วนจำพวกเหรียญอัดพิมพ์( ปั๊ม) นั้นก็มีการว่าจ้างโรงงานผลิตขึ้น ความปราณีตงดงามจึงสวยกว่าเป็นไปตามแบบมาตรฐานทั่วไป
ส่วนที่มาของ "เหรียญหน้าเสือ" และเหรียญคอน้ำเต้ายุคแรกเมื่อออกมาใหม่ๆ ลูกศิษย์ให้ความสนใจกันน้อยเพราะด้อยในความปราณีตและสวยงาม
เมื่อช่างหล่อเทพิมพ์และถอดออกมาจะพบเหรียญนี้ใบหน้าจะเทไม่ค่อยติด ช่างได้บอกกับหลวงพ่อว่า "หน้าเสีย"  หลวงพ่อได้ยินก็ตอบช่างว่าไม่ใช่ "หน้าเสือ" 
แต่เมื่อลูกศิษย์ที่นำใช้ติดตัว เมื่อประสบผลทางกฤติยาคมกันเข้า ต่างก็เสาะแสวงหา จนเป็นของหายากในยุคนี้
ในกรณีที่คนไปนมัสการหลวงพ่อ เพื่อจะขอของจากท่านและแทบทุกครั้งเมื่อเขาจะเอ่ยปาก หลวงพ่อท่านเห็นท่า ท่านยิ้มก่อน แล้วลุกไปนำออกมา โดยไม่ต้องรอคำขอ
เมื่อเลือกได้แล้วจึงจะส่งให้หลวงพ่อท่านประสาทให้อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งในกรณีที่ท่านหยิบให้เองมักจะเป็นของชนิดที่ตรงกับผู้ขอมาต้องการ ซึ่งได้สร้างความแปลกใจกันในหมู่ลูกศิษย์เสมอมา


ประวัติวัดธรรมศาลา

ปัจจุบันวัดธรรมศาลามีเนื้อที่ตามโฉนดประมาณ 61 ไร่เศษ ตั้งอยู่เลขที่4 หมู่ที่7 ตำบลธรรมศาลา อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม มีสิ่งสำคัญหลายอย่าง คือ วิหารเก่า, โบสถ์, เนินถ้ำ และลิง วัดธรรมศาลามีตำนานเกี่ยวกับพระยากงพระยาพาน คือ พระยาพานได้ครองเมืองศรีวิชัย จึงทรงวิตกว่าการที่พระองค์ทำปิตุฆาตพระราชบิดากับยายหอมจะได้รับสนองกรรมอย่างหนักอันจะเกิดขึ้นแก่พระองค์ทั้งที่มีชีวิตอยู่และกาลสิ้นชีวิตไป และได้สำนึกในบาปบุญคุณโทษของตนที่ทำไว้ จึงได้โปรดให้ประชุมพระอรหันต์และพระสงฆ์จากอารามต่างๆ ได้ปลูกสร้างโรงธรรมขนาดใหญ่ไว้ใกล้เนินหรือถ้ำเพื่อใช้เป็นที่ประชุมสงฆ์ และอุทิศโรงธรรมเป็นที่สำหรับพระสงฆ์ไว้แสดงธรรม เพื่อให้กรรมที่ได้รับเบาบางลง จึงได้เรียกชื่อ "ธรรมศาลา" มาทุกวันนี้

ข้อมูลประวัติ

เกิด                       วันที่ 12 พฤษภาคม 2426  เวลา 04.00 น. เป็นบุตรของ นายแสง  นางอ่อน

บรรพชา                เป็นสามเณรอยู่กับ หลวงพ่อชา  วัดสามกระบือเผือก

อุปสมบท               อายุ 20 ปี  ตรงกับวันที่ 28 พฤษภาคม 2446  ณ วัดธรรมศาลา

มรณภาพ               วันที่ 17 พฤศจิกายน 2513  เวลาประมาณ 18.34 น.

รวมสิริอายุ            83 ปี 67 พรรษา

วัตถุมงคลที่ได้รับความนิยม
                คือ เหรียญหล่อหน้าเสือ รุ่นแรก สร้างประมาณปี 2497-2498  ส่วนครั้งที่สองและสาม ด้านหลังใต้ยันต์ปลายเหรียญมีเลขไทยปรากฎอยู่ ความคมชัดจะไม่เหมือนกัน
                เหรียญหล่อคอน้ำเต้า สร้างปี 2497-2498 มีหลายรุ่นหลายเนื้อเช่นกันกับเหรียญหล่อหน้าเสือ  นอกจากนี้แล้วยังมีอีกหลายชนิด คือ เหรียญ  พระเนื้อผง  และเครื่องรางอื่น ๆ
พุทธคุณที่เล่าสืบทอดกันมาพุทธคุณในเหรียญรุ่นนี้เด่นทาง  เมตตามหานิยม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น