วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

พม่าถวายสมณศักดิ์ อัครมหาบัณฑิต "สมเด็จพระพุทธชินวงศ์"

รัฐบาลพม่าถวายสมณศักดิ์อัครมหาบัณฑิต "สมเด็จพระพุทธชินวงศ์" กรรมการมหาเถรฯ ในฐานะผู้ไกล่เกลี่ยกรณีพิพาทวัดทรายมูลคณะสงฆ์ไทย-พม่า

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. นายสมหมาย สุภาษิต รอง ผอ.สำนักงานบริหารสำนักส่งเสริมพระพุทธศาสนาและบริการสังคม มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ นายอู ติ่นวิน เอกอัครราชทูตสหภาพเมียนมาร์ ประจำประเทศไทย ได้มีหนังสือแจ้งอย่างเป็นทางการถวาย สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) เจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม กรรมการมหาเถรสมาคม ในฐานะรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตบาฬีศึกษาพุทธโฆส นครปฐม ว่า พล.อ.เต็ง เส่ง ประธานาธิบดีแห่งสหภาพเมียนมาร์ ได้ถวายสมณศักดิ์ อัครมหาบัณฑิต ตามประกาศของทำเนียบประธานาธิบดี เลขที่ 1/2013 ซึ่งสมณศักดิ์อันทรงเกียรตินี้ เหมาะสมอย่างยิ่งกับสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เนื่องด้วยผลงานที่โดดเด่นทางด้านการอนุรักษ์ ส่งเสริม เผยแผ่พระพุทธศาสนา รวมทั้งด้านปริยัติปฏิบัติ




นายสมหมาย กล่าวต่อว่า ทางสหภาพเมียนมาร์ยังเห็นว่า สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ยังมีอุทิศตนในการจัดทำปริวรรตคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนามานานหลายปีติดต่อกัน ซึ่งเป็นความพยายามอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และไม่หยุดนิ่ง ซึ่งเอื้อประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ทางพระพุทธศาสนาระหว่างไทย-พม่าในอนาคต โดยเฉพาะได้กระตุ้นและส่งเสริมความสัมพันธ์และธำรงไว้ซึ่งประเพณีโบราณ ในความร่วมมือทางพุทธศาสนาระหว่าง 2 ประเทศ และยังเป็นประโยชน์ต่อการกระชับความสัมพันธ์อันเปี่ยมไปด้วยไมตรีจิตของทั้ง 2 ประเทศ ให้แข็งแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นด้วย โดยทางรัฐบาลสหภาพเมียนมาร์ กำหนดพิธีถวายสมณศักดิ์ดังกล่าวในช่วงปลายเดือน มี.ค. 2556

เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ จะเดินทางไปรับการถวายสมณศักดิ์ ณ กรุงเนปิดอว์ เมืองหลวงใหม่ของสหภาพเมียนมาร์ ซึ่งการถวายสมณสักดิ์แด่เจ้าประคุณสมเด็จในครั้งนี้ ถือเป็นวาระที่สำคัญ เนื่องจากในปีนี้ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ มีอายุครบ 6 รอบ 72 ปี ในวันที่ 2 ก.พ. 2556

สำหรับประวัติสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ มีนามเดิมว่า สมศักดิ์ ฉายา อุปสโม นามสกุล ชูมาลัยวงศ์ เกิดวันที่ 2 ก.พ. 2484 ณ ต.ปากจั่น อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา บรรพชาอุปสมบทเมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ณ วัดละมุด จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อ 5 เม.ย. 2504 ได้ศึกษาพระปริยัติธรรมเมื่ออุปสมบทอายุ 20 ปี ด้วยความสามารถพิเศษ กระทั่งสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค เมื่อ พ.ศ. 2515 หรือเพียง 11 ปี นับแต่อุปสมบท เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ได้ใฝ่หาความรู้เพิ่มเติมโดยไปเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ที่มหาวิทยาลัยมคธ ประเทศอินเดีย สอบได้ Ph.D. เมื่อกลับไทยได้สร้างผลงานมากมาย ล้วนแต่เป็นการพัฒนาการศึกษาด้านปริยัติธรรมที่ยั่งยืน เช่น ตั้งสถาบันพุทธโฆส วิทยาเขตแห่งมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย เพื่อสอนบาลีใหญ่ หรือมูลกัจจายน์ ระดับปริญญาตรี เป็นการฟื้นฟูการเรียนมูลกัจจายน์ที่เลือนหายไปจากประเทศไทยให้กลับมามี บทบาทอีกครั้ง

ส่วนผลงานที่รัฐบาลและคณะสงฆ์สหภาพเมียนมาร์ประทับใจเป็นอย่างยิ่ง นอกจากเป็นผู้มีความผูกพันกับสำนักมหาสี สยาดอว์ สำนักวิปัสสนาชื่อดังแห่งกรุงย่างกุ้ง สหภาพเมียนมาร์แล้ว ท่านยังช่วยแก้ปัญหาการตั้งเจ้าอาวาสวัดทรายมูล อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ทำให้คณะสงฆ์และรัฐบาลสหภาพเมียนมาร์พอใจ

วัดทรายมูล เป็นวัดไทย แต่พระสงฆ์พม่าอยู่จำพรรษาหลายรูป โดยมีพระพม่าเป็นเจ้าอาวาส เมื่อเจ้าอาวาสมรณภาพ คณะสงฆ์ผู้ปกครองตั้งพระไทยรักษาการเจ้าอาวาส แต่ชาวพม่าประท้วงเป็นเรื่องเป็นราว จึงต้องระงับการแต่งตั้ง รัฐบาลตั้งแต่เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทย ถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.เต็งเส่ง เคยหยิบยกเรื่องนี้หารือกับนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และขอความช่วยเหลือจากสมเด็จพระพุทธชินวงศ์ ท่านจึงสั่งการให้ พระเทพมังคลาจารย์ (สมาน) รองเจ้าคณะจังหวัดเชียงใหม่ ไปแก้ไข เรื่องทุกอย่างจึงเรียบร้อยถูกใจชาวพม่า จึงส่งผลให้ทางสหภาพเมียนมาร์ ถวายสมณศักดิ์ อันทรงเกียรตินี้แด่ สมเด็จพระพุทธชินวงศ์

************************

ข่าวโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น