วันอังคารที่ 29 มกราคม พ.ศ. 2556

มจร.เปิดหลักสูตรปริญญาโท ปั้น "กาวใจ" สังคมไทย


“ความขัดแย้ง” คือสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมโลกมาตั้งแต่อดีต

“ยิ่งในศตวรรษนี้ ปัญหาเรื่องความขัดแย้งในสังคมจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น” นั่นคือการคาดการณ์จาก 
องค์การเพื่อการศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก

โดยยูเนสโกมองว่า ศตวรรษนี้เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้ง่าย ขณะที่แหล่งข้อมูลก็มีจำนวนที่มากเกินไป ส่งผลให้ประชาชนจะเลือกรับข้อมูลเฉพาะที่ตัวเองสนใจ หมกมุ่น ทำให้ไม่สามารถยอมรับความแตกต่างได้ และในที่สุดก็จะเกิดเป็นปัญหาความขัดแย้งขึ้นในแต่ละสังคม ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับข้อกังวลของที่ประชุมผู้นำทางศาสนากว่า 1,000 คน ที่ร่วมประชุมกับ นายโคฟี่ อันนัน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เมื่อปี ค.ศ.2000 และมีความเห็นตรงกันว่า ในศตวรรษนี้จะเกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรมและศาสนา โดยที่ศาสนาจะถูกอ้างอิงเพื่อไปเป็นมูลเหตุความขัดแย้งหันกลับมามองประเทศไทยบ้าง สถานการณ์ความขัดแย้งในสังคมไทยที่นับวันยิ่งขยายวงกว้างและทวีความรุนแรง ยิ่งเหมือนตอกย้ำชัดเจนว่าการคาดการณ์ของยูเนสโกไม่ใช่เรื่องเกินความจริง

ทั้งบรรดาสารพัดม็อบสีต่างๆ รวมไปถึงปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ซึ่งดูว่าไม่มีทีท่าจะสงบลงง่ายๆ และจากสถานการณ์ปัญหาความขัดแย้งที่ส่อวี่แววจะเพิ่มมากขึ้นนี่เอง จึงเป็นเหตุให้หลายสถาบันอุดมศึกษาของไทย อาทิ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เตรียมรับมือด้วยการเปิดสอนหลักสูตรเกี่ยวกับสันติศึกษา ด้วยหวังที่จะผลิตบุคลากรออกมาเป็นคนกลางในการเจรจา ผ่อนหนักเป็นเบา สร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยสงฆ์อย่าง มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) ก็ได้ร่วมมือกับ สำนักงานศาลยุติธรรม และ สถาบันพระปกเกล้า เปิด หลักสูตรโครงการปริญญาโท สาขาสันติศึกษา (ภาคพิเศษ) รุ่นที่ 1 ขึ้น

โดยมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ใช้เวลาศึกษาข้อมูลก่อนที่จะเปิดหลักสูตรนี้นานกว่า 7 ปี จุดเด่นของหลักสูตร จะเน้นบูรณาการพัฒนาสันติภาพแบบผสมผสาน โดยเริ่มต้นพัฒนาผู้เรียนให้เกิดสันติภาพขึ้นภายในใจ ด้วยการใช้หลักสมาธิเป็นเครื่องมือในการกล่อมเกลาสติและปัญญา ซึ่งจะมีการศึกษาใน 3 กลุ่มวิชาหลัก คือ 

1.แนวคิดและทฤษฎีเกี่ยวกับความขัดแย้ง สันติภาพ พระพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ และพุทธสันติวิธี 2.ปฏิบัติการสร้างสันติภาพ ฝึกปฏิบัติในสถานที่จริง
3.ศึกษาต้นแบบของนักสร้างสันติภาพทั่วโลก

พระพรหมบัณฑิต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ กล่าวว่า สันติศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะเป็นเครื่องมือที่จะนำมาสลายความขัดแย้งได้ดีที่สุด และทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯจะไม่ยอมให้เกิดความขัดแย้งทางวัฒนธรรม และศาสนาขึ้นในสังคมไทยเด็ดขาด ดังนั้นในฐานะมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ เป็นมหาวิทยาลัยด้านศาสนา จึงได้มีการคิดหลักสูตรสันติศึกษาขึ้น เพื่อหวังสร้าง วิศวกรทางสันติ ขึ้นมา ในการที่จะเจรจาให้เกิดความปรองดองขึ้นในสังคม

สอดคล้องกับความเห็นของ ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า ที่มองว่า ไทยยังไม่ประสบความสำเร็จในการสร้างสันติวิธี เนื่องจากที่ผ่านมาสอนแต่ความรู้สันติวิธีเพียงแค่ทฤษฎี แต่ไม่สามารถปลูกฝังสิ่งที่เรียกว่าทัศนคติเชิงบวกต่อการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ ดังนั้นการจัดหลักสูตรสันติวิธีจึงเป็นความจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อบ้านเมืองขณะนี้มากที่สุด ซึ่งหลักสูตรนี้เหมาะสำหรับผู้นำประเทศ นักการเมือง ผู้นำทางทหาร ผู้นำทางตำรวจ โดยหลักสูตรของทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯเป็นหลักสูตรแรกของการแก้ปัญหาความขัดแย้งที่สมบูรณ์ที่สุดของประเทศไทย

“แม้หลักสูตรสันติศึกษา ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯจะไม่ได้เปิดสอนเป็นแห่งแรกในประเทศไทย แต่หลักสูตรของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯจะเป็นหลักสูตรแรกของประเทศที่มีการนำหลักพระพุทธศาสนามาบูรณาการในการศึกษาหลักสูตรสันติศึกษา” พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯย้ำถึงจุดเด่นของหลักสูตร



พร้อมกับระบุถึงกลุ่มเป้าหมายที่ทางมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ต้องการให้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้ว่า จะเป็นกลุ่มสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล องค์การบริหารส่วนจังหวัด นักการเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจ ส.ส. ซึ่งได้มีการส่งจดหมายเชิญ 2,000 ฉบับไปยังหน่วยงานต่างๆทั่วประเทศ เพื่อให้เข้ามาศึกษาในหลักสูตรนี้แล้ว ส่วนผู้ที่สนใจจะเข้ามาเรียนหลักสูตรนี้สามารถสมัครได้จนถึงวันที่ 30 มี.ค.นี้

*************************

ข่าวโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น