วันพฤหัสบดีที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2556

หลวงพ่อสุข ผู้ทรงวิทยาคม แห่ง วัดห้วยจรเข้


"วัดห้วยจรเข้" ตั้งอยู่เลขที่ 447 ถ. พิพิธประสาท ด้านหน้าวัดใกล้คลองเจดีย์บูชา ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม เดิมมีชื่อวัดว่า วัดนาคโชติการาม ต่อมาเปลี่ยนเป็น วัดใหม่ห้วยจระเข้ ปัจจุบันได้ชื่อเป็นทางการว่า วัดห้วยจรเข้ เจ้าอาวาสรูปแรกของวัด คือ หลวงปู่นาค โชติโก (พระครูปัจฉิมทิศบริหาร) ท่านเป็นผู้สร้างวัดนี้ให้เป็นวัดบริวารขององค์พระปฐมเจดีย์ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4

พระครูปัจฉิมทิศบริหาร (หลวงปู่นาค) ปรมาจารย์ผู้สร้าง พระปิดตาเนื้อเมฆพัตร์ เป็นผู้สร้างวัดห้วยจรเข้ เมื่อปี พ.ศ.2441 (ก่อนหน้านั้นท่านยังจำพรรษาอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์) หลวงปู่นาคท่านเป็นพระรูปร่างเล็ก บอบบาง ผอมเกร็ง ท่านมีชีวิตอยู่ประมาณปี พ.ศ. 2380 กว่า ถึง พ.ศ. 2453 อายุประมาณ 60 กว่าพรรษา เดิมทีเข้าใจว่าท่านอุปสมบทที่วัดพระปฐมเจดีย์ แต่ตามความจริงแล้วท่านเป็นพระธุดงค์ได้เดินธุดงค์มานมัสการองค์พระปฐมเจดีย์ เพราะมีความเชื่อว่าองค์พระปฐมเจดีย์มี พระบรมสารีริกธาตุบรรจุอยู่ ด้วยความศรัทธาต่อองค์พระปฐมเจดีย์ จึงได้จำพรรษาอยู่ที่วัดพระปฐมเจดีย์

ต่อมา พระครูอุตตรการบดี (สุข ปทุมสฺสวณฺโณ) หรือ หลวงพ่อสุข ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสรูปที่ 2 ของวัดห้วยจระเข้ต่อจากหลวงปู่นาค หลวงพ่อสุขถือกำเนิดที่ตำบลบางแขม อ.เมือง จ.นครปฐม เมื่อวันศุกร์ เดือน 9 ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 25 สิงหาคม 2425 เป็นบุตรคนที่ 5 ในจำนวน 7 คน ของ นายเทศ และนางทิพย์ มาเทศ เมื่ออายุ 11 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร อยู่ ณ วัดบางแขม อ.เมือง จ. นครปฐม จนอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์จึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมาวัดบางแขม
โดยมีหลวงพ่อคำ วัดหนองเสือ อ.เมือง จ.นครปฐม เป็นพระอุปัชฌาย์
พระครูสมถกิตติคุณ(หลวงพ่อหลั่น) วัดพระประโทนเจดีย์ และหลวงพ่อแก้ว วัดบางแขม
เป็นคู่พระกรรมวาจาจารย์ และพระอนุสาวนาจารย์

เมื่ออุปสมบทแล้วได้ย้ายมาศึกษาอักขรสมัย และพระธรรมวินัย วิปัสสนากรรมฐานและคันถธุระตลอดจนวิทยาคมต่างๆ กับหลวงปู่นาค วัดห้วยจระเข้ นอกจากนี้ ท่านยังได้ไปศึกษาเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อคำ วัดหนองเสือ หลาวงพ่อคำ ผู้นี้ เป็นญาติผู้น้องของ หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก หลวงพ่อคำท่านมีความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากรรมฐาน และวิทยาคมต่างๆ จนสามารถยิงกระสุขคดได้ ระหว่างที่หลวงปู่คำมีชีวิตอยู่ ท่านได้แจกเหรียญหลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตกรุ่น 2 ให้กับศิษย์ของท่าน หลวงปู่คำวัดหนองเสือ มรณภาพประมาณ พ.ศ. 2450 กว่า อายุประมาณ 80 กว่าพรรษา ระหว่างงานพิธีศพ หลวงพ่อทาวัดพะเนียงแตก ได้มาเดินนำศพหลวงปู่คำ วัดหนองเสือ หลวงพ่อสุขท่านมรณภาพปี 2494

หลวงพ่อสุข เมื่อได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสแล้ว ท่านได้บริหารปกครองและพัฒนาวัดให้เจริญรุ่งเรืองขึ้น ตามลำดับ ทั้งในด้านการศึกษา การเผยแพร่พระพุทธศาสนา และการบูรณะปฏิสังขรวัด และขยายเนื้อที่วัดให้มากขึ้นโดยการซื้อที่ดินเข้าวัดอย่างมากมาย

หลวงพ่อสุขท่านเป็นพระอาจารย์ที่มีวิทยาคมแก่กล้าไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าหลวงปู่นาค และหลวงพ่อคำซึ่งเป็นอาจารย์ของท่าน ดังนั้น ในพิธีพุทธาภิเษก ท่านมักจะได้รับการนิมนต์เสมอๆ เช่น พิธีพุทธาภิเษกพระคันธาราช วัดพระปฐมเจดีย์ พ.ศ.2476 และพิธีพุทธาภิเษก พระร่วงใบมะยม ของวัดพระปฐมเจดีย์ พ.ศ.2484,พ.ศ. 2485 และพ.ศ.2487 ตามลำดับ

หลวงพ่อสุข ท่านเป็นพระที่แก่กล้าในวิทยาคมดังได้กล่าวมาแล้ว แม้แต่ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง ก็ยังยอมรับในความแก่กล้าในวิทยาคมของท่าน มีอยู่ครั้งหนึ่งหลวงพ่อแช่มวัดตาก้องกับหลวงพ่อสุข ได้ทดสอบวิชาย่นระยะทางว่าใครจะถึงพิธีพุทธาภิเษกที่วัดพระปฐมเจดีย์ก่อนกัน ปรากฏว่าหลวงพ่อสุขถึงวัดพระปฐมเจดีย์ก่อน!!

ด้วยกิตติศัพท์ความเชี่ยวชาญในด้านวิปัสสนากรรมฐานและคันถธุระ และความรอบรู้ในด้านวิทยาคมต่างๆ จึงมีผู้มาขอฝากตัวเป็นศิษย์ เพื่อศึกษาวิทยาคมที่เด่นๆ ได้แก่

- หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม 
- หลวงพ่อยิ้ว วัดบางแขม
- หลวงพ่อแช่ม วัดดอนยายหอม
- หลวงพ่อเต้า วัดเกาะวังไทย
- หลวงพ่อเล็ก วัดหนองสีดา
หลวงพ่อพูล วัดไผ่ล้อม  

โดยเฉพาะหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม ได้มาขอเรียน นะทรหด หรือ นะคงกะพัน เมื่อประมาณ พ.ศ. 2480

หลวงพ่อสุข ท่านได้สร้างวัตถุมงคลจำนวนน้อยมาก วัตถุมงคลที่เป็นที่นิยมของประชาชนทั่วไป คือ เหรียญปั้มรูปเหมือนรุ่นแรก และเป็นเหรียญรุ่นเดียวที่สร้างในขณะที่หลวงพ่อสุขยังมีชีวิตอยู่ เป็นเหรียญรูปเหมือนหลวงพ่อสุขครึ่งองค์ มีอักษรรอบเหรียญว่า "พระครูอุตตรการบดี สุก ปทุมสฺสวณฺโณ" ด้านหลังเขียนว่า วัดห้วยจรเข้ ด้านหลังของเหรียญมีอยู่สองพิมพ์ คือ พิมพ์อุหางสั้น และอุหางยาวเหรียญรุ่นแรกนี้ นักสะสมพระทั่วไปเรียกว่า เหรียญคอสั้น เหรียญรุ่นแรกเข้าใจว่าหลวงพ่อสุขสร้างหลังจากได้รับสมณศักดิ์เป็น พระครูสัญญาบัตรประจำทิศองค์พระปฐมเจดีย์ ที่พระครูอุตตรการบดี เมื่อประมาณ พ.ศ. 2469 ต่อจากหลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว เหรียญรุ่นแรกนี้จะเรียกว่าเหรียญรุ่นเลื่อนสมณศักดิ์ก็ได้ มีสองเนื้อ คือ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง

*************************

เรียบเรียงโดย : ทีมงานมงคลพระ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น