การมรณภาพของ
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช แน่นอนที่สุดว่า เป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ในวงการสงฆ์ ขณะเดียวกันอีกมุมหนึ่งถือว่าเป็นการยุติความขัดแย้งของฝ่ายฆราวาส ที่ลากโยงเอาพระเถระชั้นผู้ใหญ่เข้าไปเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย กล่าวคือ เมื่อครั้งที่มหาเถรสมาคมแต่งตั้งให้
สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) เป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช เมื่อต้นปี พ.ศ.2547 ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้งคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ โดยมีสมเด็จพระพุฒาจารย์ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน
การแต่งตั้งทั้งสองครั้ง มีกระแสต่อต้านค่อนข้างรุนแรงจากกลุ่มลูกศิษย์ของ
พระธรรมวิสุทธิมงคล (หลวงตามหาบัว ญาณสมฺปนฺโน) นำโดยนายทองก้อน วงศ์สมุทร และชาวคณะ ซึ่งต่อมายังมีความเคลื่อนไหวแสดงความเป็นปฏิปักษ์กับสมเด็จเกี่ยวอีกเป็นระลอก
อย่างไรก็ตาม เมื่อตำแหน่งประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชของสมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสโณ) สิ้นสุดลง อำนาจการตัดสินใจสูงสุดของคณะสงฆ์ไทย โดยเฉพาะมหานิกายจะไหลไปที่
วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ
โดยอัตโนมัติ เพราะพระเถระที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุดของมหาเถรสมาคมขณะนี้ คือ
สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ ป.ธ.9) จะต้องมารับ "เป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์"
สำหรับความเปลี่ยนแปลง และหลายสิ่งที่จะตามมาตามแนวนโยบายของประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชรูปใหม่ คือ ประการแรก แนวความคิดในการเปลี่ยนแปลงการจัดการคณะสงฆ์ครั้งยิ่งใหญ่ในฝ่ายของมหานิกาย โดยเฉพาะใน
ด้านการศึกษา ประการต่อมาก็คือ
บุคลากรใหม่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน ตั้งแต่ระดับบนสุดถึงล่างสุด แม้จะเปลี่ยนตัวบุคคลไม่ได้ แต่ก็จะเปลี่ยนแปลงนโยบายและอำนาจ เช่นเดียวกับการแต่งตั้งโยกย้ายในระบบข้าราชการ
ทั้งนี้ หลังจากพระราชทานเพลิงศพ สมณศักดิ์
"สมเด็จพระพุฒาจารย์" ที่ว่างลง 1 ตำแหน่ง ก็ต้องมีการสถาปนาขึ้นมาแทน มีพระเถระผู้ใหญ่ที่โดดเด่น 5 รูปด้วยกัน คือ
1.พระพรหมเวที วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร
2.พระพรหมวชิรญาณ วัดยานนาวา
3.พระพรหมจริยาจารย์ วัดกระพังสุรินทร์ จ.ตรัง เจ้าคณะใหญ่หนใต้
4.พระธรรมปัญญาบดี วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามราชวรมหาวิหาร (วัดโพธิ์) กทม.
5.พระพรหมคุณาภรณ์ (ป. อ. ปยุตฺโต) วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม
เมื่อสถาปนาสมเด็จแล้ว ตำแหน่ง
"รองสมเด็จ" ต้องว่างอีก 1 ตำแหน่ง พระสงฆ์ชั้นผู้ใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งคุณวุฒิและวัยวุฒิ คือ
พระธรรมกิตติวงศ์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.9) ราชบัณฑิต และเจ้าอาวาสวัดราชโอรสาราม
ขณะเดียวกันยังมีตำแหน่งสำคัญที่ว่างอีก 2 ตำแหน่ง คือ
เจ้าคณะใหญ่หนตะวันออก ซึ่งเดิมเป็นของสมเด็จเกี่ยว โดยมีพระ 2 รูป ที่เป็นเจ้าคณะภาคและเป็นรองสมเด็จมีอาวุโสสูง คือ
พระพรหมเวที วัดไตรมิตร และ
พระพรหมสุธี วัดสระเกศ แต่อาจมีการตั้งตำแหน่งนี้ข้ามห้วยมาจากวัดปากน้ำโดยตรง คือ
พระวิสุทธิวงศาจารย์ ซึ่งเป็นตำแหน่งรองสมเด็จ และมีความอาวุโสเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม หาก
สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (วีระ ภัททจารีมหาเถระ) กรรมการมหาเถรสมาคม และ เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวราราม ไม่อาพาธ ตำแหน่งเจ้าคณะใหญ่หนตะวันออกจะเป็นของท่านโดยอัตโนมัติ
นอกจากนี้ยังมีความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับสถานที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม เดิมที่อยู่ที่ตำหนักเพ็ชร วัดบวรฯ ภายหลังสมเด็จเกี่ยวเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช ได้ย้ายไปที่วัดสระเกศ และจะมีการย้ายอีกครั้งหนึ่งแน่นอน โดยย้ายไปที่พุทธมณฑล เพราะสมเด็จวัดปากน้ำได้สร้างตำหนักที่พักรับรองสมเด็จพระสังฆราช พร้อมห้องประชุมไว้ แต่ไม่เคยถูกเปิดใช้เลยสักครั้งเดียว เมื่อสมเด็จวัดปากน้ำเป็นประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชจึงชอบธรรมที่ท่านจะใช้สถานที่ดังกล่าวเป็นที่ประชุมกรรมการมหาเถรสมาคม
ประเด็นหนึ่งที่น่าจับตา คือ การแต่งตั้งเลื่อนสมณศักดิ์ตั้งแต่ระดับบนถึงล่างที่จะประกาศในเดือนธันวาคม ซึ่งขณะมีการประชุมการเลือกนำเสนอลำดับเป็นขั้นตอนมาแล้ว อาจจะต้องมีการนำเสนอใหม่ในการประชุม มส. เดือนกันยายน เพราะอำนาจชี้ขาดขณะนี้เปลี่ยนไปอยู่ที่วัดปากน้ำแทนวัดสระเกศ ภาคที่ได้รับอานิสงส์โดยตรง คือ พระจากภาคเหนือ เช่น วัดตากฟ้า จ.นครสวรรค์ วัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม กทม.
*************************
เย็นหิมะในรอยธรรม
หนังสือ
"เย็นหิมะในรอยธรรม" รวบรวมขึ้นจากโอวาท เกี่ยวกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนาในต่างประเทศ ที่เจ้าประคุณสมเด็จเกี่ยวแสดงธรรมในโอกาสต่างๆ เป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา จนได้รับการยอมรับว่า เป็นสุดยอดหนังสือที่ผู้นำชาวพุทธทุกคนต้องอ่าน
บางส่วนของโอวาทจาก หนังสือ
"เย็นหิมะในรอยธรรม" ที่สมเด็จเกี่ยวเคยแสดงไว้ คือ
ในโลกปัจจุบัน การจะรักษาพระพุทธศาสนาเอาไว้ให้ได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้พระเณรได้มีความรู้ มีการศึกษาทั้งธรรมะและวิชาการทางโลก ความรู้อย่างพระก็ต้องรู้ เพราะเป็นเรื่องพระศาสนา แต่ก็ต้องรู้ความรู้ชาวบ้านเขาด้วย ในขณะเดียวกันก็ต้องมีการวางแผน เพื่อให้พระพุทธศาสนาไปอยู่ตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก
ผู้ที่จะรับภาระหน้าที่อันหนักหน่วงนี้ได้ก็คือ พระเณรนั่นเอง จึงจำเป็นจะต้องให้พระเณรมีการศึกษา รู้เท่าทันสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอายุยังน้อยต้องเรียน เรียนอะไรก็ได้ ที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย อย่าอยู่เฉยๆ เพราะพระเณรจะต้องรับภาระธุระพระศาสนา แต่หลวงพ่อแก่แล้ว คนแก่จะทำอะไรได้ แค่ให้หายใจอยู่เฉยๆ ก็ยังแย่แล้ว
พระพุทธศาสนาในเมืองไทยมีภัยรอบด้าน ซึ่งกำลังแทรกเข้ามาทุกรูปแบบ พระพุทธศาสนาอาจจะล้มครืนลงวันใดก็ได้ แต่พระก็ยังเหมือนปลาอยู่ในน้ำเย็น จึงตายใจว่า พระพุทธศาสนาตั้งมั่นเจริญรุ่งเรืองในเมืองไทย เลยไม่รู้สึกถึงความล่มสลาย ซึ่งกำลังใกล้เข้ามา
ให้มองไปข้างหน้าอีก 50 ปี โดยกำหนดดูผลแห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งละ 10 ปี และในทุก 10 ปีนั้น ก็ยังต้องดูความเปลี่ยนแปลงในแต่ละปีด้วย จนกว่าจะถึง 50 ปี เพื่อให้คาดการณ์ว่า อีก 50 ปีข้างหน้าว่าจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าสิ่งนั้นจะเกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาอย่างที่เคยขึ้นในอดีตแล้ว เราจะทำอย่างไร มองให้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในอดีต ความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ของสังคม และของโลก ความเปลี่ยนแปลงมีอยู่ตลอดเวลา แม้กระทั่งกับพระพุทธศาสนา มิเช่นนั้นแล้ว พระพุทธศาสนาในอินเดีย ในปากีสถาน บังกลาเทศ และในอัฟกานิสถาน เป็นตัวอย่าง ก็คงไม่ล่มสลาย ถ้าสามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของชีวิต ของสังคม และของโลก ที่จะเกิดขึ้นในอีก 50 ปีข้างหน้า ก็จะทำให้สามารถเห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
*************************
เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์