“เวลานี้รัฐบาลได้รับข้อมูลหรือยังว่า บาตรของพระพุทธเจ้าที่ทรงประทานแก่ชาวเมืองไพสาลีนั้นได้ถูกค้นพบแล้วที่พิพิธภันฑสถานแห่งชาติที่เมืองคาบู ประเทศอัฟกานิสถาน? ถ้าค้นพบแล้ว ทางสถานทูตอินเดียที่ประเทศอัฟกานิสถานได้ส่งรูปบาตรอันนั้นให้กับรัฐบาลหรือยัง? ถ้าได้ส่งมาให้รัฐบาลแล้ว ทางรัฐบาลได้เริ่มกระบวนการที่จะนำเอาบาตรนั้นกลับคืนมาหรือยัง? ถ้าได้เริ่มดำเนินการแล้ว รัฐบาลได้รับข้อมูลบันทึกการเดินทางของนักแสวงบุญชาวจีนชื่อ ฟา เหียน ( Fa-hein) และงานเขียนของ ดร. คันนิ่งแฮม (Dr. Cunningham) รวมทั้งงานเขียนของ ศรี เอส วี ซาห์นิ Shri S.V. Sahni ที่ได้อ้างถึงบาตรอันนี้หรือยัง? ถ้าได้รับแล้วขอรายละเอียดเกี่ยวกับงานเขียนของท่านเหล่านั้นได้มั้ย?”
รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียในขณะนั้นได้ตอบกระทู้ถามเหล่านี้ว่า
“สถานทูตอินเดียที่เมืองคาบูได้สำรวจประเด็นดังกล่าวแล้วและได้บทสรุปว่า วัตถุที่มีการตั้งข้อสมมุติฐานกันว่าเป็นบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น อยู่ที่ เมืองกันดาฮาร์ (Kandahar) มาจนถึงสมัยของอดีตประธานาธิบดี นาจิบูลลาห์ President Najibullah จากนั้นได้มีการนำไปที่เมืองคาบู และปัจจุบันเก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของอัฟกานิสถาน ที่เมืองคาบู ดูจากรูปภาพบาตรที่ทางสถานทูตได้รับมีลักษณะค่อนข้างใหญ่ นอกจากนี้ยังมีรอยจารึกเป็นภาษาอาหรับและภาษาเปอร์เซียอีกด้วย ทางรัฐบาลได้ขอข้อมูลและคำแนะนำเกี่ยวกับบาตรอันนี้กับทางฝ่ายสำรวจทางโบราณคดีของอินเดียแล้ว ซึ่งทางฝ่ายสำรวจนี้อาจจะมีข้อมูลดังกล่าว”
ต่อมานักการเมืองท่านเดิมได้ติดตามประเด็นดังกล่าวและได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเกี่ยวกับความคืบหน้าการพิสูจน์หาความจริงว่าบาตรที่ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เมืองคาบูนั้นใช่บาตรของพระพุทธเจ้าจริงหรือไม่ โดยตั้งกระทู้ถามอีกว่า
“ รัฐบาลได้รับข้อมูลการตรวจสอบทางประวัติศาสตร์ และทางโบราณคดีเกี่ยวกับแหล่งที่มาของบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจากหน่วยงานสำรวจทางโบราณคดีของอินเดียหรือยัง? ถ้าได้แล้ว รัฐบาลจะดำเนินการอย่างไรในการพิสูจน์หาความจริงแหล่งที่มาของบาตรอันนั้น?”
ภายหลังจากที่ส่งทีมสำรวจทางโบราณคดีไปตรวจสอบลักษณะของบาตรที่ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่เมืองคาบู ประเทศอัฟกานิสถานแล้ว รัฐมนตรีฝ่ายต่างประเทศของอินเดียได้ตอบกระทู้ถามอันนี้ว่า
“บาตรอันดังกล่าวเป็นบาตรหินขนาดใหญ่ สูง ๑ เมตรโดยประมาณ มีเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑ เมตร มีความหนาราว ๆ ๑๘ เช็นติเมตร และมีน้ำหนักประมาณ ๒๐๐ หรือ ๓๐๐ กิโลกรัม นอกจากนี้ยังมีรอยจารึกบทสวดโดยเขียนคล้าย ๆ ลายมือและใช้ภาษาอาราบิก และเปอร์เซียน บาตรอันนี้ปัจจุบันพบที่ทางเข้าพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของประเทศอัฟกานิสถานที่เมืองคาบู แรก ๆ บาตรอันนี้พบที่เมืองกันดาฮาร์ และได้มีการนำมาที่เมืองคาบูในสมัยอดีตประธานาธิบดี นาจิบูลลาห์ และได้มีการตั้งข้อสังเกตกันว่าเป็น บาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (The Bhikshapatra of Lord Buddha) ฝ่ายสำรวจทางโบราณคดีของอินเดีย ได้รายงานว่า พวกเขาได้เอารูปภาพบาตรอันนี้ให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบดู และได้ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมในเบื้องต้น คือ วัตถุอันนี้ (บาตร) ไม่ปรากฏว่าเป็นบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างไรก็ตามทางฝ่ายสถานทูตอินเดียกำลังพยายามสำรวจประเด็นดังกล่าวต่อไป เพื่อยืนยันแหล่งที่มาของบาตรจากเจ้าหน้าที่ของประเทศอัฟกานิสถาน”
ต่อมาในคราวประชุมรัฐสภา เมื่อวันที่ ๑๒ เดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ นักการเมืองท่านเดิมคือ ดร. ราคุวานส์ ประสาด ซิงห์ (Raghuvansh Prasad Singh) ได้ตั้งกระทู้ถามความคืบหน้าเกี่ยวกับการสำรวจบาตรที่เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เมืองคาบูว่า
“ถ้าบาตรหินอันที่เก็บไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ประเทศอัฟกานิสถานได้รับการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นบาตรของพระพุทธเจ้าแล้ว รัฐบาลได้ให้นักประวัติศาสตร์ นักวิชาการ องค์กรต่าง ๆ รวมไปถึงหน่วยงานสำรวจทางโบราณคดีของอินเดีย จัดหาข้อมูลพร้อมทั้งหลักฐานต่าง ๆ และมีการดำเนินการเพื่อนำบาตรที่ว่ากันว่าเป็นบาตรสำหรับบิณฑบาตขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับมาจากประเทศอัฟกานิสถานหรือยัง?”
รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของอินเดียคนต่อมาคือ นายซัลมาน คุร์ศิด (Salman Khurshid) ได้ตอบกระทู้นี้ว่า
“รัฐบาลได้รับรูปภาพเกี่ยวกับบาตรจากสถานทูตอินเดียที่เมืองคาบูแล้ว และได้ตรวจสอบรูปภาพนั้นแล้วโดย ผู้อำนวยการ ฝ่ายสำรวจทางโบราณคดี ที่เมืองนาคปูร์ จากการตรวจสอบรูปภาพดังกล่าวในเบื้องต้น ผู้อำนวยการท่านนี้ได้กล่าวอ้างถึงรอยจารึกว่า รอยจารึกที่รอบนอกของบาตรดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า บาตรอันนี้เกี่ยวข้องกับเมืองกันดาฮาร์ ผู้อำนวยการท่านนี้แนะนำว่า บาตรอันนี้ควรได้รับการตรวจสอบอย่างละเอียดทั้งทางด้านลักษณะของบาตรและวัตถุที่ใช้ทำบาตร เพื่อให้ได้ข้อมูลเพิ่มเติมแหล่งที่มาของบาตร ขั้นตอนต่อไปคือรัฐบาลกำลังตรวจสอบโดยการหารือกับหน่วยงานสำรวจทางโบราณคดีของอินเดียเพื่อให้ได้ข้อยุติแหล่งที่มาของบาตรอันนี้”
อย่างไรก็ตามคงไม่ง่ายนักที่รัฐบาลอินเดียจะตรวจสอบบาตรที่ประดิษฐานที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเมืองคาบู ประเทสอัฟกานิสถานเพื่อพิสูจน์ว่า เป็นบาตรอันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าใช้บิณฑบาตและมอบให้แก่ชาวเมืองไพสาลีหรือไม่ เพราะตัวบาตรมีการจารึกบทสวดที่ปรากฏในคัมภีร์ศาสนาหนึ่ง ซึ่งจารึกเป็นภาษาอาหรับและเปอร์เซีย นอกจากนี้ ถึงแม้หน่วยงานด้านโบราณคดีของอินเดียจะพิสูจน์ได้ว่า นั่นแป็นบาตรขององค์สมเด็จพระสัมมนาสัมพุทธเจ้าจริง คงไม่ง่ายนักที่จะนำกลับมาประดิษฐานไว้ที่เดิมคือ ที่เมืองไพสาลีตามที่นักการเมืองนามว่า ดร. ราคุวานส์ ประสาด ซิงห์ (Raghuvansh Prasad Singh) ได้เรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการ
*************************
เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น