“ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า” หรือ “ท่านอาจารย์สัตยา นารายัน โกเอ็นก้า” (S.N. Goenka) เป็นชาวอินเดียที่ถือกำเนิดในประเทศพม่า ในครอบครัวนักธุรกิจ เมื่อปี พ.ศ. 2467 ท่านได้ประกอบธุรกิจจนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงมากตั้งแต่ยังอยู่ในวัยหนุ่ม ทั้งได้รับเลือกให้เป็นผู้นำชุมชนชาวอินเดียในพม่า รวมทั้ง เป็นประธานองค์กรต่างๆ อาทิเช่น หอการค้ามาร์วารีแห่งพม่า และสมาคมพาณิชย์และอุตสาหกรรมแห่งร่างกุ้ง นอกจากนี้ยังร่วมเดินทางไปต่างประเทศกับคณะผู้แทนการค้าของสหภาพพม่าในฐานะที่ปรึกษาอยู่บ่อยๆ
เมื่ออายุ 31 ปี ท่านถูกคุกคามด้วย โรคไมเกรน แม้จะได้รับการดูแลบำบัดรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในหลายประเทศ แต่อาการก็ไม่ดีขึ้น จนในที่สุดท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้ทดลองเข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานหลักสูตร 10 วันเป็นครั้งแรกกับ ท่านอาจารย์อูบาขิ่น (Sayagyi U Ba Khin) วิปัสสนาจารย์ผู้มีชื่อเสียงที่ชาวพม่าให้ความเคารพนับถืออย่างยิ่งผู้หนึ่ง โดยการแนะนำของเพื่อนชาวพม่าคือ ท่านอูชันตุน อดีตประธานศาลฎีกาพม่า ซึ่งต่อมาภายหลัง ท่านอูชันตุนได้เป็นประธานคนแรกของ องค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ครั้งแรกท่านก็ลังเลใจ แต่ด้วยคำอธิบายของท่านอาจารย์อูบาขิ่น ถึงหลักของศีล สมาธิ ปัญญา อันเป็นหลักการสากลที่จะช่วยให้มนุษยชาติได้พบทางแห่งการพ้นทุกข์ได้อย่างถาวร ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าจึงตัดสินใจเข้ารับการอบรมเป็นเวลา 10 วัน ซึ่งท่านได้กล่าวถึงช่วงเวลานั้นว่า
“ใน 10 วันนั้น ทำให้ข้าพเจ้าได้เห็นว่า วิธีการนี้เป็นวิธีการที่มีเหตุมีผล ปฏิบัติได้จริง ทั้งยังเป็นวิทยาศาสตร์ และมุ่งประโยชน์แห่งการปฏิบัติ มิได้มุ่งให้เราเกิดศรัทธาความเชื่ออันมืดบอดอย่างเดียว ทำให้ข้าพเจ้าเป็นอิสระจากโรคภัยไข้เจ็บ รู้สึกเป็นสุขอย่างยิ่งในความสงบ และได้ตระหนักว่า สิ่งที่ทำให้หายจากโรคไมเกรนนั้น อันที่จริงก็คือ การที่ข้าพเจ้าสามารถขุดรากของกิเลสบางอย่างในตัวข้าพเจ้าได้ เดิมทีข้าพเจ้าเป็นคนที่มีโทสะมาก วู่วาม และเป็นคนมีอัตตาสูง แต่ในการอบรม 10 วันนี้ ได้ทำให้ข้าพเจ้าสามารถที่จะควบคุมตัวเองได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ท่านได้เล่าถึงวิธีการที่ได้รับการอบรมว่า “ตอนที่เข้ารับการอบรมใหม่ๆ เข้าใจว่าคงจะมีการให้บริกรรมคำสวดบางอย่าง แต่อันที่จริงแล้วไม่มีเลย ไม่มีการบริกรรมคำใดๆ ทั้งสิ้น ไม่มีแม้การสร้างภาพ เพียงแต่ให้เราเฝ้าสังเกตลมหายใจที่เข้าออกอย่างเป็นธรรมชาติเท่านั้น นี่คือสมาธิ ขั้นตอนต่อไปเป็นขั้นตอนที่สำคัญ คือวิปัสสนาด้วยการสังเกตเวทนาหรือความรู้สึกทางกายอันเป็นหนทางนำไปสู่ปัญญา คือ การรู้แจ้งในความเป็นอนิจจังหรือความไม่เที่ยง ซี่งวิธีการสังเกตเวทนานี้เป็นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงประทานให้แก่มนุษยชาติเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการนำตนให้พ้นทุกข์”
หลังจบจากการปฏิบัติตามหลักสูตร 10 วันแล้ว ท่านโกเอ็นก้าเกิดความเลื่อมใสศรัทธาในเนื้อหาสาระของคำสอนและในแนวทางปฏิบัติเป็นอย่างมาก จึงปวารณาตัวเข้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ต่อมาท่านอาจารย์อูบาขิ่นได้แต่งตั้งให้ท่านทำหน้าที่เป็นอาจารย์ผู้ช่วยสอน
ปี พ.ศ.2512 ท่านได้เดินทางกลับไปยังประเทศอินเดียเพื่อเยี่ยมมารดาที่ล้มป่วย ระหว่างที่อยู่ในอินเดีย ท่านได้จัดอบรมวิปัสสนาให้แก่มารดาและญาติพี่น้อง ซึ่งปรากฏว่ามีผู้ให้ความสนใจเป็นอันมาก นับจากนั้นขบวนการเอหิปัสสิโกก็ได้เริ่มต้นจากปากต่อปากที่บอกต่อๆ กันไป ทำให้มีผู้มาขอเข้าปฏิบัติกันมากขึ้น และจากการที่ท่านอาจารย์อูบาขิ่นมีความฝังใจอยู่แต่เดิมว่า ประเทศอินเดียมีบุญคุณอย่างล้นเหลือที่ได้หยิบยื่นธรรมอันบริสุทธิ์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก่ประเทศพม่า ซึ่งเป็นบ้านเกิดเมืองนอนของท่าน แต่ธรรมอันล้ำค่านี้กลับได้สูญหายไปจากประเทศอินเดียอันเป็นต้นกำเนิดจนเกือบหมดสิ้น
ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าจึงมีความปรารถนาที่จะทดแทนคุณประเทศอินเดีย ด้วยการหาทางนำเอาธรรมะอันล้ำค่านี้กลับไปเผยแผ่อีกครั้ง ซึ่งท่านอาจารย์อูบาขิ่นก็ได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้ท่านเปิดการอบรมวิปัสสนาในแนวทางนี้ขึ้นในประเทศอินเดียอย่างต่อเนื่อง
หลังจาก 14 ปีของการปฏิบัติ ท่านได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวิปัสสนาจารย์และได้เดินทางไปเผยแผ่การปฏิบัติวิปัสสนาที่ประเทศอินเดียตามความประสงค์ของอาจารย์ของท่าน จนกระทั่งปี พ.ศ.2517 ท่านจึงได้ก่อตั้งและเป็นประธานสถาบันวิปัสสนานานาชาติศูนย์แรกชื่อ “ธรรมคีรี” ขึ้นที่เมืองอิกัตปุรี ใกล้ๆ กับเมืองบอมเบย์ รัฐมหาราษฎร์ ประเทศอินเดีย เพื่อปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตามแนวทางของท่านอาจารยอูบาขิ่น ซึ่งดำเนินตามแนวทางของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตามที่ได้บันทึกไว้ในพระไตรปิฏก นับจากนั้นมาก็ได้มีการจัดอบรมวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันและหลักสูตรระยะยาวต่อเนื่องเรื่อยมา
ปี พ.ศ.2522 ท่านเริ่มเดินทางไปเผยแผ่อบรมการปฏิบัติวิปัสสนาตามประเทศต่างๆ ทั่วโลก ตามแนวทางของท่านอาจารยอูบาขิ่น ซึ่งดำเนินตามหลักคำสอนในพระไตรปิฎก ท่านได้อำนวยการสอนวิปัสสนาหลักสูตร 10 วันในประเทศอินเดียและประเทศอื่นๆ ทั้งในซีกโลกตะวันตกและตะวันออก กว่า 400 หลักสูตร หลักการสอนของท่านโกเอ็นก้าได้รับการยอมรับโดยทั่วไป ทั้งในอินเดีย ประเทศที่ยังคงมีความแตกต่างทางด้านชนชั้นและศาสนาอย่างมาก และจากทั่วโลก ทั้งนี้เพราะคำสอนที่มีลักษณะเป็นสากล มิได้ขัดต่อหลักศาสนาใด ท่านเน้นเสมอว่า มนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะมีเชื้อชาติใด นับถือศาสนาใด และมีผิวสีอะไร ต่างก็มีความทุกข์ในรูปแบบเดียวกันทั้งสิ้น ในเมื่อความทุกข์ของมนุษย์เป็นสากล วิธีการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากความทุกข์จึงต้องเป็นสากลเช่นกัน
ต่อมาท่านได้เริ่มแต่งตั้งอาจารย์ผู้ช่วยให้ช่วยดำเนินการอบรมแทนท่าน โดยใช้เทปและวิดีโอของท่านเป็นแนวทางในการสอน เพื่อรองรับกับความต้องการของประชาชนที่จะเข้าอบรมซึ่งเพิ่มสูงขึ้น ทุกวันนี้มีอาจารย์ผู้ช่วยกว่า 700 ท่าน และอาสาสมัครช่วยงานต่างๆ อีกนับพันๆ คน มีการจัดอบรมวิปัสสนาในประเทศต่างๆ กว่า 90 ประเทศทั่วโลก ทั้งในเอเชีย ยุโรป อเมริกา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
โดยมีการก่อสร้างศูนย์วิปัสสนาทั้งสิ้น 80 แห่งใน 21 ประเทศทั่วโลก ในแต่ละปีจะมีการจัดอบรมหลักสูตรวิปัสสนาทั่วโลกกว่าหนึ่งพันหลักสูตร โดยไม่มีการเรียกเก็บเงินค่าอบรม ที่พัก หรือค่าอาหารใดๆ ขึ้นอยู่กับความสมัครใจที่จะบริจาค ทั้งตัวท่านอาจารย์โกเอ็นก้าเองและอาจารย์ผู้ช่วยต่างๆ ก็ไม่ได้รับค่าตอบแทนใดๆ จากการอบรมดังกล่าวแม้แต่น้อย
สำหรับประเทศไทยมีศูนย์วิปัสสนาตามแนวทางของท่าน รวมทั้งหมด 5 ศูนย์ ดังนี้
1. ศูนย์วิปัสสนาธรรมกมลา บ้านเนินผาสุก ต.ดงขี้เหล็ก อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี
2. ศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา บ้านห้วยพลู ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก
3. ศูนย์วิปัสสนาธรรมสุวรรณา ต.บ้านกง อ.หนองเรือ จ.ขอนแก่น
4. ศูนย์วิปัสสนาธรรมกาญจนา บ้านวังขยาย ต.ปรังเผล อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี
5. ศูนย์วิปัสสนาธรรมธานี ถ.นิมิตใหม่ แขวงสามวาตะวันออก เขตคลองสามวา กรุงเทพฯ
ศูนย์วิปัสสนาทั้ง 5 แห่งนี้ อยู่ในความดูแลของ สำนักงานมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ได้ทรงเมตตารับไว้ในพระสังฆราชูปถัมภ์ โดยมีการจัดการอบรมหลักสูตรวิปัสสนา (หลักสูตรสติปัฏฐาน) 10 วัน สำหรับพระภิกษุ สามเณร และฆาราวาสทั่วไป และหลักสูตรวิปัสสนาในเรือนจำ รวมทั้งหลักสูตรอานาปานสติสำหรับเด็กและเยาวชน เริ่มต้นในเย็นวันแรก และสิ้นสุดในตอนเช้าของวันสุดท้าย ตลอดทั้งปี
ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า (S.N. Goenka) ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติไว้ว่า วิปัสสนาเป็นวิธีการปฏิบัติกรรมฐานที่เก่าแก่ที่สุดวิธีหนึ่งของอินเดีย ซึ่งได้สาบสูญไปจากมนุษยชาติมาเป็นเวลานาน แต่ก็ได้กลับมาค้นพบอีกครั้งโดยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อกว่า 2,500 ปีมาแล้ว วิปัสสนาหมายถึง “การมองดูสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง” อันเป็นกระบวนการในการทำจิตให้บริสุทธิ์โดยการเฝ้าดูตนเอง เราจะเริ่มต้นด้วยการเฝ้าสังเกตดูลมหายใจตามธรรมชาติ เพื่อทำให้จิตมีสมาธิ
เมื่อมีสติที่มั่นคง เราก็จะก้าวไปสู่การเฝ้าสังเกตถึงการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติของกายและจิต ซึ่งจะทำให้ได้พบกับสัจธรรมที่เป็นสากล คือ ได้เห็นความไม่เที่ยง (อนิจจัง) ความทุกข์ (ทุกขัง) และความไม่มีตัวตน (อนัตตา) การที่ได้รู้เห็นถึงสภาพธรรมตามความเป็นจริงเหล่านี้จากประสบการณ์ของท่านเองโดยตรง จึงเป็นวิธีการในการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ธรรมะเป็นเรื่องสากล มีไว้สำหรับแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เป็นสากล มิได้ผูกขาดเฉพาะศาสนาใดศาสนาหนึ่งหรือลัทธิใดลัทธิหนึ่ง ด้วยเหตุนี้บุคคลทุกคนจึงสามารถจะปฏิบัติได้อย่างเสรี โดยไม่มีข้อขัดแย้งในเรื่องของเชื้อชาติ ชั้นวรรณะ หรือศาสนา ทั้งในซีกโลกตะวันออกและตะวันตกทั่วทุกทวีป ในที่ทุกสถาน ในกาลทุกเมื่อ และจะเป็นประโยชน์ต่อทุกๆ คนโดยทั่วถึงกัน
พื้นฐานในการปฏิบัติวิปัสสนา คือ “ศีล” ศีลจะเป็นพื้นฐานในการพัฒนาสมาธิ และกระบวนการทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นจะเกิดขึ้นจากปัญญา คือ “การรู้แจ้งเห็นจริง”
ท่านอาจารย์โกเอ็นก้า (S.N. Goenka) ได้เคยเดินทางมาเยือนประเทศไทย ระหว่างวันที่ 25 มิถุนายน ถึง 4 กรกฏาคม พ.ศ.2544 อาจารย์สุทธี ชโยดม อาจารย์และตัวแทนผู้ดูแลการอบรม การปฏิบัติ และกิจกรรมในประเทศไทย กล่าวว่า การมาเยือนประเทศไทยของท่านอาจารย์โกเอ็นก้าในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์คือ
1. เพื่อแสดงปาฐกถาธรรมเฉลิมพระเกียรติ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เรื่อง “พระไตรปิฏกกับการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน” ซึ่งจัดโดยกองทุนสนทนาธรรมนำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ในการนี้สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เสด็จทรงเป็นประธานการแสดงปาฐกถาธรรม เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน พ.ศ.2544 ณ หอพระไตรปิฏกนานาชาติ อาคารอักษรศาสตร์ 1 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
2. เพื่อหารือเรื่องการแก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมจากซีดีรอมพระไตรปิฎก ฉบับฉัฏฐสังคายนา ซึ่งทางสถาบันวิจัยวิปัสสนาโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ได้ริเริ่มจัดทำขึ้นและเผยแพร่ไปทั่วโลก โดยได้มอบให้กองทุนสนทนาธรรมนำสุข ท่านผู้หญิง ม.ล.มณีรัตน์ บุนนาค ในพระสังฆราชูปถัมภ์ นำมาเป็นฐานในการจัดพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับอักษรโรมัน เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระครบรอบ 72 พรรษา
3. เพื่อเยี่ยมศูนย์วิปัสสนาธรรมอาภา จ.พิษณุโลก ศูนย์วิปัสสนาแห่งที่ 2 ในประเทศไทย ณ เลขที่ 138 บ้านห้วยพลู ต.แก่งโสภา อ.วังทอง จ.พิษณุโลก พร้อมกับเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่าผู้ปฏิบัติธรรมในแนวทางของท่านอาจารย์อูบาขิ่น สอนโดยท่านอาจารย์โกเอ็นก้า ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำในประเทศไทย โดยมูลนิธิส่งเสริมวิปัสสนากรรมฐาน ในพระสังฆราชูปถัมภ์ ได้ซักถามปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม
ที่ผ่านมา ท่านอาจารย์โกเอ็นก้าได้รับเชิญให้ไปแสดงปาฐกถาธรรมตามสถาบันต่างๆ รวมทั้งในเวทีเศรษฐกิจโลกที่เมืองดาวอส ประเทศสวิสเซอร์แลนด์ และการประชุมสุดยอดสันติภาพโลกสหัสวรรษใหม่ที่สหประชาชาติด้วย
ปัจจุบัน ท่านเป็นวิปัสสนาจารย์เอกผู้หนึ่งที่สอนวิปัสสนากรรมฐานในพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นเวลาเกือบ 40 ปีมาแล้ว นอกจากนี้ท่านยังเป็นผู้ริเริ่มนำพระไตรปิฏก ฉบับฉัฏฐสังคายนา ซึ่งเป็นการทำสังคายนาครั้งล่าสุดของโลก มาบันทึกไว้บนแผ่นซีดีรอมพร้อมด้วยคัมภีร์บริวารต่างๆ รวมกว่า 200 เล่ม และได้จัดพิมพ์พระไตรปิฎก ฉบับฉัฏฐสังคายนา ด้วยอักษรเทวนาครี เพื่อนำพระพุทธศาสนากลับไปประดิษฐานในประเทศอินเดียอีกครั้งหนึ่งด้วย และเพื่อมอบเป็นธรรมทานเผยแผ่ไปทั่วโลก
*************************
เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น