วันจันทร์ที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ความเพียร 4 ประการ

วิริยะ ความเพียรอย่างยิ่งในการทำความดี เพื่อนำไปสู่ความก้าวหน้า ความสำเร็จ 
ความเพียรที่ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนา มี 4 ประการคือ


เพียรระวังไม่ให้บาปเกิดขึ้นภายในใจ พระพุทธองค์ทรงสอนให้ระวังปลูกฝังความพอใจใช้ความเพียรอย่างต่อเนื่อง ในการรักษาใจ ประคองใจไม่ให้เกิดความยินดียินร้าย ในเวลาที่ตาเห็นรูป หูฟังเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นลิ้มรส กายถูกต้องเย็นร้อนอ่อนแข็ง ใจนึกตรึกตรองปรุงแต่งถึงอารมณ์ที่มาสัมผัสถูกต้อง

เพียรละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว พระพุทธองค์ทรงสอนให้มีความพอใจ ใช้ความพยายามกระทำความเพียรอย่างต่อเนื่องในการละบาปอกุศลที่บังเกิดขึ้นแล้ว จะมากหรือน้อยเท่าไรก็ตาม เมื่อละได้แล้วให้ประคองจิตไว้ในที่นั้นๆ แล้วพยายามต่อไป โดยพิจารณาเห็นโทษของบาปอกุศล ที่เกิดขึ้นนั้น มีผลนำความทุกข์มาให้ เช่น เมื่อทำความผิด ต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย เป็นต้น

เพียรพยายามสร้างบุญกุศลให้เกิดขึ้นในใจ พระพุทธองค์ทรงสอนให้สร้างความพอใจความยินดีในการทำความดี มี ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นต้นให้บังเกิดขึ้น โดยยึดหลักการปฏิบัติดีอย่างต่อเนื่อง ความดีที่ยังไม่เกิดขึ้นให้เกิดขึ้น เมื่อสร้างได้แล้วให้พยายามรักษาคุณภาพจิตไว้และพยายามต่อไป ไม่ย่อท้อแม้มีอุปสรรคสะดุดล้มในบางครั้ง ต้องพยายามประคับประคองใจ ไม่ยอมแพ้

เพียรรักษาสิ่งที่ดี ที่บังเกิดขึ้นแล้วไม่ให้เสื่อมไป พระพุทธองค์ทรงสอนให้ปลูกฝังความพอใจใช้ความพยายามกระทำความเพียรอย่างต่อเนื่อง ในการที่รักษากุศล คือ ความดีต่างๆ ที่มีอยู่แล้วไม่ให้เสื่อมไป เหมือนเกลือรักษาความเค็ม ฉะนั้น ความความเพียร 4 ประการ เรียกว่า ความเพียรในทางที่ชอบ หรือ ความเพียรชอบในอริยมรรค เป็นหลักธรรมที่ทรงสอนให้บุคคลประกอบความดีให้บังเกิดขึ้นในชีวิตของตน แม้แต่การบริหารบ้านเมือง อยู่ในโครงสร้างของความเพียรเช่นกัน

เพียรป้องกันสิ่งซึ่งเป็นพิษเป็นภัยที่ยังไม่เกิดขึ้นไม่ให้เกิดขึ้น

เพียรกำจัดสิ่งที่ เห็นว่าเป็นโทษเป็นภัยเป็นอันตรายที่เกิดขึ้น แล้วกำจัดให้หมดไป

เพียรทำแต่เรื่องที่ดี มีประโยชน์เกื้อกูลแก่ตนและบุคคลอื่น ให้เพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น

เพียรรักษาสิ่งดีงามเหล่านั้นให้คงอยู่และมีความเจริญงอกงามไพบูลย์เต็มที่

พระพุทธศาสนาเน้นความสำคัญเรื่องความเพียรอย่างถูกต้อง 
ซึ่งสามารถให้ผลสำเร็จก้าวหน้าในชีวิตของบุคคล ในหน้าที่การงาน ในการดำเนินชีวิต 
และในการปฏิบัติธรรม ล้วนต้องอาศัยความเพียรพยายามทั้งนั้น แต่จะต้องเป็นความเพียรพยายามในทางที่ชอบดังกล่าว เพราะเมื่อปฏิบัติเช่นนี้ ได้ชื่อว่าดำเนินตามหลักอริยมรรคที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น