วันพุธที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

ดื่มน้ำเมามีโทษ


 ดื่มน้ำเมามีโทษ



การดื่มน้ำเมา จัดเข้าในศีลข้อที่ 5 และจัดเป็นอบายมุข 
คือ ทางแห่งความเสื่อม ความฉิบหาย เสียทรัพย์สินเงินทอง 

เป็นเหตุเสื่อมทรัพย์ ชื่อว่าทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์ที่มีชีวิตซึ่งได้แก่ ช้าง ม้า โค กระบือ เป็นต้น 
หรือเป็นทรัพย์ที่ไม่มีวิญญาณ คือ แก้ว แหวน เงิน ทอง ทรัพย์สินสิ่งของ อื่นๆ เช่น รถ ล้อ เกวียน บ้านเรือน เป็นต้น 
ทรัพย์เหล่านี้เมื่อไม่มีก็ต้องหา เพราะต้องกินต้องใช้ 
การที่จะทำให้มีทรัพย์ ไม่ใช่จะทำได้ง่าย ต้องลำบากกายทุกข์ใจกว่าจะได้มา เมื่อได้มาแล้วก็ภูมิใจว่ามีทรัพย์ 
เมื่อได้ใช้จ่ายทรัพย์เลี้ยงตน คนในครอบครัว ญาติมิตร หรือประกอบกุศลกิจอื่นๆ ก็เป็นสุขใจ



ทรัพย์เหล่านี้มีทางที่จะเสื่อมสลายหายสูญไปด้วยเหตุหลายประการ 
โดยเฉพาะในที่นี้ เสื่อมไปเพราะปัจจัยคือการดื่มน้ำเมา ซึ่งได้แก่ เหล้า สุรา ยาบ้า และเมรัย 

เมื่อดื่มหรือเสพสิ่งเหล่านี้ จะมีโทษ 6 สถานคือ 
1. เสียทรัพย์ 
2. ก่อทะเลาะวิวาท 
3. เกิดโรค 
4. ต้องติเตียน 
5. ไม่รู้จักอาย 
6. ทอนกำลังปัญญา 

โทษของการดื่มสุราไม่ใช่มีเท่านี้ เมื่อดื่มจนเมาได้ที่แล้วยังก่อกรรมทำเข็ญอื่นๆ ได้ 
เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติประเวณี และพูดเท็จก็ได้ ทั้งยังให้ประสบภัยหลายอย่างต่างกันไป 
ดังพุทธภาษิตที่ว่า บุคคลผู้ดื่มน้ำเมา คือสุราและเมรัยเป็นปกติ คือเป็นประจำ ทำอยู่เป็นนิตย์ 
ย่อมประสบกับภัยและเวรที่เห็นได้ในปัจจุบัน ในอนาคต และย่อมเสวยทุกข์โทมนัสทางใจ 



ภัยเวรปัจจุบันพอจะเห็นกันได้แต่ละปี แต่ละเดือน หรือแต่ละวัน มีผู้ประสบภัยกันแล้วเท่าไหร่ 
เสียชีวิตและทรัพย์สินไปแล้วแค่ไหน สิ่งเหล่านี้จะเกิดมีได้ เพราะเหตุปัจจัยคือการดื่มน้ำเมา 
ส่วนภัยเวรในอนาคตซึ่งยังไม่มีมาปรากฏนั้น ก็ต้องมีโดยการประเมินเหตุปัจจุบันซึ่งสัมพันธ์กับผลอนาคต 
เมื่อได้ประสบภัยเช่นนี้ก็มีแต่ความทุกข์ระทมขมขื่นใจ

นอกจากนี้ การดื่มน้ำเมา และเมรัย ยังเป็นปัจจัยให้เกิดความประมาท ความประมาทก็คือ ความขาดสติ 
คนไม่มีสติกำกับ ก็เหมือนรถที่ติดเครื่องแล้วปล่อยให้แล่นไปตามถนน ซึ่งไม่มีคนขับ หรือคอยกำกับดูแลรถนั้น 
ต้องก่อเหตุเภทภัยให้เกิดขึ้นแน่ๆ ฉันใด ความประมาท และคนประมาทก็ฉันนั้น ย่อมก่อภัยให้โทษแก่ตน และคนอื่น 
ซึ่งนอกจากนี้ ความประมาทยัง ปิดโอกาสการเกิดขึ้นแห่งกุศลความดี ด้วย 
ความประมาทเป็นต้นตอบ่อเกิดหรือเป็นแหล่งกำเนิดแห่งความชั่วร้ายทั้งหลาย 
ทั้งเป็นตัวทำลายกุศลความดีทั้งหลายทั้งปวง ส่วน ความไม่ประมาท คือ ไม่ขาดสติ เป็น บ่อเกิดแห่งกุศลความดี เช่นเดียวกัน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น