วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

กำเนิด "สิ่งสมมุติ" เพื่อการน้อมรำลึกพระบรมศาสดา


เมื่อครั้งพระพุทธกาล ขณะที่องค์ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ทรงเป็นพระบรมศาสดาแห่งศาสนาพุทธ ได้เสด็จดับขันธ์สู่ปรินิพพาน ณ ตำบลสาลวัน แขวงเมืองกุสินารา ประเทศอินเดีย บรรดาพุทธบริษัททั้งหลายในสมัยนั้น ก็พากันโศกเศร้าเสียใจ เหล่ามัลลกษัตริย์ซึ่งครองเมืองกุสินาราในขณะนั้น ได้ช่วยกันจัดงานถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ เมื่อเสร็จจากการถวายพระเพลิงแล้ว เหล่ามัลลกษัตริย์ก็ร่วมกันคิดจะสร้างพระสถูปเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมธาตุไว้ ณ เมืองกุสินารา แต่เหล่ากษัตริย์เมืองอื่นๆไม่ยอม ต่างก็ต้องการที่จะเชิญพระบรมธาตุไปให้พลเมืองของตนเคารพบูชาเช่นกัน ความขัดแย้งรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นจะสู้รบเพื่อแย่งพระบรมธาตุกัน จนกระทั่ง โทณพราหมณ์ได้เข้ามาไกล่เกลี่ยให้เหล่ามัลลกษัตริย์ปรองดองและแบ่งพระบรมธาตุกัน

เมื่อเหล่ามัลลกษัตริย์ได้รับพระบรมธาตุแล้ว จึงกลับไปสร้าง พระสถูปเจดีย์ เพื่อบรรจุพระบรมธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในบ้านเมืองของตน จึงเกิดสถูปเจดีย์เป็นรูปเคารพแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตั้งแต่นั้นมา

ตามพระพุทธประวัติได้กล่าวถึงตอนที่พระพุทธเจ้าทรงพระประชวร ใกล้จะเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน พระอานนท์เถรเจ้า ผู้เฝ้าถวายการพยาบาลได้ทูลปรารภว่า ที่ผ่านมาเหล่าภิกษุอันเป็นสาวกเคยได้เข้าเฝ้าพระองค์เป็นนิจ เมื่อพระองค์เสด็จเข้าสู่พระนิพพานแล้วก็จะมิได้เข้าเฝ้าพระองค์อีก คงจะพากันว้าเหว่เศร้าหมองไปตามๆกัน องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจึงทรงตรัสอนุญาตให้สร้างสังเวชนียสถานไว้ 4 แห่ง เพื่อให้พุทธสาวกที่ใคร่จะเห็นพระองค์ได้ปลงธรรมสังเวช ณ ที่ใดที่หนึ่งตามความเหมาะสม สังเวชนียสถาน 4 แห่ง นั้นคือ

- ณ ป่าลุมพินี แขวงเมืองกบิลพัสดุ์ อันเป็นสถานที่ๆ พระองค์ประสูติ
- ณ แขวงเมืองคยา อันเป็นสถานที่ๆ พระองค์ตรัสรู้
- ณ ตำบลอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี อันเป็นสถานที่ๆ พระองค์ประทานปฐมเทศนา
- ณ ตำบลสาลวัน แขวงเมืองกุสินารา อันเป็นสถานที่ๆ พระองค์เสด็จเข้าสู่พระนิพพาน

นอกจากนี้ยังมีสังเวชนียสถานที่สร้างขึ้นในภายหลังอีก 2 แห่งคือ

- ณ แขวงเมืองปิบผลิวัน บรรจุพระอังคาร
- ณ แขวงเมืองกุสินารา บรรจุทะนานโลหะตวงพระบรมธาตุองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ในครั้งแรกพุทธบริษัทที่สร้างสถูปเจดีย์ มิได้มีพระพุทธรูปประดับแต่อย่างใด กระทั่งกาลเวลาผ่านไปหลายปี มีผู้คิดขึ้นมาได้ว่า ต่อไปภายภาคหน้าจะไม่มีใครจดจำพุทธลักษณะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ หากจะแกะสลักหรือปั้นโดยการคาดเดาก็เกรงว่าจะผิดเพี้ยนเป็นการลบหลู่พระบารมีของพระองค์ จึงนิยมสร้างสิ่งสมมุติแทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้สักการะบูชาในรูปแบบต่างๆ เช่น สลักรูปดอกบัวแทนตอนประสูติ สร้างแท่นอาสนะแทนตอนตรัสรู้ สร้างรูปธรรมจักรและกวางหมอบแทนตอนแสดงปฐมเทศนา สร้างสถูปเจดีย์แทนตอนเสด็จเข้าสู่ปรินิพพาน หรือ สร้างลอยพระพุทธบาท เป็นต้น

จวบจนเมื่อกาลเวลาผ่านไป 200 ปี พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช ได้ยกพลชาวกรีกออกศึกทำสงครามขยายอนาเขตไปทั่วทวีบยุโรปมาถึงประเทศอิเดียบางส่วน แต่ยังไม่ทันทั่วประเทศก็สวรรคตเสียก่อน พวกชาวกรีกระดับแม่ทัพนายกองของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์ต่างก็ตั้งตัวเป็นเจ้าแผ่นดิน ครองบ้านเมืองหลายอาณาเขต และแต่ละอาณาเขตก็ชักชวนชาวกรีกจากภูมิลำเนาเดิมให้มาตั้งต้นทำมาหากินในท้องถิ่นที่ตนสร้างขึ้นใหม่ ส่งผลทำให้ชาวกรีกมาอาศัยอยู่ในแผ่นดินอินเดียด้านตะวันตกเฉียงเหนือที่เรียกว่า อาณาเขตคันธารราฐ เป็นจำนวนมาก

ในประเทศคันธารราฐ (ประเทศปากีสถานในปัจจุบัน) ชาวเมืองส่วนมากนับถือพระพุทธศาสนาสืบมาตั้งแต่ครั้งพระเจ้าอโศกมหาราช และเมื่อชาวกรีกมาอาศัยอยู่ในเมืองคันธารราฐก็มีความสนิทสนม และมีการสมรสกับชาวพื้นเมือง ทำให้เลื่อมใสศรัทธาและนับถือพระพุทธศาสนาตามไปด้วย

อยู่มาจนถึงยุคของ พระยามิลินท์ ท่านได้บำรุงพระพุทธศาสนาในประเทศคันธารราชให้รุ่งเรืองขึ้นมาก จึงมีการริเริ่มสร้างพระพุทธรูปสำหรับเป็นที่เคารพบูชาขึ้น แรกๆ เรียกพระพุทธรูปว่า แบบคันธารราฐ หลังจากนั้นเป็นต้นมาก็มีการสร้างพระพุทธรูปตามที่ต่างๆ ขึ้นมาอีกมากมาย โดยคติการสร้างพระพุทธรูปทั่วไป จะยึดเอาอิริยาบถที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในพระพุทธประวัติมาสร้าง โดยเรียกพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นเป็น “ปาง” เช่น ปางสมาธิ ปางมารวิชัย ฯลฯ


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น