วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พระพลานามัย สมเด็จพระสังฆราช 100 พระชันษา

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

“เจริญ คชวัตร” เป็นพระนามเดิมของสมเด็จพระสังฆราช ประสูติเมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๕๖ เป็นบุตรคนโตของนายน้อย คชวัตร และนางกิมน้อย คชวัตร ชาวกาญจนบุรี พระองค์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นราชทินนามที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดให้ตั้งขึ้นใหม่

อย่างไรก็ตามตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๓ ปัจจุบัน สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) ประชวรด้วยโรคชราภาพ ตามพระอายุขัย ซึ่งแทรกซ้อนตามมาด้วยเบาหวาน ไต เป็นต้น และได้ประทับรักษาอาการพระประชวรอยู่ที่ชั้น ๖ ตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาลโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์

ในระยะแรกที่เข้าประทับรักษาพระองค์ที่โรงพยาบาลเมื่อราว ๑๐ ปีก่อน เจ้าพระคุณสมเด็จฯ เสด็จกลับมาที่วัดเป็นครั้งคราว แต่ระยะหลังนี้ไม่สามารถเสด็จออกจากโรงพยาบาล เนื่องจากคณะแพทย์เห็นว่าต้องได้รับการรักษาพระองค์อย่างใกล้ชิดจากคณะแพทย์ ปัจจุบันไม่สามารถสนทนาได้ เพราะเจาะพระศอ พุทธศาสนิกชนที่ประสงค์เข้าเฝ้าเยี่ยมพระองค์ที่โรงพยาบาลสามารถทำได้ แต่ต้องติดตามวันที่โรงพยาบาลอนุญาตให้เข้าเฝ้า โดยติดตามข่าวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ อาคารสามัคคีพยาบาล

ทั้งนี้ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ได้ตั้งคณะกรรมการคณะแพทย์พร้อมคณะพยาบาลเฉพาะเจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราชครอบคลุมทุกด้าน แต่ทั้งนี้ก่อนตัดสินใจที่จะรักษาในรูปแบบใดต้องได้รับความเห็นชอบจากหัวหน้าแพทย์หลวงเสียก่อน และต้องแจ้งคณะกรรมการวัดบวรนิเวศวิหารทราบด้วย ขณะเดียวกันวัดบวรนิเวศวิหารมีการจัดพระภิกษุสามเณรอยู่เวรถวายการอุปัฏฐาก โดยแบ่งเวรเป็น ๒ กะ หมุนเวียนไประหว่างพระภิกษุสามเณรทุกรูปในวัด

ในวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖ นี้ พระองค์จะมีพระชันษาครบ ๑๐๐ ปี (ประสูติเมื่อ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖) เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๒ ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ถือว่าเป็นพระสังฆราชที่มีอายุยืน รวมทั้งครองตำแหน่งนานที่สุด

"พระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราช ขณะนี้อยู่ในการดูแลของคณะแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์อย่างใกล้ชิด โดยมีพระพลานามัยแข็งแรงตามวัยในวันที่เจริญพระชันษา ๑๐๐ ปี" นี่เป็นคำบอกเล่าของ พระศากยวิสุทธิวงศ์ หรือ พระดร.อนิลมาน ธมฺมสากิโย ผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร และรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย ฝ่ายการต่างประเทศ

พร้อมกันนี้ พระดร.อนิลมาน ยังบอกด้วยว่า พระพลานามัยของสมเด็จพระสังฆราช เรียกว่าปกติตามพระชันษา ๑๐๐ ปี เพราะฉะนั้นภาพทั่วๆ ไปของพระสุขภาพของพระองค์ก็คือ ปกติแบบอาการพระประชวน ทุกวันนี้พระองค์ต้องได้รับการฟอกไต ช่วงหลังนี้บ่อยมากขึ้น คือ วันเว้นวัน หรือบางครั้งก็ตลอด ๒๔ ชั่วโมง แต่ถ้าช่วงที่ดีๆ นั้น ก็วันเว้นวัน

นอกจากนั้นพระพลานามัยโดยทั่วไปปกติ โดยเฉพาะส่วนพระหทัยนั้นแข็งแรง แต่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายชราภาพตามพระชันษา ๑๐๐ ปี ของพระองค์ การจะรับสั่งในช่วงหลังนี้รับสั่งอะไรไม่ได้ เนื่องจากได้เจาะพระสอ (คอ) เพื่อช่วยการหายใจสะดวก และให้ถวายพระกระยาหารทางสายยาง ในช่วงที่สุขภาพแข็งแรงพระองค์สามารถหายพระทัยด้วยพระองค์เอง แต่ก็มีบางช่วงเวลาที่ต้องถวายออกซินเจนตลอด ๒๔ ชั่วโมง

ส่วนวิธีการดูแลพระองค์ ตอนเช้าก็เช็ดตัวถวาย ซึ่งเมื่อประมาณ ๓-๔ ปี ก่อนท่านสามารถประทับนั่งได้ สามารถเปลี่ยนจีวรได้ รวมทั้งแปรงฟันตามปกติ ทั้งนี้ตั้งแต่พระองค์ประชวรทางกรรมการวัด ได้จัดพระจากวัดไปอยู่วาระรอบละประมาณ ๕-๘ รูป สลับผลัดเปลี่ยนกันไป โดยจะแบ่งเป็น ๒ กะ กะละ ๑๒ ชั่วโมง คือ กะแรก ตั้งแต่ ๐๘.๐๐-๒๐.๐๐ น. ส่วนกะที่ ๒ เริ่มตั้งแต่ ๒๐.๐๐-๐๘.๐๐ น. หน้าที่หลักของพระที่ไปดูแลพระพลานามัย "สมเด็จพระสังฆราช" คือ ถวายการสรงน้ำ ดูแลเรื่องความสะอาดร่วมกับแพทย์พยาบาล ทั้งนี้ ต้องมีพระ ๑ รูป คอยดูแลต้อนรับญาติโยมที่จะมาเข้าเฝ้า ทั้งนี้ ต้องมีการบันทึกพระอาการประชวรทุกวัน

พระอาการช่วง ๒๕๔๕-๒๕๔๖ ท่านประชวรไม่มาก ยังสามารถเสด็จมาพักที่วัดบวร ได้เป็นครั้งคราว สามารถทำวัตรสวดมนต์ร่วมกับพระที่ไปอยู่วาระได้ทุกวัน แต่นับตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา แพทย์มีความเห็นว่า การเสด็จมาพักที่วัดบวร อาจจะเกิดปัญหาแทรกซ้อนขึ้น และช่วยเหลือไม่ทันเวลา คณะแพทย์จึงมีความเห็นว่าให้อยู่ที่โรงพยาบาลตลอด

สำหรับความกังวลในหมู่พระที่ไปอยู่วาระดูแลพระพลานามัยของพระองค์นั้น พระดร.อนิลมาน บอกว่า เป็นปกติสำหรับพระที่เป็น สัทธิวิหาริก ในพระองค์ (พระที่พระสังฆราช อุปสมบทให้) ต้องมีความกังวลเป็นธรรมดา แต่ไม่สามารถทำอะไรได้มากเพราะพระชันษาท่านล่วงมาถึง ๑๐๐ ปี ในส่วนของโรงพยาบาลจุฬาลงกาณ์ก็ได้จัดทีมแพทย์ที่ดีที่สุดที่มีความเชี่ยวชาญทุกด้านมาถวายการดูแลรักษา โดยจัดเป็นวาระร่วมกับคณะสงฆ์จากวัดบวร

การถวายการรักษาดูแล มีการประชุมทีมแพทย์เพื่อประเมินและสรุปพระอาการทุกวัน เพื่อกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รวมทั้งรายงานแจ้งให้คณะกรรมการวัดบวร รับทราบ โดยเฉพาะกรณีที่ต้องถวายการรักษาพระอาการที่หนักๆ ช่วงอาการประชวรที่อยู่ในภาวะวิกฤติ เป็นเรื่องธรรมดาที่พระและแพทย์มีความกังวล เช่นเดียวกับฆราวาสที่ลูกมีความกังวลอาการของพ่อที่กำลังป่วยหนัก แต่ไม่ถึงกับมีความวุ่นวายผิดปกติ พระเถรของวัดบวรจะไปให้กำลังใจแพทย์พยาบาลที่ดูแลพระพลานามัยมากกว่า

“สติสัมปชัญญะการรับรู้ของพระองค์นั้น ช่วง ๒๕๔๕-๒๕๔๖ ที่ท่านประชวรไม่มาก สามารถอ่านหนังสือได้ เนื่องด้วยมีการเจาะพระสอทำให้เสียงท่านสั่นเครือ จากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันท่านไม่สามารถรับสั่งอะไรได้ พระอาการประชวรของสมเด็จพระสังฆราชนั้น เป็นไปตามคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ว่า ใดๆ ในโลกล้วนอนิจจัง ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นธรรมะที่พึงสังเวช ซึ่งหมายถึงให้เรารู้เท่าทันสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าได้ศึกษาพระจริยาวัตรของพระองค์ ที่ผ่านมาพระองค์เน้นในส่วนของหลักคำสอนมากกว่า โดยไม่ให้ยึดอยู่ที่พระองค์ ทั้งๆ ที่พระองค์มีพระนิพนธ์มากมาย มีถึง ๓๒ เล่ม แต่ละเล่มมีความหนาไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ หน้า โดยได้เริ่มนิพนธ์มาตั้งแต่พระชันษาที่ ๑๔” พระ ดร.อนิลมาน กล่าว

ส่วนแถลงการณ์อาการพระประชวนที่เผยแพร่ต่อสาธารณชนนั้น พระดร.อนิลมาน บอกว่า ปกติคณะแพทย์ออกแถลงการณ์ทุกวัน แต่สื่อมวลชนไม่ได้นำเสนอเอง ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากพระอาการประชวรของพระองค์ปกติ ไม่มีอะไรเพิ่มเติมจากวันก่อน อาทิตย์ก่อน เดือนก่อน จึงไม่มีการนำเสนอ ในช่วงแรกของการประชวรสื่อก็ให้ความสนใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง สื่อจึงไม่นำเสนอ จะนำเสนอเฉพาะวาระสำคัญๆ เท่านั้น

ส่วนภาพที่ปรากฏทางสื่อโทรทัศน์เพื่อถวายพระพรในหลวง วันที่ ๕ ธันวาคม ครั้งล่าสุดเมื่อ ๕ ปี ก่อน หรือ ๒๕๕๑ ช่วงหลังนี้ประมาณ ๔-๕ เดือนที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าพระพลานามัยท่านไม่ค่อยแข็งแรง ในแง่ของการตอบสนองพระองค์ก็ยังคงตอบสนองได้ตามปกติ เวลากราบทูลอะไรทุกครั้งท่านจะลืมพระเนตรรับรู้เรื่องที่กราบทูล แต่ท่านไม่สามารถรับสั่งอะไรได้

อย่างไรก็ตามในวันพฤหัสบดีที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๕๖เวลา ๑๕.๓๐ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เป็นประธานในการทอดผ้าป่าจัดหาทุนซื้อเครื่องมือแพทย์ให้ตึกภูมิสิริมังคลานุสรณ์ รพ.จุฬาฯ จากนั้นจะเสด็จฯ เข้าถวายสักการะสมเด็จพระสังฆราช ทั้งนี้ ภายหลังสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ กลับ จะเปิดให้พุทธศาสนิกชนเข้าลงนามถวายพระพรที่บริเวณชั้น ๑ และชั้น ๖ ตึกวชิรญาณ สามัคคีพยาบาล โดยผู้ที่ลงนามถวายพระพรที่ชั้น ๖ จะได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราช อย่างใกล้ชิด โดยจะมีกระจกกั้นอยู่ระหว่างที่ลงนามถวายพระพรกับห้องประทับ เนื่องจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ต้องประทับอยู่ในห้องปลอดเชื้อเพื่อรักษาอาการพระประชวร โดยจะเปิดให้ลงนามถวายพระพรจนถึงเวลา ๑๘.๐๐ น.


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น