วันจันทร์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2556

พระถ้ำเสือหน้าฤาษี พุทธคุณเลิศ คงกระพันชาตรีมหาอุด


พระถ้ำเสือ เป็นวัตถุมงคลที่ได้รับการโจษจันมาแต่ครั้งโบราณว่า เข้มขลังศักดิ์สิทธิ์เป็นเลิศทางด้านคงกระพันชาตรี มหาอุด แคล้วคลาดนิรันตราย ไม่แพ้พระเครื่องใดๆ

พุทธศิลปะของพระถ้ำเสือ แบบอู่ทองล้อทวารวดี เป็นพระเนื้อดินเผาผสมว่านเกสรวิเศษต่างๆ สันนิษฐานว่า "พระฤๅษี" เป็นผู้สร้างเมื่อประมาณ พ.ศ.๒๒๒๐ รัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

จากคำบอกเล่าถูกค้นพบครั้งแรก คือ เมื่อชาวไร่ผู้หนึ่งเดินทางขึ้นเขาเสือ เพื่อไปหามูลค้างคาวตามถ้ำ แล้วพบพระจำนวนมากจนเป็นที่มาของชื่อ "พระถ้ำเสือ" จากนั้นได้นำพระที่พบมาจำหน่ายจ่ายแจกกันไปจนหมด

นับเป็นการแตกกรุครั้งแรกของพระถ้ำเสือเมื่อ พ.ศ.๒๔๗๐ หลังจากนั้นได้มีผู้พบพระที่มีพุทธลักษณะพิมพ์ทรงเช่นเดียวกับพระถ้ำเสือ ตามสถานที่ต่างๆ ทั้งในถ้ำ เนินเขา วัด และเจดีย์ อาทิ พระถ้ำเสือที่พบในถ้ำเขานกจอด เขาวงพาทย์ เจดีย์เขาพระ วัดหลวงเขาดีสลัก และตามถ้ำต่างๆ ในจังหวัดสุพรรณบุรี

อย่างไรก็ตามภายหลังมีการขุดพบพระถ้ำเสืออีก ๒ ครั้งใหญ่ คือ พ.ศ.๒๕๓๕ และ พ.ศ.๒๕๔๒ จึงเกิด เรื่องราวข้อพิพาท “พระถ้ำเสือ กรุวัดเขาดีสลัก” แบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย คือ "เซียนบางกลุ่มยอมรับว่าแท้ แต่อีกหนึ่งกลุ่มบอกว่าเก๊" เลยกลายเป็นพระมีปัญหา ถกเถียงกันอย่างไม่มีที่สิ้นสุดจนถึงทุกวันนี้ แม้ว่า นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งคณะกรรมการค้นหาความจริงพระถ้ำเสือกรุวัดเขาดีสลัก และสำนักงานศึกษาธิการจังหวัดสุพรรณบุรี เคยเปิดให้บูชาหาเงินสร้างกุศลมาแล้ว องค์ละ ๕,๐๐๐-๖,๐๐๐ บาท เมื่อเกือบสิบปีที่ผ่านมา แต่เซียนพระยังไม่ยอมรับอยู่ดี

อ.ราม วัชรประดิษฐ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์พุทธศิลป์ และเจ้าของ "www.aj-ram.com" อธิบายให้ฟังว่า ปัญหาเรื่องพระกรุใหม่พระกรุเก่านั้นไม่ใช่เป็นเรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้น การพบพระชนิดเดียวกันในหลายกรุ ถือเป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่นิยมสร้างพระแล้วนำไปบรรจุกรุต่างๆ เผื่อพระกรุใดกรุหนึ่งถูกทำลายไปก่อนก็ยังเหลือพระกรุอื่นๆ ไว้เป็นสมบัติของอนุชนรุ่นหลัง แต่ปรากฏว่ากรุต่างๆ แตกหรือพังออกมาไม่พร้อมกัน ซึ่งแน่นอนที่สุดว่าพระที่ค้นพบก่อนย่อมเป็นที่รู้จักมากกว่าพระที่ค้นพบหรือแตกกรุทีหลัง

"ปัญหาหนึ่งที่ทำให้พระกรุใหม่ไม่เป็นที่ยอมรับของวงการพระคือ การทำพระใหม่และไปใส่กรุ หรือที่เรียกว่า "พระยัดกรุ" เพื่อให้คนเข้าใจว่าเป็นพระกรุของผู้แสวงหาผลประโยชน์จากพระกรุ ซึ่งมักปรากฏเป็นข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์บ่อยๆ กรุแตกจริงบ้างหรือทำให้แตกบ้าง ดังนั้นก่อนที่จะเช่าไม่ว่าจะเป็นพระกรุใดก็ตามต้องศึกษาให้ดีก่อน" อ.ราม กล่าว


*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น