วันพฤหัสบดีที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2556

26 ตุลา หลวงพี่น้ำฝน นำคณะศิษย์ ขอขมากรรม ณ พระธาตุแช่แห้ง

วันเสาร์ที่ ๒๖ ต.ค. ๒๕๕๖ นี้ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) ทายาทศิษย์เอก หลวงพ่อพูล อัตตะรักโข พระอมตะเถราจารย์ วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม จะจัดพิธีบวงสรวงเทพยดา บูชาองค์พระธาตุแช่แห้ง ศักดิ์สิทธิ์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา แด่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ตั้งสัจจะอธิษฐาน ลด ละ เลิก สิ่งไม่ดีทั้งปวง ล้างสนิมในใจ ร่วมพิธี ขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง และสำหรับคนปีเถาะ เพื่อเป็นปลดเคราะห์ เสริมบุญบารมี ชีวิตมีแต่ความสุข ไร้ทุกข์ ไร้โศก ไร้โรคภัย มีโชคลาภ ค้าขายดีมีกำไร

พิธีจัดขึ้น ณ ลานหน้า องค์พระมหาเจดีย์ พระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุแช่แห้ง บ้านหนองเต่า ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน ใน วันเสาร์ที่ ๒๖ ตุลาคม ๒๕๕๖ เวลา ๑๘.๐๙ น. เพื่อเป็นการสร้างขวัญกำลังใจในการดำเนินชีวิตสืบต่อไป โดยบัณฑิตศิษย์มีครู อาจารย์เชน พงษ์พรหม ณภัทรไพบูลย์ และ อาจารย์กบ สักกเทพ วานิช อ่านโองการ บวงสรวงเทพยดา เบื้องหน้า พระธาตุแช่แห้ง บูชาเทพยดา พร้อมบูชาถวายเครื่องสังเวย ต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์

หลวงพี่น้ำฝน นำกล่าว ขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ จากนั้น หลวงพ่อน้ำฝน พร้อมคณะสงฆ์ วัดพระธาตุแช่แห้ง สวดถอนกรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง เสร็จพิธีหลวงพ่อน้ำฝน ประพรหมน้ำพระพุทธมนต์ เพื่อความบริสุทธิ์ทั้งทางกาย วาจา ใจ เป็นเสร็จพิธี ผู้เข้าร่วมพิธีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น 

พระมหาเจดีย์พระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุแช่แห้ง บ้านหนองเต่า ต.ม่วงตึ๊ด อ.ภูเพียง จ.น่าน มีอายุประมาณ ๖๐๐ ปีเศษ เป็นปูชนียสถานที่ถือว่าศักดิ์สิทธิ์เคารพนับถือของชาวจังหวัดน่าน และจังหวัดใกล้เคียง มีลักษณะของศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมขององค์พระธาตุเจดีย์แสดงให้เห็นถึงแบบอย่างที่ผสมผสานคติความเชื่อทางพุทธปรัชญาไว้อย่างกลมกลืน องค์พระธาตุมีความสูง ๕๕.๕ เมตร ตั้งอยู่บนฐานสี่เหลี่ยมจัตุรัส กว้างด้านละ ๒๒.๕ เมตร มีสีเหลืองอร่ามเนื่องจากบุด้วยทองจังโก (ทองดอกบวบ ทองเหลือง ผสมทองแดง) มีลักษณะเจดีย์ทรงระฆัง ภายในพระเจดีย์เป็นที่ประดิษฐานพระบรมธาตุส่วนกระดูกข้อมือซ้าย บรรจุรวมกับพระเกศา
ตำนานการสร้างพระมหาเจดีย์พระธาตุแช่แห้ง มีอยู่ว่า เมื่อครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้เสด็จโปรดสัตว์มาถึงภูเพียงแช่แห้ง และพบกับพระอมละราชและพระมเหสีที่มาสรงน้ำที่เดียวกับพระองค์สรงน้ำอยู่ พระอมละราชได้ถวายผ้าขาวให้พระพุทธเจ้าใช้สรงน้ำ แต่ผ้านั้นกลายเป็นทองคำ พระอานนท์จึงขอพระเกศาธาตุบรรจุในกระบอกไม้ซาง มอบให้พระอินทร์นำไปเก็บในอุโมงค์พร้อมผ้าทอง โดยพระอินทร์ได้ก่อพระเจดีย์สูง ๗ ศอกไว้ด้านบน


ประมาณ พ.ศ.๑๘๙๖ สมัยพระยากานเมือง ได้ส่งช่างไปร่วมสร้างวัดหลวงที่สุโขทัย พระยาลือไทยจึงมอบพระธาตุ ๗ พระองค์ และพระพิมพ์คำ พระพิมพ์เงินอย่างละ ๒๐ องค์ ให้พระยากานเมือง ซึ่งได้นำไปบรรจุไว้ที่ภูเพียง และพบพระเจดีย์ที่บรรจุพระเกศาธาตุและพระธาตุข้อมือข้างซ้ายของพระพุทธเจ้า พระองค์จึงให้ทำอุโมงค์ประดิษฐานพระบรมธาตุใหม่ และก่อพระเจดีย์เป็น “พระธาตุแช่แห้ง” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่เมืองน่านมาจนทุกวันนี้

คำว่า “แช่แห้ง” เป็นคำที่นักปราชญ์ยกย่องให้เป็นมงคลนามยิ่ง เป็นประหนึ่งกุญแจที่จะไขปริศนาธรรมทั้งมวลจนดิ่งลึกเข้าสู่แดนสุญญตา คือความว่างจากตัวตน อันเป็นสุดยอดของอมฤตธรรมขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า “แช่แห้ง” จึงมีความหมายโดยนัยว่า ยอดคนหรือมหาบุรุษเท่านั้นที่จะทำตัวให้แห้งอยู่ในสภาวะแห่งความเปียกปอนของอวิชชา ความมืดบอด แห่งสรรพกิเลศตัณหาต่างๆ ที่มากมายยิ่งกว่าสายน้ำและมหาสมุทรทั้งหลายในโลกรวมกัน มนุษย์จะสามารถมีความสุขท่ามกลางทะเลแห่งความทุกข์ยากอันหมายถึงมหาวัฏฏสงสารได้อย่างไร

ด้วยปริศนาธรรมแห่งคำว่า “แช่แห้ง” จึงยุติอยู่ที่ “อริยสัจ ๔ ประการ” เพราะคำว่า แช่ หมายถึง การเปียกปอน การดิ่งจมลงในทะเลแห่ง วัฏสงสาร หมายถึงต้นเหตุแห่งทุกข์ มี ๒ ประการคือ ทุกข์ และสมุหทัย คำว่า แห้ง หมายถึงการหยุดนิ่งและสิ้นสุดแห่งอาสวกิเลศทั้งปวง มี ๒ ประการ คือ นิโรธหรือนิพพาน และ อริยมรรค อันมีองค์ ๘ ประการ คือ เส้นทางที่พระตถาคต ชี้นำให้พุทธศาสนิกทั้งมวล เดินตามรอยแห่งพุทธองค์ จึงสรุปได้ในที่สุดว่า คำว่า “แช่แห้ง” จึงหมายถึง “การดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง”

ส่วนเหตุผลที่พระธาตุแช่แห้งเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนที่เกิดปีเถาะ ก็คือเป็นการกำหนดขึ้นมาของพระภิกษุล้านนา เพื่อเป็นกุศโลบาย ให้คนเกิดศรัทธามุ่งมั่นทำความดีและสอนให้มีความพยายาม มีความตั้งใจเด็ดเดี่ยว ว่าในชีวิตหนึ่งขอได้ไปนมัสการพระธาตุประจำปีเกิด จะได้บุญ ตายไปก็ไม่ไปตกในอบายภูมิทั้งสี่

“วัดพระธาตุแช่แห้ง” ตั้งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ต.ม่วงตึ๊ด กิ่งอ.ภูเพียง จ.น่าน สอบถามรายละเอียด โทร.๐๘-๑๕๕๙-๘๓๖๙ และ ๐๘-๗๖๙๘-๔๗๗


*************************

เรื่องโดย : ทีมข่าวมงคลพระ
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น