วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พิพิธภัณฑ์การเกษตรจัดงาน "มหกรรมบุญ"

คนไทยมีประเพณีวัฒนธรรมที่ดีงาม และมีพิธีกรรมต่างๆ เพื่อสร้างขวัญ และกำลังใจในวิถีชีวิตของคนไทยมาอย่างยาวนาน การสร้างโอกาสให้ลูกหลานไทยได้เรียนรู้และร่วมสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ


นางจารุรัฐ จงพุฒิศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว กล่าวว่า เพื่อร่วมสืบสานประเพณี วัฒนธรรมในวิถีเกษตร ๔ ภาค และร่วมสร้างบุญบารมีเพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ เตรียมจัดงานวัฒนธรรมประเพณี ๔ ภาค “มหกรรมบุญ สะเดาะเคราะห์ วิถีเกษตรไทย” ระหว่างวันที่ ๑-๓ มีนาคม ๒๕๕๖ นี้ โดยได้รวมประเพณีวัฒนธรรม และพิธีกรรมเกี่ยวกับงานบุญและการสะเดาะเคราะห์ตามแบบวิถีเกษตรไทยจาก ๔ ภาค ที่หาชมได้ยากมาจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่เพียงแห่งเดียวที่พิพิธภัณฑ์การเกษตร โดยไม่ต้องเดินทางไปสัมผัสไกลถึงต่างจังหวัด ที่สำคัญงานดังกล่าวผู้มาร่วมงานสามารถเข้าร่วมพิธีกรรม ร่วมขบวนแห่ ชมการแสดงและการละเล่น รวมทั้งร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จะได้รับความสุข สนุกสนาน และความรู้ตั้งแต่เช้าถึงเย็น พิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติ

สำหรับรายละเอียดของกิจกรรมวันที่ ๑-๓ มีนาคม เริ่มตั้งแต่เวลา ๐๗.๐๐-๑๘.๐๐ น. ขอเชิญเข้าร่วมพิธีมหามงคล ๙ พิธี ใน ๑ วัน อาทิ พิธีทำบุญตักบาตร พิธีสรงน้ำพระ ถวายภัตตาหารเพล พิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีสะเดาะเคราะห์สืบชะตา พิธีส่งเคราะห์บ้าน พิธีสวดพุทธมนต์ถวายสังฆทาน พิธีส่งสะตวง พิธีเผาเคราะห์ บูชาเทียน พิธีรำเหยา พิธีรำผีฟ้า และชมการแสดง ๔ ภาค ที่หาชมได้ยาก ได้แก่ ลิเกฮูลู รำมโนราห์ กลองสะบัดชัย ฟ้อนดาบ ฟ้อนเล็บ ฟ้อนเชิง สะล้อ ซอ ซึง รำกลองยาว กะเหรี่ยงรำตง รำมวยโบราณ รำนางด้งนางแคน รำบักโมบักแตง และการละเล่นพื้นบ้านต่างๆ

จากนั้นภาคบ่ายของวันที่ ๒ และ ๓ มีนาคม เวลา ๑๖.๐๐-๑๗.๐๐ น. ชมขบวนแห่วัฒนธรรม ๔ ภาค อาทิ ขบวนแห่กองบุญ ขบวนแห่ปีใหม่เมือง ขบวนแห่วันสารทเดือนสิบและขบวนแห่บั้งไฟ นำมาจัดแสดงอย่างยิ่งใหญ่ สนุกสนานให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้เพื่อร่วมกันสืบสานไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลาและการเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสวัฒนธรรมตะวันตก นอกจากผู้เข้าเยี่ยมชมจะเรียนรู้ประเพณี วัฒนธรรมและพิธีกรรมอันงดงามตามวิถีเกษตรไทย แล้วยังมีการจัด “ตลาดนัดเศรษฐกิจพอเพียง” ให้ชม ช็อปสินค้า ผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและชิมอาหาร ๔ ภาค และเข้าร่วมเรียนรู้หลักสูตรพื้นฐานเพื่อการพึ่งตนเอง ๓ วัน กับ ๑๐ หลักสูตรพึ่งตนเอง สร้างรายได้ ฟื้นฟูอาชีพ ฟรีไม่มีค่าลงทะเบียนอีกด้วย

“พิพิธภัณฑ์การเกษตร นอกจากจะเป็นแหล่งเรียนรู้พระเกียรติคุณและพระอัจฉริยภาพด้านการเกษตรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภาคการเกษตร ตลอดจนภูมิปัญญาและนวัตกรรมเกษตรแล้ว ยังต้องการผลักดันให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์มีชีวิตให้ประชาชนและเด็กรุ่นใหม่ๆ สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ในรูปแบบที่หลากหลาย สัมผัสได้ในหลายมิติ เรียนรู้อย่างมีความสุขและได้ประโยชน์ติดไม้ติดมือกลับบ้านสร้างความสุขในชีวิตและครอบครัว” นางจารุรัฐ กล่าว

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานพิพิธภัณฑ์เกษตรเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (องค์การมหาชน) ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ๐๒-๕๒๙-๒๒๑๒ ถึง ๑๓ หรือที่เว็บไซต์ www.wisdomking.or.th

*************************

ข่าวโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันอังคารที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สาธุชนหลั่งไหลร่วมงานบุญ ณ พุทธมณฑล


วันที่ 25 ก.พ.56 วันมาฆบูชา มีรายงานว่า พุทธศาสนิกชน จำนวนมากแต่งชุดขาวออกมาร่วมงานบุญทำบุญตักบาตรกันแต่เช้ามืด เพื่อรอตักบาตรพระสงฆ์จำนวน 985 รูป ที่บริเวณลาน "พระศรีศากยะทศพลญาณ ประธานพุทธมณฑลสุทรรศน์" พุทธมณฑลสถาน อ.พุทธมณฑล โดยมี พระธรรมปริยัติเวที เจ้าคณะภาค 15 เจ้าอาวาสวัดพระปฐมเจดีย์ เป็นประธานฝ่ายสงฆ์นำพระออกรับบิณฑบาต และ นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายก เป็นประธานฝ่ายฆราวาส พิธีมีขึ้นตั้งแต่เวลา 07.00 น. สำหรับภายในงานมีจัดกิจกรรมหลายอย่าง โดยร่วมกันระหว่างสำนักพุทธศาสนา และรัฐบาล จัดสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ระหว่างวันที่ 21-25 ก.พ.56 มีกิจกรรมเช่นการปฏิบัติธรรม สนทนาธรรม อภิปรายธรรม การแสดงธรรมเทศนา นิทรรศการวันมาฆบูชา การประกวดโต๊ะหมู่บูชา และโคมแขวน เป็นต้น ส่วนในช่วง 16.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ นายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นผู้แทนพระองค์ในการบำเพ็ญพระราชกุศล ประกอบพิธีเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชา

ส่วนที่วัดอื่นๆ ใน จ.นครปฐม ประกอบพิธีเวียนเทียนกันทุกวันในช่วงค่ำ โดยวัดพระปฐมเจดีย์นั้นได้จัดพิธีเวียนเทียน ไว้ 2 รอบ โดยรอบแรกเป็นรอบเช้า 09.00 น. เพื่อเปิดโอกาสให้ข้าราชการ อาจารย์ ครู นักเรียน โรงเรียนต่างๆ ได้มาร่วมประกอบพิธีก่อนเพื่อความแออัด และหัวหน้าหน่วยราชการต่างมีภารกิจต้องไปร่วมเวียนเทียนยังพุทธมณฑล ทำให้ต้องเปิดเป็น 2 รอบ ส่วนรอบค่ำ 19.00 น. เป็นต้นไป เปิดให้ประชาชนทั่วไปได้เวียนเทียนรอบองค์เจดีย์พระปฐม ซึ่งในแต่ละปีที่ผ่านมานั้นจะมีประชาชนหลั่งไหลกันมาฟังธรรมเพื่อเป็นสิริมงคลก่อนที่จะประกอบพิธีเวียนเทียน

นอกจากนี้ ที่ วัดเจริญราษฎร์บำรุง หรือ วัดหนองพงนก ต.สระพัฒนา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม พระครูอดุลย์ประชารักษ์ หรือ อาจารย์เวียน พระนักพัฒนา ถือฤกษ์วันมาฆบูชาประกอบพิธีหล่อ พระประธานสมเด็จองค์ปฐม ทรงเครื่องด้วยปูน หน้าตักกว้าง 6.5 เมตร สูง 11 เมตร ให้เสร็จสิ้นในวันเดียว หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า พระทันใจ มีชาวบ้านหลายพันคนแห่ไปร่วม โดยทางวัดได้จัดให้ผู้มาร่วมเทปูนหล่อได้ตักถังปูนส่งให้เทด้วยตนเอง โดยพิธีเริ่มตั้งแต่ 09.00 น. ไปจนถึง 17.00 น. ถึงเสร็จสิ้นทั้งองค์ หลังจากเสร็จสิ้นรอปูนแห้งแล้ว จะทำการถอดแบบ และตกแต่งก่อนที่จะนำไปประดิษฐานในพระอุโบสถ ผู้สื่อข่าวรายงานมาอีกว่าในการเทปูนหล่อครั้งนี้ อาจารย์เวียน ได้นำพระ หลวงพ่อมงคลนิมิต ทองคำ น้ำหนัก 33 บาท ที่สร้างขึ้นเมื่อปี 2555 นำไปวางไว้กลางหัวใจก่อนเทปูนทับ นอกจากนี้ยังมีประชาชนบริจาคทองและเงินจำนวนมาก วางลงในพิมพ์แล้วใช้ปูนเททับไปด้วย

พระครูอดุลย์ ประชารักษ์ หรือ อาจารย์เวียน เจ้าอาวาส เผยว่าสำหรับพระประธานที่หล่อขึ้นในวันนี้ ได้รับความร่วมมือจากสาธุชนทั้งในพื้นที่และต่างจังหวัด มารอกันตั้งแต่เช้ามืดหลายรายมาค้างเพื่อรอพิธีกรรม ถือเป็นครั้งแรกที่หล่อพระให้เสร็จสิ้นในวันเดียว หรือที่โบราณเรียกหลวงพ่อทันใจ ทำอะไรก็ได้ผลทันใจจึงมีสาธุชนมาร่วมจำนวนมาก สาเหตุทึ่ต้องใช้ปูนในการหล่อไม่ใช้ทองเหลืองนั้น เพราะวิธีการยากและต้องใช้เงินจำนวนมากหากถ้าเป็นปูนแล้วสาธุชนสามารถบริจาค ปูนได้ 10 บาทถึง 100 บาท ก็ได้ไม่จำกัด และจากการปรึกษากับคณะกรรมการวัดและผู้นำชุมชน ต่างมีความเห็นร่วมกันว่าจะสร้าง พระสมเด็จองค์ปฐมทรงเครื่อง ขนาดเท่ากันกับที่หล่อวันนี้ขึ้นอีก 4 องค์ ให้เสร็จสิ้นในปี 2556 นี้ ไว้ตามทิศ 4 ทิศ ภาคเหนือ กลาง ใต้ อีสาน โดยจะทำพิธีหล่อในวันสำคัญทางศาสนา วิสาขบูชา เข้าพรรษา ออกพรรษา เป็นต้น

*************************

ข่าวโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ 


ฮือฮา!! โบสถ์ไฮเทค 100 ล้าน วัดดังอ่างทอง


ฮือฮา!! โบสถ์ไฮเทค 100 ล้าน วัดดังอ่างทอง มีทั้งลิฟต์ ทั้งบันไดเลื่อน แห่งเดียวในโลก!!

ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยัง วัดขุนอินทประมูล หมู่ที่ 3 ต.บางพลับ อ.โพธิ์ทอง จ.อ่างทอง หลังทราบข่าวว่า ได้สร้างพระอุโบสถที่มีขนาดใหญ่ถึง 3 ชั้น และมีสิ่งอำนวยความสะดวก เช่นบันไดเลื่อน และลิฟต์ เอาไว้อำนวยความสะดวกให้แก่ญาติโยมที่มาทำบุญที่วัด เมื่อมาถึง วัดขุนอินทประมูล ซึ่งเป็น พุทธมณฑล จ.อ่างทอง เป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธไสยาสน์ ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ ทางขึ้นชั้นสองมีบันไดเดินปกติพร้อมบันเลื่อน ซึ่งอยู่คนละด้านของพระอุโบสถ ส่วนลิฟต์นั้น อยู่บริเวณหน้าบันไดเลื่อน

ซึ่งลิฟต์ และบันไดเลื่อนนี้ สร้างขึ้นเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับญาติโยม และพระที่สูงอายุ สำหรับพื้นที่ชั้น 2 นั้น เป็นส่วนของพระอุโบสถจริง ๆ เป็นสถานที่ประดิษฐาน พระพุทธมหามงคลจินดาพลบพิธ พระประธานของพระอุโบสถหลังนี้ บริเวณด้านข้างของโบสถ์ที่ชั้น 2 นี้ จัดให้มีเบาะที่นั่ง/ที่นอน ขนาดกว้าง 1 เมตร บุฟองน้ำอย่างดี สามารถพับเก็บเข้าช่องได้อยู่โดยรอบ ซึ่งสำหรับที่นั่ง/ที่นอนนี้ จัดทำขึ้นสำหรับไว้ให้พระหรือญาติโยมไว้สำหรับพักผ่อน ซึ่งใช้ระบบไฮโดรลิกทั้งหมด สามารถกางออกมาและเก็บเข้าไปติดผนังเหมือนเดิม และบริเวณชั้น 3 ของพระอุโบสถนั้น จัดทำขึ้นสำหรับเป็นที่พักของพระผู้ใหญ่โดยเฉพาะ

ด้าน นายประดับ เอี่ยมประชา ไวยาวัจกรณ์ประจำจังหวัดอ่างทอง กล่าวว่า พระอุโบสถหลังนี้สร้างแล้วเสร็จไป ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ ใช้งบประมาณไปแล้วทั้งสิ้น 97 ล้านบาท คาดว่าหลังสร้างเสร็จน่าจะถึง 100 ล้านบาท

************************

ข่าวโดย : innnews.co.th
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ผู้เปรียบดั่งเพชร แห่งพระศาสนา


เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิมว่า เกี่ยว นามสกุล โชคชัย นามฉายา อุปเสโณ เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2471 ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสราษฎร์ธานี

เมื่อยังเยาว์ ได้ศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน จนจบประถมปีที่ 4 เมื่ออายุได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดภูเขาทอง อำเภอเกาะสมุย จงหวัดสุราษฎร์ธานี แม้เจตนาจะบวชเพียงแค่ 7 วัน แต่ด้วยปุพเพกตปุญญตา ทำให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังคงมั่นในสมณเพศหาได้คิดลาสิกขาไม่ โยมมารดาจึงนำไปฝากไว้กับท่าน พระครูอรุณกิจโกศล (หลวงพ่อพริ้ง) วัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย เจ้าประคุณสมเสด็จฯ เป็นผู้ฝักใฝ่ในการศึกษา มีวิริยะ อุตสาหะ จนหลวงพ่อพริ้งเห็นอุปนิสัย ได้นำไปฝากตัวเป็นศิษย์ เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร โดยอยู่ในการปกครองของ พระครูปลัดเทียบ (พระธรรมเจดีย์)

เจ้าประคุณสมเสด็จฯ ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 5 ประโยค ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร


ครั้นต่อมา พ.ศ.2493 เมื่อมีอายุครบอุปสมบท ก็ได้อุปสมบทที่ วัดสระเกศ โดยมี เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถร (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวโรดม) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว จนถึงปี พ.ศ.2497 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

เจ้าประคุณสมเด็จฯ มอบกายถวายชีวิตในพระพุทธศาสนา มีศรัทธาไม่หวั่นไหว และสมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร เป็นพระมหาเถระผู้รัตตัญญู มีเมตตาธรรมเป็นประจำ มีกรุณาต่อชนทั่วไป มีอัธยาศัยละมุนละไม เป็นบุคคลที่ใครๆเข้าหาได้ง่าย ไม่ถือตัว ปฏิบัติศาสนกิจและสังฆกรรมต่างๆสม่ำเสมอมิได้ขาด เป็นผู้มีความเมตตากรุณาสูง

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะภาค 9 และ เป็น เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2508 เมื่อปี พ.ศ. 2516 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ และเป็น กรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อปี พ.ศ. 2533 


เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนามหาเถรสมาคม

และเนื่องจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการประชวร และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 ทำให้เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม จึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็น ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในต้นปี พ.ศ. 2547 

ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ โดยมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระมหาเถระ ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม มีหน้าอันพร้อมที่จะรับแขกอยู่เสมอ คือ ยิ้มแย้ม แจ่มใส พร้อมที่จะให้ข้อคิด ข้อธรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการครองเรือน หรือการประพฤติปฏิบัติ แก่คนทั่วไป อยู่เสมอ ความข้อนี้ ผู้ที่รับสัมผัสบารมีธรรมขององค์ท่าน ย่อมเป็นประจักษ์พยานได้

พระภิกษุสามเณรในวัดสระเกศ มีเป็นร้อยรูป สามเณรไม่ต่ำกว่า 40 รูป แม้จะมากมายเพียงนี้ แต่เจ้าประคุณสมเด็จฯ สามารถจำชื่อได้หมดทุกรูป ทราบว่า รูปใด อยู่กุฏิไหน มีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด และทราบไปถึงบูรพาจารย์ บรรพบุรุษซึ่งเป็นพระมหาเถระของพระภิกษุสามเณรรูปนั้น ๆ ได้อีกด้วย เกิดสารทุกข์ สุกดิบ ขึ้นกับองค์ใด ท่านสามารถเข้าถึง และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เพราะปฏิปทาด้านความ ทรงจำอันประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ นั่นเอง

ภายในฤดูกาลเข้าจำพรรษา เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะให้การแนะนำแก่สามเณรด้วยตัวท่านเอง สอนเรื่องปัจจัยสี่ การดำรงชีพของพระภิกษุสามเณร สอนเรื่องเสขิยวัตร อย่างละเอียด แม้กระทั่งการจับช้อนส้อม เป็นต้น ในทุกเย็นวันศุกร์ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะลงสอนพระนวกะผู้บวชภายในพรรษา ด้วยตนเอง พระใหม่ ทุกรูป จึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มีบุญที่ได้บวชในพระพุทธศาสนา และมีพระมหาเถระชั้นสมเด็จ คอยให้คำแนะนำ สั่งสอน เหมือนพ่อสอนลูก เช่นนี้ ไม่เคยนึกฝัน มาก่อน ในชีวิตนี้เลยทีเดียว



จ้าประคุณสมเด็จฯ จะลงทำวัตรค่ำในเวลา 21.00 น. ทุ่ม เป็นประจำไม่ขาด ด้วยเหตุนี้ ที่วัดสระเกศจึงมีการทำวัตร 3 เวลา คือ เช้า 8.30 น., เย็น 17.00น. เและ ค่ำ 21.00 น. เป็นการเอื้อเฟื้อพระภิกษุสามเณร ซึ่งไปศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้งสองแห่ง ตั้งแต่ตอนบ่ายนั้น ได้มีโอกาสทำวัตรสวดมนต์ด้วย ก็เพราะท่านเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาฯ มาก่อน จึงเข้าใจกิจวัตรของพระสงฆ์ ผู้กำลังศึกษา ทั้งคดีโลก และคดีธรรม เป็นอย่างดี

ภายในพรรษา เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็จะลงเทศน์ ภายในพระอุโบสถ สลับกับพระสงฆ์ผู้เป็นพระธรรมกถึกของวัด นอกจากนั้นในเทศกาลสำคัญ เช่น วันมาฆบูชา เป็นต้น ท่านก็จะเทศน์ด้วยตัวเอง ทำให้ผู้มาบำเพ็ญกุศล เกิดศรัทธา ปสาทะ เพิ่มขึ้นอีกเป็นอย่างมาก

*************************

เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ

ทัศนะ "พระพยอม" กรณี "พระพายัพ"


พระราชธรรมนิเทศ หรือ พระพยอม กัลยาโณ ประธานมูลนิธิวัดสวนแก้ว ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการแต่งตั้งพระฐานานุกรมว่า มีการกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ 2 ข้อ คือ

1. ต้องอุปสมบทมาหลายพรรษา 
2.ต้องมีผลงานการสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนา 

ซึ่งก่อนจะให้สัมภาษณ์ อาตมา เห็นข่าวว่า พระพายัพ มีผลงานในการสนับสนุนส่งเสริมพระพุทธศาสนาหลายประการ อาทิ การสร้างโบสถ์ ถ้าหากเป็นเช่นนั้นจริง พระพายัพ ก็มีสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็น พระฐานานุกรม ได้

“การแต่งตั้งพระฐานานุกรม เป็นสิทธิของผู้ให้ เมื่อผู้ให้พิจารณาแล้ว เห็นว่า ผู้รับมีสิทธิที่จะได้ ก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร และที่สำคัญ พระพายัพ ก็บวชไม่นาน พระคู่แข่งในตำแหน่งนี้ ก็ไม่น่าจะมีความวิตกกังวลอะไร"

พระพยอม กล่าวย้ำว่า "ปัญหานี้ไม่น่าจะเกิดขึ้นเลย ถ้าพระพายัพ ไม่ได้เป็นน้องชายของ คนชื่อทักษิณ"

เมื่อถามว่า แต่หลักการกำหนดให้พระที่จะได้รับการแต่งตั้ง เป็น พระฐานานุกรม ต้องบวชหลายพรรษา พระพยอม ระบุว่า “อาตมา เห็นว่า เราไม่ควรจะไปยึดเรื่องพรรษากันได้แล้ว เพราะพระบางรูปบวชมานานหลายพรรษา แต่ไม่เคยทำคุณงามความดี หรืออะไรที่เป็นประโยชน์แก่พระศาสนา ก็ไม่ควรเลื่อนตำแหน่งอะไรให้เลย”

ข้อมูลจากเว็บไซต์ วิกิพีเดีย ระบุว่า ฐานานุกรม คือ ชื่อเรียกลำดับตำแหน่งสมณศักดิ์ของพระสงฆ์ไทย ซึ่งภิกษุผู้มีตำแหน่งทางการปกครองหรือมีสมณศักดิ์สูงบางตำแหน่งมีสิทธิตั้งพระรูปอื่นให้เป็นฐานากรมได้ตามศักดิ์ที่ได้รับพระบรมราชานุญาต เช่น 
พระสงฆ์ตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอ สามารถตั้งฐานานุกรมได้ 3 ตำแหน่ง 
พระราชาคณะชั้นสามัญตั้งฐานานุกรมได้ 3 ตำแหน่ง
ไปจนกระทั่งถึงสมเด็จพระสังฆราชทรงตั้งฐานานุกรมได้ 15 ตำแหน่ง

ฐานานุกรมนั้นมีตำแหน่งที่เป็นหลัก 3 ตำแหน่ง คือ พระปลัด พระสมุห์ พระใบฎีกา หากพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ที่มีสิทธิ์ตั้งฐานานุกรมเป็นผู้ที่มีสมณศักดิ์ตั้งแต่พระราชาคณะชั้นราชขึ้นไป พระฐานานุกรมที่ท่านเหล่านั้นตั้ง จะเรียก "พระครู" นำหน้าตำแหน่งฐานานุกรมนั้นทุกตำแหน่ง เช่น พระครูปลัด พระครูสังฆรักษ์ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ภิกษุผู้ได้รับแต่งตั้งในลักษณะนี้เรียกว่า พระฐานานุกรม ทุกรูปจัดเป็นพระมีสมณศักดิ์เหมือนพระสมณศักดิ์ที่ทรงแต่งตั้ง พระในตำแหน่งเหล่านี้บางทีเรียกประทวนสัญญาบัตร บ้าง ฐานาประทวน บ้าง และเนื่องจากสมณศักดิ์เหล่านี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้พระราชทานเอง ดังนั้นเมื่อพระสงฆ์ผู้ทรงสมณศักดิ์ที่ได้ตั้งฐานานุกรมไว้มรณภาพ ตำแหน่งฐานานุกรมต่างๆ ก็ถือว่าเป็นอันสิ้นสุดไปด้วย เรียกกันในภาษาปากว่า พระครูม่าย หรือ ฐานาม่าย จนกว่าจะได้รับแต่งตั้งฐานานุกรมใหม่

ส่วนด้าน พระพายัพ ได้ชี้แจงผ่านสื่อว่า ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรณีพิเศษ ในกรณีที่ได้ทำนุบำรุงพระศาสนา และปฏิบัติธรรมมามามาก เปรียบเหมือนกับการรับปริญญาเอกดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ อย่างไรก็ตามจะรีบเดินทางกลับประเทศไทย และเทศน์ร่วมกับพระพยอมที่สวนอัมพร

*************************

ข่าวโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียงเรียงโดย : ทีมข่าวมงคลพระ



วันอาทิตย์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

"อาบน้ำเพ็ญทุกคืน 15 ค่ำ" ณ วัดไผ่ล้อม นครปฐม


หลวงพ่อพูล นิมิต หลวงพี่น้ำฝน บอกบุญญาติโยม ร่วมกุศลพิธีสำคัญ

"อาบน้ำเพ็ญทุกคืน 15 ค่ำ" มาฆบูชา พร้อมแจ้งตารางงานบุญวัดไผ่ล้อม

พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพี่น้ำฝน) เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม เปิดเผยว่า ความสำคัญของวันมาฆบูชา คือเป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" แก่พระสงฆ์เป็นครั้งแรก หลังจากตรัสรู้มาแล้วเป็นเวลา 9 เดือน ซึ่งหลักคำสอนนี้เป็นหลักการ และวิธีการปฏิบัติต่างๆ หากสรุปเป็นใจความสำคัญ จะมีเนื้อหาว่า "ทำความดี ละเว้นความชั่ว ทำจิตใจให้บริสุทธิ์" โดยตั้งแต่เช้าของวันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556 วันมาฆบูชา ร่วมพิธีลงนะหน้าทอง จันทร์มหาเสน่ห์ ตำรับหลวงพ่อพูล ร่วมพิธีเจิมแป้งนะเมตตามหามงคล ตำรับหลวงพ่อพูล ร่วมพิธีเวียนเทียน วันมาฆบูชา รอบอุโบสถเฉลิมพระเกียรติ เพื่อระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ จากนั้นเวลา 24.00 น.ร่วมพิธีอาบน้ำคืนเพ็ญ ตำรับหลวงพ่อพูล ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ประกอบพิธีตามนิมิตบัญชาหลวงพ่อพูล เพื่อสร้างขวัญกำลังใจ ล้างสนิมในใจ เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิตสืบต่อไป


หลวงพี่น้ำฝน กล่าวอีกว่า สำหรับตารางงานบุญ วัดไผ่ล้อม ตลอดทั้งปี 2556 มีดังนี้

วันอังคารที่ 26 มีนาคม 2556 ร่วมพิธีอาบน้ำคืนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 
เทศกาลสงกรานต์ ในวันจันทร์ที่ 15 เมษายน 2556 เวลา 15.00 น. แห่รูปหล่อหลวงพ่อพูล รอบเมืองนครปฐม เพื่อเปิดโอกาสให้ญาติโยมได้สรงน้ำ กราบสักการะขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล 
วันพฤหัสบดีที่ 25 เมษายน 2556 ร่วมพิธีอาบน้ำคืนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 เวลา 24.00น. 
วันศุกร์ที่ 24 พฤษภาคม 2556 วันวิสาขบูชา ร่วมพิธีไหว้ครู-ครอบครู ตำรับหลวงพ่อพูล ประจำปี2556 ตั้งแต่เวลา 09.00น.เป็นต้นไป ร่วมพิธีเวียนเทียน รอบอุโบสถ เพื่อระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน ตั้งแต่เวลา 09.00น.เป็นต้นไป ร่วมพิธีอาบน้ำคืนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 เวลา 24.00น. 
วันอาทิตย์ที่ 23 มิถุนายน 2556 ร่วมพิธีอาบน้ำคืนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 7 เวลา 24.00น.
วันจันทร์ที่ 22 กรกฏาคม 2556 วันอาสาฬหบูชา ร่วมพิธีเวียนเทียน รอบอุโบสถ เพื่อระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงประกาศพระพุทธศาสนาครั้งแรก จึงถือว่าวันนี้มีพระรัตนตรัยครบองค์สามบริบูรณ์ครั้งแรกในโลก คือ มีทั้งพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ เวลา19.00น. ร่วมพิธีอาบน้ำคืนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เวลา 24.00น.
วันอังคารที่ 23 กรกฏาคม 2556 วันเข้าพรรษา ร่วมพิธีถวายเทียนพรรษา และถวายผ้าอาบน้ำฝน ตั้งแต่เวลา09.00น.เป็นต้นไป 
วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2556 ร่วมพิธีอาบน้ำคืนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 9 เวลา 24.00น. 
วันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2556 ร่วมพิธีอาบน้ำคืนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 เวลา 24.00น.
วันเสาร์ที่ 19 ตุลาคม 2556 วันออกพรรษา ร่วมทำบุญตักบาตรเทโว เวลา 08.00น. ร่วมพิธีอาบน้ำคืนเพ็ญ ตำรับหลวงพ่อพูล ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เวลา 24.00น.
วันอาทิตย์ที่ 17 พฤศจิกายน 2556 ร่วมพิธีอาบน้ำคืนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เวลา 24.00น.
วันอังคารที่ 17 ธันวาคม 2556 ร่วมพิธีอาบน้ำคืนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 เวลา 24.00น.
วันอังคารที่ 31 ธันวาคม 2556 ร่วมพิธีขอขมากรรม ถอนคำสาบาน ถอนคำสาปแช่ง พิธีสวดนพเคราะห์เสริมบารมี ตำรับหลวงพ่อพูล ส่งท้ายปีเก่า รับพรปีใหม่ บูชาพระราหูคู่มิตรพระเสาร์ เพื่อความเป็นสิริมงคลในชีวิต ตั้งแต่เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป 

โดยผู้เข้าร่วมพิธีไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น 
สอบถามรายละเอียดได้ที่ วัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม โทร.087-1517799

*************************

ข่าวโดย : บก.ไก่ วีรพล
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

หลวงปู่มั่น ผู้สร้างประวัติศาสตร์พระกรรมฐานไทย


พระครูวินัยธร (มั่น ภูริทตฺโต) หรือ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านกำเนิดในสกุลแก่นแก้ว บิดาชื่อคำด้วง มารดาชื่อจันทร์ เพีย ( พระยา ) แก่นท้าวเป็นปู่ นับถือพุทธศาสนา ท่านเกิดวันพฤหัสบดี เดือนยี่ ปีมะแม ตรงกับวันที่ ๒๐ เดือนมกราคม พ.ศ. ๒๔๑๓ ณ บ้านคำบง ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ( ปัจจุบันคือ บ้านคำบง ตำบลสงยาง อำเภอศรีเมืองใหม่ จังหวัดอุบลราชธานี ) ท่านมีพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน ๗ คน ท่านเป็นบุตรคนหัวปี ท่านเป็นคนร่างเล็ก ผิวขาวแดง แข็งแรง ว่องไว สติปัญญาดีมาตั้งแต่กำเนิด ฉลาด เป็นผู้ว่าง่ายสอนง่าย 

ท่านได้เรียนอักขรสมัยในสำนักของอา คือเรียนอักษรไทยน้อย อักษรไทย อักษรธรรม และอักษรขอมอ่านออกเขียนได้ นับว่าท่านเรียนได้รวด เร็ว เพราะมีความทรงจำดี และมีความขยันหมั่นเพียรชอบการเล่าเรียนศึกษา 

เมื่อท่านอายุได้ ๑๕ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรในสำนักวัดบ้านคำบง ท่านใดเป็นบรรพชาจารย์ไม่ปรากฏ ครั้นบวชแล้วได้ศึกษาหาความรู้ทางพระศาสนา มีสวดมนต์และสูตรต่างๆ ในสำนักบรรพชาจารย์ จดจำได้รวดเร็ว อาจารย์เมตตาปรานีมาก เพราะ เอาใจใส่ในการเล่าเรียนดี ประพฤติปฏิบัติเรียบร้อย เป็นที่ไว้เนื้อเชื่อใจได้ 

เมื่ออายุท่านได้ ๑๗ ปี บิดาขอร้องให้ลาสิกขา เพื่อช่วยการงานทางบ้าน ท่านก็ได้ลาสิกขาออกไปช่วยงาน ของบิดามารดาเต็มความสามารถ ท่านเล่าว่าเมื่อลาสิกขาไปแล้วยังคิดที่จะบวชอีกอยู่เสมอไม่ลืมเลย คงเป็นเพราะอุปนิสัยในทางบวชมาแต่ก่อนอย่างหนึ่งอีกอย่าง หนึ่งเพราะติดใจในคำสั่งของยายว่า

"เจ้าต้องบวชให้ยาย เพราะยายก็ได้เลี้ยงเจ้ายาก"

คำสั่ง ของยายนี้ คอยสะกิดใจอยู่เสมอ ครั้นอายุท่านได้ ๒๒ ปี ท่านเล่าว่ามีความอยากบวชเป็นกำลัง จึงอำลาบิดา มารดาบวชท่านทั้งสองก็อนุญาตตามประสงค์ ท่านได้เข้าศึกษา ในสำนัก พระอาจารย์เสาร์ ( หลวงปู่เสาร์ ) กนฺตสีโล วัดเลียบ เมืองอุบล

เมื่ออุปสมบทเป็นภิกษุภาวะในพุทธศาสนา ณ วัดศรีทอง (วัดศรีอุบลรัตนาราม) อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี พระอริยกวี (อ่อน) เป็นพระอุปฌาย์ พระครูสีทาชยเสโน เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระครูประจักษ์อุบลคุณ ( สุ่ย ) เป็นพระอนุสาวนาจารย์ เมื่อวันที่ ๑๒ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๓๖ พระอุปัชฌายะขนานนามมคธให้ว่า "ภูริทัตโต" แปลว่า "ผู้ให้ปัญญา ผู้แจกจ่ายความฉลาด" 

เมื่อเสร็จอุปสมบทกรรมแล้ว ได้กลับมาศึกษาวิปัสสนาธุระกับ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล ณ วัดเลียบต่อไป เมื่อแรกอุปสมบทท่านพำนักอยู่วัดเลียบ โดยได้เรียนกรรมฐานจากพระอาจารย์เสาร์ และได้ออกไปอาศัยอยู่วัดบูรพาราม เมืองอุบลราชธานีเป็นครั้งคราว

ในระหว่างนั้นได้ศึกษาข้อปฏิบัติเบื้องต้น อันเป็นส่วนแห่งพระวินัย คือ อาจาระความประพฤติมารยาท อาจริยวัตร และอุปัชฌายวัตร ปฏิบัติได้เรียบร้อยดีจนเป็นที่ไว้วางใจของพระอุปัชฌาจารย์ และได้ศึกษาข้อปฏิบัติอบรมจิตใจ คือ เดินจงกรมนั่งสมาธิกับการสมาทานธุดงควัตรต่างๆ

ในสมัยต่อไปได้แสวงหาวิเวก บำเพ็ญสมณธรรมในที่ต่างๆ ตามราวป่า ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง หุบเขา ซอกเขา ห้วย ธารเขา เงื้อมเขา ท้องถ้ำ เรือนว่าง ทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงบ้าง ทางฝั่งขวาแม่น้ำโขงบ้าง แล้วลงไปศึกษากับนักปราชญ์ทางกรุงเทพ จำพรรษาอยู่ที่ วัดปทุมวนาราม หมั่นไปสดับธรรมเทศนา กับ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) แล้วออกแสวงหาวิเวกในถิ่นภาคกลาง คือถ้ำสาริกา เขาใหญ่ นครนายก ถ้ำไผ่ขวาง เขาพระงาม และถ้ำสิงห์โต ลพบุรี จนได้รับความรู้แจ่มแจ้งในพระธรรมวินัย สิ้นความสงสัยในสัตถุศาสนา จึงกลับมาภาคอีสาน ทำการอบรมสั่งสอนสมถวิปัสสนา แก่สหธรรมิกและอุบาสกอุบาสิกาต่อไป จนมีผู้เลื่อมใสปฏิบัติตามมากขึ้นโดยลำดับ และมีศิษยานุศิษย์แพร่หลายกระจายทั่วทั้งภาคอีสาน

ในกาลต่อมาได้ลงไปพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม กรุงเทพฯ อีก ๑ พรรษาแล้ว ไปเชียงใหม่ กับ ท่านเจ้าคุณพระคุณอุบาลีคุณูปมาจารย์ ( จันทร์ สิริจนฺโท ) จำพรรษาวัดเจดีย์หลวง ๑ พรรษา แล้วออกไปพักตามที่วิเวกต่างๆ ในเขตภาคเหนือหลายแห่ง เพื่อสงเคราะห์สาธุชนในที่นั้นๆ นานถึง ๑๑ ปี จึงได้กลับมาจังหวัดอุดรธานี พักจำพรรษาอยู่ที่วัดโนนนิเวศน์ เพื่ออนุเคราะห์สาธุชนในที่นั้น ๒ พรรษา แล้วมาอยู่ในเขตจังหวัดสกลนคร จำพรรษาที่วัดป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร ( ปัจจุบันคืออำเภอ โคกศรีสุพรรณ ) ๓ พรรษา จำพรรษาที่วัดป่าหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม ๕ พรรษาเพื่อสงเคราะห์สาธุชนในถิ่นนั้น มีผู้สนใจในธรรมปฏิบัติได้ติดตามศึกษา อบรมจิตใจมากมาย ศิษยานุศิษย์ของท่าน ได้แพร่กระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยังเกียรติคุณของท่านให้ฟุ้งเฟื่องเลื่องลือไป

ในวัยชรานับแต่ พ.ศ.๒๔๘๔ เป็นต้นมา ท่านหลวงปู่มั่นมาอยู่ที่จังหวัดสกลนคร เปลี่ยนอิริยาบท ไปตามสถานที่วิเวกผาสุขวิหารหลายแห่ง คือ เสนาสนะป่าบ้านนามน ตำบลตองโขบ อำเภอเมือง (ปัจจุบันเป็นอำเภอโคกศรีสุพรรณ) บ้าง แถวนั้นบ้าง 

ครั้น พ.ศ. ๒๔๘๗ จึงย้ายไปอยุ่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร จนถึงปีสุดท้ายแห่งชีวิต ตลอดเวลา ๘ ปีในวัยชรานี้ ท่านได้เอาธุระอบรมสั่งสอน ศิษยานุศิษย์ทางสมถวิปัสสนา เป็นอันมาก ได้มีการเทศนาอบรมจิตใจศิษยานุศิษย์เป็นประจำวันศิษย์ ผู้ใกล้ชิด ได้บันทึกธรรมเทศนาของท่านไว้ และได้รวบรวมพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ แล้วให้ชื่อว่า "มุตโตทัย"

มาถึงปี พ.ศ. ๒๔๙๒ ซึ่งเป็นปีที่ท่านมีอายุย่างเข้า ๘๐ ปี ท่านเริ่มอาพาธเป็นไข้ ศิษย์ผู้ที่อยู่ใกล้ชิด ก็ได้เอาธุระรักษาพยาบาลไปตามกำลังความสามารถ อาการอาพาธก็สงบไปบ้างเป็นครั้งคราว แต่แล้วก็กำเริบขึ้นอีก เป็นเช่นนี้เรื่อยมาจนจวนออกพรรษา อาพาธก็กำเริบมากขึ้น ข่าวนี้ได้กระจายไปโดยรวดเร็ว พอออกพรรษา ศิษยานุศิษย์ผู้อยู่ใกล้ไกล ต่างก็ทะยอยกันเข้ามาปรนนิบัติพยาบาล ได้เชิญหมอแผนปัจจุบันมาตรวจ และรักษาแล้วนำมาพักที่เสนาสนะป่าบ้านภู่ อำเภอพรรณานิคม เพื่อสะดวกแก่ผู้รักษา และศิษยานุศิษย์ที่จะมาเยี่ยมพยาบาล อาการอาพาธมีแต่ทรงกับทรุดลงโดยลำดับ

ครั้น เมื่อวันที่ ๑๐ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้นำท่านมาพักที่ วัดป่าสุทธาวาส อ.เมือง เมืองสกลนคร โดยพาหนะรถยนต์ของแขวงการทางมาถึงวัดเวลา ๑๒.๐๐ น. เศษ ครั้นถึงเวลา ๒.๒๓ น. ของวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ปีเดียวกัน ท่านก็ได้ถึงมรณภาพด้วยอาการสงบในท่ามกลางศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย เช่น เจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ , หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน เป็นต้น สิริชนมายุของท่านอาจารย์ได้ ๗๙ ปี ๙ เดือน ๒๑ วันรวม ๕๖ พรรษา

*************************

เรื่องโดย : luangpumun.org
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




"พงษ์เทพ" ยกห้องเรียนขงจื่อ สอนภาษาจีนดีที่สุดในโลก


"พงษ์เทพ"
ยกย่อง ห้องเรียนขงจื่อ ร.ร.ไตรมิตรวิทยาราม เป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนอันดับ 1 ของประเทศไทย และของโลก หลังได้พบปะพูดคุยกับนักเรียนเป็นภาษาจีน และพบว่าเด็กมีทักษะการพูด อ่านเขียนในระดับดีมาก

เมื่อวันที่ 22 ก.พ. 56 ที่ วัดไตรมิตรวิทยาราม นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.ศึกษาธิการ (ศธ.) ได้เดินทางเข้าพบ พระธรรมภาวนาวิกรม (เจ้าคุณธงชัย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยาราม และประธานมูลนิธิร่มฉัตร เพื่อเยี่ยมชมห้องเรียนขงจื่อ โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย และการดำเนินงานชุมชนต้นแบบวัดไตรมิตรวิทยาราม โดยในการเยี่ยมชมครั้งนี้ นายพงษ์เทพ ได้สนทนากับนักเรียนเป็นภาษาอังกฤษ และภาษาจีนโดยตลอด

นายพงษ์เทพ กล่าวหลังเยี่ยมชมว่า ต้องยอมรับว่าโรงเรียนไตรมิตรฯ คือ โรงเรียนสอนภาษาจีนอันดับ 1 ของประเทศไทย และของโลก จากการทดสอบภาษากับนักเรียนพบว่า มีทักษะการพูด อ่านเขียนในระดับดีมาก ขณะที่บรรยากาศการจัดการเรียนการสอน ครู และอุปกรณ์การศึกษา ถือว่ามีความพร้อมที่จะเข้าสู่ประชาคมอาเชียน โดย ศธ.จะสนับสนุนให้เขตพื้นที่การศึกษาจากทั่วประเทศเข้ามาอบรม และเรียนรู้ภาษา ตลอดจนวัฒนธรรมไทย–จีนที่ห้องเรียนขงจื่อ โรงเรียนไตรมิตรวิทยาลัย ส่วนชุมชนต้นแบบวัดไตรมิตรฯ ที่เปิดโอกาสให้เยาวชน และประชาชนได้มาเรียนภาษา เพื่อนบ้านถึง 9 ภาษา ถือว่าทำได้ดี และน่าสนับสนุนให้เกิดชุมชนแบบวัดไตรมิตรทั่วประเทศ เพื่อเตรียมความพ้อมเข้าสู่ประชาคมอาเชียน

ด้าน พระธรรมภาวนาวิกรม กล่าวว่า ห้องเรียนขงจื่อ โรงเรียนไตรมิตร เพิ่งได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 จากการประชุมขงจื่อโลกที่สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนชุมชนวัดไตรมิตรฯ ถือเป็นชุมชนต้นแบบในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนโดย ความร่วมมือกันของ “บวร” ซึ่งประกอบด้วย บ้าน หรือชุมชน วัด หรือศาสนาทุกศาสนา และรัฐซึ่งรวมถึงโรงเรียน และหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นจึงมีการส่งเสริมเรื่องภาษาทั้งภาษาอังกฤษ จีน และพม่า เพื่อรองรับการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน

*************************

ข่าวโดย : ไทยรัฐออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ

วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วัดพุทธมงคล เททองรูปเหมือนหลวงปู่นิ่ม

วัดพุทธมงคล (วัดหนองปรือ) หมู่ที่ 7 ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี เป็นวัดที่เก่าแก่แห่งหนึ่ง ปัจจุบันมี "พระครูสุนันทโชติ" หรือ "หลวงปู่นิ่ม โชติธัมโม" ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส

พระสมุห์วิสิทธิ์ ปริปุณโณ รองเจ้าอาวาสวัดพุทธมงคล กล่าวว่า หลวงปู่นิ่ม แห่งวัดพุทธมงคล หรือ วัดหนองปรือ พระเกจิอาจารย์ชื่อดังผู้สร้างตำนานเครื่องรางของขลัง "ปูหนีบทรัพย์" ที่รู้จักในหมู่ลูกศิษย์ลูกหา และนักสะสมทั่วประเทศ

ปูหนีบทรัพย์ที่หลวงปู่นิ่มสร้างออกให้บูชาตั้งแต่แหวนปูหนีบทรัพย์รุ่นแรก ปูหนีบทรัพย์สองสลึง และลูกอมปูหนีบทรัพย์ มีการบูชาไปจนหมดอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบัน หลวงปู่นิ่ม โชติธัมโม สิริอายุ 85 พรรษา 65 ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2471 เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ จึงขออนุญาตบิดา-มารดาเข้าอุปสมบท โดยมี พระสมณกิจพิศาล (หลวงปู่เปลื้อง) วัดสุวรรณภูมิ เป็นพระอุปัชฌาย์, พระปริยัติคุณาภรณ์ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระมหาสุจินต์ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายา "โชติธัมโม" มีความหมายว่า "ผู้โชติช่วงในพระธรรม"

หลังอุปสมบท หลวงปู่กล้าย วัดหงส์รัตนาราม ชักชวนให้ไปอยู่จำพรรษาด้วย พร้อมสอนวิทยาคมและเรียนพระปริยัติธรรม มุมานะ ศึกษาเล่าเรียนจนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก ท่านยังให้ความสนใจด้านวิทยาคม ฝากตัวเป็นศิษย์ พระเทพวุฒาจารย์ (หลวงปู่เปลื้อง) พระเกจิอาจารย์ใหญ่เมืองสุพรรณบุรี ที่สืบวิชาอาคมของ หลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จ.ชัยนาท และ หลวงปู่สอน วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี และยังเป็นศิษย์ พระธรรมมหาวีรานุวัตร ที่สืบสายจาก หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก จ.นครปฐม อีกด้วย

พระเกจิอาจารย์ในอดีตที่ถ่ายทอดวิชาให้หลวงปู่นิ่มมากที่สุด คือ หลวงปู่กล้าย วัดหงส์ฯ พร้อมกันนี้ก็ได้ร่ำเรียนคาถาเคล็ดวิชาอาคมจาก หลวงพ่อสด วัดปากน้ำ, สมเด็จพระสังฆราช (ป๋า) วัดโพธิ์ฯ, หลวงปู่โต๊ะ วัดประดู่ฉิมพลี, หลวงพ่อแช่ม วัดนวลนรดิศ, หลวงพ่อมุ่ย วัดดอนไร่, หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง, หลวงพ่อขอม วัดไผ่โรงวัว, หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม, หลวงพ่อสม วัดดอนบุปผาราม, หลวงพ่อหรุ่น วัดเสาธงทอง, หลวงพ่อกาพย์ วัดจรรย์, หลวงพ่อถิร วัดป่าเลไลยก์ และ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม

ที่ผ่านมามีเสียงเรียกร้องจากศิษยานุศิษย์จำนวนมากทั่วประเทศให้หลวงปู่นิ่มจัดสร้างวัตถุมงคล ปูหนีบทรัพย์ ขึ้นอีก หลวงปู่นิ่มจึงได้กำหนดให้มีพิธีเททองวัตถุมงคลปูหนีบทรัพย์ 3 อย่างคือ 

- รูปหล่อหลวงปู่นิ่มพิมพ์เบ้าทุบฐานปูหนีบทรัพย์รุ่นแรก 
- รูปหล่อเหมือนหลวงปู่นิ่มขนาดบูชา 5 นิ้ว รุ่นแรก 
- ปูหนีบทรัพย์หล่อโบราณลายศิลปินแห่งชาติ


โดยกำหนดประกอบพิธีเททองหล่อในวันจันทร์ที่ 25 ก.พ.2556 ซึ่งตรงกับวันมาฆบูชา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หลวงปู่นิ่มตั้งชื่อวัตถุมงคลว่า "มหาจินดามณีมาฆบูชา-ร่ำรวยมหาศาล" เหตุที่เททองวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา วันมาฆบูชา เพราะเป็นวันที่เกิดเหตุการณ์อัศจรรย์ในสมัยพุทธกาลพร้อมกันคือ

- พระสงฆ์ผู้บริสุทธิ์มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมายเกิดเป็นเหตุอัศจรรย์
- พระสงฆ์ทั้งนั้นเป็นพระอรหันต์ขีณาสพ
- พระอรหันต์นี้ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระพุทธเจ้าพระราช ทานบวชทุกองค์
- พระสงฆ์ทั้งหมดที่มาประชุมล้วนเป็นพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญา
- วันนั้นเป็นวันเพ็ญมาฆปุรณมีดิถี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 พระจันทร์เต็มดวงที่สุด
- สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ หัวใจพระพุทธศาสนา ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาต

หลวงปู่นิ่ม ท่านกล่าวถึงความหมายของวันสำคัญนี้ ถือว่าเป็น วันจินดามณีฤกษ์  คือ ฤกษ์ที่รวมอัศจรรย์แห่งพระพุทธศาสนาไว้พร้อมกัน เหมาะแก่การทำเททองหล่อวัตถุมงคลที่เกี่ยวกับการเวทมนตร์คาถาจินดามณีอย่างดียิ่ง โดยกำหนดการมีดังนี้ 

เวลา 09.09 น. หลวงปู่นิ่ม เป็นประธานในการทำพิธีบวงสรวง เทพยดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ 
เวลา 09.19 น. ประกอบพิธีหลอมชนวนมวลสารศักดิ์สิทธิ์ทั้งหมด 
เวลา 09.39 น. หลวงปู่นิ่มเป็นประธานจุดธูปเทียน บูชาพระรัตนตรัย และทำพิธีเททอง หล่อรูปเหมือนเบ้าทุบรุ่นแรก และรูปหล่อ 5 นิ้ว ปูหนีบทรัพย์รุ่นแรก

จากนั้น "พระครูศรีรัตนาภิวัฒน์" เจ้าอาวาสวัดพระลอย รองเจ้าคณะอำเภอเมืองสุพรรณบุรี ประธานพร้อมพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์ 9 รูป เจริญพระพุทธมนต์ 

เวลา 09.59 น. ถวายจตุปัจจัยไทยธรรม พระสงฆ์ทั้งนั้นอนุโมทนา กรวดน้ำรับพร ประพรมน้ำพระพุทธมนต์แด่พุทธศาสนิกชนที่ร่วมพิธี 

วัดพุทธมงคล (วัดหนองปรือ) จึงขอเชิญศิษยานุศิษย์ร่วมงานในวันดังกล่าวโดยพร้อมเพรียงกัน

*************************

ข่าวโดย : ข่าวสดออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วันจันทร์ที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

วันมาฆบูชา


"วันมาฆบูชา" ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางศานาพุทธ เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 กว่าปีก่อน คือ เป็นวันที่มีการประชุมสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพุทธศาสนา ที่เรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาต" ซึ่งแปลว่า วันที่มีการประชุมที่ประกอบด้วยองค์ 4 ประการ คือ

1. พระภิกษุสงฆ์จำนวน 1250 รูป มาประชุมกันโดยมิได้นัดหมาย
2. พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์ทั้งสิ้น
3. พระภิกษุสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้บวชให้เองทั้งสิ้น
4. วันประชุมนั้นเป็นวันเพ็ญเดือนมาฆะ (เดือน 3)

"มาฆะ" เป็นชื่อของเดือน 3 "มาฆบูชา" นั้น ย่อมาจากคำว่า "มาฆบุรณมี" แปลว่า การบูชาพระในวันเพ็ญ เดือน 3 วันมาฆบูชาจึงตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 แต่ถ้าปีใดมีเดือน อธิกมาส คือมีเดือน 8 สองครั้ง วันมาฆบูชาก็จะเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 

และ วันมาฆบูชา  ก็ยังเป็นวันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดง โอวาทปฎิโมกข์ แก่พระสงฆ์สาวกเป็นครั้งแรก ณ เวฬุวันวิหาร กรุงราชคฤห์ ซึ่งกล่าวถึงหลักคำสอนอันเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา ได้แก่ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง การบำเพ็ญความดีให้ถึงพร้อม และการทำจิตของตนให้ผ่องใส โดยถือเป็นหลักปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล เพื่อจะยังพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองต่อไป

แต่เดิมนั้น ในประเทศพุทธเถรวาท จะไม่มีการประกอบพิธีมาฆบูชา จวบจนในสมัยของ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรมีการประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้น โดยการประกอบพระราชพิธีคงคล้ายกับวันวิสาขบูชา คือมีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ มีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาใน วัดพระศรีรัตนศาสดาราม และ พระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น 

โดยในช่วงแรกพิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน และยังไม่แพร่หลายทั่วไป จนต่อมาความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักร

ในปัจจุบัน วันมาฆบูชา ได้รับการประกาศให้เป็นวันหยุดราชการในประเทศไทย โดยพุทธศาสนิกชน ทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่าง ๆ เช่นการตักบาตร การฟังพระธรรมเทศนา การเวียนเทียน ฯลฯ เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึง พระรัตนตรัย และ เหตุการณ์สำคัญดังกล่าว

*************************

เรียบเรียงโดย : ทีมงานมงคลพระ


วธ.จัดสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา "เทศกาลมาฆบูชา" ทั่วไทย

กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ กรมการศาสนา คณะสงฆ์ องค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา สถานศึกษา จัดงาน สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ขึ้นพร้อมกันทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 21-25 ก.พ. 56

เมื่อวันที่ 18 ก.พ. 56 นายสนธยา คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม (วธ.) กล่าวว่า กรมการศาสนา ร่วมกับคณะสงฆ์ องค์กรเครือข่ายทางพระพุทธศาสนา สถานศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน กำหนดจัดงาน สัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ขึ้น ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ระหว่างวันที่ 21–25 กุมภาพันธ์ 2556 เพื่อให้พุทธศาสนิกชนไทยทั่วประเทศ ได้ร่วมทำกิจกรรมทางพระพุทธศาสนา ทั้งการศึกษาหลักธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจ และเป็นผู้มีคุณธรรมจริยธรรม สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขถวายเป็นพุทธบูชา และถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งวันมาฆบูชา เป็นวันสำคัญยิ่งทางพระพุทธศาสนา ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่บรรดาพระอรหันต์จำนวน 1,250 รูป ในครั้งพุทธกาลตรงกับคืนวันเพ็ญเดือน 3 หรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 ซึ่งในปีนี้ วันมาฆบูชา ตรงกับวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2556




นายสนธยา กล่าวอีกว่า การจัดงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ในปีที่ผ่านมา มีพุทธศาสนิกชนที่เข้าร่วมกิจกรรมทั่วประเทศทั้งหมด จำนวน 859,344 คน และสำหรับการจัดงานในปีนี้มีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย สำหรับพุทธศาสนิกชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ซึ่งในส่วนกลางจัดงาน ณ มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ได้แก่ กิจกรรมฐานการเรียนรู้ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ทั้งการสวดมนต์หมู่สรรเสริญพระรัตนตรัยทำนองสรภัญญะ ละครธรรมะ การตอบปัญหาธรรมะ ร้องเพลงส่งเสริมศีลธรรม การบรรยายธรรมศาสนพิธี มารยาทไทย และการสาธิตสวดโอ้เอ้วิหารราย อีกทั้งยังมีนิทรรศการวันมาฆบูชา ประกอบด้วยนิทรรศการแสดงพระบรมสารีริกธาตุ และพระธาตุของพระอริยสงฆ์นมัสการ พระธาตุประจำปีเกิดจำลอง นมัสการพระพุทธรูปประจำวันเกิด และนิทรรศการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์

สำหรับส่วนภูมิภาค จัด ณ วัด หรือศาสนสถานตามที่จังหวัดกำหนด โดยจัดกิจกรรมเช่นเดียวกับส่วนกลางหรือกิจกรรมอื่นๆ ตามประเพณีท้องถิ่นของแต่ละจังหวัด สอบถามรายละเอียดได้ที่ กรมการศาสนา โทร. 02-422-8811 หรือ www.dra.go.th และ สายด่วนวัฒนธรรม 1765

วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เจ้าคุณนรฯ อรหันต์กลางกรุง แห่งวัดเทพศิรินทร์


เจ้าคุณนรรัตน์ ราชมานิต หรือ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ (มหาเสวกตรี พระยานรรัตนราชมานิต) นามเดิม ตรึก จินตยานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2440 ที่กรุงเทพมหานคร วัยถึงขั้นสมควร เล่าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร หรือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนี้จนสอบได้ชั้นสูงสุด อุปสมบท ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2468 โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์

ช่วงที่ท่านได้จบการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ได้รับประกาศนียบัตรวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ในสมัยนั้นแล้ว ท่านได้เข้าร่วมซ้อมรบในฐานะเสือป่า โดยรับหน้าที่เป็นคนส่งข่าว ซึ่งในการซ้อมรบนี้เองได้เปลี่ยนวิถีชีวิต จากความตั้งใจที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองของรัฐ มาเป็นข้าราชสำนัก ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังรับราชการเป็นมหาดเล็กห้องบรรทม กระทั่ง ได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็น พระยานรรัตนราชมานิต ซึ่งแปลว่า "คนดีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่องนับถือ" ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ท่านได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิด

ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ สุจริต และกตัญญูกตเวที อย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน ดังที่ท่านเคยกล่าวถึงความภักดีต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "ต้องตายแทนกันได้" ความกตัญญูกตเวทีที่ท่านได้แสดงนี้ ได้ประจักษ์ชัดเมื่อท่านได้ บวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล ในวันถวายพระเพลิง พระบรมศพล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จวบจนกระทั่งท่านมรณภาพ 

ท่านดำรงเพศสมณะด้วยความเคร่งครัดต่อศีล เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ปราศจากมลทินด่างพร้อยทั้งกาย ใจ เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีปฏิปทาที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว เป็นที่ยอมรับ และได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนว่า ท่านเป็น "พระแท้ที่หาได้ยากยิ่ง" เป็นตัวอย่างของสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อ พระธรรมวินัย มีความกตัญญูเป็นเลิศ ยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้

ท่านธมฺมวิตกฺโก ไม่ได้สอนให้พุทธศาสนิกชนเชื่อถืออิทธิปาฏิหาริย์ แต่บุคคลส่วนมากก็เชื่อว่าท่านมีอิทธิปาฏิหาริย์มิใช่น้อย เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของชาวพุทธทั้งหลาย พระองค์ไม่ทรงส่งเสริมให้สาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงปฏิเสธว่าการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ตามโอกาสอันจำเป็นเป็นสิ่งไม่สมควรเสียเลยผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว จะเห็นได้ว่า พระศาสนานี้เผยแพร่อย่างกว้างขวางและยืนยงคงอยู่มาได้ ก็เพราะอิทธิปาฏิหาริย์ที่พระบรมศาสดาและสาวกของพระองค์แสดงตามโอกาส มีส่วนช่วยน้อมโน้มจิตใจของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาให้มาเลื่อมใส

เพราะฉะนั้นท่าน เจ้าคุณนรฯ จึงได้ไม่ฝ่าฝืนพระพุทธบัญญัติในการที่ท่านสวดอธิษฐานจิตให้พระเครื่องมีคุณค่าสูงยิ่งขึ้น เป็นการช่วยประชาชนให้ปลอดภัย บำรุงชาติให้พัฒนา และเผยแพร่พระศาสนา ตัวอย่างเช่น ประชาชนมีกำลังใจเข้มแข็ง ต่อสู้ภยันตรายในการดำเนินชีวิต และในการผจญอริราชศัตรู โรงเรียนขนาดใหญ่ได้อุบัติขึ้นมาช่วยเยาวชนเป็นอันมาก ให้พรั่งพร้อมไปด้วยวิชาภรณ์ อุโบสถสูงเด่นเป็นสง่า สัมฤทธิ์ขึ้นมาช่วยให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมโดยสะดวก และถาวรวัตถุอื่น ๆ อันอำนวยประโยชน์แก่สาธารณชน ก็กำลังสำเร็จเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะบารมีและฤทธานุภาพแห่งท่านธมฺมวิตกฺโก แม้ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องพระมหาเถระที่ชื่อว่า พระโมคคัลลาน์ ว่าเป็น ผู้เลิศกว่าพระสงฆ์รูปอื่นในทางแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เพราะท่านสามารถน้อมนำบุคคลในศาสนาอื่นจำนวนมากเข้ามาเป็นพุทธศาสนิกชน จนถึงขนาดเจ้าลัทธิอื่น ๆ เคียดแค้น ชิงชัง ริษยา ได้ว่าจ้างให้โจรไปดักปลงชีวิตท่านเสีย

เรื่องปาฏิหาริย์ ไม่ว่าจะเป็นการดักใจเป็นอัศจรรย์ การสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ หรือการแสดงฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ ล้วนได้รับการรับรองว่ามีจริง แต่ การสั่งสอน (คำสั่งสอน) เป็นอัศจรรย์ ถือว่าเป็น ปาฏิหาริย์ที่ดีที่สุด พระพุทธศาสนานี้ ถึงจะไม่มีเรื่องปาฏิหาริย์เลย ก็สามารถเผยแพร่และมั่นคงอยู่ได้ เพราะเรื่องปาฏิหาริย์เป็นเพียงเปลือกนอกหรือกระพี้ของพระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีเหตุผลที่ผู้รู้อาจตรองตามให้เห็นจริงได้ เป็นนิยยานิกธรรม นำผู้ปฏิบัติให้พ้นทุกข์ เป็นสุขได้ ผู้ฉลาดเมื่อปรารถนาแก่นไม้ ย่อมไม่เข้าใจผิดคิดว่าเปลือกนอกและกะพี้เป็นแก่น ย่อมผ่ากะเทาะเปลือกและกะพี้ออกจนถึงแก่น

ฉันใดฉันนั้น ผู้ปรารถนาพุทธธรรมแท้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีพระปฏิมาคือรูปเปรียบของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ควรติดอยู่แค่ความศักดิ์สิทธิ์ ต้องขวนขวายปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความดีตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน จึงจะพบสัจธรรมแท้ หรือเมื่อมีรูปเปรียบพระสงฆ์ ก็ให้นึกถึงคุณของพระสงฆ์ ปฏิบัติตามแนวทางของท่าน เว้นทุจริตทั้งหลาย จึงจะชื่อว่า มีพระเป็นที่พึ่งคุ้มครองป้องกันภัย แม้พวกเราจะเลื่อมใสในปาฏิหาริย์ของท่านธมฺมวิตกฺโก เราก็ไม่ควรปลื้มจนลืมจริยธรรมของท่าน และถึงแม้ว่าท่านจะไม่มีปาฏิหาริย์ ปรากฏเป็นอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ แต่ท่านก็คงเป็นอภิปูชนีย์ที่ควรเคารพนับถืออย่างแท้จริงสำหรับเราทั้งปวงอยู่นั่นเอง เพราะปฏิปทาของท่านย่อมสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด


*************************

เรียบเรียงโดย : ทีมงานมงคลพระ









วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระพุทธชินราช วัดใหญ่ ศูนย์รวมใจ แห่งเมืองสองแคว


พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท จัดเป็นพระพุทธรูปที่มี พุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย และได้รับการขนานนามว่าเป็นพระพุทธรูปที่ งดงามที่สุดในโลก องค์หนึ่ง ถึงขั้นที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้ชลอมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แต่ทรงรับฟังคำทูลขอร้องของชาวพิษณุโลก ที่ว่าพระพุทธชินราชองค์นี้ เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง จึงทรงตัดสินพระทัยหล่อ พระพุทธชินราช (จำลอง) ขึ้นมาแทน

โดยตามประวัติแล้วไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในปีใด แต่มีการสันนิษฐานโดยอ้างอิงตามพงศาวดารเหนือ คาดว่าน่าจะสร้างพร้อมกับ พระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา ในรัชสมัย พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) จากนั้นจึงมีการลงรักปิดทององค์พระเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะ ลงรักปิดทองอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีการบูรณะครั้งล่าสุดในรัชกาลที่ 9 

พระพุทธชินราชนี้เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย ลักษณะขององค์พระเส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขโนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน อยู่ในลักษณะ ปางมารวิชัย ด้านซ้ายและขวาขององค์พระมียักษ์ 2 ตน คอยปกปักรักษาองค์พระอยู่ อีกทั้งยังมีพระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกอยู่ด้วย นอกจากนี้แล้วยังมีซุ้มเรือนแก้วที่คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาลักษณะเป็นรูปตัวเหรา ถือเป็นศิลปะที่สวยงามมากอย่าหนึ่ง พระพุทธชินราชประดิษฐานในวิหารลักษณะเก้าห้อง ซึ่งมีการบูรณปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน ทำให้องค์พระสวยงามบริบูรณ์อย่างในปัจจุบัน และในประวัติศาสตร์ยังพบว่ากษัตริย์ในทุกๆสมัยของไทยให้ความเคารพและศรัทธาต่อองค์พระพุทธชินราชมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ พระองค์


พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล จึงมีตำนาน พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2409 โดยอาศัยหลักฐานจากพงศาวดารเหนือ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดียุติได้ ดังนี้ คือ

พระพุทธชินราช สร้างโดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) กษัตริย์ลำดับที่ 5 แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งในตำนานพระพุทธชินราชฯ เรียกพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โดยสร้างพระพุทธรูปพร้อมกัน 3 องค์ เพื่อประดิษฐานในพระวิหารทิศ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมื่อพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. 1900 ในตำนานพระพุทธชินราชฯ มีชื่อช่างหล่อพระพุทธชินราชเป็นช่างพราหมณ์ฝีมือดี 5 นาย คือ บาอินท์ 1 บาพรหม 1 บาพิษณุ 1 บาราชสังข์ 1 บาราชกุศล 1

ตำนานกล่าวไว้ว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก หรือ พระมหาธรรมราชา (พญาลิไท) กษัตริย์องค์ที่ 4 ในพระราชวงศ์พระร่วง สมัยกรุงสุโขทัย เป็นผู้สร้างพระพุทธชินราช เมื่อราว พ.ศ. 1900 ทรงโปรดให้ช่างสวรรคโลก ช่างเชียงแสน และช่างหริภุญไชย สมทบกับช่างกรุงศรีสัชนาลัย ช่วยกันหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 3 องค์ ได้แก่ พระศรีศาสดา พระพุทธชินราช และ พระพุทธชินสีห์ จวบจนถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะจุลศักราช 717 ราว พ.ศ. 1898 ได้มงคลฤกษ์ กระทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ เมื่อเททองหล่อเสร็จแล้ว และทำการแกะพิมพ์ออกปรากฏว่า พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา องค์พระสมบูรณ์สวยงามดี ส่วนพระพุทธชินราชนั้นได้หล่อถึง 3 ครั้งก็ไม่เสร็จเป็นองค์พระได้ 

กล่าวคือทองแล่นไม่ติดเต็มองค์ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก จึงทรงตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง ครั้งนั้นจึงร้อนถึงอาสน์พระอินทร์เจ้าจึงนฤมิตเป็นตาปะขาวลงมาช่วยทำรูปพระ คุมพิมพ์ปั้นเบ้า ด้วยอานุภาพพระอินทราธิราชเจ้าทองก็แล่นรอบคอบบริบูรณ์ทุกประการหาที่ติมิได้ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏกทรงปิติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสให้หา "ตาปะขาว" ผู้นั้น แต่ตาปะขาวได้หายตัวไปแล้ว หมู่บ้าน และวัดที่ตาปะขาวหายไปนั้นได้ชื่อว่า บ้านตาปะขาวหาย และ วัดตาปะขาวหาย ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ และจากวัดตาปะขาวหายขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 800 เมตร ได้ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการหายตัวไปของตาปะขาว เล่ากันว่ามีผู้พบเห็นว่าท้องฟ้าเปิดเป็นช่องขึ้นไป ชาวบ้านเห็นเป็นที่อัศจรรย์จึงได้สร้างศาลาขึ้นไว้ ณ พื้นดินเบื่องล่างไว้เป็นที่ระลึก เรียกว่า "ศาลาช่อฟ้า" ตราบจนทุกวันนี้

************************

เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


วัดหนองพงนก หล่อ "สมเด็จองค์ปฐม"


“สมเด็จองค์ปฐม”
ก็คือพระพุทธเจ้าองค์แรกหรือองค์ที่หนึ่ง ทรงพระนามว่า “สมเด็จพระพุทธสิกขี” แต่พระพุทธเจ้าที่ตรัสรู้ผ่านไปแล้วอาจจะมีชื่อซ้ำกันได้ โดยเฉพาะชื่อนี้มีด้วยกันถึง 5 พระองค์ จึงเรียกขานกันว่าเป็น พระพุทธสิกขีที่ 1 พระองค์จึงเป็นต้นพระวงศ์ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ จึงสมควรยกย่องพระพุทธองค์ว่า ทรงเป็น “สมเด็จองค์ปฐมบรมครู” อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ พระราชพรหมยานเถระ (มหาวีระ ถาวโร) หรือที่รู้จักกันในนาม "หลวงพ่อฤาษีลิงดำ" อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าซุง (วัดจันทาราม) อ.เมือง จ.อุทัยธานี กล่าวถึง "สมเด็จองค์ปฐม" มีชื่อว่า พระพุทธสิกขี แต่ในคัมภีร์ปฐมมูล ที่พระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันทรงตรัสแสดงแก่ "พระอัญญาโกณฑัญญะ" พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า พระพุทธเจ้าองค์แรก ในพระพุทธศาสนา ที่ตรัสรู้ก่อนพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ ทรงพระนามว่า "พระติกขะคัมมะสัมมาสัมพุทธเจ้า"

ส่วนอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูปนั้น หลวงพ่อฤาษีลิงดำ เคยกล่าวไวว่า การสร้างพระพุทธรูปจัดว่าเป็น พุทธบูชา ถ้าในกรรมฐานจัดว่าเป็นพุทธานุสสติกรรมฐาน (การระลึกถึงคุณของพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์) ถ้าตายจากคนไปเกิดเป็นเทวดา มีรัศมีกายสว่างไสวมาก การสร้างพระถวายด้วยอำนาจพุทธบูชาทำให้มีรัศมีกายมากเป็นคนสวย ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "พุทธะปูชา มะหาเตชะวันโต" แปลว่า "การบูชาพระพุทธเจ้ามีเดชอำนาจมาก"

จากคติความเชื่อเรื่องอานิสงส์การสร้างพระพุทธรูป ทำให้พุทธศาสนิกชนที่จำนวนมากสร้างพระพุทธรูปด้วยวสดุต่างๆ จำนวน ตามกำลังศรัทธา กำลังทรัพย์ของตน อย่างกรณีของ พระอธิการเอกลักษณ์ หรือ พระอาจารย์เวียน เจ้าอาวาสวัดเจริญราษฎร์บำรุง หรือ วัดหนองพงนก ต.สระพัฒนา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม นอกจากท่านได้จัดสร้างพระสมเด็จองค์ปฐมปางมหาจักรพรรดิ (พระพุทธรูปทรงเครื่องจักรพรรดิ จำลองมาจากวัดหน้าพระเมรุ จ.พระนครศรีอยุธยา ขนาดหน้าตักกว้าง 5 เมตร 9 นิ้ว เนื้อทองเหลืองหนัก 16 ตันแล้ว ขณะนี้ท่านมีโครงการจัดสร้างพระสมเด็จองค์ปฐมปางมหาจักรพรรดิ ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดหน้าตัก กว้าง 6.5 เมตร จำนวน 108 องค์ เพื่อถวายวัดต่างๆ

อย่างไรก็ตามในงานปิดทองหลวงพ่อมงคนิมิต ประจำปี 2556 ระหว่างวันที่ 23-25 กุมภาพันธ์นี้ วัดได้จัดให้มีงานบุญใหญ่ 2 อย่าง คือ วันที่ 23 เวลา 11.00 น. วัดได้นิมต์พระ 1000 รูป มาฉันเพล ส่วนวันที่ 25 ตรงกับวันมาฆบูชา วัดจัดให้มีพิธีหล่อ พระสมเด็จองค์ปฐมปางมหาจักรพรรดิ ด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก ขนาดหน้าตัก กว้าง 6.5 เมตร พิธีเริ่มตั้งแต่เวลา 9.00 น. และจะเสร็จสิ้นในเวลา 16.00 น. ซึ่งเป็นพระที่หล่อเสร็จในวันเดียว ทั้งนี้จะเรียกพระองค์ดังกล่าวว่า "พระสมเด็จองค์ปฐมปางมหาจักรพรรดิ ทันใจ" โดยวัดมีโครงการหล่อพระทั้งหมด 8 องค์

ในการหล่อพระทั้ง 8 องค์นั้น พระอาจารย์เวียน บอกว่า เพื่อต้องการฝึกฝนช่างของวัดให้มีความชำนาญก่อนที่จะออกไปหล่อเพื่อประดิษฐตามวัดต่างๆ ที่ขอมา ทั้งนี้ วัดได้ลงทุนสร้างแบบพระเป็นไฟเบอร์ไปกว่า 2 ล้านบาท เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการสร้างพระซึ่งปกติแล้ว พระขนาดหน้าตัก กว้าง 6.5 เมตร หล่อด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก จะมีค่าใช้จ่ายกว่า 2 ล้านบาท เมื่อมีแบบทำให้ค่าสร้างพระไม่เกินองค์ละ 5 แสนบาท เมื่อรวมกับแท่นประดิษฐานขนาด 8x10 เมตร ประมาณ 3-4 แสนบาท ต้นทุนการสร้างพระจะอยู่ที่องค์ละไม่ถึง 1 ล้านบาท โดยขณะนี้มีวัดต่างๆ ติดต่อเข้ามาเพื่อขอนำแบบไปใช้กว่า 30 วัดแล้ว และวัดมีเป้าหมายว่าจะสร้างให้ได้เดือนละ 1 องค์

วัด หรือผู้มีจิตศรัทธาท่านใดมีความประสงค์จัดสร้างพระสมเด็จองค์ปฐมปางมหาจักรพรรดิ ขนาดหน้าตัก กว้าง 6.5 เมตร ไว้ในโบสถ์ วิหาร เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา รวมทั้งร่วมเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารเพล และพิธีหล่อพระ สอบถามที่วัดหนองพงนก ต.สระพัฒนา อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 

*************************

ข่าวโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



เภสัชคุรุ "ครูบาเจ้าผาผ่า" แห่งเมืองยวม

จากเมืองยวม สู่ลุ่มน้ำสาละวิน เขตพม่า ในบรรดาพระอาจารย์ผู้เรืองเวทย์ เปี่ยมไปด้วยเมตตาบารมี มีศีลาจารวัตรยึดมั่นในสัมมาปฏิบัติ ถือมังสวิรัติ เคร่งครัดในพระกัมมัฏฐาน มีสมาธิแก่กล้า มีเจโตปริญาณ สามารถหยั่งรู้จิตใจของคนอื่น และเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ ในถิ่นแคว้นล้านนาไทย หรือภาคเหนือก่อนโน้น เห็นมี ครูบาเจ้าผาผ่า หรือ พระครูปัญญาวรวัตร สำนักวัดผาผ่า อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ผู้ที่ ครูบาเจ้าศรีวิชัย ได้ยกย่องประกาศเกียรติคุณ ทั้งนี้ จากการกล่าวขานของชาวพุทธ ทั้งชาวเรา ชาวเขา จำนวนไม่น้อยในแม่สะเรียง

สมัยเมื่อ 20 ปีก่อนโน้น การคมนาคมจาก อ.แม่สะเรียง ไปยังหมู่บ้านผาผ่า แสนทุรกันดาร ไม่มีทางรถยนต์ไปถึงเหมือนปัจจุบันนี้ จะต้องเดินทางไปด้วยเท้าเปล่าประมาณ 15 กิโลเมตร แต่ประชาชนทั้งใกล้และไกล ทั้งชาวเรา ชาวเขา ต่างก็มีอุตสาหะ ศรัทธา เดินทางไปทำบุญ ขอศีลขอพรจากท่าน ครูบาเจ้าผาผ่า โดยมิได้ขาด มีบางคนบางพวกไปขอยารักษาโรค ขอน้ำมนต์ ขอวัตถุอันเป็นมงคล เพื่อความสุขความสวัสดี แก่ตนและครอบครัว

ในบางครั้งจะอาราธนานิมนต์ ท่านครูบาไปเทศน์โปรด ด้วยการนำดอกไม้ธูปเทียนไปอาราธนานิมนต์ แล้วนำเอาช้างไปรับ หรือไม่ก็ทำคานหาม มีฆ้องกลอง แห่แหนกันไปเป็นขบวน โดยผู้ที่ทำการหามจะไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเลย เพราะบุญญาธิการ ปาฏิหาริย์ การทำตัวให้เบาของท่านครูบาผู้ศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์ ร่ำลือกันมาตราบเท่าทุกวันนี้

ในขณะที่ท่านครูบายังมีชีวิตอยู่ ไม่เคยมีการสร้างพระผง หรือเหรียญของท่านเลย นอกจากผ้ายันต์ ที่มีคนขอ ท่านก็ทำให้เป็นรายบุคคลไป หลังจากที่ท่านถึงแก่มรณภาพแล้ว (เมื่อปี 2505) จึงมีคณะศิษย์ได้จัดสร้างรูปเหมือน พระผง และเหรียญของท่านออกเผยแพร่ เพื่อเป็นอนุสรณ์ น้อมรำลึกถึงคุณความดี และประกาศเกียรติคุณของท่าน ดังนี้
ครั้งที่ 1 พ.ศ.2507 คณะศิษย์และกรรมการวัดผาผ่า ได้รวบรวมเอาอัฐิ ขี้เถ้าของท่าน มาผสมกับว่าน เกสรดอกไม้นานาชนิด ผงคัมภีร์ใบลาน สร้างเป็นพระผง รุ่นแรก จำนวน 9000 องค์

ครั้งที่ 2 พ.ศ.2513 วัดกิตติวงศ์ สร้างพระผงครูบา รุ่น 2 เพื่อแจกจ่ายในงานเทศกาลต่างๆ จำนวน 2513 องค์

ครั้งที่ 3 พ.ศ.2517 สร้างรูปเหมือนปั้นด้วยปูน และเหรียญ โดยมีนายทุนจัดทำ ในนามของวัดกิตติวงศ์ นับเป็นเหรียญรุ่นแรก

ปัจจุบัน พระผงรุ่นแรกของท่านได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ราคาเช่าหลายพันบาท สวยๆ ถึงหลักหมื่น ส่วนเหรียญรุ่นแรก เนื้อทองแดง ราคา 4000 บาท เนื้อพิเศษหลายหมื่นบาท ขณะเดียวกันก็มีของปลอมออกมาแล้วด้วย

ในขณะนี้ นายก อบจ. แม่ฮ่องสอน อัครเดช วันไชยธนวงศ์ ได้สร้างเหรียญและล็อกเกต “เภสัชคุรุครูบาเจ้าผาผ่า” เพื่อนำรายได้จัดตั้ง “กองผ้าป่าบารมีครูบาเจ้าผาผ่า” และถวายวัดต่างๆ เพื่อสาธารณประโยชน์ 

โดยจะประกอบพิธีพุทธาภิเษกในวันเสาร์ที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ นี้ ณ วัดผาผ่า อ.สบเมย จ.แม่ฮ่องสอน ผู้สนใจสอบถามได้ที่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน หรือดูรายละเอียดได้ใน www.pralanna.com

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

หลวงพ่อเต๋ ผู้เปี่ยมเมตตา แห่ง วัดสามง่าม


หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม ท่านเกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 9 ค่ำ เดือน 7 ปีเถาะ ตรงกับวันที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2434 ณ บ้านสามง่าม หมู่ที่ 4 โยมบิดาชื่อ จันทร์ โยมมารดาชื่อ บู่ นามสกุล สามงามน้อย ท่านมีพี่น้องร่วมบิดามารดารวม 7 คน เป็นชาย 3 คน เป็นหญิง 4 คน ท่านเป็นบุตรคนที่ 5

เมื่ออายุได้ 7 ปี ลุงของท่านซึ่งบวชอยู่ที่วัดกาหลง จังหวัดสมุทรสาคร มีชื่อว่า หลวงลุงแดง เป็นพระอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในขณะนั้นรูปหนึ่ง ได้ไปเยี่ยมญาติที่บ้านสามง่าม ได้พบหลานชายจึงได้ชวนให้ไปอยู่ด้วยกันที่วัดกาหลงเพื่อจะได้ศึกษาเล่าเรียนหนังสือ ธรรมะ และเวทมนต์คาถา เป็นเวลา 3 ปี จนสามารถเขียนอ่านได้เป็นอย่างดี จึงได้กลับมาบ้านเกิด

หลวงลุงแดงของหลวงพ่อเต๋ ท่านเป็นผู้สนใจในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง ท่านเห็นว่าบ้านสามง่าม ควรจะมีวัดวาอารามสำหรับให้พระภิกษุและชาวบ้านประกอบกิจทางพระพุทธศาสนา จึงได้ชักชวนหลานชายไปสร้างวัดขึ้นที่บ้านดอนตูม ห่างจากบ้านสามง่ามประมาณ 3 กิโลเมตร

เมื่อหลวงพ่อเต๋ มีอายุได้ 15 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ศึกษาพระธรรมวินัยอยู่กับหลวงลุงแดง ร่วมจัดสร้างวัดใหม่ไปพร้อมกัน รวมทั้งได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมเพิ่มเติมจากหลวงลุงแดง ประวัติหลวงลุงแดงท่านเป็นพระเถระที่มีชื่อเสียงโด่งดังและมีความเชี่ยวชาญพุทธาคมทั้งทางด้านเมตตามหานิยม และอยู่ยงคงกระพันชาตรี มีลูกศิษย์ลูกหาเคารพนับถือมากมาย อีกทั้งหลวงพ่อเต๋ มีศักดิ์เป็นหลานของท่าน จึงได้รับถ่ายทอดวิชามาอย่างครบถ้วนโดยไม่มีการปิดบังอำพราง

พ.ศ. 2454 ท่านมีอายุได้ 21 ปี จึงได้ทำการบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุ โดยมี พระครูอุตตรการบดี (หลวงพ่อทา) วัดพะเนียงแตก เป็นพระอุปัชฌาย์ พระสมุห์เทศ วัดทุ่งผักกูด เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอธิการจอม วัดลำเหย เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาทางธรรมว่า คงทอง (ภายหลังเปลี่ยนเป็น คงสุวัณโณ แต่ชาวบ้านยังคงเรียกติดปากว่า คงทอง

พระอุปัชฌาย์ของหลวงพ่อเต๋ คือ หลวงพ่อทา วัดพะเนียงแตก เป็นพระเถระผู้ทรงเกียรติคุณชื่อเสียงโด่งดังมากในฐานะพระเกจิอาจารย์ที่มีพุทธาคมเข้มขลังในขณะนั้น หลวงพ่อเต๋ได้ศึกษาเล่าเรียนทั้งทางธรรม สมถกัมมัฏฐาน ตลอดจนรับการสืบทอดด้านพุทธาคมต่าง ๆ

ต่อมาไม่นาน หลวงลุงแดง มรณภาพลงที่วัดกาหลง สมุทรสาคร ก่อนมรณภาพท่านได้ฝากวัดสามง่ามให้หลวงพ่อเต๋ดูแล

หลวงพ่อเต๋ เริ่มออกธุดงค์ระหว่าง พ.ศ. 2455 – 2472 เป็นเวลา 17 ปี รวมทั้งศึกษาวิชาอาคมเพิ่มเติม นอกจากที่ได้ศึกษาจาก หลวงลุงแดง และ หลวงพ่อทา หลังจากหลวงพ่อทา มรณภาพแล้ว ท่านได้เดินทางไปขอศึกษาวิชาเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง จากนั้นออกธุดงค์ไปในที่ต่าง ๆ และได้ศึกษาวิชาเพิ่มเติมกับพระอาจารย์อื่นทั้งพระสงฆ์และฆราวาส อาทิ หลวงพ่อกอน วัดบ่อตะกั่ว นอกจากนี้ท่านยังเดินทางไปเรียนกับพระอาจารย์ทางจังหวัดพิจิตร ยังมีอีกหลายรูปในขณะที่เดินธุดงค์ รวมทั้งอาจารย์ฆราวาส ท่านเป็นชาวเขมร เคยเป็นอดีตแม่ทัพเขมร หลวงพ่อเต๋ได้พบอาจารย์ท่านนี้ที่เขาตะลุง จังหวัดกาญจนบุรี เป็นอาจารย์ที่หลวงพ่อเต๋ เคารพนับถือมาก ในสมัยที่ท่านมีชีวิตอยู่ท่านจะทำการไหว้ครูเขมรมิได้ขาด

ภายหลังท่านกลับมาพำนักที่วัดสามง่ามได้ 3 ปี ท่านทำการสร้างวัดสามง่ามต่อจากหลวงลุงแดงที่ฝากฝังไว้ให้ท่านสร้างต่อก่อนจะมรณภาพ สมัยก่อน อุปกรณ์การก่อสร้างต่าง ๆ หาได้ยากมาก เรื่องไม้ที่จะนำมาสร้างวัดต้องเข้าไปเอาในป่าลึก กว่าจะได้ไม้มาแต่ละเที่ยวยากลำบาก การออกไปตัดไม้แต่ละเที่ยว ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 - 3 เดือน และการนอนป่าหลวงพ่อเต๋ ก็มักจะใช้การตัดไม้ใหญ่เป็นที่พำนักอาศัย การเดินทางไปตามถิ่นต่าง ๆ ก็เพื่อประโยชน์แก่พระพุทธศาสนา ท่านจึงไม่กลัวต่อภยันตรายทั้งเสือ ช้าง อันเป็นสัตว์ป่าที่ดุร้าย ตลอดจนสิ่งแวดล้อมภายในป่าที่เต็มไปด้วยโรคภัยไข้เจ็บ ตลอดเวลา 15 ปี ในการตัดไม้มาก่อสร้างปฏิสังขรณ์วัดของท่าน บางครั้งถึงกับอดน้ำ นับว่าเป็นความอุตสาหะมานะอันแรงกล้าอย่างประเสริฐสุดหาที่เปรียบมิได้

ในการพัฒนา หลวงพ่อเต๋ เป็นนักพัฒนาหาตัวจับยาก สร้างสถานีอนามัย บ้านพักนายแพทย์และพยาบาล โรงเรียนประถมและมัธยม สถานีตำรวจ ถนนหนทาง ขุดบ่อน้ำบาดาล สร้างความเจริญให้แก่ท้องถิ่นเป็นอย่างยิ่ง

หลวงพ่อเต๋ ท่านเป็นผู้เปี่ยมด้วยความเมตตาปรานี ท่านจะให้ความรักความเมตตาแก่ศิษย์ทุกคนโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง นอกจากนี้ท่านยังให้ความเมตตาต่อสัตว์เลี้ยง ได้แก่ วัว ชะนี นก สุนัข แมว ไก่ เป็นต้น ไม่ว่านก สุนัข ไก่ และแมว ก่อนท่านจะฉันภัตตาหาร ท่านจะต้องให้ข้าวสัตว์เหล่านี้เป็นนิจสิน

พ.ศ. 2475 กรรมการสงฆ์จังหวัดโดย พระเทพเจติยาจารย์ วัดเสน่หา เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม ได้พิจารณาแต่งตั้งให้ หลวงพ่อเต๋ เป็นเจ้าอาวาสวัดสามง่าม

พ.ศ. 2476 แต่งตั้งให้ท่านรักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะตำบล มีวัดที่ขึ้นอยู่ในความปกครอง 5 วัด คือ วัดสามง่าม วัดลำลูกบัว วัดแหลมมะเกลือ วัดทุ่งสีหลง และวัดตะโกสูง

การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อเต๋ ท่านสร้างไว้หลายแบบมาตั้งแต่ครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทั้งแบบพระเนื้อดิน เนื้อผง เนื้อว่าน เหรียญรูปเหมือน พระกริ่ง รูปหล่อ เหรียญหล่อ และเครื่องรางของขลัง ตะกรุดหนังเสือ ตะกรุดสามห่วง สีผึ้ง เป็นต้น แต่ละอย่างล้วนมีอภินิหารเป็นที่ประจักษ์และเล่าขานกันมาทุกวันนี้

พระเครื่องของท่านไม่ได้เน้นเรื่องความสวยงาม แต่เน้นเรื่องพุทธคุณ เพราะท่านตั้งใจสร้างให้บูชาติดตัวเพื่อป้องกันภัยต่าง ๆ มีทั้งทางมหาอำนาจ เมตตามหานิยม แคล้วคลาด เนื้อพระส่วนมากเป็นแบบเนื้อดินผสมผงปนว่าน เนื้อดินอาถรรพ์ที่นำมาจัดสร้างวัตถุมงคลได้แก่ ดินโป่ง 7 โป่ง ดิน 7 ป่าช้า ดินขุยปู เป็นต้น ผสมลงไปในพระทุกพิมพ์ ด้านหลังองค์พระจะประทับชื่อ หลวงพ่อเต๋ กดลึกลงไปในเนื้อพระ

วัตถุมงคลที่สร้างชื่อเสียงให้กับท่านมาจนทุกวันนี้คือ ตุ๊กตาทอง หรือที่นิยมเรียกกันว่า กุมารทอง ตำราการสร้างได้จากหลวงลุงแดง ประกอบด้วย ดินโป่ง 7 โป่ง ดิน 7 ป่าช้า ดินขุยปู เป็นต้น มาปั้นตุ๊กตาทอง (กุมารทอง) แจกชาวบ้าน นำไปไว้เป็นเครื่องคุ้มครอง เพราะดินดังกล่าวจะมีเทวดารักษา จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ หลวงพ่อเต๋ปั้นแล้วเอาวางนอนไว้ จึงทำการปลุกเสกให้ลุกขึ้นเองตามตำรา ตุ๊กตาทองนี้นิยมกันมากใครได้ไปบูชามักจะมีเรื่องเล่าสู่กันฟังเป็นที่อัศจรรย์ ทำรายได้มหาศาล สามารถขออะไรสำเร็จทุกอย่างและเป็นที่ศรัทธาอย่างสูงของประชาชน

ในปี พ.ศ. 2505 หลวงพ่อเต๋ ท่านได้จัดสร้างพระเครื่องเนื้อดินพิธีใหญ่อีกครั้ง เพื่อฉลองอายุครบ 5 รอบ เนื้อดินที่ใช้ยังได้นำดินทวารวดี ที่ชำรุดหักและผงว่านผสมลงไปด้วย สังเกตเนื้อองค์พระเมื่อเผาแล้ว เนื้อดินจะนุ่มเมื่อถูกเหงื่อถูกสัมผัส ปรากฏมวลสารและว่านแลดูเก่ามาก พิมพ์ที่จัดสร้าง มีดังนี้

1. พระรูปเหมือนซุ้มเรือนแก้ว
2. พระปรกโพธิ์ใหญ่
3. พระปรกโพธิ์เล็ก
4. พระตรีกาย (พระสาม)
5. พระทุ่งเศรษฐี

พระเครื่องเนื้อดิน 4 พิมพ์แรก ด้านหลังจะมียันต์อักขระนูน เรียกว่า ยันต์สามง่าม เนื่องจากด้านหลังมีรูป ตรี เป็นสัญลักษณ์ของวัดสามง่ามนั่นเอง ส่วนพระทุ่งเศรษฐี ด้านหลังมียันต์และชื่อฉายา คงทอง กดประทับลึกลงไปในเนื้อ

หลวงพ่อเต๋ คงทอง วัดสามง่าม มรณภาพลงโดยอาการสงบ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2524 รวมสิริอายุได้ 80 ปี 6 เดือน 10 วัน พรรษาที่ 59 ปัจจุบันทางวัดยังคงบรรจุสังขารของท่านไว้ให้ลูกศิษย์ลูกหารวมทั้งผู้ที่เคารพศรัทธาได้ไปกราบไหว้บูชาจนทุกวันนี้

*************************

เรียบเรียงโดย : ทีมงานมงคลพระ



บูรณะ "ตึกสงฆ์อาพาธ" ถวายมุทิตา สมเด็จพระพุฒาจารย์


การเกิด แก่ เจ็บ ตาย คือ ความทุกข์ที่มิอาจหลีกเลี่ยงได้ของมนุษย์
และสาธารณสถานสำคัญ ที่ช่วยบรรเทาทุกข์ทางกายของมนุษย์นั้น นั่นก็คือ "โรงพยาบาล"

ปุถุชนธรรมดา ล้วนก่อเกิดกำเนิดมาจากกองทุกข์ โดยมี "สงฆ์" ชี้ทางให้พบสุข เพื่อขจัดบ่วงทุกข์ให้พ้นใจ หากแต่พระสงฆ์ล้วนคือ "มนุษย์" ความจริงแท้ที่มิอาจหลีกพ้นในที่สุด นั่นก็คือความทุกข์ ที่เรียกว่า โรคภัย

การดูแลรักษาโรคภัยไข้เจ็บของปุถุชนคนธรรมดา ที่ว่ายากลำบากนั้น หากเปรียบกันกับข้อบังคับหลักเกณฑ์ในการดูแลรักษาพระภิกษุสงฆ์ นั่นถือว่ายากยิ่งกว่า "อาคารสงฆ์อาพาธ" จึงถือเป็นส่วนสำคัญ ที่จะช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยาก ในการดูแลรักษาพระภิกษุสงฆ์ เพื่อให้การดูแลรักษานั้น ดำเนินไปอย่างถูกต้อง และเป็นไปตามข้อบังคับในพระวินัยมากที่สุด


โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม สถานพยาบาลสำคัญ แห่ง ดินแดนพระพุทธศาสนา 
ได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหา ในการดูแลรักษาอาการอาพาธของพระภิกษุสงฆ์ เป็นอย่างยิ่ง
และด้วยความเมตตาของ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม "ตึกสงฆ์อาพาธ" จึงก่อเกิดกำเนิดขึ้น 
เพื่อให้บริการรักษาพยาบาล และอำนวยความสะดวกให้แก่พระภิกษุสงฆ์ ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา


จวบจนเมื่อปี 2554 ระยะเวลาผ่านมากว่า 40 ปี ตึกสงฆ์อาพาธแห่งนี้ จึงเริ่มมีสภาพที่ทรุดโทรมลง คณะแพทย์และพยาบาล โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม ต่างมีความกังวลถึงสภาพอาคารตึกสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง จึงนำความดังกล่าว เข้าปรึกษา พระเดชพระคุณ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพ่อน้ำฝน) หัวหน้าพระวินยาธิการ เจ้าอาวาสวัดไผ่ล้อม จ.นครปฐม เพื่อหาช่องทางในการแก้ไขปัญหา


หลวงพ่อน้ำฝน พระรุ่นใหม่หัวใจนักพัฒนา จึงได้นำเรื่องเข้าปรึกษา คณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม และได้ข้อสรุปในที่ประชุมว่า ให้ดำเนินการบูรณะปรับปรุง "ตึกสงฆ์อาพาธ" โดยมอบหมายให้ พระครูสุธีเจติยานุกูล และ พระครูปลัดสิทธิวัฒน์ (หลวงพ่อน้ำฝน) เป็นผู้ดูแลโครงการ โดยเริ่มดำเนินการบูรณะตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2554 เป็นต้นมา

ขณะนี้โครงการดำเนินงานบูรณะ "ตึกสงฆ์อาพาธ" ได้สำเร็จเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้รับปัจจัยหลัก จากการทอดผ้าป่าสามัคคี จากศิษยานุศิษย์ และคณะศรัทธา ใช้ปัจจัยทั้งสิ้น จำนวน 12,073,506 บาท (สิบสองล้านเจ็ดหมื่นสามพันห้าร้อยหกบาทถ้วน)


คณะสงฆ์จังหวัดนครปฐม นำโดยพระเดชพระคุณ พระราชรัตนมุนี เจ้าคณะจังหวัดนครปฐม จึงขอเชิญร่วมพิธีบำเพ็ญกุศล เปิดและฉลอง "ตึกสงฆ์อาพาธโรงพยาบาลศูนย์นครปฐม" ภายใต้โครงการบูรณปฏิสังขรณ์ถวายเป็นมุทิตาสักการะเนื่องในมหาสมัยที่ พระเดชพระคุณท่านเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (เกี่ยว อุปเสณมหาเถร ป.ธ.9) ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่ สมเด็จพระสังฆราช มีอายุวัฒนมงคลครบ 7 รอบ 84 ปี ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 14.00 น. ณ โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม 

*************************

เรื่องโดย :  เต้ มงคลพระ
เรียบเรียงโดย : ทีมข่าวมงคลพระ


วันพุธที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ท้าวเวสสุวรรณ อธิบดีแห่งยักษ์ ผู้พิทักษ์พุทธศาสนา

ท้าวเวสสุวรรณ หรือ ท้าวกุเวร เป็นอธิบดีแห่งยักษ์ เป็นเจ้าแห่งผี เป็นเทพเจ้าแห่งความร่ำรวย และเป็นหนึ่งในบรรดาท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ ผู้คุ้มครอง และดูแลโลกมนุษย์ สถิตอยู่บนสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิกา ทรงอิทธิฤทธิ์อานุภาพมาก ประทับ ณ โลกบาลทิศเหนือ มียักษ์เป็นบริวาร

ท้าวเวสสุวรรณได้ถวายสัตย์ที่จะดูแลพระพุทธเจ้า และเหล่าสาวก ไม่ให้ยักษ์หรือบริวารอื่น ๆ ของท้าวจตุโลกบาลไปรังควาน คนไทยโบราณนิยมนำผ้ายันต์รูปท้าวเวสสุวรรณผูกไว้ที่หัวเตียงเด็ก เพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้มารังควานแก่เด็ก

ท้าวเวสสุวรรณ หรือ ท้าวกุเวรนั้น ส่วนมากเราจะพบเห็นในรูปลักษณ์ของยักษ์ยืนถือกระบองยาว หรือคทา (ไม้เท้าเป็นรูปกระบอง) แต่แท้ที่จริงแล้ว ยังมีรูปเคารพของท่านในรูปของชายนั่งในท่า มหาราชลีลา มีลักษณะอันโดดเด่นคือ พระอุระพลุ้ยอีกด้วย กล่าวกันว่าผู้มีอาชีพสัปเหร่อ หรือมีอาชีพประหารชีวิตนักโทษ มักพกพารูปท้าวเวสสุวรรณ สำหรับคล้องคอเพื่อเป็นเครื่องรางของขลังป้องกันวิญญาณร้ายและภูติผีปีศาจ



คาถาบูชาท้าวเวสสุวรรณ
ตั้งนะโม ๓ จบ ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
อิติปิโส ภะคะวา ยมราชาโน ท้าวเวสสุวัณโน มรณังสุขัง อหังสุคโต นโมพุทธายะ 
ท้าวเวสสุวัณโน จตุมหาราชิกา ยักขพันตาภัทภูริโต เวสสะพุสะ พุทธังอรหัง พุทโธ 
ท้าวเวสสุวัณโน นโมพุทธายะ

ท้าวเวสสุวรรณ ถือเป็นเทพเจ้าที่สำคัญยิ่ง เป็นที่เคารพนับถือในหลายต่อหลายประเทศ ในฐานะผู้คุ้มครองให้ปลอดภัยจากวิญญาณร้ายต่างๆ ดังเราจะเห็นได้ว่าพระเกจิอาจารย์ผู้ทรงวิทยาคม มักจะทำผ้ายันต์ หรือ วัตถุมงคลท้าวเวสสุวรรณ เพื่อแจกจ่ายไว้ให้สาธุชนได้บูชา เพื่อความเป็นสิริมงคล ป้องกันสิ่งอัปมงคล และ ขจัดภูตีผีปีศาจต่างๆ ไม่ให้มากล้ำกรายได้


พระคาถาภาณยักษ์ หรือบท “วิปัสสิ” ในพิธีสวดภาณยักษ์ คือพระคาถาที่ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ท่าน โดยมีท้าวเวสสุวรรณเป็นหัวหน้า นำมามอบให้พระพุทธเจ้า เพราะเห็นว่าบริวารของตนนั้นมีมาก บางพวกก็มีนิสัยดี แต่บางพวกมีนิสัยพาลเกเร อาจทำร้ายแก่พระธุดงค์ที่อยู่ตามป่าช้า ตามป่าตามเขาได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกัน ท่านจึงได้มอบพระคาถาภาณยักษ์ถวายแต่พระพุทธองค์ เพื่อป้องกันวิญญาณร้ายและภูติผีปีศาจ ในปัจจุบันเราก็ยังสามารถพบเห็นการสวดภาณยักษ์ได้อยู่เสมอ และมักจะเห็นรูปท้าวเวสสุวรรณเด่นเป็นสง่า เพราะถือคติว่า ท้าวเวสสุวรรณ คือ ผู้ที่มีสิทธิเฉียบขาดในการลงโทษภูตีผีปีศาจทั้งหลาย 

ตามคติที่ว่านี้ จึงนับได้ว่า ท้าวเวสสุวรรณ คือ เทพเจ้าที่มีคุณในการทำลายล้างสิ่งอัปมงคล ทั้งกันทั้งแก้เรื่องผีปีศาจ คุณไสยมนต์ดำ พร้อมทั้งยังให้คุณเรื่องโชคลาภ โภคทรัพย์อีกประการหนึ่งด้วย

*************************

เรื่อง / เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ