วันจันทร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ผู้เปรียบดั่งเพชร แห่งพระศาสนา


เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ นามเดิมว่า เกี่ยว นามสกุล โชคชัย นามฉายา อุปเสโณ เกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2471 ณ บ้านเฉวง ตำบลบ่อผุด อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสราษฎร์ธานี

เมื่อยังเยาว์ ได้ศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียนประจำหมู่บ้าน จนจบประถมปีที่ 4 เมื่ออายุได้ 12 ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดภูเขาทอง อำเภอเกาะสมุย จงหวัดสุราษฎร์ธานี แม้เจตนาจะบวชเพียงแค่ 7 วัน แต่ด้วยปุพเพกตปุญญตา ทำให้เจ้าประคุณสมเด็จฯ ยังคงมั่นในสมณเพศหาได้คิดลาสิกขาไม่ โยมมารดาจึงนำไปฝากไว้กับท่าน พระครูอรุณกิจโกศล (หลวงพ่อพริ้ง) วัดแจ้ง ตำบลอ่างทอง อำเภอเกาะสมุย เจ้าประคุณสมเสด็จฯ เป็นผู้ฝักใฝ่ในการศึกษา มีวิริยะ อุตสาหะ จนหลวงพ่อพริ้งเห็นอุปนิสัย ได้นำไปฝากตัวเป็นศิษย์ เจ้าประคุณสมเด็จพระสังฆราช (อยู่ ญาโณทยมหาเถร) เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศ กรุงเทพมหานคร โดยอยู่ในการปกครองของ พระครูปลัดเทียบ (พระธรรมเจดีย์)

เจ้าประคุณสมเสด็จฯ ได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จนสามารถสอบได้นักธรรมชั้นเอก และเปรียญธรรม 5 ประโยค ตั้งแต่ครั้งยังเป็นสามเณร


ครั้นต่อมา พ.ศ.2493 เมื่อมีอายุครบอุปสมบท ก็ได้อุปสมบทที่ วัดสระเกศ โดยมี เจ้าพระคุณสมเด็จพระสังฆราช ญาโณทยมหาเถร (ครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมวโรดม) ทรงเป็นพระอุปัชฌาย์

หลังจากที่ได้อุปสมบทแล้ว จนถึงปี พ.ศ.2497 สอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค

เจ้าประคุณสมเด็จฯ มอบกายถวายชีวิตในพระพุทธศาสนา มีศรัทธาไม่หวั่นไหว และสมบูรณ์ด้วยศีลาจารวัตร เป็นพระมหาเถระผู้รัตตัญญู มีเมตตาธรรมเป็นประจำ มีกรุณาต่อชนทั่วไป มีอัธยาศัยละมุนละไม เป็นบุคคลที่ใครๆเข้าหาได้ง่าย ไม่ถือตัว ปฏิบัติศาสนกิจและสังฆกรรมต่างๆสม่ำเสมอมิได้ขาด เป็นผู้มีความเมตตากรุณาสูง

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะภาค 9 และ เป็น เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช เมื่อปี พ.ศ. 2508 เมื่อปี พ.ศ. 2516 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ พระราชทานแต่งตั้งเป็น รองสมเด็จพระราชาคณะ ที่ พระพรหมคุณาภรณ์ และเป็น กรรมการมหาเถรสมาคม เมื่อปี พ.ศ. 2533 


เจ้าประคุณสมเด็จฯ ได้เลื่อนสมณศักดิ์เป็น สมเด็จพระราชาคณะ ที่ สมเด็จพระพุฒาจารย์ ในปี พ.ศ. 2540 ได้รับพระบัญชาแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการฝ่ายเผยแผ่พระพุทธศาสนามหาเถรสมาคม

และเนื่องจาก สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระอาการประชวร และเสด็จเข้าประทับรักษาพระองค์ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ มาตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2545 ทำให้เข้าร่วมงานพระศาสนาไม่สะดวก มหาเถรสมาคม จึงได้แต่งตั้งให้สมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็น ผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ในต้นปี พ.ศ. 2547 

ต่อมาการแต่งตั้งนั้นได้สิ้นสุดลงเพราะครบระยะเวลาที่กำหนด มหาเถรสมาคมจึงมีมติให้แต่งตั้ง คณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช เพื่อบริหารกิจการคณะสงฆ์แทนสมเด็จพระญาณสังวรฯ โดยมี สมเด็จพระพุฒาจารย์ ในฐานะมีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ในขณะนั้นทำหน้าที่เป็นประธาน

เจ้าประคุณสมเด็จฯ เป็นพระมหาเถระ ผู้เปี่ยมด้วยเมตตาธรรม มีหน้าอันพร้อมที่จะรับแขกอยู่เสมอ คือ ยิ้มแย้ม แจ่มใส พร้อมที่จะให้ข้อคิด ข้อธรรม อันจะเป็นประโยชน์ต่อการครองเรือน หรือการประพฤติปฏิบัติ แก่คนทั่วไป อยู่เสมอ ความข้อนี้ ผู้ที่รับสัมผัสบารมีธรรมขององค์ท่าน ย่อมเป็นประจักษ์พยานได้

พระภิกษุสามเณรในวัดสระเกศ มีเป็นร้อยรูป สามเณรไม่ต่ำกว่า 40 รูป แม้จะมากมายเพียงนี้ แต่เจ้าประคุณสมเด็จฯ สามารถจำชื่อได้หมดทุกรูป ทราบว่า รูปใด อยู่กุฏิไหน มีภูมิลำเนาอยู่ที่ใด และทราบไปถึงบูรพาจารย์ บรรพบุรุษซึ่งเป็นพระมหาเถระของพระภิกษุสามเณรรูปนั้น ๆ ได้อีกด้วย เกิดสารทุกข์ สุกดิบ ขึ้นกับองค์ใด ท่านสามารถเข้าถึง และแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว เพราะปฏิปทาด้านความ ทรงจำอันประพฤติปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ นั่นเอง

ภายในฤดูกาลเข้าจำพรรษา เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะให้การแนะนำแก่สามเณรด้วยตัวท่านเอง สอนเรื่องปัจจัยสี่ การดำรงชีพของพระภิกษุสามเณร สอนเรื่องเสขิยวัตร อย่างละเอียด แม้กระทั่งการจับช้อนส้อม เป็นต้น ในทุกเย็นวันศุกร์ เจ้าประคุณสมเด็จฯ จะลงสอนพระนวกะผู้บวชภายในพรรษา ด้วยตนเอง พระใหม่ ทุกรูป จึงพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า มีบุญที่ได้บวชในพระพุทธศาสนา และมีพระมหาเถระชั้นสมเด็จ คอยให้คำแนะนำ สั่งสอน เหมือนพ่อสอนลูก เช่นนี้ ไม่เคยนึกฝัน มาก่อน ในชีวิตนี้เลยทีเดียว



จ้าประคุณสมเด็จฯ จะลงทำวัตรค่ำในเวลา 21.00 น. ทุ่ม เป็นประจำไม่ขาด ด้วยเหตุนี้ ที่วัดสระเกศจึงมีการทำวัตร 3 เวลา คือ เช้า 8.30 น., เย็น 17.00น. เและ ค่ำ 21.00 น. เป็นการเอื้อเฟื้อพระภิกษุสามเณร ซึ่งไปศึกษาในมหาวิทยาลัยสงฆ์ ทั้งสองแห่ง ตั้งแต่ตอนบ่ายนั้น ได้มีโอกาสทำวัตรสวดมนต์ด้วย ก็เพราะท่านเคยดำรงตำแหน่งเลขาธิการมหาจุฬาฯ มาก่อน จึงเข้าใจกิจวัตรของพระสงฆ์ ผู้กำลังศึกษา ทั้งคดีโลก และคดีธรรม เป็นอย่างดี

ภายในพรรษา เจ้าประคุณสมเด็จฯ ก็จะลงเทศน์ ภายในพระอุโบสถ สลับกับพระสงฆ์ผู้เป็นพระธรรมกถึกของวัด นอกจากนั้นในเทศกาลสำคัญ เช่น วันมาฆบูชา เป็นต้น ท่านก็จะเทศน์ด้วยตัวเอง ทำให้ผู้มาบำเพ็ญกุศล เกิดศรัทธา ปสาทะ เพิ่มขึ้นอีกเป็นอย่างมาก

*************************

เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น