วันอาทิตย์ที่ 17 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เจ้าคุณนรฯ อรหันต์กลางกรุง แห่งวัดเทพศิรินทร์


เจ้าคุณนรรัตน์ ราชมานิต หรือ ธมฺมวิตกฺโก ภิกขุ (มหาเสวกตรี พระยานรรัตนราชมานิต) นามเดิม ตรึก จินตยานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2440 ที่กรุงเทพมหานคร วัยถึงขั้นสมควร เล่าเรียนหนังสือที่โรงเรียนวัดเบญจมบพิตร หรือ โรงเรียนมัธยมวัดเบญจมบพิตร ศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนี้จนสอบได้ชั้นสูงสุด อุปสมบท ณ วัดเทพศิรินทราวาส กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2468 โดยมี สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ญาณวรมหาเถระ) เป็นพระอุปัชฌาย์

ช่วงที่ท่านได้จบการศึกษาจากโรงเรียนข้าราชการพลเรือน ได้รับประกาศนียบัตรวิชารัฐประศาสนศาสตร์ ในสมัยนั้นแล้ว ท่านได้เข้าร่วมซ้อมรบในฐานะเสือป่า โดยรับหน้าที่เป็นคนส่งข่าว ซึ่งในการซ้อมรบนี้เองได้เปลี่ยนวิถีชีวิต จากความตั้งใจที่จะเป็นข้าราชการฝ่ายปกครองของรัฐ มาเป็นข้าราชสำนัก ในล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 ท่านเป็นผู้ที่ได้รับการไว้วางพระราชหฤทัยจากล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 เป็นอย่างมาก ตั้งแต่เมื่อครั้งยังรับราชการเป็นมหาดเล็กห้องบรรทม กระทั่ง ได้รับการแต่งตั้งบรรดาศักดิ์เป็น พระยานรรัตนราชมานิต ซึ่งแปลว่า "คนดีที่พระเจ้าแผ่นดินทรงยกย่องนับถือ" ตลอดระยะเวลา 10 ปี ที่ท่านได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณอย่างใกล้ชิด

ท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะ สุจริต และกตัญญูกตเวที อย่างยากที่จะหาผู้ใดเสมอเหมือน ดังที่ท่านเคยกล่าวถึงความภักดีต่อองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า "ต้องตายแทนกันได้" ความกตัญญูกตเวทีที่ท่านได้แสดงนี้ ได้ประจักษ์ชัดเมื่อท่านได้ บวชอุทิศถวายเป็นพระราชกุศล ในวันถวายพระเพลิง พระบรมศพล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 จวบจนกระทั่งท่านมรณภาพ 

ท่านดำรงเพศสมณะด้วยความเคร่งครัดต่อศีล เป็นผู้ที่บริสุทธิ์ปราศจากมลทินด่างพร้อยทั้งกาย ใจ เป็นผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ มีปฏิปทาที่มั่นคง เด็ดเดี่ยว เป็นที่ยอมรับ และได้รับความเคารพนับถือจากพุทธศาสนิกชนว่า ท่านเป็น "พระแท้ที่หาได้ยากยิ่ง" เป็นตัวอย่างของสงฆ์ผู้ทรงศีลบริสุทธิ์ ไม่ใฝ่หาลาภสักการะ ไม่ใฝ่หาชื่อเสียงเกียรติคุณ เป็นผู้ปฏิบัติตรงต่อ พระธรรมวินัย มีความกตัญญูเป็นเลิศ ยากที่จะหาผู้ใดทัดเทียมได้

ท่านธมฺมวิตกฺโก ไม่ได้สอนให้พุทธศาสนิกชนเชื่อถืออิทธิปาฏิหาริย์ แต่บุคคลส่วนมากก็เชื่อว่าท่านมีอิทธิปาฏิหาริย์มิใช่น้อย เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้าผู้เป็นพระบรมศาสดาของชาวพุทธทั้งหลาย พระองค์ไม่ทรงส่งเสริมให้สาวกแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ แต่พระองค์ก็ไม่ทรงปฏิเสธว่าการแสดงอิทธิปาฏิหาริย์ตามโอกาสอันจำเป็นเป็นสิ่งไม่สมควรเสียเลยผู้ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างพินิจพิเคราะห์แล้ว จะเห็นได้ว่า พระศาสนานี้เผยแพร่อย่างกว้างขวางและยืนยงคงอยู่มาได้ ก็เพราะอิทธิปาฏิหาริย์ที่พระบรมศาสดาและสาวกของพระองค์แสดงตามโอกาส มีส่วนช่วยน้อมโน้มจิตใจของผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาให้มาเลื่อมใส

เพราะฉะนั้นท่าน เจ้าคุณนรฯ จึงได้ไม่ฝ่าฝืนพระพุทธบัญญัติในการที่ท่านสวดอธิษฐานจิตให้พระเครื่องมีคุณค่าสูงยิ่งขึ้น เป็นการช่วยประชาชนให้ปลอดภัย บำรุงชาติให้พัฒนา และเผยแพร่พระศาสนา ตัวอย่างเช่น ประชาชนมีกำลังใจเข้มแข็ง ต่อสู้ภยันตรายในการดำเนินชีวิต และในการผจญอริราชศัตรู โรงเรียนขนาดใหญ่ได้อุบัติขึ้นมาช่วยเยาวชนเป็นอันมาก ให้พรั่งพร้อมไปด้วยวิชาภรณ์ อุโบสถสูงเด่นเป็นสง่า สัมฤทธิ์ขึ้นมาช่วยให้พระสงฆ์ทำสังฆกรรมโดยสะดวก และถาวรวัตถุอื่น ๆ อันอำนวยประโยชน์แก่สาธารณชน ก็กำลังสำเร็จเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งนี้เพราะบารมีและฤทธานุภาพแห่งท่านธมฺมวิตกฺโก แม้ในครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าก็ทรงยกย่องพระมหาเถระที่ชื่อว่า พระโมคคัลลาน์ ว่าเป็น ผู้เลิศกว่าพระสงฆ์รูปอื่นในทางแสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เพราะท่านสามารถน้อมนำบุคคลในศาสนาอื่นจำนวนมากเข้ามาเป็นพุทธศาสนิกชน จนถึงขนาดเจ้าลัทธิอื่น ๆ เคียดแค้น ชิงชัง ริษยา ได้ว่าจ้างให้โจรไปดักปลงชีวิตท่านเสีย

เรื่องปาฏิหาริย์ ไม่ว่าจะเป็นการดักใจเป็นอัศจรรย์ การสั่งสอนเป็นอัศจรรย์ หรือการแสดงฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ ล้วนได้รับการรับรองว่ามีจริง แต่ การสั่งสอน (คำสั่งสอน) เป็นอัศจรรย์ ถือว่าเป็น ปาฏิหาริย์ที่ดีที่สุด พระพุทธศาสนานี้ ถึงจะไม่มีเรื่องปาฏิหาริย์เลย ก็สามารถเผยแพร่และมั่นคงอยู่ได้ เพราะเรื่องปาฏิหาริย์เป็นเพียงเปลือกนอกหรือกระพี้ของพระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามีเหตุผลที่ผู้รู้อาจตรองตามให้เห็นจริงได้ เป็นนิยยานิกธรรม นำผู้ปฏิบัติให้พ้นทุกข์ เป็นสุขได้ ผู้ฉลาดเมื่อปรารถนาแก่นไม้ ย่อมไม่เข้าใจผิดคิดว่าเปลือกนอกและกะพี้เป็นแก่น ย่อมผ่ากะเทาะเปลือกและกะพี้ออกจนถึงแก่น

ฉันใดฉันนั้น ผู้ปรารถนาพุทธธรรมแท้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อมีพระปฏิมาคือรูปเปรียบของพระพุทธเจ้าแล้ว ไม่ควรติดอยู่แค่ความศักดิ์สิทธิ์ ต้องขวนขวายปฏิบัติธรรมบำเพ็ญความดีตามที่พระพุทธองค์ทรงสั่งสอน จึงจะพบสัจธรรมแท้ หรือเมื่อมีรูปเปรียบพระสงฆ์ ก็ให้นึกถึงคุณของพระสงฆ์ ปฏิบัติตามแนวทางของท่าน เว้นทุจริตทั้งหลาย จึงจะชื่อว่า มีพระเป็นที่พึ่งคุ้มครองป้องกันภัย แม้พวกเราจะเลื่อมใสในปาฏิหาริย์ของท่านธมฺมวิตกฺโก เราก็ไม่ควรปลื้มจนลืมจริยธรรมของท่าน และถึงแม้ว่าท่านจะไม่มีปาฏิหาริย์ ปรากฏเป็นอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ แต่ท่านก็คงเป็นอภิปูชนีย์ที่ควรเคารพนับถืออย่างแท้จริงสำหรับเราทั้งปวงอยู่นั่นเอง เพราะปฏิปทาของท่านย่อมสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด


*************************

เรียบเรียงโดย : ทีมงานมงคลพระ









ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น