วันศุกร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

พระพุทธชินราช วัดใหญ่ ศูนย์รวมใจ แห่งเมืองสองแคว


พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ที่ วัดพระศรีรัตนมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดพิษณุโลก สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไท จัดเป็นพระพุทธรูปที่มี พุทธลักษณะงดงามที่สุดในประเทศไทย และได้รับการขนานนามว่าเป็นพระพุทธรูปที่ งดงามที่สุดในโลก องค์หนึ่ง ถึงขั้นที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงดำริให้ชลอมาประดิษฐาน ณ พระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรดุสิตวนาราม แต่ทรงรับฟังคำทูลขอร้องของชาวพิษณุโลก ที่ว่าพระพุทธชินราชองค์นี้ เป็นพระคู่บ้านคู่เมือง จึงทรงตัดสินพระทัยหล่อ พระพุทธชินราช (จำลอง) ขึ้นมาแทน

โดยตามประวัติแล้วไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าสร้างในปีใด แต่มีการสันนิษฐานโดยอ้างอิงตามพงศาวดารเหนือ คาดว่าน่าจะสร้างพร้อมกับ พระพุทธชินสีห์ และ พระศรีศาสดา ในรัชสมัย พระมหาธรรมราชาที่ 1 (ลิไท) จากนั้นจึงมีการลงรักปิดทององค์พระเป็นครั้งแรกในสมัยสมเด็จพระเอกาทศรถ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และได้มีการบูรณะ ลงรักปิดทองอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีการบูรณะครั้งล่าสุดในรัชกาลที่ 9 

พระพุทธชินราชนี้เป็นพระพุทธรูปศิลปะสมัยสุโขทัย ลักษณะขององค์พระเส้นรอบนอกพระวรกายอ่อนช้อย พระขโนงโก่ง พระเนตรประดุจตากวาง พระนาสิกโด่ง ชายผ้าสังฆาฏิแยกเป็นเขี้ยวตะขาบ นิ้วพระหัตถ์ทั้ง 4 ยาวเสมอกัน อยู่ในลักษณะ ปางมารวิชัย ด้านซ้ายและขวาขององค์พระมียักษ์ 2 ตน คอยปกปักรักษาองค์พระอยู่ อีกทั้งยังมีพระโมคคัลลานะ และพระสารีบุตรเป็นอัครสาวกอยู่ด้วย นอกจากนี้แล้วยังมีซุ้มเรือนแก้วที่คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาลักษณะเป็นรูปตัวเหรา ถือเป็นศิลปะที่สวยงามมากอย่าหนึ่ง พระพุทธชินราชประดิษฐานในวิหารลักษณะเก้าห้อง ซึ่งมีการบูรณปฏิสังขรณ์มาอย่างต่อเนื่องจนมาถึงปัจจุบัน ทำให้องค์พระสวยงามบริบูรณ์อย่างในปัจจุบัน และในประวัติศาสตร์ยังพบว่ากษัตริย์ในทุกๆสมัยของไทยให้ความเคารพและศรัทธาต่อองค์พระพุทธชินราชมาอย่างต่อเนื่องทุกๆ พระองค์


พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปสำคัญคู่บ้านคู่เมืองมาแต่โบราณกาล จึงมีตำนาน พระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ใน พ.ศ. 2409 โดยอาศัยหลักฐานจากพงศาวดารเหนือ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์โบราณคดียุติได้ ดังนี้ คือ

พระพุทธชินราช สร้างโดยพระมหาธรรมราชาที่ 1 (พญาลิไท) กษัตริย์ลำดับที่ 5 แห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งในตำนานพระพุทธชินราชฯ เรียกพระเจ้าศรีธรรมไตรปิฎก โดยสร้างพระพุทธรูปพร้อมกัน 3 องค์ เพื่อประดิษฐานในพระวิหารทิศ ของวัดพระศรีรัตนมหาธาตุเมื่อพิษณุโลกเมื่อ พ.ศ. 1900 ในตำนานพระพุทธชินราชฯ มีชื่อช่างหล่อพระพุทธชินราชเป็นช่างพราหมณ์ฝีมือดี 5 นาย คือ บาอินท์ 1 บาพรหม 1 บาพิษณุ 1 บาราชสังข์ 1 บาราชกุศล 1

ตำนานกล่าวไว้ว่า พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก หรือ พระมหาธรรมราชา (พญาลิไท) กษัตริย์องค์ที่ 4 ในพระราชวงศ์พระร่วง สมัยกรุงสุโขทัย เป็นผู้สร้างพระพุทธชินราช เมื่อราว พ.ศ. 1900 ทรงโปรดให้ช่างสวรรคโลก ช่างเชียงแสน และช่างหริภุญไชย สมทบกับช่างกรุงศรีสัชนาลัย ช่วยกันหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่ 3 องค์ ได้แก่ พระศรีศาสดา พระพุทธชินราช และ พระพุทธชินสีห์ จวบจนถึงวันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีเถาะจุลศักราช 717 ราว พ.ศ. 1898 ได้มงคลฤกษ์ กระทำพิธีเททองหล่อพระพุทธรูปทั้ง 3 องค์ เมื่อเททองหล่อเสร็จแล้ว และทำการแกะพิมพ์ออกปรากฏว่า พระพุทธชินสีห์และพระศรีศาสดา องค์พระสมบูรณ์สวยงามดี ส่วนพระพุทธชินราชนั้นได้หล่อถึง 3 ครั้งก็ไม่เสร็จเป็นองค์พระได้ 

กล่าวคือทองแล่นไม่ติดเต็มองค์ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏก จึงทรงตั้งสัตยาธิษฐานเสี่ยงเอาบุญบารมีของพระองค์เป็นที่ตั้ง ครั้งนั้นจึงร้อนถึงอาสน์พระอินทร์เจ้าจึงนฤมิตเป็นตาปะขาวลงมาช่วยทำรูปพระ คุมพิมพ์ปั้นเบ้า ด้วยอานุภาพพระอินทราธิราชเจ้าทองก็แล่นรอบคอบบริบูรณ์ทุกประการหาที่ติมิได้ พระเจ้าศรีธรรมไตรปิฏกทรงปิติโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง จึงตรัสให้หา "ตาปะขาว" ผู้นั้น แต่ตาปะขาวได้หายตัวไปแล้ว หมู่บ้าน และวัดที่ตาปะขาวหายไปนั้นได้ชื่อว่า บ้านตาปะขาวหาย และ วัดตาปะขาวหาย ต่อมาจนถึงทุกวันนี้ และจากวัดตาปะขาวหายขึ้นไปทางทิศเหนือประมาณ 800 เมตร ได้ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการหายตัวไปของตาปะขาว เล่ากันว่ามีผู้พบเห็นว่าท้องฟ้าเปิดเป็นช่องขึ้นไป ชาวบ้านเห็นเป็นที่อัศจรรย์จึงได้สร้างศาลาขึ้นไว้ ณ พื้นดินเบื่องล่างไว้เป็นที่ระลึก เรียกว่า "ศาลาช่อฟ้า" ตราบจนทุกวันนี้

************************

เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น