วันศุกร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2556

“พระพรหมดิลก” สละสำเภาภาค14!! คุ้มบังเหียน กทม


พลิกตำนานยก “พระพรหมดิลก” สละสำเภาภาค14!! คุ้มบังเหียน กทม.

“เจ้าคุณเอื้อน ทายาทสมเด็จฟื้น เอกอุบาลีสามพระยา สยบขมิ้นบางกอก”

ชู 2 รองฯ คู่ใจ พระเทพวิริยาภรณ์ รั้งพระนคร - พระราชปริยัติเวที แผ่รัศมีฝั่งธนบุรี


กรุงเทพมหานครได้ชื่อว่ามีพระหนุ่มเณรน้อย จวบจนพระมหาเถระ ระดับท่านเจ้าประคุณสมเด็จฯ เกรดยศช้างขุนนางพระ มีอยู่เพียบทั่วคุ้งน้ำถนนคอนกรีต

และแล้วเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ก็เกิดขึ้น เมื่อ“รองสมเด็จชั้นหิรัญบัฏ” เฉกเช่น พระพรหมดิลก หรือ เจ้าคุณเอื้อน แห่งเมืองกรุงเก่า ต้องมีอันข้ามห้วยมารั้งตำแหน่ง เจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ที่หลายๆคนมองว่า มีพระมันสมองกระจายอยู่เต็มเมือง และมันก็แค่จังหวัดหนึ่งของเมืองไทย ไฉนเลยต้องให้มหาดอกเตอร์นักปราชญ์ 9 ประโยค ระดับกุนซือทิ้งเรือสำเภาใหญ่ภาค14 มาคุมบังเหียน แต่ขอโทษทีครับคุณโยมพี่น้อง กทม.คือเมืองหลวงของประเทศไทย ไม่ต่างอะไรกับคุณชายสุขุมพันธ์ ที่ต้องถวิลหากลับมาอีกครั้ง ในฐานะผู้ว่ากทม.พ่อเมืองใหญ่ที่ไร้เทียมทาน!!! 

ด้วยฝีไม้ลายมือของท่านเจ้าคุณอาจารย์ “พระพรหมดิลก” แล้วไซร์ ที่กุมหัวใจภาค 14 อันเป็นที่รักของคณะสงฆ์นครปฐม สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สมุทรสาคร ที่ผ่านมาราบรื่นดีไม่ทีที่ติ!!!

“แต่บทบาทที่แท้จริงของท่าน มันต้องกทม. ถึงสมยี่ห้อพระแท้ที่กราบไหว้ได้อย่างสนิทใจ”

เนื่องเพราะพระพรหมดิลก เป็นพระนักวิชาการ ดีกรีเปรียญ 9 ประโยค สำเร็จด๊อกเตอร์จากประเทศอินเดีย มีอุปนิสัยไม่เห็นแก่เงิน ไม่ชอบลาภสักการะ ชอบให้ความรู้ ชอบให้การศึกษา ชอบให้ธรรมะความจริง แม้แต่ในวัดสามพระยาเอง ไม้บรรทัดยังเรียกหลวงพี่เลย...

ที่สำคัญอาจารย์ของท่าน (สมเด็จฟื้น) สอนมาดี คือไม่ให้ยึดติดกับตำแหน่ง ไม่ว่าจะใหญ่ขนาดไหน จึงส่งผลให้ รุ่นเพื่อน รุ่นน้อง หรือรุ่นพี่ ล้วนต่างแซงคิวขึ้นไปเป็นรองสมเด็จฯ เป็นสมเด็จฯ ล้ำหน้าท่าน เสียมากมายหลายรูป แต่ท่านก็มิได้ทดท้อหรือน้อยอกน้อยใจแต่ประการใด

แต่ยามใดที่ขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็น ท่านมักจะสอนสั่ง ได้อย่างสะใจ สะเทือนถึงแก่นธรรมในบวรพุทธศาสนาได้มากพอสมควร

สุดท้ายมติสวรรค์ ก็ต้องตั้งท่านให้เป็นรองสมเด็จฯ ให้เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ให้เป็นเจ้าคณะภาค 14 ให้เป็นเจ้าคณะกทม. ด้วยเหตุปัจจัยแห่งหลักสัจธรรม ภายใต้เหตุและผลอย่างถ่องแท้

วาระสำคัญ พลันที่ มีเสียงสนับสนุน จากคณะกรรมการมหาเถรสมาคม อันประกอบด้วย หัวโต๊ะใหญ่ที่เปี่ยมไปด้วยเมตตา ในยามนี้คือ ท่านเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ ประธานคณะผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช วัดสระเกศ เป็นประธาน ได้มีการเสนอแต่งตั้งเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร (เจ้าคณะ กทม.) รูปใหม่แทน พระธรรมสิทธินายก (เฉลิม พนฺธุรํสี) เจ้าคณะ กทม.และเจ้าอาวาสวัดจันทาราม ที่เกษียณอายุ 80 ปี

และการแต่งตั้งโยกย้ายเจ้าคณะภาคในเขตปกครองคณะสงฆ์หนกลาง โดย สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ เจ้าคณะใหญ่หนกลางและเจ้าอาวาสวัดพิชยญาติการาม ได้เสนอชื่อ พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธมฺโม ป.ธ.9) เจ้าอาวาสวัดสามพระยาและเจ้าคณะภาค 14 ขึ้นเป็นเจ้าคณะ กทม.รูปใหม่

ซึ่งที่ประชุมมิได้มีการอภิปรายคัดค้าน หรือแสดงความเห็นใดๆ ก่อนจะลงมติให้ พระพรหมดิลก เป็นเจ้าคณะ กทม.รูปใหม่ ให้มีตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ปัจจุบัน พระพรหมดิลก (เอื้อน หาสธัม โม) สิริอายุ 68 พรรษา 48 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดสามพระยา แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ, รองเลขานุการแม่ กองบาลีสนามหลวง, เจ้าคณะกทม. อัตตะโนประวัติ นามเดิมว่า เอื้อน กลิ่นสาลี เกิดเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2488 ที่บ้านเลขที่ 116 หมู่ 6 อ.นครหลวง จ.อยุธยา โยมบิดา-มารดา ชื่อ นายไสวและนางน้อม กลิ่นสาลี ในวัยเยาว์ ตั้งใจศึกษาเล่าเรียน จนสำเร็จ การศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนนครหลวงอุดมรัชต์วิทยา จ.พระนคร ศรีอยุธยา กระทั่งอายุครบบวช จึงตัดสินใจขอทดแทนคุณบุพการี ด้วยการเข้าพิธีบรรพชา- อุปสมบท เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2510 ณ พัทธสีมาวัดมหาพล อ.นครหลวง จ.อยุธยา มี พระอธิการพัฒน์ ติสสสุวัณโณ วัดปรีดาราม อ.นครหลวง จ.อยุธยา เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอธิการคต โฆสิโต วัดมหาพล เป็นพระ กรรมวาจาจารย์ และ พระครูอุดมนครกิจ วัดตะโหนด อ.นครหลวง จ.อยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์

จากนั้น มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรมทั้งนักธรรมและบาลีอย่างจริงจัง แต่ด้วยเห็นว่าวัดในต่างจังหวัด ยังมีความไม่พร้อมในด้านการศึกษาหลายด้าน จึงตัดสินใจมุ่งหน้าเข้าเมืองหลวง ไปเรียนหนังสือที่สำนักเรียนวัดสามพระยา สามารถสอบได้นักธรรมชั้นตรี-โท-เอก ตามลำดับ ที่สำนักเรียนวัดสามพระยา ขณะเดียวกัน ก็มุ่งเรียนแผนกบาลี จนสอบได้เปรียญธรรม 9 ประโยค ต่อมา ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อสาขาบาลีและการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี ประเทศอินเดีย สามารถสอบได้ปริญญาโท ในปี พ.ศ.2526 จากนั้น ได้มุมานะเรียนต่อปริญญาเอก พ.ศ.2529 จบการศึกษาระดับปริญญาเอก ในสาขาบาลีและการศึกษา ณ มหาวิทยาลัยพาราณสี ประ เทศอินเดียและกลับมาอยู่จำพรรษาที่วัดสามพระยาอีกครั้งได้รับความไว้วางใจจาก เจ้าประคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ฟื้น ชุตินธโร) เจ้าอาวาสวัดสามพระยาขณะนั้น ให้เป็นเลขานุการเจ้าอาวาส เป็นครูสอนพระปริยัติธรรมแผนกธรรมและบาลี เป็นผู้ช่วยเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวง รับผิดชอบภารกิจสนองงานเจ้าอาวาส ทั้งในด้านการปกครอง การศึกษา การศึกษาสงเคราะห์ การเผยแผ่พระพุทธศาสนา การสาธารณูปการ และอื่นๆ พระพรหมดิลก ถือเป็นศิษย์เอกของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ มหาเถระผู้มีบารมีในคณะสงฆ์สายมหานิกาย ในช่วงที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ โรงเรียนพระปริยัติธรรมส่วนกลาง เปิดสอนหลักสูตรบาลีชั้นสูง คือระดับเปรียญธรรม 7-8-9 อาจกล่าวได้ว่า สมเด็จพระราชาคณะ และรองสมเด็จพระราชาคณะแทบทุกรูปในปัจจุบัน มีกำเนิดมาจากวัดสามพระยาแทบทั้งสิ้น นอกจากเป็นศิษย์ก้นกุฏิของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์แล้ว สมัยยังเป็นพระหนุ่ม ท่านยังต้องทําหน้าที่เป็นเลขานุการ เป็นเจ้าภาพคอยต้อนรับพระเถระชั้นผู้ใหญ่ หรือแขกที่มาเยี่ยมเยือนวัดสามพระยา และยังได้รับมอบหมายให้เป็นรองเลขานุการแม่กองบาลีสนามหลวงด้วย สำหรับงานด้านการเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นผู้แสดงธรรม บรรยายธรรม และแสดงปาฐกถาทั้งในวัด ในเขตปกครอง ในหน่วยงานของรัฐ เอกชน สถานศึกษา และสถานีวิทยุกระจายเสียงต่างๆ

นอกจากนี้ ท่านยังได้ปรับปรุงศาลาอบรมสงฆ์ ให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อย ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ อุปกรณ์เครื่องขยายเสียง เพื่อใช้ในการสอบนักธรรม-บาลี, ตรวจผลสอบประโยคบาลีสนามหลวง ประจำปี, การอบรมพระอุปัชฌาย์ และโครงการสวดมนต์ นั่งสมาธิ ฟังธรรมแก่ญาติโยมทั่วไป ลำดับงานปกครองคณะสงฆ์ พ.ศ.2536 ได้รับแต่งตั้งเป็นรองเจ้าคณะภาค 1 พ.ศ. 2537 ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ พ.ศ. 2539 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัด สามพระยา พ.ศ.2545 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าคณะภาค 14 ลำดับสมณศักดิ์ พ.ศ.2530 ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีปริยัติบดี พ.ศ.2537 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราชที่ พระราชปริยัติบดี พ.ศ.2542 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นเทพที่ พระเทพสุธี วันที่ 12 สิงหาคม 2547 ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมคุณาภรณ์ วันที่ 5 ธันวาคม 2553 ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นพระราชาคณะเจ้าคณะรองชั้นหิรัญบัฏ ที่พระพรหมดิลก เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม

พระพรหมดิลก เป็นพระเถระมีภูมิรู้ เป็นผู้นำ เป็นพระสงฆ์นักพัฒนาในด้านการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่และการสาธารณูปการ ตามลักษณะรูปแบบของการจัดการการปกครองของคณะสงฆ์ไทยชีวิตส่วนตัวของท่าน เป็นไปอย่างเรียบร้อยมักน้อยสันโดษในการบริหารท่านกล้าคิด กล้าทํา เด็ดขาด เด็ดเดี่ยว น่าเคารพยำเกรง แต่ส่วนลึก ท่านเป็นคนอ่อนโยน มีเมตตาปรานี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ สอดส่องดูแลความเป็นอยู่ของผู้น้อยอย่างดี จึงเป็นที่เคารพนับถือของคณะสงฆ์ผู้ใต้ปกครอง ทั้งสิ้น!!!
ที่สำคัญในการมานั่งแท่นปกครองคณะสงฆ์กทม.ครั้งนี้ ท่านมีกระบี่ที่เป็นมันสมองคู่ใจ ในตำแหน่งรองเจ้าคณะกทม. ช่วยดูแลในฝั่งพระนคร คือ พระเทพวิริยาภรณ์ วัดหัวลำโพง ปัจจุบันอายุ 70 ปี (เกิด 9 มกราคม พ.ศ.2486) พรรษา 50 ส่วนอีกรูปที่ดูแลสงฆ์ย่านฝั่งธนบุรีคือ พระราชปริยัติเวที (สุชาติ กิตฺติปญฺโญ) ป.ธ.8 เจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม ปัจจุบันอายุ 50 ปี พรรษา 29

สำหรับพระเทพวิริยาภรณ์ เป็นที่ยอมรับว่าเป็นพระสังฆาธิการที่มีความชำนาญในงานด้านปกครองชนิดที่หา ตัวจับยากในปัจจุบัน ได้รับมอบหมายให้ดูแลในฝั่งพระนคร ชำนาญวิชาบัญชี ที่มีในกฎมหาเถรสมาคม ที่พระทุกรูปต้องรู้และเข้าใจ ตัวท่านเองท่องจนขึ้นใจในมาตรา 37 และมาตรา 38 เมื่อได้เป็นรองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร พร้อมกับบอกว่าตามประสบการณ์ของท่าน สมภารมี 3 ประเภทคือ สมภารแมว สมภารจิ้งหรีด และสมภารแม่ไก่ สองประเภทแรกนั้นไม่ควรทำ คือสมภารแมว เป็นคนขี้เหนียว ไม่เผื่อแผ่ ลูกวัดอดอยาก สมภารจิ้งหรีดมักถูกปั่นหัวจากคนโน้น คนนี้เสมอ สมภารแม่ไก่ดีที่สุด นอกจากเผื่อแผ่ลูกๆ ให้ได้กิน เมื่อมีภัยยังกางปีกปกป้องอีกต่างหาก

ก่อนที่จะมีวันนี้ ชีวิตของท่านก็เหมือนพระเถระในเมืองหลวงส่วนมากคือมาจากต่างจังหวัด ผ่านความยากลำบากมามาก ตั้งแต่เป็นเด็ก ตัวท่านก็เช่นกัน มาจากต่างจังหวัด หากแต่ประวัติยาว เล่า 3 วัน 3 คืน ไม่จบ หากเอาอย่างรวบรัด ก็ว่าท่านเป็นเด็กวัดมาหลายปี อยู่วัดตั้งแต่อายุ 6 ขวบ สถานะเดิมชื่อ นรินทร์ นามสกุลปิยทัศน์ บิดาชื่อชด มารดาชื่อชื่น เกิดที่บ้านเลขที่ 78 หมู่ที่ 1 ต.หนองยาง อ.หนองฉาง จ.อุทัยธานี เมื่อวันที่ 9 ม.ค. ปี พ.ศ. 2486

เมื่อเรียนจบประถมปีที่ 4 พระอาจารย์บุญ เป็นชาวอุทัยธานี พามาบรรพชาที่วัดโฆสิทธาราม ต.น้ำตาล อ.เมืองอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ปี พ.ศ. 2499 ต่อมาในปี พ.ศ. 2502 โยมพามาฝากวัดหัวลำโพง อุปสมบทที่วัดนี้เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. ปี พ.ศ. 2506 โดยมีพระราชวิสุทธิโมลี (หลวงพ่อขาว) เป็นพระอุปัชฌาย์

การศึกษาทางธรรม จบนักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม 3 ประโยค ทางโลกจบมัธยมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนราษฎร์อำนวยศิลป์ อ.ชุมแพ จ.ขอนแก่น เมื่อปี พ.ศ. 2508 มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยถวายปริญญามหา บัณฑิตกิตติมศักดิ์สาขาสังคมศาสตร์ เมื่อปี พ.ศ. 2539 และดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ปี พ.ศ. 2548

ความที่ชีวิตมีแต่ให้ และช่วยเหลือส่วนรวมเสมอ ปี พ.ศ. 2526 จึงได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้ช่วยเจ้าอาวาส และปี พ.ศ. 2535 ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวลำโพง รูปที่ 10 ปี พ.ศ. 2541 เป็นเจ้าคณะเขตบางรัก เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 2553 มหาเถรสมาคม ตั้งให้ดำรงตำแหน่งรองเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ที่ว่างมานานถึง 5 ปี

ส่วนสมณศักดิ์นั้น ท่านได้เลื่อนเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับพระเถระด้วยกัน จากพระครูสัญญาบัตรผู้ช่วยเจ้าอาวาสที่ พระครูนิวิฐกิจจาภรณ์ ปี พ.ศ. 2532 เลื่อนเป็นพระครูชั้นโทในราชทินนามเดิมในปี พ.ศ. 2535 จากนั้นได้รับการเลื่อนสมณศักดิ์แบบข้ามหลายชั้นขึ้นเป็นพระราชาคณะ ที่พระพิพัฒน์ปริยัติสุนทร เมื่อปี พ.ศ. 2539

ถ้าไต่ตามลำดับจากพระครูชั้นโทเป็นชั้นเอก และชั้นพิเศษคงใช้เวลานาน เพราะ 5 ปี ได้เลื่อนครั้งหนึ่ง ไม่รู้ว่าอายุ 75 ปีจะได้เป็นเจ้าคุณหรือไม่

นับแต่ปี พ.ศ. 2539 ก็เจริญรุ่งเรืองในสมณศักดิ์ จากพระราชาคณะชั้นสามัญ ขึ้นเป็นราชที่พระราชปริยัติสุนทร ในปี พ.ศ. 2545 และเลื่อนเป็นชั้นเทพที่พระเทพวิริยาภรณ์ การทำงานในฐานะรองเจ้าคณะ กทม. พระเทพวิริยาภรณ์ ท่านมีหลักในการทำงานโดยถือคติโบราณว่า ฆ่าควายไม่เสียดายเกลือ เมื่อถึงคราวเสียต้องเสีย กล้าได้กล้าเสีย แม้ว่าท่านจะได้การยอมรับว่าเป็นพระผู้ให้และมีเมตตา แต่ท่านปฏิบัติในหลักการที่ว่า เมตตาต้องให้พอดี อย่าให้เกินประมาณ

ส่วนรองเจ้าคณะกทม. อีกรูปที่เป็นกระบี่คู่ใจ คุมพระสงฆ์กรุงเทพฯในซีกฝั่งธนบุรี ก็คือ พระราชปริยัติเวที (สุชาติ กิตฺติปญฺโญ) ป.ธ.8 ปัจจุบันมีอายุ 50 ปี พรรษา 29 พธบ. ศศ.ม. อดีตเจ้าอาวาสวัดวัดดาวดึงษาราม เขตบางพลัด และเพิ่งได้รับแต่งเจ้าอาวาสวัดสุวรรณาราม เป็นรองเจ้าคณะกทม.ที่มากความสามารถสุดๆอีกด้วย!!!

ฉะนั้นจวบจนวันนี้ พระพรหมดิลก มีสองมันสมองรองฯคู่ใจ เมื่อท่านได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะกรุงเทพมหานคร ทำให้คณะสงฆ์หลายท่านนึกย้อนไปถึงบรรยากาศเก่าๆ เมื่อคราที่ พระวิสุทธาธิบดี หลวงพ่อใหญ่ หรือ หลวงพ่อไสว แห่งวัดไตรมิตร ที่ท่านเป็นเจ้าคณะกทม. เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ซึ่งท่านเป็นเจ้าคณะกทม.ที่เก่งสุดๆ ฉลาดปราดเปรื่อง มีลูกศิษย์ระดับรัฐมนตรี ต้องมาปรึกษาหารือที่กุฏิทุกวัน มาถึงวันนี้กทม. มี พระพรหมดิลก ซึ่งก็ฉลาดละม้ายคล้ายคลึงกับหลวงพ่อใหญ่วัดไตรมิตร เฉกเช่นเดียวกัน!!!

*************************

เรื่องโดย : บก.ไก่ วีรพล
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น