วันจันทร์ที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2556

เทศนามัลติมีเดีย "ธรรมะอารมณ์ดี"


เทศนา
(อ่านว่า เทสะนา เทดสะหนา) แปลว่า ถ่ายทอดธรรมอันเป็นคำสั่งสอนทางศาสนาด้วยการแสดงชี้แจงให้ฟัง เป็นการเผยแผ่ศาสนาแบบหนึ่งที่ใช้กันมาแต่สมัยพุทธกาล ใช้ว่า เทศน์ ก็ได้

การเทศน์ในสมัยพุทธกาลไม่มีพิธีการแต่อย่างใด เพียงผู้แสดงนั่งอยู่ในสถานที่สมควรและผู้ฟังมีลักษณะตั้งใจฟังก็สามารถแสดงได้ ในขณะที่การเทศนานั้น อาจมีลักษณะลีลาต่างกันไปบ้างตามแต่อุปนิสัยของแต่ละบุคคล สำหรับพระพุทธเจ้าแล้วบางครั้งจะทรงใช้คาถาประพันธ์หรือร้อยแก้วธรรมดา

ในประเทศไทย การเทศน์กลายเป็นส่วนประกอบสำคัญในพิธีกรรมต่างๆ ของชาวไทยมาช้านาน เช่น วันขึ้นบ้านใหม่ วันแต่งงาน ไปจนถึงงานศพ และมีข้อปลีกย่อยในการประกอบพิธีกรรมมากมาย เช่น ต้องมีการอาราธนาศีลอาราธนาธรรม การจุดเทียนส่องธรรม เป็นต้น

การถือใบลานนั่งเทศน์บนธรรมมาสน์ หรือ การเทศน์แบบพิธีการ ในความรู้สึกส่วนใหญ่ของคนไทยมักจะเข้าใจว่าเป็นพิธีกรรมการสอนที่เป็นทางการ เน้นพิธีการ และมีรูปแบบตายตัว ขณะเดียวกันด้วยภาษาธรรมที่ฟังยาก คนจึงไม่อยากฟังเทศน์ ด้วยเหตุนี้สงฆ์ไทยแต่โบราณก็มีการดัดแปลงโดยเพิ่มทำนองให้น่าสนใจ เรียกว่า เทศน์แหล่ ปัจจุบันอาจแบ่งการเทศน์พิธีกรรมของพระสงฆ์ในประเทศไทยตามจำนวนผู้เทศน์ได้เป็น เทศเดี่ยว (เทศน์รูปเดียว) และ เทศน์สองธรรมมาสน์ขึ้นไป (ปุจฉา-วิสัชนา)

ด้วยเทคโนโลยีด้านการสื่อสารในยุคปัจจุบันที่อำนวยความสะดวกทุกๆ ด้าน โดยเฉพาะการสื่อสาร พระสงฆ์ได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการเทศน์ด้วยวิธีอื่นๆ เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เช่น การเทศน์ในพิธีการโดยไม่ใช้สำนวนโบราณ การสอนธรรมะผ่านสื่อต่างๆ การแต่งหนังสือ การแต่งเพลงธรรมะ เป็นต้น ซึ่งการเทศน์ด้วยวิธีหลังจะสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายมากกว่า เพราะส่วนใหญ่ไม่ได้ใช้ทำนองแบบเทศน์พิธีการ และอาจมีมุกสอดแทรกลงไปทำให้น่าสนใจมากขึ้น

วิธีการเทศน์ล่าสุด ต้องยกให้ “เทศนามัลติมีเดีย” ของทีมพระนักเทศน์ “ธรรมะอารมณ์ดี” ซึ่งมีรูปแบบการเทศน์ แบบธรรมะบรรยายแบบสมัยใหม่ที่ผสมผสาน หลายสื่อเข้าด้วยกัน มีทั้งคลิปภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งตลอดจนมีกิจกรรมให้ผู้เข้าฟังธรรมะได้ร่วมกิจกรรมทั้งสนุก สุข ซึ้ง และกินใจ โดย เริ่มต้นจากพระหนุ่มไฟแรง ๓ รูป คือ

๑.พระมหาวีรพล วีรญาโณ วัดยานนาวา เขตสาทร กทม. วุฒิการศึกษา ปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ (เกียรตินิยม) มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย (มจร.) 

๒.พระมหามงคล วรธมฺมวาที วัดนิมมานรดี เขตภาษีเจริญ กทม.วุฒิการศึกษา ปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสอนสังคม 

๓.พระปลัดบัณฑิต อินฺทเมธี วัดสังข์กระจายวรวิหาร เขตบางกอกใหญ่ กทม.วุฒิการศึกษา ปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการสอนภาษาอังกฤษ (เกียรตินิยม)

“เมื่อเรียนจบต่างคนต่างแยกย้ายไปทำงานเผยแผ่ตามแนวของตน แต่เมื่อทำได้ระยะหนึ่งก็เกิดความคิดว่า หากร่วมกลุ่มกันทำงานน่าจะมีอะไรที่ดีขึ้น มีเพื่อนช่วยคิดวางแผนในการทำงาน ที่สำคัญ คือ มีพลังมกกว่าคิดคนเดียว ทำคนเดียว” นี่เป็นเหตุผลของการรวมกลุ่มของทีมพระนักเทศน์ “ธรรมะอารมณ์ดี” จากคำบอกเล่าของพระครูปลัดบัณฑิต


พร้อมกันนี้ พระครูปลัดบัณฑิต ยังบอกด้วยว่า การเทศน์ในช่วงแรกๆ มีสื่อไม่มาก ใช้แต่กระดาษและคำพูด ทุกครั้งที่ไปเทศน์เชื่อว่าคนฟังต้องเบื่อในขณะที่พระนักเทศน์ไม่ต้องพูดถึง การเผยแผ่ธรรมไม่มีการพัฒนาจากอดีต แต่เมื่อมีคอมพิวเตอร์ คลิป เพลง ภาพยนตร์ ละคร ฯลฯ จึงมีความคิดว่า น่าจะใช้สื่อต่างๆ ใช้ประกอบการเทศน์ได้ จึงนำมาทดลองใช้

สำหรับสื่อวีดิทัศน์ที่นำมาใช้มีเยอะมาก เช่น รายการคนค้นคน ตอน ครูเชาว์ โฆษณา เรื่อง บูชาคุณครู ของเซเว่นอีเอฟเว่น โฆษณา พ่อเป็นใบ้ ของบริษัท ไทยประกันชีวิต ทั้งนี้หากพูดถึงในหลวง ก็จะใช้โฆษณา เด็กที่เขียนจดหมายถึงในหลวง ที่ไม่ได้ติดแสตปม์ ส่วนเพลงนั้นมีหลายเพลง ที่ทำเป็นมิวสิกวิดีโอได้กินใจที่สามารถใช้ร่วมกับการเทศน์ได้อย่างลงตัว

เพื่อให้ประเด็นเทศน์อินเทรนด์ ทีมพระนักเทศน์ “ธรรมะอารมณ์ดี” จะมีการประชุมทุกๆ สัปดาห์ เพื่อปรับปรุงเนื้อหาให้เข้ากับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีละคร ภาพยนตร์ โฆษณา มิวสิกวิดีโอ รวมทั้งข่าวสารอะไรบ้างที่สามารถสะกดคนฟังได้

“คำพูดนับพันคำไม่สู้ภาพใบเดียว เป็นสัจธรรมที่ไม่ต้องพิสูจน์ ซึ่งตรงกับหลักธรรมเรื่องอายตนะ ทั้ง ๖ ที่แปลว่า ที่เชื่อมต่อ, เครื่องติดต่อ หมายถึงสิ่งที่เป็นสื่อสำหรับติดต่อกัน ทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น บ้างเรียกว่า อินทรีย์ ๖ มี ๖ อย่าง คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ” พระครูปลัดบัณฑิตกล่าว

อย่างไรก็ตามแม้ว่าการเทศน์ด้วยการใช้สื่อมัลติมีเดียจะเข้าถึงผู้ฟังได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อขึ้นนั่งเทศน์บนธรรมมาสน์ที่วัด พระครูปลัดบัณฑิต ยังคงต้องรักษาธรรมเนียมการเทศน์แบบเดิมๆ คือ นั่งประนมมือถือใบลาน แต่แต่งขึ้นใหม่ให้เข้าใจธรรมมากขึ้นโดยอ้างพุทธสุภาษิต

สำหรับผู้ที่อยากสัมผัสรูปแบบการเทศน์มัลติมีเดีย สามารถติดต่อเครือข่ายกัลยาณมิตร "ธรรมะอารมณ์ดี" สำนักงานสถาบันส่งเสริมและเผยแพร่การพระศาสนาแห่งประเทศไทยวัดยานนาวา ๔๐ ถ.เจริญกรุง แขวงยานนาวา เขตสาทร กทม. โทร.๐๘-๗๘๑๒ -๔๑๙๐ หรือที่ www.dhammaaromdee.com

สนุก สุข ซึ้ง กินใจ

นายชินทัต เวียร์สุวรรณ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สำนักส่งเสริมจริยธรรมองค์การ เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ บอกว่า ซีพีเอฟ มุ่งมั่นเราทุ่มเทเราเอาจริงเอาจังทำเป็นงานหลักทำเป็นประจำทุกโรงงานที่สามารถจัดได้อย่างน้อยโรงงานละ ๓-๔ ครั้งต่อปีต่อโรง ผู้นำทุกระดับตั้งแต่ท่านประธานธนินท์, คุณอดิเรก ศรีประทักษ์ ซีอีโอซีพีเอฟ คุณวรวิทย์ เจนธากุล รองกรรมการบริหาร และผู้บริหารกลุ่มธุรกิจต่างๆ ให้ความสำคัญกันหมดเลยสนับสนุนเต็มที่เพราะคนดีทำให้งานดี, งานปลอดภัยไม่เสียหาย, ประหยัดงบประมาณ, พนักงานรักบริษัทบริษัทรักพนักงานเจ้านายลูกน้องรักกัน,พนักงานรู้จักหน้าที่ทุกคนรู้จักหน้าที่เห็นอกเห็นใจมุ่งมั่นให้บริษัทก้าวหน้าอย่างที่เห็น

อย่างก็ตามที่ผ่านมาได้พยายามสรรหาวิทยากรทั้งพระและฆราวาส ถ้าเป็นคนที่เคยฟังเทศน์มาก่อนนิมนต์พระที่มีชื่อเสียงสักหน่อยคนฟังก็ชอบ ในกรณีพนักงานประสบการณ์เข้าวัดฟังเทศน์มีน้อยมาก พระนักเทศน์ที่มีชื่อเสียงอาจจะสะกดอารมณ์ได้ระดับหนึ่ง แต่จะสู้รูปแบบและวิธีการเทศน์ไม่ได ในที่สุดก็มาลงตัวที่ “เทศนามัลติมีเดีย” ของทีมพระนักเทศน์ “ธรรมะอารมณ์ดี”

การใช้สื่อมัลติมีเดียช่วยให้ เพิ่มความสนุกสนานในการฟังเทศน์ฟังธรรม ทั้งนี้เพราะว่ามัลติมีเดียสามารถที่จะนำเสนอได้ทั้งเสียง ข้อความ ภาพเคลื่อนไหว ดนตรี กราฟฟิก ภาพถ่ายวัสดุตีพิมพ์ ภาพยนตร์ และวีดิทัศน์ ประกอบกับสามารถที่จะนำภาพมาประกอบการเทศน์ได้

นายชินทัต ยังบอกด้วยว่า ด้วยระยะเวลาการเทศน์ประมาณ ๒ ชั่วโมง เทศนามัลติมีเดีย สามารถสะกดคนฟังเทศน์ “สนุก สุข ซึ้ง กินใจ” กล่าวคือ

สนุก หมายถึง ความรื่นเริงในธรรมะ

สุข หมายถึง ปลื้ม ปิติ มีความสดชื่นในการฟังธรรม

ซึ้ง หมายถึง มีความซาบซึ้งในการฟังธรรม

กินใจ หมายถึง ดึงดูดให้น้อมนำธรรมะที่ฟังไปปฏิบัติในชีวิตจริง

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น