วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

หลวงพ่อคง ฐิติปัญโญ วัดตะคร้อ อริยะโลกที่ 6

"พระครูคงคนครพิทักษ์" หรือ "หลวงพ่อคง ฐิติปัญโญ" วัดตะคร้อ อ.คง จ.นครราชสีมา เป็นพระเกจิ อาจารย์เรืองวิทยาคมรุ่นเก่าอีกรูปหนึ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วภาคกลาง หลวงพ่อคง เดิมชื่อ คง เทพนอก เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่ 20 พ.ค.2453 ปีกุน ณ บ้านคอนเมือง หมู่ 2 ต.เทพาลัย อ.คง จ.นคร ราชสีมา บิดา-มารดา ชื่อ นายพูน และนางแย้ม เทพนอก ประกอบอาชีพทำนาทำไร่

ท่านเป็นลูกคนโต จึงต้องทำงานหนักตรากตรำมากกว่าคนอื่นตั้งแต่เด็กจนโต หัดไถนา ปักดำ ถอนกล้า เกี่ยวข้าวและหาบข้าว ช่วยบิดา-มารดา ทำงานทุกอย่าง เพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ ต่อมาบิดาได้นำไปฝากกับ หลวงพ่อหมั่น ที่วัดบ้านคอนเมือง จ.นครราชสีมา หลวงพ่อหมั่นเป็นพระปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ เชี่ยวชาญวิทยาคม ท่านจึงเป็นที่เคารพนับถือของคนแถบนั้น โดยวัดบ้านคอนเมืองนั้นไม่ห่างไกลกับบ้านของท่าน ด้วยบิดา-มารดาต้องการให้ท่านได้เล่าเรียนหนังสือ อ่านออกเขียนได้และมีวิชาติดตัว 

ชีวิตเด็กวัดเป็นคนหนักเอาเบาสู้ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่การงานและมีเมตตา เมื่ออายุ 16 ปี บรรพชาเมื่อปี พ.ศ.2470 แต่บวชได้เพียง 2 ปี ก็ต้องลาสิกขา เหตุไม่มีคนเลี้ยงดูบิดามารดา พ.ศ.2474 เมื่อน้องของท่านโตพอที่จะรับภาระหน้าที่ได้จึงได้เข้าพิธีอุปสมบท ขณะนั้นอายุ 21 ปี โดยความตั้งใจแต่ทีแรกท่านเพียงต้องการบวชเพื่อทดแทนคุณ และเป็นไปตามค่านิยมของท้องถิ่นที่ผู้ชายทุกคนต้องได้เคยบวชเรียนมาก่อนครองเรือน อุปสมบท ณ วัดบ้านวัด ต.เทพาลัย อ.คง จ.นครราชสีมา มี หลวงพ่อทุย (พระครูศีล วิสุทธิพรต) เจ้าอาวาสวัดเดิม อ.พิมาย เป็นพระอุปัชฌาย์, พระอาจารย์ทองสุข สุชาโต เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และ พระอาจารย์ทิม สุมโน เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า ฐิติปัญโญ มีความหมายว่า ผู้มีปัญญาตั้งมั่น

หลังอุปสมบทพระภิกษุคงได้มาศึกษาเล่าเรียนกับ หลวงพ่อทุย วัดเดิม อ.พิมาย พระอุปัชฌาย์ของท่าน ซึ่งหลวงพ่อทุยเป็นพระภิกษุเรืองวิทยาคม เป็นที่นับถือมากของชาวพิมายและโคราช และเมื่อมีเวลาว่างพระภิกษุคงได้ปรนนิบัติอุปัฏฐากหลวงพ่อทุย

พ.ศ.2480 หลวงพ่อทุยได้แนะนำให้พระภิกษุคงได้ไปศึกษาเล่าเรียนกับ หลวงพ่อเขียว เจ้าอาวาสวัดบัวใหญ่ อ.บัวใหญ่ ซึ่งเป็นลูกศิษย์ของหลวงพ่อทุยเช่นกัน โดยหลวงพ่อเขียวท่านมีวิชาที่เชี่ยวชาญด้านแคล้วคลาดปลอดภัย

พระภิกษุคงได้รับการถ่ายทอดวิชาที่เข้มขลังทั้งหมด อีกทั้งในขณะที่อยู่จำพรรษาที่วัดบัวใหญ่ ท่านขึ้นชื่อว่าเป็นพระที่เทศน์ได้เก่งมาก ได้รับกิจนิมนต์ให้ไปเทศน์ในถิ่นทุรกันดารเสมอๆ ซึ่งเป็นการฝึกตนเองให้กับพระภิกษุหนุ่ม ในช่วงนั้นพระภิกษุคงยังได้มีโอกาสออกท่องธุดงค์ไปทั้งลาวและเขมร ซึ่งการเดินทางในยุคนั้นยากลำบากมาก ภาคอีสานเต็มไปด้วยป่าดงดิบ ดังนั้น พระภิกษุที่ออกธุดงค์ได้จะต้องมีวิชาที่เก่งกล้า

พ.ศ.2493 ครั้นเมื่อตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตะคร้อ อ.คง จ.นครราชสีมา ว่างลง หลวงพ่อเขียวเห็นว่าพระหนุ่มรูปนี้มีความสามารถที่จะรับตำแหน่งนี้ได้ จึงสนับสนุนให้พระหนุ่มได้มีโอกาสดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดตะคร้อ กล่าวได้ว่าวัดตะคร้อในยุคนั้นเป็นวัดยากจน แถบอำเภอคงจัดได้ว่าเป็นอำเภอที่ทุรกันดารที่สุดในยุคนั้น หลวงพ่อคงต้องบริหารปกครองพระลูกวัด ท่านได้สร้างเสนาสนะ อุโบสถ โรงเรียนพระปริยัติธรรม ฯลฯ จนกระทั่งได้เป็นวัดพัฒนาตัวอย่างของกระทรวงศึกษาธิการ

หลวงพ่อคง วัดตะคร้อ เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ด้วยวัตรปฏิบัติที่งดงามน่าเลื่อมใส หลวงพ่อท่านมีวิชาอาคมที่เข้มขลัง ท่านรับกิจนิมนต์โดยไม่เลือกชนชั้นวรรณะ ทุกคนที่มากราบนมัสการหลวงพ่อท่านจะมอบวัตถุมงคลให้คนละกำมือ แม้กระทั่ง หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ พระเกจิดังแห่งวัดบ้านไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นคร ราชสีมา ยังได้เข้ากราบนมัสการหลวงพ่อคง ณ วัดตะคร้อ เนื่องในวันคล้ายวันเกิดครบ 7 รอบ เมื่อปีพ.ศ.2537 เนื่องจากเป็นสหธรรมิกกัน

*************************

เรื่องโดย : ข่าวสดออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น