วันศุกร์ที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

"ผ้าขี้ริ้วห่อทอง" หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท

หลวงปู่เจี๊ยะ จุนโท เป็นศิษย์รุ่นหลังของ หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต ท่านได้มีโอกาสกราบหลวงปู่มั่นเป็นครั้งแรก เมื่อบวชได้ ๓ พรรษาเท่านั้น ประสบการณ์ครั้งนั้นไม่เพียงตอกย้ำศรัทธาของท่านให้มั่นคงในการปฏิบัติเท่านั้น หากยังพบคำตอบในการเจริญกรรมฐาน จนมีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

หลวงปู่เจี๊ยะ หรือ "ผ้าขี้ริ้วห่อทอง" ของหลวงปู่มั่นนั้น เป็นพระที่มีกิริยาอาการไม่เหมือนใคร อยู่นิ่งไม่ค่อยได้ ขยับเนื้อขยับตัวอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังชอบพูดจาโผงผาง ส่งเสียงเอะอะ ดูอาการภายนอกแล้วก็ไม่สู้เรียบร้อย มีเรื่องเล่าว่าคราวหนึ่งท่านได้รับนิมนต์ไปสวดในงานแต่งงาน เมื่อถึงบ้านเจ้าภาพ แทนที่จะขึ้นบันไดตามปกติ ท่านกลับโหนตัวขึ้นทางลูกกรง พอนั่งเสร็จ ท่านก็ถามเจ้าภาพว่า "จะสวดหรือไม่สวดล่ะ เอ้า ประเคนกินกันเลย"

เวลาไปบิณฑบาต พอถึงบ้านญาติโยมที่คุ้นเคย ท่านถือวิสาสะเดินเข้าไปในบ้านเลย แล้วพูดกับเจ้าของบ้านว่า “เฮ้ย ชงกาแฟถ้วยซิ” ระหว่างที่จิบกาแฟก็นั่งไขว่ห้างกระดิกเท้า สูบบุหรี่ วันไหนอยากฉันอะไรก็พูดว่า “เฮ้ย ตำน้ำพริกกุ้งแห้งเกลือให้กูหน่อย”

วันหนึ่งท่านขาเจ็บ ต้องนั่งรถไปบิณฑบาต พอถึงบ้านศิษย์ที่ใกล้ชิด ท่านก็สั่งทันที "เอ้า เอาข้าวมาให้กูกิน" ว่าแล้วก็ตั้งบาตรแล้วนั่งอ่านหนังสือพิมพ์ พอลูกศิษย์ทัก ท่านก็ว่า "ขากูเจ็บนี่หว่า" ลูกศิษย์จึงว่า "ท่านอาจารย์ไม่ต้องมาบิณฑบาตเลย นอนอยู่เฉย ๆ เลย จะจัดไปถวายที่วัดเอง" "ไม่ได้เดี๋ยวเขาจะด่า หาว่าขี้เกียจบิณฑบาต" ท่านตอบ ลูกศิษย์จึงพูดต่อหน้าท่านว่า "นั่นล่ะ เขาจะด่าหนักล่ะไปอย่างนั้น" ท่านฟังแล้วก็ไม่ได้เคืองศิษย์แต่อย่างใด

ท่านจะไปไหนมาไหน ไม่มีพิธีรีตองมาก เรียกว่าไปง่ายมาง่าย พาหนะที่ท่านใช้เดินทางไปกรุงเทพ ฯ เป็นประจำ หาใช่รถยนต์ไม่ แต่เป็นรถสิบล้อ เวลาจะเดินทาง พร้อมเมื่อใดท่านก็ออกไปโบกรถทันที รถคันไหนที่ท่านหมายตาไว้ เป็นต้องจอดทุกคัน เพราะท่านไม่ได้โบกริมถนน แต่ยืนโบกกลางถนนเลย บางครั้งท่านรีบมาก คว้าจีวรคว้าย่ามได้ก็ออกจากวัดเลย แล้วค่อยห่มจีวรขณะที่ยืนโบกอยู่กลางถนน บางทีไม่ได้โบกเฉย ๆ ยกเท้าโบกด้วย ลูกศิษย์เล่าว่าคราวหนึ่งมารอรับท่านที่กรุงเทพ ฯ เห็นท่านนั่งอยู่บนหลังคารถสิบล้อ พร้อมกับตะโกนว่า "หนาวโว้ย ๆ ...หนาว" ท่านว่าข้างล่างนั้นมีคนเต็ม มีผู้หญิงมาด้วย ท่านจึงขึ้นมานั่งบนหลังคา

ท่านเป็นพระที่ไม่ถือเนื้อถือตัว พระอาจารย์วัน อุตตโม ซึ่งเป็นวิปัสสนาจารย์ชื่อดังภาคอีสาน เล่าว่า เคยได้รับนิมนต์ไปฉันในงานพระราชทานเพลิงศพ หลวงปู่ฝั้น อาจาโร ระหว่างที่ฉันอยู่บนปะรำพิธี ก็สังเกตเห็นหลวงปู่เจี๊ยะนั่งฉันปะปนกับพระหนุ่มเณรน้อยด้านล่าง หลวงปู่เจี๊ยะนั้นเป็นพระที่พระอาจารย์วันเคารพมาก พอฉันเสร็จจึงมาขอขมาต่อหลวงปู่เจี๊ยะว่า "ครูอาจารย์ เกล้า ฯ ขอขมาที่นั่งสูงกว่า" พระเณรทั้งหลายตกใจกันใหญ่เพราะคิดว่าหลวงปู่เจี๊ยะเป็นพระหลวงตาธรรมดา ๆ

อีกคราวหนึ่งพระอาจารย์วันไปงานฉลองพระที่จังหวัดขอนแก่น ท่านได้รับนิมนต์ให้นั่งบนแท่นใหญ่ในพิธี พอเห็นหลวงปู่เจี๊ยะนั่งข้างล่าง ท่านก็รีบกระโดดลงมาขอขมาหลวงปู่ หลวงปู่ตอบว่า "วัน...ไป ๆ ไม่เป็นไร"


คนส่วนใหญ่มองเห็นหลวงปู่เจี๊ยะว่าเป็นพระหลวงตาธรรมดา ๆ อาจจะนึกดูหมิ่นหรือค่อนแคะอยู่ในใจด้วยก็ได้ที่เห็นอากัปกิริยาของท่านไม่เรียบร้อย แต่เขาเหล่านั้นหารู้ไม่ว่าหลวงปู่เจี๊ยะเป็นที่นับถือของพระอาจารย์องค์สำคัญ ๆ สายหลวงปู่มั่น ท่านเหล่านี้มาเยี่ยมและกราบคารวะท่านสม่ำเสมอ เช่น หลวงปู่หลุย หลวงปู่ชอบ หลวงปู่สาม หลวงปู่ตื้อ หลวงตามหาบัว หลวงพ่อพุธ และพระอาจารย์สิงห์ทองเป็นต้น

แม้ว่าท่านจะเป็นคนโผงผาง เอะอะตึงตังอยู่เสมอ แต่ท่านนอบน้อมในธรรมยิ่งนัก บางคราวขณะที่กำลังคุยกับพระเณร ส่งเสียงดัง หรือมีเสียง เฮ ๆ เป็นระยะ ๆ แต่ทันทีที่มีพระเณร ผู้ใหญ่หรือเด็ก พูดเรื่องธรรมะ ท่านจะนิ่งฟัง แสดงความเคารพในธรรม จนศิษย์บางคนตั้งข้อสังเกตว่า "กิริยาในธรรมกับกิริยาในโลกของท่านต่างกันนัก"

หลวงปู่จันทา ถาวโร เคยถามหลวงปู่เจี๊ยะว่า กิริยาอาการของหลวงปู่เป็นอย่างนี้ ท่านไม่กลัวคนตำหนิบ้างหรือ ท่านตอบว่า "อันว่ากิริยาภายนอกนั้นจะเป็นอย่างใดก็ตามเถอะ แต่ถ้าหากเรามุ่งมั่นปั้นใจจนเที่ยงดี ก็ยังดีกว่าคนที่กิริยางามแต่ใจไม่เที่ยง เพราะนิสัยวาสนาคนเรามันไม่เหมือนกัน เขาก็ยังมีคำพูดอยู่มิใช่หรือว่า แข่งอะไรก็แข่งได้ แต่แข่งวาสนาแข่งกันไม่ได้ เราจึงไม่ไปแข่งวาสนากับใคร เราเป็นอย่างนี้จึงพอใจอย่างนี้ เพราะนิสัยวาสนาเป็นมาอย่างนี้"

ในยุคที่ผู้คนติดยึดอยู่กับรูปลักษณ์ภายนอก และตัดสินคนจากสิ่งที่เห็นด้วยตานั้น หลวงปู่เจี๊ยะได้เตือนใจให้เราตระหนักว่าสิ่งสำคัญกว่า คือ คุณธรรมภายใน หากเราไม่หลงเข้าใจว่าเปลือกเป็นแก่นแล้ว ก็ย่อมเรียนรู้สิ่งดี ๆ ได้มากมายจากหลวงปู่เจี๊ยะ น่าเสียดายก็ตรงที่ท่านได้ละสังขารไปแล้วตั้งแต่ปี ๒๕๔๕ คงเหลือแต่เรื่องราวมากมายที่สอนใจเราและอนุชนรุ่นหลัง

************************

เรียบเรียงโดย : ทีมงานมงคลพระ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น