นายศักดิ์ชัย อุ่นจิตติกุล เลขาธิการคณะกรรมการศาลเจ้าปู่-ย่า สมัยที่ ๕๘ บอกว่าศูนย์วัฒนธรรมไทยจีนอุดรธานี สร้างขึ้นเพื่อเป็นการเชิดชูองค์เจ้าปู่เจ้าย่า ที่เป็นที่เคารพและศรัทธาของชาวอุดรธานีและจังหวัดใกล้เคียง อีกทั้งเป็นแหล่งในการสืบสานวัฒนธรรม ประเพณีอันดีงามของชาวจีนที่อพยพจากประเทศจีนมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในจังหวัดอุดรธานี
นอกจากนี้แล้วยังมีแนวคิดที่จะจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับชนชาติจีนในระดับสากล เพราะขืนแสดงประวัติของคนจีนอุดรคงไม่มีใครสนใจ จึงจัดแสดงเรื่อง ขงจื้อ มหาปราชญ์ผู้สอนเรื่องคุณธรรม ความกตัญญู รวมทั้งศาสตร์การปกครอง
เมื่อสร้างอาคารเสร็จจึงสร้างสวนแบบจีน แต่เมื่อเข้าไปดูแล้วมีแต่ความสวยงาม เหมาะแก่การถ่ายรูปเป็นที่ระลึก ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดสร้างให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยว แต่ดูเหมือนว่ายังขาดสาระไปบางอย่าง ทั้งนี้ต้องมีแตกต่างจาก ศาลเจ้าที่ จ.สุพรรณบุรี และวัดไตรมิตร ในที่สุดก็พบว่า คุณธรรม ๑๐๐๐ ปี ๒๔ ยอดกตัญญูจีน ที่เป็นตำนานสุดยอดความกตัญญูแห่งแผ่นดินจีน
“๒๔ ยอดกตัญญู เป็นเรื่องเล่าที่มีมานานแล้วในประวัติศาสตร์จีน เป็นหนึ่งในเรื่องที่ถูกสอนให้เด็กๆ ได้รับรู้ ถึงบุคคลในประวัติศาสตร์จีนที่ถูกยกย่องว่าเป็นสุดยอดกตัญญู แม้ว่าหลายเรื่องในนั้นจะเป็นเหมือนตำนานอภินิหารในแบบเรื่องเล่าสืบต่อๆ กันมาจากโบราณ แต่ทุกเรื่องต่างประกอบด้วยคุณธรรมสอนใจให้ได้รู้จักและซาบซึ้งถึงความกตัญญูต่อบิดา มารดาของตนเอง แม้จะมีชีวิตทุกข์ยากลำเค็ญเพียงใด สวรรค์ย่อมไม่ทอดทิ้งคนกตัญญู” นายศักดิ์ชัยกล่าว
พร้อมกันนี้ นายศักดิ์ชัย ได้เล่าถึงเรื่อง ๒๔ ยอดกตัญญูจีน ที่ประทับใจมากที่สุด เรื่อง “แม่เลี้ยงลูกเลี้ยง” ซึ่งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้น สมัยราชวงศ์โจว จื่อเชียนกำพร้ามารดาแต่เด็ก บิดามีภรรยาใหม่ มีบุตรด้วยกัน ๒ คน มารดาเลี้ยงเกลียดชังจื่อเชียนมากมักหาเรื่องดุด่าเฆี่ยนตีอยู่เสมอ วันหนึ่งในฤดูหนาวบิดาใช้ให้จื่อเชียน เข็นรถม้าออกไปข้างนอกเพื่อจะไปทำธุระ ขณะที่จื่อเชียนกำลังเข็นรถม้าอยู่นั้นเชือกบังเหียนที่บังคับม้าเกิดหลุดจากมือ
เมื่อบิดาตรวจดูเสื้อผ้าของจื่อเชียน ก็รู้ว่าเสื้อกันหนาวของบุตรนั้นภายในบุด้วยนุ่นเทียม ครั้นไปตรวจดูเสื้อผ้าของลูกอีกสองคนปรากฏว่าภายในบุด้วยนุ่นอย่างดี บิดาโมโหสุดขีด คิดจะขับไล่นางไปจากบ้าน จื่อเชียนรีบคุกเข่า พูดว่า บิดาอย่าไล่มารดาไปนะครับ ถ้ามารดาอยู่ผมหนาวคนเดียวเท่านั้น ถ้ามารดาไปเราสามคนต้องลำบากไร้คนดูแล มารดาเลี้ยงได้ฟังคำของลูกเลี้ยง รู้สึกตื้นตันใจมากได้สำนึกผิด ตั้งแต่นั้นมานางก็รักเอ็นดูจื่อเชียนเสมอบุตรของตน
นางจั่งซุนฮูหยิน แม้จะไม่ได้กินข้าว แต่ได้กินน้ำนมทุกวัน เวลาผ่านไปหลายปีนางก็ยังแข็งแรงดี วันหนึ่งนางเกิดป่วยหนัก ได้เรียกบุตรหลานทุกคนมาพร้อมหน้าแล้วกล่าวว่า "ย่าไม่มีอะไรจะตอบแทนบุญคุณของลูกสะใภ้ ขอเพียงให้ลูกสะใภ้ของลูกหลานทุกคน จงได้มีความกตัญญูต่อแม่ผัวดังเช่นลูกสะใภ้ของย่าคนนี้ย่าก็พอใจแล้ว”
ส่วนอีกเรื่องหนึ่ง คือ “ชิมอุจจาระบิดา” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในสมัยราชวงศ์ฉี เกิงเฉียนโหลวสอบเข้ารับราชการได้ที่อำเภอแห่งหนึ่ง เข้าทำงานได้ไม่ถึง ๑๐ วัน จู่ๆ ก็รู้สึกใจสั่นเหงื่อไหลโซมกายโดยไร้สาเหตุ สังหรณ์ใจว่าทางบ้านคงเกิดเหตุอะไรขึ้น จึงลาราชการกลับบ้านเกิด
เมื่อถึงบ้านก็พบว่าบิดาเพิ่งจะป่วยได้ ๒ วัน หมอที่มารักษาบอกเขาว่า ถ้าอยากรู้ว่าอาการป่วยหนักหรือเบา เพียงแค่ชิมอุจจาระของคนไข้ก็จะทราบ หากอุจจาระมีรสขมก็รักษาไม่ยาก แต่ถ้ามีรสหวานก็หมดหนทางรักษา เฉียนโหลวมิรอช้าเอาอุจจาระของบิดาขึ้นชิมทันที ปรากฏว่ามีรสหวาน ทำให้เขาทุกข์ใจมาก พอตกค่ำเขาอธิษฐานต่อเทพเจ้าเบื้องบน ขอให้บิดาจงหายป่วย ส่วนตนเองจะขอตายแทน ด้วยอานุภาพแห่งความกตัญญูของเขา ไม่ช้าบิดาก็หายเป็นปกติ
“ความกตัญญู เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่ เป็นรากฐานแท้แก่นเดิมที่ควรจะมีในจิตใจของมนุษย์ทุกคน สิ่งหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันว่าคนยังให้ความกตัญญู คือ ในวันที่ประกาศหาเจ้าภาพในการจัดทำไม่น่าเชื่อว่าหลังจากประกาศหาทุนสร้างใช้เวลาเพียง ๓๐ นาทีเท่านั้น ก็มีคนมาร่วมเป็นเจ้าภาพครบ ๒๔ แผ่น” เลขาธิการคณะกรรมการศาลเจ้าปู่-ย่ากล่าวทิ้งท้าย
ศูนย์วัฒนธรรมไทยจีนอุดรธานี เปิดให้ชมฟรีอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ ๖ มกราคม ๒๕๕๖ ที่ผ่านมา โดยเปิดให้เข้าชมตั้งแต่เวลา ๐๙.๐๐-๑๙.๐๐ สอบถามข้อมูลได้ที่ โทร.(๐๔๒)๒๔๗-๒๙๑ และ (๐๔๒)-๒๔๔-๔๔๒
ในการดำเนินการจัดสร้างศูนย์วัฒนธรรมนั้น คณะกรรการศาลปู่-เจ้า สมัยที่ ๕๘ ได้ริเริ่มระดมทุนจัดซื้อที่ดิน ๓ ไร่ ใช้เวลาก่อสร้างเป็นเวลาเกือบ ๕ ปี ทั้งนี้เมื่อวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๒ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เสด็จไปทรงเป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ และดำเนินการจนแล้วเสร็จสมบูรณ์ใช้งบประมาณ ๗๕ ล้านบาท
ภายในศูนย์วัฒนธรรมไทย-จีนอุดรธานี ประกอบด้วย อาคารพิพิธภัณฑ์ บอกเล่าเรื่องราวของชาวจีนที่อพยพมาอยู่ที่จังหวัดอุดรธานี เมื่อกว่า ๑๒๐ ปีที่ผ่านมา ผลงานของคณะกรรมการศาลเจ้าปู่ย่าจากอดีตถึงปัจจุบัน
ศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรม มีการจำลองประเพณีการไหว้ของชาวจีน ประวัติมหาปราชญ์ขงจื้อ ห้องฉายภาพยนตร์ ๓ มิติ ห้องประชุม ห้องออเคสตร้า ศูนย์การเรียนรู้ และโรงทาน
อาคารเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อเป็นอนุสรณ์และเชิดชูพระเกียรติในวาระที่พระองค์เสด็จทรงงานอัยการที่จังหวัดอุดรธานี
หอเกียรติยศ เป็นการประกาศเกียรติคุณให้แก่ผู้ที่ทะนุบำรุง สนับสนุน กิจกรรมศาลเจ้าปู่-ย่า อย่างต่อเนื่อง
นายศักดิ์ชัย กล่าวว่า ผลงานด้านการส่งเสริมวัฒนธรรม ของมูลนิธิศาลเจ้าปู่-ย่าอุดรธานี คือ วงดนตรีออเคสตร้าจีนวงแรกของประเทศไทย ที่ใช้นักดนตรี เล่นเครื่องดนตรีจีนมากถึง ๔๐ ชิ้น เพื่อสืบสานศิลปะดนตรีจีน นอกจากนี้แล้วยังมีโครงการเปิดสอนดนตรีจีนให้ฟรี โดยมูลนิธิเป็นผู้ออกทุนให้หมด
*************************
เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น