วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สุดยอดงานประกวดพระ กับ สุดยอดหนังสือรางวัลชนะเลิศ


"สูจิบัตร หรือโบรชัวร์งานประกวดพระ"
ประกอบด้วยเนื้อหา ๓ ส่วน คือ 

๑.รายละเอียดของการจัดงาน ประกอบด้วย วัตถุประสงค์การจัดงาน รางวัลการประกวด หนังสืออนุญาตจองการจัดงานจากสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย วิธีการส่งพระเข้าประกวด หลักการพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการ กติกาการตัดสินพระที่ส่งเข้าประกวด รายการประกวดพระ และกำนดการประกวดพระ

๒.คณะกรรมการจัดงาน คณะกรรมการจากสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย และบุคลลที่เกี่ยวข้องกับการจัดงาน ซึ่งถ้างานใดสมาคมพระเครื่องพระบูชาไทยให้การสนับสนุน จะมีรายชื่อคณะกรรมการของสมาคมไปเป็นกรรมการตัดสิน โดยเฉพาะกรรมการตัดสินชุดพระสมเด็จ ถ้างานใดคณะกรรมการชุดนี้ไปมากกว่า ๑๐ คน ถือว่าเป็นงานที่มีคุณภาพ คนจะส่งพระเข้าประกวดมากกว่างานทั่วๆ ไป และ ๓.ผู้ให้การสนับสนุนการจัดงาน หรือที่เรียกว่า "สปอนเซอร์" ทั้งนี้ น่าจะมีเนื้อหามากกว่า ๗๐% ของโบรชัวร์ทั้งเล่ม

เนื่องจากโบรชัวร์เป็นของฟรี คนส่วนใหญ่เมื่อได้รับแจกอ่านจบแล้ว จะทิ้งอย่างไร้ค่า แต่มีโบรชัวร์อยู่ประเภทหนึ่ง แม้จะเป็นของแจกฟรี แต่ก็มากด้วยคุณค่า และที่สำคัญคือ มีการซื้อขายกัน โบรชัวร์ที่ว่าคือโบรชัวร์งานการประกวดการอนุรักษ์พระเครื่อง พระบูชา และเหรียญคณาจารย์

โดยล่าสุดในงานประกวดพระ จัดโดยกองบัญชาการกองทัพไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๒๘ เมษายนที่ผ่านมา ณ ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ถนนแจ้งวัฒนะ ได้มีการนำ โบรชัวร์ประกวดพระเครื่องกว่า ๒,๐๐๐ ฉบับ ที่จัดทำโดยนิตยสารพระท่าพระจันทร์ ซึ่งจะจัดงานประกวดพระเครื่อง วันอาทิตย์ที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๕๖ ณ ร.ร.นายร้อตำรวจสามพราน อ.สามพราน จ.นครปฐม ปรากฏว่า "ผู้ประกวดพระแห่แย่งกันจนหมดเกลี้ยงในเวลาไม่ถึง ๓๐ นาที"

สำหรับความพิเศษของของโบรชัวร์เล่มดังกล่าว คือ ขนาดของโบรชัวร์ที่ใหญ่พอๆ กับหนังสือปกแข็ง พิมพ์ ๔ สี่อย่างสวยงาม โดยได้ลงทั้งภาพกรรมการตัดสินพระแต่ละโต๊ะ รวมทั้งรูปพระเครื่องที่จะมีการประกวดทุกรายการ ขณะเดียวกันยังนำรูปพระขนาดใหญ่ พร้อมกับพิมพ์คำบรรยายไว้อย่างครบครันด้วยคุณภาพไม่แตกต่างจากหนังสือรางวัลพระกวดพระ ทั้งนี้ นายสุรเดช ลิ้มพานิช หรือ หมึก ท่าพระจันทร์ หนึ่งในทีมงานนิตยาสารพระท่าพระจันทร์ บอกว่า ต้นทุนเฉพาะการพิมพ์โบรชัวร์สูงถึงเล่มละ ๒๐๐ บาท

"ในอดีตการทำโบรชัวร์งานประกวดพระจะพิมพ์ออกมาเป็นแผ่นเดียว มีขนาดใหญ่เท่ากับหนังสือพิมพ์รายวัน มีเฉพาะวัตถุประสงค์ รายชื่อผู้ดำเนินงาน และรายการประกวดพระแต่ละโต๊ะ ซึ่งแต่ละครั้งจัดงานอยู่ประมาณ ๒๐๐-๓๐๐ รายการเท่านั้น จากนั้นก็มีการพัฒนาเป็นรูปเล่มในลักษณะเย็บแม็กตรงกลาง ซึ่งทั้ง ๒ แบบนี้ยังไม่มีการนำรูปพระมาลง จนกระทั่งมีการพิมพ์ภาพพระบูชา พระเครื่อง เหรียญพระคณจารย์ และวัตถุมงคลเครื่องรางของขลังลงไป การจัดพิมพ์โบรชัวร์อย่างพิถีพิถัน ต้องยกให้กับโบรชัวร์ที่จัดทำโดยนิตยสารพระท่าพระจันทร์" นี่คือพัฒนาการของโบรชัวร์ จากคำบอกเล่าของนายสมศักดิ์ ศกุนตะนาฏ ประธานชมรมนักข่าวและช่างภาพพระเครื่อง

พร้อมกันนี้ นายสมศักดิ์ ยังบอกด้วยว่า รูปพระเครื่องและวัตุมงคลที่นำมาลงในโบรชัวร์นั้น ล้วนผ่านการกลั่นกรองจากคณะผู้จัดทำเป็นอย่างดี ทั้งที่เป็นรูปพระเครื่ององค์สำคัญๆ จากบุคคลที่มีชื่อเสียง ทั้งในและนอกวงการ มีการลงภาพพระขนาดใหญ่ ทั้งหน้าและหลัง สามารถใช้เป็นตำราในการศึกษาเรียนรู้พระเครื่องได้เป็นอย่างดี โบรชัวร์งานประกวดพระบางแห่งทำได้ดียิ่งกว่าหนังสือพระที่วางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดด้วยซ้ำ ทั้งๆ ที่เป็นของแจกฟรี และนับวันยิ่งจะมีการแข่งขันในเรื่องคุณภาพของโบรชัวร์มากยิ่งขึ้น

ในขณะที่ พ.อ.อ.โกวิท แย้มวงษ์ ผู้อำนวยการนิตยสารพระเครื่องอภินิหาร คณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์สมาคมพระเครื่องพระบูชาไทย รองประธานชมรมนักข่าวและช่างภาพพระเครื่อง บอกว่า ทุกวันนี้ต้องยอมรับว่า งานประกวดพระเกือบทุกงาน มาจากการนำโบรชัวร์ไปขายได้ และต้องยอมรับว่า การทำงานโบรชัวร์การประกวดพระแต่ละครั้ง ส่วนใหญ่จะทำแข่งขันกัน เท่าที่ทราบ งานประกวดพระครั้งแรกที่มีคนนำโบรชัวร์ไปวางขายระหว่างงานประกวด น่าจะเป็นงานการประกวดการอนุรักษ์พระเครื่อง พระบูชา และเหรียญคณาจารย์ ของตำรวจภูธรภาค ๗ เมื่อหลายปีก่อน

เหตุที่ขายได้เพราะโบรชัวร์เล่มหนา พิมพ์ด้วยกระดาษสี่สีอย่างดี มีภาพพระแท้ๆ โชว์อยู่ ภาพพระที่นำมาโชว์แบ่งออกเป็น ๒ ส่วน คือ ๑.เป็นภาพพระของผู้ให้การสนับสนุน ที่เก็บไว้นานแล้ว อยากมาโชว์ และ ๒.เป็นภาพที่ผู้จัดงานประกวดหามา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาพพระที่อยู่ในหนังสือรางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศ คนที่ส่งพระเข้าประกวดควรจะเก็บไว้

"โบรชัวร์ทุกวันนี้พิมพ์กระดาษสี่สีอย่างดี บางงานต้นทุนค่าพิมพ์เกือบ ๑๐๐ บาท ที่ถูกๆ หน่อยก็ไม่ต่ำกว่า ๓๐ บาท ส่วนใหญ่จะพิมพ์ ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ เล่ม แจกฟรี สำหรับเป็นคู่มือในการส่งพระประกวด โดยส่วนตัว รู้สึกเสียดายที่คนส่งพระเข้าประกวดบางคนโยนทิ้งอย่างไร้คุณค่า แต่ก็ยังมีคนส่งพระเข้าประกวดจำนวนไม่น้อย เก็บไว้เป็นตำราศึกษาได้" พ.อ.อ.โกวิท กล่าว

สุดยอดหนังสือรางวัลประกวดพระ

"หนังสือรางวัลประกวดพระเครื่อง" เป็นหนังสือที่ผู้จัดการประกวดการอนุรักษ์พระบูชา พระเครื่อง และเหรียญคณาจารย์จัดพิมพ์ขึ้นมาเพื่อเป็นโล่รางวัลสำหรับผู้ชนะเลิศในการส่งพระเข้าประกวดแต่ละรายการ โดยมีการพิมพ์ครั้งแรกเมื่อประมาณปี ๒๕๒๘ โดยอาจารย์ช่าง สะพานพุทธ ซึ่งเป็นการรวบรวมภาพพระเครื่องและวัตถุมงคลที่ชนะเลิศงานประกวดพระสนามต่างๆ และได้รับความนิยมอยู่ระยะหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันนี้ราคาหนังสืออยู่ที่ประมาณ ๑,๕๐๐ บาท จากนั้นหนังสือรางวัลประกวดพระเครื่องก็พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามปี ๒๕๔๘ หนังสือสุดยอดพระยอดนิยม ที่จัดทำโดยทีมงานนิตยสารพระเครื่องท่าพระจันทร์ เพื่อเป็นโล่รางวัลในงานประกวดพระเครื่องของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างความฮือฮาให้วงการจัดทำหนังสือรางวัลประกวดพระเครื่องเป็นอย่างยิ่ง หลังงานประกวดพระเสร็จสิ้นลง มีการซื้อหากันในราคาเล่มละกว่า ๑,๐๐๐ บาท และปัจจุบันนี้มีการซื้อหากันในราคาสูงถึง ๕,๐๐๐ บาท ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือรางวัลประกวดพระเครื่องแพงที่สุด

"แม้ว่าหนังสือรางวัลประกวดพระเครื่องจะมีการทำออกมาทุกๆ งาน แต่ได้รับความนิยมจากผู้ซื้อและผู้อ่านไม่เท่ากัน ในจำนวนหนังสือประเภทเดียวกันนี้ ต้องยกให้หนังสือที่จัดทำโดยทีมงานนิตยสารพระท่าพระจันทร์ ที่มี เฮียอ้วน นครปฐม เฮียหมึก ท่าพระจันทร์ เฮียยี่ บางแค และ เฮียวัฒน์ บางแค เป็นกำลังสำคัญ ทุกเล่มล้วนได้รับความสนใจจากผู้ซื้อจำนวนมาก" นี่คือความเห็นของ น.ส.อรวรรณ แสนประเสริฐ หรือ ติ๋ม ท่าพระจันทร์ เจ้าของแผงขายหนังสือพระเครื่อง และวัตถุมงคลที่เปิดดำเนินการมากว่า ๓๐ ปี

สำหรับเหตุผลที่ทำให้หนังสือรางวัลประกวดพระเครื่องได้รับความนิยมไม่เท่ากันนั้น ติ๋ม ท่าพระจันทร์ บอกว่า ต้องขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของคณะผู้จัดพิมพ์เป็นหลัก หนังสือพระที่มีคุณภาพไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ใดหรือใครเป็นผู้จัดพิมพ์ เหตุผลแรกที่ผู้อ่านให้ความสำคัญ คือ ต้องเป็นภาพพระแท้ทั้งเล่ม หากหนังสือเล่มใดมีภาพพระปลอมปรากฏ ซึ่งบางเล่มมีภาพพระปลอมนับสิบภาพ ผู้อ่านจะเข้าใจว่าผู้จัดทำนั้นไม่มีความรู้เรื่องพระจริง โดยมีการพูดกันแบบปากต่อปาก ในที่สุดก็ทำให้หนังสือเล่มนั้นๆ ไม่ได้รับความนิยม

*************************

เรื่องโดย : คมชัดลึกออนไลน์
เรียบเรียงโดย : เต้ มงคลพระ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น