วันอาทิตย์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2555

หลวงพ่อฟู มอบโอวาท "พระนวกะ" บางปะกง


คณะสงฆ์อำเภอบางปะกง และ วัดบางสมัคร ต.บางสมัคร อ.บางปะกง จ.ฉะเชิง เทรา ได้จัดประชุมอบรมพระนวกะ และ พิธีทำวัตรถวายสักการะพระเถรานุเถระ เจ้าคณะพระสังฆาธิการในเขตอำเภอบางปะกง ประจำปี 2555 ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาเป็นประจำทุกปี และยังได้จัดอบรมพระนวกะคือ พระที่บวชใหม่ ในเขตอำเภอบางปะกงทั้งหมด 22 วัด ซึ่งมีพระสงฆ์ที่เข้าร่วมประชุมอบรมในครั้งนี้จำนวน 300 รูป

พระสงฆ์ทั้งอำเภอบางปะกง ประกอบพิธีทำวัตรถวายสักการะแด่ พระมงคลสุทธิคุณ หรือ หลวงพ่อฟู อติภัทโท ที่ปรึกษาเจ้าคณะอำเภอบางปะกง เจ้าอาวาสวัดบางสมัคร และ พระราชมงคลรังษี เจ้าคณะอำเภอบางปะกง เจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร ประธานในพิธี และทำวัตรถวายสักการะ เจ้าคณะอำเภอ เจ้าคณะตำบล เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส ผู้ช่วยเจ้าอาวาส และพระกรรมวาจาจารย์ทุกรูป ต่อจากนั้นเป็นพิธีเปิดการอบรมพระนวกะ

พระครูธรรมธรมนต์ชัย สารโท เลขานุการเจ้าคณะตำบลบางสมัคร กล่าวว่า "นวกะ" แปลว่า ผู้ใหม่, ผู้บวชใหม่, พระใหม่ เรียกว่า พระนวกะ พระวินัยใช้หมายถึงภิกษุที่มีพรรษายังไม่ครบ 5 นวกะเป็นพระที่นับว่ายังเป็นผู้ใหม่คือยังมีพรรษาไม่ครบ 5 จึงยังต้องอยู่ในความปกครองดูแลของพระอุปัชฌาย์ซึ่งพระวินัยเรียกว่ายังต้องถือนิสสัยอยู่ พระนวกะมีระเบียบว่าจะต้องศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยเพื่อรักษาตนทุกรูป








สำหรับพระนวกะผู้อยู่จำพรรษาแรก เจ้าอาวาส และเจ้าคณะผู้ปกครองจะจัดการเรียนการสอนให้เป็นพิเศษโดยเฉพาะ ในการอบรมมีพระวิทยากรมาถวายความรู้ให้กับพระนวกะในเรื่องต่างๆ เกี่ยวกับการวัตรปฏิบัติให้เหมาะสมในเพศบรรพชิตและเรื่องวินัยอาบัติต่างๆ ที่พระนวกะควรจะรู้

โดยมีใจความสำคัญตอนหนึ่งที่ หลวงพ่อฟู ได้ให้โอวาทกับพระนวกะความว่า 

การบริโภคปัจจัยสี่ ปัจจัยสี่ที่เราบริโภคจะมีอยู่สองคุณค่า คุณค่าอย่างหนึ่งเรียกว่าคุณค่าแท้ คุณค่าอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า คุณค่าเทียม เวลาพระจะฉันภัตตาหาร พระพุทธเจ้าจะให้ ท่องหรือให้พิจารณา ท่านเรียกว่า บทปฏิสังขาโย บทนี้เป็นบทพิจารณาปัจจัยสี่ ถ้าเราพิจารณาอย่างมีปัญญา เราจะบริโภคปัจจัยสี่อย่างเห็นคุณค่าที่แท้ เช่น เวลาเราบริโภคอาหาร ท่านก็ให้พิจารณาบอกว่า อาหารที่เรารับประทานเข้าไป ไม่ใช่กินเพื่อเล่น เพื่อสนุกสนาน เพื่อเมามัน เพื่อเกิดกำลังพลังทางกาย แต่เรากินเพื่อกำจัดความหิว กินเพื่อให้ร่างกายมีแรงศึกษาธรรมะ กินเพื่อบำบัดเวทนาเก่า แล้วก็ป้องกันเวทนาใหม่ไม่ให้เกิดขึ้น การศึกษาเริ่มต้นเมื่อคนกินอยู่เป็นเรียนรู้จากชีวิตพระเมื่อเรามีชีวิตอยู่ก็จำเป็นต้องเกี่ยวข้องกับปัจจัย 4 คือ อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่ และหยูกยา ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐาน จะเห็นได้จากข้อปฏิบัติของพระว่า ท่านเริ่มศึกษาตั้งแต่การรู้จักบริโภคปัจจัย 4 ซึ่งท่านถือเป็นศีลด้วย บางคนอาจจะไม่ได้นึกว่าการรู้จักบริโภคอาหารก็เป็นศีล


การฉันอาหารที่ว่าเป็นศีล หมายถึงการฉันหรือบริโภคโดยพิจารณาว่าบริโภคเพื่ออะไรเป็นต้น เรียกง่ายๆ ว่า บริโภคด้วยปัญญา ซึ่งจะทำให้เป็นการบริโภคที่พอดี หรือกินพอดี ภาษาพระเรียกว่า โภชเนมัตตัญญุตา (ความรู้จักประมาณในการบริโภค) อีกเรื่องหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก คือ อินทรียสังวร ได้แก่การรู้จักใช้อินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ให้ดู ฟัง เป็นต้น อย่างมีสติ จัดเป็นการศึกษาเบื้องต้น อยู่ในขั้นศีล และเป็นศีลเบื้องต้นยิ่งกว่าศีล 5 อีก เรามักจะมองกันแค่ศีล 5 ที่จริง อินทรียสังวร และโภชเนมัตตัญญุตาที่เป็นศีลเบื้องต้นนี่แหละ พระพุทธเจ้าทรงเน้นมาก

พระเณรพอบวชเข้ามาก็เริ่มด้วยอินทรียสังวร ให้สำรวมอินทรีย์ว่า เวลารับรู้ ดู ฟัง เห็นอะไรต่างๆ ก็ให้เป็นไปโดยมีสติ แล้วก็ตามมาด้วยปัญญา ให้ได้ความรู้ ไม่ให้เกิด โลภะ โทสะ โมหะ ให้ได้แต่กุศล พูดง่ายๆ ว่า รับรู้ด้วยสติ มิให้อกุศลธรรมเข้ามาครอบงำจิตใจ แค่นี้ก็ใช้ได้ หลักอีกอย่างหนึ่งที่มาสนับสนุน ท่านเรียกว่า สันโดษ หมายถึง ความพอใจในปัจจัย 4 คือ 
จีวร (เครื่องนุ่งห่ม) 
บิณฑบาต (อาหาร) 
เสนาสนะ (ที่อยู่) 
เภสัชบริขาร (หยูกยา) 
ตามมีตามได้ มีฉันมีใช้ พอให้อยู่ได้ พอให้สนองความต้องการของชีวิต

เมื่อมีปัจจัย 4 พอเป็นอยู่แล้ว ไม่ลุ่มหลงมัวเมาอยู่กับการเสพบริโภค ก็เอาเวลา แรงงาน และความคิด ไปอุทิศให้แก่การศึกษาพัฒนาชีวิต การทำกิจหน้าที่การงาน และการเพียรสร้างสรรค์กุศลธรรมหรือสิ่งที่ดีงามให้เต็มที่ ทำอย่างนี้เรียกว่า "สันโดษ"

การฝึกฝนพัฒนาตนเกี่ยวกับปัจจัย 4 นั้น มีสาระที่พึงปฏิบัติตามหลักอินทรียสังวร โภชเนมัตตัญญุตา และสันโดษ การฝึกหรือศึกษาในหลักธรรมเหล่านี้ มิใช่เฉพาะพระภิกษุสามเณรเท่านั้นที่ควรปฏิบัติ แม้แต่คฤหัสถ์ คือชาวบ้านทั้งหลาย ก็ควรนำมาใช้ประโยชน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น