วันพุธที่ 12 กันยายน พ.ศ. 2555

หลวงปู่เก่ง ธนวโร (เทพเจ้าแห่งบ้านนาแก) วัดกิตติราชเจริญศรี

หลวงปู่เก่ง ธนวโร (เทพเจ้าแห่งบ้านนาแก) หรือ อีกนามว่า หลวงปู่ไก่ชน แห่ง วัดกิตติราชเจริญศรี บ้านนาแก ต.ระเว อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี 

หลวงปู่เก่ง ถือเป็นพระอริยะสงฆ์ที่สืบทอดจริยาวัตรปฏิบัติจากครูบาอาจารย์ได้ดีเยี่ยม ท่านเป็นศิษย์ พระครูวิโรจน์รัตโนบล (ญาท่านดีโลด) อดีตเจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานี สืบทอดวิชาตำรายันต์ฝังดาบ ทำหลักเขตบ้าน เรียนวิชาสายมหาปราบ แก้ที่แก้ทาง ที่มีเจ้าที่ดุร้าย จากญาท่านพรหมา วัดบ้านระเว และญาท่านรัตน์ วัดบ้านหัวดอน พระอุปัชฌาย์ เป็นผู้มีความเคารพในวิชาและศรัทธาในหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่า จังหวัดชัยนาท 

หลวงปู่ท่านสามารถขับไล่ผี ปราบผีดุร้าย และนั่งเข้าสมาธิกำหนดจิตหยั่งรู้ เรื่องราวต่างๆได้ล่วงหน้าได้อย่างแม่นยำ ในสมัยก่อนแถบพิบูลมังสาหารจะได้ยินชื่อพระที่โด่งดังสามองค์ด้วยกัน หลวงปู่แพง ญาท่านสวน หลวงปู่เก่ง 




หลวงปู่เก่งท่านเป็นพระที่สมถะเรียบง่าย มีเมตตาสูง อ่อนน้อมถ่อมตน ปัจจุบัน(๒๕๕๕) หลวงปู่เก่งท่านมีอายุ ๘๙ ปี และมีอายุพรรษา ๖๘ ปี เป็นเจ้าอาวาสวัดกิตติราชเจริญศรี ( วัดบ้านนาแก ) หมู่ ๑ ตำบลระเว อำเภอพิบูลมังสาหาร จังหวัดอุบลราชธานี

หลวงปู่เก่ง ธนวโร เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ ๙ เดือนกันยายน ๒๔๖๖ แรม ๑๔ ค่ำเดือน ๙ ปีกุน เป็นวันธงชัย ในตระกูลวงศ์สวัสดิ์ โดยมีพี่น้อง ๖ คน ในวัยเด็กหลวงปู่เก่งเป็นเด็กรูปร่างผอมบาง ตัวเล็กคล่องแคล่ว มีจิตใจกล้าหาญเด็ดเดี่ยว 

เมื่ออายุได้ ๑๘ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณรโดยมีญาท่านพรหมา เจ้าอาวาสบ้านระเว เป็นพระอุปัชฌาย์ หลังจากบรรพชาเป็นสามเณร ในขณะนั้น หลวงพ่อพระครูวิโรจน์รัตโนบล (ญาท่านดีโลด) เจ้าคณะจังหวัดอุบลราชธานีในอดีต ได้เป็นประธานในการสร้างอุโบสถบ้านโพธิ์ศรี และบุรณะอุโบสถเก่าแถบตำบลโพธิ์ศรีและตำบลระเว เมื่อมีพระเถระผู้ใหญ่มาในท้องที่พระสังฆาธิการในละแวกใกล้เคียงจึงได้ทำการต้อนรับ รวมทั้งญาท่านพรหมา และพระในปกครอง หลวงปู่เก่งในขณะนั้นเป็นสามเณร และทำหน้าที่อุปฐากพระอุปัชฌาย์ได้เห็นอาจริยาวัตรของพระเถระผู้ใหญ่ รวมทั้งพระครูวิโรจน์รัตโนบล ซึ่งท่านได้เห็นสามเณรเก่งก็เกิดความเมตตาเป็นอย่างยิ่ง และได้ทราบว่าเป็นคนที่มีต้นตระกูลมาจากบ้านกระโสบ- หมากมี่ อำเภอเมืองด้วยแล้ว จึงเอ็นดูเป็นพิเศษ


เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี จึงได้เข้าอุปสมบทที่วัดบ้านหัวดอน โดยมีญาท่านรัตน์ เจ้าอาวาสวัดบ้านหัวดอน เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้ฉายาว่า "ธนวโร" แปลว่า ผู้มีทรัพย์อันประเสริฐ เมื่ออุปสมบทแล้วได้มาจำพรรษาที่วัดกิตติราชเจริญศรี บ้านนาแก ศึกษาการปฏิบัติตามแนวทางของครูบาอาจารย์ ได้ออกธุดงค์ไปในแถบแม่น้ำมูลตอนล่าง เลียบลำน้ำโขงตามรอยธรรมของหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น ข้ามไปในประเทศลาว ภูมะโรง เป็นระยะเวลา เกือบ ๑ ปี ในการเดินธุดงค์นั้นหลวงปู่ได้ติดเชื้อไข้มาลาเลีย แต่ยังฝืนเดินไปเรื่อยจนไข้ขึ้นหนักมากจึงได้กลับมาพักรักษาด้วยยาสมุนไพรจนหายขาด

หลังจากหายเป็นปรกติแล้วหลวงปู่เก่งสงสัยว่ารากไม้ทำไมจึงรักษาโรคต่างๆได้ จึงเรียนตำรายารากไม้จาก พ่อหมอทุม ซึ่งเป็นชาวบ้านหนองโพ ตำบลโพธิ์ศรี และศึกษาวิธีการใช้ยารักษาคนกับอาจารย์เป็นระยะเวลา ๙ ปี จนมีความเชี่ยวชาญ และได้เรียนวิชายาสมุนไพรเพิ่มเติมจากหมอยาชาวจีนอีกเป็นระยะเวลา ๕ ปี จนมีความแตกฉานในเรื่องยารากไม้และยาสมุนไพรเป็นอย่างยิ่ง มีผู้ป่วยมารับการรักษามากและมีชื่อเสียงในขณะนั้น
ข่าวการรักษาคนป่วยของหลวงปู่เก่งได้ขยายไปในวงกว้าง และมีผู้มารักษาเป็นจำนวนมาก ทราบข่าวถึงหูโจรใจบาปคิดว่าหลวงปู่คงจะมีเงินจากการรักษามาก จึงได้รวมตัวกันเข้าปล้นสะดมในเวลากลางคืนพวกโจรใจบาปทั้งหลาย ทั้งตี ทั้งฟัน ทั้งแทง และยิงกะเอาให้ตาย จนหลวงปู่สลบไป และรื้อค้นได้เงินไปจำนวนหนึ่ง และของมีค่าที่หลวงปู่เก็บรักษาไว้ไปอีกหลายชิ้น พอฟื้นขึ้นมาหลวงปู่มีอาการแค่หัวโน และถลอกตามแขนขานิดหน่อยเป็นที่น่าอัศจรรย์ยิ่ง
คนป่วยบางจำพวกที่รักษาด้วยยาสมุนไพรไม่หายคือคนป่วยโรคจิต คือโรคจิตเกิดจากธาตุในกายกำเริบ อีกอย่างคือโรคจิตจากการเข้าแทรกด้วยผู้มีอำนาจกว่า (ผีเข้า) และโรคจิตที่เกิดจากการกระทำ หรือที่เรียกว่าคุณไสย์ ด้วยความเมตตา หลวงปู่เก่งจึงรักษาด้วยการขับไล่ผีร้ายออกไป ตามวิชาครูธรรมที่ได้เรียนธรรมสายมหาปราบ จนมีผู้ที่ป่วยเป็นโรคจิต และถูกคุณไสยที่ญาติพามารักษา และมอบให้หลวงปู่รักษาเป็นจำนวนมาก บางคนดุร้ายมากถึงกับต้องล่ามโซ่ติดกับต้นไม้ใหญ่ไว้ (เป็นที่ชินตากับคนที่มาหาหลวงตาในอดีต) หลวงปู่เก่งท่านก็เมตตารักษาด้วยพลังจิตควบคู่ไปกับยาสมุนไพรด้วย เมื่อหายขาดแล้วจึงได้ตามญาติมารับกลับไป 

นอกจากนี้ หลวงปู่เก่งยังสามารถสื่อสารกับ เจ้าที่เจ้าทางได้ ปราบผีปอบ ผีเข้าเจ้าสูญ และทำหลักเขตหมู่บ้านตามตำราของอาจารย์พระครูวิโรจน์รัตโนบล (หลวงปู่ดีโลด) และ ญาท่านรัตน์พระอุปัชฌาย์อีกด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น