วันพุธที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2555

หลวงพ่อแย้ม วัดตะเคียน นนทบุรี

 พระครูปิยนนทคุณ (หลวงปู่แย้ม) วัดตะเคียน ท่านเป็นชาวจังหวัดสมุทรสาคร โดยกำเนิดเกิดที่ ตำบลเจ็ดริ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤษภาคม พุทธศักราช 2459 ในครอบครัวชาวนา นามเดิมว่า แย้ม ปราณี มีพี่น้องร่วมท้องเดียวกันทั้งหมด 4 คน ท่านเป็นบุตรชายคนที่ 2 ของครอบครัวโยมบิดาชื่อเพิ่ม โยมมารดาชื่อเจิม

หลวงปู่แย้มเมื่อตอนเป็นเด็กชายแย้ม ก็เหมือนกับเด็กทั่วไปคือต้องเข้าเรียนหนังสือ เด็กชายแย้มได้เข้าศึกษาหาความรู้ ที่โรงเรียนประชาบาลวัดหลักสองของ อำเภอบ้านแพ้ว แต่เรียนได้แค่ชั้นประถม 1 เท่านั้นเอง เพราะต้องอยู่บ้านเพื่อช่วยบิดาทำนาหาเลี้ยงชีพ ครั้นอายุได้ 14 ปี ก็ต้องลาออกจากโรงเรียนอย่างเด็ดขาด เพราะว่าโตเกินกว่าที่จะไปโรงเรียนแล้ว จึงได้ออกมาช่วยบิดาทำนาเรื่อยมา






จวบจนกระทั่งอายุได้ 20 ปี บริบูรณ์ โยมพ่อต้องการให้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในบวรพระพุทธศาสนาตามประเพณีนิยมของคนไทยตั้งแต่ครั้งโบราณกาล และเพื่อเป็นการสร้างบุญสร้างกุศล เฉกเช่นชายไทยทั่วไป

“ฉันก็เต็มใจนะ เพราะจะได้แผ่กุศลไปให้กับโยมแม่ที่เสียไปตั้งแต่อายุฉันได้สิบขวบด้วย 
ได้กำหนดวันกันเอาไว้เป็นที่เรียบร้อยแต่พอถึงเวลาเข้าจริงๆ โยมพ่อก็เปลี่ยนใจ 
บอกว่าเอาไว้ปีหน้าเถอะปีนี้ทำนาก่อน และมาเลื่อนกันง่ายๆ ฉันก็ไม่ว่ากระไร เอาไงก็เอากัน 
ฉันเป็นคนตามใจพ่ออยู่แล้ว” หลวงปู่เล่าความหลังให้ฟัง
หลังจากนั้นก็ทำนาเรื่อยมา จวบจนมาเสร็จสิ้นเอาใกล้ๆ จะเข้าพรรษา 
โยมพ่อก็เอ่ยปากบอกว่า “บวชเสียเถอะนะ ไปอาศัยบวชกันนาคอื่นเขาก็ยังดี” 

“ฉันก็ตามใจอีก โยมพ่อจะให้ทำยังไงก็เอากัน แล้วโยมพ่อก็นำเงินจำนวน 20 บาท
ไปถวายพระอาจารย์ที่วัดหลักสองราษฎร์บำรุง โดยบอกความประสงค์กับท่านว่า 
ให้ช่วยจัดการบวชให้ฉันทีเถอะ ก็เป็นการช่วยจัดหาเครื่องบวชให้นะ 
ในสมัยนั้นราคาก็ไม่แพงเท่าไหร่หรอก ไม่ถึง 10 บาทเสียด้วยซ้ำ 
จากนั้นอาจารย์ก็จัดของที่ท่านมีอยู่แล้วให้ ส่วนเงิน 20 บาทนั้น 
ท่านได้นำเอาไปจ้างช่างต่อเรือขนาด สามมือลิงใหญ่ๆ ซึ่งหมดเงินไป 18 บาท 
เพื่อเอาไว้ใช้ในกิจของสงฆ์”

นายแย้มจึงได้บวชเป็นพระภิกษุสงฆ์ในบวรพระพุทธศาสนาที่วัดหลักสองบำรุงราษฎร์ ตามที่โยมพ่อและตัวของท่านเองได้ตั้งศรัทธาเอาไว้ มีพระครูคณาสุนทรรนุรักษ์เจ้าคณะอำเภอบ้านแพ้ว เป็นพระอุปัชณาย์ เจ้าอธิการเหลือ เจ้าคณะตำบลเป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์ชื่นเป็ฯพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ปิยวณฺโณ”

หลังจากเสร็จสิ้นการบวชแล้ว ด้วยพระภิกษุแย้ม เป็นพระหนุ่มที่มีหน้าตาดี จึงมีการกล่าวหยอกล้อกันว่า พระภิกษุแย้ม ไม่น่าจะบวชได้นานเกิน 2 พรรษาหรอก จึงเป็นเรื่องให้มีการท้าพนันกันว่า ถ้าพระภิกษุแย้มบวชแล้วอยู่ได้นานเกิน 2 พรรษา แล้วเมื่อถึงเวลาลาสิกขา จะออกเครื่องสึกทั้งหมดให้

“ฉันก็ไม่ได้รับคำท้านั้นหรอกนะเพราะว่ามันเป็นการพนัน และอีกอย่างก็ถือว่า เป็นการพูดล้อกันเล่นมากกว่า ส่วนในใจของฉันนั้นนะมีความศรัทธาอยู่ว่าจะบวชสักสองพรรษาก็คงพอ” หลวงปู่อธิบาย






ระหว่างครองเพศบรรพชิตอยู่ พระภิกษุแย้มก็เคร่งครัดในวัตรปฏิบัติเป็นอันมาก รวมทั้งยังตั้งใจศึกษาธรรมะอย่างเอาจริงเอาจัง จนทำให้สามารถสอบได้นักธรรมตรีในพรรษาแรกเท่านั้น พอย่างพรรษาที่สองพระภิกษุแย้มก็เกิดป่วย 

“เรียกว่าป่วยหนักเลยนะ ในชิวิตฉันไม่เคยเป็นเช่นนี้มาก่อนเลย ฉันป่วยจนแทบจะตายแนะ 
มันเป็นใข้นะ ต้องนอนซมอยู่กับที่ เวลาลุกขึ้นทีไรเป็นหน้ามืดทุกที ต้องดมพิมเสนทุกที 
ช่วงนั้นไม่มีใครเขามาดูแลฉันหรอก ฉันต้องต้มยาฉันเอง จนโยมพ่อทราบเรื่อง 
จึงมารับฉันกลับไปรักษาตัวที่บ้าน โดยเอาฉันใส่เรือให้นอนไป บ้านฉันกับวัดก็ไกลอยู่เหมือนกัน
ราวๆ 4 กิโลเมตรได้นะ หมอนุ่มเป็นคนต้มยาสมุนไพรไทยของเรานี่แหละให้ฉัน ทำการรักษาฉัน 
หมอนุ่มนี่เขาเก่งมากนะ จัดหายามาต้มให้ฉันเพียง 2 หม้อเท่านั้นเองฉันก็หายเลย 
แต่ก็ต้องพักรักษาตัวอยู่เกือบเดือน จึงค่อยกลับไปจำพรรษาที่วัดได้ตามเดิม”
ที่วัดหลักสองบำรุงราษฎร์ พระภิกษุสมัยนั้นจะเก่งในเรื่องช่าง ไม่ว่าจะเป็นช่างไม้ช่างปูน ช่างทาสี พระภิกษุเหล่านี้จะเป็นที่โปรดปรานของเจ้าอาวาสมาก พระภิกษุแย้มเองก็มีงานช่างทำเหมือนกันคือเป็นช่างพิมพ์กระเบื้องในโรงงาน ของวัด วันหนึ่งต้องพิมพ์ให้ได้ถึง 530 แผ่นทีเดียวเพื่อให้ทันเวลาที่จะนำไปสร้างกุฏีสงฆ์หลังใหม่ที่ทางวัดได้สร้างขึ้น จนอาจกล่าวได้ว่ากระเบื้องทุกแผ่นที่วัดหลักสองใช้สร้างอุโบสถ ศาลาการเปรียญ หรือกุฎีสงฆ์ เป็นฝีมือของพระภิกษุแย้มทั้งสิ้น

นอกจากงานด้านช่างแล้วพระภิกษุแย้ม ยังได้แอบศึกษาวิชาหมอยา เพื่อสงเคราะห์ชาวบ้านแถบนั้นด้วย เป็นเพราะท่านมีเมตตาไม่อยากให้ชาวบ้านเดือดร้อนมากนัก กล่าวถึงการเป็นหมอยาของหลวงปู่แย้ม สมัยก่อนเมื่อประมาณ 70 ที่แล้วนั้น พวกเราลองคิดดูว่าการไปมาหรือการเดินทางนั้นจะลำบากสักขนาดไหน ครั้นเมื่อมีเวลาญาติพี่น้องเจ็บใข้ได้ป่วยก็ต้องช่วยกันคนละไม้ละมือ เพื่อที่จะช่วยเหลือเขา วิธีที่ดีและรวดเร็วที่สุดก็คือ หมอยากลางบ้านนั้นแหละ และก็ตัวยาสมุนไพรทั้งนั้น พระภิกษุแย้มของญาติโยมก็เลยมองเห็นความสำคัญในข้อนี้ จึงลงมือศึกษาค้นคว้าในเรื่องของตัวยาสมุนไพร และคาถาอาคมที่จะใช้เสกกำกับลง ไปในตัวยาเพื่อใช้สำหรับการรักษา จนท่านมีความมั่นใจในตัวยาสมุนไพรที่ท่านได้ศึกษาจากตำราและค้นคว้าด้วยตัวเอง ท่านก็เริ่มลงมือช่วยเหลือชาวบ้านที่เดือนร้อนได้ทันที ในพรรษาที่ 2 ของการเป็นพระภิกษุนั้นเอง

หลังจากนั้นมา ชาวบ้านที่ได้รับการช่วยเหลือ ก็เกิดศรัทธา สาเหตุเพราะว่าท่านสามารถรักษาชาวบ้านให้หายได้ จากคนเดียว เป็นสองคน จนถึงหลายๆคนในเวลาต่อๆมา ยังไม่พอเพียงเท่านั้นชาวบ้านที่รักษาหายแล้วต่างพากันเรียกร้องให้ท่านช่วย รดน้ำมนต์สะเดาะเคราะห์ขับใล่สิ่งเลวร้ายที่อยู่ในตัวของตนให้หมดไป จนพากันเข้าใจว่า พระภิกษุแย้ม เป็นพระเกจิอาจารย์ไปเลยทีเดียว หลังจากนั้นมาท่านก็ไม่สามารถขัดญาติโยมได้อีก ทำให้ท่านต้องดั้นด้นเรียนรู้ หาวิธีศึกษาในทุกๆทางจากทุกๆที่ เพื่อจะได้ทำให้มีวิชาเข้มขลังยิ่งขึ้น จนกระทั่งท่านได้พบกับ หลวงพ่อสาย วัดทุ่งสองห้อง ท่านได้เมตตาช่วยสอน พร้อมทั้งแนะนำให้ความรู้ทั้งเรื่องยันต์ และเรื่องเวทมนต์พระคาถาอาคม ทุกอย่าง

หลังจากเพียรพยายามศึกษาอยู่นาน ทำให้ท่านสำเร็จ และได้วิชาทุกตัวจากหลวงพ่อสายโดยไม่มีตกหล่นแม้แต่สักตัวเดียว จากนั้นชื่อเสียงของท่านก็บรรเจิดขึ้นตลอดเวลา จนกระทั่งบวชได้ 10 พรรษา โยมลุงได้ นิมนต์ให้มาอยู่จำพรรษาที่วัดตะเคียน

“โยมลุงของฉันชื่อว่า เคลิ้ม เป็นพี่ชายของโยมแม่เขามามีเหย้ามีเรือนอยู่แถววัดตะเคียนนี้ 
ทีนี้เขาจะบวชลูกชายก็ไปนิมนต์ฉันมาเป็นพระคู่สวดให้ ฉันก็มาตามนิมนต์ แต่พอพระบวชแล้ว
โยมลุงก็นิมนต์ให้ฉันอยู่จำพรรษาที่วัดตะเคียนนี่สักพรรษาหนึ่งก่อน ฉันมองดูแล้วก็น่าเห็นใจอยู่ เนื่องจากที่วัดตะเคียนนี้มีพระจำพรรษาอยู่เพียงองค์เดียวเท่านั้นคือ หลวงพ่อแดง 
เจ้าอาวาสนั้นเอง ฉันก็เลยตอบตกลง แต่ผ่านไปเพียง 7 วัน หลวงพ่อแดงก็มามรณภาพ
หลังจากงานศพหลวงพ่อแดงแล้ว ฉันก็เลยเดินทางมาจำพรรษาที่วัดตะเคียน 
และไม่นานนักเจ้าคณะอำเภอก็ให้ทำหน้าที่รักษาการเจ้าอาวาส 
และต่อมาก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่นั้นมา” 
หลวงปู่เล่าถึงสาเหตุที่ต้องมาอยู่ที่วัดตะเคียน

จวบจนปัจจุบัน จากวัดร้างที่ไม่น่าอยู่ไม่น่าพิสมัย ได้พัฒนาให้กลับกลายเป็นวัดที่สวยงาม ด้วยตลอดเวลาที่ผ่านมาท่านได้พัฒนาวัดมิได้หยุดหย่อน แม้จะเป็นวัดที่อยู่ห่างไกลความเจริญ ทว่าในปัจจุบันการเดินทางมาทีวัดตะเคียนสามารถทำได้โดยง่ายดาย เนื่องจากทางการได้ทำการตัดถนนสายใหม่ ผ่านทางเข้าวัด คือถนนพระรามที่ 5 (นครอินทร์) ช่วยให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น