วันพุธที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2555

มหาเถรฯ จัดทดสอบ บี-เน็ต โรงเรียนปริยัติสามัญ


นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผอ.สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา โดยมี สมเด็จพระวันรัต กรรมการมหาเถรสมาคม เป็นประธาน ได้ผ่านความเห็นชอบและประกาศใช้ประกาศคณะกรรมการการศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา พ.ศ.2555 เมื่อเร็วๆ นี้นั้น

ล่าสุด มหาเถรสมาคม (มส.) ได้มีนโยบายให้กองพุทธศาสนศึกษา พศ. ประสานกับ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) จัดการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติด้านพระพุทธศาสนา หรือ บี-เน็ต (B-net-Buddhism National Educational Test) ของนักเรียนที่เป็นสามเณรในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาทั้งประเทศ กว่า 400 แห่ง เพื่อใช้วัดระดับมาตรฐานความรู้ ในการยกระดับคุณภาพการศึกษาของคณะสงฆ์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของประเทศที่จะมีการจัดวัดความรู้ระดับชาติเช่นนี้

นายวิโรจน์ อุ่นทรัพย์ ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา (พศ.) กล่าวว่า ทางกองพุทธศาสนศึกษาได้หารือกับทาง สทศ.แล้วในการจัดตั้งคณะกรรมการออกแปลนข้อสอบบี-เน็ต โดยจะมีผู้ทรงคุณวุฒิจากโรงเรียนพระปริยัติธรรมมาร่วมออกข้อสอบในครั้งนี้ ซึ่งจะกำหนดการสอบออกเป็น 3 รายวิชา ได้แก่ 

1. วิชาพุทธประวัติและธรรมวินัย 
2. วิชาศาสนปฏิบัติ 
3. วิชาภาษาบาลี 

แบ่งการสอบออกเป็น 2 ช่วงชั้น ได้แก่ มัธยมศึกษาปีที่ 3 และมัธยมศึกษาปีที่ 6 

ในขณะเดียวกัน พศ. โรงเรียนพระปริยัติธรรม ก็จะดำเนินการส่งรายชื่อนักเรียนที่จะเข้าสอบให้แก่ สทศ.ดำเนินการประกาศรายชื่อ โดย พศ.และ สทศ.ได้กำหนดวันสอบเป็นครั้งแรกในวันที่ 16 ก.พ. 2556 และจะมีการประกาศผลสอบในวันที่ 31 มี.ค. 2556 

ผอ.กองพุทธศาสนศึกษา กล่าวต่อไปว่า สำหรับจำนวนนักเรียนในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษามีอยู่ทั้งหมดจำนวน 16,109 รูป แบ่งเป็นระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 11,983 รูป ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 4,126 รูป โดยคาดว่าจะมีนักเรียนเข้าสอบพร้อมกันทั่วประเทศตามจำนวนที่มีอยู่ ทั้งนี้ พศ.และ สทศ. ได้แบ่งสนามสอบออกเป็น 12 ศูนย์ทั่วประเทศ เพื่อกระจาย และอำนวยความสะดวกให้แก่นักเรียนในภูมิภาคต่างๆ ด้วย 

“สทศ.กำหนดคะแนนประเมินวัดระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนพระปริยัติธรรมฯ ไว้จำนวน 20 คะแนน แบ่งเป็น โอ-เน็ต 12 คะแนน และ บี-เน็ต 8 คะแนน ซึ่งนักเรียนจะต้องสอบทั้ง 2 ส่วน เนื่องจาก บี-เน็ต ถือว่า เป็นวิชาเฉพาะทางพระพุทธศาสนา ที่มีการเรียนการสอนเฉพาะในโรงเรียนพระปริยัติธรรมเท่านั้น อย่างไรก็ตาม การทดสอบนี้ เป็นการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาในภาพรวมของการศึกษาสงฆ์ รวมทั้งจะเป็นการยกระดับคุณภาพการศึกษาของคณะสงฆ์ให้มีความเข้มข้นยิ่งขึ้น หากสถานศึกษาใดที่นักเรียนไม่ผ่านการประเมิน จะต้องพิจารณาระบบการเรียนการสอนใหม่ รวมทั้งอาจจะมีโอกาสถูกยุบหากไม่ผ่านมาตรฐานการประเมินคุณภาพจากสำนักงานมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) ด้วย” นายวิโรจน์ กล่าว.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น