วันจันทร์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2555

"หลวงพ่อปั้น" ศูนย์รวมความศรัทธา แห่ง ศิษยานุศิษย์

วัดเนินกุ่มใต้ ต.เนินกุ่ม ซึ่งอยู่ติดกับ ต.วัดตายม มีคลองวัดชมพู ไหลผ่าน ซึ่งอดีต พระเกจิอาจารย์ชื่ออดัง "พระครูสังคกิจ" หรือ "หลวงพ่อพระอุปัชฌาย์ ปั้น" วัดพิกุลโสคัณธ์ ต.พระขาว อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นผู้สร้าง

ท่านเกิดเมื่อปีพ.ศ.2376 สมัยรัชกาลที่ 2 อุปสมบท พ.ศ.2396 แล้วไปศึกษาที่กรุงเทพฯ กับ พระมหาแดง สีลวัฑฒโน วัดสุทัศเทพวราราม (ภายหลังดำรงสมณศักดิ์ที่ สมเด็จพระวันรัต) และ พระก๋ง วัดมหาธาตุ ท่าพระจันทร์ (ภายหลัง เปลี่ยนชื่อเป็น ฑิต อุทโย และได้สมณศักดิ์สูงสุดที่ สมเด็จพระวันรัต) และได้กลับมาเป็น เจ้าอาวาสปกครองบูรณะวัดพิกุลโสคัณธ์ แล้วจึงออกธุดงค์พร้อมพระอนุจรเป็นนิจท่านธุดงค์ผ่านวัดสี่ร้อย อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง ขึ้นมาทางชัยนาท ตัดเข้าบางคลาน (ภายหลังเปลี่ยนเป็น อ.โพทะเล พ.ศ.2481) ผ่านพิจิตร มาปักกลดที่ป่าบ้านดงหมี ต.เนินกุ่ม ซึ่งแต่เดิมเป็นป่ารกมีสัตว์ดุร้ายชุกชุมมาก โดยเฉพาะหมีควายและเสือโคร่ง





ชาวบ้านจึงไปเรียนท่านว่า บริเวณนี้เวลากลางคืนพวกเสือมักออกหาอาหาร เนื่องจากเป็นที่เนินสูงกว่าที่อื่นน้ำท่วมไม่ถึง จึงมีสัตว์ที่เป็นอาหารของเสือหลบมาอาศัย แต่ท่านปฏิเสธ เพราะถือปฏิบัติตามครูท่านสั่งห้ามไว้ว่า ถ้าปักกลดตรงไหนต้องอยู่ไปจนตลอดรุ่ง

รุ่งขึ้นตอนสางชาวบ้านรีบไปดูท่านปักกลด เพราะได้ยินเสียงคำรามร้องของเสือตั้งหลายตัวดังก้องไปถึงหมู่บ้าน เมื่อมาถึงพบท่านอยู่ปกติดีไม่มีอันตรายใดๆ เกิดขึ้นกับท่านเลย จึงเชื่อว่าท่านมีวิชาดี ท่านเล่าให้ฟังว่า ท่านไม่มีอะไรดี อาศัยคุณพระรัตนตรัย และส่งกระแสจิตแผ่เมตตาให้ พวกเสือจึงเข้าป่า มีแต่ไอ้ตัวใหญ่ดูเหมือนจะเป็นจ่าฝูงเท่านั้น ที่นอนหมอบอยู่ข้างกลดอาตมา พึ่งจะเข้าป่าไปตอนใกล้รุ่งก่อนโยมมาถึงนี้เอง และได้โอกาสสั่งสอนข้อธรรมแก่ชาวบ้าน หรือในครั้งหนึ่งมีไฟป่าลุกลามไหม้เข้ามาล้อมกลดที่หลวงพ่อปั้นนั่งภาวนาสงบนิ่งอยู่ และจู่ๆ ก็มีลมพัดไฟป่าให้ลุกลามไปทางอื่นเป็นที่อัศจรรย์ยิ่งนัก 

ด้วยความศรัทธา ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านสร้างวัดเนินกุ่มขึ้น จนแล้วเสร็จเป็นอารามใหญ่ด้วยบุญญาบารมีของท่าน ซึ่งมีวาจาศักดิ์สิทธิ์อย่างแท้จริง

โดยเฉพาะอุโบสถ หลวงพ่อปั้นท่านได้ลงมือปั้นหลวงพ่อโต พระประธานประจำอุโบสถด้วยมือของท่านเอง จึงเป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ ประจำวัดเนินกุ่ม แล้วท่านก็กลับสู่วัดพิกุล จ.พระนครศรีอยุธยา และไปมาระหว่างวัดพิกุล กับวัดเนินกุ่ม เรื่อยมา

จนเป็นธรรมเนียมในหมู่ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดว่า ก่อนเข้าพรรษา ชาวบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา จะเป็นฝ่ายมารับหลวงพ่อปั้น กลับไปจำพรรษาที่วัดพิกุล หลังออกพรรษาพ้นหน้ากฐิน ชาวเนินกุ่มจะลงไปรับหลวงพ่อปั้น โดยใช้เรือมาด 8 แจว เป็นพาหนะ เนื่องสมัยนั้นการสัญจรทางน้ำสะดวกรวดเร็วที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น