วันจันทร์ที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2555

อบรมติวเข้ม "พระนักเขียน" รุ่นใหม่

ปัจจุบันแม้จะมีหนังสือที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาจำนวนมาก แต่กลับพบว่าหนังสือที่สอนให้พุทธศาสนิกชนได้รู้ถึงแก่นธรรม และแนวทางในการนำพระพุทธศาสนาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อนำไปสู่การประพฤติตามหลักตามแนวพุทธวิธี ยังมีจำนวนที่น้อยอยู่

สาเหตุหนึ่งมาจากพระสงฆ์ที่มีความสามารถในการเขียนหนังสือ และสามารถนำมาตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่นั้นยังคงมีจำนวนน้อย ขณะเดียวกัน ในการจัดอบรมพระสงฆ์ส่วนใหญ่ก็จะเน้นไปที่การอบรมพระนักเทศน์ พระวิทยากร แต่การอบรมดังกล่าวจะเน้นไปที่ทักษะการพูด แต่การเขียนซึ่งถือว่าเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา ยังไม่เคยมีการจัดการอบรมมาก่อน

ดังนั้น เนื่องในโอกาสครบ 2600 ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ร่วมกับ สำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ วัดสระเกศ จึงจัดอบรมโครงการพระนักเขียนขึ้น ถือเป็นครั้งแรกที่จะมีการอบรมทักษะด้านการเขียนหนังสือให้พระภิกษุสามเณร

ภายหลังจากที่ได้ประชาสัมพันธ์โครงการออกไปตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายน มีพระภิกษุสามเณรสมัครมาจากหลายจังหวัด และผ่านการคัดเลือกจำนวน 30 รูป อบรม ณ ค่ายอารยาภิวัทน์ สหปฏิบัติ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เมื่อช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา

พระวิจิตรธรรมาภรณ์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ในฐานะเลขานุการสำนักงานส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรมฯ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ราชวรมหาวิหาร เป็นประธานในพิธีเปิดอบรม "โครงการพระนักเขียน"

ดำเนินการอบรม โดยพระวิทยากรกลุ่มเพื่อชีวิตดีงาม ซึ่งมีผลงานเป็นที่ยอมรับ อาทิ พระมหาวีระพันธ์ ชุติปัญโญ เจ้าของนาม ปากกา "ชุติปัญโญ" พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี เจ้าของนามปากกา "กิตฺติเมธี" และพระมหาประสิทธิ ญาณัปปทีโป เจ้าของนามปากกา "ธรรมรตา"

เมื่อถึงกำหนดวันอบรม พระภิกษุต่างทยอยกันเดินทางมาถึงวัดสระเกศฯ และได้รับปฏิสันถารโดยพระมหาวีระพันธ์ ชุติปัญโญ ซึ่งเป็นพระวิทยากรหลักในโครงการนี้ มาคอยต้อนรับผู้เข้าอบรมตั้งแต่เช้ามืดอย่างเป็นกันเอง สร้างความผ่อนคลายและทำให้ผู้เข้าอบรมรู้สึกสบายใจขึ้น เพราะส่วนใหญ่มาจากต่างจังหวัด และไม่เคยมาวัดสระเกศฯ

เมื่อฉันเช้าร่วมกันเสร็จแล้ว ก็ได้ออกเดินทางด้วยรถตู้สู่สถานที่อบรม คือ ค่ายอารยาภิวัทน์ สหปฏิบัติ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี ใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมงกว่าจะถึง

"เริ่มอย่างไรเมื่อใจอยากเขียน" พระมหาวีระพันธ์ เจ้าของผลงานมากกว่า 30 เล่ม เปิดประเด็นเด่นซึ่งเป็นที่สนใจของผู้เข้าอบรมทุกท่าน ที่ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาอย่างหนึ่งของการเขียน คือ ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร

ซึ่งพระวิทยากรก็ได้คลายปมปัญหาทีละประเด็นให้เห็นแต่ละขั้นตอน และโครงสร้างของการเขียนบทความธรรมะ ว่าจะต้องมีอะไรบ้าง เช่น เกริ่นนำ เนื้อหา ตัวอย่าง บทสรุป เพื่อปูพื้นฐานในเบื้องต้น

หลังจากบรรยายเป็นแนวทาง ที่สำคัญของการอบรมครั้งนี้ คือ การลงมือเขียน


โดยผู้เข้าอบรมตั้งโครงเรื่องปรับโครงสร้างบทความตนเอง ตามมุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นริมเขื่อน ใต้ต้นมะม่วง ระเบียงห้องประชุม ฯลฯ บ้างดูจริงจังและมุ่งมั่น บ้างมีท่าทางที่ผ่อนคลาย

เริ่มบทบรรยายต่อมาด้วยหัวข้อ "จินตนาการกับการสร้างเรื่อง" พร้อมทั้งหลักของการตีความและการประยุกต์พุทธพจน์สู่บทความธรรมะ ที่อ่านง่ายเข้าใจได้ไม่ยาก โดย พระมหาขวัญชัย กิตติเมธี เจ้าของผลงาน "ผ้าเหลืองเปื้อนยิ้ม" ที่สร้างความเบิกบานให้กับผู้เข้าอบรมด้วยเรื่องเล่าชวนหัว ประเด็นชวนคิด เทคนิคพิเศษของการเก็บเล็กผสมน้อย ด้วยการเป็นนักสังเกตและจดบันทึก อาวุธลับ คือ ปากกาและสมุดพก คือ กลเม็ดที่พระวิทยากรได้นำมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้ผู้เข้าอบรมได้เรียนรู้

จากนั้น เป็นช่วงการตรวจต้นฉบับ คือ ช่วงที่ผู้เข้าอบรมทุกรูปรอคอย เพราะจะได้ฟังเสียงสะท้อนจากพระวิทยากรที่ตรวจงานเขียน ที่ได้พยายามกลั่นกรองสร้างสรรค์ออกมาอย่างเต็มที่ แม้ว่าจะมีรอยขีดแดงแทบจะ ทุกบรรทัด พร้อมทั้งคำเน้นให้เห็นจุดต้องปรับปรุง หรือบางทีอาจต้องปรับเปลี่ยนจากพระวิทยากร

แต่ดูเหมือนพระผู้เข้าอบรมทุกรูปจะชื่นชอบและยินดี ที่มีคนชี้ทางออกบอกทางถูกให้ เพื่อการพัฒนางานเขียนของตนเองให้ดียิ่งขึ้น แม้หนทางของการเป็นพระนักเขียนยังอีกยาวไกล แต่ก็ขอเริ่มต้น ด้วยการใส่ใจในทุกงานเขียน ค่อยเป็นค่อยไป และสุดท้ายคงจะสำเร็จในสักวัน

พระวิจิตรธรรมาภรณ์กล่าวโอวาทธรรมปิดท้ายการอบรมครั้งนี้ว่า 

"เวลาที่พูดไป คำพูดก็หายไปกับกาลเวลา แต่งานเขียน 
คือ การจารึกความจริงใจของเราไว้ให้คู่กับโลกใบนี้"

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น